แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
สมัยที่อาตมาเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา สมัยนั้นเรียกว่า มศ.3 ไม่ใช่ ม.3 ของปัจจุบัน ตอนนั้นก็ 50 ปีมาแล้ว ที่โรงเรียนจัดอบรมฝึกการพูด ที่จริงโรงเรียนไม่ได้จัด ชมรมเป็นผู้จัด ที่อาตมาเป็นกรรมการด้วย ได้จัดโครงการนี้ขึ้นมา น่าจะเป็นโรงเรียนแห่งแรกเลยก็ได้ที่จัดอบรมฝึกการพูด ซึ่งตอนที่มีโครงการใหม่ๆก็มีคนสงสัยในหมู่เพื่อนนักเรียนด้วยกันว่า พูดมันต้องฝึกด้วยหรือ เพราะคนเราก็พูดเป็นมาตั้งแต่อ้อนแต่ออกแล้ว
แต่ที่จริงพูดในที่นี้ หมายถึงพูดในที่ชุมชน อาตมาก็ไม่ค่อยมีความรู้หรือประสบการณ์ในเรื่องนี้เท่าไหร่ก็ลองดู วิทยากรก็มาจากสมาคมฝึกการพูดแห่งประเทศไทยซึ่งเริ่มก่อตั้งมาไม่กี่ปี วิทยากรรับเชิญตอนหลังก็มีชื่อเช่น วีระ มุสิกพงศ์, ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ ตอนนั้นก็เริ่มจะดังแล้ว แต่ตอนหลังก็เป็นนักการเมืองที่มีชื่อเสียง เพราะว่ามีความสามารถในการพูด
ตอนที่ไปเข้ารับการอบรม เขาก็มีการบรรยายว่า การพูดที่ดี ควรจะเป็นอย่างไร เริ่มตั้งแต่การการวางมือ การทอดสายตา รวมทั้งการจับประเด็น มีทักษะที่เขาแนะนำเยอะแยะ แต่ว่าทักษะความรู้ที่เราได้ยินได้ฟังมาจากการบรรยายนี่มันไม่สำคัญเท่ากับประสบการณ์
หรือพูดอีกอย่างหนึ่ง มันไม่สำคัญเท่ากับจิตใจ จำเทคนิคมาเยอะ รู้หลักการพูด หรือว่าวางโครงเรื่องที่จะบรรยาย แต่พอจะขึ้นพูดจริงๆ เกิดประหม่า เกิดวิตกกังวลขึ้นมานี่ ที่เรียนมา ที่จดจำมานี่ แม้กระทั่งโครงเรื่องที่คิดเอา ที่วางไว้นี่ มันหายไปหมดเลย เป็นประสบการณ์ขึ้นเวทีครั้งแรกของอาตมา คนฟังก็ไม่เยอะ เป็นนักเรียน 30-40 คน
แต่ว่าเนื่องจากไม่มีประสบการณ์พอขึ้นเวที มันประหม่า พอคิดนึกถึงสิ่งที่ตระเตรียมมาเยอะมากเลยนั้น มันมลายหายไปจากหัวเลย เพราะว่าความประหม่าหรือความตื่นเวที ซึ่งก็เป็นความกลัวชนิดหนึ่ง ก็เลยรู้ว่า ใจสำคัญกว่าสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมาในหัว แต่ความประหม่าหรือความวิตกนี่มันก็ค่อยๆหายไปเมื่อเราขึ้นเวทีบ่อยขึ้น ได้พูดบ่อยขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น
มันก็เป็นธรรมดา อะไรที่เรากลัว เป็นเพราะเราไม่คุ้นกับมัน แต่พอเราคุ้นกับมันแล้ว ความกลัวก็น้อยลง อันนี้ก็เคยพูดกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกลัวความมืด แม้กระทั่งกลัวศพหรือคนตาย หรืออาจจะกลัวน้อยกว่านั้นเช่น ตุ๊กแก แต่พอเราได้คุ้นกับมัน เจอมันบ่อยๆ ความคุ้นเคย รวมทั้งการที่ได้รู้ว่า มันก็ไม่มีอะไร มันก็ทำให้ความประหม่าลดลง โดยเฉพาะถ้าหากว่ามีการเตรียมมาพอสมควร มันก็ช่วยทำให้ลดความตื่นเวทีลงได้ด้วย
