แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้เป็นวันแรกที่พระนวกะได้ลงไปสอบในเมืองแก้งคร้อ ที่จริงที่ลงไปสอบ มันไม่ใช่แค่สอบนักธรรม มันมีการสอบอีกอย่างหนึ่งที่ไม่รู้ตัวก็ได้ คือสอบอารมณ์ เราไม่ได้ลงไปแค่สอบความรู้ทางปริยัติเท่านั้น แต่ยังเป็นการสอบการปฏิบัติของเราด้วย ว่าผลของปฏิบัติของเราเป็นอย่างไร
เพราะว่าการที่เราเดินทางลงไปจากป่าสุคะโตไปสู่สภาพแวดล้อมที่เป็นเมือง มันเป็นสภาพแวดล้อมที่ต่างกันมากทีเดียว จะเรียกว่าตรงกันข้ามเลยก็ได้ จากที่สงบเย็นไปสู่ที่จอแจอึกทึกวุ่นวาย จากสถานที่ซึ่งค่อนข้างจะเรียบๆไปสู่สถานที่ที่มีสิ่งล่อเร้าเย้ายวนมากมายเช่น ร้านค้าร้านอาหารมากมาย สิ่งที่ดึงดูดจิตใจมีอยู่มากมายในเมืองแก้งคร้อ
การที่เราเปลี่ยนสถานที่ มันก็เป็นการทดสอบว่าการปฏิบัติของเราตลอดช่วงเวลาเกือบ 3 เดือนที่ผ่านมา มันช่วยทำให้เรามีความรู้สึกตัวมากขึ้นไหม มีสติรู้ทันอารมณ์ที่มากระทบหรือเปล่า ที่จริงก่อนหน้านี้พวกเราก็จะเคยลงไปในเมืองอยู่แล้ว แต่ว่าไปชั่วครู่ชั่วยาม เช่น ไปฉีดวัคซีน แต่ว่าคราวนี้เราลงไปติดต่อกันหลายวัน ที่จริงก่อนหน้านี้ก็ลงไปติวเพื่อเตรียมสอบแล้วก็สอบจริงที่เริ่มวันนี้ แต่มันไม่ใช่แค่สอบปริยัติ มันก็ยังเป็นการสอบจริงด้านการปฏิบัติของเราด้วย
ที่เราฝึกกันมาในวัดในกุฏิ ไม่ว่าโดยการเดินจงกรมโดยการสร้างจังหวะ อันนี้มันก็ จะเรียกว่าเป็นการซ้อมก็ได้ เมื่อเราได้ลงไปเจอสถานที่เจอสิ่งแวดล้อมที่เราไม่คุ้นเคยโดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เป็นสิ่งแวดล้อมที่เราควบคุมกำหนดไม่ได้ ย่อมส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดของเราไม่มากก็น้อย
ลองถามตัวเองว่าจะมีสติรู้ทันความคิด และอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งต่างๆมากระทบไหม ไม่ว่าจะเป็นเสียงดัง หรือความอึกทึกจอแจในเมืองซึ่งอาจจะทำให้เกิดความรู้สึกหงุดหงิด ขุ่นเคืองใจ หรือได้เจอสิ่งล่อเร้าเย้ายวน ร้านค้าขายอาหารเครื่องดื่ม ถ้าเราเป็นฆราวาสก็คงจะตรงเข้าไปซื้อนั่นซื้อนี่มาตอบสนองความอยากของเราได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะในช่วงเวลา 3 เดือนที่ผ่านมาไม่เคยได้สัมผัสน้ำอัดลมเย็นๆหรือว่าไอศครีมอร่อยๆหรือว่าอาหารที่มันถูกปาก
