แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อวานพูดไปแล้วว่า คนเราเปลี่ยนไปเป็นคนละคนเมื่อมีอารมณ์ต่างๆเข้ามาครอบงำ เช่น ความโกรธ ความเศร้าโศกเสียใจ ความน้อยเนื้อต่ำใจ ซึ่งเป็นผลมาจากเหตุการณ์เลวร้ายไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น หรืออาจจะเป็นเพราะว่าเจอโรคภัยไข้เจ็บ หรือแม้จะไม่เจออะไรเลย แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป กลายเป็นคนชรา ก็กลายเป็นอีกคนหนึ่ง เวลาผ่านไปแม้จะไม่เจ็บไม่ป่วย แม้จะไม่แก่ชราก็อาจจะกลายเป็นอีกคนหนึ่งก็ได้ชนิดที่เรียกว่าตรงกันข้ามเลยก็มี
แต่ที่จริงแล้ว แม้จะไม่เจอกับสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่พูดมา ในแต่ละขณะๆว่าที่จริงแล้วเราก็ไม่ใช่เป็นคนเดิม เมื่อ 5 นาทีที่แล้วกับเราตอนนี้ มันก็ไม่ใช่เป็นคนเดิม พูดได้ว่าในแต่ละคนๆ เราเป็นคนใหม่ที่ไม่ใช่คนเดิม อันนี้ถ้ามองอย่างละเอียดลงไป เริ่มตั้งแต่ร่างกายคนเราเมื่อเช้านี้กับตอนเย็นนี้ก็ไม่ใช่ร่างเดิมเพราะว่ามันมีความเกิดดับๆขึ้น ในร่างกายของเราตั้งแต่หัวจดเท้า ไม่ว่าจะภายนอกหรือภายใน
มีความเกิดดับของเซลล์ต่างๆในร่างกายในแทบจะทุกอวัยวะ ความเกิดดับๆนเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลานี้ มันก็ทำให้ร่างกายของเราในแต่ละขณะเป็นร่างใหม่อยู่เสมอ คือ ไม่ใช่ร่างเดิม อย่างเราก็สังเกตได้ ผิวหนังของเรา ผ่านไปสักวันสองวันก็ลอกแล้วมันมีผิวใหม่เกิดขึ้น ผิวเก่าก็ตายไป ผมก็เหมือนกัน ผมร่วงแล้วก็มีผมใหม่เกิดขึ้น
อันนี้คือความเกิดความดับที่ปรากฏกับร่างกายของเราไม่ใช่แค่ภายนอกแต่ภายในด้วย เนื้อเยื่อ อวัยวะทุกส่วน มีการเกิดดับเรียกว่าอยู่ตลอดเวลาเลย มีคนประมาณว่า มีเซลล์ที่ดับที่ตายในร่างกายเรา วันหนึ่งมีประมาณ 150,000 เซลล์ ซึ่งเป็นปริมาณที่เรียกว่าอาจจะน้อยไปด้วยซ้ำ แต่ในขณะเดียวกันก็มีการดับก็มีการเกิดใหม่ของเซลล์ขึ้นมา เพราะฉะนั้น เราพูดได้เลยว่า ร่างกายของเราเมื่อวานนี้กับวันนี้ เมื่อเช้านี้กับเย็นนี้ มันไม่ใช่ร่างเดิม เป็นร่างใหม่
หรือแม้กระทั่งเมื่อ 5 นาทีที่แล้ว กับตอนนี้ มันก็เป็นคนละร่างกัน ไม่ใช่แค่ร่างกายเราอย่างเดียว ความรู้สึกนึกคิดของคนเราก็เช่นเดียวกัน มันก็มีการเกิดการดับ มีการแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา มันเกิดดับๆ ดูเหมือนมันมีความต่อเนื่อง ดูเหมือนกับมีความรู้สึกนึกคิดเเดียวกัน เพราะว่ามันเกิดแบบถี่ยิบมาก
