แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อาจารย์พรหมวังโส ท่านเป็นพระฝรั่งที่บวชอยู่กับหลวงพ่อชา ท่านเล่าว่าตอนที่ท่านเป็นพระนวกะรู้สึกอิจฉาพระผู้ใหญ่ เพราะว่าอาหารการขบฉันที่ประณีต พระผู้ใหญ่ก็ได้ฉันก่อน บางทีไม่ถึงมือพระผู้น้อยก็หมดเสียก่อน แถมพระผู้ใหญ่ก็ไม่ต้องทำกิจอะไรมาก ไม่เหมือนพระผู้น้อยต้องทำกิจการงานโดยเฉพาะงานที่ใช้แรง ก็รู้สึกว่าการเป็นพระผู้น้อยนี่ลำบากกว่ามาก
แต่พอท่านได้เป็นพระผู้ใหญ่ ก็พบว่ามีปัญหามาก กลับรู้สึกว่า พระผู้น้อยสบาย พระผู้ใหญ่ต่างหากที่ลำบาก เพราะว่าต้องเดินทางไปแสดงธรรมในที่ไกลๆ เหนื่อยแล้วก็ต้องรับฟังปัญหาของชาวบ้าน บางทีฟังเป็นชั่วโมงๆ และยังมีงานบริหารมากมาย พระผู้น้อยเสียอีกไม่มีกิจอะไร ได้มีโอกาสภาวนา ได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมเยอะเลย
แต่ตอนหลังท่านมาได้คิดว่าจะเป็นพระผู้น้อยหรือพระผู้ใหญ่มันก็มีความทุกข์ทั้งนั้นแหละ เป็นพระผู้น้อยก็ทุกข์แบบพระผู้น้อย เป็นพระผู้ใหญ่ก็ทุกข์แบบพระผู้ใหญ่ รวมถึงครูบาอาจารย์ด้วย ครูบาอาจารย์ก็มีทุกข์แบบครูบาอาจารย์ เช่น ต้องแสดงธรรม ต้องดูแลลูกศิษย์ลูกหา ความทุกข์หลายอย่างที่เกิดกับครูบาอาจารย์ ที่จริงก็ไม่ได้มีแค่นั้น มันมีอีกหลาย อย่างเรื่องที่จะเล่า
มีอาจารย์ท่านหนึ่ง ท่านเป็นผู้ที่เรื่องลือว่ามีภูมิปัญญาขั้นสูง ท่านเป็นเจ้าสำนักด้วย ใครๆก็สรรเสริญว่าท่านเป็นผู้ที่มีจิตใจมั่นคง สงบเย็น มีวันหนึ่งเกิดแผ่นดินไหวอย่างแรง ศาลากุฏินี่ก็สั่นอย่างแรงด้วย ผู้คนในสำนักแตกตื่นหนีกันอลหม่าน แต่ก็ไม่มีใครบาดเจ็บล้มตาย
หลังจากนั้นผ่านไปไม่กี่วันอาจารย์ท่านนี้ท่านก็แสดงธรรม แล้วก็พูดถึงเรื่องของสติ ซึ่งทำให้จิตใจมั่นคงไม่หวั่นไหว พอท่านบรรยายเสร็จก็มีลูกศิษย์คนหนึ่งถาม อยากให้อาจารย์ช่วยขยายความหน่อยว่า ที่ว่าสติมันทำให้จิตใจมั่นคงไม่หวั่นไหวมันเป็นยังไง
อาจารย์ก็เลยอธิบายด้วยการยกตัวอย่างของท่าน ท่านพูดว่าท่านจำได้ว่าวันนั้นวันที่เกิดแผ่นดินไหว ผู้คนแตกตื่นอลหม่าน แต่เรานี้มีสติ จิตใจมั่นคงไม่หวั่นไหว สามารถจะนั่งนิ่ง แล้วก็ดื่มชาได้อย่างสงบ ท่านเห็นมือของเราสั่นไหมขณะที่ถือถ้วยชา
ไม่ครับ เป็นเสียงของลูกศิษย์คนหนึ่งตอบขึ้นมา วันนั้นอาจารย์ไม่ได้ถือถ้วยชานะครับ อาจารย์ถือถ้วยซีอิ๊วต่างหาก
