แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
หลายวันก่อนได้พูดถึงแม่คนหนึ่ง มีลูกอยู่ป 1 เป็นลูกชายไม่ได้ฉลาด แต่ว่าสมาธิสั้น บางทีก็ไม่ค่อยอยู่นิ่ง ในสายตาของครูถือว่าเป็นเด็กที่สนไม่ค่อยเชื่อฟังครู เพราะครูชอบเด็กที่อยู่นิ่งๆ บางทีเด็กก็ไปกระเซ้าเย้าแหย่เพื่อน เพื่อนก็รำคาญ แม่ได้ฟังได้ยินกิตติศัพท์ของลูกอยู่บ่อยๆ ทำให้ไม่สบายใจ ตอนหลังเวลาลูกกลับมาบ้าน ทุกวันก็จะถามลูกว่าวันนี้ลูกไปมีเรื่องกับใครมาหรือเปล่า หรือไปมีเรื่องกับใครมาบ้าง
ลูกชายเจอแม่ถามอย่างนี้ บ่อยๆก็เลยรู้สึกว่า ตัวเองนี้เป็นตัวปัญหา ถึงมองตัวเองว่าตัวเองไม่มีความดีอยู่เลย เขียนเรียงความในหัวข้อที่ว่าสิ่งที่ฉันภูมิใจในตัวเองไม่ได้เลย ครูให้เขียน 5 ข้อ คนอื่นเขาเขียนได้ครบทุกข้อ แต่เด็กเขียนไม่ได้เลย เพราะไม่เห็นตัวเองมีอะไรดี
พอครูมาเล่าให้แม่ฟัง แม่ร้องไห้เลย เพราะรู้ว่าอะไรทำให้ลูกคิดแบบนั้นเข้าใจแบบนั้น ตอนหลังแม่ก็เปลี่ยนคำถามใหม่ พอลูกกลับบ้าน แม่ก็ถามว่าวันนี้ลูกทำอะไรดีมาบ้าง ทีแรกลูกก็ตอบยาก แต่ตอนหลังลูกก็ตอบได้ง่ายขึ้น และความรู้สึกของลูกเกี่ยวกับตัวเองก็เปลี่ยนไป เริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าหรือว่ามีความดีอยู่ในตัว จากเด็กที่หงอยเหงาก็กลายเป็นคนที่ร่าเริง
เด็กเปลี่ยนไปเพราะว่าแม่เปลี่ยนคำถาม จากที่ถามว่าไปมีปัญหาอะไรบ้างที่โรงเรียน พอถามว่าลูกไปทำอะไรดีมาบ้างที่โรงเรียน ความรู้สึกของเด็กเปลี่ยนไป คำถามก็สำคัญ ถ้าถามไม่ถูกก็สร้างปัญหาให้กับคนที่ถูกถามโดยเฉพาะเป็นคำถามที่จ้องจะจับผิด แต่ถ้าเป็นคำถามที่จับถูก มันก็เพิ่มความมั่นใจให้กับตัวผู้ที่ถูกถามโดยเฉพาะที่เป็นเด็ก ที่จริงไม่ใช่เด็กอย่างเดียว
ผู้ใหญ่ก็เหมือนกัน แล้วจะว่าไปแล้ว ไม่ใช่คำถามที่เราจะถามใคร คำถามที่เราถามตัวเองก็สำคัญ เราถามตัวเองหรือตั้งคำถามให้เป็น มันก็ทำให้เกิดความทุกข์หรือเกิดผลเสียได้ เช่น ถามว่าทำไมเขาไม่ฟังเราเลย พอถามแบบนี้ บางทีก็ทำให้เกิดความน้อยใจ แต่พอถามตัวเองว่าแล้วเราถามเขาหรือเปล่าเขา เขาในที่นี้อาจจะเป็นลูกก็ได้
แม่หรือพ่อหลายคนก็มีคำถามว่า ทำยังไงจะให้ลูกฟังพ่อแม่ พอถามแบบนี้มันก็ไปคิดจะไปเปลี่ยนแปลงหรือจัดการกับตัวคนที่เป็นลูก แต่ถ้าเกิดเปลี่ยนคำถามไหมว่า ทำอย่างไรเราจะฟังลูกให้มากขึ้น ก็นำไปสู่การปรับเปลี่ยนตัวเอง แล้วมันก็เป็นคำถามที่มีประโยชน์มาก เพราะว่าการที่ลูกไม่ฟังพ่อแม่ สาเหตุสำคัญก็เป็นเพราะว่าไม่ค่อยฟังลูกเท่าไหร่
