แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เวลาเราตั้งใจจะทำสิ่งดีๆหรือทำความดีเพียงแค่รู้ว่าสิ่งนั้นดี มีประโยชน์ ควรทำนั้น มันยังไม่พอ มันต้องมีความรู้สึกดีๆควบคู่ไปด้วย จึงจะทำให้ทำสิ่งดีๆหรือทำความดีนั้นได้ต่อเนื่อง
ในทางตรงกันข้ามถ้าเกิดมีความรู้ที่ไม่ดีขึ้นเกิดมา เช่น ความเบื่อ ความเหนื่อยหน่าย ความเกียจคร้าน หรือว่าใจที่ใฝ่หาความสุขจากการกิน การเที่ยว การเล่นหรือว่าสิ่งเสพ ก็ทำให้ไม่สามารถที่จะทำสิ่งดีๆได้ต่อเนื่อง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นการศึกษาหาความรู้ การทำงาน หรือว่าการปฏิบัติธรรม
เราจะมองข้ามหรือละเลยความสำคัญของอารมณ์ ความรู้สึกไม่ได้เลย เพราะมันสามารถจะเป็นได้ทั้งตัวหน่วงเหนี่ยวฉุดรั้งไม่ให้ทำความดี หรือจะเป็นตัวส่งเสริมผลักดันให้ทำความดียิ่งๆขึ้นไปก็ได้
ในเมื่อเราไม่สามารถที่จะจะปฏิเสธความสำคัญและบทบาทของอารมณ์ความรู้สึกได้ เราก็ต้องพยายามที่จะพัฒนา หรือสร้างอารมณ์ความรู้สึกฝ่ายดีขึ้นมา เพียงแค่ปฏิเสธหรือว่ากดข่มอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่ดี มันไม่พอ เพราะว่ากดข่มมันเท่าไร มันก็ยังสามารถที่จะขึ้นมาก่อกวนขัดขวางการทำความดีได้ จนกว่าเราจะพัฒนาหรือสร้างความรู้สึกฝ่ายดีขึ้นมาจะเรียกว่าอารมณ์กุศลขึ้นมาก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นฉันทะ
ฉันทะคือความอยาก จะเป็นความอยากทำ และเมื่อได้ทำแล้ว มีความสุข ความเจริญ ความเบิกบาน แช่มชื่น ความแจ่มใส พวกนี้ก็เป็นอารมณ์ความรู้สึกฝ่ายดี ซึ่งมันสามารถที่จะไม่เพียงแค่หล่อเลี้ยงความดีหรือว่าสิ่งดีๆที่เราทำให้ต่อเนื่อง มันยังจะเป็นตัวชักนำให้เราอยากจะทำความดีเพิ่มขึ้นก็ได้ อย่างเช่น คนที่พบความสงบจากการทำสมาธิภาวนา ก็อยากที่จะทำสมาธิไปเรื่อยๆ ไม่ต้องมีใครมาชวน ก็อยากทำ
หรือว่าคนที่มีความสุขกับการได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ก็เกิดความอยากเรียน อยากศึกษาหาความรู้ โดยที่ไม่ต้องมีพ่อแม่มาเคี่ยวเข็ญ มันมีความอยากขึ้นมาเอง แล้วก็ลงมือทำเพราะว่าความรู้สึกฝ่ายดี มันเป็นตัวชักนำหล่อเลี้ยงให้ทำไปได้เรื่อยๆโดยที่ไม่ทิ้งกลาง ความรู้สึกฝ่ายดีมันสำคัญ ไม่ว่าเราจะทำงานทางโลกหรือว่าทำงานทางธรรมก็ตาม
แม้กระทั่งการบำเพ็ญเพียรเพื่อการสิ้นสุดแห่งทุกข์ ก็ต้องอาศัยความรู้สึกฝ่ายดี เป็นตัวหนุนเนื่องด้วยอย่างที่พระพุทธเจ้าเธอผู้มากด้วยปราโมทย์ ย่อมกำจัดทุกข์ให้หมดสิ้นไป หรือย่อมทำทุกข์ให้หมดสิ้นไป พูดง่ายๆก็คือจะบรรลุนิพพานได้ ก็ต้องมีความปราโมทย์ ความปราโมทย์คือความรู้สึกเบิกบานร่าเริงสดชื่นแจ่มใส
