แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
2-3 วันก่อน ได้พูดถึงพ่อค้าคนหนึ่ง ซึ่งเคยเอาแต่ทำมาหากินจนกระทั่งได้มีโอกาสไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิภาวนา แล้วเกิดความประทับใจในความสงบที่เกิดขึ้น ก็เลยนั่งสมาธิทุกเย็นหลังจากที่ปิดร้าน ก็ราบรื่นดีจนกระทั่งวันหนึ่งรู้สึกหงุดหงิดขึ้นมาเพราะว่า มีเด็กกลุ่มหนึ่งมาเล่นฟุตบอลอยู่หน้าร้าน ทำให้เขาทำสมาธิไม่เป็นสุข ก็เลยออกอุบาย สุดท้ายเด็กก็เลิกเล่นฟุตบอล โดยที่ไม่ได้ขับไสไล่ส่งเด็ก แต่ใช้วิธีการที่เนียนกว่านั้น
ที่จริงถอยหลังไปก่อนหน้านี้ ที่พ่อค้าคนนี้จะมาสนใจสมาธิภาวนา ทุกเย็นวันศุกร์เด็กกลุ่มนี้ก็นัดกันมาเล่นเป็นประจำอยู่แล้วที่หน้าร้านของพ่อค้าคนนี้ แกก็ไม่ได้รู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจอะไรเลยกับเด็กกลุ่มนี้เพราะว่าเด็กกลุ่มนี้ก็มาเล่นแบบนี้ทุกเย็นวันศุกร์เป็นเวลาหลายเดือน ก็น่าคิดว่า ทำไมก่อนที่จะมาสนใจทำสมาธิภาวนา ก็ไม่มีปัญหากับเสียงเอ็ดตะโร เสียงหัวเราะเฮฮา ตะโกนโหวกเหวกของเด็กที่มาเล่นฟุตบอลเลย
แต่ว่าพอแกหันมาสนใจทำสมาธิภาวนา จะเกิดทนไม่ได้ขึ้นมากับเสียงของเด็กเหล่านี้ ทั้งที่ก่อนหน้านั้น เวลาปิดร้าน แกก็อาจจะทำงานทำการ คิดบัญชี ก็มีเสียงดังจากข้างนอกเพราะว่าเด็กเล่นฟุตบอลกัน แกก็ไม่รู้สึกรำคาญเลย แกก็ยังทำงานของแกต่อไปได้ แต่พอมาทำสมาธิภาวนาแล้ว ก็เกิดทนไม่ได้กับเสียงเหล่านี้ เพราะว่าพอได้มาทำสมาธิภาวนานั้น ก็เกิดความสงบในจิตใจ แล้วก็รู้สึกมีความสุข กับใจที่สงบ
อาจจะคิดด้วยซ้ำว่า รู้งี้ มานั่งสมาธิหรือฝึกสมาธิ นานแล้ว แต่ก่อนก็บ่ายเบี่ยงมาตลอด พึ่งมาพบกับความสงบในจิตใจ รู้งี้ทำไปนานแล้ว แกคงนึกในใจแบบนี้ คราวนี้พอได้พบความสุขจากใจที่สงบ ก็อาจจะติดใจในความสงบนั้น พอติดใจในความสงบ ถึงคราวที่ความสงบใจมันแตกกระเจิง แกก็เลยเป็นทุกข์ ก็ธรรมดา คนเรามีความสุขเพราะอะไร มันก็พร้อมจะเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น หากว่าสิ่งนั้นเกิดแปรปรวนหรือดับหายไป
แต่ก่อนก็ไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไรกับเสียงของเด็กเหล่านั้น แต่ตอนนี้รู้สึกหงุดหงิดขึ้นมาแล้ว เพราะคิดว่า เสียงเด็กเหล่านี้ทำให้ฉันไม่มีความสงบใจอย่างที่เคยได้รับ ความหงุดหงิดส่วนหนึ่งก็เกิดจากความรู้สึกติดสงบ พอติดสงบแล้ว พอความสุขมันหายไปก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา ที่จริงความทุกข์ มันยังเกิดขึ้นจากการที่เข้าใจความสงบไม่ถูกต้องไม่ได้ คือ ไปเข้าใจว่าการที่ใจไม่สงบเป็นเพราะว่าเสียงรบกวนจากข้างนอก
