แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อสัก 20 ปีก่อน อาตมาเคยไปจาริกแถวๆตามหมู่บ้านชาวเขาแถวแม่สลอง เชียงราย ครั้งนั้นนอกจากพระจำนวนหนึ่งแล้ว ก็มีฆารวาสกลุ่มใหญ่เลยรวมแล้วประมาณ 20-30 คนได้ มีทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ ฝรั่ง ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มคนสาว ช่วง 10-20 นาทีแรกเดินบนพื้นราบ เริ่มออกเดินตั้งแต่ก่อน 08:00 น เช้า จุดหมายก็อยู่ที่หมู่บ้านชาวเขาแห่งหนึ่ง ซึ่งควรจะไปให้ถึงก่อนเที่ยง
แต่ว่าแค่ 10-20 นาทีแรก ที่เดินอยู่เกาะกลุ่ม ตอนหลังอาตมาก็เดินรั้งท้ายเพราะว่าเดินช้า สัมภาระก็เยอะ ต้องแบกบาตรไปด้วย ส่วนใหญ่หนุ่มสาวก็เดินนำหน้าไปก่อน เขากระฉับกระเฉง พอถึงช่วงปีนเขา ซึ่งชันใช้ได้เลย เดินไปได้ไม่ถึง 15 นาทีก็เหนื่อยแล้ว อยู่รั้งท้าย ไกลเลย
ก็นึกถึงคำของมัคคุเทศก์ชาวเขาคนหนึ่งจำชื่อเขาได้เลยชื่อจะแฮ แกก็แนะนำแล้วตั้งแต่ก่อนออกเดินว่า ให้เดินช้าๆ แล้วก็อย่าพัก เดินช้ามันก็แน่อยู่แล้ว เพราะทางมันชัน แต่ว่าอย่าพัก มันจะเป็นไปได้ยังไง เพราะว่าเดินขึ้นเขามันก็เหนื่อยอยู่แล้ว มันก็ต้องพัก แต่ก็เชื่อเขาเพราะว่าเขามีประสบการณ์ในการเดินขึ้นเขามานาน
พอมาสังเกตว่า ที่ตัวเองเดินหรือจังหวะเดิน มันยังช้าได้อีก ก็เลยลองชะลอจังหวะให้ช้าลง มันก็ช่วยได้ ทำให้ความเหนื่อยแต่ละก้าวเดินมันลดลง แต่ว่าก็ยังเหนื่อยอยู่ ก็เลยต้องเดินให้ช้าลงกว่าเดิม แต่พอเดินให้ช้าลง ทำได้ประเดี๋ยวเดียว ก็สาวเท้าเดินเร็วกว่าเดิมอีกเหมือนเดิม เพราะว่ามันเป็นนิสัย และอีกอย่างหนึ่งก็คือ ใจไปจดจ่ออยู่ที่จุดหมายปลายทางว่าต้องไปให้ถึงก่อนเพล หรือว่าก่อนเที่ยง
พอใจไปอยู่ที่จุดหมายนี่ มันก็ลืมคำแนะนำของจะแฮ ก็เดินเร็ว ทั้งที่มันก็เดินเร็วไม่ได้อยู่แล้วล่ะ แต่ว่าเพราะความเคยชิน วิธีที่จะทำให้เดินช้าลงก็คือว่า เอาใจมาอยู่กับเท้าแต่ละก้าวๆ แล้วก็ให้ลมหายใจประสานกับก้าวแต่ละก้าวที่เดิน พอมีสติอยู่การเดินแต่ละก้าวๆ จดจ่ออยู่กับก้าวแต่ละก้าวที่เดินมันก็ช้าลงได้
แต่พอเผลอนิดเดียว มันก็ไปอีกแล้ว รวมทั้งเดินเร็วกว่าเดิม เพราะมันเป็นสปรีดที่คุ้นเคยที่เดินบนพื้นราบแล้วเอามาใช้กับการเดินขึ้นเขา เพราะฉะนั้นมีทางเดียวที่จะทำให้การเดินช้าลงๆ ก็คือให้ใจมาอยู่กับการเดินให้ได้ แล้วก็วางจุดหมายปลายทางเอาไว้ก่อน เพราะถ้านึกถึงทีไรมันก็อดไม่ได้ที่จะสาวเท้าเดินให้เร็วขึ้น