มันก็เหมือนกับแสงไฟ สมัยก่อนมันมีไฟที่เรียกว่าไฟนีออนหรือไฟฟลูออเรสเซนต์ มันก็จะสว่างแล้วมืด วินาทีหนึ่งเป็น 100 ครั้ง แต่ว่าเรารู้สึกสว่างตลอดเวลา ที่สว่างตลอดเพราะว่าว่างแล้วก็ดับ ๆ อย่างถี่ยิบมาก มันมีความสืบเนื่องกันอย่างใกล้ชิด หรือยางชิดมาก อย่างถี่ยิบ มันก็เลยดูเหมือนว่าสว่างตลอด ร่างกายของคนเราก็เหมือนกัน มันก็ไม่ต่างจากเทียน ถ้าเราจุดเมื่อ 5 นาทีที่แล้วกับตอนนี้ มันก็เป็นเทียนคนละเล่ม ไม่เชื่อก็ไปลองชั่งน้ำหนักดู มีความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เทียนเล่มเดิมแล้ว
อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นเรียกว่ากับทุกสิ่งไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต และมันเกิดขึ้นกับทั้งร่างกายของเรา แล้วก็ความรู้สึกนึกคิดของเรา แต่ว่ามันก็เกิดขึ้นแบบถี่ยิบเหมือนกัน จนกระทั่งดูเหมือนว่ามันเป็นร่างเดียวกันเมื่อวานนี้กับวันนี้ ความรู้สึกนึกคิดก็เหมือนกัน จิตมันก็เกิดถี่ยิบเหมือนกัน แต่ว่ามันมีความสืบเนื่องกัน จนดูเหมือนว่ามันเป็นจิตดวงเดียวกัน
มีนักปราชญ์ชาวกรีกคนหนึ่งอยู่ร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า พูดไว้น่าสนใจ บอกว่าไม่มีใครที่เคยย่างเหยียบเท้าลงแม่น้ำสายเดิมเป็นครั้งที่ 2 แม่น้ำสายเดิมเราไม่สามารถจะเหยียบย่ำเดินได้เป็นครั้งที่ 2 เพราะว่าอะไร เพราะว่าพอเราเหยียบย่ำเป็นครั้งที่ 2 มันก็เป็นแม่น้ำสายใหม่แล้ว มันไม่ใช่แม่น้ำสายเดิมแล้วคนที่เหยียบก็ไม่ใช่คนเดิม เป็นคนใหม่ นักปราชญ์กรีกคนนี้ เขาเห็นถึงความแปรเปลี่ยนของสรรพสิ่งอย่างใกล้ชิด เรียกว่าเห็นความเป็นอนิจจังมาตั้งแต่โน่น 2000 กว่าปีที่แล้ว
เพราะฉะนั้น ถ้าจะว่าไปแล้ว ที่เราคิดว่าเป็นตัวเรา มันเป็นคนใหม่อยู่เสมอ แต่ละขณะๆ ไม่ใช่คนเดิม และว่าคนใหม่จะเป็นคนดีหรือคนแย่ ก็อีกเรื่องหนึ่ง อันนี้คือความจริงที่สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างที่เราไม่สามารถจะควบคุมได้ สิ่งที่เราควรทำก็คือ ทำความเข้าใจ และตระหนักว่า ในเมื่อทุกสิ่ง แม้กระทั่งสิ่งที่เรียกว่าตัวเรา มันก็แปรเปลี่ยนอยู่ทุกขณะ ไม่หยุดนิ่ง
เพราะฉะนั้น จึงไม่สามารถที่จะยึดมั่นถือมั่น หรือยึดให้มันคงที่ได้ เราไม่สามารถจะยึดร่างกายนี้ให้คงที่ได้ ไม่สามารถที่ยึดตัวเราและสรรพสิ่งให้คงที่ได้ แต่เรามักจะเผลอยึดให้มันเที่ยง ให้มันคงที่ เพราะว่าเรามีความคิดว่านี่คือเรานี่ของเรา แต่อย่างที่บอก อะไรที่มันเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดนิ่ง สิ่งนั้นเราจะเรียกว่ามันมีตัวมีตนของมันเองไม่ได้ เพราะถ้ามันมีตัวตนเรียกว่าอัตตา มันก็ต้องมีความเที่ยงแท้แน่นอน ไม่มีความแปรเปลี่ยน
และในเมื่อในแต่ละขณะ มันเป็นคนใหม่เสมอ เพราะฉะนั้นจะพูดว่า มันมีตัวเรา ก็พูดไม่ได้ เพราะฉะนั้น พอเราเห็นความจริงเช่นนี้แล้ว เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับ เริ่มตั้งแต่ความเปลี่ยนแปลงของทุกสิ่ง ของร่างกาย ของตัวเรา ที่มันไม่เที่ยง ไม่สามารถที่จะยึดให้มันคงที่หรือคงตัวได้ ถ้าเราไม่ทำเช่นนั้น ก็จะเป็นทุกข์มากเลยเมื่อมันเกิดความเปลี่ยนแปลง