พระพุทธศาสนาพูดถึงเรื่องทุกข์ไว้เยอะ รวมทั้งให้รู้จักเรียนรู้จักจากทุกข์ แต่พระพุทธเจ้าก็ให้ความสำคัญกับความสุขไว้เยอะเลย โดยเฉพาะความสุขที่ประณีตว่าเป็นปัจจัยสำคัญ ในการทำความเพียร เพียงแค่รู้ว่ามรรคมีองค์ 8 เป็นหนทางสู่ความพ้นทุกข์ เท่านี้มันยังไม่พอ มันต้องมีความปราโมทย์เป็นตัวหนุนเนื่องให้เกิดความเพียรในการเจริญในอริยมรรคมีองค์ 8 ด้วย
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าถึงตรัสว่า เธอมากด้วยปราโมทย์ ย่อมทำความทุกข์ให้หมดสิ้นเป็นไปได้ ถ้าไม่มีความปราโมทย์ หรือเรียกง่ายๆว่าไม่มีความสุขที่ประณีต มันก็ไม่สามารถที่จะทำความทุกข์ให้หมดสิ้นไปได้
ที่จริงพระพุทธเจ้าเคยตรัสถึงประสบการณ์ของตนเอง สมัยที่เป็นพระโพธิสัตว์ ยังไม่ตรัสรู้ พยายามทำความเพียรเพื่อการพ้นทุกข์ พระองค์ตรัสว่าตอนที่ยังทำความเพียรใหม่ๆ แม้พระองค์จะรู้ว่า ความสงบและเนกขัมมะเป็นสิ่งดี เนกขัมมะคือการปลอดโปร่งจากกาม การว่างเว้นจากกาม และการไม่ปรนเปรอด้วยกาม กามก็คือ รูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสที่น่าใคร่น่าพอใจ
ทำไมพระองค์จึงเห็นความสงบและเนกขัมมะเป็นสิ่งดี แต่พระองค์ก็ยอมรับว่าใจของพระองค์ไม่ได้แล่นไป ไม่ได้เลื่อมใส ไม่ได้ตั้งมั่นในเนกขัมมะ เพราะอะไร เพราะว่าพระองค์ยังไม่เห็นชัดเจนถึงโทษของกาม แล้วก็ยังไม่บรรลุถึงอานิสงส์ของเนกขัมมะ ไม่เห็นโทษของกามไม่ใช่หมายถึงว่าไม่รู้ว่ากามมีโทษ แต่ว่ายังไม่ได้สัมผัสถึงโทษของมัน จนซาบซึ้งจนเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่เต็มไปด้วยโทษ เต็มไปด้วยเป็นของร้อน
แต่ที่สำคัญ ก็คือว่า การได้สัมผัสหรือบรรลุถึงอานิสงส์ของเนกขัมมะ อันนี้เป็นตัวที่ขาดหรือเป็นปัจจัยสำคัญมาก มันหมายถึงว่าได้สัมผัสถึงความสงบและความสุขจากการบำเพ็ญเนกขัมมะ ตราบใดที่พระองค์ยังไม่ได้สัมผัสกับความสุขจากเนกขัมมะ หรือการปลอดโปร่งจากกาม
ซึ่งก็คือความสุขจากความสงบ พระองค์ก็ยังไม่ได้มีใจเลื่อมใสไปในการบำเพ็ญเนกขัมมบารมี ต่อเมื่อพระองค์ได้สัมผัสถึงความสุขหรือความสงบจากเนกขัมมะ จากการที่ปลอดโปร่งจากกาม ว่างเว้นจากกาม และมีความสุขอย่างอื่นมาแทนที่คือความสงบ ตรงนี่แหละทำให้ใจของพระองค์เลื่อมใสน้อมไปในการบำเพ็ญเนกขัม จนกระทั่งทรงบรรลุถึงพระนิพพานได้
แล้วก็มีตอนหนึ่งที่พระองค์ตรัสถึงประสบการณ์ตอนที่ยังบําเพ็ญเพียรใหม่ๆ ว่า แม้พระองค์จะรู้ว่ากามมีโทษเป็นของร้อน แต่ตราบใดที่พระองค์ยังไม่สามารถจะเข้าถึงความสงบจากฌานหรือจากการทำสมาธิภาวนาไม่ว่าจะเป็นฌาน 1 ฌาน 2 หรือว่าจากความสงบที่ยิ่งกว่าฌาน ตราบใดที่ยังไม่สงบจากการบำเพ็ญสมาธิภาวนา ก็จะต้องหวนกลับไปหากาม หวนกลับไปหาความสุขจากรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสที่น่าใคร่น่าพอใจอีก
