แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พวกเราคงมีประสบการณ์โทรศัพท์ไปที่ Call Center ของค่ายโทรศัพท์มือถือ เพื่อเปลี่ยนโปรโมชั่น หรือว่าเพื่อแจ้งปัญหา หรือว่าโทรศัพท์ไปติดต่อบริษัทต่างๆสิ่งที่ต้องเจอแล้วก็เบื่อมากที่สุดนั่นก็คือการถือสายรอ บางทีถือสายนานตั้ง 5 นาที หรือนานกว่านั้น ก็ยังไม่มีเจ้าหน้าที่มารับสายคุยกับเรา
ระหว่างที่เรารอ ก็จะมีข้อความต่างๆ เช่น ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังให้บริการเต็มทุกคู่สาย เราฟังก็เห็นใจ รอไป 2-3 นาทีก็ยังไม่ได้คุยกับเจ้าหน้าที่ แล้วก็มีข้อความเป็นเสียงออกมาอีกว่า ขณะนี้มีผู้โทรศัพท์เข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก เราก็รอ สักพักก็มีเสียงตามสายมาอีกเป็นระบบอัตโนมัติว่า เจ้าหน้าที่จะได้รับสายเราให้เร็วที่สุด ก็คือให้รอแล้ว ยังย้ำว่าสายของเรามีความสำคัญสำหรับเรา พูดเชิญชวนให้เรารอ
แต่รอแล้วรอเล่าแล้วก็ยังไม่ได้คุยกับเจ้าหน้าที่สักที เขาก็มีวิธีการเชิญชวนให้เรารอนานๆด้วยเสียงเพลงแต่ว่าเพลงก็วนไปวนมา ฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่า สุดท้ายบางทีก็ต้องวางหูเสียก่อน เพราะทนไม่ไหว คอยไม่ไหว
มีบริษัทหนึ่งใหญ่มากเขาเป็นห้างสรรพสินค้าใหญ่อยู่ในออสเตรเลีย ชื่อไมเยอร์ ขอพบว่าปีหนึ่งๆคนโทรเข้ามาที่บริษัทที่ต้องถือสายรอมีถึง 6 แสนสาย แล้วในจำนวนนั้น 40 เปอร์เซ็นต์ก็วางหูเสียก่อนที่จะได้คุยกับเจ้าหน้าที่เพราะว่า คอยไม่ไหว ที่ว่า 40% นั้นคืออย่างน้อยที่ไม่ประทับใจในบริการของห้าง ที่มีเจ้าหน้าที่รับสายก็คงจะมีความรู้สึกทำนองเดียวกันก็คือ ไม่ค่อยประทับใจที่ต้องรอนาน
เขาคิดหาวิธี จะทำยังไงที่จะให้ลูกค้าถือสายรอ จนกระทั่งได้คุยกับเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานของเขาแม้ว่าจะต้องรอนานก็ตาม วิธีของเขาน่าสนใจ คือเมื่อลูกค้าโทรศัพท์ แล้วก็ต้องถือสายรอ ก็จะมีข้อความทำนองนี้ออกมาเป็นระยะๆ ตามด้วยเสียงเพลง พอผ่านไปสัก 4-5 นาทีก็จะมีข้อความหนึ่งดังขึ้นมา บอกว่า แต่ละนาทีที่ท่านถือสายรอ
ไมเยอร์จะเปลี่ยนช่วงเวลาดังกล่าวให้เป็นเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนองค์กรการกุศล แล้วก็มีชื่อองค์กร อาจจะเป็นองค์กรสงเคราะห์เด็กอะไรต่างๆ ปรากฏว่าคนจำนวนมากยอมที่จะถือสายรอ แล้วก็จะมีข้อความอันหนึ่งออกมาเป็นเสียงมาว่า เจ้าหน้าที่ทุกคนของไมเยอร์ขอบคุณท่านที่สละเงินบริจาคเป็นการกุศลด้วยการสละเวลาเพื่อรอสาย เขาก็พบว่า คนส่วนใหญ่ถือสายรอ แต่เดิม 40% ทิ้งสายเลย ไม่รอแล้ว