คนเรามักจะเป็นทุกข์เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลง เช่น ร่างกายจากเดิมที่สุขภาพดีก็เจ็บป่วย จากเดิมที่มีกำลังวังชาก็แก่ชราไม่มีเรี่ยวไม่มีแรง หรือว่าข้าวของทรัพย์สมบัติมันเสื่อมมันเสียไป ที่จริงความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ทำให้เราทุกข์ หรือสร้างทุกข์ให้กับเรา แต่เป็นเพราะเราไม่ยอมรับ ไม่รู้จักความเปลี่ยนแปลงต่างหาก
พอเราไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง เราก็ไปยึดสิ่งต่างๆว่ามันเที่ยง มันคงที่ แต่สิ่งต่างๆมันก็ไม่ได้เป็นไปตามใจเรา ถ้าเราเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลง เข้าใจ ตระหนักว่า เราเป็นคนใหม่อยู่เสมอ คนเดิมมันไม่มี มันมีแต่ใหม่ ใหม่อยู่เรื่อยๆ จะดีหรือแย่ก็แล้วแต่
ในด้านหนึ่งเรายอมรับความเปลี่ยนแปลง ในอีกด้านหนึ่งทำให้ความเปลี่ยนแปลงเป็นไปในทางที่ดี ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงในทางที่ต่ำไปในทางที่ลบ ซึ่งมันอยู่ในวิสัยที่เราจะทำได้ ถ้าเราเข้าใจปัจจัยเหตุของความเปลี่ยนแปลง เช่น สุขภาพร่างกาย แม้ว่ามันมีแนวโน้มที่จะเสื่อมถอยลงไปเรื่อยๆ แต่เราก็สามารถที่จะดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรง แต่ว่ามันก็ไม่ได้เป็นไปตามใจเราอยู่ มันอยู่ที่เราสร้างเหตุสร้างปัจจัย
อย่าง คนบางคนอายุ 70-80 ยังแข็งแรง ยังปีนเขาได้ ยังวิ่งมาราธอนได้ อันนี้เขารู้จักใช้ความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ให้เกิดประโยชน์ โดยอาศัยการเข้าใจเหตุปัจจัย
ความเปลี่ยนแปลง ความเกิดดับ มันก็เป็นเรื่องคู่กัน เพราะเกิดดับจึงมีความเปลี่ยนแปลง ถ้าหากว่าเราเข้าใจในเรื่องนี้ ความรู้สึกนึกคิดของเราก็เหมือนกัน ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นในใจ มันเกิดดับเกิดดับตลอดเวลา ความโกรธ ความเศร้า มันไม่เที่ยง มันไม่คงที่ มันเกิดแล้วก็ดับทุกขณะ แต่ทำไมเราเศร้าเป็นวันๆ ทำไมเราโกรธเป็นวันๆ จนกระทั่งกลายเป็นคนละคนไปเลย
ทั้งนี้เพราะเราปล่อยให้มันต่อเนื่องหรือต่ออายุให้มันไปเรื่อยๆ ทั้งๆที่มันเกิดแล้วก็ดับ มันเกิดแล้วก็ดับ แต่เราก็ต่ออายุให้มันเพราะเราเกี่ยวข้องกับมันไม่เป็น แต่ถ้าเรารู้จักดู ไม่ปล่อยใจให้ไปจมอยู่ในความคิด หรือความรู้สึกนึกคิดนั้น หรือไปปรุงแต่งมัน มันก็ดับ เหมือนกับกองไฟ ถ้าเราไม่เติมฟืนให้มัน ในที่สุดมันก็ดับไป
