แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คนเราตั้งแต่ตื่นนอนจนหลับ เราต้องเกี่ยวข้องกับความรู้แทบจะตลอดเวลา ความรู้ที่ว่ามันไม่ใช่ความรู้จากการอ่านหนังสือ หรือจากการฟังคำสอนคำบรรยายเท่านั้น มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ลิ้นได้รับรส มันก็เป็นความรู้แล้ว เช่น พอรูปกระทบตา เราก็รู้ว่ามีถนนอยู่ข้างหน้า หรือว่าพอเสียงกระทบหู เราก็รู้ว่ามีหมา มีสัตว์อยู่ไม่ไกลจากเรา
อันนี้ก็เป็นความรู้เหมือนกัน มันเป็นความรู้เมื่อเกิดผัสสะขึ้น ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง มันก็เป็นความรู้ทั้งนั้นแหละ และเป็นสิ่งที่สำคัญด้วยสำหรับการดำเนินชีวิต เพราะว่าถ้าตาเรามองไม่เห็นทาง หรือว่าหูเราไม่ได้ยินว่าอาจจะมีสัตว์อันตรายอยู่ข้างหน้าเรา ก็อาจจะเกิดความบาดเจ็บ หรืออันตรายเกิดขึ้นได้
แต่ว่าพร้อมๆกับความรู้ หรือว่าไล่ๆมากับความรู้ มันคือความรู้สึก ความรู้มันแยกไม่ออกจากความรู้สึกหรอก อย่างเช่น นิ้วเราไปถูกไฟ เราก็รู้สึกร้อน ความร้อนก็จัดว่าเป็นความรู้อย่างหนึ่ง เพราะว่า มันไม่เพียงแต่รู้ว่าไฟมันเป็นเปลว แต่เรายังจำเป็นต้องรู้ด้วยว่าไฟมันร้อน แล้วความร้อนมันก็เกิดขึ้นได้จากการที่เรามีความรู้สึก หรือว่าหนามแหลม มองด้วยตา เราก็รู้ว่าหนามมันแหลม แต่รู้เท่านั้นไม่พอ มันต้องรู้สึกด้วย ก็คือเมื่อหนามแหลมไปถูกนิ้วเรา ถูกขาเรา เรารู้สึกเจ็บ เราก็ได้ความรู้ขึ้นมาว่า หนามนี่เราต้องอยู่ห่างๆ เหมือนกับไฟอย่าไปสัมผัสถูกต้องมัน อันนี้ก็เป็นความรู้
พริกเราไม่ได้เห็นด้วยตา แล้วรู้ว่ามันมีสีแดงหรือว่าสีเขียวเท่านั้น แต่ว่าเราต้องรู้สึกด้วย เช่น พอลิ้นสัมผัสกับพริกแล้วมันเผ็ดมันร้อน อันนี้มันก็เกิดความรู้ขึ้นมา เป็นความรู้ที่มาจากความรู้สึก ลิ้นสัมผัสกับเกลือ เราก็รู้เกลือนอกจากเป็นเกล็ดสีขาวๆ มันยังมีรสเค็มด้วย
ความรู้สึกในที่นี้มันไม่ได้หมายถึงเฉพาะว่าร้อน เผ็ด เค็ม อย่างเดียว ยังขยายความหมายไปถึงอารมณ์ด้วย เช่น กินของหวาน รู้สึกหวาน มันเกิดความชอบขึ้นมา อันนี้ก็เป็นความรู้สึกได้ ภาษาไทย หรือว่ามือไปถูกหนาม เจ็บ ไม่ชอบ อันนี้ก็เป็นความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นมาพร้อมๆกับความรู้ คือเมื่อได้สัมผัสแล้วมันเกิดความรู้สึกเจ็บ พอเจ็บแล้วเกิดความไม่ชอบ พูดอย่างนี้ก็เหมือนกับว่าความรู้สึกมันตามมาหลังจากความรู้