ถ้าคนที่เป็นพ่อแม่ถามว่าทำอย่างไรจึงจะฟังพ่อแม่ มันก็คิดแต่จะไปเปลี่ยนเขา ลืมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่ทันทีที่ถามว่า ทำอย่างไรเราจะฟังลูกได้มากขึ้น หรือถามตัวเองว่าแล้วเราฟังลูกบ้างหรือเปล่า อันนี้ก็จะนำไปสู่การปรับปรุงพฤติกรรมของตัวเองเหมือนกัน
เช่นเดียวกัน คำถามเมื่อสักครู่ ทำไมเขาไม่ฟังเราเลย เขาที่ว่าอาจจะไม่ใช่ลูก อาจจะเป็นคนรอบข้าง อาจจะเป็นคู่ครอง อาจจะเป็นแฟน แต่ถ้าถามใหม่ว่า แล้วเราฟังเขาบ้างไหม เราฟังเขาบ้างหรือเปล่า อันนี้มันก็อาจจะทำให้เราได้คิดขึ้นมาว่า เราเองก็คิดแต่จะไปเรียกร้องเขา ให้เขาฟังเรา แต่บางทีเราอาจจะไม่เคยฟังเขาเลยหรืออาจจะฟังเขาน้อยมาก
คำถาม ก็มีผลต่อมุมมอง ทัศนคติ และการปฏิบัติของเรา หลายคนก็มีคำถามในใจ ทำไมเขาไม่เข้าใจเราเลย เขาอาจจะเป็นพ่อแม่หรือว่าเป็นเพื่อน ทำไมเขาไม่เข้าใจเราเลย ถามแบบนี้แล้วก็เกิดความรู้สึกน้อยใจ แต่ถ้าถามใหม่ว่า แล้วเราเข้าใจเขาไหม เราเข้าใจเขาบ้างหรือเปล่า หรือว่าทำยังไงเราจะเข้าใจเขาให้มากขึ้น แล้วหลายคนพอกลับมาถามตัวเองแบบนี้ สุดท้ายอีกฝ่ายก็เข้าใจเรามากขึ้น
เป็นเพราะเราไม่ค่อยเข้าใจเขา เขาก็เลยมีอากัปกิริยาเหมือนกับว่าเขาไม่เข้าใจเราเหมือนกัน ในทำนองเดียวกันเวลาหลายคนมีคำถามว่า ทำไมเขาชอบว่าเรา พอทำแบบนี้มันก็ทำให้อยากจะให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรม แต่ถ้าเราลองถามตัวเองไหมว่า แล้วทำไมเราชอบไปฟังคำต่อว่าของเขา อันนี้มันจะทำให้เราฉุกคิดขึ้นมาว่า ทำไมเราชอบไปฟังคำพูดของเขา เราก็จะพบว่าเรามัวแต่ไปใส่ใจคำพูดของเขา
ถ้าเราไม่ใส่ใจกับคำพูด คำต่อว่าของเขา เราก็ไม่ทุกข์ แทนที่จะไปการเรียกร้องให้เขามาพูดดีกับเรา หรือมัวแต่ไปตำหนิเขาว่าทำไมชอบว่าฉัน เรากลับมาเปลี่ยนแปลงที่ตัวเราเอง มันอาจจะได้ผลดีกว่า หรือไม่ก็ถามว่า ทำไมเราต้องมาโกรธกับคำพูดของเขาด้วย ทำไมต้องหงุดหงิดกับคำพูดของเขาด้วย
คำถามมีความสำคัญ โดยเฉพาะเราถามตัวเอง ถ้าเราถามไม่ถูกถามไม่เป็น มันก็ทำให้เราทุกข์ น้อยใจหรือว่าขุ่นมัว แต่พอเราถามเป็น โดยเฉพาะกลับมาถามที่ตัวเรา มันทำให้เราตั้งหลักได้ แล้วก็เห็นถึงความจำเป็นในการที่จะปรับเปลี่ยนตัวเอง แล้วต่อไป พอมีเรื่อง มีปัญหา มีเหตุการณ์อะไรต่างๆที่ทำให้เราเผลอทุกข์ ทำให้เราเผลอกลุ้มใจ เราก็อาจจะตั้งสติได้