อารมณ์ก็เหมือนกัน มันดับเร็วยิ่งกว่ากองไฟเสียอีก เพียงแค่เห็นมัน ไม่เข้าไปเป็นมัน คือไม่ไปปรุงมัน มันก็ดับ ที่จริงมันดับอยู่แล้ว เพียงเราเห็นมัน ไม่เข้าไปปรุงมัน ก็เท่ากับว่าไม่ได้ทำให้มันเกิดขึ้นใหม่ มันดับอยู่แล้ว แต่ว่าอย่าไปใส่ไฟให้มันเกิดขึ้น เมื่อไม่ไปใส่ฟืน ไม่ใส่ไฟ มันก็ดับ มันก็ดับยาวไปเลย
อันนี้ก็คือการใช้อนิจจังแห่งความเกิดดับ ให้เป็นประโยชน์ คราวนี้เมื่อเราพิจารณาดูว่า ร่างกายของเราก็ดี หรือสิ่งที่เราเรียกว่าเป็นตัวเราก็ดี มันเกิดขึ้นแล้วก็ดับ ๆ ทุกขณะ ในแง่หนึ่งก็ชี้ให้เราเห็นเลยว่า ตัวเรามันไม่ใช่เป็นสิ่งที่เรียกว่าเป็นอัตตา มันเป็นอนัตตา เพราะถ้าเป็นอัตตา มันก็ต้องเที่ยงแท้ไม่แปรเปลี่ยน
เพราะฉะนั้นถ้าเราดูตัวเรา ร่างกายของเรา ในแต่ละขณะ แต่ละขณะ มันก็จะเห็นว่า มันก็ประกอบขึ้นด้วยเหตุปัจจัย หรือเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยต่างๆมากมายในแต่ละขณะๆ เช่น ในร่างกายเราประกอบไปด้วยอวัยวะมากมาย ชิ้นส่วนต่างๆ เรียกว่าเป็นพันเป็นหมื่นชิ้นส่วนเลยก็ได้ ร่างกายเราเกิดขึ้นได้เพราะมีชิ้นส่วนหรืออวัยวะต่างๆนี้แหล่ะ มารวมกันแล้ว มันก็เกิดเป็นสิ่งที่เราเรียกว่าร่างกายนี้ขึ้นมา
แต่ว่าชิ้นส่วนเหล่านี้ หรืออวัยวะส่วนประกอบต่างๆเหล่านี้ มันก็ตกอยู่ภายใต้ความไม่เที่ยง มันก็มีความแปรเปลี่ยน คือมีความเกิดดับ ส่วนไหนดับไป มันก็ทำให้เกิดความเจ็บป่วยขึ้นมาได้ เหมือนกับรถประกอบด้วยชิ้นส่วนเป็นพันชิ้นส่วน ถ้าชิ้นส่วนหนึ่งส่วนเสียไป ถ้าสำคัญก็ทำให้รถวิ่งไม่ได้ แม้กระทั่งสายไฟเกิดขาดขึ้นมา หรือว่าหัวเทียนเกิดบอดขึ้นมา รถก็วิ่งไม่ได้
อันนี้ถ้าเป็นคนก็เรียกว่าป่วย เกิดความเจ็บป่วยขึ้นมา ทางธรรมะเขาเรียกว่าเกิดทุกข์ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนหรือที่เรียกว่าอนัตตากับทุกขัง มันเชื่อมโยงกันมาก เพราะว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวง มันอยู่ได้เพราะการชุมนุม หรือการประชุมกันของส่วนประกอบต่างๆ อย่างนี้เรียกว่าอนัตตา
ถ้าเป็นอัตตา ก็หมายความว่า มันอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง แต่ทุกสิ่งมันอยู่ไม่ได้ด้วยตัวมันเอง แต่มันอยู่ได้เพราะมีองค์ประกอบหรือส่วนประกอบมารวมกัน อวัยวะต่างๆมารวมกันก็เป็นร่างกาย ชิ้นส่วนต่างๆมารวมกันมันก็เกิดเป็นรถ และชิ้นส่วนแต่ละส่วน องค์ประกอบแต่ละอย่าง มันก็ไม่เที่ยง เกิดแล้วก็ดับ พอดับแล้วเกิดทุกข์ขึ้นมา แล้วพอเกิดทุกข์ขึ้นมาแล้ว มันก็นำไปสู่อนิจจัง ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาเราปวดเมื่อย เราก็ต้องขยับ ขยับนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่ง เป็นอนิจจังอย่างหนึ่ง ที่เราขยับที่เราเปลี่ยนอิริยาบถก็เพราะว่ามันปวด อันนี้เรียกว่าอนิจจังเกิดขึ้น เพราะทุกขัง แล้วทุกขังเกิดขึ้นเพราะอนัตตา
