แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เด็กชายคนหนึ่งอายุประมาณ 6-7 ขวบ เป็นเด็กฉลาด แต่ว่าเป็นเด็กสมาธิสั้นด้วย เพราะฉะนั้นก็อยู่นิ่งนานๆไม่ค่อยได้ เวลาอยู่ในห้องเรียนก็กระดุกกระดิก หันไปคุยกับเพื่อนบ้าง ครูก็ว่าอยู่เป็นประจำว่าให้อยู่นิ่งๆตั้งใจเรียน เวลาพัก เด็กคนนี้ก็อย่างที่ว่า อยู่ไม่สุข เพื่อนบางทีกำลังทำการบ้าน ก็ไปชวนเพื่อนคุยเพื่อนก็รำคาญ บางทีก็มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกัน ครูก็เอาเรื่องนี้ไปรายงานให้แม่ของเด็กฟังอยู่เรื่อยๆ
แม่ก็รู้สึกหนักใจ ตอนหลังเวลาลูกกลับมาถึงบ้าน แม่จะถามลูกอยู่แทบทุกวันเลยว่า วันนี้มีเรื่องอะไรที่โรงเรียนหรือเปล่า หรือว่าวันนี้ไปมีเรื่องกับใครที่โรงเรียนบ้าง ถามอยู่แทบทุกเย็นเลย
มีวันหนึ่ง ที่โรงเรียน ครูให้นักเรียนเขียนเรียงความหัวข้อว่า ความดีที่ฉันภูมิใจ ให้เขียนแจกแจงมาสัก 5 ข้อ เด็กคนอื่นทำได้หมดเลย แต่เด็กคนนี้เขียนไม่ออก ไม่รู้ว่าตัวเองมีความดีอะไรบ้างที่น่าภาคภูมิใจ ครูเห็นผิดสังเกต ก็เลยมาเล่าให้แม่ฟัง แม่ได้ยิน ก็ร้องไห้เลยเพราะแม่รู้ว่า มันเป็นเพราะอะไร ก็เป็นเพราะว่าแม่คอยถามลูกอยู่ทุกวันว่า วันนี้มีเรื่องกับใครมาบ้าง ไปทะเลาะกับใครมาบ้าง หรือไม่ก็ไปสร้างปัญหาให้กับครูหรือเปล่า
เด็กเจอแม่ถามอย่างนี้อยู่ทุกวันๆก็เลยรู้สึกว่าตัวเองนี้ไม่มีดีอะไรเลย ถึงเวลาเขียนเรียงความก็เลยเขียนไม่ออก เพราะมองไม่เห็นความดีของตัวเลย แม่ก็เสียใจ มาปรึกษาอาตมาว่าทำยังไงดี อาตมาก็เลยแนะนำว่า ทีหลังเวลาลูกกลับจากโรงเรียน ถามใหม่สิว่า ลูก วันนี้ทำอะไรดีๆมาบ้าง ถ้าถามอย่างนี้จะทำให้ลูกรู้สึกดีขึ้น อย่างน้อยก็ทำให้เริ่มที่จะได้คิด มองว่าวันนี้ฉันทำอะไรดีมาบ้าง เพื่อทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองมีความดีไม่มากก็น้อย ไม่ใช่แม่เอาแต่ถามว่า วันนี้ลูกไปมีเรื่องกับใครมาบ้าง แบบนี้มันก็เอาแต่ตำหนิต่อว่ากลายๆ หรือเรียกว่าจ้องจับผิดก็ได้ แทนที่จะจับผิดลูก ก็จับถูกซะ ก็คือ ถามว่าลูกได้ทำอะไรดีๆในวันนี้มาบ้าง
ใหม่ๆลูกอาจจะตอบยาก แต่ว่าถ้าแม่ชวนซักชวนถามชวนคุย เด็กก็จะเริ่มเห็นว่า วันนี้ช่วยเพื่อน วันนี้ช่วยเก็บขยะในโรงเรียน เด็กก็เริ่มเห็นความดีของตัวแล้ว เริ่มเกิดความภูมิใจในตัวเองขึ้นมา ไม่ได้รู้สึกว่าฉันเป็นเด็กมีปัญหา สร้างแต่ปัญหาให้กับแม่ หรือว่าคอยไปมีเรื่องที่โรงเรียน เพราะฉะนั้นคำชมก็ดี หรือว่าคำถามประเภทจับถูกก็ดี มันก็มีความสำคัญกับเด็ก
มีเด็กอีกคนหนึ่ง อายุก็ประมาณ 8-9 ขวบ เป็นเด็กชายเหมือนกัน ไม่ว่าวิชาไหน แกก็ไม่สนใจ ไม่เอาใจใส่เลย ไม่เอาใจใส่ในการเรียน ครูให้ทำอะไรก็ไม่ทำ การบ้านก็ไม่สนใจ เรียกว่าเป็นทุกวิชาเลยจนกระทั่งเป็นที่กล่าวขานกันในหมู่ครูว่า เด็กคนนี้ไม่ได้เรื่อง แล้วก็มาถึงวิชาหนึ่ง วิชาศิลปะ ครูให้วาดอะไร เด็กก็ไม่วาด
แต่ครูแทนที่จะโกรธ แทนที่จะหาว่าเด็กนี่ดื้อ ครูก็พยายามที่จะชักชวนให้เด็กลองวาดอะไรสักอย่างดู วาดทิวทัศน์ไม่ได้ ก็เลยชวนให้เด็กจับพู่กันแล้วก็ตวัดเป็นวงกลม ทีแรกเด็กก็ไม่ร่วมมือ บ่ายเบี่ยง แต่ครูก็ไม่โมโห คะยั้นคะยอให้เด็กลองตวัดพู่กันดู เด็กก็ทำแบบขอไปที ครูบอกทำใหม่ ลองทำดู เด็กก็ตวัดอีกทีแบบไม่ค่อยใส่ใจ แต่คราวนี้ครูบอกว่า วงกลมที่เธอตวัด มันสวยนะ