ปรากฏว่าคนที่ทิ้งสายก่อนที่จะได้คุยกับเจ้าหน้าที่เหลือ 5% ก็แปลว่า 7 ใน 8 คน ยอมที่จะถือสายรอ สำหรับคนที่โทรศัพท์ไปที่บริษัทหรือห้างสรรพสินค้า ความรู้สึกมันเปลี่ยนไปเลย ยังคอยยังรอเหมือนเดิม แต่ว่าความรู้สึกเปลี่ยนไป แต่ก่อนถือสายรอก็รู้สึกรำคาญหงุดหงิด ระหว่างที่รอก็ก่นบ่นด่าไป
แต่พอมาเจอวิธีใหม่แล้วของห้างนี้ ก็คือว่า ถือสายรอนานเท่าไหร่ก็เท่ากับว่าได้บริจาคเงินมากเท่านั้น แล้วก็เต็มใจถือสาย ยินดีให้ความร่วมมือ คือเปลี่ยนมุมมองของคนที่ถือสาย จากเดิม การถือสายรอคือการเสียเวลา แต่ว่าตอนนี้ความรู้สึกเปลี่ยนไป การเดินสายรอคือการที่ช่วยการบริจาคเงินให้กับองค์กรการกุศล จากที่เคยหงุดหงิดก็กลายเป็นความเต็มใจ
อันนี้ชี้ให้เห็นเลยว่า การถือสายรอ ไม่ได้หมายความว่าความทุกข์ ถือสายรออาจจะไม่ทุกข์ก็ได้ ถ้าหากเห็นว่าการถือสายรอคือการช่วยบริจาคองค์กรการกุศล ช่วยสงเคราะห์เด็ก สงเคราะห์ครอบครัวที่ยากไร้ พอเปลี่ยนมุมมองในการถือสายรอ ไม่ใช่เป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายหรือว่าเป็นประสบการณ์ที่น่าเบื่อชวนให้หงุดหงิด แต่มันกลายเป็นสิ่งที่ผู้คนเต็มใจ
คนเราจะสุขหรือทุกข์ มันไม่ได้อยู่ที่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเรามากเท่ากับว่า เรารู้สึกกับมันอย่างไร หรือเรามองมันอย่างไร ถ้ามองไปในทางลบมันก็ทุกข์มันก็หงุดหงิด แต่ถ้ามองไปในทางบวก มองว่ามันมีประโยชน์ ก็ไม่มีความรู้สึกหงุดหงิด อาจจะมีความเต็มใจ เหตุการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นกับเรา เราก็เลือกไม่ได้ อยู่ที่ว่าเราจะรับมือกับมันยังไง หรือว่ารู้สึกกับมันอย่างไร
มุมมองเป็นสิ่งที่เราเลือกได้ เราเลือกเหตุการณ์ไม่ได้ แต่เราเลือกมุมมองต่อเหตุการณ์นั้นได้ จริงอยู่บางคนเขาคิดว่าเขาเลือกได้ ระหว่างการถือสายกับการวางสายซะเลย สำหรับบางคนเขามีเหตุจำเป็นที่ต้องถือสาย อันนี้เรียกว่าเลือกไม่ได้ จำเป็นต้องถือสายรอ
แต่ว่าสิ่งที่เขาเลือกได้คือ เขาจะมองมันอย่างไร ยิ่งถ้าบริษัทที่เขาให้โอกาสแล้วถ้าถือสายรอนี่ก็เท่ากับได้ไปช่วยบริจาคเงินเป็นการกุศล การถือสายรอก็จะไม่ได้เป็นความหงุดหงิด แต่กลายเป็นความยินดีที่ไม่ใช่ต้องจำทน แต่ว่าเป็นเรื่องที่เต็มใจทำ
มันไม่ใช่เฉพาะสิ่งที่เราไม่สามารถจะเลือกได้ในปัจจุบัน หรือในแต่ละขณะๆเท่านั้น แม้กระทั่งสิ่งที่เราไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้แล้ว เช่น เหตุการณ์ในอดีตเราเปลี่ยนมันไม่ได้ แต่ว่าเราสามารถที่จะเลือกมองในมุมใหม่ได้
อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ อดีตอาจารย์ประจำที่เชียงใหม่ ท่านเล่าว่า ก่อนที่ท่านจะเกษียณ เคยไปเรียนหนังสือที่ประเทศอินเดีย ไปเรียนปริญญาตรีตั้งแต่เป็นพระ แล้วก็อยู่ที่นั่น 11 ปีจนจบปริญญาเอก ตอนที่อยู่ที่นั่นโดยเฉพาะช่วงแรกๆมีความขมขื่นมาก เพราะว่าได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดีจากเพื่อนนักศึกษาด้วยกัน กลั่นแกล้ง ดูถูก
