แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีชายคนหนึ่ง ได้กางเกงตัวใหม่มาจากพี่สาว พี่สาวซื้อมาให้แต่ พอลองใส่ดูแล้วก็รู้สึกว่ามันหลวม ก็บ่นกับพี่สาวว่า มันหลวมๆ มันไม่พอดีเลย บ่นอยู่นั่นแหละเพราะความผิดหวัง ทีแรกดีใจที่ได้กางเกงตัวใหม่แต่พอมันหลวม ก็ไม่พอใจ
แม่เห็นแม่ได้ยิน ก็เลยบอกว่า งั้นเอากางเกงมา แล้วแม่ก็หายไป 2-3 ชั่วโมง แล้วก็กลับมา ก็ยื่นกางเกงให้ลูกชาย อ้าว ลองสวมดูสิ พอลูกชายสวมดูก็บอกว่าพอดี ดีใจ ขอบคุณแม่ใหญ่เลย ที่แม่ช่วยปรับแก้ให้ แต่ที่จริงแล้วแม่ไม่ได้ช่วยอะไร แค่เอากางเกงไปวางไว้เฉยๆโดยไม่ได้ทำอะไรเลยผ่านไป 2-3 ชั่วโมงแล้วค่อยเอามาคืน
แต่ลูกชายคิดว่าแม่เอาไปปรับแก้กางเกงให้ ก็เลยรู้สึกว่ากางเกงนั้นพอดี กางเกงก็เหมือนเดิมแหละเพราะว่าไม่มีใครทำอะไรกับมัน แต่ความรู้สึกของลูกชายเปลี่ยนไปจากเดิม ที่ว่ามันหลวมตอนนี้ มันพอดีแล้วเพราะอะไร เพราะว่าเขามีความคิดหรือมีความเข้าใจว่าแม่ไปซ่อมไปกับปรับแก้มันก็คิดแบบนี้เข้าที่หลวมก็เลยกลายเป็นพอดีเลย
มีพ่อค้าคนหนึ่งไปกินอาหารที่โรงเบียร์แห่งหนึ่ง คืนนั้นมีลูกค้าเป็นร้อย พอนั่งสักพักก็เรียกบริกร บอกว่าช่วยไปปรับแอร์ให้เย็นกว่านี้หน่อย บริกรก็บอกครับๆ หายไปสักพักใหญ่ กลับมาถามลูกค้าว่า เป็นยังไงบ้างครับ เย็นขึ้นไหมครับ ลูกค้าบอกว่าใช้ได้ ที่จริงบริกรไม่ได้ไปทำอะไรเลยกับเครื่องแอร์ เพราะว่าโรงเบียร์มีคำสั่งห้ามเจ้าหน้าที่หรือบริกรไปปรับแอร์ เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไฟฟ้าของโรงเบียร์
บริกรคนนี้ก็รู้แต่ไม่สามารถที่จะบอกลูกค้าคนนี้ว่ามันปรับไม่ได้ ลูกค้าคนนี้ก็เป็นลูกค้าประจำด้วย พูดไปเขาก็ไม่ฟังหรอก แกก็เลยแกล้งทำเป็นหายไป ส่วนลูกค้าคนนี้ก็คิดว่าบริกรคนนี้ไปปรับแอร์ให้เย็นขึ้น พอบริกรถามว่าเป็นอย่างไร ลูกค้าบอกรู้สึกว่าเย็นกว่าเดิม พอใจ อุณหภูมิของห้องก็เท่าเดิม แต่ความรู้สึกของลูกค้าคนนี้มันเปลี่ยนไป เพราะคิดว่าบริกรคนนี้ไปปรับแอร์
ความรู้สึกของคนเรานี้ แม้จะเป็นความรู้สึกที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เช่น ความร้อนความเย็น หรือว่ากางเกงที่มันหลวมหรือว่าพอดี มันอยู่ที่ความคิดไม่น้อย มันไม่ใช่เป็นเรื่องของการสัมผัสอย่างเดียว แต่มันอยู่ที่ความคิดด้วย ถ้าคิดว่าแม่ไปปรับแก้กางเกงแล้ว ก็จะรู้สึกว่ากางเกงมันพอดี ถ้าไปคิดว่าบริกรไปปรับแอร์แล้ว ก็จะรู้สึกว่าอากาศสบายขึ้น ทั้งๆที่มันเหมือนเดิม