ฟังเรื่องนี้แล้วเราเข้าใจลูกศิษย์ไหมว่าต้องการบอกอะไร อาจารย์ตอนนั้นแกกลัว แต่ว่าต้องการรักษาภาพลักษณ์ของตัว เพราะถ้าอาจารย์วิ่งหนีมันก็ดูกระไรอยู่ เพราะฉะนั้นอาจารย์ต้องข่มใจให้อยู่นิ่งๆ แต่ด้วยความกลัวก็เลยหยิบเอาถ้วยซีอิ้วมาดื่ม แล้วยังไม่รู้ตัวอีกว่าตอนนั้นดื่มซีอิ๊วเพราะนึกว่าดื่มชา จนกระทั่งลูกศิษย์ทักท้วง
นี่ก็เป็นความทุกข์ของอาจารย์อย่างหนึ่ง คือทุกข์ว่า จะกลัวเสียภาพลักษณ์ เพราะอาจารย์ก็มีภาพลักษณ์ที่ต้องรักษาไว้ ถ้าจะวิ่งหนีด้วยความกลัวเหมือนคนอื่นมันก็เท่ากับว่าเสียภาพลักษณ์หรือเสียหน้า ก็ต้องรักษาภาพลักษณ์เอาไว้ด้วยการที่ไม่วิ่ง แต่ในใจก็กลัว เลยหยิบผิดหยิบถูก อันนี้ก็เป็นทุกข์อย่างหนึ่งของครูบาอาจารย์ ก็คือว่าต้องรักษาภาพลักษณ์เอาไว้ เสียภาพลักษณ์เมื่อไหร่ก็กลายเป็นความทุกข์เมื่อนั้น
ความทุกข์ว่ากลัวเสียภาพลักษณ์นี้มันก็ไม่ใช่เป็นความทุกข์ของคนที่เป็นครูบาอาจารย์เท่านั้น จะว่าไปปุถุชน คนทั่วไป ก็มีความทุกข์ชนิดนี้เหมือนกัน จะมากบ้างน้อยบ้างก็แล้วแต่ สุดแท้แต่ว่าภาพลักษณ์ดีสวยหรูแค่ไหน อย่างคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ เขาก็มีภาพที่ต้องรักษา
และความทุกข์ของพ่อแม่อย่างหนึ่งก็คือกลัวเสียภาพลักษณ์ โดยเฉพาะต่อหน้าลูกๆจึงต้องทำตัวหรือมีพฤติกรรมบางอย่างเพื่อที่จะรักษาหน้าของตัวไว้ บางทีทำผิดต่อหน้าลูกก็แกล้งกลบเกลื่อน อย่างเช่น เวลาลูกเดินสะดุดข้าวของที่พ่อวางอยู่บนพื้น พ่อก็ว่าลูกว่าซุ่มซ่าม แต่เวลาพ่อเดินสะดุดของเล่นที่ลูกวางเอาไว้ แทนที่พ่อจะยอมรับว่าพ่อซุ่มซ่ามก็ไปว่าลูกว่าวางของไม่เป็นที่ วางของไม่เป็นระเบียบ การที่ไปว่าลูก มากกว่าที่จะยอมรับผิด มันก็เพราะกลัวเสียหน้า เสียภาพลักษณ์
ที่จริงการกลัวเสียหน้าเสียภาพลักษณ์ มันก็มีข้อดี ที่หลายคนพยายาม ทำความดี แล้วก็ละเว้นความชั่ว ก็เพราะกลัวเสียภาพลักษณ์กลัวคนตำหนิ กลัวภาพลักษณ์ของตัวเองจะเสียหายในสายตาผู้อื่น จึงพยายามทำความดี อย่างน้อยก็ไม่ทำความชั่ว การกลัวว่าจะเสียภาพลักษณ์หรือเสียหน้า บางครั้งก็เป็นแรงผลักดันให้คนเราทำความดี
อย่างที่เคยเล่าเรื่องพระนันทะ พระนันทะมาบวชด้วยความจำใจแต่ตอนหลังก็ยอมบวช ยอมทำความเพียรประพฤติปฏิบัติเจริญภาวนา เพราะว่า อยากได้เทพธิดา เห็นนิมิตรเทพธิดาสวยงามยิ่งกว่าภรรยาหรือคู่หมั้นของตัว อยากได้ ก็มาถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกว่าต้องภาวนา แต่พอทำไปแล้วก็มีเพื่อนพระด้วยกันหยอกเย้าพูดจาดูถูกว่า พระนันทะบวชเพราะรับจ้าง รับจ้างภาวนาเพื่อจะได้เทพธิดา