หูได้ยินเสียงดัง รู้ว่าดัง ก็เกิดไม่ชอบขึ้นมา ในชีวิตประจำวัน เราก็มักจะพบว่าความรู้สึกนี้มันตามมาหลังจากที่เกิดความรู้ หรือว่าตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง รู้ว่าเห็นอะไร ได้ยินอะไร ก็เกิดชอบ ไม่ชอบขึ้นมา กิน รู้ว่ากินอะไร แล้วก็ตามมาด้วยความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ แต่บางครั้งความรู้สึกมันมาก่อนความรู้
เราเคยมีประสบการณ์อย่างนี้ไหม งูกำลังเลื้อยขวางหน้าเรา ในตอนนั้นเราไม่ทันจะรู้เลยนะว่า สิ่งที่เห้นข้างหน้าคืองู ความจำได้ หมายรู้ หรือสัญญา ยังไม่ทันจะทำงานแล้วบอกเราว่าข้างหน้านี้คืองู แต่ว่าเราเกิดความรู้สึกตกใจ หรือเกิดความรู้สึกสะดุ้งเสียววาบขึ้นมา แล้วก็เลยชักเท้าหรือว่าหยุดนิ่ง แต่จะด้วยความตกใจหรือความรู้สึกกลัวก็แล้วแต่ และช่วงวินาทีต่อมา เราจึงรู้ว่า ข้างหน้านั่นคืองู
อันนี้เรียกว่า ความรู้สึกมันมาก่อนความรู้ ทีแรกก็สงสัยว่า ทำไม ทั้งๆที่เรายังไม่ทันรู้เลยว่าเป็นงู แต่ว่ามันชักเท้าออกมา หรือมันหยุด เพราะความตกใจ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ตอนหลังพอมาเรียนรู้เรื่องสมองก็เลยเข้าใจ เวลามีภาพมากระทบตา
สัญญาณมันก็จะเดินไปสู่สมอง 2 จุด จุดหนึ่งคือสมองส่วนที่เป็นการรับรู้ บอกว่าสิ่งที่เห็นคืออะไร อีกส่วนหนึ่งมันไปยังสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความรู้สึก เขาเรียกสมองส่วนนั้นว่าอะมิกดาลา ( Amygdala ) ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับความรู้สึกและปฏิกิริยาตอบสนองอย่างฉับพลัน
เขาพบว่า สัญญาณที่ไปยังสมองส่วนที่ทำหน้าที่บอกเราว่า ภาพข้างหน้ามันคืออะไร มันจะไปช้ากว่าสัญญาณส่วนที่ไปยังสมองส่วนที่ทำหน้าที่ความรู้สึก คือ เรายังไม่ทันจะรู้เลยว่า สมองยังไม่ทันจะบอกเราเลยว่า ข้างหน้านี่คืออะไร แต่ว่าเรารู้สึกกลัวแล้ว รู้สึกตกใจแล้ว รีบหยุดทันที อันนี้เพราะ สัญญาณส่วนที่ไปยังอะมิกดาลามันไปเร็วกว่า
ซึ่งมันก็มีประโยชน์ เพราะว่าเวลาเจออะไรที่มันอันตราย ยังไม่จำเป็นต้องรู้หรอกว่า คืออะไร แค่รู้สึกว่ามันอันตราย มันก็ช่วยเราได้เยอะแล้ว อันนี้มันก็เป็นธรรมชาติของของร่างกาย ของสมองเราก็ได้ที่ช่วยทำให้เราปลอดภัย
เคยมีการทดลอง ให้คนดูภาพคนที่กำลังโกรธ แต่ภาพมันเคลื่อนเร็วมาก เสี้ยววินาที 1 ใน 20 วินาทีหรือ 1 ใน 100 วินาที เร็วขนาดนี้ สมองเราบอกไม่ได้หรอกว่ามันคืออะไร แต่สมองส่วนที่รับรู้ความรู้สึก มันทำงาน
คือแม้จะไม่รู้ว่าภาพที่เห็นข้างหน้าคืออะไร แต่มันรู้สึกกลัว รู้สึกว่าไม่น่าไว้ใจ รู้สึกระแวดระวังขึ้นมา อันนี้มันแสดงว่า ความรู้สึกมาก่อนความรู้ หรือมาก่อนความจำได้หมายรู้ ซึ่งมันก็เป็นการช่วยทำให้เราอยู่รอดปลอดภัย แม้กระทั่งในยามที่สมองมันบกพร่อง
