แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ช่วงนี้ฝนตกชุก แล้วก็ตกได้ทุกเวลา เช้าสายบ่ายเย็นค่ำ หรือว่ากลางดึก หรือบางครั้งฝนตกขณะที่เรากำลังทำวัตร สวดมนต์หรือว่ากำลังฟังธรรมด้วยซ้ำ เวลาฝนตก ยิ่งตกหนักเท่าไร เป็นโอกาสดีที่เราจะได้มาสังเกตจิตใจของเรา ใจเรากระเพื่อมไหม มีความหงุดหงิด มีความกังวลไหม
หงุดหงิดที่เสียงฝนมากระทบหลังคา มันดังกลบเสียงสวดมนต์บ้างล่ะ หรือว่ามารบกวนการฟังธรรมคำบรรยายบ้างล่ะ หรือบางทีก็กังวลว่าจะสาดเข้ากุฏิที่พักของเราหรือไม่ ลองสังเกตดูใจของเรา มันมีความทุกข์เกิดขึ้นหรือไม่ในขณะที่กำลังได้ยินเสียงฝนตก บ่อยครั้งแม้ตัวเราไม่เปียกฝนแต่ใจเราเปียกแล้ว ใจที่เปียกฝนเพราะว่าเกิดความวิตกกังวล เกิดความหงุดหงิด เพราะว่าฝนที่เทลงมา
ใจที่เปียก ใจที่หวั่นไหวกระเพื่อมเพราะฝนเป็นเพราะอะไร เป็นเพราะเราไม่มีสติรู้เท่าทันใช่ไหม สติเป็นเครื่องรักษาใจ เวลาฝนตก เรานั่งอยู่ในที่หอไตร หรือที่ศาลาหน้าก็แล้วแต่ ฝนตกยังไง กระหน่ำลงมาแค่ไหนแต่ตัวเราไม่เปียกเพราะอะไร เพราะมีหลังคากันฝน หลังคามันทำให้ แม้รอบศาลาจะเปียกชุ่มหรือบางทีเจิ่งนอง แต่ตัวเรากลับแห้ง ฉันใดก็ฉันนั้น ใจเราไม่เป็นอะไร ใจเราเป็นปกติ แม้ว่าฝนจะเทลงมาแค่ไหนเพราะอะไร เพราะเรามีสติเป็นเครื่องรักษา
สติเหมือนกับหลังคาไม่ว่าจะเป็นที่หอไตร ที่ศาลาหน้า หรือที่กุฏิเรา เพียงแต่ว่าหลังคารักษากายไม่ให้เปียก ส่วนสติรักษาใจไม่ให้ทุกข์เมื่อมีฝนเทลงมาหรือว่ามีอะไรมากระทบก็ตาม พระพุทธเจ้าตรัสเป็นภาษิตว่า เรือนที่มุงหรือบังไว้ดีแล้ว ฝนย่อมไม่รั่วรดฉันใด จิตที่รักษาไว้ดีแล้ว หรือจิตที่ฝึกไว้ดีแล้ว กิเลสราคะย่อมไม่รั่วรดฉันนั้น เมื่อกิเลสราคะไม่รั่วรด ก็ไม่เกิดความทุกข์กับใจ
สิ่งที่จะรักษาใจไม่ให้ถูกครอบงำด้วยกิเลสราคะหรือความทุกข์นั้นคืออะไร ก็มีสติ สมาธิ ปัญญา เป็นต้น แต่สติเป็นตัวหลัก สติเหมือนกับตาใน เรามีตาเนื้อเพื่อระแวดระวังอันตรายที่จะเกิดขึ้น ไม่พาตัวเข้าไปเจอกับอันตรายภายนอก ไม่ว่าจะเป็นสิงสาราสัตว์งูเงี้ยวเขี้ยวขอ เหว หรือน้ำที่กำลังไหลบ่าอย่างแรงนอกจากตาแล้วก็หูก็ทำหน้าที่นี้เช่นกัน จมูก ลิ้นก็ช่วยทำให้เราหนีห่างจากอันตราย ไม่ว่าจะมาในรูปใดก็ตาม รวมทั้งกายสัมผัส