ตัวท่านเองก็มีปัญหาในเรื่องภาษา ลำบากมากในช่วงที่เรียนปริญญาตรี และแม้กระทั่งเรียนปริญญาโทปริญญาเอกก็ยังมีความรู้สึกที่ไม่ดีหลายอย่างเกี่ยวกับชีวิตที่นั่น รวมทั้งชาวอินเดียด้วย พอเรียนจบปริญญาเอกก็ตั้งใจว่า จะไม่กลับอินเดียอีกเลย เพราะว่าประสบการณ์ 11 ปีนี้มันขมขื่นมาก
แต่หลังจากกลับมาเมืองไทย ผ่านไป 20 ปีเมื่อท่านย้อนกลับไปมองช่วงเวลาที่อยู่ที่อินเดีย 11 ปี ท่านกลับพบว่า เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ท่านเติบโตหลายอย่าง ไม่ใช่แต่เฉพาะมีวิชาความรู้ แต่ว่าในเรื่องของชีวิตจิตใจ และสติปัญญาด้วย ทำให้ท่านเข้มแข็งขึ้นและทำให้เข้าใจในเรื่องของชีวิต เรื่องของจิตวิญญาณ
พอมองเห็นแบบนี้ ความรู้สึกต่ออินเดียหรือต่อเหตุการณ์ครั้งนั้นมันเปลี่ยนไปเลย จากเดิมที่รู้สึกขมขื่นจนกระทั่งอยากจะสาปส่ง กลายเป็นว่าซาบซึ้ง นึกถึงช่วงเวลาที่อยู่ที่อินเดียแล้ว มันไม่ได้มีความเจ็บปวดอีกต่อไป มันมีแต่ความซาบซึ้งประทับใจ ทำให้ตอนหลังก็ก็กลับไปอินเดีย กลับไปเยือนมหาวิทยาลัยที่เคยไปเรียนด้วยความรู้สึกขอบคุณ
อดีตที่เจ็บปวดมันเปลี่ยนไป ไม่รู้สึกเจ็บปวดอีกแล้ว กลับรู้สึกซาบซึ้ง เพราะว่าอะไรทั้งที่เหตุการณ์มันไม่เปลี่ยนแปลงไปเลยแม้แต่น้อย แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือมุมมองหรือการให้ความหมาย จากความหมายของการเรียน 11 ปีที่อินเดียเป็นความหมายที่แย่มาก แต่ตอนหลังมามองและให้ความหมายใหม่ว่ามันเป็นประสบการณ์ที่ดีมีคุณค่ามากเลย เพราะฉะนั้นเมื่อนึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นก็ไม่รู้สึกเจ็บปวดหรือเป็นทุกข์ กลับรู้สึกมีความสุขมีความประทับใจ
คนเราเปลี่ยนอดีตไม่ได้ แต่ว่าเราเปลี่ยนมุมมองหรือว่าให้ความหมายใหม่กับมันได้ อันนี้คือสิ่งที่เราเลือกได้ พอเราเลือกที่จะเปลี่ยนมุมมอง เป็นมุมมองที่สร้างสรรค์ ความรู้สึกทุกข์มันก็หายไปเลย มันกลายเป็นความรู้สึกประทับใจ ทั้งที่ตอนนั้นรู้สึกเจ็บปวดกับสิ่งที่เกิดขึ้นมาก
มีผู้ชายคนหนึ่งเล่าว่า ตอนเป็นเด็กลำบากมากเลย ที่บ้านนี้ฐานะก็ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว พ่อกลับไม่มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว นอกจากไม่ช่วยหาเงินให้กับครอบครัวแล้ว บางทีสร้างภาระ แล้วตอนหลังก็ทิ้งเมียทิ้งลูกไป ไปอยู่กับผู้หญิงคนอื่น ลูกๆลำบากมาก ตัวเขาเองก็ต้องลำบากตั้งแต่เล็ก ต้องทำงานหาเงินเล็กๆน้อยๆมาช่วยเหลือจุนเจือที่บ้าน เขาเล่าว่าก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่ง 2 บาท ต้องแบ่งกินกันทั้งบ้านเลย แม่กับพี่น้อง 3-4 คน ไม่ได้กินลูกชิ้นหรอก กินแต่เส้น