แต่พอไปในเมืองสิ่งเหล่านี้มันมาแสดงมันมาปรากฏให้เราเห็นในทางที่เย้ายวนเราไม่มากก็น้อย แล้วเรารู้สึกอย่างไรกับผัสสะที่เกิดขึ้น เรารู้เท่าทันไหม หรือปล่อยให้มันชักนำเราไปเพื่อสนองความอยากสนองกิเลสของเรา มันเป็นการทดสอบว่าที่เราปฏิบัติมาตั้งแต่เข้าพรรษามาจนถึงวันนี้ มันได้ผลเพียงใด หรือถ้าหากว่าปฏิบัติน้อย หรือไม่ปฏิบัติเลย มันก็ชี้ให้เห็นว่าผลที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร
บางคนอาจจะรู้สึกว่า ตลอดพรรษาที่ผ่านมา จิตใจสงบเย็นลง แล้วก็มีความมั่นคงในจิตใจมากขึ้น ความฟุ้งซ่าน ความรุ่มร้อนในจิตใจก็บรรเทาเบาบาง จิตใจนิ่งขึ้นกว่าตอนก่อนมาบวช บางคนก็อาจจะคิดว่าเป็นเพราะเราปฏิบัติดี แต่มันก็ไม่แน่หรอก จิตใจเราอาจจะไม่ได้พัฒนามากขึ้นเท่าไหร่ก็ได้ ที่มันสงบนิ่งเป็นเพราะสิ่งแวดล้อมที่เป็นป่า มันก็ช่วยทำให้เกิดความรู้สึกสงบเย็นได้ง่ายอยู่แล้ว เพราะไม่ค่อยมีสิ่งเร้ามาเย้ายวนหรือยั่วยุ
ไม่เหมือนกับชีวิตสมัยเป็นฆราวาส อยู่ในเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพฯมันมีทั้งสองอย่างเลย ทั้งยั่วยุและเย้ายวน ยั่วยุให้เกิดความรู้สึกขัดใจหงุดหงิด เช่น อากาศร้อน เสียงดัง มลภาวะ ส่วนที่เย้ายวนไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่น่าพอใจไม่ว่าจะเป็นเสียงเพลง อาหารที่อร่อยและแสงสีที่ชวนให้เพลิดเพลิน แต่ในสภาพที่เราอยู่ในป่าในสุคะโตสิ่งเหล่านั้น สิ่งยั่วยุก็ดีสิ่งเย้ายวนก็ดีมันมีน้อย ก็ทำให้เราสงบเย็นลงโดยปริยาย
บางคนก็ไปคิดว่าเป็นเพราะเราปฏิบัติดีหรือเปล่า อันนี้มันก็อาจจะไม่แน่เสมอไปก็ได้ เพราะว่าถ้าเราอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มันไม่เย้ายวนไม่กระตุ้นมาก โดยเฉพาะการมาอยู่ในป่า อยู่ในธรรมชาตินี้ มันก็สงบได้อยู่แล้วหรือเป็นเพราะว่ามีสิ่งแวดล้อมที่มันเอื้อเฟื้อเกื้อกูล อาจจะไม่อยู่ในป่าก็ได้ อยู่จะในสถานที่ที่มีคนเออออกับเราไปทุกเรื่อง มันก็สงบได้เหมือนกัน หรือว่าอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เราควบคุมได้
มันร้อนก็เปิดพัดลมเปิดแอร์ เสียงดังหรือก็ปิดประตูหน้าต่างเปิดแอร์ อันนี้ก็เรียกว่ามันเป็นสิ่งแวดล้อมที่เราคุมได้ สิ่งแวดล้อมที่เราไม่พอใจเราก็หนีห่างมา อย่างนี้มันก็สงบได้เหมือนกัน หรือว่ามีคนเอาอกเอาใจ พูดดีทำดีกับเรา เราก็พลอยสงบเยือกเย็นไปได้เหมือนกัน