ที่จริงอันนี้มันก็เป็นสิ่งที่ได้เรียนรู้มาจากการเข้าห้องสอบเหมือนกัน ก่อนเข้าห้องสอบ เตรียมมาอย่างดีเพียงใด อัดข้อมูลความรู้ต่างๆ แน่นเพียงใดก็ตาม แต่พอเข้าห้องสอบ แล้วเกิดความเกร็งความเครียด เพราะคาดหวังคะแนน หรือความสำเร็จจากการสอบ อยากให้มันได้คะแนนดีๆ 80-90 เปอร์เซ็นต์ พอมีความคาดหวังแบบนี้ หรือมีความอยากที่จะได้คะแนนดีๆ มันก็เกิดความกลัวว่าจะไม่ได้
ความอยาก ความกลัวมันมาด้วยกัน อยากได้คะแนนดีๆ อยากได้ที่ 1 มันก็กลัวว่าจะไม่ได้คะแนนดี กลัวจะไม่ได้ที่หนึ่ง พอกลัวแล้วก็เครียด เครียดแล้วก็นึกอะไรไม่ออก ข้อสอบง่ายๆทำไม่ได้ นี่มันไม่ใช่เพราะเราไม่มีความรู้ ถ้าทำนอกห้องสอบ ก็ทำได้สบายๆ แต่เพราะใจ ใจมันเครียด ความรู้หรือแม้กระทั่งสิ่งที่ท่องมา มันก็ไม่มีประโยชน์ ถ้ามันไม่ละลายหายไป มันก็ตีบตัน ออกมาไม่ได้จากหัว
การพูดก็เหมือนกัน สิ่งสำคัญคือความประหม่า และอาจจะตามมาด้วยความเครียดสำหรับคนที่มีประสบการณ์ พอมีประสบการณ์มากๆ มันไม่ประหม่าแต่มันเครียด มันกังวล กังวลเพราะอะไร เพราะว่าคาดหวังผลสำเร็จ อยากให้คนฟังคล้อยตาม หรือว่าอยากจะพูดให้มันตรงตามที่ตั้งใจไว้ พอคาดหวังแบบนี้เข้าก็เกิดความเครียดขึ้นมาแล้ว ซึ่งบางทีก็ทำให้พูดไม่ออก หรือว่านึกอะไรไม่ทัน เพราะใจไม่ได้ผ่อนคลาย สบาย
ทุกวันนี้แม้คนจะอ่านหนังสือมามาก แต่การพูดก็เป็นสิ่งสำคัญทั้งในทางการเมือง ในทางธุรกิจ ในทางการศึกษา ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องทางโลก แต่ว่าในทางธรรม การพูดก็สำคัญ ซึ่งก็ไม่ได้หมายถึงการเทศน์อย่างเดียว แต่ว่าส่วนใหญ่เวลาเราพูดถึงการพูดในทางธรรมก็นึกถึงการเทศน์ ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นส่วนใหญ่ คนสมัยก่อน เขาฝึกกันมาก เรื่องการเทศน์ ศิลปะการเทศน์ มีเทคนิคเยอะแยะแพรวพราว
ซึ่งมาถึงยุคนี้มันล้าสมัยไปแล้ว มันตกยุคตกสมัย เพราะว่าทัศนคติหรือว่ารสนิยมของผู้คนก็เปลี่ยนไป แต่ที่จริงแล้ว แม้จะเป็นการเทศน์หรือการสอนการพูดในทางธรรม
มันไม่ได้มุ่งหรือมีประโยชน์กับผู้ฟังเท่านั้น การพูดก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำประโยชน์ตนด้วย ประโยชน์ตนในที่นี่ไม่ได้หมายถึงมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ทำให้มีลาภสักการะ ไม่ใช่ แต่หมายถึงการปฏิบัติธรรม การพูดมันไม่ใช่แค่ศิลปะของการสื่อความหมายให้กับผู้คนภายนอก แต่มันยังเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่งด้วย ซึ่งคนมักจะมองข้ามไป
