แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เรารู้มานานแล้วว่า คนเราสามารถจะแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ โดยเฉพาะคนที่อยู่ใกล้ๆ เขาจึงแนะนำให้เราอยู่ห่างกันและกันที่เรียกว่าระยะห่างทางสังคม เท่านั้นยังไม่พอ รวมสวมหน้ากากอนามัยด้วยสำหรับการป้องกันไม่ให้เชื้อโควิดของคนอื่นมันแพร่มาถึงเรา แล้วก็ไม่ให้เชื้อโควิดที่เราอาจจะมีอยู่แพร่ไปสู่คนรอบข้าง แต่นอกจากเชื้อโรคแล้ว อารมณ์ความรู้สึกหลายอย่างมันก็แพร่ไปสู่คนอื่นได้เหมือนกัน
อย่างเช่นเมื่อหลายปีมาแล้วพบว่า คนที่เหงาสามารถจะทำให้คนอื่นที่อยู่รอบข้าง เหงาตามไปด้วย ความเหงาสามารถจะแพร่ไปได้ 3 ต่อ จาก (ก)ไป(ข) จาก(ข)ไป(ค) จาก(ก)ไป(ค) อย่างน้อย 3 ต่อ มันแพร่ไปยังไง หรือมันเป็นไปได้ยังไง หรือว่าความเหงานี่มันสามารถจะกระโดดจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้ ก็อาจจะเป็นไปได้
แต่ว่ามันมีเหตุผลมากกว่านั้น อย่างเช่น (ก)เหงา (ข)ไปหา(ก) เพราะว่าเป็นเพื่อนกัน แต่ว่า(ก)เนื่องจากเหงา ก็เลยไม่ค่อยมีอารมณ์อยากจะคุยด้วย ไม่อยากจะโอภาปราศรัย มีความรู้สึกไม่สดชื่นเบิกบาน แถมขุ่นมัว (ข)ไปอยู่ใกล้ชิด(ก) ก็พลอยได้รับความรู้สึกที่ไม่ดี อาจจะเป็นทั้งความทุกข์ อาจจะเป็นทั้งความขุ่นมัวด้วย เพราะว่า(ก)ไม่พูดไม่คุยด้วย หรือบางที(ก)ก็อาจจะพูดจาห้วนๆ พูดจาไม่มีน้ำ ไม่อยากรับแขก (ข)ก็เลยรู้สึกไม่ค่อยดีเท่าไหร่
พอ(ค)ซึ่งเป็นเพื่อน(ข)มาหา (ค)เห็น(ข)ไม่ค่อยอยากจะพูดคุยด้วย ไม่มีความสดชื่นเบิกบาน พูดจาไม่มีน้ำ (ค)ก็เลยพยายามอยู่ห่างๆ พอ(ค)อยู่ห่างๆ (ข)ก็เลยเหงา เพราะว่าไม่มีเพื่อนมาหา
(ค)ก็เหมือนกัน พออยู่ใกล้(ข) ก็ซึมซับรับเอาความรู้สึกไม่ค่อยดีไปด้วย ใครที่อยู่ใกล้(ค) ก็ไม่อยากอยู่ใกล้ (ค)ก็พลอยเหงาไปด้วย เขาบอกว่า ถ้า(ก)เหงา (ข)ก็มีโอกาสที่จะเหงา 50% ส่วน(ค)ซึ่งเป็นเพื่อน(ข)ก็มีโอกาสจะเหงากว่าคนทั่วไป 25% อันนี้มันก็เป็นการค้นพบที่เกิดจากการศึกษาวิจัยที่น่าสนใจนะว่าความเหงานี่มันแพร่กระจายสู่คนอื่นหรือว่าติดต่อถึงกันได้อย่างน้อยก็ 3 ต่อ
อันนี้ดีหน่อย ดีกว่าเชื้อโรค โควิด หรือเชื้อหวัด หรือเชื้ออะไรก็ตาม มันแพร่กระจายไปได้เรียกว่าไม่มีที่สุดเลย แต่ว่าความเหงาอย่างน้อยมันแพร่ไม่ได้ 3 ต่อ จาก (ก)ไป(ข) แล้วจาก(ข)แพร่ไปสู่(ค) ต่อไปเราก็อาจจะพบ นอกจากความเหงาแล้ว ความเศร้าก็อาจจะแพร่ไปถึงกันได้ หรือว่ากระจายติดต่อไปสู่คนอื่นได้เหมือนกัน
แต่ไม่ใช่แค่อารมณ์ เช่น ความเหงาเท่านั้น พฤติกรรม ประพฤติปฏิบัติบางอย่าง มันก็กระจายสู่คนอื่นได้หรือติดต่อถึงกันได้ อย่างคนอ้วน ใครที่แวดล้อมคนอ้วน จะเป็นญาติพี่น้อง หรือเป็นเพื่อนใกล้ชิด โอกาสที่จะอ้วนตาม 35 ถึง 60 เปอร์เซ็นต์เลย และยิ่งเป็นเพื่อนที่ใกล้ชิดด้วยแล้ว โอกาสที่จะอ้วนตามไปด้วยเพิ่มขึ้นถึง 70 เปอร์เซ็นต์เลยก็ได้ เพราะอะไร ก็อาจจะเป็นเพราะว่า ชักชวนกันกินก็ได้
คนอ้วนชวนเพื่อนชวนญาติพี่น้องไปกินด้วยกัน เราเห็นเพื่อนกินเราก็กินตาม เขากินเยอะเราก็กินเยอะไปด้วย เลยพลอยอ้วนไปด้วย หรืออาจจะเป็นเพราะว่า คนที่ใกล้ชิดก็เห็นว่าความอ้วนนี่หนัก 80 กิโลกรัมนี้ถือว่าธรรมดา เพราะว่าเห็นกันทุกวันๆก็คิดว่าน้ำหนัก 80 กิโล มันก็ไม่ได้อ้วนเท่าไร แต่ว่าในสายตาคนอื่น ถือว่าอ้วนแล้ว แปลว่าคนใกล้ชิดเขาไม่ได้รู้สึกเพราะว่าเขาเจอแต่คนที่อ้วนอยู่บ่อยๆ