อย่างเช่น คนที่เจ็บป่วย แล้วก็มักจะถามในเชิงตัดพ้อว่า ทำไมต้องเป็นฉัน แต่เราถามใหม่ว่า ทำไมจะเป็นฉันไม่ได้เพราะว่าใครๆก็เป็นกัน อย่างเช่นโรคมะเร็ง ถ้าถามว่าทำไมต้องเป็นฉัน เราก็จะรู้สึกว่าฉันโชคร้ายเหลือเกิน อาจจะไปทำให้เกิดการก่นด่าชะตากรรมหรือไม่ยอมรับในสิ่งที่มันเกิดขึ้น ซึ่งพอไม่ยอมรับมันก็ยิ่งทุกข์เข้าไปใหญ่
แต่ว่าถ้าเราถามใหม่ว่า ทำไมจะเป็นฉันไม่ได้ มันก็ทำให้เรายอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เพราะว่าในความเป็นจริงว่ามีคนจำนวนมากที่ป่วยด้วยโรคเดียวกับเรา ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นโรคมะเร็งอาจจะเป็นโรคอย่างอื่นก็ได้
ถ้าเราถามตัวเองไม่เป็น มันก็พาเราไปทางหนึ่ง ซึ่งมักจะเป็นทางความทุกข์ แต่ถ้าเราถามเป็น มันก็ช่วยถอนใจออกจากความทุกข์ได้ ตอนนี้เจ้าชายสิทธัตถะเจอคนแก่ คนเจ็บ คนตายนั้น การที่พระองค์มีคำถามขึ้นมาในใจของตัวเองว่า ทำไมคนเราต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายด้วย หรือว่าทำยังไงถึงจะไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย
คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่สำคัญมาก ไม่เพียงแต่เปลี่ยนชีวิตของเจ้าชายสิทธัตถะอย่างมโหฬาร แต่ยังเป็นคำถามที่เปลี่ยนโลกด้วย เพราะคำถามนี้แหละที่ทำให้พระองค์ไม่คิดจะเสวยสุขอยู่กับปราสาท 3 ฤดู แต่ว่าเกิดความครุ่นคิดที่จะหาทางออกจากทุกข์ หาทางออกจากความแก่ความเจ็บความตาย จนในที่สุดพระองค์ก็อาจจะรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า
แล้วสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้แล้วก็เทศนาสั่งสอนก็เปลี่ยนโลกอย่างมากเลยทีเดียว เป็นเพราะคำถามไม่กี่คำถามที่พระองค์ถามตัวเอง ซึ่งทุกวันนี้ทำวัตรเช้า เราก็ถาม แล้วก็สวดเป็นคำถาม ทำไฉนการทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ จะพึงปรากฏชัดแต่เราได้ ถ้าเราถามอย่างนี้กับตัวเราเอง หรือว่าจริงจังกับคำถามแบบนี้ มันก็ช่วยทำให้เราขวนขวายในการออกจากทุกข์
