แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อเร็วๆนี้ได้มีโอกาสดูสารคดีเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของโลก ของธรรมชาติ เกี่ยวกับวิถีชีวิตของสัตว์ช่วงก่อนเกิดโควิด และขณะที่เกิดโควิด มีตอนหนึ่ง เขาเล่าถึงชีวิตของสัตว์ชนิดหนึ่งในทุ่งหญ้าสะวันนาในแอฟริกาคือเสือชีต้า เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่วิ่งเร็วที่สุดในโลก เพราะฉะนั้น มันจึงมีความสามารถในการหาเหยื่อได้เก่งมาก
และเนื่องจากมันเป็นสัตว์ผู้ล่า มันก็เลยไม่ค่อยมีภยันตรายจากสัตว์อื่นเท่าใด แต่ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนไป ถ้าหากว่าเสือชีต้าเป็นเสือตัวเมีย แล้วก็เป็นแม่ลูกอ่อน นอกจากมันจะต้องอาหารเพิ่มขึ้นแล้ว มันยังต้องคอยระวังลูกน้อยด้วย เพราะลูกน้อยของมันสามารถจะเป็นเหยื่อของสัตว์ป่าชนิดอื่นได้ เช่น สิงโตหรือว่าหมาป่าไฮยีน่า พวกนี้มันก็คอยจ้องลูกเสือ เพราะว่าอยู่ในสภาพที่ช่วยตัวเองได้ไม่ค่อยเท่าไหร่
แม่เสือจะต้องคอยปกป้องลูกเสือ ซึ่งในสถานการณ์ปกติก็ไม่ค่อยมีอะไรเท่าไหร่ เพราะว่าสัตว์ชนิดอื่นไม่ค่อยมายุ่งยากเข้าใกล้กับเสือแม่ลูกอ่อน แต่ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อมันต้องออกไปหาเหยื่อเช่นกวาง มันก็ต้องให้ลูกน้อยซึ่งบางทีก็ 6- 7 เดือนแล้ว หลบซ่อนอยู่ในพงหญ้า ส่วนแม่ก็ออกไปไล่ล่าหาเหยื่อ บางทีกว่าจะได้เหยื่อได้อาหาร มันก็ต้องวิ่งไล่กันเป็นร้อยๆเมตร หรือบางทีเป็นกิโลเมตร
เมื่อได้เหยื่อแล้ว ปัญหาคือว่า จะทำยังไงให้ลูกได้กินอาหาร เพราะว่าอาหารเช่น กวาง ตัวหนักเป็นร้อยๆกิโลเลย แม่จะลากเหยื่อไปให้ลูกที่ซ่อนอยู่ 100-200 เมตร หรือบางทีไกลกว่านั้น ก็ไม่ใช่ง่าย แม่ไม่มีแรง จะทิ้งเหยื่อไว้ แล้วก็ไปตามลูกให้มากินเหยื่อด้วยกัน มันก็เสี่ยงเพราะว่าพอแม่ผละจากเหยื่อเพื่อไปตามหาลูก สัตว์ชนิดอื่นก็จะตรงเข้ามาเลยรุมทึ้งเลย ไม่ว่าจะเป็นหมาป่า แร้ง สิงโต
เพราะฉะนั้นแม่เสือก็ต้องเฝ้าเหยื่อไว้ แล้วก็ต้องใช้วิธีเรียกลูกที่ซ่อนอยู่ วิธีเรียกของเสือชีต้าก็ต้องระวัง ก็คือว่า ถ้าส่งเสียงดังไป หมาป่าไฮยีน่าหรือสิงโตได้ยินขึ้นมา มันก็คอยจ้องแล้วว่า ลูกเสือโผล่มาเมื่อไหร่ จะตรงเข้าไปขยุ้มเลย
แม่เสือต้องมีวิธีเรียกเบาๆเสียงเบาๆ(คล้ายกระซิบ)ว่าแอ๊ะๆ เป็นเสียงคนละชนิดกับเวลาที่มันคำรามเลย จะเสียงดังก็ไม่ได้ เรียกถี่ก็ไม่ได้ เพราะว่าสัตว์อื่นจะได้ยิน เพราะฉะนั้นจึงต้องร้องแอ๊ะๆเพียง 2-3 ครั้งเท่านั้น ถ้ามันอยู่กับธรรมชาติล้วนๆก็ไม่มีปัญหา แต่ว่าปัญหาคือ พอมีการท่องเที่ยวเกิดขึ้น นักท่องเที่ยวจำนวนมากขับรถมาดูเสือชีต้ามันล่าเหยื่อ บางทีรถวิ่งกันเป็นขบวนเลย เสียงรถก็ดี เสียงคนคุยกันก็ดี เสียงวิทยุของไกด์ก็ดี