ช่วงที่พ่ออยู่ที่บ้านยังไม่ได้ทิ้งครอบครัวไป ก็มีเรื่องตบตีกับแม่ จนบางทีเขาต้องไปห้ามศึก บางทีก็โดนลูกหลง เขามีความรู้สึกที่ไม่ดีกับพ่อมาก บางทีถึงขั้นลงไม้ลงมือกัน เรียกว่าเขาต้องปากกัดตีนถีบตั้งแต่เล็กเลย เข้ามหาวิทยาลัยก็ต้องหาเงินส่งเสียตัวเอง แล้วก็ต้องหางาน ต้องรู้จักทำการค้าขาย ขายเสื้อยืดเอามาสกรีนขายตามมหาวิทยาลัย ก็ทำให้มีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว แม่และน้องๆ
ความลำบากก็ทำให้ต้องอดทน ต้องเข้มแข็ง ต้องรู้จักปากกัดตีนถีบ ประสบการณ์การหาเงินเลี้ยงครอบครัวก็ทำให้รู้ช่องทางในการทำธุรกิจ ตอนหลังก็ทำธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นๆ จากการเอาเสื้อมาขาย ก็ทำโรงงานผลิตเสื้อยืดเลย ตอนหลังก็แตก่กิจการไปทำอย่างอื่นอีก แตกไลน์ออกไปอย่างมากมาย โดยเฉพาะทำภัตตาคารที่ใหญ่มาก ประสบความสำเร็จ เรียกว่าเป็นเศรษฐีได้ระดับร้อยล้านเลย
ตอนหลังพ่อป่วย เขาก็ไปรับพ่อมาดูแล ตอนเด็กๆเขาเกลียดพ่อมากเลย แต่ว่าตอนที่เขามาดูแลนี่ไม่ได้มีความรู้สึกแบบนั้นอีกแล้ว มีแต่ความรู้สึกเห็นใจแล้วก็มีความรักด้วย ตอนหลังพ่อป่วยหนักเขาก็ดูแลเต็มที่ มีเงินเท่าไหร่ก็ทุ่มเพื่อรักษาให้หาย แต่ก็ไม่หาย ความสัมพันธ์ที่เคยร้าวฉานตอนเด็กๆตอนวัยรุ่นก็เปลี่ยนไปเป็นความรู้สึกที่สนิทสนม
ก่อนพ่อตายก็ได้กอดพ่อ แล้วก็บอกรักพ่อ ไม่มีความรู้สึกโกรธเกลียด ตอนนั้นความรู้สึกของเขา รู้สึกขอบคุณ เขาบอกว่า เป็นเพราะป๊า ผมจึงเป็นอย่างทุกวันนี้ หรือผมจึงมีวันนี้ หมายความว่ายังไงเพราะว่าพ่อก็ไม่ได้ดูแลเลี้ยงดูเขาเลย ไม่ได้สั่งสอนอะไรเขาเลย ไม่ได้ส่งเสียเขาเรียนหนังสือ แต่ทำไมเขาพูดว่าเป็นเพราะป๊า ผมจึงมีวันนี้
ก็เพราะการที่ป๊าไม่รับผิดชอบต่อครอบครัว มันทำให้เขาต้องรู้จักพึ่งตนเอง รู้จักขวนขวายดิ้นรนหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ทำไมเข้มแข็ง ทำให้มีประสบการณ์ ทำให้มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ถ้าพ่อไม่เป็นอย่างนี้ ก็อาจจะเป็นเหมือนนักศึกษาหรือคนหนุ่มทั่วไปที่ว่ามืออ่อนตีนอ่อน ช่วยเหลือตัวเองไม่เป็น
แต่นี่เขาต้องพึ่งตัวเองจนกระทั่งเข้มแข็ง แล้วก็ประสบความสำเร็จในทางธุรกิจ เขายกให้เป็นเพราะป๊าที่ไม่รับผิดชอบ ป๊าที่ไม่ดูแล อันนี้เขาเรียกว่าเปลี่ยนประสบการณ์ที่เลวร้ายในอดีตให้กลายเป็นสิ่งที่ดีงาม คนบางคนก็ยังรู้สึกเจ็บปวดกับพ่อที่ไม่รับผิดชอบ พ่อที่เห็นแก่ตัว ถ้าคิดแบบนี้มันก็จะมีแต่ความรู้สึกเจ็บปวด ความรู้สึกขมขื่น ซึ่งก็จะกลายเป็นสิ่งที่คอยล่ามจิตใจเอาไว้ไม่ให้ก้าวไปข้างหน้า เหมือนกับที่ได้เคยพูดไปหลายวันก่อน
