แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
กายกับใจ เราก็คงรู้กันอยู่แล้วว่า มันสัมพันธ์กันมาก คนเราเวลามีความโกรธ ถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆ หรือเป็นคนที่มักโกรธ มักก็จะพบว่าเป็นโรคความดันสูง หรือว่าคนที่เครียดมากๆ ถ้าถึงขั้นยืดเยื้อเรื้อรัง มักทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย เป็นหวัดบ่อย ต่างจากคนที่มีจิตใจผ่องใสหรือว่าผ่อนคลาย โรคทำนองนี้ก็จะไม่ค่อยเกิดขึ้นเท่าไหร่
อารมณ์ความรู้สึกกับสุขภาพกาย มันเป็นเรื่องที่แยกกันไม่ค่อยออก แต่ว่าเดี๋ยวนี้เขาพบว่า มันไม่ใช่แค่อารมณ์ ความรู้สึก ทัศนคติก็มีผลต่อร่างกายคนเรา ทัศนคติก็เป็นเรื่องของความคิด ความเห็น ความเชื่อ ถ้าเรามีทัศนคติในทางลบมันก็เจ็บป่วยได้ง่าย อาจจะไม่ใช่วันนี้ วันพรุ่งนี้ได้ แต่ว่าก็อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าก็ได้
อย่างเมื่อเร็วๆนี้ มหาวิทยาลัยเยล เขาได้ทำการวิจัย โดยการสอบถามคนที่อายุประมาณ 40 มีการสอบถามทัศนคติของเขาต่อวัยชราว่า มีความคิดมีมุมมองเกี่ยวกับวัยชราหรือว่าความแก่เฒ่าอย่างไรบ้างเขาพบว่า คนที่มีทัศนคติต่อความแก่ในทางลบ หรือรู้สึกลบต่อความแก่ เช่น มองว่าคนแก่เป็นผู้ที่เหม่อลอย เรียนรู้อะไรได้ยาก เมื่อเวลาผ่านไป 25 ปี เขาตามยาวเลย คนนั้นมีโอกาสเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้มากกว่า มากกว่าใคร มากกว่าคนที่มีทัศนคติในทางบวกต่อความแก่ หรือว่ารู้สึกเฉยๆต่อความแก่
เขาพบว่าคนที่มีทัศนคติในทางลบต่อความแก่ สมองบางส่วนที่สำคัญ มันจะฝ่อลง ฝ่อมากกว่า มีลิ่มเลือดมากกว่า มากกว่าใคร มากกว่าคนที่มีทัศนคติในทางบวกต่อความแก่ หรือมองว่าคนแก่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร ความแก่ชราไม่ได้เป็นปัญหาอะไร อันนี้มันเป็นการค้นพบที่น่าสนใจ
ซึ่งมันก็สอดคล้องกับการศึกษาวิจัยก่อนหน้านี้ที่พบว่า คนที่มีความคิดลบต่อความแก่ความชรา ผ่านไป 30-40 ปีมีโอกาสเป็นโรคหัวใจมากกว่า มากกว่าใคร มากกว่าคนที่เขามีทัศนคติในทางบวกต่อความแก่ชราหรือว่ารู้สึกเฉยๆกับความแก่ เดี๋ยวนี้เราพบว่าโรคหัวใจก็ดี โรคอัลไซเมอร์ซึ่งเป็นโรคเกี่ยวกับความจำเสื่อมก็ดี มันเกิดขึ้นแพร่หลายมาก และมีแต่จะมากขึ้นเรื่อยๆ รักษาก็ยากด้วย โรคหัวใจยังพอจะรักษาได้ด้วยการผ่าตัดทำบายพาส แต่โรคอัลไซเมอร์ รักษายาก มีแต่ชะลอ พูดถึงการป้องกันนี้ก็ยาก แต่ว่าการวิจัยนั้นน่าสนใจทีเดียว
ทำไมคนนี้รู้สึกลบต่อความแก่ความชรา ผ่านไป 25 ปี 30 ปีจึงมีโอกาสเป็นโรคหัวใจมากกว่า เป็นโรคอัลไซเมอร์มากกว่า เป็นเพราะว่า พอมองว่าความแก่นี้มันไม่ดี คนแก่นี่เงอะๆงะๆ หรือว่าเป็นภาระกับคนอื่นหรือมองว่าวัยชรานี่มันเป็นวัยของความโดดเดี่ยวอ้างว้าง พอคิดแบบนี้เมื่อตัวเองเริ่มแก่ชราลง จาก 40 อายุ 50 แล้วก็ 60 ความแก่ชราที่มันก็ค่อยๆเกิดขึ้น เด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้คนที่คิดแบบนี้รู้สึกกังวล