พวกนี้มีหน้าที่ที่จะทำให้เราปลอดภัย ไกลจากความทุกข์ ไกลจากอันตราย แต่อันตรายก็ไม่ได้มีแต่ภายนอก อันตรายก็มีภายในด้วย ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเศร้า ความเกลียด ความเครียด ความวิตกกังวล ความโลภ ความอิจฉา พวกนี้เป็นอันตรายที่สามารถทำร้ายจิตใจของเราให้กินไม่ได้นอนไม่หลับ หรือว่ากลัดกลุ้ม จนกระทั่งไม่รู้จะอยู่ไปทำไม
อันตรายภายในเดี๋ยวนี้มันก็กลายเป็นเรื่องที่โดดเด่นขึ้นมาในชีวิตประจำวันของคนสมัยใหม่ เพราะอันตรายภายนอกไม่ค่อยมีมากเท่าไรแล้ว ยกเว้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่โควิดแพร่ระบาด แต่ไม่นานมันก็จะสงบลงไป แล้วอันตรายภายในก็จะกลับมารบกวนจิตใจใหม่ ที่จริงมันก็รบกวนจิตใจเราอยู่แล้ว มันก็รังควานจิตใจเราอยู่แล้ว
ยิ่งได้ฟังข่าวคราวเกี่ยวกับโควิด ยิ่งฟังมากเท่าไหร่ ใจก็ยิ่งเป็นทุกข์ ที่ใจเป็นทุกข์ก็เพราะว่าขาดสติ ไม่ใช่ว่าฟังมากๆแล้วจะเกิดความทุกข์ เกิดความกังวลขึ้นมาทันที มันก็เช่นเดียวกับเสียงดังมากระทบหูเรา ไม่ใช่ว่าเราจะเกิดความโกรธ เกิดความทุกข์ทันที มันต้องมีการปรุงแต่งเกิดขึ้น มีความชอบหรือไม่ชอบ พอใจหรือไม่พอใจ มีความรู้สึกดีหรือไม่ดี
เห็นฝนตก ได้ยินเสียงฝนตก ถ้ามองว่าฝนคือสิ่งที่ดี ก็เกิดความยินดี เกิดความพอใจ ไม่ทุกข์ แต่ถ้าหากมองว่าฝนไม่ดี ทำให้ทางเฉ่อะแฉะ ทำให้น้ำท่วม พอได้ยินเสียงฝนกระทบหูเข้า ใจก็เป็นทุกข์ทันที และเมื่อเป็นทุกข์แล้ว ก็ยังไม่รู้ทันว่ามีทุกข์เกิดขึ้นที่ใจ หรือไม่รู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นที่ใจ ไม่ว่าจะเป็นความหงุดหงิด ความกังวล ไปแบกไปยึดมันเอาไว้ หรือว่าเข้าไปเป็น มันก็กลายเป็นทุกข์ขึ้นมาทันที
ทุกข์ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีในขณะที่มีการกระทบ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น หรือว่าแม้แต่ทางใจ แต่มันเกิดขึ้นเพราะการปรุงแต่งโดยไม่รู้ตัว แล้วก็การเข้าไปยึดเข้าไปแบกเข้าไปถือมันเอาไว้ ทั้งๆที่มันทำความรุ่มร้อนในจิตใจ ทั้งๆที่สร้างความหนักอกหนักใจให้ ของพวกนี้เกิดขึ้นได้ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าขาดสติ ไม่มีสติตั้งแต่มีผัสสะ มีการกระทบแล้ว เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง
ไม่รู้ทันการปรุงแต่งที่เกิดขึ้นกับใจ แล้วก็ไม่รู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นตามมา ที่จริงบางครั้งไม่มีอะไรมากระทบจากภายนอก แต่ว่าใจมันเผลอคิดไปเรื่องนั้นเรื่องนี้ คิดไปถึงเรื่องราวในอดีตไม่ว่าจะเป็นวันวานอันหวานชื่น หรือว่าวันคืนอันขื่นขม จะดีหรือร้าย พอหวนนึกไป มันก็ทำให้เป็นทุกข์ได้ เพราะว่าวันวานอันหวานชื่นก็ไม่เหลือหรอแล้ว เกิดความอาลัยอาวรณ์ พอนึกถึงวันคืนที่ขื่นขมก็เกิดความแค้นเกิดความเศร้าตามมา อันนี้เพราะเผลอไป ไม่รู้ทันความคิด
