แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ถ้าพูดถึงสัญลักษณ์อันโดดเด่นของพุทธศาสนาที่สะท้อนถึงหัวใจของพระพุทธศาสนาหมายถึงอะไร เรานึกถึงอะไร บางคนอาจจะนึกถึงต้นโพธิหรือใบโพธิ บางคนอาจจะนึกถึงธรรมจักร หรือนึกถึงกวาง หรืออาจจะนึกไปถึงเจดีย์หรือสถูป ที่เป็นหนึ่งในสังเวชนียสถาน ที่พูดมานี้เรียกว่าถูกก็ได้แต่ไม่ถูกหมด สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์โดดเด่นที่สุดของพระพุทธศาสนาก็คือดอกบัว อันนี้เป็นความเห็นของอาตมา
พระพุทธรูปในเมืองไทยแทบทุกปางจะมีดอกบัวเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น พระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่บนดอกบัว เป็นต้น ทำไมดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นของพระพุทธศาสนา พบว่าดอกบัวมีคุณสมบัติหลายประการที่สะท้อนถึงสิ่งที่เป็นอุดมคติของพระพุทธศาสนา รวมสะท้อนถึงพระคุณสมบัติของพระพุทธเจ้าด้วย
อย่างเช่น พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า ดอกบัวเกิดในน้ำ เจริญในน้ำแต่ก็ตั้งอยู่พ้นน้ำ เหล่าตถาคตก็เกิดในโลก เติบโตในโลกแต่ว่าเป็นอยู่เหนือโลก บัวล้วนแต่อยู่พ้นน้ำ อยู่เหนือผิวน้ำ อันนี้ก็เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ ที่แม้ตัวอยู่ในโลกแต่ว่า จิตอยู่เหนือโลก คำว่าเหนือโลก ก็มีความหมายหลายอย่าง อยู่เหนือโลกธรรม 8 ก็ได้
หมายความว่า ไม่ว่าจะได้ลาภ ได้ยศ มีสุขหรือได้รับคำสรรเสริญ พระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ก็ไม่เพลินไม่ยินดี ขณะเดียวกันแม้จะเสื่อมยศ เสื่อมลาภ ถูกตำหนิติเตียนหรือว่าประสบทุกข์ก็ไม่ได้จมในทุกข์นั้น พระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ก็ไม่เพลินในความสุขทางโลก และก็ไม่ดิ้นรนแสวงหาสิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นลาภสักการะชื่อเสียง ขณะเดียวกันเมื่อผันผวนแปรปรวน ทำให้ต้องพลัดพรากสูญเสียสิ่งใดก็ตามก็ไม่ทุกข์ระทม
อันนี้คือความหมายหนึ่งของการอยู่เหนือโลก โลกธรรม 8 ซึ่งต่างจากคนทั่วไป จิตใจขึ้นลงไปตามโลกธรรม ถ้าได้โลกธรรมฝ่ายบวกก็ยินดีเคลิ้มคล้อยพึงพอใจ ถ้าเจอโลกธรรมฝ่ายลบก็คับแค้นเศร้าโศก ร่ำไรรำพัน จิต ชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ก็เป็นอย่างนี้แหละขึ้นลงตามอำนาจของโลกธรรม แต่พระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ท่านอยู่เหนือโลกธรรมแล้ว อยู่เหนือโลกยังหมายถึงความเป็นไปของขันธ์ 5
คำว่าเหนือโลกยังรวมถึงขันธ์ 5 ก็ได้ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ประกอบขึ้นมาเป็นตัวเราหรือว่ามนุษย์ทุกคนเมื่อถึงเวลาผันผวนแปรปรวนเกิดอาพาท เกิดความบีบคั้นด้วยทุกขเวทนา หรือเกิดความเสื่อมดับไป ท่านก็ไม่ทุกข์ไม่หวั่นไหว เรียกว่าจิตอยูเหนือความผันผวนแปรปรวนของรูปและนามทั้งปวง แต่ว่าเหนือโลกก็ไม่ได้แปลว่า ทิ้งโลกนะ หรือหนีโลก คำว่าโลกในที่นี้อาจจะเรียกว่าสรรพสัตว์ก็ได้
พระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ หรือพระอริยะ สาวกทั้งหลายรวมทั้งพระอริยเจ้าทั้งปวงไม่หนีโลกไม่ทิ้งโลก ก็อยู่เกื้อกูลโลก อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอรหันต์หลักออกพรรษา หลังจากพรรษาแรก พระพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายจลเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์สุขของมหาชน เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขของเหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า เป็นไปเพื่อเกื้อกูลโลก ไม่ได้ทิ้งโลก แล้วก็ไม่ได้หนีโลกด้วย
ก็มีผู้ที่สรุปว่าคุณลักษณะของพระพุทธเจ้าในส่วนนี้ไว้ดี คือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์องค์ปัจจุบัน ท่านใช้คำว่า อยู่ในใจเหนือเกื้อโลก อยู่ในคืออยู่ในโลก ใจเหนือโลก แต่ก็เกื้อโลก และเกื้อโลกได้ดีด้วยเพราะใจอยู่เหนือโลก คือใจอยู่เหนือโลกธรรม 8 อยู่เหนือความผันผวนของขันธ์ 5 เพราะฉะนั้นก็สามารถจะเกื้อกูลสัตว์โลกได้อย่างเต็มที่ด้วยใจหรือเจตนาที่บริสุทธิ์ ประกอบด้วยเมตตา
คุณลักษณะอีกอันหนึ่งของดอกบัว ซึ่งเราคุ้นเคยกันดีก็คือว่า หยดน้ำไม่ติดใบบัวหรือดอกบัว ฝนจะตกลงมาอย่างไร ก็ไม่สามารถจะฉาบหรือติดดอกบัวได้ อันนี้ก็เป็นพระคุณลักษณะอีกอันหนึ่งของพระพุทธเจ้า รวมทั้งพระอรหันต์ทั้งปวงด้วยก็คือว่า ไม่ติดในรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส รูปเมื่อกระทบตา เสียงกระทบหู เป็นต้น
ท่านก็ว่าสักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน แต่ไม่มีความรู้สึกติดใจ หรือขัดใจ สำหรับคนทั่วไปเมื่อรูปที่น่าพอใจกระทบตาก็เกิดความติดใจขึ้นมา เรียกว่าติดตาติดใจ เสียงก็เหมือนกัน ถ้าเป็นเสียงที่ไพเราะกระทบหูก็ติดใจ เช่น เสียงเพลง แต่ถ้าเกิดว่า เสียงที่ไม่น่าพอใจมากระทบหูกระทบตาก็เกิดความขัดใจ เช่น เสียงดัง เสียงต่อว่าด่าทอ
ความติดใจ ความขัดใจ ก็คือความติดทั้งนั้น ความย้อมติดทั้งนั้นแหล่ะ ติดคือติดขัด หรือขัดข้อง มันก็คือความติดอีกแบบหนึ่ง คนธรรมดาก็เป็นเช่นนั้นแหล่ะ ก็คือว่าอะไรมากระทบ มันก็เกิดอาการติดใจหรือขัดใจ เรียกว่าย้อมติด เพราะฉะนั้นพอมีอะไรมากระทบ มันก็กระเทือนไปถึงใจ ถ้าอยากจะมีความสุขก็ต้องมีสิ่งที่น่าพอใจมากระทบ หรือต้องไปแสวงหาสิ่งนั้น หรือถ้าไม่ได้สิ่งนั้น ก็เกิดความรู้สึกขัดใจ
แต่ว่าพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ทั้งปวง แม้ว่าจะมีรูป รส กลิ่น เสียงมากระทบ ก็ไม่เกิดอาการติด ไม่เกิดอาการยอม ไม่ต้องพูดถึงกิเลส กิเลสก็ไม่สามารถที่จะย้อมหรือซึมเข้าไปสู่จิตใจได้ อันนี้ก็เป็นความหมายหนึ่งของการเป็นอิสระ อิสระจากสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสิ่งแวดล้อม คือว่าไม่ได้ดีใจหรือเสียใจไปตามสิ่งแวดล้อม หรือว่ารูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสที่มากระทบ