เวลาพูด อย่างน้อยๆต้องมีสติแล้ว มีคนจำนวนไม่น้อยพูดเก่ง แต่ว่าพอพูดแล้วขาดสติ พูดแล้วฟุ้ง หรือว่าเพลิน เขาเรียกว่าน้ำลายแตกฟอง อันนี้มันก็แสดงว่าขาดสติแล้ว แม้ว่า สิ่งที่พูดไปจะเป็นการพูดถึงเรื่องการเจริญสติก็ตาม อันนี้มันก็เป็นกับดักของนักพูด พอพูดเก่งแล้ว อดไม่ได้ที่จะพูดจนฟุ้งจนเพลินจนลืมตัวจนลืมเวลาหรือว่าไม่สังเกตว่าคนฟังเบื่อแล้ว แต่ว่าก็ยังไม่รับรู้ ไม่สังเกตว่า คนฟังไม่อยากฟังแล้ว แต่ที่พูดไปเพราะเกิดความมัน
อันนี้มันก็ไม่ใช่วิสัยของผู้พูดในทางธรรม ถ้าหากการพูดนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อการฝึกตนด้วย จะมีประสบการณ์แค่ไหน การฝึกตนหรือว่าการมีสติก็สำคัญ ยิ่งเป็นผู้พูดที่มีประสบการณ์มาก เป็นนักพูด พูดเก่ง บางทีก็มองข้ามตรงนี้ไป คือไปเน้นที่การพูดให้คนอื่นเขาเกิดประโยชน์หรือว่าเห็นคล้อยตาม แต่บางทีลืมสอนตัวเอง หรือลืมฝึกตนเอง หรือว่าลืมมีสติรู้ทัน
ผู้พูดส่วนใหญ่ สิ่งที่ไม่ชอบอย่างหนึ่งคือ การที่ผู้ฟังไม่สนใจ นอกจากไม่สนใจแล้ว บางทีคุยกันเองเสียอีก และไม่ได้คุยกันแบบกระซิบ บางทีคุยเสียงดัง แล้วสมัยนี้นอกจากคุยเสียงดังแล้วยังคุยทางโทรศัพท์กันอีก หรือไม่ก็จ้องดูจอโทรศัพท์ คนที่เป็นนักพูดจำนวนมากนี่ เจอภาพแบบนี้แล้วจะรู้สึกหงุดหงิด บางทีเกิดโทสะ อดไม่ได้ที่จะตะคอกหรือว่าด่าคนที่มีอาการเหล่านั้น
ที่จริงมันเป็นโอกาสในการฝึกสติอย่างดีเลยกับการเจอผู้ฟังแบบนี้ ผู้ฟังที่ไม่สนใจ ผู้ฟังที่พูดคุยกัน บางทีส่งเสียงแข่ง มันฝึกยังไงที่ว่าฝึกสติ ให้เห็นความหงุดหงิด ให้เห็นความไม่พอใจที่เกิดขึ้น คนที่พูดเก่งหลายคนก็จะมองข้ามตรงนี้ไป ไม่เห็นไม่รู้ทันความหงุดหงิดที่เกิดขึ้น ความไม่พอใจที่ผุดขึ้นมา
ที่จริงเป็นโอกาสที่ดีเลยว่า ทำยังไงมันจะไม่หวั่นไหวไปกับคนฟังที่มีอากัปกิริยาแบบนั้น เขาจะหลับ จะดูโทรศัพท์ จะพูดคุย ก็ช่างเขา ฉันก็ทำหน้าที่ของฉันต่อไป อันนี้ก็เป็นการฝึกสติอย่างหนึ่ง แต่ว่าผู้พูดจำนวนมากก็ไม่สามารถจะผ่านตรงนี้ได้ ยิ่งพูดเก่ง ยิ่งมีคนฟังมากนี้ก็ยิ่งจะอดรนทนไม่ได้ บางทีเขาก็มีเหตุผลว่าการทำอย่างนั้น มันทำให้ขาดสมาธิ คนที่พูดคุยกัน คนฟังพูดคุยโทรศัพท์ ทำให้ขาดสมาธิ