แล้วพออารมณ์เกิดขึ้นตามมา ยังไม่รู้ทันอีก ไม่รู้ทันแล้วยังไม่พอ ยังไปแบกไปยึดมันเอาไว้ ถ้าเรามีสติ สติจะรักษาใจไม่ให้เกิดความทุกข์อย่างนี้เกิดขึ้น มันจะช่วยทำให้เรารู้ทันการปรุงแต่ง หรือแม้ไม่รู้ทันการปรุงแต่งแต่ว่าเมื่อใจเผลอนึกไปถึงเรื่องราวในอดีตก็ตาม ในอนาคตก็ตาม ก็จะไม่ลากยาวไปไกล ก็ยังรู้ทัน แล้วก็วางมันลงได้
หรือว่าพอเกิดอารมณ์ตามมา ก็รู้ทัน ไม่ปล่อยให้มันมาครอบงำใจ หรือไม่ไปแบกไปยึดอารมณ์นั้นไว้ เป็นเพราะไม่มีสติ เราจึงแบก ยึด ถืออารมณ์ที่ทำให้เป็นทุกข์นานาชนิด พระพุทธเจ้าเคยแนะนำพระนันทิยะ ซึ่งตอนหลังพระนันทิยะเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าแนะนำพระนันทิยะว่า
ให้วางข้างหน้า วางข้างหลัง และท่ามกลาง อย่ายึดติดอารมณ์ใดๆ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์อดีต อนาคต และปัจจุบัน อารมณ์ใดที่พอใจ หรือไม่พอใจ เมื่อเกิดขึ้นก็ให้วางไว้เป็นกองๆ อย่าแบก อย่าถือเอาไว้ อย่าเก็บเอาไว้ เมื่อเขาด่าว่าเราบนบกก็วางคำด่าว่านั้นไว้ตรงนั้นแหละ ไม่ต้องเอามาลงน้ำ เมื่อเขาด่าว่าในน้ำก็วางคำด่าว่าลงในน้ำไม่ต้องเอาขึ้นบก ถ้าเขาด่าว่าที่สาวัตถีก็วางกองไว้ตรงนั้น อย่าเอาพาไปที่เชตวัน
ท่านสอนให้ปล่อยวาง จะปล่อยวางได้ก็ต้องมีสติ แต่เป็นเพราะเราไม่มีสติ เราจึงไปแบกคำต่อว่าด่าทอต่างๆให้มันมาทำร้ายจิตใจเรา หรือไม่ ก็ไปจดจ่อกับสิ่งที่มากระทบ ทั้งๆที่ไม่พอใจกับสิ่งนั้น เช่น เสียงดังกระทบ เสียงฝนตกกระทบหลังคา หรือเสียงหมาเห่า ไม่ชอบ ไม่อยากได้ยิน แต่ใจเผลอไปจดจ่อปักตึงอยู่ตรงนั้น ยิ่งเกิดความทุกข์ ยิ่งเกิดความหงุดหงิดขึ้นมา เป็นเพราะขาดสติ
แต่ถ้าเรามีสติรักษาใจ ไม่ว่ามีอะไรมากระทบกาย ใจก็ไม่กระเพื่อมตามตามไปด้วย ไม่ว่าเสียงด่าทอก็ตาม ยิ่งถ้าหากมีปัญญา เข้าใจเรื่องของโลกธรรม สัจธรรมความจริง เจอคำต่อว่าด่าทอ ไม่ได้รู้สึกสะดุ้งสะเทือนหรือใจกระเพื่อมแต่อย่างใด ทั้งๆที่ได้ยินเต็มหูได้เห็นเต็มตา แต่ใจก็ไม่เป็นทุกข์
มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระอาจารย์ทองรัตน์ ท่านเป็นศิษย์อาวุโสของหลวงปู่มั่น แต่ว่าท่านมีกิริยาอาการไม่เหมือนพระรูปอื่น ท่านค่อนข้างจะโผงผาง บางทีก็เอะอะมะเทิ่ง มีคราวหนึ่ง ท่านไปอยู่ที่วัดๆหนึ่ง แล้วออกไปบิณฑบาต ท่านก็ไปชักชวนชาวบ้านบางบ้านที่ไม่ค่อยสนใจใฝ่ทำบุญให้มาใส่บาตร ท่านก็พูดตรงๆอยากให้เขารู้จักการให้ทาน ก็มีชาวบ้านบางคนไม่พอใจ เห็นว่าพระไม่ควรทำอย่างนั้น ไม่สำรวมเลย
มีวันหนึ่ง ท่านออกไปบิณฑบาตกับเณร ชาวบ้านคนนั้นก็หย่อนบัตรสนเท่ห์ใส่ลงไปในบาตรของท่าน ท่านก็รู้ พอกลับมาที่วัด ท่านก็ครองจีวรสังฆาฏิอย่างดีแล้วก็เรียก เณรช่วยอ่านให้ฟังหน่อย เอาไปอ่านซะอมฤตธรรมนะเนี่ย เทวดาเขาใส่บาตรมา หาฟังยาก เณรก็อ่านตามที่ท่านสั่ง ข้อความก็มีว่า
เจ้าผีบ้า เป็นพระเป็นเจ้าแต่ไม่สำรวม ไม่มีศีล ไม่มีวินัย ประจบสอพลอชาวบ้าน ขอข้าวเขา พระแบบนี้ไม่น่านับถือ แม้ว่าเดินดิน เหาะเหินเดินอากาศได้ ก็ไม่น่านับถือ ให้รีบออกไปจากวัด ไม่งั้นจะเอาตะกั่วมาฝาก โหขู่ขนาดนี้ ทั้งด่าทั้งขู่ ท่านอาจารย์ทองรัตน์ไม่โกรธเลย ท่านกลับยิ้ม แล้วก็บอกเณรว่า ของดีนะเนี่ย เพิ่งรู้วันนี้เองว่าโลกธรรม 8 เป็นอย่างนี้
เคยแต่ได้ยินมาว่า โลกธรรม 8 คือ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีสรรเสริญมีนินทา มีสุขมีทุกข์ วันนี้ได้เห็นแก่นธรรมเลย ของดีนะเนี่ย เก็บไว้เลยเณร เก็บไว้ใต้ฐานพระพุทธรูป คือนอกจากท่านไม่โกรธแล้ว ทั้งๆที่เขาขู่ จะเอาปืนมาไล่ท่าน ท่านกลับเห็นว่าเป็นของดีด้วยซ้ำ เป็นอมฤตธรรมจากเทวดาเลย แล้วก็เอามาใช้เป็นวัตถุสอนธรรม สอนเณรให้รู้จักโลกธรรม 8 ที่ท่านไม่โกรธเพราะว่าท่านมีสติ และมีปัญญา
คนทั่วไปไปเข้าใจว่า มีเสียงด่ามากระทบหูเมื่อไหร่ก็ต้องโกรธเมื่อนั้น ที่จริงไม่ใช่หรอก มันจะโกรธหรือไม่ ก็อยู่ที่ว่ามีสติหรือมีปัญญาหรือเปล่า คนบางคนเขาด่าเราเต็มหูเลย แต่ทำไมเราไม่โกรธ เพราะเราไม่ถือ ที่เราไม่ถือเพราะว่าเขาเป็นคนเมา เขาเป็นคนบ้า บางทีเรากำลังซื้อของอยู่ริมถนนอยู่ มีคนมาชนหลังจนเราถลาเลย โกรธมาก แต่พอหันไปมองก็หายโกรธเลยเพราะเป็นคนตาบอดมาชน ไม่โกรธเพราะอะไรเพราะไม่ถือ ไม่ใช่ว่าพอชนปุ๊บ จะโกรธปั๊บ
หรือว่าได้ยินเขาด่าปุ๊บก็จะโกรธปั๊บ อาจจะโกรธแต่พอรู้ว่าเขาเป็นคนเมา เขาเป็นคนบ้า ก็หายโกรธเลยหรือบางคน สติไว เร็วกว่านั้น แม้มีอะไรมากระทบ แต่ก็รู้ทัน ใจไม่กระเทือน การที่มีธรรมะเป็นเครื่องรักษาใจนี้สำคัญมากโดยเฉพาะการมีสติ เพราะว่าสติจะเป็นสิ่งหนุนให้เกิดปัญญาตามมา ปัญญาคือความเข้าใจสัจธรรมความจริง เข้าใจในเรื่องโลกธรรม 8 