แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
หลายปีก่อน เวลาอาตมาไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ก็จะมียายคนหนึ่งมายืนรอใส่บาตรเป็นประจำ แกมีหลานชายอยู่คนหนึ่ง พอหลานชายโตขึ้นมาสักหน่อยพอรู้ความอายุราว 4-5 ขวบ แกก็ชวนหลานชายมาใส่บาตรด้วยเป็นประจำทุกวัน บอกหลานว่าใส่บาตรแล้วได้บุญ หลานอยากได้บุญก็เลยมากับยายทุกวัน ปกตืยายเป็นคนใส่ข้าวเหนียว กับข้าวก็ให้หลานใส่
มีวันหนึ่งยายเตรียมของที่จะถวายพระเป็นผลไม้ มันหนัก ยายก็เห็นว่าคงจะเกินกำลังของหลาน ก็เอามาถือเอง ปรากฏว่าหลานไม่ยอม จะใส่ให้ได้ แต่ยายก็รู้ว่าหลานแบกไม่ไหวหรอก ยายก็เลยใส่บาตรเอง หลานอยากได้บุญมาก พอยายทำอย่างนั้น ก็ไม่พอใจ เพราะกลัวจะไม่ได้บุญ ก็เลยตีมือยาย ตัวเองจะได้ใส่แทน
อันนี้ก็น่าคิด บุญเป็นของดี และการที่หลานอยากจะได้บุญ มันก็เป็นเรื่องที่ดีเหมือนกัน แต่ทำไมจึงลงเอยด้วยการตีมือยาย ทั้งนี้ก็เพราะว่าความอยากได้บุญมาก หรือพูดอีกอย่างนึงก็คือว่า มีความยึดมั่นในบุญมาก บุญเป็นของดีแต่ถ้ายึดมั่น มันก็อาจจะกลายเป็นพาให้ทำบาปได้ ที่จริงตีมือยายมันก็ไม่ได้ทำบาปใหญ่อะไรนัก แต่มันก็ไม่ถูกต้อง ความอยากได้บุญ ถ้ามากจนกลายเป็นความยึดมั่นถือมั่น ก็สามารถจะถักให้คนเราทำสิ่งตรงข้าม คือทำบาป
มันไม่ใช่เป็นกับเด็กเท่านั้น ผู้ใหญ่ก็เป็น ผู้ใหญ่บางคนก็ทะเลาะกัน เพราะแย่งกันทำบุญ อาจจะถวายปัจจัยหรือถวายสังฆทานให้หลวงพ่อ หรือว่าแย่งกันตั้งโรงทาน รู้ว่าตั้งโรงทานแล้วได้บุญมาก แล้วมีอะไรมาขัดขวาง การทำความดีก็เลยเหวี่ยงกลับกลายเป็นการทำบาปไปเลย แทนที่จะได้บุญก็กลายเป็นได้บาปเพราะความยึดมั่นถือมั่น
มีคำพูดหนึ่งเตือนใจเราได้ดี ทำผิดในสิ่งที่ถูก ความถูกต้องมันเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าเราเกี่ยวข้องกับความถูกต้องไม่เป็น มันก็กลายเป็นผิดไปได้หรือทำให้เกิดการทำผิด พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า หญ้าคานี้ ถ้าจับไม่ดีย่อมบาดมือ หญ้าคามันก็อ่อนเพลีย ไม่น่าจะเป็นอันตราย แต่ว่าถ้าจับไม่ดี มันก็บาดมือ อันนี้พระพุทธเจ้าเปรียบโยงไปถึงเรื่องบรรพชิต ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้อง มันก็ฉุดลงนรกได้
ความถูกต้อง ถ้าเราปฏิบัติไม่ดี มันก็เกิดความเสียหาย ปฏิบัติไม่ดีในที่นี้หมายถึงความยึดมั่นถือมั่นในความถูกต้อง ถ้ายึดมั่นถือมั่นในความถูกต้องมันก็จะชักนำให้ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องก็ได้
