แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เวลาเราไปกินอาหารที่ภัตตาคาร หรือร้านที่เขามีบริการบุฟเฟต์ เราต้องจ่ายเงินก่อน เสร็จแล้วก็ไปเลือกตักอาหาร จะไปตักอะไรก็ได้ เท่าไหร่ก็ได้ มีโต๊ะเรียงหลายตัวทีเดียว มีการทดลอง สมมุติว่า มีโต๊ะที่เป็นโต๊ะสลัดผัก มีเห็ดราคาแพงแต่ไม่ค่อยอร่อย กับมีถั่วราคาไม่แพงแต่ว่าอร่อย เราจะเลือกตักอะไร ถ้าหากว่าตักได้แค่อย่างเดียว
เขาพบว่า คนจำนวนไม่น้อยราว 1 ใน 3 ก็ว่าได้ จะตักเห็ดมากกว่า ทั้งๆที่ไม่อร่อยเท่าถั่ว แต่เพราะว่ามันแพงกว่าถั่ว ที่เขาตักเห็ดไม่ใช่เพราะว่าพอกินเข้าไปแล้วมันอร่อยหรือมีความสุข แต่ว่าเขารู้สึกว่าคุ้มค่ากว่า ถ้าตักถั่วมันอร่อยจริง แต่ว่าเขารู้สึกว่าไม่คุ้มค่า
หลายคนก็เลือกตักอาหารที่ราคาแพงทั้งๆที่ไม่อร่อย เพราะความรู้สึกว่ามันคุ้มค่ากว่า หรือพูดอีกอย่างหนึ่ง คือว่ามันกำไร ถ้าไม่ใช่เพียงแต่คุ้มค่า มันกำไร ก็จะตักเลย ตักเยอะๆ กินหมดหรือเปล่าไม่รู้ แต่ตักไว้ก่อน เพราะว่ารู้สึกคุ้มค่า หรือเพราะว่ารู้สึกว่ามันกำไร จ่ายไป 300 จะตักถั่วราคาถูกๆได้ยังไง ก็ต้องตักเห็ดที่มันราคาแพง ตักที่มีมูลค่าเกิน 300 ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ อร่อยหรือไม่อร่อย ก็ตักไปก่อน แล้วจะกินหรือกินไม่หมด ก็ไม่เป็นไร
อันนี้ก็น่าคิด ว่าทำไม คนจำนวนไม่น้อยตักอาหารด้วยเหตุผลว่า มันคุ้มค่ามากกว่า หรือเพราะว่ามันกำไรมากกว่าที่จะเป็นเพราะว่ามันอร่อย อย่างนี้จะเรียกว่าให้ความสำคัญกับเม็ดเงินมากกว่าคุณค่า มากกว่าความสุขก็ได้ ความอร่อยมันก็เป็นความสุขชนิดหนึ่ง แต่ว่าคนจำนวนไม่น้อย เลือกที่จะให้ความสำคัญกับเม็ดเงินคือกำไร หรือความคุ้มค่า มากกว่าความอร่อยหรือความสุข
อันนี้ก็คงไม่ต่างจากถ้าจะให้เลือกระหว่าง ทำงานแห่งหนึ่งได้เงินเดือน 5 แสน แต่ว่าต้องทำงานหนักเสาร์อาทิตย์อาจจะไม่ได้พักเลย อาจจะไม่มีเวลาได้อยู่กับครอบครัว หรือ อีกแบบหนึ่ง ทำงานอีกที่หนึ่งหรือตำแหน่งหนึ่ง ได้เงินเดือน 2 แสน แต่ว่ามีเวลาพัก มีเวลาได้อยู่กับครอบครัว มีเวลาที่จะได้ไปเที่ยวในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์เสาร์อาทิตย์ จะเลือกอะไร
จำนวนไม่น้อยเลย คนส่วนใหญ่ก็ว่าได้ เลือกแบบแรกได้เงินเดือน 5 แสน แต่ว่าทั้งๆที่รู้ว่า มันอาจจะเครียด ไม่ค่อยมีความสุข น้อยคนที่จะเลือกแบบ 2 ได้เงินเดือนน้อยกว่า แต่มีความสุข มีเวลาผ่อนคลาย อันนี้เพราะอะไร เพราะคนให้คุณค่ากับเงินมากกว่าความสุข
กลับมาเรื่องถั่วกับเห็ด มีหลายคนเขาเลือกที่จะให้ความสำคัญกับเม็ดเงินคือ ความคุ้มค่า หรือว่าอาจถึงขั้นว่ากำไร มากกว่าความสุขจากการได้กินของที่อร่อย หรือของที่ถูกปาก ที่จริงแล้ว การเลือกกินของที่อร่อย ถูกปาก หรือให้ความสุขกับเรา อันนี้อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการกินของที่เรารู้สึกว่ามันคุ้มค่าหรือว่าได้กำไร