ก็ต้องถามว่า ขาดสมาธิเพราะอะไร เพราะว่ามันมีความหงุดหงิดเกิดขึ้นในใจ ก็ทำให้ไม่มีสมาธิหรือเปล่า หรือว่าเป็นเพราะว่าคาดหวังว่าคนฟังจะฟังด้วยความตั้งใจ หรือว่าถูกสะกดด้วยการพูดของเรา แต่พอไม่เป็นไปดั่งใจ ก็เกิดความไม่พอใจ เกิดความผิดหวัง ก็ทำให้ขาดสมาธิ บางครั้งก็มีข้ออ้างว่า ผู้ฟังไม่เคารพสถานที่ ไม่เคารพผู้พูด แบบนี้ต้องสั่งสอน ต้องด่า หรือว่าพูดเจาะจงลงไปเลยเพื่อให้อาย
อันนี้ถ้าเป็นอุบายก็ดี แต่ถ้าทำด้วยความโกรธ ก็แสดงว่า ไม่มีสติแล้ว แต่ว่ามันก็เป็นกับดักของผู้พูดจำนวนมากที่ไม่สามารถจะผ่านได้ โดยเฉพาะคนที่พูดเก่ง สามารถตรึงคนเอาไว้ได้ พอเจอเหตุการณ์แบบนี้เข้า ก็เป๋ไปเลย พอไม่มีสมาธิแล้ว หรือพอมีความหงุดหงิดแล้ว ก็เลยไม่สามารถที่จะพูดตามที่ตระเตรียมมาได้
ที่จริงแล้วในขณะที่เราสอนคนอื่น ก็ต้องสอนตัวเองด้วย เมื่อเราสอนให้คนมีสติ เราก็ต้องมีสติ โดยเฉพาะในเวลาที่เจออนิฏฐารมณ์อยู่ข้างหน้า คนไม่ฟัง คนพูดคุยกันส่งเสียงดัง บางทีก็หมาเห่า เราจะวางเฉยกับกับสิ่งเหล่านี้ได้ยังไง อันนี้เป็นการบ้านที่สำคัญเลยของการฝึกตนของผู้พูด
ที่จริง การที่คนฟังเขาไม่สนใจฟังในสิ่งที่เราพูด มันก็อาจจะเป็นเพราะว่า สิ่งที่เราพูดมันไม่น่าสนใจก็ได้ เพราะฉะนั้น มันก็เป็นสัญญาณว่าต้องปรับการพูดให้มันตรงกับความต้องการ หรือว่าให้มันสามารถที่จะดึงดูดความสนใจของเขาได้ แต่ถ้าเกิดว่าเราทำเต็มที่แล้ว คนไม่ฟัง ก็ต้องปล่อย ถือว่าเราทำหน้าที่ของเราเต็มที่แล้ว เรามีหน้าที่พูด เขามีหน้าที่ฟัง ถ้าเขาไม่ฟัง ไม่ทำหน้าที่ของเขา เขาก็เสียประโยชน์
แต่บางคน อดรนทนไม่ได้ มีอาจารย์คนหนึ่งมีชื่อว่า เป็นคนที่สอนเก่งมาก เวลาไปบรรยาย คนฟังล้นห้องประชุมเลย วันหนึ่งได้รับเชิญไปบรรยายให้กับนักศึกษา ก็เยอะพอสมควร ขณะที่บรรยายอยู่นั้น ก็เห็นนักศึกษาคนหนึ่งอยู่หลังห้อง ไม่สนใจเลย สัปหงกบ้างล่ะ บางทีก็เอาเท้าพาดอยู่บนโต๊ะบ้างล่ะ อาจารย์ท่านนี้ก็พยายามพูดเพื่อให้เด็กคนนั้นสนใจ แต่เขาก็ไม่สนใจ จะพยายามแล้วพยายามเล่า เขาก็เฉยเมย
อาจารย์เริ่มหงุดหงิด ก็พยายามพูดเพื่อที่จะปลุกเร้าให้เด็กคนนั้นเกิดความตื่น เพื่อที่จะได้ติดตามการพูดของอาจารย์ แต่ไม่ได้ผลเลย ยิ่งทำก็ยิ่งหงุดหงิด สุดท้ายวันนั้นการพูดของอาจารย์ไม่เป็นท่าเลย เพราะขณะที่ไปมุ่งพูดให้เด็กคนนั้นสนใจ ก็ลืมผู้ฟังคนอื่นๆ ในขณะที่ไม่สามารถจะปลุกให้เด็กคนนั้นสนใจได้ ก็ทำให้ผู้ฟังคนอื่นๆเต็มห้องประชุมถูกละเลยไป ก็เป็นอันว่าไม่ได้เลยสักคน แกบอกว่าเป็นความรู้สึกที่แย่มากเลย