ขณะเดียวกันถ้าหากว่าเราไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ไม่ยอมเปลี่ยนอิริยาบท จะเกิดอะไรขึ้นมา ก็ยิ่งปวดยิ่งเมื่อยหนักขึ้น ทุกขังก็ทำให้เกิดอนิจจัง และอนิจจัง ถ้าเราปฏิเสธมันไม่ยอมรับมัน มันก็เกิดทุกขังที่หนักขึ้น ไม่ต้องดูความปวดเมื่อยของแข้งขาก็ได้
ตาเรา ถ้าเราไม่กระพริบ ถ้าเราไม่ตั้งใจไม่กระพริบตาสัก 5 นาที มันก็จะปวดเมื่อยตามากเลย และเราจะเข้าใจเลยว่า ทำไมเราต้องกระพริบตา ก็เพราะว่ามันเป็นการช่วยบรรเทาความปวดความเมื่อยของกล้ามเนื้อตา ร่างกายเรา ตาต้องกระพริบ เพื่อมันจะได้หายทุกข์ แต่ถ้าไม่ยอมกระพริบ มันก็ยิ่งทุกข์มากขึ้น อันนี้เรียกว่าทุกขัง ทำให้เกิดอนิจจัง และอนิจจัง มันก็ช่วยคลายทุกขัง หรือช่วยทำให้ความทุกข์มันบรรเทาเบาบางลง
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันก็เลยสัมพันธ์กันมาก เป็นเพราะอนิจจังทำให้สิ่งทั้งปวงเกิดภาวะที่เรียกว่าบีบคั้น ต้องเสื่อม ต้องสลายไป อันนี้เรียกว่าทุกขัง อนิจจังก็เป็นเพราะทุกขัง และทุกขังก็เป็นเพราะอนัตตา แต่ในขณะเดียวกัน อนิจจังก็ทำให้เกิดทุกขังขึ้นมา ถ้าเราพิจารณาดู อนิจจังก็เห็นทุกขัง เวลาพิจารณาทุกขังก็เห็นอนิจจัง
และยิ่งถ้าเราพิจารณาอนิจจา ทุกขังก็เห็นอนัตตา คือการที่สิ่งต่างๆไม่มีตัวตนของมันเอง มันไม่อยู่ในวิสัยที่เราจะควบคุมบังคับบัญชาได้ มันไม่มีตัวตนของมันเอง และมันจึงต้องแปรเปลี่ยนเป็นนิจ มันไม่สามารถที่จะคงที่คงเส้นคงวาได้
เราก็เรียนรู้ อนิจจังทุกขังอนัตตาซึ่งเป็นสัจธรรม จากร่างกายของเราก็ได้ จากความรู้สึกนึกคิดของเราก็ได้ แล้วถ้าเราเข้าใจแล้ว เวลาเกิดความเจ็บความปวดขึ้นมา เราก็ทุกข์แต่กาย ใจไม่ทุกข์ ถ้าเราพิจารณาดูดีๆ รู้จักมองรู้จักพิจารณาเช่น เวลาปวดขา ถ้าเรามองไม่เป็น มันไม่ใช่แค่ปวดขาอย่างเดียว มันจะมีความรู้สึกว่ากูปวดด้วย มันไปยึดว่าขาเป็นกู ไม่ใช่แค่ขาปวดกูปวดด้วย ใจก็เลยเป็นทุกข์
แต่ถ้าเราพิจารณาเป็นเห็นขาปวด มันก็จะไม่มีความรู้สึกว่ากูปวดขึ้นมา จะเห็นอย่างนี้ได้ต้องมีสติด้วย เมื่อขาปวดก็ดูมันก็จะเห็นว่า เป็นขาที่ปวดไม่ใช่กูปวด คนส่วนใหญ่ไม่ได้มองเห็นแบบนี้ เวลาขาปวด ก็กูปวดขึ้นมาเมื่อนั้นทันทีเลย ซึ่งมันก็ทำให้ปวดทั้งกายปวดทั้งใจ แต่ถ้าดูเป็นก็ไม่มีกูปวดมีแต่ขาปวด แล้วถ้าดูไปเรื่อยๆมันไม่ใช่เป็นขาที่ปวด มันแค่มีความปวดเกิดขึ้นที่ขา
ถ้าเรามองว่าขาปวด แสดงว่าความปวดเป็นส่วนหนึ่งของขา แต่ไม่ใช่ความปวดเป็นส่วนหนึ่งของขา มันแค่เกิดขึ้นที่ขา ถ้าเรามองว่าความปวดเป็นส่วนหนึ่งของขา ความปวดเป็นคุณสมบัติหนึ่งของขา หรือความปวดอยู่ในขา ที่จริงไม่ใช่ ความปวดเป็นแค่เกิดขึ้นที่ขา ความปวดคืออะไร คือเวทนาของขา ขาคืออะไร ขาคือรูป เมื่อเราปวดขาขึ้นมาเราพิจารณาดูก็จะเห็นว่า เวทนามันเกิดขึ้นกับรูป หรือเกิดขึ้นกับรูป
