แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พวกเราที่เป็นชาวพุทธ คงคุ้นเคยกับชาดก ชาดกก็คือนิทานหรือเรื่องเล่าที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา เช่น พระไตรปิฎก หรืออรรถกถา ถือว่าเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์คือพระพุทธเจ้าในอดีตชาติ ชาดกบางเรื่องนี้ เราอาจจะไม่รู้ว่าเป็นชาดกก็ได้เลยนะ เพราะได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่เล็ก เช่น นิทานเรื่องกระต่ายตื่นตูม อันนี้ก็เป็นชาดกเรื่องหนึ่ง
ชาดกในเมืองไทย เดี๋ยวนี้ลืมเลือนกันไปเยอะแล้ว แต่ว่าในบางประเทศอย่างเช่น ภูฏาน มีชาดกบางเรื่องที่ชาวบ้านยังเล่าขาน แล้วก็นำมาเตือนใจอยู่เสมอ อย่างมีชาดกเรื่องหนึ่ง เรื่องสี่สหาย เป็นเรื่องที่ปรากฏในจิตรกรรมฝาผนังของวัดต่างๆแทบทุกวัดเลย รวมทั้งสถานที่สำคัญ แม้กระทั่งตามบ้านเรือน ปฏิทินก็จะมีเรื่องราวเกี่ยวกับชาดกเรื่องนี้
นิทานสี่สหายนี้คืออะไร มีสี่สหาย คือ มีนก กระต่าย ลิง ช้าง ชาดกเรื่องนี้ก็ไม่ได้ยืดยาวอะไรนัก เล่าว่า มีนกเอาเมล็ดพันธุ์มาเพาะลงดิน ส่วนกระต่ายก็มาช่วยด้วยการน้ำมารด ลิงก็หาปุ๋ยมาใส่ ส่วนช้างก็คอยบังแดดบังลมเวลาต้นกล้าเกิดขึ้น เพื่อให้ต้นกล้าได้เติบโตเป็นต้นใหญ่ พอต้นไม้ใหญ่ก็ให้ร่มเงาให้ผลไม้ให้อาหารแก่สี่สหายนี้ ก็เป็นการร่วมมือกันเพื่อปลูกต้นไม้ปลูกป่า
ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นนั้นให้กับทั้งสี่สหายแล้วก็สัตว์อื่นๆก็ได้รับกันโดยถ้วนหน้า ทำไมชาดกเรื่องนี้จึงแพร่หลายในภูฏาน เพราะว่าเขาต้องการชี้ให้เห็นว่าความแตกต่างนี้ มันก็มีด้านที่งดงาม ด้านที่เป็นประโยชน์ สัตว์สี่ชนิดนี้แตกต่างกันมากเลย แต่ว่าก็เอาความแตกต่างนี้มาเสริมกัน มาช่วยกัน ทำให้เกิดป่า ทำให้เกิดต้นไม้ ซึ่งก็เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย
เขาต้องการชี้ให้เห็นว่าความแตกต่างนี้ มันไม่ได้เป็นเรื่องที่เสียหายอะไร ถ้ารู้จักใช้ความแตกต่าง มันก็เกิดประโยชน์ได้ เพราะคนเราไม่ว่าเก่งแค่ไหน ฉลาดเพียงใด หรือยิ่งใหญ่แค่ไหน มันก็มีข้อจำกัด อย่างช้างไปปลูกต้นไม้เหมือนนก ก็ทำไม่ได้ ทำได้ไม่ดีเท่า แต่ช้างก็สามารถที่จะคอยบังแดดบังลมให้ต้นกล้า และคอยรักษาต้นกล้าให้เติบใหญ่และอันตรายนี้ ทำได้ อันนี้เขาต้องการสอนว่าคนเรามันย่อมจะมีความแตกต่างกันอยู่แล้ว แต่ก็ต้องรู้จักใช้ความแตกต่างให้เป็นประโยชน์
ที่จริงในธรรมชาติ สัตว์นานาชนิดนี้ก็ใช้ความแตกต่างมาช่วยกัน มันไม่ใช่แค่เป็นเรื่องเล่าเป็นนิทาน อย่างที่เคยเล่า นกพรานผึ้ง มันอยากกินขี้ผึ้ง ตัวผึ้ง มันก็ต้องร่วมมือกับสัตว์อีกชนิดหนึ่งคือตัวราเตล ตัวก็ขนาดลูกแมวตัวใหญ่ๆ มันมีขนที่ฟูแล้วก็หนังหนา แต่มันบินไม่ได้เหมือนนก และนกยังมีข้อได้เปรียบคือสามารถจะมองไกล แล้วก็รู้ว่ารังผึ้งอยู่ตรงไหน