ในสมัยพุทธกาลมีเศรษฐีนีคนหนึ่งชื่อนางเวเทหิกา เพื่อนบ้านก็ร่ำลือว่าเธอเป็นคนที่เรียบร้อยใจเย็น เพราะว่าไม่เคยแสดงอาการหงุดหงิดขัดเคืองหรือความโกรธออกมาเลย เธอมีนางทาสีคนหนึ่งชื่อนางกาลี เป็นคนขยัน ไม่เกียจคร้าน ได้ยินกิตติศัพท์ของนางเวเทหิกาผู้เป็นนายหญิงนี้ ก็เกิดความสงสัยที่นางใจเย็นเรียบร้อยนี้เป็นเพราะไม่มีความโกรธอยู่ในจิตใจเลย
หรือเป็นเพราะว่าไม่แสดงความโกรธออกมา เนื่องจากทุกอย่างในบ้านมีการจัดการได้ดีเลย โดยเฉพาะเราเป็นผู้จัดการงานต่างๆให้กับนายหญิงอย่างเรียบร้อยจนไม่มีอะไรให้เธอขุ่นเคืองใจ ก็เลยใจเย็น นางกาลีก็เลยอยากทดสอบว่าเป็นเพราะเหตุใดแน่
วันหนึ่งก็แกล้งตื่นสาย งานการที่ควรทำก็ไม่ได้ทำ นางเวเทหิกาตื่นขึ้นมาเห็นนางกาลียังนอนอยู่ สิ่งที่เป็นหน้าที่ที่ควรทำ ก็ไม่ได้ทำ นางก็พูดเสียงอันดังใส่นางกาลีซึ่งนอนอยู่หรือพึ่งตื่นอยู่ เฮ้ย นางกาลีทำอะไรอยู่ ทำไมตื่นสาย นางกาลีบอกว่าไม่มีอะไรนายหญิง นางต่อว่าเลยว่าไม่มีอะไรแล้วทำไมตื่นสาย นางชาติชั่ว โกรธเลยนะ นางกาลีก็เริ่มเอะใจแล้วว่าที่นายหญิงของเราใจเย็นนี่เป็นเพราะเราช่วยดูแลกิจการต่างๆด้วยดีต่างหากนะ ไม่ใช่นางเป็นคนที่มีความสงบอยู่ในจิตใจ
วันต่อมา นางกาลีก็เอาใหม่ ตื่นสายกว่าเดิมอีก นางเวเทหิกาโกรธ ก็ด่า เฮ้ย นางกาลีทำไมตื่นสาย นางกาลีตอบไม่มีค่ะ ก็โดนด่าต่อว่าอีนางชาติชั่ว ไม่มีอะไร แล้วทำไมถึงตื่นสาย โกรธหนักขึ้น
นางกาลีก็เลยไม่พอใจ เอาอีกวันที่ 3 ตื่นสายกว่าเดิม คราวนี้นางเวเทหิกาโกรธ ไม่ใช่เพียงแค่ด่าว่าหรือตวาดใส่นางกาลีว่าเป็นนางชาติชั่วอย่างเดียว ยังโกรธถึงขั้นว่าเอาลิ่มประตูขว้างใส่หัวนางกาลีจนเลือดอาบเลย ตะโกนด่าสารพัด จนกระทั่งเป็นที่รู้กันในหมู่เพื่อนบ้าน ว่าที่จริงนางเวเทหิกาไม่ใช่เป็นคนใจเย็นหรอก ที่ผ่านมาสงบเสงี่ยมเรียบร้อยพูดดี เป็นเพราะมีคนช่วยบริการช่วยจัดการต่างๆให้ต่างหาก แต่พอคนไม่ทำ ไม่ให้บริการดังใจ หรือว่าทำสิ่งที่ไม่ถูกใจ ก็โกรธขึ้นมาทันทีเลย
ถ้านางเวเทหิกาฉลาดแล้ว ก็จะรู้ว่า ที่จริงเรานี่ก็ยังไม่ได้ก้าวหน้าไปแค่ไหนเลยนะจิตใจ ที่เราคิดว่าเราเป็นคนที่สงบเย็น ไม่มีความโกรธ นั้นไม่ใช่ เป็นเพราะไม่มีสิ่งที่มากระทบทำให้ขัดอกขัดใจต่างหาก ถ้าเห็นแบบนี้ได้ คิดอย่างนี้ได้มันก็เกิดปัญญาได้เหมือนกัน อย่างน้อยก็รู้ตัวว่า เราจะมีเรื่องที่ต้องฝึกมาก