มีเหตุการณ์หนึ่งในสมัยพุทธกาล เป็นเรื่องราวที่ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยก็เคยได้ยินได้ฟัง คือเรื่องของความแตกแยกระหว่างพระสงฆ์สองฝ่ายในกรุงโกสัมพี เป็นการทะเลาะวิวาทกันจนกลายเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต ทั้งหมดนี้มันมีมูลเหตุจากเรื่องเล็กน้อยมาก ถ้าพูดภาษาชาวบ้านมันมีมูลเหตุมาจากน้ำล้างก้น ที่มาของเรื่องนี้ก็คือ
พระธรรมกถึก ก็คือผู้ที่สอนธรรมแสดงธรรมซึ่งมีลูกศิษย์เป็นร้อย วันหนึ่งไปเข้าห้องน้ำ ปลดทุกข์ พอเสร็จกิจก็เหลือน้ำชำระไว้ในภาชนะ(คล้ายๆขัน) พอออกจากห้องน้ำ พระวินัยธรคือผู้เชี่ยวชาญด้านวินัย ก็เป็นระดับอาจารย์แล้ว มีลูกศิษย์มาก ก็เข้าห้องน้ำต่อ เห็นน้ำชำระนี้เหลือคาอยู่ในภาชนะ
พอเสร็จกิจท่านก็ออกมาถามพระธรรมกถึกว่า ท่านทิ้งน้ำชำระไว้ในภาชนะใช่ไหม ท่านธรรมกถึกตอบว่าใช่ พระวินัยธรถามต่อว่า ท่านไม่รู้หรือว่าทำอย่างนั้นเป็นอาบัติ พระธรรมกถึกบอกว่าไม่ทราบ ทีแรกเมื่อท่านรู้ว่าเป็นอาบัติ ท่านก็เลยจะปลงอาบัติ แต่พระวินัยธรก็บอกว่าในเมื่อท่านไม่ได้ตั้งใจ ก็ไม่เป็นอาบัติ
เรื่องก็น่าจะจบเท่านี้ ปรากฏว่าพระวินัยธรเอาเรื่องนี้ไปเล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า นี่ขนาดครูบาอาจารย์เรื่องแค่นี้ยังไม่รู้หรือว่าเป็นอาบัติ ลูกศิษย์พอได้ยินก็พูดต่อๆกันไป เท่านั้นไม่พอ ก็ไปพูดในทำนองเหยียดหยามให้กับลูกศิษย์ของพระธรรมกถึกว่า อาจารย์ของท่าน เรื่องแค่นี้ยังไม่รู้อีกหรือว่าเป็นอาบัติ คล้ายๆถือว่าเป็นเรื่องที่น่าอาย
ลูกศิษย์ของพระธรรมกถึกได้ยินก็ไม่พอใจ ก็นำไปเล่าให้พระธรรมกถึกฟัง พระธรรมกถึกได้ยินก็โกรธพระวินัยธร ก็พระวินัยธรบอกว่าไม่เป็นอาบัติไม่ใช่หรือ แล้วทำไมตอนนี้ถือว่าเป็นอาบัติ อย่างนี้ก็พูดมุสาสิ ลูกศิษย์ก็เอาประโยคนี้แหละไปทับถมลูกศิษย์ของพระวินัยธร ว่าอาจารย์ของท่านพูดมุสา เรื่องก็ไปถึงพระวินัยธร พระวินัยธรก็เลยไม่พอใจ
ก็กลายเป็นว่า เกิดความแตกแยกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายพระธรรมกถึกกับฝ่ายพระวินัยธร ต่างโจมตีว่าร้ายใส่กัน ฝ่ายหนึ่งก็ว่าเรื่องแค่นี้ไม่รู้ว่าเป็นอาบัติ มันดูน่าอาย อีกฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าอาจารย์ของท่านพูดมุสา ความแตกแยกกันก็บานปลาย ไม่ใช่ระหว่างอาจารย์กับอาจารย์ หรือว่าระหว่างลูกศิษย์กับลูกศิษย์ แต่ว่าลามไปถึงญาติโยมที่สนับสนุนของสองฝ่าย ก็ทะเลาะกัน ต่างกล่าวหากัน
แม้กระทั่งตามเรื่องเทวดาที่อารักขาของพระทั้งสองฝ่าย ก็แตกแยกกัน เรียกว่าทั้งกรุงโกสัมพีจนไปถึงบนโลกสวรรค์ก็ทะเลาะกัน