การรับรู้ของคนเรา มันอยู่ที่ความคิดมากเลย มันไม่ใช่แค่ความรับรู้ทางกายเท่านั้น การเห็นการได้ยินก็เหมือนกัน เราไปคิดว่าเราเห็นตามที่ตามองเห็นหรือได้ยินตามที่หูได้รับรู้ แต่ที่จริงไม่ใช่ มันอยู่ที่ความคิดหรือจิตใจด้วย คนที่ไปในที่ที่เขาลือกันว่ามีงูชุกชุม มองไปทางไหนก็เห็นงูทั้งๆที่มันเป็นแค่รากไม้ ถ้าไม่มีใครบอกว่าเป็นแหล่งที่มีงูชุม ก็คงเห็นรากไม้เป็นรากไม้ แต่เขาบอกว่ามีงูชุม ประกอบด้วยความกลัวผสมด้วย ก็เลยเห็นงูตามจุดต่างๆเย่อะไปหมด ทั้งที่ไม่ใช่ แต่ว่าเป็นรากไม้
การรับรู้ของคนเรา ไม่เคยรับรู้แบบสดๆตามความเป็นจริง 100% บ่อยครั้งมันก็บิดเบี้ยว ขึ้นอยู่กับความคิดในหัว หรือว่าความรู้สึกในจิตใจ โดยเฉพาะความคิดนี้สำคัญมากเลย เราคิดอย่างไรก็เห็นอย่างนั้น หรือได้ยินอย่างนั้น หรือว่ารู้สึกอย่างนั้น รู้สึกหมายถึงรู้สึกทางกาย อันนี้ก็ตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสในปฏิจจสมุปบาท สังขารเป็นปัจจัยให้กับวิญญาณ สังขารในที่นี้หมายถึงสิ่งที่ปรุงแต่ง สิ่งปรุงแต่งจิตที่เรียกว่าอารมณ์ มันก็เข้าไปมีอิทธิพลกับวิญญาณ ไม่ว่าจะเป็นความรับรู้ทางตา ทางจมูก หรือทางลิ้น
ได้ชิมไวน์ที่เขาชมว่าเป็นไวน์ชั้นเลิศ หรือว่ารินจากขวดที่ติดราคาว่าแพงมากเป็นหมื่นแทบจะร้อยทั้งร้อยก็จะบอกว่าเป็นไวน์ที่รสชาดีชั้นดี ทั้งๆที่เขาอาจจะเอาไวน์ราคาถูกๆมาใส่ในขวดที่ติดฉลากราคาแพง แต่พอคิดว่าเป็นไวน์ชั้นดี หรือว่าไวน์ราคาแพง ลิ้นจะรับรู้ด้วยความรู้สึกอีกแบบหนึ่ง
ในทางตรงข้ามถ้าเอาไวน์ชั้นดีใส่ในขวดที่ราคาถูกๆ คนชิมจะรู้สึกว่ารสชาติไม่เข้าท่าเลย ที่จริงรสชาติอาจจะเนียน แต่ไปมีความคิดว่ามันเป็นไวน์ราคาถูก ก็เลยไปรู้สึกว่าเป็นรสชาติที่ไม่ได้เรื่อง ส่วนไวน์ราคาถูกใส่ไปในขวดที่ติดฉลากราคาแพง ลิ้มรสแล้วรู้สึกว่ารสชาติดีเหลือเกิน อันนี้ก็เป็นเรื่องที่คนที่ค้าไวน์ค้าเหล้าหรือว่าพวกที่ทำธุรกิจด้านนี้ เขารู้ดี เพราะการรับรู้ของคนเรามันอยู่ที่ยี่ห้อ ถ้าคิดว่ายี่ห้อดี ลิ้นก็จะบอกว่ารสชาติเยี่ยม เป็นเลิศ
การรับรู้ของคนเรา จริงๆแล้วมันถูกกำหนดด้วยความคิดมากเลย มันไม่ใช่เฉพาะอุณหภูมิห้อง หรือว่าขนาดของเสื้อผ้ากางเกง หรือว่าไวน์ อาหาร แม้กระทั่งคน เวลามองคน เราก็ไม่ได้เห็นเขาอย่างที่เขาเป็นหรอก แต่ส่วนใหญ่เห็นไปตามความคิดที่มีอยู่ล่วงหน้า