พอใจอยู่กับเนื้อกับตัวอย่างต่อเนื่อง เราก็เดินได้ช้าลงๆ ยิ่งเอาใจมาอยู่กับลมหายใจ แล้วก็ให้การหายใจประสานกับเท้าแต่ละก้าว พอมันมีงานแบบนี้ขึ้นมา ใจมันก็ต้องอยู่กับตัวเอง อยู่กับเนื้อกับตัวเพื่อให้ประสานกันระหว่างลมหายใจกับเท้า ก็พบว่าพอเดินช้าลงๆพอถึงจุดหนึ่งมันเหมือนกับสโลโมชั่นเลยนะ เหมือนกับการภาพช้าที่เห็นในหนัง มันไม่ใช่เดินช้าอย่างที่ตัวเองเคยเข้าใจ
เพราะที่คิดว่าเดินช้าอยู่แล้วนี่มันยังเร็วอยู่ แต่พอเดินช้าจริงๆ แบบค่อยๆย่างก้าว ให้ก้าวแต่ละก้าวประสานกับลมหายใจ แล้วก็วางทุกอย่างลง ใจมันรับรู้อยู่แต่การเดินแต่ละก้าวๆ มันก็มีแรงเดินไปได้เรื่อยๆ ก่อนหน้านั้นเดินไปสักพักต้องหยุดเพราะเหนื่อยหอบ
ทั้งๆที่เราคิดว่าเราเดินช้าลงแล้ว แต่ที่จริงยังเดินช้าไม่พอ พอกำหนดจิตให้อยู่กับการเดินแต่ละก้าวๆอย่างช้าๆ แล้วก็ให้ลมหายใจประสานกับแต่ละก้าว ก็ปรากฏว่ามีแรงเดินได้เรื่อยๆ ก็พบว่า เราไม่ต้องหยุดพักเลยก็ได้ แล้วพอเดินไปสักพักใหญ่ ก็เดินแซงคนอื่นที่เคยเดินนำหน้าเราไปก่อน ที่เดินแซงเขาได้เพราะว่าเขานั่งพักเพราะเหนื่อย จากการที่เขาสาวเท้า สาวเท้าเอาสาวเท้าเอา
พอเดินไปอย่างนี้ ทำใจให้คุ้นอยู่การเดินในจังหวะช้าๆอย่างนั้น คือให้ใจมันอยู่กับเนื้อกับตัว มันก็ไปได้เรื่อยๆไปได้เรื่อยๆ อาการเหนื่อยหอบที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น มันก็หายไป แล้วก็กลายเป็นว่า เดินไปๆ มันก็เพลิน จนกระทั่งจนถึงช่วงที่ความชันมันลดลงมันก็เดินสบายขึ้น แต่ก็ยังทำเหมือนเดิมก็คือ ให้ใจมันอยู่กับเท้าแต่ละก้าวที่เดินที่ย่าง เดินไปๆ ก็พบว่า เราค่อยๆขยับขึ้นไปอยู่ข้างหน้าขบวนแล้ว เพราะที่เหลือนี่ก็ส่วนใหญ่นั่งพักเอาแรงเพราะเหนื่อย
ทำให้เข้าใจเลยว่า เดินโดยไม่พักนี่มันทำได้ หากว่าเดินช้าๆ ไม่เร่งรีบ ซึ่งมันจะทำได้ก็เพราะว่า ใจไม่อยู่กับเป้าหมาย เพราะถ้ามันอยู่กับจุดหมายปลายทางเมื่อไหร่มันก็อดไม่ได้ที่อยากจะเดินให้เร็วขึ้น เพราะอะไร เพราะอยากจะถึงไวๆ
เป็นธรรมดาของการเดินทาง ยิ่งเดินทางด้วยเท้า นึกถึงเป้าหมายเมื่อไหร่ก็อยากจะถึงไวๆเมื่อนั้นแหล่ะ พออยากจะถึงไวๆก็อดไม่ได้ที่จะสาวเท้าเดิน แล้วพอสาวเท้าเดิน มันก็เหนื่อย พอเหนื่อยถึงจุดหนึ่งก็ต้องพัก
แต่พอเราไม่สนใจจุดหมายปลายทาง เดินไปเรื่อยๆ แม้จะช้าเพียงใด แต่ก็ไม่หยุดเดิน มารู้ตัวอีกทีก็เกือบถึงหมู่บ้านแล้ว มาถึงเร็วกว่าที่คิด เพราะที่คิดว่ากว่าจะถึงหมู่บ้านชาวเขาคงจะไม่ทันเพล คือเลยเที่ยงแล้ว เพราะว่ามันเหนื่อยตั้งแต่ตอนเริ่มเดิน แต่พอเดินตามคำแนะนำของจะแฮ มันก็เดินไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องหยุด