พระนันทะรู้สึกอับอายเสียหน้า แต่แทนที่จะไปด่าว่าผู้ที่พูดเช่นนั้น ก็กลับตั้งใจปฏิบัติ ปฏิบัติด้วยความตั้งใจจริง ไม่เอาแล้วเทพธิดา พูดง่ายๆก็คือจะเปลี่ยนจากสิ่งที่ผิดให้มันถูกซะ ที่จะภาวนาเพื่อจะเอาเทพธิดานั้น ไม่เอาละ ฉันจะภาวนาโดยที่ไม่ปรารถนาสิ่งเหล่านั้น ภาวนาเพื่อความพ้นทุกข์ สุดท้ายก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
อันนี้เรียกว่าเปลี่ยนจากที่เคยพลั้งเผลอ หรือออกนอกลู่นอกทาง มาเข้าลู่เข้าทาง มาภาวนาเพื่อการพ้นทุกข์แทนที่จะเอาเพื่อแสวงหาเทพธิดา ทั้งนี้ก็เพราะความรู้สึกอับอาย แต่ว่าพออับอาย เสียหน้า ก็มาทำสิ่งที่พลาดให้มันถูกซะ ก็กลายเป็นดีไป แต่ว่าคนเราส่วนใหญ่ เวลากลัวเสียหน้าจากที่ผิดอยู่แล้วก็ทำผิดซ้ำสอง เช่น ทำผิดแล้วมีคนเห็น แทนที่จะยอมรับผิด ก็กลับไปโทษคนอื่น
อย่างตัวอย่างที่เล่ามา ผู้เป็นพ่อไปเดินสะดุดของเล่นของลูก แทนที่จะยอมรับผิด มันก็จบกัน แต่ว่าถ้าทำอย่างนั้นจะรู้สึกว่ามันเสียหน้าของผู้เป็นพ่อ ก็เลยไปว่าลูกว่าลูกวางของไม่เป็นที่ อันนี้เรียกว่าทำผิดซ้ำสอง หรืออาจจะไปเล่นงานคนที่มาทำมาพูดให้ตัวเองรู้สึกเสียหน้า อย่างคนที่เป็นพ่อแม่เวลามีเพื่อนบ้านมาตำหนิลูกต่อหน้าคนที่เป็นพ่อแม่จะรู้สึกเสียหน้ามาก ทั้งที่ลูกกระทำผิดจริง ไปขโมยผลไม้ในสวนของเพื่อนบ้าน การที่เขามาตำหนิลูกต่อหน้า รู้สึกเสียหน้ามาก มาหาว่าเราไม่ดูแลไม่สั่งสอนลูก นอกจากปกป้องลูกแล้วบางทียังด่าทะเลาะกับเพื่อนบ้าน
หรือบางทีครูมาบอกแม่ว่าลูกทำอะไรไม่ถูกต้องที่โรงเรียนบ้าง แม่รู้สึกเสียหน้าขึ้นมาเลย เกิดความไม่พอใจครู ทั้งๆที่สิ่งที่ครูพูดมันถูกแล้วก็ดี ถ้าหากว่าแม่รู้จักรับฟังว่าลูกไปสร้างปัญหาอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้ดูแลลูกอย่างถูกต้อง แต่กลับไปว่าครูหรือว่าเกิดความขุ่นเคืองในตัวครู อันนี้เพราะความกลัวเสียหน้าหรือเปล่า หรือเพราะมีความรู้สึกเสียหน้า มันก็เลยทำให้ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทำให้สิ่งที่ผิดไปแล้วมันก็ผิดอีก
หรือบางทีก็ใช้วิธีการกลบเกลื่อน ส่งเสริมให้คนทำผิดเพื่อรักษาหน้าของตัว อันนี้ก็เคยเล่า อาจารย์ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่คนนับถือว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรม ชวนคนไปทำบุญ เป็นหัวหน้าสายบุญชวนคนไปปฏิบัติธรรม ตัวเธอก็เป็นผู้ที่มีศีลมีธรรม เคร่งครัด คิดว่าเธอเป็นแม่พระ เป็นที่เคารพนับถือถ้วนหน้า