เข้าใจความไม่เที่ยง ความผันผวนแปรปรวนที่เรียกว่าไตรลักษณ์ ซึ่งก็มีทั้งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ถ้ามีสติและปัญญาแล้วนั้น แม้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับกาย แม้ว่าจะมีสิ่งไม่ดีเกิดขึ้นกับทรัพย์สมบัติของเราแต่ว่ามันก็ไม่ทำให้ใจเป็นทุกข์ เพราะว่าสิ่งที่กระทบกาย มันเป็นคนละเรื่องกับสิ่งที่กระทบใจ
อย่างมีคราวหนึ่ง หลวงปู่บุดดา ท่านได้รับนิมนต์ไปฉันกับพระหลายรูปเลยทีเดียว โยมคนนี้นิมนต์ไปทำบุญ ปรากฏว่าอาหารเป็นพิษ พระหลายรูปหรือแทบทั้งหมดอาเจียนจนอ่อนเพลีย ไม่มีแรงเลย ต้องนอนเลย แต่หลวงปู่บุดดา ท่านกลับยังคุยกับญาติโยมได้ ฉันเสร็จ ยังคุยกับญาติโยม บางครั้งก็เอากระโถนออกมา อาเจียน แล้วก็คุยต่อ ญาติโยมประหลาดใจมาก
พระหนุ่มอายุน้อยกว่าท่านแต่หมดสภาพแล้ว แต่หลวงปู่บุดดา ท่านยังคุยกับญาติโยมได้เป็นปกติ มีอาการอยู่บ้าง ก็มีโยมถามท่านว่า ท่านทำได้อย่างไร ท่านก็อธิบายว่า ร่างกายของเรา มันประกอบด้วยธาตุ 4 เวลาเจอยาเบื่อยาเมา มันก็จะมีอาการต่างๆนานาอย่างนี้แหล่ะ แต่ว่าใจไม่ได้โดนด้วย มันก็เลยไม่เป็นอะไร กายกับใจมันคนละเรื่องกัน อย่าเอามารวมกัน แม้จะมีสิ่งที่มากระทบกายแต่ว่ามันไม่กระเทือนถึงใจ เพราะใจมีเครื่องรักษา
ไม่ใช่ว่าป่วยกายขึ้นมา ใจจะป่วยเป็นอัตโนมัติทันที ไม่ใช่หรอก พอมีเสียงด่าว่ามากระทบหู ใจจะเป็นทุกข์เลยทันที ไม่ใช่ เพราะว่าสิ่งที่มากระทบกาย มันก็เรื่องหนึ่ง สิ่งที่มากระทบหูก็อันหนึ่ง ส่วนใจจะกระเพื่อมหรือไม่ มันอยู่ที่ว่ามีเครื่องรักษา มีสติหรือเปล่า ถ้ามีสติเป็นเครื่องรักษาหรือมีปัญญาที่ทำให้เข้าใจความจริงของกายและใจ มันก็ไม่เป็นทุกข์
อย่างเช่น เวลาปวด กายมันปวด ก็เห็นความปวด แต่ว่าเราไม่เข้าไปเป็นผู้ปวด อันนี้ใจก็ไม่ทุกข์ เห็นความปวด ไม่เป็นผู้ปวด เมื่อไม่เป็นผู้ปวด หรือไม่มีรู้สึกว่ากูปวด ใจก็ไม่ทุกข์ หรือว่าไปเห็นว่ากายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา อันนี้เป็นเรื่องของปัญญา แล้วเห็นว่ากายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา กายมันจะกระเพื่อม กายจะป่วยอย่างไร ใจก็ไม่เป็นทุกข์ เพราะว่าไม่มีความยึดมั่นในกายนี้
หรือว่า ถ้าเข้าใจความจริงว่า มันไม่มีตัวกู ทั้งเนื้อทั้งตัวมีแต่รูปกับนาม มีแต่กายกับใจ เมื่อกายป่วยหรือกายปวด มันก็ไม่มีกูปวดเกิดขึ้นไม่มีกูเไปเป็นเจ้าของความปวดนั้น เพราะเห็นว่า มันไม่มีกูตั้งแต่แรก เมื่อไม่มีกูปวด ใจจะเป็นทุกข์ได้อย่างไร อันนี้เรียกว่าเป็นเพราะจิตมีเครื่องรักษาที่เป็นสติและปัญญา