อันนี้ก็เป็นบทเรียนว่า เวลาพูดแม้จะปรารถนาดีต่อผู้ฟัง ถ้าเกิดว่าทำเต็มที่แล้ว เขายังไม่สนใจ ก็ต้องปล่อยแล้ว มาให้ความสนใจกับผู้ฟังคนอื่นที่เขายังสนใจฟังดีกว่า แต่ถึงที่สุด สำหรับการฝึกตอน ผลของการพูดมันก็ต้องรู้จักวาง ถ้าไปสนใจคาดหวังผลจากการพูด จะให้คนเขาตามฟังไปจนตลอด มันก็จะเป็นทุกข์ได้เพราะว่าพอเจอผู้ฟังที่ไม่สนใจ คุยโทรศัพท์กลางห้อง หรือว่าพูดคุยกันต่อหน้าต่อตาเรา มันก็ยิ่งเกิดความหงุดหงิดที่ยิ่งคาดหวังว่าจะให้เขาฟัง แล้วเขาไม่ฟัง
ต้องรู้จักปล่อยวางเมื่อเราพูดถึงการพูดเพื่อการฝึกตน ที่จริงไม่ใช่เฉพาะแต่การพูดทางธรรม การพูดทางโลกก็คงต้องอย่างนั้น เพราะทำเต็มที่แล้วก็ไม่ฟัง ถ้าเรามัวไปใส่ใจไปหงุดหงิดมาก ก็ทำให้เราพลอยทำหน้าที่ของเราได้ไม่ดีด้วย คือพูดไป ก็วกวน เป๋ เพราะว่าขาดสมาธิ ไม่ใช่ขาดสมาธิของผู้ฟัง แต่ว่าเป็นของผู้พูดเองเพราะความคาดหวังในใจของตัว
การเรียนรู้ที่จะปล่อยวาง ปล่อยวางคนฟัง อันนี้ก็เป็นศิลปะ แล้วก็เป็นการปฏิบัติธรรมด้วย ท่านสุเมโธเล่าว่า สมัยที่ท่านอยู่กับหลวงพ่อชาได้ไม่กี่พรรษา ท่านก็พอจะพูดภาษาไทยได้ คืนหนึ่งของวันพระใหญ่ มีการแสดงธรรมทั้งคืนจนสว่าง หลวงพ่อชาบางทีท่านก็เทศน์เอง แต่บางทีท่านก็ก็ให้ลูกศิษย์เทศน์ แล้วไม่มีการเตรียม ท่านชี้เลย อ้าว ขึ้นธรรมาสน์เทศน์ คืนหนึ่งดึกแล้วท่านก็ชี้ไปที่หลวงพ่อสุเมโธ อ้าว สุเมโธขึ้นเทศน์
กำหนดการเทศน์ปกติก็ชั่วโมงหนึ่ง ภาษาไทยท่านก็ยังไม่แข็งแรง แต่ท่านก็พยายามที่จะพูด ต้องใช้ความพยายามมากในการที่จะดึงดูดความสนใจของผู้ฟังซึ่งเป็นคนไทยญาติโยมชาวอีสาน กว่าจะครบชั่วโมงได้ก็เหนื่อยเลย พอครบชั่วโมงแล้ว หลวงพ่อชาบอกว่าเทศน์ต่ออีก 1 ชั่วโมง ท่านก็จำใจต้องเทศน์ ก็ลุ้นกว่าจะครบชั่วโมง คราวนี้คนฟังญาติโยมกว่าครึ่งหลับแล้วเพราะว่าท่านเทศน์ คนฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง แล้วก็พูดวกไปวนมา
ครบ 2 ชั่วโมงแล้ว ท่านจะลง หลวงพ่อชาบอกเทศน์อีก 1 ชั่วโมง โห ท่านเทศน์ด้วยความรู้สึกลำบากใจมาก ไม่ใช่เพราะว่าเทศน์นาน แต่ว่าผู้ฟังนี่ไม่มีใครสนใจท่าน พากันหลับหมดเลย พอเทศน์ครบ 3 ชั่วโมงนี่ ปรากฏว่าไม่มีใครฟังท่านแล้ว ที่จริงไม่มีคนฟังท่านแล้วตั้งแต่เทศน์ครบ 2 ชั่วโมงแล้ว มันเป็นความรู้สึกที่แย่มาก พูดแล้วไม่มีคนฟังเพราะเขาหลับกันหมด พูดให้ตุ๊กแกฟังมั้ง
พอท่านลงจากธรรมาสน์ท่านรู้สึกแย่มากเลย เพราะว่าเป็นความรู้สึกที่ล้มเหลวของการพูด แต่ภายหลัง ท่านบอกว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก เพราะว่าเป็นการถอน เป็นการลดละกิเลส เป็นการลดละอัตตาของท่าน ท่านบอกว่าฝรั่ง คนอเมริกัน เป็นผู้ที่มีอัตตาสูง มีความเชื่อมั่นในตัวเองมาก เวลาพูด ก็อยากจะให้คนตั้งใจฟัง อยากให้คนฟังด้วยความใส่ใจ
แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามเจอคนไม่สนใจ นั่งหลับบ้าง หรือว่าพูดคุยกันบ้าง ก็อยากจะหยุดพูดเลย อันนี้แสดงว่าเป็นเพราะยังมีความหวั่นไหวในโลกธรรม ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้ท่านเห็นเลยว่า อัตตาของผู้พูดนี่มันทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาเมื่อไม่มีคนฟัง หรือว่ามีใครสักคนไม่สนใจฟัง การพูดถึงที่สุดก็คือการฝึกตนเพื่อลดอัตตา
หลวงพ่อชาตั้งใจจะสอนท่านสุเมโธอย่างนี้แหละคือพูดไป คนไม่ฟังก็ช่าง มันจะได้ถอนอัตตา ถอนกิเลส
ประสบการณ์แบบนี้มันช่วยได้มาก ท่านบอกว่า หลังจากนั้นไม่ว่าจะไปพูดที่ไหน ท่านพูดได้สบายมากเลย อย่างน้อยก็เคยเจอสิ่งที่มันแย่ที่สุดมาแล้ว ไม่มีอะไรที่มันแย่ไปกว่านี้ พูดแล้วไม่มีคนฟัง พูดแล้วคนหลับหมด นับแต่นั้นมาพูดที่ไหนก็ไม่เคยรู้สึกแย่เลย เพราะเจอสิ่งที่แย่ที่สุดมาแล้ว
แต่ที่สำคัญก็คือว่า ความคาดหวังหรือว่าความปรารถนาอยากจะให้คนฟังเพราะมีความยึดติดในโลกธรรมนั้นมันเบาบางลง หลวงพ่อชาท่านมีวิธีการสอนในลักษณะที่ช่วยทรมานอัตตาคนได้เยอะ มีพระฝรั่งรูปหนึ่ง ตอนที่สวดปาฏิโมกข์อยู่ สวดไปได้แค่นาทีสองนาทีเท่านั้น หลวงพ่อชาก็ฉุดจีวรของพระรูปนั้น ท่านชื่ออาจารย์วีระธัมโม
แล้วก็พูดขึ้นมาว่า โอ๊ะ ท่านไม่ได้ซักจีวรเลยน่ะฝรั่งนี่ จีวรเหม็น เจอแบบนี้ สมาธิท่านกระเพื่อมเลยเพราะว่าการสวดปาฏิโมกข์ต้องอาศัยสมาธิมาก หลวงพ่อชาก็พยายามก่อกวน บางทีก็พูดขัดพูดแทรกตลอดการสวดปาฏิโมกข์นั้นเลย
ท่านทำอย่างนั้นเพื่ออะไร เพื่อจะได้ฝึกไงว่า เวลานี้มีสิ่งที่มาแทรก จะมีสติรู้ทันไหม จะมีความหงุดหงิดเกิดขึ้นไหม จะผ่านมันไปได้หรือเปล่า มันก็เป็นสิ่งที่ไม่ใช่เฉพาะนักพูด หรือนักเทศน์ต้องมี แม้กระทั่งผู้ที่สวดปาฏิโมกข์ หรือว่าทำกิจในทำนองนี้ต้องมี ก็คือว่าไม่ว่าจะทำอะไร แม้ว่าจะมีสิ่งรบกวน ก็สามารถที่จะรู้ทัน แล้วก้าวข้ามผ่านมันไปได้
เราสามารถจะอาศัยการพูดการสอนธรรมเป็นเครื่องฝึกจิตฝึกใจได้ ถ้าหากว่าพิจารณาดูดีๆ มันก็ช่วยสอนให้ปล่อยวางเรื่องโลกธรรม ไม่ว่าจะเป็นคำสรรเสริญหรือคำนินทา คำชมหรือว่าคำตำหนิ ถ้าหากผู้พูดโดยไม่สนใจโลกธรรม ไม่สนใจว่าคนฟังเขาจะชมหรือจะตำหนิ มันก็สามารถจะพูดได้อย่างสบายใจ และการพูดอย่างสบายใจก็ช่วยทำให้พูดได้ดีขึ้น
และที่จริงแล้ว มันก็สอนให้เห็นสัจธรรมอย่างหนึ่งก็คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การพูดบางครั้งเราก็พูดดี สมองโล่ง แต่บางครั้งสมองก็ตื้อ นึกอะไรไม่ออก มันอนิจจังมากในความรู้สึกนึกคิดของคนเรา ไม่ว่าจะก่อนพูด หรือขณะพูด