แล้ววันหนึ่ง พบว่าลูกสาวเกิดท้องขึ้นมา ขณะที่ยังเรียนอยู่ชั้นมัธยม ทั้งตกใจทั้งโกรธ ความคิดแรกก็คือ ให้ลูกไปทำแท้งเพราะว่า ถ้าลูกเกิดปล่อยให้เด็กในท้องโตแล้วคลอดออกมาก็จะเสียชื่อเสียงของตัวเองเสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูล ทำให้ตัวเองอับอายขายหน้าต่อผู้คนผู้ที่เป็นลูกศิษย์และมิตรสหายที่นับถือเธอว่าเป็นแม่พระ
แต่ก็ดี ที่เธอตั้งสติได้ เพราะได้คิดว่าขนาดมดยุงยังไม่ตบยังไม่ฆ่าเลย กลับมีความคิดที่จะให้ฆ่าเด็กในท้องของลูกสาว ไม่สมควรอย่างยิ่ง แต่ความคิดแรกที่มันเกิดขึ้นก็เพราะความกลัวเสียหน้า กลัวความอับอาย
อันนี้มันก็เป็นโทษ อย่างที่เรารู้ เรื่องหน้าตาเป็นเรื่องอัตตา ธรรมดาคนเราก็ย่อมมีอัตตาถ้าปล่อยให้มันครองใจ ก็สามารถจะทำให้เราทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้
แต่ถ้ารู้จักการใช้หน้าตาให้พอดี มันก็มีประโยชน์ในการส่งเสริมความดี ในเมื่อคนเราหนีอิทธิพลของเรื่องของหน้าตาไม่พ้น ตราบใดที่คนเราเป็นปุถุชนอยู่ เราควรจะทำอย่างไร อย่างน้อยๆเราก็ต้องรู้จักใช้หน้าตาให้เป็นประโยชน์ ก็คือว่า ความกลัวเสียหน้าหรือว่าเสียภาพลักษณ์ มันก็ดีเหมือนกันมันทำให้เราไม่กล้าทำชั่วไม่ทำในสิ่งที่เสียหายทำแล้วจะเป็นสิ่งที่อับอาย
ถ้าเราใช้หน้าตาให้เป็นประโยชน์ก็สามารถที่จะเป็นเครื่องมือส่งเสริมในการทำความดีละเว้นความชั่วได้ แต่เท่านั้นไม่พอ เราต้องระวังรักษาใจอย่าให้ภาพลักษณ์หรือหน้าตานี่มันมาเป็นใหญ่เหนือความถูกต้อง
อย่างเช่นเวลาเราทำผิด เราก็ต้องกล้าขอโทษ ถึงแม้ว่าการขอโทษสำหรับบางคนคือการเสียหน้า แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่ดีเป็นสิ่งที่ถูกต้อง อะไรที่ถูกต้อง เราก็ควรต้องทำ ถึงแม้ว่ามันจะทำให้เสียหน้าตา หรือว่าเสียภาพลักษณ์ แต่ที่จริงแล้วมันก็เป็นประโยชน์ด้วยซ้ำ เพราะมันช่วยลดอำนาจของตัวอัตตา ไม่ให้มาครองจิตครองใจของเรา ไม่ควรกลัวเสียภาพลักษณ์ เมื่อจะทำความดี
อย่างเช่นเวลาเราจะทำความดีแล้ว มีคนไม่เข้าใจ เราก็ยังทำ ถึงแม้ว่าคนเขาจะตำหนิ เพราะว่าเขาไม่เข้าใจ เราก็ยังทำ เพราะเราไม่เอาหน้าตามาเป็นเรื่องใหญ่เหนือความถูกต้องเหนือความดี
ขณะเดียวกัน เราก็ควรจะไปให้ไกลกว่านั้น ก็คือว่าเวลาเราทำความดี ก็อย่าไปสนใจภาพลักษณ์ อย่าไปสนใจหน้าตา อย่าไปสนใจเรตติ้ง หมายความว่าบางครั้งทำดีแล้วไม่มีคนเห็น เราก็ยังทำต่อไป ไม่ใช่ว่าจะทำดีก็ต่อเมื่อมีคนเห็น เพื่อเราจะได้คะแนนหรือว่าทำดีแล้วก็อยากจะคุยอยากจะโชว์ให้คนเห็น
อันนี้ก็กลายเป็นทำดีเพื่อหน้าตาภาพลักษณ์ เพราะไม่เช่นนั้นต่อไปหน้าตาภาพลักษณ์ก็จะกลายมาเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลเหนือจิตใจของเรา จนบางทีเหนือความถูกต้อง ความดีงาม
