แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีเสือดาวตัวหนึ่งถูกเลี้ยงไว้ในสถานีวิจัยแห่งหนึ่งในอเมริกา เสือดาวตัวนี้อายุยังไม่มาก ยังสาวอยู่ ทุกวัน ก็จะมีเจ้าหน้าที่โยนเนื้อให้เจ้าเสือดาวตัวนี้ วันหนึ่งก็มีคนโยนเนื้อให้เสือดาวตัวนี้เช่นเคย ปรากฏว่าอยู่ๆก็มีหนูตัวหนึ่งตรงเข้ามากินเนื้อนั้น มันตั้งใจกินอย่างเอร็ดอร่อยมาก เสือดาวทีแรกก็แปลกใจ คงเพราะไม่เคยเห็นหนู สักพักมันก็ดมตัวหนู แล้วก็ถอยหลัง คงเพราะกลัว
ส่วนหนูก็ไม่สนใจยังคงแย่งกินเนื้อต่อไปเรื่อยๆ แม้ว่าต่อมาเสือมันจะเอาหัวรุนตัวหนูให้ออกไปจากเนื้อ หนูก็กลับมากินต่อ ไม่สนใจ ไม่มีความกลัวเสือตัวนั้นเลย มันก็กินอยู่นั่นแหละ สุดท้ายเสือก็ยอมแพ้ นั่งดูหนูตัวนี้มันกินเนื้อก้อนนั้น กินจนอิ่ม แล้วค่อยจากไป เหตุการณ์นี้มีนักศึกษาคนหนึ่งถ่ายเอาไว้ เพราะกำลังศึกษาพฤติกรรมของเสือตัวนี้
เป็นเหตุการณ์ที่แปลกดี เสือนี่ปกติมันก็มีธรรมชาติที่ดุร้าย แต่ว่าพอมาเจอหนูตัวนี้กลับอ่อนโยนหรือว่ากลับไม่ได้มีอาการดุร้ายเท่าไหร่ แต่ที่แปลกกว่านั้นคือ ตัวหนูนี่แหละ หนูตัวมันเล็กกว่าเสือหลายเท่า แล้วก็ไม่มีอาวุธอะไรเลย แต่มันก็ไม่กลัวเสือ ไม่มีทีท่ายี่หระหรือว่าสนใจในตัวเสือนี้เลย ขณะที่มันกินอาหารของเสือตัวนี้
เหมือนกับแสดงว่า ฉันไม่กลัวเธอ และฉันไม่สนใจด้วย จะมาทำอะไรฉัน ฉันก็ไม่สนใจ ฉันจะกินสักอย่าง ใครจะมาทำอะไรฉัน แม้ตัวเธอจะใหญ่กว่าฉัน ฉันก็ไม่กลัว นักศึกษาคนนี้บันทึกภาพ บรรยายเหตุการณ์ เสร็จแล้วแกก็สรุปมาประโยคหนึ่งน่าสนใจ ว่าไม่มีใครบังคับให้เราทำอะไรได้ ถ้าเราไม่ยินยอม เสือจะบังคับให้หนูทิ้งก้อนเนื้อ แต่ว่าหนูไม่ยอมทำตามสักอย่าง พอหนูไม่ยินยอมแล้ว เสือก็ทำอะไรไม่ได้
เมื่อเอามาพิจารณาดู ก็เป็นความจริง คนเรานี้ไม่มีใครบังคับให้เราทำอะไรได้ ถ้าเราไม่ยินยอม ถ้าจะยินยอมก็เพราะว่าเชื่อฟัง หรือเพราะกลัว ความกลัวก็เป็นเหตุผลที่ทำให้คนเรายินยอมทำตามคำสั่งของใครก็ตาม การบังคับให้ใครทำอะไรนี้มันเกิดขึ้นได้เมื่ออีกฝ่ายยินยอม
มีคนหนึ่งพูดไว้ดี เขาบอกว่า อำนาจเกิดจากการยอมรับ คนมีอำนาจได้เนี่ย เพราะว่าอีกฝ่ายหนึ่งยอมรับ เช่น เชื่อฟัง หรือเพราะกลัว หรือคิดว่าเขามีอำนาจจริงๆ แต่ถ้าไม่ยอมรับ ไม่เชื่อฟัง ไม่ทำตาม คนๆนั้นก็ไร้อำนาจ แม้ว่าคนๆนั้นจะมีรูปร่างใหญ่โต หรือมีอาวุธ ก็เหมือนเสือตัวนี้มันเหมือนมีอำนาจ แต่ก็ไม่สามารถบังคับให้หนูเลิกกินเนื้อได้ เพราะหนูไม่ยินยอม เพราะหนูไม่เชื่อฟัง เพราะหนูไม่กลัว