พระพุทธเจ้าเมื่อทราบก็ไปไกล่เกลี่ยไปพูดเตือนให้เห็นถึงคุณค่าของความสามัคคี และให้คืนดีกัน แต่ปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายไม่ยอม ต่างพูดว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย ขอให้พระองค์อยู่สบายแต่พระองค์เดียวเถิด ปล่อยให้พวกเราทะเลาะกัน พูดง่ายๆว่าอย่ามายุ่ง อยู่เฉยๆ ขนาดพระพุทธเจ้าพูดเตือน ยังไม่ฟังเลย ยังทุ่มเถียงทะเลาะกันต่อ ทั้งพระทั้งโยม
วันรุ่งขึ้น พระพุทธเจ้าเสด็จไปบิณฑบาตแต่ผู้เดียว พอกลับมา พระองค์ก็เก็บอัฐบริขาร แล้วก็ไปปลีกวิเวกที่ป่าเลไลย์แต่ผู้เดียว ก่อนที่จะเสด็จออกจากอาราม กรุงโกสัมพี พระองค์ก็ยังพูดเตือนสติพระเหล่านี้ ด้วยประโยคหนึ่งว่า เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ระงับด้วยการไม่จองเวร พูดง่ายๆคือว่าเขาแรงมาก็อย่าแรงไป อย่าไปตอบโต้ แต่ปรากฏว่าพระเหล่านี้ก็ไม่ฟัง ยังจะเถียงกันต่อ
จนกระทั่งชาวเมืองรู้ว่าพระพุทธเจ้าเสด็จออกจากวัดไปแล้ว ก็เลยรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น รู้ว่าเหตุเกิดมาจากการที่พระสองฝ่าย ซึ่งรวมกันแล้วก็หลายร้อยที่ทะเลาะกัน ขัดแย้งกัน ก็เลยพร้อมใจกันไม่ใส่บาตร พอไม่มีอาหารฉัน พระทั้งสองฝ่ายก็เริ่มได้สำนึก ก็รู้สึกผิด รู้ว่าตัวเองทำอะไรลงไป ก็เลยพร้อมใจกันไปขอขมาพระพุทธเจ้า เรื่องก็เป็นอันจบ เหตุการณ์นี้ก็กลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของพุทธศาสนา
ที่น่าสนใจพระเหล่านี้ที่ทะเลาะกัน ก็ไม่ได้เป็นพระเลว ไม่ได้เป็นพระอลัชชี จัดว่าเป็นพระดีด้วยซ้ำ ฝ่ายหนึ่งก็เป็นผู้ที่รู้ธรรม ตั้งใจศึกษาปริยัติธรรม แล้วก็สอนสั่งแสดงธรรมกับลูกศิษย์และญาติโยม อีกฝ่ายหนึ่งก็เป็นพระขวนขวายศึกษาเชี่ยวชาญชัดเจนในพระวินัย มีลูกศิษย์ลูกหาเยอะ ญาติโยมก็อุปถัมภ์เป็นจำนวนไม่น้อย ไม่ได้แย่งอะไรกันเลย ไม่ว่าลาภสักการะ ตำแหน่ง
แต่ว่าทำไมจึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นทั้งที่เป็นพระที่มีความรู้มาก แต่ทำไมจึงทำในสิ่งที่ผิดพลาดขนาดนั้น ก็เพราะยึดมั่นในความถูกต้องของตัว ยึดมั่นว่าฉันถูก แกผิด พอยึดมั่นในความถูกต้องของตัวก็เลยไม่ยอมลงให้ใคร คลิปแต่ชนะท่าเดียว จะเรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งมาขอโทษ ขอโทษที่พูดจาดูถูก หรือขอโทษที่กล่าวหาว่ามุสา
พอสองฝ่ายไม่ยอมเพราะเชื่อมั่นว่าฉันถูกเธอผิด ก็เลยไม่ฟัง ไม่ฟังกันอย่างเดียวไม่พอ แม้กระทั่งพระพุทธเจ้ามาเตือนก็ยังไม่ฟัง กลับบอกให้พระพุทธเจ้าอยู่เฉยๆ ความผิดพลาดอย่างมหันต์ของพระทั้ง 2 กลุ่ม มันก็มีสาเหตุอย่างเดียว เป็นเพราะความยึดมั่นถือมั่นในความถูกต้องของตัว