เด็กดีใจมากเลยเพราะไม่เคยได้รับคำชมจากครูคนไหนเลย ครูไม่ว่าวิชาไหน ก็เอาแต่ต่อว่าเด็กคนนี้ว่าดื้อ ไม่เอาใจใส่ในการเรียน ขี้เกียจ แต่ว่าเป็นครั้งแรกที่ได้คำชมจากครูสอนศิลปะ กลับไปบ้าน แกไม่ทำอะไรนอกจากเอาพู่กันมาตวัด พอมาถึงวิชาศิลปะครั้งต่อไป แกตวัดให้ครูดู ครูชมเลยว่าตวัดสวย มันกลมมันมีพลัง
ตอนหลังเด็กก็เลยเอาใจใส่ในวิชาศิลปะของครูคนนี้ ครูแนะนำให้ทำอะไร แกก็ทำ และก็ทำได้ดีด้วย ตอนหลังฝีมือก็พัฒนาขึ้น วาดรูปด้วยพู่กันเรียกว่าคุณภาพดี ตอนหลังก็ได้รางวัลชนะเลิศของโรงเรียน รูปของแกก็ถูกนำไปติดในนิทรรศการศิลปะของโรงเรียน แกภาคภูมิใจ มีเด็กเล็กๆคนหนึ่งอายุประมาณ 6-7 ขวบมาดูภาพของแก เด็กก็ชื่นชมว่าสวยดี แต่เด็กก็บอกกับเด็กชายเจ้าของภาพว่า ผมคงวาดไม่ได้แบบนี้หรอก เจ้าของภาพก็บอกว่าวาดได้สิ ถ้าเธอขยัน ถ้าเธอทำอยู่บ่อยๆ เด็กก็เกิดกำลังใจเลย
อันนี้ก็เป็นพัฒนาการของเด็กที่ดูเหมือนไม่เอาถ่านในสายตาของครู แต่ปรากฏว่าก็กลายเป็นเด็กที่เอาดีได้ในทางศิลปะ และก็สามารถที่จะสนับสนุนให้คนอื่นๆได้เกิดแรงบันดาลใจ เด็กเอาดีทางศิลปะได้อย่างไร ก็เพราะว่าได้คำชมของครู ทำให้เกิดความมั่นใจ ตอนหลังเด็กคนนี้ก็เริ่มเอาใจใส่ในการเรียนวิชาต่างๆมากขึ้น เพราะว่า รู้ว่าตัวเองสามารถจะเอาดีได้ เกิดมีความเชื่อมั่นในตัวเองขึ้นมา
ก่อนหน้านี้ที่ไม่เอาใจใส่ในการเรียนไม่ว่าจะวิชาใดเลย ไม่ใช่เพราะขี้เกียจ ไม่ใช่เพราะว่านิสัยไม่ดี แต่เป็นเพราะรู้สึกว่าเอาดีไม่ได้ ฉันไม่สามารถจะเอาดีได้ในวิชาไหน เรียนก็ไม่รู้เรื่อง คะแนนที่ได้ก็ตกต่ำ ถกครูว่า ยิ่งครูว่า ก็เชื่อว่าตัวเองไม่มีความสามารถ พอเด็กคิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถ เด็กก็ไม่มีกำลังใจที่จะเรียน ไม่ว่าจะเป็นวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ หรือว่าวิชาภูมิศาสตร์ ไม่ใช่เด็กเกเร
แต่ว่าตัวเองไม่มีความเชื่อมั่น ไม่รู้ว่าจะเรียนไปทำไม เรียนไปก็ถูกครูดุครูว่า แต่พอมีครูคนหนึ่งชมขึ้นมา ก็เริ่มรู้สึกว่าตัวเองสามารถจะเอาดีได้ หรือว่ามีดีที่จะพัฒนาได้ เกิดความมั่นใจในตัวเอง พอทำแล้วมันดี ก็เกิดความมั่นใจ แล้วก็เชื่อว่าตัวเองสามารถที่จะเอาดีในวิชาอื่นได้ด้วย อันนี้เรียกว่าเพราะว่าได้รับคำชม คำชมที่เหมาะสม คำชมที่ถูกเวลา หรือว่าตรงกับความรู้สึกในจิตใจของเด็ก มันก็ช่วยทำให้เกิดพลังขึ้นมา
ในทางตรงข้าม ถ้าหากเอาแต่ตำหนิ หรือจ้องจับผิดเด็ก แม้จะปรารถนาดี แต่เจอบ่อยๆเด็กก็จะรู้สึกว่าไม่มีดีอะไรเลย เอาดีไม่ได้ ไม่รู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง แบบนี้จิตใจก็ยิ่งจมดิ่งเข้าไปใหญ่ ต่อไปไม่เอาดีทางการเรียนก็ไปเอาดีทางด้านอื่นที่มันเกเรหรือว่าที่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆ ซึ่งถ้าเป็นเพื่อนที่ไม่ดีก็หันเหไปในทางที่ไม่ดีได้ เช่น ติดยา กินเหล้า หรือว่าไปตีกัน ทำแล้วมีคนชมคือเพื่อน ก็ยิ่งทำใหญ่ ไปเอาเด่นทางไม่ดีแทน อันนี้ก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กวัยรุ่นจำนวนมากเพราะว่าพื้นฐานตอนเป็นเด็กเล็กนี้มันไม่ค่อยดีเท่าไหร่จากตัวอย่างที่เล่ามา
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 1 ตุลาคม 2564