เพราะฉะนั้น ที่เขาพูดว่า ไม่มีใครบังคับให้เราทำอะไรได้ หากเราไม่ยินยอม มันก็มีส่วนจริงอยู่มาก และที่จริงถ้าเรามองให้กว้าง เราก็สามารถจะพูดได้เหมือนกันว่า ไม่มีใครบังคับให้เราทุกข์ได้ ถ้าเราไม่ยินยอมโดยเฉพาะที่เป็นความทุกข์ที่เป็นความทุกข์ใจ ไม่มีใครบังคับให้เราทุกข์ใจได้ หรือไม่มีใครทำให้เราทุกข์ใจได้ถ้าหากว่าเราไม่ยินยอม
เคยพูดไปแล้ว เสียงเกี๊ยะไม่ทำให้ลูกศิษย์หลวงปู่บุดดาหงุดหงิดได้ ถ้าหากว่าเขาไม่เอาหูไปรองเกี๊ยะ หรือว่าเสียงค้อนก็ไม่ทำให้เราหงุดหงิดได้ หรือรำคาญได้ ถ้าเราไม่เอาหูไปรองค้อน ใครจะพูดกับเราอย่างไร จะต่อว่าด่าทออย่างไรก็ไม่ทำให้เราโกรธได้ หรือไม่ทำให้เราหัวเสียได้ ถ้าหากว่าเราไม่ถือ หรือว่าเสียงเพลงไม่สามารถจะมารบกวนการนั่งสมาธิของเราได้ ถ้าหากว่าเราไม่ไปทะเลาะเบาะแว้งกับเสียงนั้น เป็นตัวอย่างที่เคยเล่าให้ฟังมาแล้ว
หรือแม้กระทั่งถูกผู้ชายเอาน้ำกรดสาดหน้า ก็ไม่ทำให้เค้กโกรธหรือเป็นทุกข์ได้ เพราะว่าเขาปล่อยวาง แล้วเขายังขอบคุณการกระทำนั้นๆด้วย อันนี้ก็เล่าให้ฟังเมื่อวาน ขนาดถูกน้ำกรดสาดหน้าจนเสียโฉม แต่ว่าเธอก็ไม่ได้โกรธ ทีแรกจะโกรธ แล้วก็เสียใจ จนกระทั่งเกือบจะฆ่าตัวตาย แต่ตอนหลังก็ไม่โกรธ แถมจะขอบคุณเขาเสียอีก ที่ทำให้เธอได้เรียนรู้หลายอย่าง รวมทั้งได้รู้จักปล่อยวางในสิ่งที่เป็นหน้าตา หรือว่าความสวยงาม
นี่ถ้าเราพิจารณาดู ไม่ว่าใครทำอะไรเรา หากว่าเราไม่ยินยอม ไม่ร่วมมือ เราก็ไม่ทุกข์ แต่ที่เราทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นเศร้าใจ เสียใจ คับแค้นใจ โกรธ หงุดหงิด เป็นเพราะเรายินยอมหรือว่าร่วมมือด้วย อันนี้เป็นความจริงที่เรามักจะมองข้าม เพราะว่าธรรมชาติของคนเราก็ชอบส่งจิตออกนอก ไม่ค่อยได้กลับมามองที่ใจของตัว หรือว่าใคร่ครวญ เพื่อที่จะสังเกตว่าความทุกข์มันเกิดจากอะไรกันแน่
การที่ส่งจิตออกนอก ก็มักจะไปโทษคนนั้นคนนี้ หรือสิ่งนั้นสิ่งนี้ที่ทำให้เราทุกข์ แต่ไม่ได้เห็นเลยว่า การที่ใจของเราไปยึดติดถือมั่นหรือว่าไปปรุงแต่ง หรือว่าไปยินยอมรับเอาอารมณ์ต่างๆเข้ามาบงการจิตใจ คือปล่อยให้อารมณ์เข้ามาครอบงำจิตใจ