ส่วนราเตลมันมองไม่เห็นหรอก มันเหมือนกับพังพอน เดินตามพื้น มองอะไรก็ไม่ได้ไกล แต่มันมีจุดเด่นก็คือว่า หนังมันหนา เพราะฉะนั้นมันสามารถจะเข้าไปลุย ลุยรังผึ้งได้ ผึ้งกัดอย่างไรต่อยยังไง มันก็ไม่เจ็บ แล้วก็สิ่งที่ได้มา ก็มาแบ่งปันกัน ระหว่างนกพรานผึ้งกับราเตล อันนี้เรียกว่าใช้ความแตกต่างในทางที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
ในธรรมชาติมันมีเยอะเลยที่มีความแตกต่างกัน แล้วก็ช่วยเหลือกัน ถ้าเหมือนกันหมดมันก็ลำบาก ที่จริงคนเราก็เหมือนกัน ในแต่ละคนๆ เราสังเกตไหม ว่าทำไมนิ้วมือเรามันถึงถึงยาวไม่เท่ากัน การที่นิ้วมือเราทั้ง 5 นิ้วมันยาวไม่เท่ากัน ขนาดไม่เท่ากัน มีประโยชน์เยอะ เพราะว่ามันช่วยทำให้เราจับฉวยอะไรได้ดีขึ้น รวมทั้งทำอะไรต่ออะไรได้มากมายอย่างที่สัตว์ชนิดอื่นทำไม่ได้ อย่างเช่น เราใช้มือจับปากกาเขียนหนังสือ จับพู่กันวาดรูป เล่นกีต้าร์ ดีดเปียโน ทำได้เยอะแยะเลย
สัตว์อื่นใช้มือสร้างสรรค์สิ่งต่างๆรวมทั้งสร้างเครื่องไม้เครื่องมือสู้มนุษย์ไม่ได้ การที่เรามีนิ้วมือที่แตกต่างกันนี้ มันเป็นข้อดี แต่ละนิ้วมาช่วยกันเสริมกัน นิ้วโป้งก็ดี นิ้วกลางก็ดี นิ้วชี้ก็ดี มีประโยชน์ทั้งนั้นถึงแม้ว่ามันจะแตกต่างกัน มันไม่ใช่แค่ความสามารถทางกายภาพที่เมื่อแตกต่างกันแล้วเป็นประโยชน์ ความคิดที่แตกต่างกันก็มีประโยชน์
เดี๋ยวนี้เราทนไม่ค่อยได้กับคนที่มีความคิดแตกต่างจากเรา ทั้งๆที่ความคิดที่แตกต่างกันมันช่วยทำให้เรามองอะไรได้กว้างขวางขึ้น รอบด้านมากขึ้น คนเราถ้าหากเอาความคิดที่แตกต่างกันมาใช้ให้เป็นประโยชน์ มันก็เกิดผลดี เวลาทำอะไร มีคนที่คิดต่าง มองต่างบ้าง มันก็ทำให้เห็นอะไรได้ถี่ถ้วนรอบด้านมากขึ้น พอความจริงมันมีหลายแง่หลายมุมที่เราไม่สามารถจะเห็นได้ถี่ถ้วนด้วยตัวเราเองหรือด้วยตัวคนเดียวได้ มันต้องมีคนช่วยกันมอง เมื่อมาช่วยกันมอง ทำให้เห็นความแตกต่าง เห็นความหลากหลาย ในแง่มุมที่ไม่เหมือนกัน ก็ทำให้เราเห็นอะไรรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม
มันมีกฎหมายหนึ่งเป็นกฎหมายโบราณของชาวยิว กฎหมายนี้ มีมาตราหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องการพิจารณาโทษของอาชญากร ถ้าเกิดว่าเป็นคดีอุกฉกรรจ์ และผู้พิพากษาเห็นพ้องต้องกันว่า นักโทษคนนี้สมควรถูกประหารชีวิต ถ้าเห็นพ้องต้องกันทั้งหมดซึ่งมี 71 คน คือทั้ง 71 คนมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ คำตัดสินนั้นถือเป็นโมฆะ หมายความว่า นักโทษคนนั้นไม่ต้องถูกประหารชีวิต