เคยมีอาจารย์ชาวอเมริกันคนหนึ่ง แกอยากจะทดสอบว่า โรงพยาบาลจิตเวชหลายแห่งในอเมริกามีคุณภาพดีมากน้อยแค่ไหนในการวินิจฉัยผู้ป่วย ตัวเขาเองกับอาสาสมัครจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นคนที่มีความรู้เป็นทนายความบ้าง เป็นจิตแพทย์บ้าง แกล้งทำตัวเป็นผู้ป่วยจิตเวช แล้วก็ไปรับการรักษาจากโรงพยาบาลเหล่านี้ เขาเลือกมา 12 แห่งทั่วประเทศ แกล้งทำเป็นผู้ป่วยทางจิต คือประสาทหลอน ได้ยินเสียงแว่ว
พอไปรายงานไปเล่าให้กับจิตแพทย์ในโรงพยาบาลเหล่านี้ฟัง เขาก็รับเลย ว่าเป็นผู้ป่วย พอเข้าไปในโรงพยาบาลแล้ว อาสาสมัครเหล่านี้กลับมาทำตัวเป็นปกติ มีพฤติกรรมปกติ แต่ว่าเจ้าหน้าที่รวมทั้งหมอในโรงพยาบาลเหล่านี้ ก็มองแต่เห็นว่าคนเหล่านี้เป็นผู้ป่วย ไม่ว่าเขาจะทำอะไร ก็มองว่าเป็นพฤติกรรมของคนป่วย เช่น ไปเข้าแถว ไปเข้าคิว รอรับอาหารก่อนเวลา เจ้าหน้าที่ก็จะรายงานว่า ผู้ป่วยนี้มีอาการหมกมุ่นกับการกินอาหาร ไม่เช่นนั้นก็ต้องไม่ไปรอรับอาหารก่อนเวลา
ไม่ว่าอาสาสมัครเหล่านี้จะทำอะไร ก็ถูกมองว่าเป็นผู้ป่วยทางจิต ทั้งๆที่เขาไม่ได้แกล้งแล้ว เขาทำตัวเป็นปกติ อันนี้ก็เป็นปัญหาสิ จะออกจากโรงพยาบาล หมอไม่ยอมให้ออกแล้วเพราะว่าแขวนป้ายว่าคนเหล่านี้เป็นผู้ป่วย จะแสดงหลักฐานอย่างไร จะยืนยันอย่างไร หมอก็ไม่ยอมให้ออก ต้องไปเรียกทนายความมา ทนายความก็เอาหลักฐานมายืนยันว่า คนพวกนี้เป็นคนปกติดี โรงพยาบาลก็ไม่ยอม
แต่สุดท้ายก็ยอมเพราะว่ามีหลักฐานที่ชี้ว่าคนเหล่านี้เป็นคนปกติแต่เขาปลอมตัวเข้ามา ชายคนนี้เขาก็เขียนเล่าเรื่องนี้ว่าเป็นการทดลองอย่างหนึ่งลงในนิตยสารวิชาการที่มีชื่อมาก ก็กลายเป็นเรื่องราวเลย โรงพยาบาลหลายแห่งที่ถูกระบุมาในการทดลองว่า ไปมองผู้ป่วยปกติว่าเป็นผู้ป่วย หลายแห่งเขาไม่ยอมเพราะว่าเขาเป็นโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงก็เลยไม่ยอมรับการทดลองนี้ว่าจริง
อาจารย์คนนี้ก็เลยท้าว่า ถ้าอย่างนั้น คราวหน้าโรงพยาบาลแห่งนี้ระบุมาว่า ผู้ที่ปลอมเป็นผู้ป่วยที่เขาส่งไปในช่วง 3 เดือนข้างหน้ามีกี่คน ระบุมาให้ถูกต้อง จะส่งผู้ป่วยปลอมไป แล้วก็ดูว่าจะวินิจฉัยถูกต้องไหม 3 เดือนผ่านไป โรงพยาบาลก็แจ้งกลับมาว่า คนที่มารับการตรวจบำบัด 118 คนมี 41คนที่ปกติ อีก 43 คนที่สงสัยว่าจะไม่ใช่ผู้ป่วยจริง
แต่ความจริงก็คือว่า อาจารย์คนนี้ไม่ได้ส่งผู้ป่วยไปเลย แกไม่ได้ทำอะไรเลย ก็กลายเป็นว่าที่โรงพยาบาลระบุว่า มีผู้ป่วยที่ปลอมมารับการรักษา 40 กว่าคน ที่จริงไม่ได้ปลอม เป็นผู้ป่วยจริง แต่ว่าพอโรงพยาบาลตั้งธงเอาไว้ว่าอาจจะมีคนปลอมมาเป็นคนป่วยมารับการรักษา คนป่วยจริงก็เลยถูกมองว่าเป็นคนที่ปลอบมา ที่จริงไม่ได้ป่วยหรอก เป็นปกติ