แต่ที่จริงมันมีดีกว่านั้น กินเพื่อสุขภาพมากกว่าความอร่อย ความอร่อยก็เป็นความสุขชนิดหนึ่ง แต่ว่ามันก็เป็นความสุขชั่วคราว สุขตอนที่กินนั่นแหละ แต่พอกินอิ่มแล้วมันก็ไม่สุขแล้ว และมิหนำซ้ำอาจจะเกิดโทษก็ได้ ถ้าเรากินแต่ของที่อร่อย เพราะคิดว่ามันให้ความสุข แต่ถ้าเรากินเยอะๆกินเป็นนิจ มันก็จะเกิดความเจ็บความป่วยขึ้นได้ กินของหวานมากๆ กินอาหารที่มีไขมันเยอะๆมีเนื้อชิ้นใหญ่ๆโตๆอร่อย แต่ว่ามันทำให้เกิดความเจ็บป่วยได้ในระยะยาว เรียกว่าสุขชั่วคราว แต่ว่าทุกข์ยาวนาน
อร่อย เป็นความสุขที่เกิดขึ้นขณะที่กิน มันก็ไม่นาน อาจจะครึ่งชั่วโมง 15 นาที แต่ถ้าเกิดเจ็บป่วย มันเจ็บป่วยทั้งวันทั้งคืนเลย เช่น เป็นโรคหัวใจ เป็นโรคเบาหวาน มันไม่ใช่ว่าเจ็บป่วยเป็นพักๆ วันหนึ่ง 15 นาที 20 นาที นั่นไม่ใช่ มันป่วยทั้งวัน เกิดทุกขเวทนาทั้งวันทั้งคืน แล้วก็ไม่ใช่แค่วันเดียว มันต่อเนื่องเป็นเดือนเป็นปีเลย ถ้าดูมันก็ไม่คุ้ม
เมื่อเทียบกับว่ากินเพื่อสุขภาพ แม้ว่ามันจะไม่อร่อย แต่ว่ามันไม่ทำให้เจ็บป่วยในระยะยาว อาจจะกินอาหารที่เป็นผัก อาหารที่มีไขมันหรือว่าน้ำตาลน้อย มันก็ทำให้สุขภาพดี แม้ว่าจะไม่อร่อย ไม่ถูกปาก ก็เรียกว่ามันมีความสุขที่ยืนยาวกว่า เพราะว่ามันหมายถึงความไม่เจ็บไม่ป่วย ที่ยืดเยื้อเรื้อรัง มันหมายถึงการมีกำลังวังชาที่ทำอะไรต่ออะไรได้สะดวก ถึงแม้ว่ามันจะไม่หวือหวา ไม่กำซาบเท่ากับรสชาติที่เอร็ดอร่อย
เพราะฉะนั้น ถ้าให้เลือกระหว่างกินเพราะว่าคุ้มค่า กับกินเพราะว่ามันให้ความสุขคือความเอร็ดอร่อย เราควรเลือกอย่างหลัง แต่ถ้าจะให้เลือกระหว่างความเอร็ดอร่อยกับการมีสุขภาพดีนี้ ซึ่งก็เป็นความสุขทั้งคู่ แต่สุขคนละแบบ อร่อยนี้สุขชั่วคราวแต่ทุกข์ยาวนาน อาหารสุขภาพดีอาจจะไม่ค่อยอร่อย จืด แต่ว่ามันให้ความสุขที่ยั่งยืน เราก็ควรจะเลือกอย่างหลัง
อันนี้คือเหตุผลเวลาพระเราจะฉันอาหาร ก็มีการพิจารณาก่อน พิจารณาเพื่อเตือนใจว่าเรากินเพื่ออะไร ไม่ได้กินเพื่อความเอร็ดอร่อย ไม่ได้กินเพื่อทรวดทรงรูปร่างหน้าตา หรือความโก้ความเก๋ ความโก้ความเก๋หมายความว่า ไปกินอาหารร้านอาหารหรูๆราคาแพงเพื่ออวดความมั่งมีเพื่อหน้าเพื่อตา แต่กินเพื่อสุขภาพ เพื่อบำบัดทุกขเวทนาเก่า แล้วก็ไม่สร้างทุกขเวทนาใหม่ ทุกขเวทนาใหม่คือความจุก ความอึดอัดหรือรวมไปถึงความเจ็บป่วยในระยะยาวก็ได้
เพราะฉะนั้นเราชาวพุทธผู้ใฝ่ธรรม เราต้องรู้จักพิจารณาว่าอะไรคือสิ่งที่ดีงาม ซึ่งก็มีอะไรหลายระดับ ระหว่างความสุขกับเม็ดเงิน เราก็ควรให้ความสำคัญกับความสุขมากกว่า แต่ระหว่างความสุขเพราะความเอร็ดอร่อยกับความสุขเพราะมีสุขภาพดี เราก็ควรจะเลือกอย่างหลัง
แต่สุขภาพดีก็ยังไม่สำคัญเท่ากับความสุขทางใจ สุขกายแต่ว่าใจไม่สุขนี่ มันก็สู้ใจที่เป็นสุขไม่ได้ แม้ว่าร่างกายจะเจ็บป่วยอ่อนแอ ถ้ารู้จักลำดับความสำคัญของความสุขได้ มันก็จะทำให้เราใช้ชีวิตได้ถูกต้อง แล้วก็มีชีวิตที่ดีงาม
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 3 ตุลาคม 2564