ซึ่งมันผิดกับความเข้าใจของคนเรานะว่า ถ้าเอกฉันท์ก็ยิ่งดีสิ ผู้พิพากษาทั้ง 71 คนมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าคนนี้สมควรถูกประหารชีวิต แต่กฎหมายยิวบอกว่าให้ปล่อยเลยนะ หรือว่าไม่ต้องลงโทษประหารชีวิต ปล่อยคือว่า ไม่ต้องลงโทษประหารชีวิต เพราะอะไร เพราะว่าเขาเห็นว่า ถ้าคนเห็นพ้องต้องกันกันหมด คือทั้ง 71 คน โดยที่ไม่มีใครสักคนหนึ่งเห็นต่าง
มันแสดงว่า ทั้งหมดนี่มองไปในทางเดียวกันเมื่อมองไปในทางเดียวกันนี้ ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะไม่ได้เห็นบางแง่บางมุมที่แตกต่างกัน การที่เห็นอะไรเหมือนกันหมด ไม่มีใครสักคนหนึ่งเห็นต่างเห็นแย้ง มันก็เป็นไปได้ว่า ผู้พิพากษาทั้งหมดนี้ มองข้ามบางเรื่องมองข้ามบางแง่บางมุมไป ก็มีโอกาสที่จะมองไม่ถี่ถ้วน ไม่รอบด้าน เพราะฉะนั้นก็อาจจะเกิดความผิดพลาดได้
เพราะฉะนั้นถ้าเป็นเรื่องความเป็นความตาย เขาให้ปล่อยเลย คือไม่ลงโทษประหารชีวิต อาจจะตัดสินจำคุก หรือว่าปรับก็แล้วแต่ อันนี้ก็เป็นเรื่องแปลก ความเห็นที่เป็นเอกฉันท์ในบางเรื่องนี้เขาถือว่าไม่ดี เพราะว่ามันหมายถึงการมองข้ามบางแง่บางมุมที่อาจจะสำคัญก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้ามีคนเห็นต่างในคดีแบบนี้แม้เพียงคนเดียว นักโทษถูกตัดสินประหารชีวิตเลยนะ แต่ถ้าเห็นเหมือนกันหมดเป็นเอกฉันท์นี่ ก็รอดตายไป
อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ตรงข้ามกับความเข้าใจของคนเรา ถ้ามีความเห็นเป็นเอกฉันท์ คิดเหมือนกันหมดแสดงว่าถูกต้องแน่นอน แต่กฎหมายยิวโบราณ บอกว่า อันนี้เป็นไปได้ว่า อาจจะมองข้ามบางแง่บางมุมที่สำคัญก็ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าตัดสินลงโทษประหารชีวิต ก็อาจจะผิดพลาด ฉะนั้นทางที่ดีก็คือว่า ไม่ฆ่า ไม่ประหาร อันนี้ก็เป็นภูมิปัญญาของโบราณ ที่เขาเห็นว่าความแตกต่างก็มีข้อดีเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าจะต้องเห็นพ้องต้องกันหมด
แต่เดี๋ยวนี้ เราทนความเห็นต่างไม่ค่อยได้ พอเห็นต่างเมื่อไหร่ ก็รู้สึกว่าถูกกระทบ เพราะความยึดมั่นถือมั่นว่าความคิดของฉันถูก พอใครเห็นต่างก็รู้สึกว่าตัวตนถูกกระทบถูกกระแทก เพราะไปยึดว่า ความคิดนั้นเป็นกูเป็นของกู คนที่เห็นต่างก็เหมือนกับว่า มากระทบตัวกู ก็เลยไม่พอใจ บางทีก็เลยทะเลาะเบาะแว้งกัน เพียงเพราะเห็นต่างกันในบางเรื่องที่อาจจะไม่สลักสำคัญอะไรเลย
เพราะฉะนั้น เรื่องความเห็นต่าง หรือความแตกต่าง ถ้าเรามองให้เป็น มันก็มีประโยชน์ แล้วก็ต้องรู้จักเอามาใช้ให้เกิดคุณ ไม่เกิดโทษ
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 14 ตุลาคม 2564