ว่าฉันกำลังแก่แล้วหรือนี่ ต่อไปฉันจะเป็นภาระกับคนอื่น ต่อไปฉันก็จะความจำเสื่อม ต่อไปฉันก็จะโดดเดี่ยวอ้างว้าง พอคิดแบบนี้เข้า ก็เกิดความกังวล เกิดความเครียด ความกังวลความเครียดมันก็มีผล บั่นทอนร่างกาย โดยเฉพาะหัวใจ แล้วก็สมอง ผ่านไป 25 ปีมันก็นานพอที่จะเห็นผล ก็กลายเป็นว่ายิ่งรู้สึกลบต่อความแก่ ความแก่ก็ยิ่งสร้างปัญหาให้กับตัวเอง
ส่วนคนที่ไม่มีความรู้สึกลบกับความแก่หรือมองความแกเป็นเรื่องดี เหมือนกับคนเฒ่าคนแก่สมัยก่อน สมัยปู่ย่าตายายจะรู้สึกว่าแก่ก็ดี เป็นที่เคารพนับถือของลูกหลาน มีลูกหลานห้อมล้อม อบอุ่น ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้อาวุโส ใครมีปัญหาอะไรก็มาปรึกษา ปัญหาชีวิต ปัญหาการงานต่างๆ เพราะสมัยก่อนยิ่งแก่ยิ่งมีประสบการณ์เยอะ ผ่านโลกมามาก ก็สามารถจะให้คำแนะนำเป็นที่พึ่งที่ปรึกษาทั้งทางสติปัญญาทางจิตใจได้
คนรู้สึกแบบนี้ มันก็ไม่เครียด แก่ตัวลงก็ไม่ได้มีความทุกข์อะไร มีความทุกข์ก็ทุกข์ทางกาย ทุกข์ทางใจไม่ค่อยมี ยิ่งมาเข้าหาวัดปฏิบัติธรรม ทำบุญทำกุศล จิตใจก็สดใสเบิกบาน เพราะฉะนั้น การที่จะเป็นโรคหัวใจมากกว่าคนอื่นนึกว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์มันก็น้อยลง
อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด ยิ่งรู้สึกลบต่อความแก่ ความแก่ก็ยิ่งทำร้ายเรา แต่ถ้าเรารู้สึกบวกต่อความแก่ ความแก่มันก็กลับเป็นคุณให้กับเรา ทำให้อายุยืนมากขึ้น แล้วก็ยืนแบบมีสุขภาพดีด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าไม่อยากจะเป็นอัลไซเมอร์ในตอนแก่ๆ หรือเป็นโรคหัวใจในวัยชรา ก็ต้องกลับมาสำรวจความคิดจิตใจของตัวนะว่า เรารู้สึกลบกับความแก่หรือเปล่า
เราเห็นความแก่เป็นสิ่งที่เป็นเคราะห์กรรม หรือว่าเห็นว่าชีวิตในวัยชรา มันเป็นภาระกับผู้คน หรือเรามองว่า ความแก่ก็เป็นธรรมดา คนเราเกิดมาแล้ว เมื่อเป็นหนุ่มเป็นสาว เมื่อถึงเวลามันก็แก่ มองความแก่ชราเป็นเรื่องธรรมดา หรือมองความแก่ชราว่ามันเป็นโอกาสดี เพราะว่าเวลาที่ผ่านไปมันก็ทำให้เรามีประสบการณ์มากขึ้น มีวุฒิภาวะมากขึ้น เข้าใจโลกมากขึ้น ปล่อยวางได้มากขึ้น
ถ้าคิดแบบนี้ความแก่ความชรา มันก็จะไม่ทำร้ายเรา ถึงแม้ว่ากำลังวังชาจะลดน้อยถอยลง หรือที่จะเป็นโรคร้ายๆรุนแรงแบบโรคหัวใจ โรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นกันเยอะ หรือว่าโรคมะเร็ง มันก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยลง ไม่ใช่ว่าจะไม่เกิด มันก็เกิดขึ้นได้ แต่ว่าโอกาสมันน้อยลงเมื่อเทียบกับคนที่เขารู้สึกลบกับความแก่
รู้สึกลบกับอะไรก็ตาม สุดท้ายก็ส่งผลเสียกลับมาที่เรา ถ้ารู้สึกบวกกับอะไรก็ตาม สิ่งนั้นก็กลับจะมาเป็นคุณให้กับเราได้ อย่างน้อยก็ไม่ทำร้ายเรา ไม่ว่าร่างกายหรือจิตใจ
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 11 ตุลาคม 2564