มันก็เลยกลับกลายเป็นตรงกันข้าม คนปกติ มองว่าเป็นผู้ป่วย เพราะตั้งธงไว้ก่อนแล้วว่า คนนี้เป็นคนป่วย ก็เลยเห็นเขาป่วยตลอดเวลา แม้ว่าเขาจะทำตัวปกติอย่างไร ส่วนพอคิดว่าล่วงหน้าว่า จะต้องมีผู้ป่วยปลอมเข้ามา เพราะฉะนั้นพอเจอผู้ป่วยจริง ก็ไปมองว่าคนนี้ปลอมมา ที่จริงปกติ
อันนี้ก็กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตที่ชี้ให้เห็นว่า คุณภาพของการวินิจฉัยของโรงพยาบาลแพทย์ แม้กระทั่งแผนกจิตเวชที่มีชื่อเสียง มันก็ไม่มีคุณภาพ เรื่องนี้มันบอกอะไรแก่เรา มันบอกว่าคนเราจะรับรู้อะไร มันก็รับรู้ผ่านความคิด เรามองเห็นคนอย่างที่เราคิดว่าเขาเป็น ถ้ามองว่าเขาเป็นคนป่วย ก็เห็นว่าเขาเป็นคนป่วยผิดปกติอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่เขาแสดงอาการปกติ แต่นั่นแหล่ะคือความป่วย
หรือถ้าไปมองว่า สงสัยจะปลอมมาเป็นผู้ป่วย ที่จริงเป็นคนปกติ พอเจอคนป่วยจริงๆก็ไปมองว่าอาการนั้นมันแกล้งทำ ที่จริงปกติ ไม่ใช่เฉพาะคนป่วยทางจิตอย่างเดียว
เวลาเรามองว่าคนนี้เป็นคนดี เป็นคนน่ารัก เราก็มักจะเห็นแต่ความดีความน่ารักของเขา ส่วนว่าความไม่ดี น่ารำคาญ น่าละอาย ก็มองไม่ค่อยเห็น ในทางตรงข้าม ถ้าเราเห็นว่าคนนี้เป็นคนที่ไม่น่ารัก เห็นแก่ตัว เอาแต่ได้ เกียจคร้าน ไม่น่าคบ ทั้งๆที่เขาก็มีความดีอยู่
ความคิดที่มันอยู่ในหัวเรา จะว่าไปก็คือ อคติ จะเป็นฉันทาคติ หรือว่าโทสะคติ หรือภยาคติ ก็แล้วแต่ มันก็เป็นตัวที่ทำให้เห็นสิ่งต่างๆคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอยู่บ่อยๆ มันมีการเลือกสรรรับรู้เฉพาะสิ่งที่ตรงกับความคิดของตัว
พระพุทธเจ้าจึงเตือนว่า อย่าเชื่อเพียงเพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้วในกาลามสูตรมีอยู่ข้อหนึ่งที่ว่า อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะว่ามันเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว พูดง่ายๆคือว่า อย่าเชื่อเพียงเพราะว่ามันเข้าได้กับความคิดของเรา อันนี้ไม่ใช่เฉพาะผู้คนที่อยู่รอบข้างหรือที่อยู่ข้างหน้าเรา ข้อมูลข่าวสารก็เหมือนกัน เราก็จะเลือกรับเฉพาะที่ตรงกับอคติของเรา แล้วก็ปฏิเสธสิ่งที่ขัดแย้งกับอคติของเรา