มีผู้หญิงคนหนึ่งเป็นโรคความจำเสื่อม เสื่อมอย่างเร็วเลย สมองมีปัญหา ความจำระยะสั้นมันจะไม่ทำงานเลย เช่น ไปเจอหมอคนหนึ่ง คุยเสร็จ หมอออกจากห้อง พักเดียว กลับเข้ามาใหม่ ผู้หญิงคนนี้จำไม่ได้แล้วว่าคนนี้คือใคร แล้วก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเพิ่งพบกันเมื่อสักครู่นี้ ความจำมันเลือนหายไปเร็วมาก หมอต้องแนะนำตัวว่าเป็นใคร ทุกครั้งเลย
แต่มีคราวหนึ่ง หมอแกล้งเอาเข็มกลัดซ่อนไว้ที่ฝ่ามือ และต่อมาพบผู้หญิงคนนี้ ก็แนะนำตัว แล้วก็ตามธรรมเนียมฝรั่ง ก็มีการจับมือ เช็คแฮนด์กัน เพราะมือของผู้หญิงคนนี้สัมผัสกับมือของหมอ ก็โดนเข็มกลัดทิ่ม เจ็บ แกก็รีบชักออกมาเลย สักพักไม่ถึง 5 นาที หมอก็กลับเข้ามาใหม่ แล้วถามผู้หญิงคนนี้ว่า จำได้ไหมว่าผมเป็นใคร ผู้หญิงบอกว่าจำไม่ได้ แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่าเคยพบกันเมื่อสักครู่
หมอบอกจำไม่ได้ไม่เป็นไร งั้นขอเช็คแฮนด์ พอหมอยื่นมือออกไป ผู้หญิงคนนั้นไม่กล้ายื่นมือไปจับมือหมอ เพราะว่าจำได้ว่า จับแล้วมันเจ็บ ความรู้ว่าหมอคนนี้เป็นใคร มันไม่มีในหัวแล้ว เพราะสมองมันเสื่อมแต่จำได้ว่า จับมือหมอคนนี้แล้วมันเจ็บ มันยังอยู่ในความรู้สึกของเธอ
อันนี้มันก็เป็นเรื่องที่แปลก แต่ว่ามันก็มีประโยชน์ มันก็ช่วยทำให้ แม้ว่าความรู้ไม่ทำงานแล้ว คือไม่รู้ว่าหมอเป็นใคร แต่ความรู้สึกนี้มันยังทำงานอยู่ เพราะฉะนั้น มันก็ช่วยทำให้ไม่เจ็บตัวฟรีๆ จากการไปจับมือของหมอคนนี้
ก็เหมือนกับว่า มันเป็นธรรมชาติของร่างกายที่ให้ความรู้สึกแก่เรามา แล้วก็มีคุณสมบัติที่จำความรู้สึกได้นาน มันก็ทำให้เราสามารถอยู่รอดปลอดภัยจากอันตรายได้ ความรู้สึกก็มีประโยชน์ แต่ว่ามันก็มีโทษเหมือนกัน ถ้าเกิดว่าเราไปเน้น หรือว่าไปให้ความสำคัญกับความรู้สึกมากเกินไป คนเราถ้าเป็นอยู่ด้วยความรู้สึก อันนี้มันเกิดผลเสีย
เป็นอยู่ด้วยความรู้สึกหมายความว่า เอาความรู้สึกเป็นใหญ่ ทำตามความรู้สึก หรือว่าแสวงหาแต่ความรู้สึกที่ถูกใจ เช่น อร่อย สบาย ตื่นเต้น บันเทิง สนุกสนาน คนเราถ้าหากว่าไปให้ความสำคัญกับความรู้สึกประเภทนี้มาก มันก็เกิดอันตรายกับตัวเราได้ เช่น ชอบของอร่อย ของหวานกินเข้าไปเยอะๆมันก็ป่วยด้วยโรคสารพัด โรคเบาหวาน โรคหัวใจ
หรือว่าชอบความสบาย ความตื่นเต้น ความสนุกเร้าใจ เราก็กลายเป็นติดสิ่งบันเทิงเริงรมย์ ติดเสียงเพลง ติดการละเล่น ติด Video Games ติดเกมส์ออนไลน์ ก็กลายเป็นทาสของสิ่งเสพ กลายเป็นทาสของสิ่งแวดล้อม อะไรที่ให้ความสุขความสบายแก่เรา เราก็เข้าหาสิ่งนั้น อะไรที่มันไม่อร่อยมันไม่สบาย แต่ว่ามีประโยชน์ เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ หรือการออกกำลังกาย ฉันไม่เอา นั่งๆนอนๆดีกว่า