เขาพบว่าจากประสบการณ์ของคนที่เขาหยุดพัก พอจะกลับมาเริ่มเดินใหม่ มันจะรู้สึกเหนื่อยเพราะว่าขาตึง กล้ามเนื้อมันตึง พอพักแล้วมันจะกลับมาตึงใหม่ ก็ทำให้การเขยื้อนขยับช้าลง ไม่สะดวก แต่ถ้าเดินไปเรื่อยๆ มันเหมือนกับว่ามันมีแรงส่งไปให้เดินไปได้อย่างต่อเนื่อง อาการตึงอาการปวดที่ขาจะไม่ค่อยมารบกวนเท่าไหร่ สุดท้าย ตัวเองมาถึงหน้าหมู่บ้านชาวเขาพอดีเพล ฉันเสร็จแล้วก็ยังมีคนทยอยตามมาอีกเรื่อยๆจนเลยเที่ยง
การเดินครั้งนั้นก็ทำให้เข้าใจเลยว่า ถ้าจะปีนเขาให้ได้ดี มันต้องวางหรือลืมจุดหมายปลายทาง แล้วก็เดินช้าๆ ซึ่งสำหรับคนเมือง การเดินช้าๆไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าไม่มีสติมันก็จะเดินแบบจ้ำเอาๆ ไม่ใช่เพราะความเคยชินอย่างเดียว แต่เพราะว่าความอยากให้ถึงไวๆ และขณะเดียวกัน พอไปนึกถึงเป้าหมายอยู่บ่อยๆ ทำให้เกิดความท้อ ว่าอีกตั้งนานกว่าจะถึง มันก็บั่นทอนกำลังไม่ใช่น้อยเลย
และตอนหลัง ก็มีคำแนะนำของชาวเขาอีกคนหนึ่งสำหรับคนที่ปีนเขา เขาบอกว่า เวลาเดินขึ้นเขา อย่าเงยหน้า ให้มองต่ำ เพราะเงยหน้า ใจมันไปอยู่ที่ยอดเขาหรือจุดหมาย ก็ทำให้อยากจะไปให้ถึงไวๆซึ่งก็ทำให้เหนื่อย และในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้รู้สึกท้อเพราะว่าอีกตั้งไกลกว่าจะถึง เขาก็เลยแนะนำให้เดินก้มหน้า ซึ่งก็สอดคล้องกับที่จะแฮแนะนำ มันเสริมกัน
และอีกอย่างหนึ่ง ที่ได้รู้ก็คือว่า เดินแบบนี้โดยไม่ต้องหยุดพักก็ได้ เพราะว่ามันพักในตัวอยู่แล้ว มันไม่ต้องไปพักข้างหน้า หรือกลางทาง เพราะมันพักในตัว ถ้าเราลองมาพิจารณาดู ศิลปะหรือเคล็ดลับในการปีนเขาที่จะแฮแนะนำ มันก็เป็นศิลปะหรือเคล็ดลับในการดำเนินชีวิตและการทำงานด้วย อย่างเช่น เวลาทำงาน เราคิดว่าต้องโหมทำให้เต็มที่ แล้วค่อยพัก
อันนี้ก็สำคัญอยู่ ถ้าเราทำเต็มที่แล้ว ก็ต้องพัก แต่ว่าบางครั้งการพักนี้มันก็สามารถเกิดขึ้นได้ระหว่างทำงาน แต่ถ้าเราทำเล่นๆไป ทำเล่นไปไม่หักโหมทำไปเรื่อยๆ มันได้พักในระหว่างที่ทำ ความจำเป็นที่จะต้องหาเวลาพักเพราะว่ามันเหนื่อย มันก็น้อยลง แล้วมันก็แปลก
พอเราวางจุดหมายปลายทางไม่เกิดความคิดอยากให้ถึงไวๆ มันกลับถึงได้เร็วกว่าที่คิด ยิ่งอยากให้ถึงไว ก็กลับถึงช้า ยิ่งไม่มีความอยากให้ถึงไวๆ มันกลับถึงเร็ว เพราะว่าการเดินมันไม่ใช่เป็นเรื่องของการใช้แรงกายอย่างเดียว มันเป็นเรื่องของใจด้วย ถ้าวางใจให้เป็น มันก็ทำให้เดินได้เร็วขึ้นโดยไม่เหนื่อย แต่ถ้าวางใจไม่เป็น แม้จะเดินเร็วๆ แต่สุดท้าย ก็กลับถึงช้า มันไม่ใช่แค่เดินขึ้นเขาอย่างเดียว เดินพื้นราบก็เหมือนกัน
ตอนหลัง ก็ใช้วิธีนี้กับการเดินธรรมยาตรา แล้วก็การเดินทางไกล รวมทั้งใช้กับการปีนเขาอีกหลายลูก ไม่ว่าจะเป็นดอยหลวง หรือว่าปีนขึ้นเขาอดัมสปีค ศรีปาทะ ที่ศรีลังกา ซึ่งต้องใช้เวลาเดินขึ้นเขาหลายชั่วโมงทีเดียว ก็เดินไปได้ โดยไม่หยุด การที่ใจไม่ไปอยู่ที่จุดหมายปลายทางนี้ มันก็เป็นตัวส่งเสริมความความเพียรในการเดิน ทำให้สามารถจะเดินได้อย่างต่อเนื่อง