เพราะฉะนั้น ก็เลยหาทางจัดการให้เด็กกลุ่มนี้เลิกเล่นฟุตบอล เพราะว่าหน้าร้านจะได้มีความสงบกลับคืนมา แล้วก็พลอยทำให้ใจสงบไปด้วย แกไปเข้าใจว่า ที่ใจไม่สงบเพราะว่าเสียงจากข้างนอก แต่ที่จริงแล้ว ที่ใจไม่สงบ เป็นเพราะสิ่งรบกวนจากภายในมากกว่า มันไม่ใช่เสียงรบกวนที่ดังจากข้างนอกที่เด็กมาเล่นฟุตบอลกัน แต่เป็นเพราะสิ่งที่รบกวนภายในจิตใจของพ่อค้าคนนั้นต่างหาก
สิ่งที่รบกวนให้คืออะไร คือความหงุดหงิด ความไม่พอใจ เพราะอะไร เพราะว่ามีความคาดหวังว่า หน้าบ้านหรือว่ารอบตัวนี้ มันจะสงบ ไม่มีเสียงรบกวน แต่ก่อนไม่มีความคาดหวังแบบนั้น ก่อนหน้าที่จะมาฝึกสมาธิภาวนา ไม่ได้มีความคาดหวังว่าหน้าร้านมันจะมีความสงบ เพราะฉะนั้น เด็กมาเล่นบอลอะไรกัน แกก็ไม่ได้รู้สึกหงุดหงิดรำคาญอะไร แต่พอมามีความคาดหวังอยากจะให้หน้าร้านมีความสงบ พอมีเสียงดังขึ้นมา ก็เลยเกิดความหงุดหงิด
ความหงุดหงิดไม่ได้เกิดจากเสียงดัง แต่เกิดจากการที่ความคาดหวังมันไม่ได้รับการตอบสนอง เพราะก่อนหน้า แกก็ไม่ได้หงุดหงิดอะไรเลยเพราะแกไม่มีความคาดหวังว่าข้างนอกมันจะต้องไม่มีเสียงดัง นาทีที่มาปฏิบัติธรรม มาเจริญสติน้ำมันเจอสมาธิภาวนาและทำให้เกิดความคาดหวังขึ้นมาว่าอยากให้ข้างนอกสงบ พอข้างนอกมีเสียงดังก็เลยเกิดความรู้สึกผิดหวัง เกิดความหงุดหงิด อันนี้คือประการที่ 1
แล้วประการที่ 2 ก็คือมีความรู้สึกลบกับเสียงนั้น ก่อนที่จะมานั่งสมาธิ ก็ไม่ได้รู้สึกลบกับเสียงของเด็กที่มาเล่นฟุตบอล อาจจะเห็นว่าเป็นธรรมดาเด็กมันก็ต้องมาเล่นฟุตบอลกัน รู้สึกว่าเสียงนั้นมันเป็นเรื่องธรรมดาที่เด็กจะส่งเสียงดัง เขาก็เลยไม่หงุดหงิด แต่ตอนหลังพอมาทำสมาธิภาวนา มันก็เกิดความรู้สึกลบกับเสียง ก็เลยเกิดความหงุดหงิดขึ้นมา เป็นเพราะความรู้สึกลบต่อเสียงดัง มันไม่ใช่เพราะเสียง แต่เป็นเพราะความรู้สึกลบต่อเสียงต่างหาก
ถ้าหากลองเปลี่ยนความรู้สึกลบมาเป็นความรู้สึกบวก เสียงมากระทบก็ไม่ทุกข์ไม่หงุดหงิด เช่น รู้สึกว่าเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ว่า เขามีความสุขกัน เด็กเหล่านั้นเหมือนกับลูกหลาน เขามีความสุขที่มาเล่นตอนเย็น มันดีกว่าไปมั่วสุม ดมยาหรือเสพยา มาออกกำลังกายตอนเย็น ดีแล้ว ไม่งั้นไปมั่วสุมทำสิ่งที่ไม่ดี ถ้าคิดแบบนี้เข้า เสียงเด็กเล่นฟุตบอลมากระทบหู มันก็จะไม่รู้สึกหงุดหงิด