ต่อเมื่อพระองค์ได้สัมผัสถึงความสงบ หรือความสุขจากการบำเพ็ญสมาธิภาวนา ไม่ว่าจะเป็นฌานสุข หรือเนกขัมมสุข พระองค์จึงจะสามารถละทิ้งตามได้ คือไม่โหยหาไม่อาลัยในความสุขจากกามอีก เพราะพบด้วยตัวเองว่า มันเป็นความสุขชั้นต่ำ มันมีความสุขที่ประเสริฐกว่านั้น
คนเราเมื่อได้สัมผัสความสุขที่ประเสริฐกว่า ความสุขที่ต่ำกว่า มันก็ทิ้งไปได้ อย่าว่าแต่ความสุขทำใจเลย ความสุข หรือความเอร็ดอร่อยแบบโลกๆ อย่างสมัยเด็กๆเราอาจจะชอบกินขนม เช่น กล้วยแขกกล้วยทอด มันเยี่ยมมาก อร่อยมากเลย แต่พอโตขึ้นมาแล้วได้กินขนมที่มันอร่อยกว่า เราก็เลยเมินเลยกับกล้วยทอดกล้วยแขก ไปติดใจแฮมเบอร์เกอร์ หรือว่าขนมอย่างอื่นมากกว่า เพราะว่ามันอร่อยกว่า
ขนาดความสุขทางโลก ความสุขแบบความเอร็ดอร่อยทางกาม เราก็ยังเมินเฉยได้ถ้าหากว่ามันเป็นความอร่อยที่ด้อยกว่า ในทางธรรมก็เหมือนกันเมื่อได้สัมผัสกับความสุขที่ประณีต เช่น ความสุขจากความสงบ
ความสุขจากสมาธิภาวนา จากเนกขัมมะ อารมณ์ความรู้สึกที่ได้สัมผัสกับความสุขอย่างนี้ มันทำให้จิตใจไม่โหยหาความสุขแบบหยาบๆอีก ไม่ว่าจะเป็นการกินการเสพทางตาทางจมูกทางลิ้น
กามที่ว่านี้ มันมีความหมายกว้าง อาหารที่อร่อย เพลงที่เพราะ หนังที่สนุก หรือว่ากลิ่นที่หอมก็กาม ซึ่งมันก็สามารถจะเย้ายวนจิตใจของผู้คนได้ ตราบใดที่ไม่รู้จัก หรือไม่สามารถสัมผัสความสุขที่ประณีตกว่าได้ โดยเฉพาะความสุขทางใจ ความสุขจากความสงบ ความสุขจากชีวิตที่เรียบง่าย หรือว่าความสุขจากสมาธิภาวนา อันนี้เป็นหลักที่สำคัญที่คนเราจะทำสิ่งดี หรือว่าสามารถจะดำเนินชีวิตที่ดีงามให้ก้าวหน้าต่อไปได้ จนถึงขั้นพ้นทุกข์ไปเลย
เพราะฉะนั้น เวลาที่เราคิดที่จะทำความดี หรือว่าเราอยากจะแนะนำชักชวนให้ใครทำความดี โดยเฉพาะคนที่เป็นพ่อแม่ก็อยากจะชักชวนให้ลูกให้หลานทำความดี เช่น ขยันหมั่นเพียรในการศึกษาหาความรู้ การที่จะชี้ให้เห็นถึงคุณประโยชน์ของสิ่งดีๆเหล่านั้น ว่าศึกษาความรู้มาแล้ว มันจะทำให้มีวิชาติดตัว อนาคตที่มั่นคง มันก็ดีอยู่ แต่มันไม่พอ หรือแม้แต่ชี้ให้เขาเห็นโทษของความเกียจคร้าน โทษของการมัวแต่กินดื่มเที่ยว หรือโทษของอบายมุข อย่าไปยุ่ง อย่าไปข้องเกี่ยวกับมัน เท่านี้ไม่พอนะ
มันต้องช่วยทำให้เขาได้เกิดความรู้สึกที่ดีจากการทำสิ่งนั้นด้วย เช่น มีความสุขจากการศึกษาหาวิชาความรู้ มีความสุขจากการเรียน ความรู้สึกที่ดีๆอย่างนี้ มันจะเป็นตัวช่วยหล่อเลี้ยง ทำให้เกิดความขยันหมั่นเพียรในการศึกษาหาความรู้ได้ มันไม่ใช่เฉพาะการศึกษาหาความรู้อย่างเดียว การทำงานก็เหมือนกัน ไม่ว่าเราจะทำงานอะไรก็ตาม โดยเฉพาะการประกอบอาชีพ คนเรานี้จะทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยความขยันหมั่นเพียรได้