อย่างตัวอย่างที่ได้พูดไป แต่ถ้าหากเราต้องการฝึกตนอย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงแค่ว่า ทำดีโดยไม่สนใจภาพลักษณ์ แต่บางครั้งนี้เราต้องกล้าที่จะไม่ถนอมภาพลักษณ์ด้วย หรือว่ากล้าที่จะฉีกภาพลักษณ์ด้วย เพื่อที่จะทรมานอัตตา เพราะว่าอัตตาต้องการจะสร้างภาพว่าฉันเก่ง ฉันดี ฉันแน่ ฉันประเสริฐ และพอเราปล่อยให้มันครองใจ มันก็จะทำให้เราทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องหรือว่าเกิดความทุกข์ได้
เพราะฉะนั้นบางครั้งการไม่สนองภาพลักษณ์ หรือว่าการฉีกภาพลักษณ์ มันก็จำเป็น อย่างเรื่องที่อาจารย์พาลูกศิษย์ไปเดินธุดงค์ในป่า ปรากฏว่าเจอช้างตกมัน ลูกศิษย์วิ่งกระเจิงเลย อาจารย์ก็วิ่งด้วย ลูกศิษย์เห็นอาจารย์วิ่งก็เกิดความประหลาดใจ เพราะอาจารย์ท่านนี้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่บรรลุธรรมขั้นสูง ลูกศิษย์ก็เชื่อเช่นนั้น แต่การที่อาจารย์วิ่งหนีช้างป่าพร้อมกับลูกศิษย์ ก็ทำให้ลูกศิษย์เกิดความคลางแคลงใจ
ลูกศิษย์ก็เก็บปัญหานี้เอาไว้หลายปี จนกระทั่งอาจารย์ป่วยหนักไม่รู้จะมีชีวิตรอดได้นานแค่ไหน ลูกศิษย์ก็รวบรวมความกล้าถามปัญหานี้แหละ ซึ่งค้างคาใจมานาน อาจารย์วันนั้นตกใจกลัวช้างป่าเหรอ อาจารย์ตอบว่าเปล่า ไม่กลัวหรอก ลูกศิษย์จึงถามต่อว่า แล้วทำไมอาจารย์ถึงวิ่งหนีช้างป่าพร้อมกับพวกเรา อาจารย์ก็ตอบว่า ก็เพราะคิดว่าหนีช้างป่านี้ มันดีกว่าอยู่กับความลำพองใจ
อาจารย์ไม่กลัวนะ ไม่กลัวช้างป่า แล้วก็ไม่ได้มีความคิดที่จะวิ่งหนี แต่อาจารย์ก็รู้ว่าถ้าไม่วิ่งหนี ตัวกิเลสหรืออัตตามันก็จะเข้ามาครองใจว่ากูเก่ง กูแน่ อาจารย์ไม่อยากจะให้ตัวกิเลสมาครองใจ ไม่ให้อัตตามาครอบงำจิตใจ ก็เลยวิ่งหนี ไม่ได้วิ่งหนีเพราะความกลัว แต่ว่าวิ่งหนีเพื่อปิดโอกาสปิดช่องไม่ให้ความลำพองใจ มันครอบงำใจ
หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าเพื่อไม่ให้อัตตามันยกหูชูหาง เพราะถ้าไม่วิ่งหนีแล้ว อัตตาก็จะได้โอกาสยกหูชูหาง ว่ากูเก่งกูแน่ แล้วก็อาจจะไปอวดใครต่อใครว่า วันนั้นฉันเจอช้างป่าฉันไม่วิ่งหนีเลยมีแต่ลูกศิษย์วิ่งหนีจนป่าราบ กลายเป็นการโอ้อวดด้วยอำนาจของอัตตา อาจารย์ก็รู้ว่าถ้าวิ่งหนีก็จะเสียภาพลักษณ์ของอาจารย์ แต่อาจารย์ก็คิดว่าทำดีกว่าเพราะว่ามันจะได้ไม่เปิดช่องให้อัตตาเข้ามาครองใจ