ก็เหมือนกับเรื่องที่เคยเล่าว่า ที่ผู้ชายคนหนึ่งนั่งสมาธิทุกเช้า แล้วก็ได้พบความสงบทุกครั้งจากการนั่งจนกระทั่งมันมีเสียงเลื่อยยนต์ดังมาจากบ้านข้างเคียง ทีแรกใจก็กระเพื่อมพอเสียงระทบหู แต่ว่าเขารู้ทันพอมีเสียงเกิดขึ้น เขาก็มีสติ รู้ทัน พอรู้ทัน ความหงุดหงิดก็ดับไป แต่แล้วเขาก็กระเพื่อมขึ้นมาใหม่ แล้วมันก็ดับไป เพราะมีสติรู้ทัน แต่ว่าทันทีที่เขาเริ่มหันมามองว่าเสียงเลื่อยยนต์มันคล้ายเสียงเพลง
พอเขาคิดว่ามันเป็นเสียงเพลงเพราะว่ามีลักษณะบางอย่างคล้ายเสียงเพลงแบบเพลงเฮพวี่ ใจก็หายหงุดหงิดเลย กลับเพลินกับเสียงเลื่อยยนต์ เสียงก็ยังเป็นเสียงเหมือนเดิม แต่ทำไมความรู้สึกเปลี่ยนไปเพราะว่าไม่ได้มองว่ามันเป็นเสียงรบกวนอีกต่อไปแล้ว แต่ว่ามองว่าเป็นเสียงเพลง อันนี้เพราะมีความรู้สึกบวกกับเสียงนั้น
พอเสียงเลื่อยยนต์หายไปในบางช่วง กลับอยากจะให้เสียงมันดังขึ้นมาใหม่ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นอยากจะให้มันหายไปเลย แสดงว่าเสียงไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือทัศนคติหรือมุมมองหรือความรู้สึกของเราต่อเสียงนั้น ถ้ารู้สึกลบก็ทุกข์เมื่อได้ยินเสียง แต่ถ้ารู้สึกบวกก็เฉยๆหรือว่าเพลินกับเสียงนั้นเมื่อมันกระทบหู
แล้วที่จริงแล้วนั้นความหงุดหงิดรำคาญใจ มันยังเกิดขึ้นจากการที่ใจไปจดจ่อกับเสียงนั้น ถ้าใจไม่ไปจดจ่อกับเสียงนั้นมันก็ไม่มีปัญหาอะไร เอาใจมารับรู้อยู่กับลมหายใจ เสียงมากระทบหูก็สักแต่ว่าได้ยิน ไม่เก็บไม่จดจ่อ แต่ว่าจิดของพ่อค้าแกไปจดจ่ออยู่ที่เสียง ไม่ชอบเสียงนั้น กลับยิ่งไปจดจ่อที่เสียงนั้น
มันก็คล้ายกับที่ลูกศิษย์หลวงปู่บุดดากับเสียงเกี๊ยะที่ดังเข้ามาจากห้องข้างเคียง ไม่เกรงใจกันเลย จนกระทั่งหลวงปู่ต้องพูดให้ข้อคิดว่า เขาเดินของเขาอยู่ดีๆ เอาหูไปลองเกี๊ยะเอ็ง คือถ้าไม่เอาหูไปลองเกี๊ยะมันก็ไม่หงุดหงิดหรอก อันนี้มันก็ชี้ให้เห็นว่า เป็นเพราะใจของเขาต่างหากที่ไปจดจ่ออยู่กับเสียง ไม่ใช่เพราะเสียงเป็นปัญหาโดยตรง หรือเป็นสาเหตุแห่งความหงุดหงิด แต่เป็นที่ใจของเขาต้องหากที่วางไว้ไม่เป็น วางไว้ไม่ถูก ไปจดจ่อ
แล้วมันไม่ใช่จดจ่ออย่างเดียว มันมีอาการผลักไส มีการต่อสู้ ลองสังเกตดู เวลามีเสียงมากระทบหูเรา ถ้าใจเราแค่รู้สึกเฉยๆกับมัน อย่างที่ครูบาอาจารย์บอกว่ารู้ซื่อๆ หรือว่าสักแต่ว่าได้ยิน มันไม่ทุกข์หรอก แต่เพราะใจไม่เพียงแต่ไปจดจ่อ แต่ยังมีอาการผลักไส และยิ่งไม่ไป เสียงยังดังอยู่ ก็ยิ่งหงุดหงิด อันนี้คือสิ่งที่คนไม่ค่อยตระหนักเท่าไหร่