อนัตตาก็เหมือนกันเวลาพูด มันจะรู้เลยว่า ไม่มีอะไรที่จะควบคุมได้เลย บางทีไมค์ก็เสีย บางทีฝนก็ตก คนพูดคุยกัน เสียงหมาเห่า พวกนี้ควบคุมไม่ได้เลย ถ้าหากว่าไปคาดหวังว่าทุกอย่างต้องราบรื่น ผู้พูดนั้นก็จะมีความทุกข์มาก แต่หากตระหนักว่ามันเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ มันขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยต่างๆที่ควบคุมไม่ได้ เราก็ได้เห็นได้เรียนรู้ถึงเรื่องอนัตตา
ถ้าไม่เข้าใจเรื่องอนิจจัง อนัตตาแล้วก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาเลย เป็นความทรมานของผู้พูดที่ไม่เข้าใจเรื่องอนิจจังและอนัตตา เพราะฉะนั้นการพูดหรือการแสดงธรรม มันเป็นโอกาสที่จะฝึกตน แล้วก็ทำให้ได้เห็นได้เข้าใจสัจธรรม และถ้าหากว่าฝึกตนเป็น รู้จักปล่อยวางได้ พูดแล้วก็จบๆ
มีคราวหนึ่ง อาจารย์โกวิทแสดงธรรม หลวงพ่อเทียนก็อยู่ด้วย อาจารย์โกวิทแสดงธรรมเสร็จ หลวงพ่อไม่ค่อยปลื้มเท่าไหร่กับสิ่งที่ท่านบรรยาย เพราะรู้สึกว่ายังพูดไม่ดีพอ หลวงพ่อเทียนก็ไปบอกอาจารย์โกวิทเลยว่า พูดแล้วทิ้งนะๆ พูดแล้วทิ้งไปเลย พูดเสร็จไม่ต้องสนใจว่ามันเป็นยังไง ไม่ต้องเก็บเอามากังวล
ท่านบอกว่าใช้การพูดมาเป็นการฝึก ฝึกเรื่องการปล่อยวาง ฝึกเรื่องการลดละอัตตา ฝึกการมีสติรู้ทันความหงุดหงิดที่เกิดขึ้นเวลามีสิ่งที่ไม่พอใจปรากฏอยู่เบื้องหน้า มันก็จะช่วยการปฏิบัติของเราก้าวหน้า
ในสมัยพุทธกาลมีพระรูปหนึ่งชื่อ พระเขมากะ ท่านป่วย แต่เพราะว่าเป็นหน้าที่ของท่านที่ต้องแสดงธรรม ปรากฏว่าขณะที่ท่านแสดงธรรม ก็บรรลุธรรมเลย แล้วคนที่ฟังธรรมของท่านก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ไปด้วย มีไม่มากนักที่บรรลุธรรมในขณะที่แสดงธรรม มีไม่มากนักที่บรรลุธรรมขณะที่แสดงธรรม เราได้ยินมามากที่บรรลุธรรมขณะที่ฟังธรรม แต่ว่าที่บรรลุธรรมขณะที่แสดงธรรมนี้ก็มี
เพราะว่า ถ้าแสดงธรรมอย่างอย่างมีสติและปัญญาก็เกิดในขณะที่พูดขณะที่บรรยาย เรียกว่าเกิดทั้งประโยชน์ท่านแล้วก็ประโยชน์ตนถ้ารู้จักใช้การพูด มาเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกปฏิบัติธรรม ฝึกตนให้มีสติ ให้มีปัญญา ไม่ว่าจะพูดคราวใดมันก็เกิดประโยชน์ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าคนฟังเขาจะมีปฏิกิริยาอย่างไรก็ตาม
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 9 ตุลาคม 2564