พวกเราก็เหมือนกัน เวลาเราอยู่ที่นี่ เกือบจะ 3 เดือนแล้ว เรารู้สึกสงบ ใจเย็น ฟุ้งซ่านน้อยลง เป็นเพราะการปฏิบัติของเราหรือเป็นเพราะสิ่งแวดล้อมที่เอื้อเฟื้อหรือเป็นเพราะเราอยู่ในสถานที่ที่ไม่ค่อยมีสิ่งมากระทบทำให้ขุ่นเคืองใจ หรือสิ่งแวดล้อมที่เราสามารถจะควบคุมบังคับให้เป็นไปดั่งใจได้ หรือว่าอันไหนที่เราไม่ถูกใจก็สามารถจะเดินหนีเลี่ยงได้
แต่พอลงไปในเมือง เสียงดังอึกทึกจอแจมันเลี่ยงไม่ได้ เข้าห้องสอบมันร้อนก็หนีไม่ได้ ก็ต้องอยู่ จะหลีกไปหรือจะเปิดพัดลมเหมือนกับตอนที่อยู่วัดอยู่กุฏิ มันก็ทำไม่ได้ ถึงตอนนั้นใจเราเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ยั่วยุให้ขุ่นเคืองหรือว่าเย้ายวนให้เกิดความอยาก มันก็สามารถจะปรากฏกับเราได้ว่า มันเป็นเพราะอะไรแน่
การลงไปที่แก้งคร้อ จึงไม่ใช่เป็นแค่การสอบนักธรรมแต่เป็นการสอบอารมณ์ของเราด้วย ไม่ใช่แค่สอบความรู้ทางปริยัติ แต่ยังสอบผลของการปฏิบัติของเราว่าเราปฏิบัติได้ผลแค่ไหน คนที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติจริงจัง ย่อมเห็นผลก็คือว่า แม้ว่ามีสิ่งล่อเร้าเย้ายวน ไม่ว่าจะเป็นรูปรสกลิ่นเสียง ใจก็ไม่เพลิน ฟุ้งไปกับอารมณ์นั้น หรือเวลามีสิ่งที่มากระทบที่ไม่ถูกใจ อากาศร้อน เสียงดังก็ไม่มีความรู้สึกขัดใจ หรือถึงจะมีก็รู้ทัน แล้วก็ไม่ปล่อยให้มันมารบกวนจิตใจ
แต่ถ้าเกิดว่าใจเราเพลินไปกับสิ่งเย้ายวนที่มาปรากฏ หรือว่ารู้สึกขัดอกขัดใจกับสิ่งที่กระทบ ไม่ว่านอกสนามสอบหรือว่าในสนาม ในสนามสอบก็มีอะไรหลายอย่าง ที่อาจจะไม่เป็นไปดั่งใจหรือว่าไม่ถูกใจเรา แล้วใจเราเป็นอย่างไร ถ้าเราฉลาดเราก็จะเห็นตัวเราเองว่า การปฏิบัติของเราที่ผ่านมา มันได้ผลอย่างไร หรืออาจจะพบว่าเป็นเพราะเราตายใจ หย่อนการปฏิบัติ จนถูกอารมณ์ต่างๆที่มันท่วมท้นจิตใจ
เวลาเพลินก็เพลินกับอารมณ์ที่มากระทบจนหมดเนื้อหมดตัว หรือจนลืมตัว อาจจะเข้าไปในร้านเช่นร้านเซเว่นซื้อของที่ชอบ หรือว่าเจอสิ่งที่ไม่ถูกใจมากระทบก็เกิดความหงุดหงิด แต่ถึงแม้มันเกิดขึ้น หรือแม้อารมณ์ไม่ว่าทางบวกหรือทางลบมันท่วมท้นใจ ถ้าเราฉลาดเราก็ได้ความรู้ว่า เรายังปฏิบัติน้อยไปหน่อยจึงพลาดท่าเสียทีอารมณ์ที่มากระทบ
ในห้องสอบเราอาจจะสอบได้ ผ่านฉลุยในเรื่องปริยัติ แต่ในเรื่องการปฏิบัติอาจจะสอบตกก็ได้ แต่ว่าสอบตกก็ไม่เป็นไร อย่างน้อย ถ้าเรารู้ว่าเรายังหย่อนการปฏิบัติ หรือว่าเราประมาท เราก็กลับมาตั้งตัวใหม่ ยังมีเวลาอีกหลายวันกว่าจะออกพรรษา หรือกว่าเราจะสิกขาลาเพศออกไป ก็ยังมีเวลาฝึกกันใหม่