จริงๆใครจะทำอะไรเรา แม้จะทำร้ายกายของเรา ก็ไม่สามารถจะทำให้เราทุกข์ใจได้ ถ้าหากว่าเราไม่ร่วมมือด้วย จะพูดอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่า ผู้คนทำร้ายเรา อย่างมากก็ทำร้ายเราแค่ร่างกายหรือว่าทรัพย์สิน แต่ไม่สามารถทำร้ายจิตใจเราได้ คนที่ทำร้ายจิตใจของตัวเราได้ก็คือตัวเรานั่นแหละ อันนี้พูดแบบหยาบๆนะ
เมื่อ 60 กว่าปีก่อน จีนเข้าไปยึดครองประเทศทิเบต เพราะถือว่าเป็นดินแดนของตัว ทิเบตในตอนนั้นก็เป็นประเทศที่เรียกว่านับถือพระพุทธศาสนาอย่างแน่นแฟ้น จีนเป็นคอมมิวนิสต์ เพราะฉะนั้นก็พยายามที่จะทำลายพระพุทธศาสนา ทำลายวัดวาอาราม พระทิเบตจำนวนไม่น้อยก็ถูกจับ โดยเฉพาะถ้าหากว่าไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล เช่น การสอนพระพุทธศาสนา แทนที่จะเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ ตามคำสั่งรัฐบาล
ก็มีพระผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ก็ถูกจับกุมขังเป็นเวลา 20 ปี แล้วก็ถูกทรมานด้วย เพราะว่าท่านไม่ยอมเปลี่ยนใจทิ้งพุทธศาสนา และคงเห็นว่าท่านจะเป็นภัยต่อนโยบายของรัฐบาล แต่ตอนหลังคงเห็นว่าท่านไม่มีพิษไม่มีภัยอะไร ก็เลยปล่อยตัวมา พอท่านได้รับอิสรภาพ ท่านก็หาทางลี้ภัยเข้าอินเดีย ตอนนั้นทะไลลามะท่านลี้ภัยมาอยู่ที่อินเดียแล้ว
พอได้ทราบว่า พระผู้ใหญ่ท่านนี้มาถึงอินเดีย ท่านก็ดีใจแล้วก็ไปต้อนรับเพราะว่าเป็นอาจารย์ของท่าน ก็ได้สนทนากันเกี่ยวกับประสบการณ์ของรินโปเชท่านนี้ ตอนที่ถูกจับกุมคุมขัง แล้วก็มีตอนหนึ่ง ท่านทะไลลามะถามท่านว่า ตอนที่ถูกคุมขัง ท่านกลัวอะไรมากที่สุด แทนที่ท่านจะตอบว่ากลัวการถูกทรมาน ท่านบอกว่า ท่านกลัวจะไปโกรธไปกลียดคนที่ทรมานท่าน เป็นคำพูดที่น่าทึ่งมาก
ท่านกลัวว่าท่านจะโกรธเกลียดคนที่ทรมานท่าน ทำไมล่ะ ก็อาจจะเป็นเพราะว่า ถ้าโกรธเกลียดแล้ว ก็อาจจะทำให้อยากจะทำร้าย แม้กระทั่งการคิดร้ายหรือการพูดร้าย สำหรับท่าน ก็ถือว่าเป็นการผิดศีล และเมื่อผิดศีล มันก็เป็นบาป และเมื่อเป็นบาปแล้วก็จะทำให้มีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจตามมา อีกเหตุผลหนึ่งก็คงเพราะท่านเห็นว่าทหารเหล่านั้นทำร้ายท่านได้แต่ร่างกายแต่ว่าทำร้ายจิตใจท่านไม่ได้
แต่เมื่อใดที่ท่านโกรธเกลียดหรือปล่อยให้ความโกรธความเกลียดครองใจ จิตใจของท่านก็จะทุกข์ทรมาน ท่านคงเห็นว่าถูกทำร้ายแต่กายก็พอแล้วก็หนักหนาแล้ว ไม่ควรซ้ำเติมตัวเองด้วยการปล่อยให้ความโกรธความเกลียดเผาผลาญใจ อันนี้ท่านเห็นเลยว่า ความทุกข์ใจมันไม่ได้เกิดจากคนข้างนอก แม้ว่าเขาจะมาทำร้ายร่างกายของท่าน ความทุกข์ใจเกิดจากการที่ปล่อยให้ความโกรธความเกลียดมันเผาลนจิตใจ
เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากให้ใจทุกข์ ก็ต้องรักษาใจ อย่าให้โกรธอย่าให้เกลียด อันนี้เท่ากับเป็นการชี้ว่าไม่มีใครทำให้เราทุกข์ใจได้ ถ้าหากว่าเราไม่ยินยอม ยินยอมในที่นี้ก็คือ ปล่อยให้ความโกรธความเกลียดมันเผาลนจิตใจ
คนเราอาจไม่สามารถป้องกัน ไม่ให้ความโกรธความเกลียดเกิดขึ้นได้ แต่ว่าเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ก็อย่าให้มันมาเผาลนจิตใจของเรา ต้องรู้จักรักษาใจ ต้องไม่ให้อารมณ์เหล่านั้นมันมาทำร้าย ถ้าไม่ทำอย่างนั้นก็ถือว่ากำลังร่วมมือ หรือยินยอมให้ผู้อื่นมาสร้างความทุกข์ใจกับเรา
แต่รินโปเชท่านนี้ ท่านอาจจะมีความสามารถไม่เพียงแต่รักษาใจไม่ให้ความโกรธความเกลียดมาครอบงำแล้ว ยังอาจจะทำให้ความโกรธความเกลียดเกิดขึ้นในจิตใจไม่ได้เลยก็เป็นไปได้ แต่ถึงแม้ว่าจะเผลอให้ความโกรธความเกลียดเกิดขึ้นในใจ แต่ว่าก็ยังไม่สายที่จะรักษาใจไม่ให้อารมณ์เหล่านั้น มันมาเผาลนจิตใจได้ เมื่อไม่เผาลนจิตใจ ใจก็ไม่ทุกข์ แม้ว่ากายจะถูกทำร้ายเพียงใดก็ตาม
อันนี้ก็เป็นข้อคิดที่ดีมาก ที่ทำให้เราน่าจะตระหนักว่า จริงๆแล้ว คนที่จะทำให้เราทุกข์ใจได้ ก็มีคนเดียวก็คือ ตัวเรา หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า มีสิ่งเดียวที่จะทำให้เกิดความทุกข์ในใจเราได้ ก็คือการวางจิตวางใจที่ไม่ถูกต้อง ไม่ได้อยู่ที่คนอื่นทำอะไรกับเรา ไม่ได้อยู่ที่คำพูด หรือการกระทำ ไม่ได้อยู่ที่ดินฟ้าอากาศ ไม่ได้อยู่ที่เหตุการณ์ที่เรียกว่าอนิฏฐารมณ์ เสื่อมลาภเสื่อมยศ หรือว่าคำนินทาว่าร้าย
ถ้าเราเห็นตรงนี้ เราก็จะตระหนักถึงความสำคัญของการที่จะฝึกใจให้ดี แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่จะยอมรับได้ง่ายๆ เพราะว่าเราก็มักจะมองว่า คนนั้นคนนี้มาทำให้ฉันทุกข์ มาทำให้ฉันเครียดแค้น มาทำให้ฉันโกรธ เพราะเขาทำร้ายฉัน เพราะเขามาด่าฉัน เพราะเขาเอาของฉันไป แต่ถ้าใคร่ครวญให้ดี ก็จะพบว่าคนเหล่านั้นเขาก็ทำได้อย่างมากก็แย่งชิงของรักของเรา หรือทำร้ายร่างกายของเรา แต่ไม่สามารถทำให้ใจเราทุกข์ได้เลย เว้นแต่ว่าเราไปยินยอม ไปร่วมมือ อย่างที่ได้พูดไป