สองประการนี้คือคุณสมบัติที่โดดเด่นของดอกบัว ซึ่งก็สะท้อนหรือเป็นสัญลักษณ์ของคุณสมบัติของพระพุทธเจ้ารวมทั้งของพระอรหันต์ทั้งหลายและพระอริยเจ้าทั้งปวงด้วย ซึ่งก็ทำให้จิตใจก็เป็นสุข แต่เป็นสุขที่ไม่ใช่เพราะการเสพ แต่เป็นอิสระจากสิ่งยั่วยุและยั่วเย้าทั้งปวง ซึ่งอันนี้ก็ควรจะเป็นอุดมคติหรือจุดมุ่งหมายของชาวพุทธด้วย
เมื่อรู้จักพุทธศาสนา แล้วก็มาสมาทานพุทธศาสนาแล้วนี้ จะได้ประโยชน์สูงสุดจากพระพุทธศาสนาก็เพราะเห็นว่าคุณสมบัติสองประการ คือจุดหมายที่ควรจะไปให้ถึง ยิ่งถ้าเข้าถึงได้ ก็เรียกว่าได้รับประโยชน์สูงสุดแห่งการเกิดมาเป็นมนุษย์เลยทีเดียว หรือเรียกว่าได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเป็นชาวพุทธนับถือพุทธศาสนา
ไม่ใช่ว่าเมื่อมาเป็นชาวพุทธ เราก็ตั้งหน้าตั้งตาทำความดี รักษาศีลและละเว้นความชั่วเท่านั้น ทำอย่างนี้ก็ดีอยู่ แต่ว่ามันไม่ใช่จุดมุ่งหมายสูงสุดของพุทธศาสนา เพียงแค่รักษาใจให้สงบผ่อนคลาย อิ่มเอิบเบิกบาน เพราะว่าได้ทำความดีได้สร้างบุญสร้างกุศล อันนี้ก็ดีอยู่แต่ว่ามันยังไม่พอ เพราะว่าผู้ที่มีความรู้สึกดังกล่าวก็อาจจะพลัดตกอยู่ในความทุกข์ได้เวลาเกิดความพลัดพรากสูญเสียขึ้นมา เจอสิ่งต่างๆมากระทบหรือเกิดความเจ็บป่วยขึ้น
เพียงแค่ทำดีแล้ว ไม่มีคนเห็น หรือทำดีแล้วก็ยังมีคนมาตำหนิต่อว่านินทา แค่นี้ความสงบที่มีอยู่มันก็กระเจิงได้เหมือนกัน ถ้าหากว่าไม่ได้ฝึกจิตให้ได้เข้าถึงสภาวะอย่างที่พูดมา คือว่าอยู่เหนือโลก แล้วก็ไม่ติดในโลก หรือไม่ยอมให้โลกมาฉาบติด จนเกิดความทุกข์ หรือว่าหวั่นไหวไปตามความผันปรวนแปรของโลกได้ จะยกตัวให้อยู่เหนือโลก
แล้วก็ไม่มีสิ่งใดมาฉาบทาย้อมติดให้เป็นทุกข์ หรือว่าเกิดความกระทบกระเทือนไปถึงใจ มันก็ต้องอาศัยการปฏิบัติจนกระทั่งเกิดปัญญา จนเกิดเห็นแจ่มแจ้งชัดเจนว่าไม่มีอะไรที่ยึดติดถือมั่นได้ แล้วจนกระทั่งได้เห็นว่า ไม่มีแม้กระทั่งตัวกู หรือว่าของกูที่เคยคิดว่ามี แต่ในขณะที่ยังไปไม่ถึงตรงนั้น แต่อย่างน้อยๆก็รู้จักปล่อยรู้จักวางสิ่งต่างๆที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิต จิตใจของเราไม่ว่าบวกหรือลบ
บัวมีคุณสมบัติอีกประการหนึ่งที่น่าสนใจ ใบบัวเวลาฝนตก อาจจะมีน้ำประมาณ 3-4 หยด ค้างอยู่ที่ใบบัว แต่ใบบัวจะไม่อยู่เฉย ใบบัวจะคอยโคลงเคลงๆจนกว่าหยดน้ำที่มันขังอยู่ในใบบัวไหลหล่นลงไป ถ้าหยดน้ำยังอยู่ในใบบัว ใบบัวก็ยังโคลงเคลงอยู่นั่นแหละ เอนไปเอนมา จนกว่าหยดน้ำตาจะไหลลงสู่สระ ถ้าถึงตอนนั้น ใบบัวก็จะอยู่นิ่ง เป็นปกติ