การที่คนเราจะทำอะไรโดยคำนึงถึงความถูกต้องเป็นเรื่องดี แต่พอยึดมั่นถือมั่นในความถูกต้อง มันจะเกิดความรู้สึกตัวกูของกูขึ้นมาแล้วว่า ต้องถูกต้องแบบของกู หรือว่ายืนกรานในความถูกต้องของตัว และมองเห็นอีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายผิด ไม่ยอมที่จะมองว่า เราก็มีส่วนผิด นอกจากไม่มองตัวว่ามีความบกพร่องแล้ว ขนาดพระพุทธเจ้ามาเตือน ยังไม่ฟังเลย
อันนี้ก็ชี้ให้เห็นได้ว่า คนที่ดื้อรั้นไม่ฟังคำสอนหรือคำเตือนของพระพุทธเจ้าบางทีก็ไม่ใช่ใครหรอก ไม่ใช่ฆราวาสที่อยู่ไกลวัด แต่ว่าเป็นพระที่เป็นลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดของพระพุทธเจ้า เป็นผู้ที่ใฝ่ธรรมใฝ่วินัย แต่พอมีความยึดมั่นในความถูกต้อง มันก็เปิดช่องให้กิเลส หรือทิฐิมานะเข้ามาครอบงำ แล้วก็ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้ ขึ้นชื่อว่าความยึดมั่น แม่ยึดมั่นในสิ่งที่ดี เช่น บุญ มันก็ผลักให้ทำบาปได้ ยึดมั่นในความถูกต้องมันก็ผลักให้ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้
เช่นเดียวกัน ความดี แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ดีแต่ถ้ายึดมั่น มันก็ทำให้ทำชั่วได้ มันมีเหตุการณ์มีตัวอย่างมากมายในประวัติศาสตร์ที่คนเราทำสิ่งที่ชั่วร้ายในนามของความดี ทำร้ายผู้คน ทำศึกสงครามเพื่อพระเจ้า เพื่อศาสนา เพื่ออุดมการณ์สูงส่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องดี แต่พอยึดมั่นถือมั่นมากๆเข้า มันก็ผลักให้ทำในสิ่งที่ไม่ดีหรือสิ่งที่เลวร้ายได้
มีตัวอย่างมากมายไม่ใช่เฉพาะต่างประเทศ ในเมืองไทยก็มี และที่ใกล้ตัวเรา เหตุการณ์หนึ่งก็เหตุการณ์ 6 ตุลา ซึ่งครบรอบ 45 ปีพอดีในวันนี้ เป็นเหตุการณ์ที่มีการสังหารโหดสังหารหมู่ในธรรมศาสตร์ และสนามหลวง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ธรรมศาสตร์ในกลางวันแสกๆ แล้วคนที่ถูกสังหารนี้ก็เป็นนักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมด้วยความสงบ ไม่ได้เป็นผู้ร้าย
และคนที่ไปทำร้ายไปสังหารผู้ที่ชุมนุมนี้ก็ไม่ได้มีแต่เจ้าหน้าที่ หรือว่ากลุ่มกระทิงแดง แต่ว่ายังมีประชาชนจำนวนมากทีเดียว ซึ่งก็ดูเหมือนคนธรรมดา ไม่ได้เป็นคนที่มีนิสัยใจคอโหดร้าย หรือเป็นโจรผู้ร้าย แต่ทำไมคนเหล่านี้จึงให้ความร่วมมือในการทำร้ายผู้คนล้มตายกันมากมายหลายสิบคน หลายคนก็ถูกฆ่าอย่างเหี้ยมโหด ทรมาน ถูกแขวนคอที่สนามหลวง ทั้งที่ยังไม่ทันตายก็ถูกทิ่มถูกแทงจนตาย บางรายก็ถูกเผาทั้งที่ยังไม่ตาย มันเป็นเหตุการณ์ที่โหดเหี้ยมมาก