แต่ถึงแม้จะเห็นอย่างที่ว่ามาแล้ว มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะว่าหัวนี้มันรู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด แต่ว่าใจบางทีมันไม่คล้อยตาม อย่างเช่นคนเราส่วนใหญ่ก็รู้ว่าความโกรธนั้นมันไม่ดี มันทำให้เป็นทุกข์ มันทำให้ร่างกายเจ็บป่วยได้ แต่ว่าใจไม่คล้อยตาม แต่ว่าใจทำไม่ได้ที่จะไม่ให้โกรธไม่ให้เกลียด แล้วจะทำอย่างไร
ก็ต้องฝึกใจ ฝึกใจอย่างน้อยๆรู้ทัน ความโกรธ ความเกลียด หรือความทุกข์ เมื่อมันเกิดขึ้นจากการกระทบหรือว่าเมื่อมีเหตุการณ์จากการกระทบหรือว่าเมื่อมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นกับเรา แล้วฝึกใจได้ให้มีสติให้รู้ทันอารมณ์เหล่านี้ มีความเศร้า มีความโกรธ มีความเกลียด เกิดขึ้นแล้วจากการกระทบ ก็ใช้สติรู้ทันมัน ถ้ารู้ทันมันมันก็เหมือนกับว่า จิตมีเครื่องรักษาไม่ให้อารมณ์เหล่านี้มาสร้างความทุกข์ให้กับจิตใจได้
นอกจากรู้ทันแล้ว การที่เราฝึกจิตให้รู้จักเป็นกลางต่ออารมณ์ อันนี้ก็สำคัญที่จริงมันก็คู่กัน เพราะถ้ารู้ทันแล้วใจไม่เป็นกลางต่ออารมณ์นั้น มันก็ถูกอารมณ์นั้นเล่นงาน เพราะถ้าไปผลักไสมันก็เท่ากับว่าเข้าไปอยู่ในอำนาจของมัน ยิ่งไปสู้รบตบมือกับมัน ยิ่งเป็นการให้อำนาจของมันในการมารบกวนรังควานจิตใจของเรา แต่ว่าการที่มีความรู้สึกเป็นกลาง มันต้องใช้สติที่เข้มแข็ง รวดเร็วกว่าการรู้ทัน
ถ้าเรารู้จักวางใจเป็นกลางต่ออารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ ต่อไปมันก็จะขยายไปสู่การวางใจเป็นกลางต่อสิ่งที่มากระทบจากภายนอกได้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำหรือคำพูด ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ต่างๆ การฝึกใจให้เป็นกลาง ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าเกิดขึ้นที่ใจ หรือว่าเกิดจากการกระทบ ที่ตาหูจมูกลิ้นกาย อันนี้เป็นแบบฝึกหัดที่เราควรจะทำสม่ำเสมอ
เพราะว่าถ้าหากเราสามารถที่จะวางใจเป็นกลางต่อสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าเกิดขึ้นภายในหรือจากภายนอก มันก็ช่วยทำให้ใจไม่เป็นทุกข์ รูปกระทบตา แม้จะเป็นรูปที่ไม่น่าพอใจ ไม่อยากเห็น แต่พอเราวางใจเป็นกลางต่อรูปนั้นได้ มันก็ไม่สามารถทำให้จิตใจหวั่นไหวได้ เมื่อเสียงกระทบหู แม้จะเป็นเสียงดัง แต่วางใจเป็นกลางกับมันได้ มันก็ไม่ทำให้เกิดความหงุดหงิด