ก็ไปโทษว่าเสียงคือสาเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ใจ เกิดความหงุดหงิด ทำให้ความสงบใจมันหายไป มีเรื่องเล่าสมัยที่หลวงพ่อชา ท่านได้รับนิมนต์ไปแสดงธรรมที่ประเทศอังกฤษเมื่อสัก 40 ปีที่แล้ว ตอนนั้นท่านก็มีลูกศิษย์เป็นพระฝรั่ง เช่น หลวงพ่อสุเมโธไปด้วย เจ้าภาพเป็นชาวอังกฤษให้พักอยู่ที่วิหารกลางกรุงลอนดอน ย่านนั้นก็มีผับมีบาร์
พอถึงเวลาตอนเย็นๆค่ำๆ ท่านก็พาพระและโยมนั่งสมาธิ ก็เป็นช่วงเดียวกันกับที่ผับบาร์เปิด แล้วก็มีเสียงดังเป็นเสียงเพลง เสียงคนขับสีตีเปาเสียงคนร้องเพลงกัน เสียงก็ดังมาถึงห้องประชุมในวิหารที่ผู้คนกำลังนั่งสมาธิ ก็มีพระและโยมหลายคนนั่งสมาธิไม่เป็นสุขกันเลย แต่หลวงพ่อชาท่านนั่งสงบเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
พอมานั่งสมาธิเสร็จ ก็มีเจ้าภาพมาขอโทษหลวงพ่อว่า วันนี้ขอโทษที่เสียงดนตรีรบกวนการนั่งสมาธิ หลวงพ่อท่านยิ้มแล้วก็ตอบว่า โยมไปคิดว่าเสียงดนตรีรบกวนเรา ที่จริงเราต่างหากที่ไปรบกวนเสียงดนตรี แล้วท่านก็บอกว่าที่พวกเธอหงุดหงิด เพราะใจของเธอนั้นไปทะเลาะกับเสียงดนตรี เสียงมันก็ดังของมันอย่างนั้น แล้วมันก็ไพเราะด้วย ถ้าไม่ไปทำอะไรกับเสียงนั้น มันก็ไม่เกิดความหงุดหงิด
แต่เป็นเพราะไปทะเลาะเบาะแว้งกับมัน ไปโต้เถียงหรือผลักไสมัน หรือที่ท่านใช้คำว่าไปรบกวนเสียงนั้น มันก็เลยเกิดความไม่สงบในจิตใจขึ้นมา เป็นความไม่สงบที่เกิดจากความหงุดหงิด เกิดความรำคาญใจ อันนั้นคือสิ่งที่พ่อค้าคนนั้น แกไม่ตระหนัก แกไปคิดว่าที่ใจไม่สงบเพราะเสียงเด็กเล่นฟุตบอล
แต่ไม่ได้มองลึกจนกระทั่งเห็นว่าที่ใจไม่สงบ เป็นเพราะว่าความหงุดหงิดในใจมารบกวนต่างหาก และที่หงุดหงิดเพราะความคาดหวังที่อยากไม่ให้มีเสียงมารบกวน หรือว่าความรู้สึกลบที่มีต่อเสียงนั้น หรือว่าความรู้สึกที่อยากจะผลักไสเสียงนั้น
จริงๆแล้วแม้จะไม่มีเสียงรบกวนเลย แม้ว่าจะอยู่ในที่ที่สงบ เช่น อยู่ในป่า อยู่ในห้องที่ติดแอร์ หลายคนก็พบว่าใจก็ยังไม่สงบ ถ้าหากว่าใจไม่สงบ เพราะมีเสียงรบกวน แล้วมันก็ง่ายเลยพออยู่ในที่ที่ไม่มีเสียงรบกวนมันจะสงบได้เอง แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น หลายคน แม้จะอยู่ในที่ที่สงบ ไม่มีเสียงรบกวน ไม่ใช่อยู่ในห้องที่ปิดประตูหน้าต่าง ติดแอร์ แต่ทำไมใจยังไม่สงบ