ที่จริงการที่ลงไปข้างล่าง มันไม่ใช่แค่เป็นการทดสอบผลของการปฏิบัติของเราเท่านั้น มันยังเป็นเหมือนกับหนังตัวอย่างด้วย ว่าถ้าหากว่าเราต้องสิกขาลาเพศออกไป ใจเราจะเป็นอย่างไร การปฏิบัติที่ผ่านมานี้มันจะช่วยเราได้มากแค่ไหน ที่ว่าเป็นหนังตัวอย่างคือว่า ถ้าเราต้องสึกออกไป เราก็คงต้องไปเจอกับสิ่งแวดล้อมอย่างในเมืองยิ่งกว่าเดิม ไม่ใช่เจอแค่ 6-7 ชั่วโมงแล้วก็กลับมาตั้งหลักที่วัด แต่เราจะเจอกับมันตลอด 24 ชั่วโมงเลย และยิ่งกว่านั้น คือว่า เราจะเจอกับมันโดยที่ไม่มีผ้าเหลืองมาคอยคุ้มครองหรือคอยทักท้วง
แต่ตอนนี้เราลงไปข้างล่างอย่างน้อยมีผ้าเหลือง จะเข้าไปในร้านซื้อน้ำอัดลมหรือว่าจะไปกินอะไร สั่งอะไรกินตามใจชอบ ก็ทำได้ไม่สะดวก ยิ่งสูบบุหรี่กินเหล้า ยิ่งทำไม่ได้สำหรับคนที่ติดสิ่งเหล่านั้น แต่ถ้าสิกขาลาเพศออกไปก็ยิ่งจะเจอสิ่งแวดล้อมเหล่านี้เข้ามากระทบกับเราเต็มๆเลย ไม่มีผ้าเหลืองที่จะคอยปกปักรักษาพฤติกรรมของเรา แล้วยิ่งถ้าการปฏิบัติของเราอ่อนด้อย ก็ยิ่งเห็นได้ชัดเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น
ฉะนั้นที่เราลงไปใน 3-4 วันข้างหน้า มันเป็นเหมือนหนังตัวอย่างว่าเมื่อเราสิกขาลาเพศออกไป จิตใจเราจะเป็นอย่างไร ถ้าหากว่าลงไปแก้งคร้อแค่ไม่กี่ชั่วโมงนี้ เรายังเขวหรือว่าขาดสติ ก็ไม่ต้องพูดถึงเวลาที่เมื่อเราสึกออกไป มันยิ่งหนักเข้าไปใหญ่
เพราะฉะนั้นก็ให้ถือว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา โดยเฉพาะในเรื่องของความคิดความรู้สึก เมื่อเราลงไปที่แก้งคร้อ มันเป็นสิ่งที่ชี้วัดว่าเรามีความพร้อมแค่ไหนสำหรับการที่จะกลับไปใช้ชีวิตอย่างฆราวาสอย่างที่เคยทำ ถ้าเราพบว่าใจยังกระเพื่อมหรือว่าถึงกับขาดสติ ไม่รู้เนื้อรู้ตัวในช่วงที่ลงไป ไม่ว่าวันนี้หรือว่าวันพรุ่งนี้ หรืออีก 2-3 วันข้างหน้าก็ตาม มันก็กลับมาเตือนเราให้ขวนขวายในการปฏิบัติมากขึ้น
ถ้าเราตระหนักว่าการปฏิบัติในรูปแบบมันเป็นเพียงแค่การซ้อม มันยังไม่ใช่ลงสนามจริง
บางคนพอเข้าไปในเมืองเจอสิ่งแวดล้อมที่มากระทบแบบนี้แล้ว ใจกระเพื่อมฟุ้งซ่าน รู้สึกไม่มีความสุขจิตใจไม่สงบเลย บางคนก็อาจจะมีความรู้สึกว่า อย่างนี้นี่มาเก็บตัวอยู่ในวัด เก็บตัวอยู่ในป่าไปเรื่อยๆดีกว่า อันนี้ก็ไม่ถูก เพราะถึงแม้ว่าเราจะได้พบกับความสงบ จิตใจเย็น นิ่ง แต่ว่าการที่เราจะเก็บตัวอยู่แต่ในวัดอย่างเดียว มันไม่ได้หรอก การที่เราจะเก็บตัวเพื่อไม่ให้มีอารมณ์ที่ไม่ถูกใจมากระทบเพื่อที่เราจะได้สงบเย็นต่อไป อันนี้มันไม่ใช่สิ่งที่ควรจะทำ