เสียงเหล่านี้มันไปกลบเสียงของเสือชีต้าแม่ลูกอ่อน กลบเสียงจนกระทั่งบางทีลูกมันที่ซุ่มซ่อนอยู่ไม่ได้ยินเสียงแม่ ไม่ได้ยินเสียงแม่ทำอย่างไร ก็อดกิน หลายตัวก็ตายเลย เขาประมาณว่าเสียงจอแจของนักท่องเที่ยวที่มาดูเสือชีต้าล่าสัตว์ มันเป็นเหตุทำให้ลูกเสือตายถึง 2 ใน 3 มีแค่ 1 ใน 3 ที่รอด
แต่พอ covid ระบาด การเดินทางหยุดชะงัก เพราะล็อคดาวน์ ไม่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวทุ่งสะวันนา ปรากฏว่า ลูกเสืออยู่รอดเป็นส่วนใหญ่ เพียงแค่แม่เสือร้องแอ๊ะๆ สองครั้ง ลูกเสือก็ได้ยินแล้ว และก็ไปตามเสียงของแม่ ก็ได้กินอาหาร สุขภาพก็ดี แข็งแรงแล้วก็รอดตาย
มารับรู้ถึงผลกระทบของเสียงคน นักท่องเที่ยวที่มากลบเสียงเรียกของเสือชีต้าแล้ว ก็ให้แง่คิดเกี่ยวกับชีวิตของคนเรา คนเราบ่อยครั้งก็มีเสียงเรียก เสียงเรียกจากร่างกายของเรา แต่ว่าคนจำนวนมากไม่ได้ยินเพราะว่า ชีวิตมันวุ่นวายกับการทำงานหาเงินหาทอง รวมทั้งการเสพ ไม่ใช่เสพอาหาร ฟังเพลงอย่างเดียว เสพสื่อ รวมทั้งเสียงที่มันออกมาจากหัว คือความคิดที่ดังระงม บ่อยครั้งมันกลบเสียงเรียกเสียงร้องของร่างกายเรา
หลายคนทำงานหนักจนแทบไม่ได้พักผ่อนเลย ร่างกายก็ส่งส่งสัญญาณเตือนเป็นเสียงเรียกก็ว่าได้ ส่งสัญญาณเตือนว่าเหนื่อยแล้ว พักเถิด แต่ว่าคนจำนวนมากไม่ได้ยินหรือไม่สนใจ เพราะว่ามันมีเสียงอึกทึกทั้งที่รอบตัวและเสียงที่ระงมอยู่ในหัว ทำให้ไม่ไปรับรู้ถึงเสียงเรียกหรือสัญญาณของร่างกาย จนกระทั่งบางทีร่างกายป่วยหนัก ถึงค่อยรู้ตัว หรือบางทีไม่รู้ตัวอีก ทั้งที่ป่วย ต้องล้มหมอนนอนเสื่อแล้ว
อันนี้มีสัญญาณชัดๆของร่างกายว่า ต้องหยุด หรือว่าต้องรู้จักพอได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การทำมาหาเงิน หรือว่าการเที่ยว การเสพ แต่ว่าคนจำนวนมากนี่ก็ไม่สนใจ พอฟื้นตัวขึ้นมาได้ ก็เอาใหม่ ทำใหม่ จนบางทีต้องให้เป็นถึงมะเร็ง หรือว่าเป็นโรคที่รุนแรง อย่างเช่น โรคพาร์กินสัน หรือว่า บางทีหนักถึงอัลไซเมอร์ ถึงค่อยมารู้ตัว หรือถึงค่อยมาชะงักหยุดวิถีชีวิตแบบเดิมๆ
มันมีเสียงเรียกเสียงร้องของร่างกายเราอยู่เนือง แต่ว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้ยิน เพราะว่ามันถูกกลบด้วยเสียงสารพัด ทั้งเสียงโทรศัพท์ แล้วก็เสียงในหัว ที่จริงไม่ใช่แต่ร่างกาย ใจคนเราก็มีเสียงเรียก คนที่ใช้ชีวิตที่เร่งรีบ และก็ทำอะไรต่ออะไรมากมายสารพัด อย่างที่พูดเมื่อสักครู่ มันไม่ใช่แค่ร่างกายที่ส่งเสียงเรียกเท่านั้น จิตใจก็ส่งเสียงเรียกว่าพอได้แล้ว หยุดได้แล้ว