ก็เพราะมันมีความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้น มันมีความคิดที่ไม่ได้รับเชิญเกิดขึ้น แต่ที่จริงพูดอย่างนี้ ก็ยังไม่ถูก ความคิดที่มันลักคิดขึ้นมา หรือที่เราเรียกว่าความคิดฟุ้งซ่าน จริงๆมันไม่ใช่เป็นตัวที่ทำให้ใจไม่สงบ แต่เป็นเพราะท่าทีของผู้ปฏิบัติเองที่มีต่อความฟุ้งซ่าน เช่น ไปคาดหวังว่า นั่งสมาธิแล้ว จะไม่มีความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น พอไปมความคาดหวังแบบนี้เข้า พอมีความคิดผุดขึ้นมา ที่เรียกว่าความคิดฟุ้งซ่าน ก็เกิดความหงุดหงิด เกิดความไม่สบายใจ
มีหลายคนเลยนั่งสมาธิมาใหม่ๆ นั่งไปได้ไม่นาน ไม่กี่วัน ก็เลิก ถามว่านั่งกี่นาที นั่ง 5 นาที แล้วทำไมถึงเลิก เพราะว่ามันคิดไม่หยุดเลย ที่จริงความคิดที่มันคิดขึ้นมา มันไม่ได้รบกวนความสงบของใจเลย มันเป็นธรรมชาติ มองเป็นธรรมดาของมันที่ใจจะผุดความคิดขึ้นมา ก็ไม่มีความหงุดหงิด แต่เป็นเพราะไปคาดหวังว่า นั่งสมาธิแล้ว ต้องไม่มีความคิดออกมา
พอคาดหวังแบบนี้เข้า เกิดปัญหาเลยเพราะว่าธรรมดาของใจ มันก็ต้องมีความคิดผุดขึ้นมา พอมันไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง ก็เกิดความรู้สึกไม่พอใจ เกิดความหงุดหงิดขึ้นมา ปัญหาอยู่ที่ไม่ได้ที่ความฟุ้งซ่าน แต่อยู่ที่ความคาดหวังที่มันไม่สมจริง ความคาดหวังที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง แล้วไม่ใช่แค่ความคาดหวัง มันมีความพยายามบังคับจิตไม่ให้คิดด้วย
พอบังคับจิตไม่ให้คิด ไม่ว่าใช้วิธีการใดก็แล้วแต่ เช่นไปดักจ้องความคิด ไปบังคับจิตไม่ให้คิด ด้วยการกดข่มไม่ให้คิด ด้วยการให้จิตไปอยู่กับลมหายใจ อยู่กับคำบริกรรม ทำสารพัด แต่ว่าจะทำยังไง มันก็ยังเผลอคิดจนได้ พอบังคับไม่สำเร็จ มันก็เลยเกิดความไม่พอใจ เกิดความหงุดหงิดขึ้นมา นอกจากบังคับจิตแล้วมันยังมีความรู้สึกลบกับความคิดที่มันผุดขึ้นมาด้วย การที่ตั้งชื่อมันว่าความคิดฟุ้งซ่าน มันก็ส่อถึงความรู้สึกลบ คือความคิดที่ไม่อยากจะให้เกิดขึ้น
เหมือนกันน้ำท่วม ถ้าเราเรียกว่าน้ำท่วม เราก็คือเรารู้สึกลบ แต่คนสมัยก่อนเขาเรียกว่าน้ำหลาก พ่อมันคือน้ำหลาก ความรู้สึกมันเปลี่ยนไปเลย แต่พอมองว่าเป็นน้ำท่วมนี่ ความรู้สึกเป็นลบเลย ความรู้สึกลบ ก็สะท้อนออกมาจากการที่ไปติดป้ายความคิดที่ผุดขึ้นมาว่าเป็นความฟุ้งซ่าน พอมีความคิดแบบนี้เกิดขึ้นก็เลยไม่ชอบขึ้นมา พอไม่ชอบก็เลยผลักไส ไปสู้รบตบมือกับความคิดฟุ้งซ่านเหล่านั้น
มันก็เช่นเดียวกับการที่เราไปทะเลาะกับเสียงที่ดังจากข้างนอก มันก็ทำให้เกิดความรู้สึกหงุดหงิด หงุดหงิดแล้วไม่รู้ทันอีก มันก็เลยไปกันใหญ่ อันนี้ก็เหมือนกัน ความคิดฟุ้งซ่านไม่ใช่ปัญหา ปัญหาเกิดจากใจที่วางไว้ไม่ถูก มันก็กรณีเดียวกับเสียงเด็กเล่นบอลไม่ใช่ปัญหา
