แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นัสรูดินเป็นคนที่คิดอะไร ทำอะไร ไม่ค่อยเหมือนใคร เขาเป็นคนที่เข้าใจจิตใจมนุษย์ วันหนึ่งเขาเดินไปตลาด ได้ยินเสียงตะโกนโหวกเหวกอยู่ที่ริมบึง เขาก็เดินไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น ปรากฏว่ามีผู้ชายคนหนึ่งตกน้ำ เขาว่ายน้ำไม่เป็น แล้วก็กำลังจะจมน้ำ มีหลายคนอยู่ที่ริมฝั่ง แล้วก็บอกให้ชายคนนั้นยื่นมือมาๆ จะได้คว้าขึ้นกับน้ำชายคนนั้น เขาก็ไม่ยอมยื่นมือมา ทั้งๆที่ชายคนนั้นกำลังจะแย่อยู่แล้ว
นัสรูดินก็เลยไปที่ริมบึงนั่น แล้วก็ยื่นมือไปที่ชายคนนั้น แล้วก็บอกเขาว่า คว้ามือฉันสิๆ ปรากฏว่าชายคนนั้นก็คว้ามือนัสรูดินอย่างว่าง่าย แล้วนัสรูดินดึงเขาขึ้นมาบนฝั่ง เป็นอันว่ารอดตาย คนที่อยู่ในเหตุการณ์ก็แปลกใจ ถามนัสรูดินว่า ทำไมเขาเชื่อคุณ คุณบอกให้เขาคว้ามือของคุณ เขาก็คว้า แต่พวกเราบอกให้เขายื่นมือมา เขาก็ไม่ยอมยื่นเลย ทั้งที่เขากำลังจะตาย
นัสรูดินก็เลยอธิบายว่า ผู้ชายคนนี้เป็นพ่อค้าหน้าเลือด ทั้งชีวิตมีแต่เอากับฉวยจากคนอื่น เขาไม่เคยให้หรือจะหยิบยื่นอะไรให้ใครเลย คุณไปบอกให้เขายื่นมือ เขาไม่ยื่นหรอก แต่ถ้าเกิดว่าให้เขาคว้ามือ จับมือ เขาทำ อันนี้ก็คือเคล็ดลับของนัสรูดินในการช่วยเหลือชายคนนั้น
นิทานเรื่องนี้สอนว่า คนเราจะช่วยใคร นอกจากมีเจตนาดีแล้ว มันต้องเข้าใจจิตใจของคนที่เราต้องการจะช่วยด้วย มีเจตนาดีอย่างเดียวยังไม่พอ ถ้าไม่เข้าใจจิตใจของคนๆนั้น ก็ช่วยเขาก็ไม่สำเร็จ นัสรูดินก็รู้ว่าพ่อค้าหน้าเลือดคนนี้ จะให้เขายื่นมือให้กับคนบนตลิ่ง เขาไม่ยื่นหรอก เพราะเขาก็ไม่เคยหยิบยื่นอะไรให้ใคร เขามีแต่เอามีแต่ฉวยจากคนอื่น เพราะฉะนั้น จะช่วยเขาก็ต้องยื่นมือให้เขา แล้วให้เขาคว้า ให้เขาจับ
คนเรา อย่างที่บอก เวลาเขาประสบความเดือดร้อนประสบความทุกข์ ถ้าเราอยากจะช่วยเขา นอกจากเมตตากรุณาแล้ว เราก็รู้จักจิตใจของเขาหรือสภาวะอารมณ์ของเขา ไม่เช่นนั้น สิ่งที่เราพูดหรือทำไป มันก็อาจจะไม่ช่วยเขาเท่าไหร่ อย่างหลายคนที่กำลังประสบความทุกข์ใจ เพราะว่าสูญเสียคนรัก สูญเสียของรัก หรืออกหัก หลายคนก็ไปบอกว่า อย่าร้องไห้ ๆ หรือไม่ก็บอกว่าเข้มแข็งนะ ๆ
อันนี้นอกจากไม่ช่วยเขาแล้ว ยังอาจจะทำให้เขาไม่พอใจมากขึ้น เพราะเหมือนกับไปตำหนิว่าเธอยังเข้มแข็งไม่พอ หรือว่าเธอยังไม่เป็นเหมือนฉันนี่ จะบอกว่า ให้ฉันไม่ร้องไห้ได้อย่างไร เขารู้สึกว่าถูกตำหนิกลายๆ
เช่นเดียวกับคนป่วย โดยเฉพาะคนป่วยหนักระยะสุดท้าย คนที่มาเยี่ยมหลายคนก็ปรารถนาดี ไปให้กำลังใจ แต่ว่าไม่รู้วิธีให้กำลังใจ ก็บอกเขาว่าสู้ๆนะ สู้ๆนะ เข้มแข็งนะเข้มแข็งนะ คนป่วยหลายคน เรียกว่าส่วนใหญ่เลยก็ว่าได้ พอเจอคำพูดแบบนี้ เขาไม่ได้ยินดีด้วย ไม่ได้เกิดกำลังใจ กลับรู้สึกว่าแย่ เพราะเขากำลังถูกตำหนิกลายๆว่า ยังเข้มแข็งไม่พอ ยังสู้ไม่พอ