คนเรา ถ้าหากว่าเกี่ยวข้องกับความรู้สึกไม่เป็น ความรู้สึกมันก็จะกลายเป็นโทษขึ้นมาได้ อันนี้เป็นอยู่ด้วยความรู้สึก เอาความรู้สึกเป็นใหญ่ ทำตามความรู้สึกอยู่ตลอดเวลา อะไรที่มันให้ความสนุกสนาน ความเร้าใจ ความเอร็ดอร่อยเท่าไหร่ก็เข้าหาสิ่งนั้นจนติด ก็กลายเป็นทาสของสิ่งแวดล้อมภายนอก เป็นทาสของสิ่งเสพที่ให้ความรู้สึกที่พึงพอใจกับเรา
และสุดท้ายมันก็กลายเป็นทาสของอารมณ์ เป็นทาสของความรู้สึก ความรู้สึกมันก็ชักนำเราไปทำอะไรก็ได้ เพื่อจะได้เกิดความรู้สึกดีๆ เกิดความรู้สึกอร่อย เกิดความสบาย ความรู้สึกตื่นเต้นเร้าใจ รวมถึงความรู้สึกประเภทที่มันอยากจะผลักให้เราออกห่างจากสิ่งที่ไม่ให้ความสุข ความสบายกับเรา อันนี้ก็จัดอยู่ในฝ่ายของโทสะหรือว่าความโกรธได้เหมือนกัน
แม้ว่าความรู้สึกจะมีประโยชน์ แต่ว่ามันก็มีโทษเหมือนกัน ถ้าหากว่าเราเกี่ยวข้องกับมันไม่เป็น ปล่อยให้มันครอบงำจิตใจของเรา จะทำยังไง เราก็ต้องรู้จักควบคุมความรู้สึกด้วยความอดกลั้น เช่น มีขันติ ความอดทน มันมีสิ่งที่ล่อเร้า แม้ใจมันจะโหยหาหรือใจมันจะอยากจะพุ่งไปทางนั้น เราก็ห้ามใจไว้ มันมีความรู้สึกโกรธ อยากจะผลักไสออกไป ก็ห้ามใจเอาไว้ ไม่ทำอย่างนั้น อันนี้เรียกว่าเรามีขันติ
แต่ว่ามันไม่พอ เพราะว่าขันติมันอาศัยการกดข่มด้วย พอกดข่มมากๆมันก็ระเบิดได้ คนที่ติดเหล้าพอถึงช่วงเข้าพรรษางดเหล้า ไม่กินเหล้าตลอดพรรษา น่าอนุโมทนามาก แต่พอออกพรรษานี่มันระเบิดเลย ความอยากเหล้านี่มันพุ่งทะลักถล่มทลายเลย กลายเป็นว่าออกพรรษานี้เมาจนไม่เป็นผู้เป็นคนเลยก็มี ทั้งที่ตลอดพรรษานี่ไม่แตะเหล้าเลย
มาเสียคนตอนวันออกพรรษานี้เป็นเพราะว่ามันเก็บกดความรู้สึกความอยากอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีสติด้วย สตินี่คือการรู้ทันมัน ไม่ใช่การควบคุม เพราะถ้ารู้แล้วมันก็จะวาง รู้แล้วมันก็จะละ มีความอยากกินเหล้าแต่รู้ทันมัน รู้แล้วมันก็วาง มันก็ดับไป
แต่ว่ามันเท่านั้นก็ยังไม่พอ เราต้องรู้จักควบคุม หรือว่ากำกับอารมณ์ หรือความรู้สึกนั้นด้วยสิ่งอื่นด้วย เช่น ความรู้ การเตือนใจว่า ถ้าตอบสนองความรู้สึก ถ้าแต่กินอาหารที่เอร็ดอร่อย กินอาหารที่หวานหรือว่ากินแต่เนื้อ มันจะทำให้เกิดโรคหัวใจ หรือว่าถ้าสูบบุหรี่มากไปมันจะเป็นโรคมะเร็ง