แทนที่จะถามว่าทำอย่างไรถึงจะรวย ทำอย่างไรเขาถึงพูดดีกับฉัน ทำอย่างไรเขาถึงจะเข้าใจฉัน แต่พอถามใหม่ว่าทำอย่างไร การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะเกิดขึ้นแก่เราได้ มันทำให้เรากลับมาที่การฝึกตน การบำเพ็ญความเพียร โลกจะเป็นยังไง ใครจะเป็นอย่างไร มันเป็นเรื่องของเขา แต่ว่าฉันก็จะมุ่งหน้าทำความเพียรเพื่อการพ้นทุกข์
โดยเฉพาะเราเชื่อมั่นอยู่แล้วว่าทางพ้นทุกข์มันมีจริง เพราะมีพระพุทธเจ้า เป็นแบบอย่าง ก็สร้างความมั่นใจกับเราว่า ถ้าทำความเพียรแล้ว การทำที่สุดแห่งกองทุกข์หรือการทำความทุกข์ให้หมดสิ้นไป มันเป็นไปได้ ซึ่งมันก็ต้องอาศัยการรู้จักถามตัวเองให้เป็น การที่จะถามตัวเองให้เป็นได้ มันต้องอาศัยการมองตน
ที่เราถามไม่เป็น ไปถามว่า ทำไมเขาถึงชอบว่าเรา ทำไมเขาถึงไม่เข้าใจเรา ทำอย่างไรเขาจะฟังเรา อันนี้เป็นเพราะว่าเราส่งจิตออกนอก มองไปที่ข้างนอก แต่ทันทีที่เรากลับมามองตน มันก็ไม่ยากที่จะถามตัวเราเองว่า แล้วเราจะเข้าใจเขาได้อย่างไร หรือว่าแล้วเราเข้าใจเขาหรือยัง เราฟังเขาหรือเปล่า ทำไมเราต้องไปใส่ใจกับคำพูดของเขาด้วย
คำถามอย่างนี้มันเกิดขึ้นได้ เพราะว่าการหมั่นมองตน ถ้าเราหมั่นมองตนอยู่เป็นนิจสม่ำเสมอ การที่จะทำทักท้วงตัวเองหรือว่าเตือนตัวเอง มันก็เกิดขึ้นได้ และในที่สุดก็นำไปสู่การสอนตน คนอื่นจะสอนเรายังไง ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าเรารู้จักสอนตน รู้จักเตือนตน แล้วพอเรารู้จักสอนตนเตือนตน ต่อไปคนอื่นก็สามารถจะเป็นครูสอนเราได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม
หลวงพ่อพุธ ท่านเคยเล่าว่า ไปบิณฑบาต แล้วก็เห็นผู้หญิงคนหนึ่งกำลังยืนรอใส่บาตรกับลูกชาย ท่านก็เดินตรงไปรับบาตร พอใกล้จะถึง เด็กชายอายุ 5-6 ขวบก็พูดขึ้นมาว่า มึงบ่แม่นพระดอก ๆ ทีแรกท่านฉุน แต่สักพักท่านได้สติ เห็นความรู้สึกโกรธเกิดขึ้น ได้สติขึ้นมาแล้วก็มีเสียงขึ้นมาในใจ เออจริงของมัน เราไม่ใช่พระ เพราะถ้าเราเป็นพระเราก็ต้องไม่โกรธ พอคิดได้เช่นนี้ ใจสงบเลย ไม่โกรธเด็กด้วย ไปรับบาตรจากแม่ของเขาด้วยอาการปกติ
ตอนหลังท่านก็พูดถึงเด็กคนนี้ว่า เป็นอาจารย์ของท่าน อันนี้เพราะมองตน พอมองตนมันก็เกิดการสอนตนขึ้นมา หรือเตือนตนว่า เราไม่ควรไปโกรธเขา ไม่ควรไปโกรธเด็กคนนี้เพราะมันพูดถูก เราไม่ใช่พระ เพราะว่าถ้าเราเป็นพระเราต้องไม่โกรธ นี่คือการเตือนตนสอนตน เพราะว่าหมั่นมองตน และก็สามารถที่จะเอาเด็กคนนี้มาเป็นอาจารย์ของท่านได้