แล้วมันไม่ใช่แค่มองแต่สิ่งภายนอกอย่างเดียว เวลาเรามองตัวเราเองเหมือนกัน คนที่คิดว่าฉันเป็นคนที่โชคร้าย เราก็จะเห็นแต่เหตุการณ์ไม่ดีหรือเคราะห์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองอยู่บ่อยๆ เวลาจะขึ้นรถเมล์ รถเมล์ที่เราไม่ขึ้น ว่างเลยน่ะ แต่คันไหนที่เราอยากจะขึ้น คนเต็มไปหมดเลย หรือไม่ คันที่เราไม่ขึ้น มาเร็วเหลือเกิน คันที่มันอยากจะขึ้นนี่มาช้า เวลาจะไปเข้าคิวไหน ก็คิวยาว คนอื่นเขาเข้าคิวไม่ยาว แต่คิวของเรายาว ก็มองเห็นแต่ในแง่นี้ ก็เลยรู้สึกว่าฉันนี่โชคร้าย
แต่ที่จริงโชคดีก็มีเยอะ แต่เรามองไม่เห็นหรือไม่เลือกที่จะมอง มันก็ยิ่งไปตอกย้ำซ้ำเติมความรู้สึกที่ว่าฉันเป็นคนที่โชคร้ายเหลือเกิน เกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในโชคชะตา พูดง่ายๆก็คือความคิดในหัวมันหลอกเราอยู่บ่อยๆ มันหลอกเราผ่านตา รูปที่เห็น หูที่ได้ยินเสียง เราคิดว่าเห็นความจริง ได้ยินของจริง
แต่ที่จริง มันผ่านการต่อเติม หรือว่าผ่านการปรุงแต่ง หรือผ่านการตีความจากความคิดของเราเย่อะเลย เพราะฉะนั้นเราจะไปเชื่อความคิดหรือสิ่งที่เรารับรู้มา ไม่ว่าทางตา ทางหู หรือทางกาย อย่างเดียวมันไม่พอ ถ้าเราหมั่นสังเกตความคิดและจิตใจของเรา โดยเฉพาะคนที่เจริญสติอยู่บ่อยๆจะรู้เลยว่าความคิดของเราเอาแน่เอานอนไม่ได้ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย
หรือว่า ตอนที่เราคิดโครงการใหม่ๆแล้ว มันเห็นแต่ข้อดี เยี่ยม วิศษ ประเสริฐ แต่พอผ่านไปสักพักกลับมองว่ามันไม่ได้เรื่องเลย โละทิ้งดีกว่า แต่ไม่ใช่แค่นั้นยังเห็นถ้าเราสังเกตดู และซื่อตรงกับตัวเอง เราจะพบว่า ในสิ่งที่เรารับรู้มา มันถูกดัดแปลง ถูกต่อเติมด้วยความคิดของเราเยอะเลย บางทีความคิดมันก็หลอกเราด้วยเหตุผลที่สวยหรูอย่างที่เคยเล่า
คุณยายอายุ 80 กว่า เป็นเบาหวาน โรคหัวใจ ลูกก็พยายามคุมอาหารแม่ วันหนึ่งแม่ก็บอกลูกว่า ข้าวเหนียวทุเรียนแม่ก็ชอบนะ หมูพะโล้แม่ก็ชอบนะ ให้แม่กินเถิด อีกไม่นานแม่ก็ตายแล้ว ลูกใจอ่อนก็ให้แม่กิน ต่อมา ลูกอยากจะพาแม่ไปฟังธรรม เพื่อจะได้เตรียมตัวยอมรับความตายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เตรียมตัวเตรียมใจเอาไว้ ไปฟังธรรมด้วยไปปฏิบัติธรรมด้วย แม่ก็ปฏิเสธ บอกว่าวันหลังเถิด แม่ยังอยู่ได้อีกนาน ตอนที่จะกินข้าวเหนียวทุเรียน แม่บอกว่าแม่ยังอยู่ได้อีกไม่นาน แต่พอจะไปเข้าวัดปฏิบัติธรรมบอกว่าอยู่ได้อีกนาน
บางทีมันไม่ใช่คำแก้ตัว คุณยายเชื่อจริงๆ แต่ว่าเป็นการชักใยของกิเลส แต่บางทีก็ไม่ใช่เป็นเรื่องของกิเลสหรอก เพราะว่าตัวอย่างที่เล่ามาทั้งหมดนี้ มันก็ไม่ได้เกี่ยวกับกิเลสโดยตรง แต่มันเป็นความคิดที่สรุปไว้แล้ว