หรือบางทีจิตใจอาจจะโหยหาเรียกร้องความสงบเพราะว่าชีวิตนี้มันวุ่นวายเหลือเกิน แล้วก็ผู้คนต่างก็เอาอะไรต่ออะไรสารพัดมาทับถมใส่จิตใส่ใจของตัวจนเหนื่อยล้า หรือมิเช่นนั้นก็ใช้ใจของตัวในการไล่ล่าเพื่อหาสิ่งปรนเปรอทางตาก็ดี ทางหู ทางลิ้น ทางจมูก ทางกายสัมผัส หรือเพื่อสนองอัตตา สนองกิเลส เราใช้ใจกันแบบไม่บันยะบันยัง
บ่อยครั้งก็มีเสียงเรียกจากใจของเรา เสียงร้องจากส่วนลึกของใจของเราว่าไม่ไหวแล้วๆ บางคนเอาแต่เครียด เอาอารมณ์ต่างๆมาทับถม ข่าวเหตุการณ์ร้ายแรงต่างๆมาทับถมจิตใจ จิตใจบางทีก็ส่งเสียงร้องออกมาว่า ไม่ไหวแล้ว วางเถิด ปล่อยเถอะ แต่ผู้คนก็ไม่ยอม จนกระทั่งเกิดอาการเสียศูนย์หรือสติแตกก็มี บางทีบ้าคลั่งก็มี อันนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้คนจำนวนมาก
ซึ่งที่จริงถ้าหากว่าเรา มีความใส่ใจเพียงพอ ถ้าเราได้หยุด ได้พัก หรือว่าได้เว้นวรรค มันก็จะได้ยินเสียงร้องเสียงเรียก สัญญาณเตือนของร่างกายและจิตใจ แต่ว่าคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ยินหรอก เพราะว่าอย่างที่บอกเสียงในหัวก็ดี เสียงรอบตัวก็ดี เสียงจากสื่อต่างๆที่เสพก็ดี มันกลบเสียงของกายเสียงของใจหมด และกว่าจะรู้ตัวบางทีก็สายไปแล้ว หรือว่าอาการก็เพียบหนักแล้ว ไม่ว่าอาการทางกายหรืออาการทางใจ
ที่จริงในขณะที่จิตมันโอดครวญว่าไม่ไหวแล้วๆ ปล่อยเสียที วางเสียที หรือว่าพอเสียที มันก็มีเสียงของสติคอยออกมาเตือนเรา แต่เสียงของสติมันเบาเมื่อเทียบกับเสียงในหัวที่เต็มไปด้วยความคิดหรือถูกปลุกเร้าด้วยความโกรธ ความโลภ หรือกระเหี้ยนกระหือรือที่จะไล่ล่า แสวงหาสิ่งเสพมาสนองอัตตา สนองกิเลสของคนเรา ก็เลยไม่ได้เฉลียวใจในการที่จะหยุดในการที่จะตระหนักที่จะพอ หรือถึงเวลาที่จะต้องปล่อยต้องวางได้แล้ว
แต่ว่าบางครั้งต่อเมื่อล้มป่วยหรือเกิดวิกฤตต่างๆ หนักๆในชีวิต มันอาจจะเป็นช่วงเวลาที่เราเริ่มจะได้ยินเสียงเรียกเสียงร้องของร่างกายเสียงร้องของจิตใจ ที่จริงช่วงโควิดมันก็เป็นโอกาสที่ทำให้เราได้กลับมาเว้นวรรคหรือหยุดพัก หรือกลับมาหยุดคิดซึ่งจะทำให้เราได้ยินได้ฟังเสียงเรียกของร่างกายและจิตใจได้ หลายคนกว่าจะมาคิดได้ก็ตอนที่ป่วยแล้ว หรือว่าตอนที่เกิดวิกฤตต่างๆในชีวิตแล้วถึงค่อยเห็นความสำคัญที่จะมาพัก ไม่ใช่แค่พักกายอย่างเดียวพักใจด้วย