เพราะแท้ที่จริงแล้ว เราไม่สามารถหนีอารมณ์ที่ไม่ถูกใจ ไม่สามารถจะหลีกหนีผัสสะที่ไม่ถูกใจได้ สิ่งที่เราควรทำมากกว่าคือว่า เมื่อเจอกับมันไม่ว่าจะเป็นรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสมากระทบแล้ว แม้ว่ามันจะไม่ถูกใจ เช่น อากาศร้อน เสียงดัง แต่ว่าใจเรานิ่งได้ อันนี้ต่างหากที่สำคัญ บางคนหวงอารมณ์ หวงความสงบก็เลยไม่อยากจะออกไปเจอสิ่งกระทบข้างนอก
หรืออาจจะไปคิดว่า ออกไปข้างนอกแล้ว เราจะไม่มีโอกาสได้ปฏิบัติอย่างที่เราปฏิบัติในวัด คิดอย่างนี้ก็ไม่ถูกเพราะว่าการปฏิบัติมันทำได้ตลอดเวลา ที่จริงการปฏิบัติมันเกิดขึ้นเมื่อมีการกระทบด้วยซ้ำ อย่างที่ครูบาอาจารย์ได้พูดอยู่เสมอ ว่าการเจริญสติให้เห็นกายเคลื่อนไหว ให้เห็นใจคิดนึก
หรือถ้าขยายความก็คือ ให้เห็นกายเคลื่อนไหวเวลาทำกิจ ให้เห็นใจคิดนึกเวลาเจอผัสสะ ไม่ว่าเวลาทำกิจอะไรที่มันใช้มือใช้กายก็ให้รู้ว่า กายกำลังทำอะไรอยู่ แล้วเมื่อเจอผัสสะหรือไปเจอนั่นเจอนี่ มันมีความคิดตั้งแต่จิตใจยังไง ก็รู้ ถ้าหากว่าเราจับหลักของการปฏิบัติได้ รู้กายเคลื่อนไหว เห็นใจคิดนึก หรือว่ารู้กายเคลื่อนไหวเมื่อทำกิจ เห็นใจคิดถึงเมื่อเจอผัสสะ
หรือเมื่อเกิดผัสสะ การปฏิบัติก็เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ใช่เฉพาะเวลาอยู่วัด ไม่ใช่เฉพาะเวลาอยู่กุฏิ เวลาออกไปข้างนอก เวลาไปเจอผู้เจอคนก็เป็นการปฏิบัติได้ เพราะว่าคนเราจริงๆแล้วก็มีแค่ 2 อย่างเท่านั้น ในยามตื่นมา ถ้าเราไม่ทำนั่นทำนี่ ก็เจอนั่นเจอนี่ มีแค่ 2 อย่างเท่านั้นแหละ การทำก็อาจจะมีการกินอาหาร การอาบน้ำ การเดิน การพูดคุย ส่วนเจอนั่นเจอนี่ก็สารพัดก็คือรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสที่มากระทบนั้นแหละ
รวมทั้งเหตุการณ์ต่างๆทั้งที่ถูกใจ ทั้งที่ไม่ถูกใจ ที่เป็นอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติมันจึงเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาโดยเฉพาะถ้าเป็นการเจริญสติ ซึ่งรวมถึงเมื่อมีผัสสะมากระทบด้วย เพราะฉะนั้นที่คิดว่าออกไปข้างนอกแล้วจะไม่ได้ปฏิบัติ อยู่แต่ข้างในดีกว่าได้ปฏิบัติ อันนี้มันไม่ถูก เพราะถ้ายังอยู่ข้างใน อยู่ในป่า อยู่ในกุฏิ มันก็ยังเป็นแค่ซ้อม ไม่ใช่ของจริง