เช่นเดียวกับเวลาทำงานหรือทำอะไรก็ตาม ถ้าวางจุดหมายปลายทางลง ทำให้เกิดความเพียรได้ต่อเนื่อง แน่นอนคนเราก็ต้องมีจุดหมาย แต่เมื่อลงมือทำแล้ว การวางจุดหมายหรือไม่คาดหวังจุดหมาย มันช่วยได้เยอะเลย
นึกถึงคุณป้าเกาหลีคนหนึ่ง มีอาชีพขายผัก แต่ก่อนก็มีคนช่วยส่งผักให้แก แต่ตอนหลังต้องส่งเอง ก็ต้องขับรถ แต่แกไม่มีใบขับขี่ ก็จะต้องไปสอบใบขับขี่ เพื่อให้สามารถขับรถไปส่งผักให้กับลูกค้าได้ก็ต้องสอบเอาใบขับขี่ ในเกาหลีมันก็มีสอบข้อเขียนแล้วก็สอบปฏิบัติ สอบปฏิบัตินั้นแกผ่าน แต่สอบข้อเขียนนี่ แกมีปัญหามากเลย ข้อสอบ 50 ข้อ แกไม่เคยสอบได้ 30 ข้อหรือ 60 คะแนนเลย ก็สอบไม่ผ่าน
ที่เป็นข่าวเรื่องราวของคุณป้าคนนี้ เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ หลายปีก่อน แกสอบมาแล้ว 775 ครั้ง โอ้โฮสอบได้ยังไงนะ สอบ 10 ครั้ง ไม่ผ่าน ส่วนใหญ่เขาก็เลิกกันแล้ว หรืออย่างมากก็สอบ 100 ครั้ง นี่แกสอบตั้ง 775 ครั้ง เรียกว่าสอบเกือบจะวันเว้นวันเลย แกไม่ได้ แกก็ยังสอบอีก มาได้ข่าวเมื่อเดือนพฤศจิกายนว่าแกสอบได้แล้ว หลังจากที่สอบไปแล้ว 950 ครั้ง เกือบ 1,000 ครั้ง
น่าทึ่งมากเลยสำหรับคุณป้าคนนี้ อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมถึงมีความเพียรขนาดนี้ ก็พบว่าเคล็ดลับอย่างหนึ่งคือแกไม่ได้คาดหวังกับผลการสอบมาก แน่นอนอยากให้สอบผ่าน จะได้ใบขับขี่ แต่ถ้าแกคาดหวังกับผลการสอบ ถ้ารู้ว่าไม่ได้ สัก 5 ครั้ง 10 ครั้งก็คงจะท้อแล้วล่ะ เพราะยิ่งคาดหวังมาก แล้วไม่ได้อย่างที่หวังก็ต้องผิดหวังมาก แต่ที่แกมีแรงสอบเกือบพันครั้งแสดงว่าแกไม่ค่อยได้คาดหวังกับผลการสอบ อยากได้ก็ออยาก แต่พอไม่ได้อย่างที่อยาก ก็ไม่ผิดหวัง ไม่ท้อแท้ ว่างเมื่อไรก็สอบใหม่ ไม่ได้ก็ไม่เสียใจ สอบใหม่ ความเพียรของคุณป้าคนนี้ มันเกิดขึ้นได้จากการที่ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นกับผลของการสอบ แม้มีความอยาก มีความคาดหวัง แต่ก็ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่น มันก็ทำให้มีความเพียรได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็น่าคิดขนาดแค่ใบขับขี่ยังขนาดนี้ แล้วสิ่งที่เป็นสาระสำคัญของชีวิต และคนเรามีความเพียรขนาดนี้ นี่มันจะไปถึงไหน
แล้วถ้าเวลาเราดำเนินชีวิต เรามีจุดหมายปลายทางที่สูงส่ง ยิ่งจุดหมายคือการพ้นทุกข์ ถ้าเรามีความเพียรอย่างคุณป้าเกาหลีคนนี้ แม้จะไม่พ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงก็คงจะห่างไกลจากความทุกข์ไปได้เยอะเลย แต่นั่นก็หมายความว่าต้องวางใจให้ถูก