กินเหล้าเป็นนิจ มันจะทำให้ป่วยด้วยโรคนานาชนิด ความรู้อย่างนี้มันก็ช่วยไม่ให้เราปล่อยใจไปตามความรู้สึกได้ แต่ก็อย่างที่รู้กัน ทั้งที่รู้ว่าเหล้าไม่ดี เป็นอันตรายก็ยังกินเหล้า เลิกเหล้าไม่ได้ หลายคนก็รู้ว่าบุหรี่ทำให้เป็นมะเร็งปอดแต่ก็เลิกบุหรี่ไม่ได้ เพราะว่าความรู้สึกนี้มันมาครอบงำจิตใจจนกระทั่งกลายเป็นใหญ่เหนือชีวิตของผู้คน อย่างที่เขาเรียกว่าดีชั่วรู้หมดแต่อดใจไม่ได้
เพราะว่าใจโหยหาความรู้สึกบางอย่างบางชนิด โดยเฉพาะสิ่งที่เราเรียกว่าความสุข การกินเหล้าสูบบุหรี่มันก็สนองความรู้สึกด้วยความสุขชนิดหนึ่ง แม้ว่าจะรู้ว่ามันไม่ดี แต่ว่าก็ห้ามใจไม่ได้ เพราะมันก็เป็นธรรมชาติของใจที่ปรารถนาความสุข เพราะฉะนั้นเพียงแค่มีความรู้หรือว่าเตือนตนด้วยความรู้ว่า สนอง ความรู้สึกด้วยความสุขแบบนี้ หรือด้วยกันเสพแบบนี้มันเป็นโทษ มันไม่พอ มันต้องรู้จักกล่อมเกลาความรู้สึกด้วย
กล่อมเกลาความรู้สึกหมายความว่า เอาความสุขที่ประณีตมาทดแทนความสุขที่หยาบ อันนี้เรียกว่าเป็นการกล่อมเกลาความรู้สึก คนเรานี้แม้จะรู้ว่าอะไรไม่ดี แต่ถ้ามันโหยหามากๆนี้มันก็ห้ามใจไม่อยู่ เหมือนกับคนที่เดินฝ่าเปลวแดดร้อนๆมาตลอดวัน กระหายน้ำมากเลย พอเห็นน้ำนั้น แม้มันจะขุ่น ความรู้มันก็บอกเขาว่ากินน้ำขุ่นๆแล้วมันอาจจะท้องร่วง ถามว่าห้ามใจไม่ให้กินได้ไหม มันห้ามไม่ได้ เพราะมันหิว รู้อยู่ว่ามันสกปรกมีโทษ แต่ว่ามันหิว ความหิวเป็นความรู้สึก มันทรมานมาก เพราะฉะนั้นมันก็ทำให้ยอมที่จะกินน้ำสกปรก เพียงเพื่อบำบัดความหิวความกระหาย และทำอย่างไรจะไม่ให้กินน้ำสกปรกแบบนั้น มันก็ต้องมีทางเลือก เช่น ถ้ามีน้ำอีกแก้วหนึ่ง เป็นน้ำใสสะอาด
คนที่หิวพอเจอน้ำ 2 แก้ว แก้วหนูขุ่นน้ำในแก้วหนึ่งขุ่น อีกแก้วน้ำใส ร้อยทั้งร้อย ก็เลือกกินน้ำใส เพราะว่ารู้ว่ามันดี มันปลอดภัย แล้วก็มันดับกระหายได้ เพราะฉะนั้นการที่จะให้คนเราละทิ้งความสุขที่หยาบ หรือว่าถ้าต้องการกล่อมเกลาความรู้สึกของผู้คน หรือของตัวเราเอง ให้เป็นความรู้สึกที่ชักนำไปสู่ทางที่ดีมันก็ต้องมีสิ่งอื่นที่ดีกว่ามาแทนที่
เคยเล่าการทดลองที่เอาหนูมาขังไว้ในกรงตัวเดียว ไม่มีเพื่อน ไม่มีอะไรเลย กรงก็แคบ ภายในกรงมีน้ำอยู่ 2 ชนิดคือ น้ำเปล่ากับน้ำผสมมอร์ฟีน morphine ปรากฏว่า หนูตัวนี้มันกินแต่น้ำผสมมอร์ฟีนจนติด น้ำเปล่าไม่แตะเลย แต่ก็พอย้ายกรง มาอยู่กรงที่ใหญ่กว่า แล้วก็มีเพื่อนทั้งตัวผู้ตัวเมีย มีของเล่น มีอาหาร พอมันมีเพื่อน มีคู่ แล้วก็มีของเล่น
ปรากฏว่าแม้ในกรงนั้นที่มีทั้งน้ำเปล่า น้ำผสมมอร์ฟีน มันไม่แตะน้ำผสมมอร์ฟีนเลย มันกินแต่น้ำเปล่า ทำไมมันไม่สนใจมอร์ฟีน เพราะว่ามันมีความสุขที่ดีกว่ามาแทนที่ ตอนที่อยู่ตัวเดียวนี่มันทุกข์มากเลย มันก็อาศัยน้ำผสมมอร์ฟีนช่วยดับทุกข์ ทำให้เพลิน แต่พอย้ายมันมาอยู่อีกกรงหนึ่ง มันมีอะไรที่เพลิดเพลิน มันก็ไม่สนใจน้ำผสมมอร์ฟีนอีกแล้ว พูดง่ายๆเจอมันเจอความสุขที่ประณีตกว่า เจอความสุขที่ดีกว่า
