แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คนเรามักจะคิดว่าตัวเองเป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ว่าอยู่ที่ไหน อยู่กับใคร อยู่ในสถานการณ์ใด เราก็จะพูด คิด หรือทำอย่างเดียวกัน ไม่ค่อยแตกต่างกันเท่าไหร่ แต่ในความเป็นจริง การปฏิบัติหรือพฤติกรรมของคนเรา ไม่ได้คงเส้นคงวาขนาดนั้น มันก็เปลี่ยนแปลงหรือแตกต่างจากเดิม ขึ้นอยู่กับคนที่เราติดต่อสัมพันธ์ด้วย หรืออาจจะขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ สถานที่
ที่จริงแล้วแม้กระทั่งเจอกับคนๆเดียวกัน แต่ว่าเราอาจจะพูดแตกต่างจากเดิม เราก็อาจจะคิดแตกต่างไปจากที่เคยพูดเคยทำก็ได้
มีเรื่องแปลกอยู่เรื่องหนึ่ง มีสมาคมหนึ่งชื่อสมาคมผู้เกษียณอายุในอเมริกา ได้ติดต่อทนายความหลายคนว่าจะสามารถลดค่าบริการให้กับสมาชิกผู้เกษียณอายุที่ยากจนได้ไหม อาจจะลดค่าบริการเหลือชั่วโมงละ 30 ดอลลาร์ซึ่งก็ถือว่าต่ำ ปรากฏว่าทนายความทุกคนบอกว่าลดให้ไม่ได้ แทนที่ผู้จัดการสมาคมจะยกเลิกความคิดนั้นแกก็ไปติดต่อทนายความเดิมใหม่ โดยถามว่าคุณจะยินดีให้บริการแก่ผู้ยากไร้วัยเกษียณโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายได้ไหม ทนายความส่วนใหญ่บอกว่าได้
มันก็แปลกทีแรกถามว่าลดค่าบริการได้ไหม ให้เหลือ 30 ดอลลาร์ บอกว่าไม่ได้ แต่พอไหว้วานขอร้องว่า ให้บริการฟรีได้ไหม กลับได้ เป็นเพราะอะไร อาจจะเป็นเพราะว่าตอนที่ติดต่อทนายความครั้งแรก เขาพูดเรื่องเงินเรื่องทอง ทนายความแทบทุกคนเลยจะนึกถึงบรรทัดฐานทางธุรกิจ พอเอาบรรทัดฐานทางธุรกิจมาจับ ก็จะพบว่า ถ้าเอาชั่วโมงละ 30 ดอลลาร์มันขาดทุน แต่พอได้รับการทาบทามครั้งที่ 2 ไหว้วานขอความช่วยเหลือว่าความ ให้บริการฟรี ทนายความเหล่านี้ก็กลับให้ เพราะนึกถึงบรรทัดฐานทางสังคม บรรทัดฐานทางสังคมคืออะไร ก็คือว่าคนเราก็ต้องช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกันเพราะฉะนั้น เขาก็ยินดี ให้บริการฟรี
จะเรียกว่าคนเรามี 2 ต่อมก็ได้ คือต่อมคุณธรรม กับต่อมธุรกิจหรือวา่ต่อมที่คิดถึงแก่ตัวเองหรือคิดถึงกำไรขาดทุน ตอนที่สมาคมผู้เกษียณอายุมาติดต่อครั้งแรกก็กระตุ้นต่อมธุรกิจเกี่ยวกับเงินทองเกี่ยวกับกำไรขาดทุน เขาจึงไม่ยอมทำตามข้อเสนอของสมาคมผู้เกษียณอายุ แต่ครั้งที่ 2 ไปกระตุ้นต่อมคุณธรรมจะว่าความให้ฟรีได้ไหม ตอบว่าได้ จะมองว่าคนเรามี 2 ต่อมก็ได้
เหมือนอย่างที่เคยพูดเมื่อหลายวันก่อน ชายชราชาวอินเดียนแดงเขาบอกว่า ในใจเรามีหมาป่าอยู่ 2 ตัว หมาป่าตัวเกเรกับหมาป่าตัวใจดี มันกำลังต่อสู้กันอยู่ เขาอุปมาอุปไมยว่า จิตใจคนเรามันไม่ได้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มันก็มีทั้งส่วนที่ใฝ่คุณธรรมเรียกว่าหมาป่าใจดี กับส่วนที่เห็นแก่ตัว เจ้าคิดเจ้าแค้น โกรธพยาบาท อันนี้คือหมาป่าเกเร หรือเราจะเห็นว่ามันมีต่อมสองต่อมในตัวคนเดียวกันก็ได้ คือต่อมคุณธรรม กับต่อมเห็นแก่ตัวหรือว่าคิดแต่เรื่องกำไรขาดทุน