เพราะฉะนั้น ถ้าเราหมั่นมองจิตใจของตัว หมั่นสังเกตความคิดของตัวเรา เราก็จะเห็นว่า มันเชื่อถือไม่ได้ทั้งหมด มันไม่แน่ไม่นอน แล้วก็มันยังหมายความว่า สิ่งที่เราได้ยินได้เห็น รับรู้มา ก็จะเชื่อไม่ได้หมดเพราะผ่านการตีความของความคิด ขนาดอากาศปกติก็ยังรู้สึกว่าอากาศเย็นขึ้น เพียงเพราะเห็นบริกรหายแวบไปพักใหญ่ เพราะไปคิดว่าเขาไปปรับแอร์ พอคิดอย่างนี้เข้า ความรู้สึกว่าอากาศเย็นสบายขึ้นมันก็ปรากฏเลย
คนที่รู้ว่าความคิดมันเล่นตลกกับเรา หรือความคิดนี้มันชอบตีความสิ่งต่างๆที่รับรู้มา ให้ตรงกับตัวมัน เราก็จะไม่เชื่อ แม้กระทั่งตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จะไม่เชื่อทีเดียว เพราะว่ามันอาจจะถูกดัดแปลงตีความไปตามความคิดที่อยู่ในหัว บางทีเราก็ต้องรู้จักทักท้วงความคิดของตัวเราด้วย แล้วก็ตรวจสอบความคิดของเราว่า ที่คิดนั้นมันจริงไหม เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏอยู่ข้างหน้าเราบางทีก็ไม่ตรงกับความคิด แต่ความคิดมันไม่ยอมรับ
เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลถ้ารู้จักทักท้วงความคิดสักหน่อย ก็จะสังเกตเห็นผู้ป่วยที่ดูเหมือนจะผิดปกติ แต่ที่จริงเขามีอาการปกติ จะทำอย่างนี้ได้ต้องรู้จักทักท้วงความคิด และรู้จักวางความคิดด้วย เพราะพอวางความคิดได้ การที่จะเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงมันก็จะเกิดขึ้นมา ตรงนี้เป็นงานของสติเลย
สติทำหน้าที่กำจัดอคติ หรือทำให้ใจเราอยู่เหนืออคติ และทำให้เราเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง รวมทั้งยอมให้สิ่งต่างๆมาปรากฏแก่การรับรู้ของเราตามสภาวะที่มันเป็น ถ้าเรารู้จักรู้ซื่อๆกับสิ่งที่เกิดขึ้นในใจ การที่เราจะรู้ซื่อๆกับสิ่งที่ปรากฏ สู่การรับรู้ของเรา ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย มันก็จะเป็นไปได้ง่าย
และยิ่งถ้าเรารู้ว่าความคิดนี้เอาแน่เอานอนไม่ได้หรือไม่น่าเชื่อถือ เราก็จะรู้จักทักท้วงมัน และรู้จักวางความคิดลงบ้าง พอวางความคิดลง มันก็ง่ายที่เราจะเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงอย่างที่มันเป็น หรือเห็นความจริงแบบซื่อๆไม่ได้ผ่านการบิดเบือน ตีความ หรือเลือกสรรตามอำนาจของความคิด
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 24 กันยายน 2564