แต่ว่าเขาเลือกที่จะมองมันในมุมใหม่ ไม่ได้มองว่ามันเป็นเคราะห์ มันเป็นสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเขา แต่มองว่มันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ที่มีส่วนหล่อหลอมให้เขาเข้มแข็งแล้วก็ประสบความสำเร็จในที่สุด พอเขาเปลี่ยนมุมมองแบบนี้ปุ๊บ เขาก็ไม่มีความรู้สึกฝังใจกับเหตุการณ์ในอดีต ไม่มีความรู้สึกเครียดแค้นอีกต่อไป มันเป็นความรู้สึกขอบคุณ ซึ่งมันก็ดีสำหรับเขาและกับพ่อเพราะมันทำให้เขาเป็นอิสระจากประสบการณ์ในอดีตได้ คือสามารถจะปล่อยวางประสบการณ์ที่เลวร้ายได้
ถ้ามองไม่เป็นมันก็จะเป็นประสบการณ์ที่ฝังใจ ที่ทำให้ชีวิตนี้ขมขื่น แล้วก็ไม่สามารถที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าได้ แต่เขาไม่มองแบบนั้น เขามองในมุมใหม่ ก็อย่างที่เขาพูดกันว่า เราเลือกเกิดไม่ได้ แต่ว่าเราเลือกที่จะมองเขาในมุมใหม่ได้ พอมองในมุมใหม่ มันทำให้เกิดพลังขึ้นมา มันจะทำให้เกิดความรู้สึกดีขึ้นมา
เพราะฉะนั้นมุมมองของคนนั้นสำคัญมากเลย ไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราในขณะนี้หรือว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วเราจะสุขหรือทุกข์หรือไม่ ก็ขึ้นกับว่าเรามองมันอย่างไร หรือเราให้คุณค่าหรือให้ความหมายกับมันอย่างไร มันมองได้อย่างน้อยก็สองแง่ ในแง่แง่ลบหรือแง่บวก ในแง่ที่บั่นทอนหรือในแง่ที่สร้างสรรค์
มันมีกลอนบทหนึ่งที่พระฝรั่ง ฟาร์เทอร์ฮีแลร์ ซึ่งท่านรู้ภาษาไทยดีมาก สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม อีกคนตาแหลมคมมองเห็นดาวอยู่พราวแพรว ช่องเดียวกันคนหนึ่งมองเห็นโคลนตม แต่อีกคนจะมองเห็นดาวระยิบระยับพราวแพรว เหตุการณ์เดียวกันก็เหมือนกัน เหตุการณ์หนึ่งเราก็มองได้ 2 อย่าง มองว่ามันเลวร้ายก็ได้ บั่นทอนก็ได้ หรือมองว่ามันมีประโยชน์ มันมีคุณก็ได้
เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น มันไม่ได้เกิดขึ้นอย่างว่างเปล่า มันอยู่ที่ว่าเราจะให้ค่าหรือเราจะมองมันอย่างไร
ถ้าเราสามารถทำใจได้ สักแต่ว่า สักแต่ว่า มันก็ดี แต่ว่าสักแต่ว่าเกิด แต่ไม่มีความหมายอะไรมาก
แต่ตราบใดที่คนเรายังมองสิ่งต่างๆด้วยการที่ให้ความหมายกับมัน เราก็ควรที่เลือกจะให้ความหมายในทางบวก เพราะมันก็ทำให้เรากำลังใจ หรือทำให้เราได้ประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้น แม้ว่ามันจะเป็นสิ่งที่เลวร้ายแค่ไหนก็ตาม อันนี้คือสิ่งที่เราเลือกได้ เหตุการณ์เราเลือกไม่ได้ในบางครั้ง แต่ความรู้สึกสุขหรือทุกข์ ดีหรือร้าย นี่มันเลือกได้ เพราะมันอยู่ที่มุมมองของเราด้วย
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 1 ตุลาคม 2564