มันไม่ใช่มีความตั้งใจดีอย่างเดียว หรือว่าไม่ใช่เพียงแค่รู้ว่าสิ่งที่เราทำนั้นมันดี แต่ยังต้องมีอารมณ์ความรู้สึกดีๆเป็นตัวหล่อเลี้ยงด้วย เช่น ฉันทะ ฉันทะคือความอยากทำ ความอยากมี 2 อย่าง อยากเสพ กับอยากทำ อยากเสพเพราะตัณหา อยากทำก็ฉันทะ ที่อยากทำก็เพราะว่าอยากให้เกิดสิ่งดีๆขึ้นมาในสิ่งที่เราเป็นข้องเกี่ยวด้วย เช่น จะให้งานที่ทำนี้มันเป็นไปด้วยดี
เมื่ออยากให้งานมันดี ก็เลยมีความสุขที่ได้ทำงานนั้น มีความสุขที่จะทำให้งานมันดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าเพราะเป็นงานของฉัน อันนั้นเป็นเรื่องของตัณหาแล้ว ตัณหาเป็นเรื่องของความสนองตัวกู แต่ฉันทำนี่มันเป็นการอยากทำเพื่อทำให้เกิดความดีงาม เรียกว่าเต็มตามสภาวะของมัน
คราวนี้เมื่อมีฉันทะในการทำงานแล้ว มันก็เกิดความสุขเมื่อได้ทำ อาจจะเกิดความภาคภูมิใจตามมาด้วย เมื่อได้ทำสิ่งที่ยาก อันนี้ก็เป็นอารมณ์ความรู้สึกฝ่ายดี ซึ่งถ้าหากว่าได้สัมผัสกับความรู้สึกแบบนี้ มันก็ทำให้เกิดความเพียรในการทำงานโดยที่ไม่สนใจ หรือไม่ให้ค่ากับผลตอบแทนมากเท่าไหร่ พอมีความสุขจากการทำงานแล้ว มันก็ทำให้ใจไม่โหยหาความสุขจากการกินดื่มเที่ยว หรือว่าความสุขจากการเสพ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของความเกียจคร้าน
เพราะว่าถ้าใจมันโหยหาความสุขจากการกินดื่มเที่ยว มันก็ไม่อยากทำงานหรอก แต่ยิ่งกว่านั้นพอใจมันโหยหาความสุขจากการเสพการกินการเที่ยวการเล่นแล้ว มันก็ต้องใช้เงินเยอะ พอใช้เงินเยอะก็ทำให้เป็นบ่อเกิดของการคอรัปชั่นก็ได้ หรือชักนำไปสู่การกู้หนี้ยืมสิน พอมีหนี้สินมากก็ต้องเล่นการพนัน พอเล่นการพนัน ในที่สุดก็อาจจะทุจริตคอรัปชั่น
ทุกวันนี้คนก็รณรงค์เรื่องการคอรัปชั่นว่าไม่ดีอย่างนั้นไม่ดีอย่างนี้ ทำให้เป็นบาปตกนรก แต่ว่าเท่านี้มันไม่พอหรอก คนก็รู้ว่ามันไม่ดี แต่มันห้ามใจได้ยาก เพราะว่าใจมันอยากเสพอยากเที่ยว แล้วก็จำเป็นต้องมีเงิน ถ้ารายได้ไม่พอ ก็ต้องทุจริตคอรัปชั่น ถึงแม้บางคนอาจจะกลัวบาปก็จะไปเล่นการพนันแทน หรือว่าไปเสี่ยงโชค แต่สุดท้ายก็วกกลับมาสู่การทุจริตคอรัปชั่นได้ง่าย
อันนี้ มันก็มีต้นเหตุมาจากใจที่มันใฝ่หาความสุขจากการเสพ จากการกิน การเที่ยว การเล่น มันก็คือกามสุขนั่นแหละ อันนี้เป็นความรู้สึกฝ่ายที่ไม่ดีซึ่งมันคอยบั่นทอนให้คนเราไม่สามารถจะทำความดีได้ แม้ตั้งใจจะทำความดีก็ตาม แต่ถ้ามันมีความสุขกับการทำงาน มาเป็นตัวหล่อเลี้ยง มันก็สามารถที่จะมาทดแทนความสุขที่หยาบๆได้ ทำให้ใจไม่ไปโหยหาความสุขแบบนั้น มันก็ทำให้การทำงานเป็นไปด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เป็นไปด้วยความขยันหมั่นเพียรได้