หรือจะมองอีกในแง่หนึ่งก็ได้ว่า คนเรามีหลายตัวตนอยู่ในคนเดียวกัน ตัวตนหนึ่งคิดถึงเรื่องกำไรขาดทุน คิดถึงเรื่องความคุ้มค่า คิดถึงเรื่องเงินเรื่องทอง อีกตัวตนหนึ่งเป็นตัวตนที่มีน้ำใจใฝ่ช่วยเหลือเกื้อกูล ส่วนที่ว่าตัวตนไหนจะออกมาหรือว่ามาเป็นใหญ่ในจิตใจเรา มันก็ขึ้นอยู่กับว่าคนที่อยู่ข้างหน้า เขาพูดอะไร หรือว่ามากระตุ้นตัวตนส่วนไหนให้ออกมาแสดงบทบาท
ที่จริงมันไม่ใช่แค่คำพูดหรือการกระทำของคนที่อยู่ข้างหน้าเรา บางทีแค่นึกถึงสายตาของผู้คน หรือความคาดหวังของผู้คน มันก็มีอิทธิพลต่อความคิดจิตใจหรือพฤติกรรมของเราได้ หรือจะเรียกว่ามันมีอิทธิพลต่อการกระตุ้นตัวตนอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีอยู่ในตัวเราก็ได้
มีการทดลองหนึ่ง ชักชวนผู้หญิงที่เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย เชื้อสายเอเชียหมายความว่าเชื้อสายจีน เกาหลี ไทย หรือว่าอินเดียให้มาทำแบบทดสอบทางคณิตศาสตร์ คนที่เขาชวนมาทำแบบทดสอบนั้น สติปัญญาพอๆกัน ไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่ ก่อนทำแบบฝึกหัดทดสอบคณิตศาสตร์ มีการแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก มีการซักถามเพื่อกระตุ้นให้เกิดความสำนึกในความเป็นผู้หญิง เช่นถามเกี่ยวกับเรื่องหอพัก
อีกกลุ่มหนึ่งถูกซักถามที่กระตุ้นให้เกิดสำนึกเกี่ยวกับเรื่องความเป็นคนอเมริกันที่มีเชื้อสายเอเชีย เช่นถามว่าอยู่ที่บ้านพูดภาษาอะไร ครอบครัวคือพ่อแม่มาจากไหน ซักถามเรื่องครอบครัว เพื่อเป็นการปูทางเพื่อให้เกิดความสำนึกว่าฉันมีเชื้อสายเอเซีย
แล้วก็ให้ทำแบบทดสอบ เขาก็พบว่า กลุ่มแรกซึ่งถูกกระตุ้นให้เกิดสำนึกว่าฉันเป็นผู้หญิงจะทำคะแนนได้แย่กว่าหรือต่ำกว่าคนกลุ่มที่ 2 ซึ่งถูกกระตุ้นให้สำนึกว่าฉันเป็นคนเชื้อสายเอเชีย ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เขาก็มีคำอธิบายว่า เป็นเพราะว่าเวลาถูกกระตุ้นหรือถูกปูทางให้คิดว่าฉันเป็นผู้หญิง เขาก็จะไปนึกถึงสายตาค่านิยมของผู้คนทั่วไปที่มองว่า ผู้หญิงไม่ค่อยเก่งเรื่องคณิตศาสตร์ พอเกิดความคิดแบบนี้เข้า ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในการทำแบบทดสอบ
ส่วนกลุ่มที่ 2 ถูกกระตุ้นหรือซักถามหรือปูทางให้เกิดความสำนึกว่าฉันเป็นคนเชื้อสายเอเชีย เขาก็จะมีความมั่นใจในการทำแบบทดสอบ เพราะว่าคนทั่วไปมองว่าคนเอเชียเก่งเรื่องคณิตศาสตร์ สายตาหรือความคาดหวังของผู้คน มันก็มีผลเหมือนกันต่อพฤติกรรมของคนเรา โดยเฉพาะถ้าเกิดว่าถูกกระตุ้นให้เกิดความสำนึกในตัวตนว่าเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง
อย่างเช่นผู้หญิงที่มาทำแบบฝึกหัดทดสอบ อย่างน้อยเขาก็มี 2 ตัวตน มีสำนึกอยู่ 2 แบบว่า ฉันเป็นผู้หญิงกับฉันเป็นคนอเมริกันเชื้อสายเอเชีย แล้วตัวตนใดจะมีบทบาทเป็นอะไร ก็ขึ้นอยู่กับว่าถูกกระตุ้นอย่างไร เช่น ถ้าถามว่าเกี่ยวกับเรื่องหอพัก ความสำนึกเกี่ยวกับฉันเป็นผู้หญิงก็จะเกิดขึ้น
เพราะว่าทั้งหมดนี้นอนหอพักผู้หญิง แต่พอไปถามครอบครัว ภาษาที่ใช้ในบ้าน ก็เกิดกระตุ้นสำนึกว่าฉันเป็นคนเชื้อสายคนเอเชีย พอคิดแบบนี้เข้า ก็จะไปนึกต่อไปว่า คนเขามองว่าคนเอเชียมีความเก่งทางด้านคณิตศาสตร์ พอคิดแบบนี้เข้าก็เกิดความมั่นใจในการทำแบบทดสอบ
อันนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ให้เห็นว่า คนเราจะเรียกว่ามีหลายตัวตนอยู่ในคนเดียวกันก็ได้ แต่ถ้าพูดอย่างนี้มันก็ขัดแย้งกัน เพราะว่าเวลาพูดถึงตัวตน ถ้าเป็นตัวตนจริงๆ มันก็ต้องมีแค่หนึ่งเดียว จะมีหลายตัวตนได้อย่างไรในคนๆเดียวกัน คำว่าอัตตามันก็ต้องมีแค่หนึ่งเดียว
เพราะฉะนั้น จะเรียกว่ามีตัวตนหลายตนในคนเดียวกันมันก็อาจจะไม่ถูก อาจจะเรียกว่ามีภาพตัวตนก็ได้ หรือสำนึกในตัวตน และสำนึกในตัวตนของคนเรานี้มีเยอะ มันไม่ได้มีหนึ่งเดียว หรือมีแค่สอง
อย่างเช่น เวลาคนเราไปเจอแม่เจอพ่อ มันก็ทำตัวเป็นอีกแบบหนึ่ง กลายเป็นเด็กเลยก็ได้ กลายเป็นคนขี้อ้อนไปเลยก็ได้ แต่ว่าพอไปอยู่กับลูก อีกตัวตนหนึ่งก็ปรากฏขึ้น ปฏิบัติต่อลูกเป็นอีกคนหนึ่ง พออยู่กับลูกน้อง ที่เคยใจดีกับลูกก็กลายเป็นขึงขังกับลูกน้อง แสดงตัวตนอีกแบบหนึ่งขึ้นมา หรือว่าพอไปอยู่กับเจ้านายก็เปลี่ยนไป กลายเป็นอีกคนหนึ่งเลยที่ว่าง่าย หรือว่าพอไปเล่นกับหมากับแมว ก็กลายเป็นอีกคนหนึ่งเลย ไม่มีฟอร์มเลย กระเซ้าเย้าแหย่หมาแมวเหมือนกับเป็นคนละคนกับตอนที่อยู่กับลูกน้อง อยู่กับเจ้านาย
อันนี้เรียกว่า เรากลายเป็นคนละคนเมื่อเกี่ยวข้องหรือปฏิสัมพันธ์กับคนที่แตกต่างกัน อันนี้สะท้อนถึงสำนึกในตัวตนที่มีหลากหลาย ซึ่งบางทีเราก็ไปมีหลายตัวตนอยู่ในคนเดียวกัน และแต่ละตัวตนหรือภาพตัวตน ก็มีบุคลิกมีความสำนึกคิดไม่เหมือนกันในตัวคนเดียวกัน รวมทั้งมีความอยาก มีอุปาทานแตกต่างกันด้วย อุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่น การสำนึกว่าฉันเป็นนั่นเป็นนี่ที่เราเรียกว่าสำนึกตัวตน ในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่าชาติ ในปฏิจจสมุปบาทจะมีที่ว่านี้ ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ
คำว่าชาติคือการเกิด การเกิดมันไม่ใช่มีแค่การเกิดทางกาย มีการเกิดทางจิตหรือทางวิญญาณด้วย การเกิดทางวิญญาณก็เป็นตัวตน ยึดมั่นว่าฉันเป็นนั่นเป็นนี่ เป็นพ่อเป็นแม่ หรือว่าเป็นอาจารย์ เป็นพระ คนเรามีชาติ หรือการเกิดทางจิตทางวิญญาณอยู่ตลอดเวลา วันหนึ่งหลายครั้ง เดี๋ยวก็เกิดเป็นพ่อ เดี๋ยวก็เกิดเป็นลูกศิษย์ เดี๋ยวก็เกิดเป็นพระ เดี๋ยวก็เกิดเป็นอาจารย์ เดี๋ยวก็เกิดเป็นลูกน้อง เดี๋ยวก็เกิดเป็นคนไทย เดี๋ยวก็เกิดเป็นคนดี
พูดง่ายๆ คนเราแต่ละวันก็มีการเกิดทางจิตทางวิญญาณเกิดเป็นตัวตนหลายสิ่งหลายอย่าง และการเกิดตัวตัวแต่ละครั้งๆก็พ่วงมาพร้อมกิเลส เช่น พอเกิดตัวตนหรือสำนึกว่าฉันเป็นพ่อเป็นแม่ มันก็มีกิเลสหนึ่งอยากจะให้ลูกเชื่อฟังพ่อแม่ หรือพอเกิดตัวตนว่าฉันเป็นพระ อยากจะให้คนชมว่าฉันเป็นพระที่สำรวม ที่เคร่งวินัย น่าเคารพ เมื่อไปยึดมั่นถือมั่นกับภาพตัวตนที่เกิดขึ้น มันก็จะเกิดความยึดมั่นในกิเลส อุปาทาน ซึ่งพอไม่สมอยาก มันก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา
คนที่เป็นแม่ ยึดมั่นในความเป็นแม่มากก็จะทุกข์เพราะลูกไม่ฟัง คนที่ยึดมั่นในความเป็นพระ ก็จะคิดมากเมื่อไม่มีคนชมว่าไม่สำรวม หรือว่าไม่พอใจ กระทบอัตตาของเราที่เขาไม่มีสัมมาคารวะกับเรา จากที่มีความยึดมั่นเกิดขึ้น เพราะเราปล่อยให้ตัวตนหรือสำนึกในตัวตนมาครอบงำจิตใจ
ถ้าเรารู้ว่าสำนึกในตัวตนเหล่านี้มันไม่เที่ยง มันมาพร้อมกับกิเลส ตัณห าอุปาทาน ถ้าเรารู้เท่าทันมัน ไม่ปล่อยให้มันครอบงำใจ แล้วก็ตระหนักว่าตัวตนหลายอย่างที่เกิดขึ้นในใจ ก็เป็นสิ่งที่ชั่วคราว มันก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย และเราก็ไม่ปล่อยให้กิเลสหรือตัวตนเข้ามาผลักไสให้จิตใจเราเป็นทุกข์
แล้วจะยิ่งดีกว่านั้น ถ้าหากว่าเรารู้จักใช้ตัวตนแต่ละอย่างเพื่อส่งเสริมการทำความดี ใช้ตัวตนแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นเพื่อลดละความเห็นแก่ตัว ใช้เป็นเครื่องมือในการที่จะทำให้เกิดความเห็นแก่ตัวลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ไม่ว่าในความเป็นพ่อในความเป็นแม่ สำนึกความเป็นพระ หรือเป็นอะไรก็ตาม
ถ้าเรารู้เท่าทันตัวตนเหล่านี้แม้มันจะเกิดขึ้นในใจ เราก็ไม่ปล่อยให้มันครอบงำใจ และก็ทำไปตามเหตุตามปัจจัยที่มี และถ้าตัวตนใดที่มันทำให้เรามีความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ไม่ให้เข้ามาครอบงำจิตใจ ถ้าทำอย่างนี้ได้ การเกิดเป็นตัวตนแต่ละอย่างแต่ละครั้งๆ มันก็จะไม่ผลักไสให้เราเกิดความทุกข์ และเราก็จะรู้จักเลือกใช้เพื่อให้มันเกิดประโยชน์ทั้งประโยชน์ตนประโยชน์ท่านได้
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 11 ตุลาคม 2564