ที่จริงเวลาเราปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน เวลามาปฏิบัติธรรม หลายคนมาด้วยไฟที่อยากจะบรรลุธรรมไวๆ ก็เลยทุ่มเททำความเพียรเต็มที่ แต่สุดท้าย ก็เลิกหรือท้อแท้ในเวลาไม่นาน เพราะอะไร เพราะผิดหวัง และที่ผิดหวังแรงก็เพราะว่ามีความคาดหวังเยอะ
แต่จะดีกว่า ถ้าหากว่าคาดหวังบ้าง และแทนที่จะเาอใจไปอยู่กับผลสำเร็จที่ต้องการบรรลุ ก็เอามาอยู่กับการกระทำอยู่กับการทำความเพียร ถ้าวางจุดหมาย แล้วก็เอาใจมาอยู่กับการทำความเพียร มันจะมีแรงทำความเพียรได้ต่อเนื่อง นอกจากจะไม่มีความผิดหวังหรือความท้อมาบั่นทอนแล้ว อาจจะยังมีความเพลินหรือมีฉันทะในการทำด้วย
ก็เหมือนกับการเดินขึ้นเขาอย่างที่จะแฮแนะนำ ถ้าเดินช้าๆมันได้พักในตัว การที่ได้พักในตัว มันก็เหมือนกับเป็นแรงส่งที่ทำให้เดินได้ไปเรื่อยๆ เดินได้อย่างต่อเนื่องหรือจะนึกว่า จุดหมายอยู่ที่ปลายเท้าก็ได้ ถ้าจุดหมายอยู่ที่ปลายเท้าแล้วก็เดินเพื่อให้ปลายเท้าขยับไปเรื่อยๆ อันนี้เป็นเคล็ดลับในการปฏิบัติธรรมด้วยเหมือนกัน
ทำไปเรื่อยๆโดยที่ไม่หวังผล หรือว่าไม่คาดหวังกับผลที่ต้องการ นึกได้ก็วางๆ แล้วใจมาอยู่กับการเดิน มันจะเดินได้แค่ไหนก็ช่างมัน อันนี้ก็สอดคล้องกับที่หลวงพ่อเทียนสอน แนะนำอาตมาว่าทำเล่นๆแต่ทำจริงๆ ถ้าเราเดินเล่นๆเดินช้าๆ เดินเรื่อยๆ แต่เดินไม่หยุด มันถึงแน่
การปฏิบัติธรรมหรือการทำอะไรก็ตาม เราก็มีเคล็ดลับอยู่ตรงนี้ รวมทั้งการดำเนินชีวิตด้วย ทำเต็มที่โดยวางจุดหมายเอาไว้ก่อน แล้วพอวางจุดหมายแล้ว มันก็ไม่เครียด มันก็ไม่ทุกข์ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น สอบไม่ได้ก็สอบใหม่ ไม่ได้อีกสอบใหม่ ฟุ้งบ้างก็ช่างมัน หลงบ้างก็ช่างมัน แต่ไม่เลิกทำ ทำไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็เห็นผลหรือว่าทำได้อย่างที่คาดหวังไว้
มันเป็นความสำเร็จได้โดยที่ปล่อยวางความสำเร็จนั้น แต่เอาใจมาอยู่ที่ทำความเพียร เพียรได้อย่างต่อเนื่องเพราะทำเล่นๆ หรือว่าเดินไปเรื่อยๆ
สำหรับคนทั่วไปก็ทำยาก เพราะว่าจะทำให้ต่อเนื่อง มันต้องโหมด้วยการกระตุ้น โดยมีความสำเร็จเป็นแรงผลัก และยิ่งทำอย่างนั้นมันก็ทำให เหนื่อยเร็ว แล้วก็ท้อได้ง่าย แต่พอเราไม่ไปจดจ่อที่จุดหมาย หรือไม่ยึดมั่นถือมั่นกับมันมาก ทำไปเรื่อยๆทำไปเล่นๆ แต่ทำไม่หยุด เดินไปเรื่อยๆ แต่ว่าเดินไม่พัก สุดท้ายก็ถึง และอาจจะถึงเร็วกว่าที่คิดก็ได้
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเช้าวันที่ 26 กันยายน 2564