คำถามคือ ทำไมคนธรรมดาซึ่งหลายคนก็บอกว่าเป็นประชาชนผู้รักชาติ แล้วก็ไม่ได้มีนิสัยใจคอโหดร้ายจึงทำสิ่งเหล่านั้นได้ หรือถึงแม้ไม่ได้ทำ ก็ไชโยโห่ร้องยินดีกับการฆ่าผู้คนซึ่งล้วนแต่เป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นผู้ที่ไม่ได้ก่อกรรมที่ชั่วร้ายอะไรเลย เพราะชุมนุมกันโดยสงบ ทำไมถึงทำอย่างนั้นได้ ก็เพราะว่ามีความโกรธเกลียดอย่างรุนแรง
และความโกรธเกลียดที่ว่านี้ เกิดจากการปลุกปั่นให้โกรธเกลียดผู้ที่ชุมนุมในธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นนักศึกษาส่วนใหญ่ แล้วก็ประชาชน ที่โกรธเกลียดเพราะอะไร เพราะว่าเห็นว่าคนเรานั้นคิดร้ายหรือเป็นภัยต่อสิ่งที่ตัวเองถือว่าเป็นความดีงาม ก็คือ ชาติศาสน์กษัตริย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตัวเองรักและเทิดทูน ที่จริงความรักชาติศาสน์กษัตริย์เป็นสิ่งที่ดี มันสามารถจะบันดาลใจให้คนทำความดีได้
แต่ถ้าหากว่าทำเกินกว่านั้น คือไม่ได้แค่รัก แต่ว่ายึดมั่นถือมั่นอย่างเหนียวแน่น มันก็สามารถที่จะผลักให้คนเราทำในสิ่งที่เลวร้ายได้ ความดีมันก็สามารถจะทำให้คนเราทำในสิ่งที่ชั่วร้ายได้ถ้าหากว่ายึดมั่นถือมั่นมากเกินไป เพราะอะไร เพราะว่าพอยึดมั่นถือมั่นในความดี พอเห็นคนอื่นเขาไม่ได้ดีเหมือนเรา หรือว่าไม่ได้คิดเหมือนเรา ก็เกิดความโกรธเกลียด พอโกรธเกลียด ลืมตัวเข้า มันก็ทำร้ายเขาได้ ถึงกับฆ่าให้ตาย
ในขณะเดียวกัน พอยึดมั่นถือมั่นในความดีหรือสิ่งที่ตัวเองคิดว่าดี เพราะเห็นคนอื่นไม่ได้คิดเหมือนเรา หรือว่าคิดต่างจากเรา ก็ง่ายที่จะมองว่าเขาเป็นคนชั่วร้าย เป็นคนเลว พอเห็นเขาเป็นคนชั่วร้ายหรือคนเลว ก็เลยคิดว่ามีความชอบธรรมที่จะกำจัดให้หมดไป อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ 6 ตุลา
การยึดมั่นถือมั่นในความดีหรือสิ่งที่ตัวเองคิดว่าดี มันก็สามารถที่จะผลักดันให้คนธรรมดาๆกลายเป็นฆาตกรได้ หรือว่ายินดีโห่ร้องกับการฆ่านั้น ทั้งๆที่หลายคนถือตัวเองว่าเป็นชาวพุทธ เป็นคนรักชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ ศาสนาในที่นี้คือพระพุทธศาสนา แต่ว่ากลับลงมือฆ่าผู้บริสุทธิ์ซึ่งเขาไม่ได้มีอาวุธหรือสิ่งเลวร้าย เพียงแค่ชุมนุมอย่างสงบ แล้วก็กลับเห็นว่าการกระทำ การฆ่านี้ซึ่งเป็นปาณาติบาตกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับได้หรือเป็นเรื่องดี
อันนี้ก็เป็นบทเรียนที่สำคัญว่า ไม่ว่าจะเป็นความรักในสถาบัน ถ้ามันกลายเป็นความยึดมั่นถือมั่น มันก็สามารถที่จะผลักดันให้คนทำสิ่งที่เลวร้ายหรือชั่วร้ายได้ สามารถที่จะฆ่าผู้บริสุทธิ์ได้ เพียงเพราะว่าเขาคิดต่างจากตัว พอเห็นเขาคิดต่างจาดตัว โดยเฉพาะไม่ได้เห็นว่าเขาเชิดชูเทิดทูนในสิ่งที่ตัวเองรักหรือว่ายึดมั่นถือมั่น ก็มองว่าเขาเป็นผู้ร้ายขึ้นมาทันทีเลย