เขาอาจจะนึกในใจว่าฉันก็สู้อยู่แล้ว ยังไม่รู้เหรอว่าเขาสู้อยู่แล้ว ฉันสู้เต็มที่อยู่แล้ว ยังมาบอกให้ฉันสู้ๆอีก ลองมาเป็นฉันสิ ในยามนั้นคนที่เขาทุกข์ เขาไม่ได้ต้องการคำแนะนำเท่าไหร่ สิ่งที่เขาต้องการอาจจะเป็นความรัก ความห่วงใย เช่น แทนที่จะบอกว่าสู้ๆ ก็บอกว่ารักนะ ห่วงใยนะ อันนี้จะช่วยเขาได้มากเพราะว่าเขาต้องการเพื่อน ไม่ได้ต้องการคำแนะนำ จะไปเอาธรรมะประเคนให้เขาหรือว่ายัดเยียดให้เขานี่ กลับจะไม่มีประโยชน์ แต่ว่าถ้าไปเป็นเพื่อนเขา พร้อมที่จะอยู่ข้างๆเขา แม้จะไม่พูดอะไรเลย หรือทำให้เขารู้สึกว่าเราเป็นห่วงเขา อันนี้กลับช่วยได้ดีกว่า
เคยมีโครงการหนึ่ง ชักชวนคนทำตุ๊กตาผ้าเพื่อมอบให้กับเด็กที่เจ็บป่วยตามโรงพยาบาล ก็มีหลายคนให้ความร่วมมือดี เย็บตุ๊กตาผ้าตัวเล็กๆ ส่งให้เด็ก พร้อมกับเขียนข้อความติดตุ๊กตาด้เขาวย เป็นข้อความให้กำลังใจ แต่ก็พบว่า ตุ๊กตาที่เด็กไม่ค่อยหยิบเลย หรือไม่ค่อยสนใจเลย คือ ตุ๊กตาที่เขียนข้อความว่าสู้ๆนะทั้งๆที่ตุ๊กตานั้นก็น่ารัก
แต่ตุ๊กตาที่เด็กชอบแล้วก็ไม่เหลือเท่าไหร่ ก็คือ ตุ๊กตาที่เขียนข้อความทำนองว่า รักนะ เป็นห่วงนะ หรือไม่ก็บอกว่า ถ้าเธอเจ็บปวดก็กอดฉันนะ ตุ๊กตาแบบนี้เด็กชอบ ก็หยิบไป ทั้งที่อาจจะไม่ได้สวยเท่าไหร่ นี่ขนาดเด็กนะ คำว่าสู้ๆ ไม่ใช่เป็นคำที่เขาจะยินดีรับเท่าไหร่
แต่ว่าพวกเราที่ไม่เจ็บไม่ป่วย บางทีไม่เข้าใจ อาจจะเป็นเพราะว่าเราคุ้นกับสติ๊กเกอร์ที่บอกว่าสู้ๆ สู้ๆ พอไปเยี่ยมคนป่วย พอไปเยี่ยมคนที่กำลังมีความทุกข์โศก ไม่รู้ว่าจะพูดอะไรดี ก็พูดข้อความทำนองนี้แหละหรือไม่เช่นนั้นก็ให้คำแนะนำในเชิงธรรมะ ปล่อยวางนะ อะไรๆก็ไม่เที่ยงนะ อะไรทำนองนี้ ยิ่งคำว่าเข้มแข็งนะ อย่าร้องไห้นะ เขาก็ยิ่งรู้สึกว่า นี่กำลังมาสอนฉัน คำพูดเหล่านี้มันก็เลยไม่เป็นประโยชน์กับคนทุกข์หรือว่าคนป่วยหรือคนที่เราต้องการช่วยเหลือเท่าไหร่
ความปรารถนาดียังไม่พอ ต้องเข้าใจจิตใจของคนเหล่านั้น คนที่เราต้องการช่วยด้วย เราจะเข้าใจได้ บางทีก็ต้องอาศัยเอาใจเขามาใส่ใจเรา เช่น เวลาที่เราเจ็บป่วย เวลาที่เรามีความทุกข์ เราอยากฟัง คำพูดแบบไหน เราต้องการเพื่อนมากกว่า เพื่อนที่เข้าใจความรู้สึกของเรา ยอมรับความรู้สึกของเรา โดยไม่ตัดสิน โดยไม่ตำหนิ โดยไม่สอน แค่เป็นเพื่อนร่วมรับรู้ความรู้สึก มันก็ช่วยถ่ายเทความทุกข์ออกจากใจไปได้ไม่น้อยเลย
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 28 กันยายน 2564