ที่มันแปลกเพราะว่าความอ้วนที่มันแพร่กระจายไปสู่คนอื่น ไปสู่เพื่อน มันไม่จำเป็นต้องเป็นเพื่อนที่เห็นหน้าเห็นตากัน หรือว่าคบค้ากันอยู่บ่อยๆด้วยก็ได้ เพื่อนที่อยู่ไกลติดต่อกันทางอินเทอร์เน็ต ติดต่อกันทาง Social Media หรือว่าติดต่อกันทางโทรศัพท์ มันก็สามารถจะส่งต่อความอ้วนไปถึงกันได้ อาจจะเป็นเพราะว่า เพื่อนที่รู้จักคนอ้วน เขาอาจจะมีความคิดว่าการกินอาหารที่มีเนื้อเยอะ ไก่ย่างแฮมเบอร์เกอร์นี้เป็นเรื่องธรรมดา หรือว่าพูดคุยกันแต่เรื่องกินที่มีอาหารไขมันเยอะๆ เขาก็มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา
พอเห็นเป็นเรื่องธรรมดา ก็เลยไม่ได้ควบคุมอาหารเท่าไหร่ ก็เลยกินตามก็เลยอ้วนตามไปด้วย อันนี้เขาพบว่าถ้าเป็นเพื่อนคนอ้วนก็มีโอกาสที่จะอ้วนตามไปได้ จะเรียกว่าซึมซับพฤติกรรมและทัศนคติของคนอ้วนก็ได้ มันก็ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ว่าก็เยอะทีเดียว ถ้าเป็นญาติพี่น้องก็อาจจะถึง 60% ถ้าเป็นเพื่อนใกล้กว่าก็ 70 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
แต่ที่ดีๆก็มี คนที่เลิกบุหรี่ หรือคนที่ไม่สูบบุหรี่ โอกาสที่ญาติพี่น้องหรือเพื่อนใกล้ชิดจะไม่สูบบุหรี่ตามหรือว่าเลิกบุหรี่ได้มันก็มีถึงเกือบ 40% มันเป็นพฤติกรรมที่ส่งต่อกันได้ แพร่ถึงกันได้ ถ้านาย(ก) เลิกบุหรี่หรือว่าไม่สูบบุหรี่ คนที่อยู่รอบๆเป็นญาติพี่น้องก็มีโอกาสที่จะเลิกบุหรี่ แล้วมันก็กระจายไปได้หลายต่อทีเดียว เรื่องพฤติกรรมที่ไม่สูบบุหรี่หรือเลิกบุหรี่ได้
มันไม่ได้เหมือนความเหงา เขาว่ามันแพร่ไปได้ 3 ต่อ เขาว่ามันแพร่ไปได้หลายต่อทีเดียว ก็เป็นไปได้ว่าคนเราก็คบคนที่มีพฤติกรรมคล้ายกัน (ก)เลิกบุหรี่ แต่(ข)สูบบุหรี่ (ก)ก็ไม่อยากเข้าใกล้ ก็ห่างๆ (ข)ก็จะห่างๆเพราะว่ารสนิยมอาจจะไม่เหมือนกัน คนที่สูบบุหรี่ก็ค่อยๆตีห่างจากคนที่เขาเลิกบุหรี่ ก็กลายเป็นว่า ในที่สุดก็แวดล้อมด้วยคนที่เลิกบุหรี่เหมือนกัน
อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ชี้ให้เห็นว่าคนเราคบใคร อยู่ใกล้ชิดใคร มันก็อาจจะได้รับอิทธิพลของคนๆนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอารมณ์ความรู้สึกหรือพฤติกรรม อันนี้ก็ตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนเรื่องมิตรหรือเพื่อนนั้นสำคัญ จึงตรัสสอนข้อแรกของมงคลสูตร การไม่คบคนพาล และการคบบัณฑิต อันนี้เป็นมงคลสูงสุด 2 ประการแรกเลย
เพราะว่าในการที่จะซึมซับรับเอาพฤติกรรมรวมทั้งอารมณ์ความรู้สึกไม่ว่าทางลบทางบวก มันเกิดขึ้นได้ง่ายกับคนที่อยู่ใกล้ชิดกัน โดยเฉพาะคนที่เป็นเพื่อนฝูงมิตรสหาย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ควรระลึกไว้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราไม่ควรคบคนอ้วนเลยนะ หรือว่าเราไม่ควรคบกับคนที่สูบบุหรี่ อันนี้ไม่ใช่
แต่ก็ต้องมีสติคอยระมัดระวังด้วย ถ้าหากว่าเราไม่อยากจะอ้วนตามหรือไม่อยากจะติดบุหรี่เหมือนเขาก็ต้องคอยระมัดระวัง แต่อย่าไปถึงขั้นรังเกียจเขา อันนี้ไม่ถูก แต่ก็คอยมีสติระมัดระวังในการใช้ชีวิต
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 15 ตุลาคม 2564