ที่เรามองตน ไม่ใช่เพื่อการทักท้วงตนสอนตนอย่างเดียว เรามองต้นก็เพื่อที่เราจะได้เข้าใจตัวเองด้วย โดยเฉพาะเมื่อมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในใจเรา บางทีเราไม่เห็น และบางอย่างนี้มันก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เลวร้าย กลับเป็นเรื่องที่ดี อย่างเช่นบางคนมีความรุ่มร้อนในจิตใจ พอมาสุคะโต ความรุ่มร้อนก็หายไป เกิดความสงบเกิดความเย็นขึ้นมาแทนที่
ทีแรกก็ไม่รู้ตัวหรอก แต่พอมาสังเกตใจตัวเองขึ้นมา มันก็เอ๊ะ เมื่อตะกี้เรายังรุ่มร้อนอยู่เลย แต่ตอนนี้ทำไมเราสงบแล้ว ทำไมตอนนี้เราเย็นแล้ว ก็เพราะว่าสิ่งแวดล้อม เป็นเพราะว่าบรรยากาศ เป็นเพราะว่าสถานที่ ก็อาจจะพบว่า สถานที่ที่สงบนี่มันก็มีประโยชน์ มันก็มีความมีคุณค่า ยังไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแค่ได้สัมผัสกับความสงบของสถานที่ต่างๆ ใจมันก็สงบเย็นขึ้นมา
อันนี้เป็นความรู้ที่มีประโยชน์ เพราะทำให้เห็นว่า บางทีเราก็ควรจะได้มีโอกาสมาสัมผัสความสงบของสถานที่บ้าง และต่อไปก็จะเห็นคุณค่าของความสงบในจิตใจ
มีเด็กคนหนึ่ง เป็นวัยรุ่น วันหนึ่งได้ข่าวว่ามันมีการเปิดค่ายเกี่ยวการทำละครทำหนัง เด็กคนนี้สนใจ อายุเพิ่งจะ 13 14 หรือ15 ก็เลยไปสมัครเข้าค่าย เขารับ แต่พอไปถึงสถานที่จัดค่ายแล้ว ก็ผิดหวัง เพราะว่าสัญญาณโทรศัพท์ไปไม่ถึง แกติดโทรศัพท์มาก คิดอยากจะถอนตัว อยากจะกลับบ้าน แต่ก็กลับไม่ได้แล้ว ต้องทำใจ เดินหน้าต่อไป
แล้วพอมาอยู่ที่ค่าย ได้ทำหลายสิ่งหลายอย่างที่ชอบ ได้ฝึกเขียนบท ได้ฝึกแสดง ได้ฝึกเป็นผู้ช่วยกำกับ มีความเพลิดเพลิน พอถึงวันสุดท้าย เสียดาย ไม่อยากกลับเลย แล้วจู่ๆแกเกิดความรู้สึกเอะใจขึ้นมาว่า เอ๊ะ ตอนที่ฉันมาวันแรก ฉันอยากกลับ แต่ทำไมวันนี้ ฉันไม่อยากกลับแล้ว
ความเปลี่ยนแปลงเกิดจากอะไร ในที่สุดก็พบว่า เพราะว่าได้ทำในสิ่งที่ชอบ การได้ทำสิ่งที่ชอบ มันก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง มันทำให้มีความสุขอย่างที่คาดไม่ถึงเหมือนกัน เด็กก็ได้เรียนรู้จากตัวเอง รู้จักตัวเองว่าหรือว่ารู้จักความสุขชีวิตใหม่ เป็นความสุขที่เกิดจากการได้ทำสิ่งที่ชอบ สิ่งที่ตัวเองมีฉันทะ ไม่ใช่สุขจากการที่ได้เล่นโทรศัพท์มือถือ
ถ้าเด็กไม่มองตรงนี้ มันก็ไม่เกิดความรู้สึกเอ๊ะ แต่พอมองตนสังเกตความรู้สึกของตัวเอง มันก็เอ๊ะ ทำไมฉันถึงไม่อยากกลับ แล้วพอใคร่ครวญก็พบว่าเป็นเพราะตัวเองพบกับความสุขจากการได้ทำสิ่งที่ชอบ