อันนี้เป็นอุทาหรณ์สอนใจได้ดีว่า ใบบัวพยายามที่จะไม่แบกไม่ยึดอะไร มีอะไร แม้จะเป็นน้ำที่มาขังอยู่ บัวก็ไม่ยอมที่จะยึดที่จะเก็บหรือที่จะแบกเอาไว้ เราควรจะเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน รู้จักปล่อยรู้จักวาง รู้จักสละไม่ว่าสิ่งนั้นมันจะเป็นอะไรก็ตาม จะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม ยิ่งอารมณ์อกุศลด้วยแล้ว ยิ่งต้องหาทางสลัดหรือว่าวางให้เร็วที่สุด ไม่ให้มันมาหมักหมม หรือว่ามาเผารนจิตใจ
อันนี้คือสิ่งที่เราทำได้ ปุถุชนก็ทำได้ รู้จักปล่อยรู้จักวาง ไม่ปล่อยให้อารมณ์นั้นหมักหมม และขณะเดียวกัน ต้องรู้จักเรียนรู้จากความทุกข์ที่เกิดขึ้นด้วย ดอกบัวมันเกิดจากโคลนตม ถ้าไม่มีโคลนตมก็เกิดดอกบัวขึ้นมาได้ยาก ท่านติชนัทฮันห์ ท่านได้พูดไว้ด้วยคำสั้นๆ 4 คำ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างโคลนกับบัว
no mud, no lotus ถ้าไม่มีโคลนก็ไม่มีดอกบัว โคลนมันสกปรก แต่ดอกบัวสวยงาม จนกระทั่งผู้คนต้องนำไปถวายสักการะบูชาพระพุทธเจ้า คุณสมบัติตรงข้ามกันเลย แต่ว่าเกื้อกูลกัน พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นมาก็เพราะว่า โลกนี้มันมีความทุกข์ พระพุทธเจ้าไม่ได้อุบัติขึ้นมาในสวรรค์ ก็เพราะว่าสวรรค์มีแต่ความสุขมีทุกข์น้อย
แต่ในโลกนี้มีทั้งสุขและทุกข์ ถ้ามีแต่สุขอย่างเดียว ก็ไม่สามารถจะมีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาได้ อย่างที่เราทราบกันดีแล้วว่า เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวชเพราะอะไร เพราะเจอความทุกข์ปรากฏต่อหน้า คนแก่คนเจ็บคนตาย ซึ่งอีกไม่นานก็จะเกิดขึ้นกับพระองค์เอง ความทุกข์ก็เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการทำความเพียรจนพ้นทุกข์ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
และเมื่อตรัสรู้แล้ว คำสอนที่สำคัญคืออริยสัจ 4 มันก็เริ่มต้นที่ทุกข์ แต่ว่าเมื่อเจอทุกข์แล้ว สิ่งที่ควรทำก็คือรู้ทุกข์ ที่บางทีใช้คำว่าถูกกำหนดรู้ ทุกข์นี้ ถ้าหากว่าเรารู้จัก และเกี่ยวข้องกับมันเป็น มันก็ทำให้เกิดปัญญา หลายท่านที่ท่านบรรลุธรรมได้ก็เพราะท่านเจอทุกข์ แม้กระทั่งอาจารย์กำพล ทองบุญนุ่มก็ยังพูดเลยว่าขอบคุณความทุกข์ เพราะความทุกข์ทำให้รู้จักทุกข์ และทำให้รู้จักทางออกจากทุกข์
เพราะฉะนั้นความทุกข์มันก็เป็นปุ๋ยที่ทำให้เกิดปัญญาอันนำไปสู่ความหลุดพ้นได้ คำว่าดอกบัวหมายถึงโพธิ จะไปหมายถึงพระพุทธเจ้าด้วยก็ได้ โพธิก็หมายถึงปัญญา ที่ทำให้เกิดความหลุดพ้นได้ เราก็ควรจะเอาดอกบัวเป็นครู เมื่อเราเจอความทุกข์ เราก็เรียนจากทุกข์ จนกระทั่งเห็นถึงหนทางแห่งความไม่ทุกข์อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนพูดอยู่เสมอว่า ในทุกข์ มันมีความไม่ทุกข์ และท่านพูดถึงขั้น เห็นทุกข์ก็พ้นทุกข์
