แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อวานได้พูดถึงเรื่องเด็กว่า ต้องการคำชมจากพ่อแม่ หรือครู หรือผู้ใหญ่ คำชมของผู้ใหญ่มีความสำคัญสำหรับเด็กมาก เด็กบางคน นอกจากไม่ได้รับคำชมจากพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ เช่นครูแล้ว บางทีเจอแต่คำตำหนิ ก็กลายเป็นเด็กที่ห่อเหี่ยว ขาดความมั่นใจในตัวเอง
หรือบางทีพ่อแม่ก็ไม่ได้ตำหนิโดยตรง แต่ว่าจ้องจับผิด อย่างเด็กคนหนึ่งซุกซน สมาธิสั้น อยู่นิ่งไม่เป็น เวลากลับบ้านทีไร แม่ก็ถามว่าวันนี้ไปมีเรื่องกับใครมาหรือเปล่า ถามอย่างนี้ทุกวัน เด็กก็รู้สึกแย่กับตัวเอง จนกระทั่งเด็กมองไม่เห็นความดีของตัวเลย เขียนเรียงความว่าสิ่งดีๆที่ฉันภูมิใจ ก็เขียนไม่ออก
แต่ตอนหลังแม่พอรู้ปัญหาของเด็กว่าเป็นอย่างนี้นะ ก็ถามใหม่เวลาลูกกลับมาบ้านจากโรงเรียนก็ถามว่า ลูกวันนี้ทำอะไรดีๆมาบ้าง พอเจอคำถามแบบนี้เด็กก็เริ่มเห็นความดีของตัว และยิ่งทำความดีแล้วพ่อแม่ชม เด็กก็ยิ่งเกิดความมั่นใจตัวเอง แล้วก็เปลี่ยนไปเลย จากเด็กหงอยห่อเหี่ยวกลายเป็นเด็กที่เริ่มเบิกบาน มีชีวิตชีวา
คำชมนี่ มันก็เป็นสิ่งสำคัญนะสำหรับเด็ก และนักเรียน โดยเฉพาะในขณะที่ยังเล็กยังเด็กอยู่ แต่คราวนี้ชมอย่างไรถึงจะมีผลดีกับเด็ก เขาพบว่า เวลาถ้าพ่อแม่ชมเด็กว่าเก่งเวลาประสบความสำเร็จ เช่น ได้คะแนนดี หรือว่าเล่นกีฬาชนะ มันสู้คำชมที่ผู้ใหญ่ให้กับเด็กเมื่อเด็กมีความเพียรพยายาม มีความทุ่มเทไม่ได้ คำชมอย่างหลังนี่ มันดีกับเด็กมากกว่า ชมว่าลูกเก่ง หรือว่าเยี่ยมไปเลย
เคยมีการทดสอบ ให้เด็กนักเรียน โตหน่อย เกือบจะวัยรุ่นแล้ว ให้ไปทำแบบทดสอบที่มันยากสักหน่อยพอทำเสร็จ ครูก็ชมเด็กบางคนว่าเก่งเพราะว่าทำแบบทดสอบได้หลายข้อ แต่บางคนจะได้รับคำชมว่า มีความเพียรพยายาม มีความอดทนสู้
แล้วเขาก็ติดตามเด็ก 2 กลุ่มนี่แหละว่า เกิดอะไรขึ้นเวลาเจอแบบทดสอบที่มันยากกว่าเดิม ครูพบว่า เด็กที่ได้รับคำชมว่าเก่ง ฉลาด ถ้าไปเจอแบบทดสอบที่ยากและไม่เคยทำ จะไม่ค่อยกล้าทำเท่าไหร่ เลี่ยงได้ก็เลี่ยง แต่เด็กที่ได้คำชมว่าขยัน สู้งาน 90% ไม่หนี เจอแบบทดสอบที่ยาก ก็เข้าไปปลุกปล้ำกับมัน ถึงแม้ว่าจะทำไม่ได้ แต่ว่าก็ไม่หนี
ทำไม เด็กที่ได้รับคำชมว่าเก่ง พอเจออะไรยากๆ ไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย อันนี้ก็เพราะว่า กลัวว่าจะทำได้ไม่ดี กลัวว่าจะล้มเหลว เพราะว่าถ้าทำได้ไม่ดีหรือว่าล้มเหลว ไม่สำเร็จ ก็จะไม่ได้รับคำชม เมื่อชมเด็กว่าเก่ง เด็กก็อยากได้คำชมแบบนี้ ขณะเดียวกันก็เกิดความกลัวว่าจะทำคะแนนได้ไม่สูงพอ หรือว่าเล่นกีฬาไม่ชนะ เพราะฉะนั้นถ้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยง เพราะว่าถ้าแพ้หรือได้คะแนนไม่ดี ก็จะไม่ได้รับคำชมว่าเก่งหรือทำให้เขาเห็นว่าเราไม่เก่งพอ
ส่วนเด็กที่ได้รับคำชมว่าขยัน สู้งานนี่ ก็จะไม่ค่อยกลัวนะว่า ผลมันจะเป็นยังไง เพราะว่าถ้าหากว่าได้ทำความเพียร สู้งานเต็มที่แล้วก็จะได้รับคำชม ก็จะทำให้เด็กมีความเพียรมีความขยัน สู้งาน ซึ่งอันนี้สำคัญมากสำหรับเด็ก เพราะว่าถ้าเด็กมีความขยัน กล้าสู้สิ่งยาก มันจะเป็นทุนของชีวิตในการเรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย รวมทั้งเป็นทุนให้กล้าทำสิ่งยากๆ แม้จะล้มเหลว แต่ได้เรียนรู้ มีประสบการณ์มากขึ้น