บางครั้งเราก็ต้องทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อไม่เปิดช่องให้อัตตานี่มันเข้ามาฉวยโอกาสยกหูชูหาง ซึ่งก็อาจจะหมายถึงไม่ถนอมภาพลักษณ์ พร้อมที่จะฉีกภาพลักษณ์ หรืออย่างน้อยๆแม้ว่าจะมีความดี ความเก่ง ความสามารถอะไร ก็อดใจไม่อวดไม่โชว์ไม่ประกาศ เพราะว่าถ้าทำอย่างนั้น มันก็เปิดช่องให้อัตตามันเข้ามาครองใจหรือยกหูชูหางได้
เพราะฉะนั้นบางครั้งเวลาเราทำอะไรที่เรียกว่าหน้าแตก หรือว่า เสียหน้า บางทีมันกลับเป็นดี เราควรจะยอมรับ เวลาเราเผลอทำอะไรที่เขาเรียกว่าปล่อยไก่ หรือว่าทำอะไรที่มันหน้าแตก เสียหน้า เพราะว่ามันเป็นตัวช่วยกำราบอัตตาได้ดีทีเดียว มันช่วยทำให้เรานี้มีความถ่อมตัวมากขึ้น หรือว่ามันทำให้เราได้ตระหนักถึงความจริงว่าเราไม่ใช่เทวดา
เพราะคนเก่งหรือคนที่มีความสามารถเยอะ บางทีเผลอว่า ฉันเก่ง ฉันประเสริฐ ฉันเลิศกว่าคนทั่วไปบางทีก็สำคัญตัวว่าเป็นเทวดาไปเลย แต่พอเวลาทำอะไรผิดพลาด ปล่อยไก่หรือว่าทำอะไรที่มันหน้าแตกมันก็ดี แทนที่เราจะโกรธหรือหัวเสีย เรากลับหัวเราะเยาะตัวเอง ที่จริงก็คือหัวเราะเยาะอัตตานั้นเอง
ให้ระลึกว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นเวลาทำอะไรมันเสียหน้า หน้าแตก มันเป็นความทุกข์ของกิเลส มันเป็นความทุกข์ของอัตตา เราอย่าไปฉวยเอาความทุกข์ของมันมาเป็นความทุกข์ของเรา ถ้าเราทำแบบนั้นเราก็โง่ ให้มันทุกข์ไป ให้มันร้องโอดครวญไป ที่มันไม่สามารถจะประกาศตัวว่ากูเก่งกูแน่ บางทีเราต้องกำราบอัตตาบ้าง ด้วยการที่ไม่ถนอมภาพลักษณ์หรือว่ากล้าที่จะฉีกภาพลักษณ์
แต่สุดท้ายแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การภาวนา หรือว่าการเจริญสติเพื่อให้เห็นความจริงของกายและใจ จนกระทั่งว่าแท้จริงแล้วมันไม่มีอัตตาหรือตัวตนอยู่เลย แท้จริงแล้วมันก็เป็นแค่มายาที่เราหลงคิดว่ามันเป็นจริง แล้วก็ยึดมั่นถือมั่น จนปล่อยให้มันครองใจ ต่อเมื่อเราเห็นอย่างชัดเจนว่า แท้จริงอัตตาหรือตัวตนมันก็เป็นแค่มายาภาพ มันไม่ได้มีอยู่จริงเลยแม้แต่น้อย ถึงตอนนั้น มันก็หมดพิษสง ไม่สามารถจะมีอำนาจเหนือเราได้
แล้วก็ทำให้เราสามารถที่จะอยู่ได้อย่างสงบเย็นแล้วก็เป็นประโยชน์ด้วย เพราะว่าไม่มีความเห็นแก่ตัว เอื้อเฟื้อเกื้อกูลผู้คนโดยไม่หวังชื่อเสียงไม่ได้หวังการยกย่องสรรเสริญ ทำดีแล้วไม่มีคนเห็นก็ไม่ทุกข์ ทำดีแล้วคนไม่เข้าใจ หรือว่าด่าทอก็ไม่เดือดร้อนเพราะว่ามันไม่มีตัวกูผู้ทุกข์อีกต่อไป แล้วก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องยกตัวชูหางให้ใครเห็นด้วย
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 16 ตุลาคม 2564