การที่เรามีเวลามาปฏิบัติธรรมหรือมีเวลาหลีกเร้นมาอยู่กับตัวเอง มันเป็นช่วงเวลาเปิดโอกาสให้เราได้ยินเสียงของร่างกายและจิตใจได้ ภาวะเช่นนั้นทำให้เราเริ่มจะใช้ชีวิตที่ช้าลง หรือว่าเอาตัวออกห่างจากสิ่งล่อเร้าเย้ายวนที่มากระตุ้นความคิด อารมณ์ต่างๆให้ฟุ้งซ่านหรือกระเจิดกระเจิงหรือดังระงมไปด้วยความคิดต่างๆมากมาย
ถ้าคนเรามีเวลาที่จะกลับมาอยู่กับตัวเองบ้าง หรือมีเวลาที่จะมาหยุดคิดบ้าง มีเวลาที่จะเว้นวรรคชีวิตบ้างเวลา มันก็มีโอกาสที่จะได้ยินไม่ใช่แค่เสียงร้องของกายและใจแต่ได้ยินเสียงเรียกของสติด้วย
สติเตือนเราอยู่บ่อยๆ เตือนเราเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่เป็นอยู่ เตือนเราถึงเรื่องความไม่ประมาท เตือนเราถึงเรื่องของความไม่เที่ยงทั้งของตัวเราและของคนที่เรารัก เตือนเราว่าอย่าประมาทๆ แต่ว่าเราก็ไม่ค่อยได้ยินเท่าไหร่ จนกว่าจะได้หยุดพัก เว้นวรรคหรือว่ากลับมาอยู่กับตัวเอง
แม้กระนั้นเราก็คงจะได้พบ คนที่มีประสบการณ์ก็คงจะรู้ดีว่า แม้จะกลับมาอยู่กับตัวเองโดยใช้เวลาที่มีอยู่เพื่อการปฏิบัติธรรมมัน บ่อยครั้งหรือแทบตลอดเวลาก็ว่าได้ มันมีแต่เสียงอยู่ในหัวดัง เป็นเสียงแห่งความหลงก็ว่าได้ น้อยครั้งที่เราจะได้ยินเสียงของสติ สติมันเตือนให้เราวางความคิด สติเตือนให้เราปล่อยวางอารมณ์ แต่ว่าเราก็ไม่ค่อยได้ยินหรอก อันนี้คือสิ่งที่เราประสบ ทุกคนก็คงจะสัมผัสได้
ต่อเมื่อปฏิบัติไปนานๆ เสียงของสติก็จะชัดขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าตอนนั้นความคิดที่มันดังอยู่ในหัวค่อยๆลดลงแล้ว ค่อยๆแผ่วลงๆ ที่เคยดังมากๆค่อยๆลดลง ก็ทำให้เราได้สติเกิดความรู้ตัวขึ้นมา เราก็จะรู้ตัวได้บ่อยขึ้น เพราะมีสติรู้ทันความคิดได้มากขึ้น เผลอไปหลงไป สติเรียกให้ใจกลับ ใจมันจะหลงไปอดีตหรือลอยไปในอนาคต หรือว่าส่งจิตออกนอก สักพักสติส่งเสียงเรียก ใจก็กลับมา ตอนนี้ใจเริ่มได้ยินเสียงของสติแล้ว
แต่ก่อนไม่ได้ยินเลย แล้วพอได้ยินเสียงเรียกของสติบ่อยเข้า ความหลงก็จะลดน้อยลง ความคิดต่างๆก็จะค่อยๆลดน้อยลง แผ่วเบาลง และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ความสงบในจิตใจมากขึ้น ใจที่เคยขุ่นมัวก็ค่อยๆเริ่มใสขึ้นๆ หลวงพ่อเทียนท่านเปรียบเหมือนกับเวลาเราขุดบ่อมันก็จะมีน้ำซึมมาที่ก้นบ่อ เราตักน้ำทีแรกมันก็จะขุ่น ใหม่ๆมันยังขุ่น เราก็จะวิดไปเรื่อยๆตักไปเรื่อยๆ แล้วเราจะพบทีละน้อยๆว่า น้ำเริ่มใสๆ จนกระทั่งใสแจ๋วเลย
ทำนองเดียวกันเมื่อเราเจริญสติบ่อยๆ ความคิดที่มันเคยออกมามากจนกลบเสียงของสติ มันก็ค่อยๆลดลง แผ่วเบาลง แล้วเราก็ได้ยินเสียงของสติเรียกให้ใจกลับมารู้เนื้อรู้ตัว กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวได้มากขึ้นๆ ถึงตรงนี้เราก็จะได้ยินเสียงเรียกของกายและใจมากขึ้น แล้วเราก็จะรู้ว่าสิ่งที่ควรทำคืออะไร จะไม่ปล่อยกายปล่อยใจให้หมดไปกับการไล่ล่าหาสิ่งบำรุงบำเรอ หรือหมดไปกับอารมณ์ต่างๆที่กระตุ้นให้อยากหรือว่ายุให้โกรธ หรือว่าเกลียด