เราจะหงุดหงิดเราจะเป็นทุกข์กับมันเมื่อเรารู้สึกเป็นลบกับมัน เกิดความยินร้ายต่อรูปรสกลิ่นเสียงที่มากระทบ ความยินร้ายหมายถึงใจที่ไม่เป็นกลางแล้ว ใหม่ๆก็ทำได้ยากในการที่จะทำให้ใจเป็นกลาง แต่สิ่งที่ง่ายกว่าคือการมองเห็นด้านบวกของมัน หรือมองเห็นด้านดีของมัน อันนี้เรียกว่าเป็นการปรุงแต่งทางบวกก็ได้ ซึ่งได้พูดไปแล้วเมื่อ 2-3 วันก่อน
เมื่อมันเกิดขึ้นกับเรา เราก็มองว่า มันมีข้อดีอย่างไรบ้าง ถ้าเราเห็นมันในมุมบวก เราก็ยอมรับมันได้ง่ายเช่น เสียงเลื่อยยนต์มันดังมา พอมองมันว่าเป็นเสียงเพลง ใจไม่ทุกข์เลย ไม่หงุดหงิดแล้ว ไม่ใช่เป็นเสียงรบกวน เสียงลูกแทนที่จะมองว่ามันเป็นเสียงดังรบกวนสมาธิของเรา ก็มองมันว่าเป็นเสียงความสุขของลูก เป็นเสียงสวรรค์ คนที่เป็นแม่ยินดี รู้สึกแบบนี้ ใจมันก็เกิดความยินดี ไม่ทุกข์แล้ว
เสียงของลูกจะดังก็ดังไป แต่ว่าใจของแม่ก็มองว่าเป็นเสียงความสุขของลูก มันก็มีแต่ความพึงพอใจ อันนี้เรียกว่ามองบวกหรือว่าปรุงแต่งในทางบวก
แต่ว่าถ้าเราก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ก็คือว่า รับรู้มันด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่มีบวกไม่มีลบ ไม่มียินดีไม่มียินร้าย สักแต่ว่าได้ยินสักแต่ว่าได้เห็น มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ว่ามันก็เป็นสิ่งที่เราต้องฝึก ก็เพราะมันยาก จึงต้องฝึกอยู่เรื่อยๆ แม้กระทั่งการวางใจเป็นกลางต่อทุกขเวทนาทางกายที่เกิดขึ้น เช่น ความเจ็บ ความปวด ความเมื่อย
เราจะวางใจเป็นกลาง หรือรับรู้มันแบบรู้ซื่อๆได้ยังไง รู้ซื่อๆเมื่อมีความเจ็บความปวดเกิดขึ้น ถ้ารู้ซื่อๆได้ ในการที่จะเห็น ไม่เข้าไปเป็น มันก็เกิดขึ้นได้ง่าย แต่ถ้าไม่รู้ซื่อๆและหรือไม่รู้จักวางใจเป็นกลาง มันก็อดไม่ได้ที่จะเข้าไปผลักไสความเจ็บความปวดนั้น พอเข้าไปผลักไส เกิดผู้ปวดขึ้นมาทันทีเลย ไม่ใช่แค่กายปวด หรือว่าแขนปวด ขาปวด มันมีกูผู้ปวดเกิดขึ้น ก็ยิ่งทุกข์เข้าไปใหญ่ อันนี้แหละใจที่มันทุกข์
ใจทุกข์เพราะมันมีการผลักไสความปวด หรือทุกข์เพราะมีความโกรธที่มีคนมาทำให้เราปวดเราเมื่อย แต่ถ้าหากว่าวางใจเป็นกลางต่อความปวด รวมทั้งรู้ทันความโกรธที่มันเกิดขึ้นใจมันก็เป็นปกติได้ กายทุกข์ แต่ว่าใจไม่ทุกข์ ไม่ว่าใครจะทำให้กายเราทุกข์อย่างไร แต่ว่าใจเราไม่ทุกข์เพราะเหตุนี้ จึงพูดได้ว่าไม่มีใครที่จะทำให้เราทุกข์ใจได้ ถ้าหากว่าเราไม่ยินยอม
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเช้าวันที่ 3 ตุลาคม 2564