ของจริงคือพอเราออกไปอยู่ในโลกกว้าง ได้เจอผัสสะที่ควบคุมไม่ได้แล้ว และที่ไม่คุ้นเคย ส่วนการที่เราอยู่ในกุฏิแล้วเราสงบเย็นอาจจะเป็นเพราะเราเจอผัสสะที่มันคุ้นเคย หรือผัสสะที่ถูกใจเรา ที่ไม่ถูกใจเราก็หนี หรือเปลี่ยนให้มันเป็นสิ่งที่ถูกใจเรา ร้อนหรือก็เปิดพัดลมหรือว่าอาบน้ำ เสียงดังหรือก็หลบไปที่เสียงไม่ดัง เราก็ไปใช้วิธีการแบบนั้น แต่นั่นไม่ใช่เป็นการปฏิบัติแท้
การปฏิบัติแท้ก็คือว่า ไม่ว่ามีอะไรมากระทบรวมทั้งคำติฉินนินทา คำต่อว่าด่าทอ เราก็สามารถรักษาใจให้ปกติ นี้คือการปฏิบัติแล้ว ออกไปข้างนอกเจอผู้เจอคน สนทนากัน พูดคุยกัน นั่นคือการปฏิบัติเหมือนกัน อย่าไปคิดว่า ออกไปข้างนอกแล้วจะไม่ได้ปฏิบัติ ที่จริงปฏิบัติยิ่งกว่าที่เราอยู่ในกุฏิหรืออยู่ในวัดเสียอีก มันเป็นการปฏิบัติกับของจริง
และนั่นแหล่ะคือโอกาสที่เราจะได้เรียนรู้ โอกาสที่เราจะได้ฝึกฝน ผลจะเป็นยังไง ยังไม่สำคัญ เช่น เจอผู้เจอคนแล้วจิตใจว้าวุ่น เข้าไปในเมืองแล้วจิตใจฟุ้งซ่าน ถ้าเรารู้ ก็ไม่เป็นไร ก็กลับมาเริ่มต้นใหม่ มาฝึกใหม่ การฝึกนี่ สิ่งสำคัญคือความเพียร ส่วนผลจะเป็นไปตามที่คาดหวังหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และที่จริงถึงแม้ฟุ้ง เราก็รู้ทันมัน อันนี้ดี ถือว่าทำถูก หรือว่าหงุดหงิดก็รู้ทัน เห็นความหงุดหงิด อันนี้ก็ถูก มีความโกรธ ก็เห็นความโกรธเกิดขึ้น อันนี้ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติแล้ว ไม่ใช่ว่าปฏิบัติแล้วจะหงุดหงิดไม่ได้ จะโกรธไม่ได้ อันนี้ไม่ใช่
ออกไปข้างนอก มันว้าวุ่น เห็นความว้าวุ่นในจิตใจ อันนี้ก็ถือว่ามีสติ ออกไปข้างนอกมันหลง เรารู้ตัวว่าหลง อันนี้ก็ถือว่าปฏิบัติถูก ออกไปข้างนอก เห็นมันคิดเยอะเหลือเกิน เราก็เห็นความคิด รู้ทันมัน รู้กายเคลื่อนไหว เห็นใจคิดนึก อันนี้เป็นหลักที่ใช้ได้กับการปฏิบัติในทุกที่ทุกเวลา
โดยเฉพาะเมื่อเห็นแล้วไม่เข้าไปเป็น
เมื่อรู้ก็รู้ซื่อๆ อันนี้ยิ่งทำให้การปฏิบัติของเราหนักแน่นมั่นคง เป็นการเจริญสติที่จะทำให้เรามีความสงบเย็นในจิตใจได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ไม่ว่าจะมีสิ่งใดมากระทบแค่ไหน ใจสงบได้เพราะเราฝึกสติไว้ได้อย่างถูกต้อง
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 15 ตุลาคม 2564