ไม่ใช่เพียงแค่การหาทำงานหรือการประกอบอาชีพเท่านั้น การทำความดีเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นก็เหมือนกัน การทำความดีเพื่อส่วนรวม เราจะทำได้อย่างยั่งยืน ต่อเนื่อง ก็เพราะมีความสุขเป็นตัวหล่อเลี้ยงเป็นเพราะว่าได้อารมณ์ความรู้สึกที่ดีๆ มาเป็นตัวชักนำให้ทำสิ่งนั้นได้ต่อเนื่อง เช่นอะไรบ้าง เช่น ความภาคภูมิใจ ความปลาบปลื้มใจ
พอเราทำแล้วมันเกิดความภาคภูมิใจ ความปลาบปลื้มใจ หรือว่าเกิดความอิ่มเอิบ อันนี้ทำให้เกิดกำลังใจ หรือเกิดความเพียรในการที่จะทำสิ่งเหล่านั้นไปได้เรื่อยๆ ถึงแม้ว่ามันจะเหนื่อยกาย แต่ว่าก็สุขใจ ถ้าเราทำความดีด้วยเจตนาที่ดี ความรู้สึกดีๆย่อมเกิดขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งเรียกรวมๆว่าความสุขที่คนเราไม่สังเกต จนกว่าจะมีเหตุการณ์บางอย่างทำให้เอะใจ
อย่างมีผู้หญิงคนหนึ่งเป็นไมเกรน ต้องกินยาทุกวันเพราะปวดไมเกรน ตอนหลังไปเป็นจิตอาสาที่บ้านปากเกร็ดดูแลเด็ก เป็นพี่เลี้ยงเด็กอาทิตย์ละ 2 วัน แกก็ทำด้วยความตั้งใจ ทำไม่ได้สัก 2-3 อาทิตย์ ก็เอะใจขึ้นมาว่า ทำไมระยะหลังมานี้ไม่ได้กินยาระงับปวดเลย ทำไมถึงไม่ได้กินยา เพราะลืม ทำไมถึงลืม เพราะมันไม่ปวด ทำไมไม่ปวด เพราะมันมีความสุขกับการที่ได้ดูแลเด็ก ความสุขเกิดขึ้นแต่ไม่รู้นะ จนกระทั่งมาสังเกตว่า เราไม่ได้กินยามา 2 3 วันแล้ว
แต่ถ้าคนเราหมั่นสังเกต ก็จะพบว่าเวลาเราทำความดี เช่น ช่วยเหลือผู้อื่น มันมีความสุข แต่ถ้าไม่สังเกตก็ไม่รู้ พอไม่รู้ อาจจะไม่ซาบซึ้งเห็นคุณค่าของความดี แต่พอได้เห็นว่าทำแล้วมีความสุข มันก็เกิดเรี่ยวแรง เกิดแรงผลักดันในการทำความดียิ่งขึ้นไป และยิ่งทำก็ยิ่งสูุข มันไม่ใช่แค่การประกอบอาชีพ การทำงานหรือการช่วยเหลือผู้อื่น แม้แต่การทำสมาธิภาวนา อันนี้ก็ต้องอาศัยความรู้สึกดีๆมาเป็นตัวหล่อเลี้ยงด้วย
ขนาดพระพุทธเจ้ายังต้องอาศัยความสงบ และความสุขจากสมาธิภาวนา เป็นตัวขับเคลื่อนหล่อเลี้ยงให้บำเพ็ญเนกขัมมบารมีได้ รวมทั้งทำให้สามารถที่จะออกจากกามได้ แล้วปุถุชนคนธรรมดาอย่างพวกเรานี้ยิ่งต้องอาศัยความรู้สึกดีๆอย่างนั้น มาเป็นตัวชักนำ และก็เป็นตัวหล่อเลี้ยงการทำสมาธิภาวนา ยิ่งเป็นนักบวช เรียกว่าใช้ชีวิตแบบพรหมจรรย์ บำเพ็ญเนกขัมมบารมีด้วยแล้วนี้ มันยิ่งต้องอาศัยความสงบทางใจเป็นตัวหล่อเลี้ยงชีวิตพรหมจรรย์