ความสำเร็จหรือชัยชนะนั้น เราก็รู้นะว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เก่งแค่ไหนบางทีก็แพ้ นักฟุตบอลไม่ว่าทีมไหนที่เป็นแชมป์ ก็ล้วนแต่เจอความพ่ายแพ้มาทั้งนั้น นักมวยที่เก่งก็ไม่สามารถที่จะชนะ 100% เพราะฉะนั้น แพ้ ชนะ สำเร็จหรือล้มเหลว มันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากสำหรับคนทุกคน แปลเรื่องความพยายามเป็นเรื่องที่ทำได้กับทุกกรณี
และถ้าคนเรามีความเพียรและพยายาม ถึงแม้ว่าจะไม่สำเร็จแต่ก็ได้เรียนรู้ และถึงแม้ว่าจะล้มเหลว ก็ไม่รู้สึกเสีย Self หรือเสียความมั่นใจ เพราะฉะนั้นการส่งเสริมให้เด็กมีความเพียร ความพยายาม มันดีกว่าชมเวลาเด็กเรียนสอบได้คะแนนดี หรือว่าชนะในการแข่งขัน ชมว่าเก่ง ชมว่าฉลาด มันไม่ดีเท่ากับชมว่า ขยัน สู้งาน มีความเพียร
แต่ว่าผู้ใหญ่ไปให้ความสำคัญไปให้ค่ากับผลสำเร็จเวลาลูกหรือนักเรียนสำเร็จก็ชม แต่เวลาทำไม่สำเร็จก็ตำหนิ เช่นได้คะแนนไม่ดีพอ ทั้งที่ได้สูงอาจจะได้คะแนน 3.8 แต่ว่ามันไม่ตรงกับความคาดหวังของพ่อแม่ ก็ไปว่าเด็กว่าทำไมสอบได้แค่นี้ หรือว่าไปเล่นฟุตบอลแล้วก็แพ้ ได้ที่ 2 ก็ไปตำหนิว่า ทำไมสู้เขาไม่ได้ เราก็มีมือมีเท้า คำพูดแบบนี้ก็ดีมันทำให้เด็กบางคนเกิดมานะ กระตุ้นมานะ
มานะในที่นี้หมายถึง ความรู้สึกตัวตนขึ้นมา ความรู้สึกไม่อยากเสียหน้า ไม่อยากแพ้ใคร ก็ทำให้เกิดความพยายาม มานะทำให้เกิดความพยายามได้ คนไทยบางทีก็เลยแปลมานะว่า พยายาม แต่ที่จริงแล้ว มานะเป็นกิเลสอย่างหนึ่ง มันเกิดจากความรู้สึกกลัวเสียหน้า ไม่อยากเสียหน้า
แต่ว่าสำหรับเด็กบางคน ไม่ได้เกิดมานะแต่เกิดความรู้สึกแย่ไปเลย เพราะว่าฉันอุตส่าห์ทำดี ก็ยังไม่ได้รับคำชม แต่ถึงแม้ว่าเด็กจะสอบได้คะแนนไม่ดี จะได้เป็นที่สองแต่ว่าเขาได้ทำเต็มที่แล้ว อันนี้ก็เป็นเหตุผลที่มากพอที่ผู้ใหญ่ พ่อแม่ ครู ควรจะชมว่า ชมที่ขยัน ชมที่ไม่ยอมแพ้ สู้จนนาทีสุดท้าย คำชมแบบนี้ที่จะทำให้เด็กมีกำลังใจที่จะทำสิ่งยาก ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่
สำเร็จหรือไม่ มันไม่สำคัญเท่ากับว่า มีความเพียรพยายามหรือเปล่า ไม่ใช่เฉพาะแต่ในทางโลก ในทางเรียน ในทางศึกษา ในทางกีฬา แม้กระทั่งในการประกอบอาชีพการงานอันนี้ก็สำคัญ
ในทางธรรมก็เหมือนกัน ในการปฏิบัติธรรม การฝึกจิต สิ่งสำคัญคือความเพียร ส่วนผลจะสำเร็จหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เน้นความเพียรมาก มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่าวิริยะวาทะหรือวิริยะวาที คือศาสนาที่เน้นความเพียร ถ้าเราเลี้ยงดูเด็กไม่ว่าจะเป็น ลูก หลาน หรือว่านักเรียน กระตุ้นให้เด็กมีความเพียรด้วยการรู้จักชมเวลาเขาทุ่มเท
อันนี้จะเป็นการเติมพลังให้กับเขา ในการที่จะพัฒนาตน เพราะคนเราไม่สามารถที่จะพัฒนาตนได้เลยถ้าหากขาดความเพียร ขาดความพยายาม กล้าสู้สิ่งยาก สำเร็จหรือไม่สำเร็จเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะอย่างที่บอก แม้ล้มเหลว มันก็ได้เรียนรู้ มันก็ได้เกิดประสบการณ์ ซึ่งอันนี้มันก็สามารถจะต่อยอดให้เกิดสิ่งดีๆ ในชีวิตในเวลาต่อมาได้
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 2 ตุลาคม 2564