ถ้าหากว่าผู้คนยังติดอยู่กับความรู้สึกที่ต้องสนองด้วยความสุขแบบหยาบๆ ซึ่งมันจะชักนำไปในทางให้เกิดโทษ ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ เหล้า ยาเสพติด อาหารที่เอร็ดอร่อยแต่ว่ามีโทษต่อร่างกาย แต่ถ้าให้เขาได้มาสัมผัสกับความสุขที่มันดีกว่า เขาก็ทิ้งความสุขที่หยาบ แล้วก็มาหาความสุขที่ประณีต
ความสุขที่ประณีตมันมักจะเป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากการที่ได้ทำสิ่งดีๆ หรือว่าส่งเสริมให้เกิดการกระทำที่ดี อย่างเช่น คนที่ติดในเหล้าบุหรี่ ถ้าติดเหล้าบุหรี่ มันก็มีแต่จะมีพฤติกรรมไปในทางที่เป็นโทษทั้งแก่ตัวเองและแก่ผู้อื่น แต่พอเจอความสุขที่ดีกว่า ความสุขจากการที่มีเพื่อนฝูง ความสุขจากการที่ได้ทำสิ่งที่ดีมีประโยชน์แล้ว นอกจากมันจะละจากสิ่งที่เป็นอันตรายต่อร่างกายแล้ว ก็ยังส่งเสริมให้เกิดการทำความดีทำสิ่งที่มีประโยชน์สร้างสรรค์
ในทางพระพุทธศาสนา มันมีความสุขหลายชนิด มีความสุขที่ดีกว่า มีความสุขที่ประณีตกว่าที่ส่งเสริมให้เกิดความรู้สึกกล่อมเกลาดีงาม และถ้าหากว่าได้รับความสุขที่ประณีต จิตใจก็จะโน้มนำไปในทางที่ดีงาม แล้วพอมีจิตใจดีงามแล้ว การที่เราจะมีพฤติกรรมที่ถูกต้อง มีศีลมีธรรม หรือว่าการใช้ชีวิตที่ดีงาม ก็เป็นไปได้
แม้เราจะรู้ว่าอะไรดีหรือไม่ดี แต่ถ้าหากว่าจิตใจเรายังไม่สามารถจะเข้าถึงความสุขที่ประณีตได้ มันก็ยากที่จะทำสิ่งที่ดีๆตามความรู้ที่มี แต่ถ้าเกิดว่าจิตใจของเราได้รับการกล่อมเกลาด้วยความรู้สึกที่ประณีต มันก็ชักนำให้เราสามารถจะใช้ชีวิตที่ดีงามตามเหตุตามผล ตามความรู้ที่มี หรือจากธรรมที่เราได้ยินได้ฟังมาได้
เพราะฉะนั้นความรู้อย่างเดียวมันไม่พอ มันต้องมีความรู้สึกเข้ามาเสริม เหตุผลอย่างเดียวมันไม่พอ มันต้องมีการกล่อมเกลาจิตใจ กล่อมเกลาอารมณ์ ถ้าหากว่ามันมีทั้งความรู้ และความรู้สึกที่ดีงาม ควบคู่กันไป เราจึงจะมั่นใจหรือมีหลักประกันว่า จะมีชีวิตที่ดีงามได้
เพราะฉะนั้น การจะมองข้ามความรู้สึก มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง มีความรู้แล้วต้องพยายามที่จะกล่อมเกลาความรู้สึกด้วย ไม่ใช่เพียงแค่ควบคุมความรู้สึก หรือว่าไปกดข่มความรู้สึกเท่านั้น หรือแม้แต่จะรู้เท่าทันความรู้สึก อันนี้มันก็ดีอยู่ แต่ว่าการกล่อมเกลาความรู้สึกให้งอกงาม มันก็จำเป็นด้วยเหมือนกัน
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 2 ตุลาคม 2564