บางทีคนเราถ้าไม่มองตน มันก็ไม่เห็นตัวเอง จะเรียกว่าบางทีมันก็ไม่ใช่ ถ้าเราไม่มองตนก็ไม่มีทางที่จะเห็นตัวเองเลย แม้ว่าในยามที่ตัวเองได้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี อย่างที่เคยเล่าถึงจิตอาสาที่เป็นไมเกรน กินยาระงับปวดทุกวันเลย แต่พอได้ไปเป็นจิตอาสาที่บ้านปากเกร็ด อาทิตย์ละ 2 วัน ทำไปได้ 2-3 อาทิตย์ วันหนึ่งก็เอะใจขึ้นมาว่า นี่ฉันลืมกินยามาได้ 2-3 วันแล้ว แต่ก่อนฉันกินยาทุกวันเลย ทำไมลืมกินยา ถามตัวเอง ก็พบว่า เพราะมันไม่ปวด แล้วทำไมไม่ปวด แต่ก่อนนี้ปวดทุกวันเลย
ที่ไม่ปวดเพราะว่า มีความสุขกับการที่ได้เป็นพี่เลี้ยงเด็ก อ๋อ ตัวเองก็เลยพบความจริงว่า การที่ไปช่วยเด็ก มันกลับมาช่วยตัวเอง ทีแรกเราไปคิดว่าเราช่วยเด็ก แต่ที่จริงแล้วเด็กช่วยเรา พบว่าการไปช่วยเด็กดูแลเด็ก เป็นจิตอาสา มันทำให้เกิดความสุข ลืมกินยา มีความสุขแต่มองไม่เห็นเพราะไม่สังเกต จนกระทั่งเอะใจขึ้นมา ลืมกินยา ก็เลยพบว่า เป็นเพราะเรามีความสุข
ถ้าเราหมั่นมองตน อย่างน้อยๆ มันก็จะเห็น ได้รู้จักตัวเอง ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวเอง มันไม่ใช่แค่เห็นทุกข์ที่เกิดความคิด หรือทุกข์ที่เกิดจากอารมณ์ ซึ่งอันนี้ก็สำคัญเหมือนกัน ถ้าไม่มองตนก็จะไม่เห็นหรอกว่า ที่ทุกข์ ทุกข์เพราะความคิด ทุกข์เพราะอารมณ์ดี ทั้งที่เหตุการณ์ก็ผ่านไปนานแล้วแต่ก็ยังเก็บเอามาคิด ถ้ารู้แบบนี้ก็ทำให้เกิดการปล่อยการวางได้
อันนี้ก็เป็นการรู้จักตัวเองในความหมายหนึ่ง รู้ว่าทุกข์ใจเกิดจากอะไร แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ เราได้พบความสุข แล้วพบว่าสุขเพราะอะไรด้วย อันนี้ก็เป็นการรู้จักตัวเองที่สำคัญเหมือนกัน บางทีคนเราทำอะไรดีๆแล้วมีความสุข แต่ไม่เห็นไม่สังเกต เพราะว่าไม่ค่อยมองตน
การมองตน ถ้าเรามองอย่างสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย จนเป็นอัตโนมัติ หรือว่าเป็นไปเองแล้ว มันก็ทำให้เรา เข้าใจตัวเองได้มากขึ้น และขณะเดียวกันก็ทำให้รู้จักทักท้วง เตือน สอนตนได้ และคำถามที่เคยสร้างทุกข์ให้กับเรา พอเรามาเปลี่ยนรู้จักตั้งคำถามใหม่จากการมองตน มันก็ช่วยทำให้เราออกจากทุกข์ หรือว่าปรับเปลี่ยนตังเองได้ง่ายขึ้น
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 7 ตุลาคม 2564