ฉะนั้น เราเรียนจากดอกบัวได้เราก็จะมีหลักในการที่จะเข้าถึง หรือเข้าใกล้ความพ้นทุกข์ได้มากขึ้นเรื่อยๆโดยอาศัยทุกข์นั้นแหละเป็นอุปกรณ์ วัตถุดิบที่ทำให้เกิดปัญญาที่พาออกจากทุกข์ได้ และในระหว่างที่เราเพียรพยายามอยู่อย่างนั้นก็เปิดใจรับรู้ธรรมะอยู่เสมอ
บัวยังมีคุณสมบัติอีกประการหนึ่งคือ หันเข้าหาแสงสว่าง หรือหันเข้าหาดวงอาทิตย์ตลอดเวลา ตรงไหนที่มีแสงสว่างโดยเฉพาะจากดวงอาทิตย์ บัวก็จะหันไปหา ตรงไหนมืด บัวก็ไม่หันไปหา จะหันไปหาแต่ที่เป็นแหล่งแห่งแสงสว่าง
ถ้าใจของคนเราหันเข้าหาธรรมะ เปิดใจรับธรรมะอยู่เป็นนิจ ไม่ว่าธรรมะจากครูบาอาจารย์ จากพระพุทธเจ้า หรือจากธรรมชาติ รวมทั้งธรรมะจากดอกบัวด้วยแล้ว เราก็มีโอกาสที่จะเจริญงอกงามในธรรม และมีโอกาสที่จะฝึกจิตจนกระทั่งอยู่เหนือโลกได้
หรือว่าแม้ขณะที่ยังไปไม่ถึงตรงนั้น ยังมีกิเลสอยู่ แต่ก็ไม่ยอมให้กิเลสมาฉาบมาย้อมหรือว่าซึมเข้าสู่จิตใจของเรา อันนี้ก็ทำได้ อย่างที่หลวงพ่อชาท่านพูดว่า ให้อยู่กับกิเลสอย่างมีสติ เหมือนน้ำกับใบบัวอยู่ด้วยกัน แต่ว่าน้ำซึมเข้าใบบัวไม่ได้ ในขณะที่เราเป็นปุถุชนอยู่ เรายังไม่สามารถที่จะลดหรือว่าขจัดซึ่งกิเลสออกไปจากใจได้ มันก็ยังคอยปรากฏขึ้นในใจของเรา แต่หากว่าเรามีสติ เราก็ไม่ยอมให้กิเลสนั้นเข้ามาครอบงำจิตใจได้ มีสติเห็นความโกรธ มีสติเห็นกิเลส ไม่ว่าจะเป็นโลภะ ราคะ หรือโทสะ
สติมันจะช่วยรักษาใจของเรา ไม่ให้กิเลสเข้ามาครอบงำจิตใจได้ อันนี้ก็เปรียบเหมือนกับว่าน้ำไม่สามารถซึมเข้าไปในใบบัวได้ เพราะใบบัวทำอย่างนั้นได้เพราะมีสารบางอย่างที่คอยฉาบไม่ให้น้ำซึมเข้าไป ใจเราก็มีสติเป็นเครื่องรักษา ที่ช่วยให้กิเลสไม่สามารถจะซึมเข้าไปในจิตใจหรือเข้าไปบงการครอบงำจิตใจได้
เพราะฉะนั้นถ้าเราหมั่นฝึกสติให้มีความรู้สึกตัวอยู่เสมอเมื่อมีการกระทบเกิดขึ้น แม้ว่าจะเผลอปล่อยให้กิเลสปล่อยให้อารมณ์อกุศลเข้ามา แต่สติก็จะช่วยรักษาใจไม่ให้กิเลสเข้ามาครอบงำกำกับบงการชีวิตจิตใจของเราได้
บางคนเขาเปรียบเหมือนกับกระทะเทฟลอน กระทะเทฟล่อนทำอย่างไรเขม่าก็ไม่จับ ไม่เกาะ ไม่ติด จิตของคนที่ฝึกไว้แม้จะอยู่ในระดับของปุถุชน แต่ถ้ามีสติเป็นเครื่องรักษา กิเลสก็ไม่จับ ไม่ฉาบ ไม่ติดหรือไม่ซึมเข้าไปในจิตใจของเราได้ และสตินี่แหละจะช่วยให้เรามีปัญญาจนกระทั่งรักษาไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นเลยแม่เมื่อมีการกระทบรูปรสกลิ่นเสียงมากระทบ ก็สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน ไม่มีการปรุงแต่งรบกวนจิตใจได้
อันนี้คือสิ่งที่เราควรเรียนรู้ แล้วก็ฝึกฝนเพื่อให้ได้เข้าถึงจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา จนกระทั่งจิตใจของเราไม่ต่างจากดอกบัวที่ว่า แม้ว่าจะเกิดในโลกอยู่ในโลกโตในโลก แต่ว่าก็สามารถเป็นอยู่เหนือโลกได้เท่านี้
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 26 กันยายน 2564