ทั้งที่จริงคนเหล่านั้นก็ไม่ได้คิดร้าย แล้วก็ไม่ได้เป็นคนเลวร้าย เพียงแต่ว่าเขาคิดต่างจากตัวเท่านั้น แต่พอยึดมั่นถือมั่นมาก มันก็ทนไม่ได้กับคนที่คิดต่างหรือว่าคนที่แสดงออกต่างจากตัว ก็ไปลงความเห็นว่าเขาเป็นคนชั่วร้าย พอคิดอย่างนั้นเข้า การที่จะลงมือใช้ความรุนแรงถึงขั้นสังหารอย่างโหดเหี้ยม มันก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก
คนเราสามารถจะทำชั่วในนามของความดีก็ได้ หรือทำชั่วเพื่อปกป้องความดี หรือทำชั่วเพื่อปกป้องสิ่งที่ตัวเองคิดว่าดี แต่ว่าพอทำไปแล้วในที่สุดมันก็กลับเป็นผลเสียกับสิ่งที่ตัวเองรัก คือทำไปด้วยความยึดมั่นถือมั่น ด้วยความรักชาติศาสน์กษัตริย์ แต่พอทำไปแล้ว มันก็ไปสร้างความมัวหมองให้กับชาติศาสน์กษัตริย์ และมันกลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งที่ดำมืด ไม่ใช่แค่รอยด่างแต่มันเปื้อนด้วยรอยเลือดซึ่งไม่ค่อยมีคนอยากจะนึกถึงเท่าไหร่
คนเรา คนที่เป็นโจรผู้ร้าย เวลาทำชั่วอย่าว่าแต่ฆ่าเลย เพียงแค่ปล้นทรัพย์ก็ยังยอมรับว่า สิ่งที่ตัวเองทำนั้นไม่ดี วิ่งไปฆ่าเขาด้วยก็รู้เลยว่าทำไม่ถูก แต่ว่าคนดีๆพอไปทำร้ายคนอื่นในนามของความดี มันยากที่จะรู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นผิด ไม่มีความรู้สึกผิดเลย ทั้งที่คนที่ตายนี้เป็นผู้บริสุทธิ์เป็นนักศึกษา ไม่ได้มีอาวุธอะไร แล้วก็ทั้งๆที่สิ่งที่ทำมันเป็นปาณาติบาต
แต่คนจำนวนมากไม่รู้สึกผิดเพราะอะไร เพราะเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ตัวเองทำเป็นความดี อันนี้มันน่ากลัวมาก ทำชั่วแล้วรู้สึกผิด ก็ยังเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แต่พอทำชั่วแล้วไม่รู้สึกผิดเพราะคิดว่าฉันทำดี หรือทำในนามของความดี อันนี้มันน่ากลัว เพราะมันก็จะส่งเสริมให้มีการทำชั่ว หรือทำรุนแรงต่อไปได้เรื่อยๆ
ถ้ารักชาติจริงๆมันก็จะไม่ทำสิ่งเหล่านี้ เพราะว่ามันกลายเป็นความมัวหมอง หรือว่าถ้ารักศาสนา เช่น พุทธศาสนา ก็ยิ่งไม่กล้าทำสิ่งเหล่านี้เพราะว่ามันคือปาณาติบาต แต่ว่าก็ทำลงไปเพราะความลืมตัว และที่ลืมตัวก็เพราะความโกรธ และที่โกรธก็เพราะความยึดมั่นถือมั่นมาก จนเห็นคนที่คิดต่างจากตัวเป็นศัตรูที่สมควรที่จะกำจัด
เหตุการณ์ 6 ตุลาถ้าเราใคร่ครวญให้ดี มันย้ำเตือนให้ตระหนักว่า ความดีหรือสิ่งที่ดีๆ ถ้ายึดมั่นถือมั่นมาก มันก็สามารถจะผลักดันได้ทำชั่วได้ หลวงพ่อเฟื่อง โชติโก ท่านเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ท่านพูดไว้ดีท่านบอกว่า ความเห็นของเราแม้จะถูก แต่ถ้ายึดเข้าไว้มันก็ผิด