ถ้าจิตมีสติและมีปัญญาเป็นเครื่องรักษา ไม่ว่าอะไรมากระทบ ก็ไม่กระเทือนถึงใจ แล้วก็ไม่กลัวด้วยว่า จะมีอะไรมากระทบ หรือว่าจะมีเหตุร้ายใดๆเกิดขึ้นกับกาย หรือว่ากับสิ่งที่เกี่ยวข้องด้วย เรียกว่าสามารถจะทรงจิตรักษาใจได้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ไม่ว่าจะขึ้นหรือลง ฝนตกแดดออก น้ำท่วมฝนแล้งก็ตาม
มีพระอรหันต์รูปหนึ่งในสมัยพุทธกาลคือท่านสุภูติ ท่านได้พูดเป็นคาถาเกี่ยวกับฝน ท่านบอกว่า ฝนฟ้าเวลาหก จะตกก็ตกเถิด อันตรายภายนอกไม่มีแก่เราแล้ว เพราะว่าเราปิดประตูลั่นหน้าต่างไว้อย่างดี เทพยดาจะบันดาลให้ฝนตกก็ตกเกิด อันตรายภายในไม่มีแก่เราแล้ว เพราะว่าจิตของเรารักษาไว้อย่างดีแล้ว เพราะฉะนั้นฝนจะตกก็ตกให้ทั่วถึงเถิด เพราะว่าท่านไม่กลัวฝน เพราะเรือนหรือกุฏิของท่านบังไม่ดีแล้วมีปิดประตูหน้าต่างไว้แน่นหนาแล้ว แล้วก็ไม่กลัวความทุกข์ที่จะเกิดขึ้น เพราะว่าจิตมีเครื่องรักษา
ที่จริงท่านไม่ได้พูดหมายถึงฝนอย่างเดียว ท่านหมายถึงเหตุการณ์ต่างๆที่เราเรียกว่าอนิฏฐารมณ์ เหตุร้ายที่ไม่พึงประสงค์จะเกิดขึ้นอย่างไร ก็เกิดไปเถิด เราไม่กลัว เพราะว่าจิตของเรารักษาไว้ดีแล้ว ท่านใช้คำว่าอันตรายภายใน อันตรายภายในก็อย่างที่พูดไว้ตั้งแต่ตอนต้น คือ ความทุกข์ใจ ความโกรธ ความเกลียด ความเศร้า ไม่สามารถที่จะทำอันตรายต่อจิตใจของท่านได้ เพราะว่าจิตใจของท่านมีเครื่องรักษาแล้ว
คนที่มีจิตที่รักษาไว้ดีแล้ว ก็ไม่กลัวว่า จะมีอะไรเกิดขึ้นกับตน เหตุร้ายไม่พึงประสงค์ เช่น ความเจ็บป่วยหรือว่าความผันผวนแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ หรือว่าความสูญเสียพลัดพราก เหล่านี้ชาวโลกย่อมไม่ประสงค์ให้เกิดขึ้น หรือไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะคิดว่าเกิดแล้วจะทำให้ใจเป็นความทุกข์ แต่สำหรับพระอรหันต์อย่างท่านสุภูติ สิ่งเหล่านั้นมาทำอะไรกับจิตใจท่านไม่ได้ เพราะว่าจิตใจของท่านมีเครื่องรักษาไว้อย่างดีแล้ว
ถ้าเรารักษาจิตของเราได้อย่างนั้น หรือว่าเราสามารถที่จะพัฒนาจิตของเรา พัฒนาสติ เจริญปัญญาให้มีเครื่องรักษาใจได้อย่างนั้น เราก็จะสามารถเผชิญกับสิ่งต่างๆได้ ไม่ว่าบวกหรือลบ ขึ้นหรือลง ด้วยใจที่ปกติ
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 23 กันยายน 2564