ที่จริงไม่ใช่เฉพาะเสียงของกายและใจ แต่เสียงของธรรมชาติเราก็จะได้ยินชัดขึ้น เป็นธรรมชาติที่สอนธรรมให้กับเรา ท่านอาจารย์พุทธทาส เวลาใครไปสวนโมกข์ท่านก็จะบอกว่า ลองไปฟังเสียงต้นไม้พูดฟังเสียงก้อนหินพูด คนก็ไม่เข้าใจ แต่ที่จริงต้นไม้หรือก้อนหิน หรือกระทั่งธรรมชาติทั้งมวลในสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ มันก็ส่งเสียงแสดงธรรมให้กับเราอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่เราไม่ได้ยินเพราะว่าในหัวเรามันดังระงมด้วยความคิด หรือว่าถูกกลบไปด้วยอารมณ์ต่างๆมากมาย
แต่พอใจเริ่มสงบ มีความรู้สึกตัวมากขึ้น เราก็ได้ยินเสียงของธรรมชาติ ไม่ใช่สิ่งที่ได้ยินทางหูเท่านั้นแต่เป็นสิ่งที่รับรู้ทางใจ เป็นเสียงแห่งธรรมะที่ช่วยเตือนสติเรา หรือช่วยเพิ่มพูนปัญญาให้กับเรา หลวงปู่มั่นท่านเคยเคยพูดให้กับพระผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ท่านผู้ใหญ่ท่านนี้เป็นผู้ปกครองสงฆ์ ท่านก็ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการที่หลวงปู่มั่นออกเดินธุดงค์ ไม่ค่อยอยู่ประจำที่ ไม่เรียนหนังสือ
ท่านก็ทักท้วงว่า ญาคูมั่น ท่านได้จาริกธุดงค์เข้าไปในป่าผู้เดียว จะได้ยินเสียงเรียกเสียงเตือนเสียงธรรมะของกัลยาณมิตรได้อย่างไร หลวงปู่มั่นก็ตอบว่า พระเดชพระคุณขออย่าได้ห่วงกระผมเลย ในธรรมชาติ เสียงจิ้งหรีดก็ดี เสียงจั๊กจั่นเรไรก็ดี เสียงกวาง เสียงช้าง เสียงเสือ มันล้วนแล้วแต่เป็นเสียงแห่งธรรมะทั้งสิ้นเลย มันเป็นเสียงที่เตือนสติกระผมนะครับให้รู้ว่าเธอเป็นใคร เป็นอยู่อย่างไร แล้วจะไปไหน
มันเตือนให้เกิดสติขึ้นมา มันเตือนให้มีปัญญาตระหนักถึงความไม่เที่ยงของสังขารทั้งปวง ที่จริงไม่ใช่เฉพาะเสียงของสัตว์ที่ได้ยินด้วยหูเช่น เสียงของจั๊กจั่นเรไร แม้กระทั่งใบไม้ตก หรือเสียงต้นไม้ เสียงใบไม้ มันก็เปิดใจของท่านให้รับรู้ถึงสัจธรรมความจริงของชีวิต ท่านถึงกับพูดว่า สำหรับผู้มีปัญญา ธรรมะนั้นมีทุกหย่อมหญ้า ที่จริงหย่อมหรือหญ้า ก็ส่งเสียงแสดงธรรมให้กับท่านได้รับรู้ได้เหมือนกัน
แต่ว่าคนส่วนใหญ่ก็จะไม่ค่อยได้ยินเสียงธรรมชาติหรอก ไม่ว่าเสียงที่ได้ยินทางหู หรือเสียงที่รับรู้ทางใจ เพราะว่ารอบตัวก็มีเสียงดังจากโทรศัพท์มือถือ จากผู้คน จากรถรา ส่วนในใจก็มีเสียงของความคิดดังอยู่ในหัว ยิ่งในระยะหลัง ผู้คนแยกห่างจากธรรมชาติ อยู่ในเมือง อยู่ในที่จอแจ จะไปได้ยินเสียงธรรมชาติได้อย่างไร อย่าว่าแต่เสียงที่ได้ยินด้วยใจเลย เสียงที่ได้ยินทางหูก็ไม่ค่อยได้ยินแล้ว เพราะถูกกลบด้วยเสียงของความอึกทึกจอแจ