ความเห็นของเราแม้จะถูก หรือแม้จะดี แต่พอยึดมั่นปุ๊บมันกลายเป็นผิดไปเลย หรือมันสามารถจะทำให้ทำสิ่งที่ผิดได้ อย่างในเหตุการณ์ 6 ตุลา มันชัดเจนมากแต่คนก็ไม่ตระหนัก เพราะว่ามันก็ยังมีการทำชั่วในนามของความดีต่อเนื่องมาโดยตลอด เพราะคิดว่าฉันทำดีแล้วนี่ หรือว่าฉันเป็นคนดีแล้วนี่ ทำอะไรก็ถูกเสมอ หรือว่าในเมื่อฉันทำในนามความดี สิ่งที่ทำย่อมถูกเสมอ
อันนี้เป็นความหลงอย่างหนึ่ง ซึ่งมันสามารถจะทำให้เกิดความชั่วร้าย หรือว่าความเจ็บปวดกับผู้คนจำนวนมาก เหตุการณ์นี้ยังชี้ให้เห็นเลยว่าความโกรธมันน่ากลัว คนธรรมดาพอโกรธขึ้นมา หรือถูกปลุกปั่นให้เกิดความโกรธความเกลียดขึ้นมา มันก็สามารถทำสิ่งที่น่ากลัวได้ จับคนมาแขวนคอ แล้วก็ตี แทง ทั้งที่เขายังไม่ตาย จนตายคามือก็มี ความโกรธความเกลียดมันทำลายความเป็นมนุษย์
อาตมาก็อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาครั้งนั้นด้วย ถึงแม้ว่าไม่โดนทำร้ายมาก โดนแค่เตะ ถีบ มีช่วงที่แวบ เหลือบไปมองเห็นหน้าของคนที่ทำร้ายเรา หน้าเขาไม่ได้มีความเป็นมนุษย์เลย เพราะเขากำลังโกรธมาก ความโกรธทำให้เขากลายเป็นอมนุษย์ไปเลย ความเป็นมนุษย์นี่หายไปเลย เห็นแล้วก็สงสาร ไม่ได้โกรธไม่ได้เกลียดเขาเลย สงสารเพราะเห็นว่าความโกรธมันทำลายคนได้ขนาดนี้ แต่นี่เขาแค่เตะแค่ถีบ
แต่บางคนนี่ถึงกับทำร้ายเพื่อนมนุษย์ด้วยกันด้วยมือของตัวเองทีเดียว นี่เพราะความโกรธ เพราะฉะนั้นมันน่ากลัวมาก แล้วคนเรานี่ก็สามารถจะโกรธได้ ถ้าหากยึดมั่นถือมั่นในความดี จนเห็นคนที่เขาไม่ดีเหมือนตัวหรือไม่แสดงออกความดีเหมือนตัว เป็นคนชั่วร้าย
ฉะนั้น ถ้าหากว่าเราระมัดระวังใจของเรา ไม่ให้ความโกรธความเกลียดมันครอบงำ การที่เราจะเผลอทำชั่วเผลอทำร้ายใคร มันก็ยาก อย่าว่าแต่ทำร้ายคนที่ไม่รู้จักเลย แม้กระทั่งคนที่รักกัน ผัวเมียกัน หรือคู่ครองกัน ก็สามารถจะฆ่ากันได้ทันทีที่ความโกรธความเกลียดมันเกิดขึ้น แล้วก็หลายคนก็ทำ เพราะเชื่อมั่นว่าฉันถูก อีกฝ่ายผิด
และความยึดมั่นในความถูกต้อง มันก็สามารถทำให้คนเราทำสิ่งที่ผิด เช่นเดียวกับยึดมั่นในความดีก็สามารถทำให้คนเราทำในสิ่งที่ชั่วได้ ความยึดมั่นถือมั่นจึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก ไม่ว่าจะยึดมั่นถือมั่นในอะไรก็ตาม อันนี้เป็นเป็นสิ่งที่เราน่าจะได้เรียนรู้ หรือสรุปจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ซึ่งมันเป็นบาดแผลสำคัญในประวัติศาสตร์ของบ้านเรา
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 6 ตุลาคม 2564