แต่ปัญหาคือ ท่าทีหรือการวางใจของพ่อค้าที่วางไว้ไม่ถูก สิ่งที่ควรทำก็คือการวางใจให้ถูก ความคิดผมสั้นไม่ใช่ปัญหา ปัญหาอยู่ที่ไปคิดไปคาดหวังว่าจะต้องไม่มีความคิดฟุ้งซ่าน หรือว่ามีความรู้สึกลบกับมัน รวมทั้งบังคับจิตไม่ให้มีความคิดเหล่านี้เกิดขึ้น เสร็จแล้วพอมันเกิดขึ้นก็ผลักไสมัน
ทั้งหมดทั้งมวล ก็ทำให้เกิดความหงุดหงิด พอมีความหงุดหงิดแล้วก็ไม่รู้ทัน ก็โดนมันเล่นงาน เกิดความว้าวุ่นในจิตใจ ที่จริงเพียงแค่ความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้นไม่ใช่ปัญหา ถ้าแค่รู้ทันมัน หรือว่าเห็นประโยชน์ของมัน อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนบอกไว้ ยิ่งคิดก็ยิ่งดี เพราะยิ่งคิดก็ยิ่งรู้ อย่าไปห้ามคิด ทันทีที่เรามีทัศนคติแบบนี้หรือมีความคิดแบบนี้
ความคิดมันไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย มันคิดขึ้นมาก็ไม่ได้ทุกข์กับมัน กลับเอามาใช้เป็นอุปกรณ์ในการฝึกสติ มันก็ทำให้ใจอยู่เหนืออิทธิพลของความคิดฟุ้งซ่านได้ และถ้าปรับใจให้ดีแล้ว มันมีเสียงกระทบ ก็ทำให้ใจเราอยู่เหนืออิทธิพลของเสียงที่มากระทบได้
เมื่อวานนี้ก็ได้พูดถึงเรื่องของดอกบัว ที่ไม่ว่าน้ำจะหยดมามากน้อยเท่าไหร่ มันก็ไม่สามารถที่จะย้อมหรือติดใบบัว หรือดอกบัวได้ ขณะเดียวกันแม้ว่าบัวมันจะเกิดในน้ำ แต่มันก็สามารถที่จะเจริญจนพ้นน้ำได้ อันนี้เป็นคุณลักษณะของจิตของผู้ที่อยู่เหนือโลก แล้วก็ไม่ยอมให้รูปรสกลิ่นเสียงมามีอิทธิพลต่อจิตใจได้ เหมือนน้ำที่ไม่สามารถจะฉาบให้ดอกบัวหรือใบบัวเปียกได้
อันนี้คือสิ่งที่เราควรจะถือเป็นเป้าหมาย แล้วก็เป็นสิ่งที่อยู่ในวิสัยที่เราจะทำได้ แม้จะทำไม่ได้อย่างครบถ้วน 100% ยกจิตให้มันอยู่เหนือโลก เหนือผัสสะ ผัสสะแม้มา เกิดการกระทบขึ้น ใจก็ไม่ทุกข์ มากระทบกายแต่ว่าใจก็ไม่ทุกข์ อย่าใจก็ไม่กระเทือนจิตที่อยู่เหนือโลกก็คือ จิตที่เป็นอิสระ แล้วเราก็ถือเป็นภารกิจในการปฏิบัติ การปฏิบัติธรรม เมื่อเราปฏิบัติแล้ว มันควรจะทำให้เรามีจิตใจที่เข้มแข็งขึ้น อยู่ได้ง่ายขึ้น
เพราะฉะนั้น บางทีเราต้องระวัง พอปฏิบัติธรรมหรือพอมาสนใจการปฏิบัติแล้ว กลายเป็นคนที่อยู่ยากขึ้น เรียกร้องสิ่งต่างๆจากผู้คนรอบข้างมากขึ้น เสียงดังนิดหน่อยก็ไม่ได้ เพราะคนนี้ แต่ก่อน ก่อนปฏิบัติก็สามารถที่จะทนอยู่กับเสียงเด็กเล่นฟุตบอลทุกเย็นวันศุกร์ได้ แต่พอปฏิบัติแล้ว เริ่มทนไม่ได้ กลายเป็นว่ายิ่งมาสนใจการปฏิบัติ จิตใจกลับอ่อนแอ