เพราะธรรมชาติจิตใจคนเราต้องการความสุข ถ้าไม่ได้ความสุขจากความสงบหรือความสุขทางใจนี้ มันก็ง่ายที่จะหันไปหาความสุขแบบหยาบๆ แบบความสุขจากวัตถุ ความสุขจากการเสพหรือกามคุณ ซึ่งอันนี้พระพุทธเจ้าสมัยที่พระองค์เป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์เห็นชัดเลยว่า มันจำเป็นมากเลย ถ้าจะถอยห่างจากกามหรือว่าหันหลังให้กามแล้ว มันต้องมีความสุขจากสมาธิภาวนา จากเนกขัมมะเป็นตัวหล่อเลี้ยง
มันมีความรู้สึกดีๆที่ช่วยส่งเสริมการปฏิบัติธรรมหลายตัว ซึ่งเรียกรวมๆว่าความสุข นอกจากฉันทะที่ว่าไปแล้วคือปราโมทย์ ความหมายที่เคยพูดไปแล้ว ความร่าเริง ความเบิกบาน ความแช่มชื่น ปราโมทย์นำไปสู่ปิติ ปิติคือความอิ่มเอิบใจ และจากปิติ ก็นำไปสู่ปัสสัทธิ ความผ่อนคลายรื่นสบายทั้งกายและใจ แล้วก็นำไปสู่สุข
สุขคือความชุ่มฉ่ำใจ แล้วก็นำไปสู่สมาธิ อารมณ์ความรู้สึกฝ่ายดีตรงนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับการปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เป็นนักบวช หรือว่าผู้ที่ต้องการบำเพ็ญชีวิตที่เรียกว่าเนกขัมมะ ถ้าหากว่าเริ่มต้นกับฉันทะ คือความความอยากทำ ความพอใจที่ได้ทำ มันก็จะเป็นตัวเปิดให้เกิดความรู้สึกดีๆอื่นๆตามมา คือปราโมทย์ ปิติ ปัสสัทธิ การทำสมาธิภาวนามันก็เป็นสิ่งที่ช่วยกล่อมเกลา ช่วยพัฒนาความรู้สึกดีๆให้เกิดขึ้นได้
ถึงแม้ใหม่ๆมันจะยาก ใหม่ๆมันจะต้องใช้ความเพียร บางทีก็ถูกนิวรณ์ครอบงำ แต่ว่าถ้าหากเพียรพยายาม ถ้าทำถูกวิธี มันก็จะได้ความสงบ แต่ก็ต้องวางใจให้ถูก เพราะว่าถ้าไปติดสงบ มันก็เกิดปัญหา หรือถ้าไปคาดหวังความสงบตั้งแต่แรก ก็จะเกิดความเครียด ถ้าวางใจถูก อารมณ์ความรู้สึกฝ่ายดีมันก็เกิดขึ้นมาได้ง่าย แล้วก็ค่อยๆขับเคลื่อนแล้วก็ชักนำให้เราทำความดี รวมทั้งหล่อเลี้ยงให้ทำสิ่งนั้นไปได้อย่างต่อเนื่อง
เพราะฉะนั้น เราจะมองข้ามความสำคัญของอารมณ์ความรู้สึกนี้ไม่ได้เลย ถึงแม้ว่าในยุคนี้เราจะพูดถึงเรื่องของการมีความรู้มากๆ มีความรู้ถูกรู้ผิด หรือว่ามีเหตุมีผล แต่ว่าเราก็ทิ้งอารมณ์ความรู้สึกไม่ได้ ที่เป็นปัญหาคือเราไม่ได้พัฒนาอารมณ์ความรู้สึกฝ่ายดีขึ้นมา มันก็เลยเกิดความรู้สึกอารมณ์ของฝ่ายไม่ดีที่คอยคอยถ่วงคอยหน่วง หรือว่าคอยขัดขวางการทำความดี ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นการศึกษาหาความรู้ การเรียนการทำงาน หรือการปฏิบัติธรรม
สิ่งสำคัญไม่ใช่การปฏิเสธอารมณ์ความรู้สึก แต่ว่าต้องพัฒนาอารมณ์ความรู้สึกฝ่ายดีขึ้นมา เพื่อส่งเสริมให้การทำความดี หรือทำสิ่งดีงามนั้นเป็นไปได้ ซึ่งสามารถจะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ได้เลย ถ้าหากว่าเป็นอารมณ์อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าคือปราโมทย์ เธอผู้มากด้วยปราโมทย์ ย่อมทำความทุกข์ให้หมดไปได้
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 3 ตุลาคม 2564