ไม่ต่างจากเสียงของนักท่องเที่ยวที่ไปกลบเสียงร้องของแม่เสือชีต้า เราลองสังเกตลองใส่ใจดู แยกแยะให้ได้อย่าให้เสียงที่อยู่รอบตัวเรา หรือเสียงที่อยู่ในหัวมันดัง จนกระทั่งกลบเสียงของกายและใจ จนกระทั่งเสียงของสติ หรือรวมไปถึงเสียงของธรรมชาติที่สอนธรรมให้กับเราอยู่ตลอดเวลา การที่เรารู้จักปลีกตัวมาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ มันก็ทำให้เราไม่ใช่แค่ได้ยินเสียงของธรรมชาติอย่างเดียว แต่ว่าได้ยินเสียงของกายและใจของเราด้วย
เพราะเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงแนะนำให้พระสงฆ์สาวกทั้งหลาย ได้มาใช้ชีวิตแล้วก็ปฏิบัติอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ธรรมชาติที่สงบ ธรรมชาติที่เป็นรมณีย์ คำว่ารมณีย์ เป็นคำที่สำคัญในพุทธศาสนา รมณีย์แปลว่ารื่นรมย์ แต่บางทีคนก็ไปเข้าใจเป็นความหมายความเริงรมย์ รมณีย์เป็นคำสำคัญของพระพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึง สถานที่พี่พระองค์ได้บำเพ็ญเพียรจนกระทั่งบรรลุธรรมตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณว่า ถิ่นนั้น ผืนแผ่นดินถิ่นสถาน เป็นถิ่นรมณีย์มีไพรสณฑ์ร่มรื่นน่าชื่นบาน มีแม่น้ำไหลผ่าน น้ำใสเย็นน่าชื่นใจ ท่านเลือกจุดนี้เป็นจุดสำหรับการทำความเพียร ซึ่งเรียกรวมรวมว่าเป็นถิ่นรมณีย์ วัดวาอารามในสมัยพุทธกาลก็ล้วนแต่เป็นเป็นสถานที่ที่เป็นรมณีย์
เวลาพระจะต้อนรับกัน ก็จะทักทายกันด้วยคำว่าที่นี้เป็นถิ่นรมณีย์ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่าง คนเราเวลาทักทายมันสะท้อนถึงค่านิยมหรือคุณค่าบางอย่าง คนจีนก็จะถามว่า กินข้าวหรือยัง หรือว่าในปัจจุบัน คนก็จะทักทายว่าสวัสดี เป็นไงบ้าง แต่ว่าพระสมัยก่อน ในสมัยพุทธกาล พระจะทักทายกันจะต้อนรับกันด้วยคำว่า ที่นี้เป็นถิ่นรมณีย์เพื่อที่จะชักชวน เพื่อที่จะเชิญชวนให้มาอยู่มาปฏิบัติ
เพราะอะไร เพราะว่าเป็นสถานที่ที่เอื้อให้เกิดความสงบในจิตใจจนกระทั่งเห็นธรรมะได้ เป็นธรรมะที่เห็นจากการดูกายดูใจ เป็นธรรมที่เห็นจากการสังเกตธรรมชาติ แล้วก็อาศัยความสงบจากธรรมชาตินี่แหละช่วยทำให้เราได้รับรู้ถึงสัจธรรมความจริง ซึ่งพูดอีกอย่างนึงคือว่า ทำให้เราได้ยินเสียงของธรรมะอย่างกระจ่างแจ้ง จนกระทั่งจิตเกิดปัญญารู้จักปล่อยรู้จักวาง
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 10 ตุลาคม 2564