พ่อค้าแม่ค้าเขาอยู่ในตลาดเจอเสียงดังโหวกเหวกอย่างไร เขาก็ไม่ได้รำคาญใจ ผู้ปฏิบัติจำนวนไม่น้อยพอเจอเสียงดังนิดเสียงดังหน่อย ทนไม่ไหวทนไม่ได้ อันนี้เรียกว่าจิตใจกลับอ่อนแอแทนที่จะเข้มแข็งขึ้น ยิ่งปฏิบัติธรรมยิ่งต้องอยู่ง่ายขึ้น ไม่ใช่อยู่ยากขึ้น เสียงดังก็ไม่ได้ แดดร้อนก็ไม่ได้ บางทียุงเยอะก็ไม่ได้ เรียกร้องจากโลก จากสิ่งรอบตัวมากมายเหลือเกิน
อันนี้เพราะคิดว่า สิ่งเหล่านี้ทำให้ใจไม่สงบ ถ้าหากว่าเราปฏิบัติได้ถูกต้อง จิตจะอยู่เหนือผัสสะมากขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่าอยู่เหนือโลก อยู่เหนือรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส หรือว่ายอมให้มันมามีอิทธิพลกับชีวิตของเราได้น้อยลงไปเรื่อยๆ
พูดง่ายๆก็คือว่า รู้จักยกจิตให้อยู่ในที่สูง เวลาน้ำท่วม ที่สูงมันเป็นชัยภูมิที่ทำให้เราปลอดภัย เราก็ควรจะรู้จักหาชัยภูมิให้กับจิตใจของเรา โดยเฉพาะในโลกที่มันผันผวนปรวนแปร ถ้าไม่อยากให้ความทุกข์มันมากระทบจิตใจ เราต้องรู้จักหาชัยภูมิให้กับจิตใจ ก็คือที่สูง สติช่วยยกจิตให้สูงขึ้น มันเป็นชัยภูมิที่เหมาะที่ปลอดภัยของจิต สติปัฏฐานนั้น ถ้ารู้จักเอาจิตมาตั้งอยู่บนฐานที่เหมาะสม คือสติปัฏฐาน มันก็เหมือนกับว่าจิตมีชัยภูมิที่ดีที่ความทุกข์มันไม่ท่วมถึง
เหมือนกับเวลาเราอยู่ที่สูง น้ำท่วมมันก็ไม่สามารถที่จะมารบกวนได้ เพราะฉะนั้นเราต้องรู้จักหาชัยภูมิให้ใจ เป็นชัยภูมิที่ช่วยให้ใจอยู่บนที่สูงที่ปลอดภัย จากสิ่งรบกวน ซึ่งที่จริงมันก็ไม่ใช่เกิดจากรูปรสกลิ่นเสียงที่มากระทบหรอก แต่มันอยู่ที่ใจที่ไม่มีสติเป็นเครื่องรักษา
แต่ถ้าหากว่าใจมีสติเป็นเครื่องรักษา หรือว่ามีสติเป็นเครื่องช่วยยกจิตให้มันอยู่เหนือความทุกข์ทางใจ เหนืออารมณ์ที่มารบกวน ไม่ใช่แค่ความคิดฟุ้งซ่าน แต่รวมถึงความหงุดหงิด ความโกรธ ความเกลียด ความเครียด สิ่งเหล่านี้เราห้ามไม่ได้
เหมือนกับเราห้ามเสียงดังไม่ได้ เหมือนกับเราห้ามฝนไม่ได้ แต่ว่าเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ใจเราไม่ทุกข์เพราะสิ่งนั้นเพราะว่าใจเราอยู่เหนือจากการคุกคามการรบกวนของมัน ทั้งนี้เพราะมีสติปัฏฐานเป็นฐานของใจ ทำให้ใจอยู่เหนือสิ่งเหล่านี้ได้ หน้าที่ของเราคือการปฏิบัติธรรม เพื่อให้ใจมีที่ตั้ง ที่สูง เป็นชัยภูมิที่ทำให้เกิดความปลอดภัยแก่จิตใจอย่างแท้จริง
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 27 กันยายน 2564