มันก็เหมือนกับเวลาเราสีไฟ เอาไม้มาสีกันแล้วเกิดไฟขึ้นมา มันไม่ได้แปลว่าไฟมันอยู่ที่เนื้อไม้ ถ้าไปคิดว่าไฟมันอยู่ในเนื้อไม้ก็แสดงว่าไฟเป็นส่วนหนึ่งของไม้ แต่ไม่ใช่ ไฟไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของไม้ และไฟไม่ได้อยู่ในเนื้อไม้ ไฟมันเกิดขึ้นที่ไม้ อาศัยไม้เป็นที่เกิด
ความปวดก็เหมือนกัน มันเกิดขึ้นที่ขา แต่มันไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของขา แต่พอเรามองว่าขาปวดขาปวด ทำให้เราไปเข้าใจว่าความปวดเป็นส่วนหนึ่งของขา หรือว่าความปวดเป็นคุณสมบัติของขา ก็เหมือนกับมองว่าไฟอยู่ในเนื้อไม้หรือเป็นส่วนหนึ่งของไม้ ซึ่งมันไม่ใช่
ถ้าเรามองให้เป็น มันก็จะเห็นว่าอ๋อ ความปวดมันเกิดขึ้นที่ขา เวทนาเกิดขึ้นกับรูป มันก็จะเริ่มเห็นเวทนาก็อันหนึ่ง รูปก็อันหนึ่ง แล้วพอเห็นอย่างนี้เข้า ก็จะไม่เกิดความคิดว่ากูปวดๆ ความรู้สึกปวด หรือปรุงแต่งเป็นความรู้สึกโกรธ หรือผลักไสความปวด มันก็จะเห็นว่า อ๋อ ความรู้สึกทุกขเวทนาทางใจ หรืออาการโทสะ มันเกิดขึ้นที่ใจ แต่ว่ามันไม่ได้เป็นคุณสมบัติของใจ หรือของจิต
ถ้าเรามองไม่เป็นขาปวดแล้วเกิดความรู้สึกว่ากูปวดขึ้นมา มันจะเกิดโทสะขึ้นมา แล้วก็ไปคิดว่าโทสะกับจิตเป็นอันเดียวกัน แต่ถ้าเราดูเป็นก็จะพบว่ามันไม่ใช่ ความโกรธก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง ถ้าจิตเห็นความโกรธ เพราะมีสติ มันก็ไม่เข้าไปคลุกความโกรธหรือไปยึดความโกรธเอาไว้ จิตก็อันหนึ่ง โทสะก็อันหนึ่ง เวทนาก็อันหนึ่ง รูปก็อันหนึ่ง ความโกรธก็เรียกว่าเป็นสังขาร
มันจะเห็นแยกกันเลย เวทนาก็อันหนึ่ง รูปก็อันหนึ่ง สังขารก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง มันจะเห็นความจริงเรียกว่าขันธ์ 5 ที่พบว่าเป็นสิ่งที่ประกอบกันขึ้นมา เป็นตัวเรา ถ้ามองแบบนี้มันก็จะไม่มีตัวเราเกิดขึ้น มันก็มีแต่รูป เวทนา สังขาร จิต วิญญาณ
เพราะฉะนั้นถ้าเราพิจารณาเพียงจากขาที่ปวด เราก็จะเห็นความจริงเห็นสัจธรรม ว่ามันไม่มีตัวเราที่มันเป็นรูปเป็นก้อน มันก็แค่สิ่งที่เกิดจากขันธ์ มารวมกันมาประกอบกัน มันไม่มีตัวกูหรือตัวเราซ้อนอยู่ในขันธ์แต่ละขันธ์เหล่านี้เลย ก็จะทำให้เราเห็นสัจธรรมคืออนัตตา จากการที่ได้เห็นขันธ์ 5
เพราะฉะนั้นสัจธรรมในเรื่องไตรลักษณ์ ไม่ว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือเรื่องขันธ์ 5 ที่จริงเราก็ไม่ได้ดูจากที่ไหน ก็ดูจากที่กายและใจนี้แล้ว จะทำให้เข้าใจ ที่ว่าเป็นเราเป็นตัวเป็นตน ที่จริงก็เป็นสิ่งที่เราปรุงแต่ง หรือเป็นสิ่งที่สมมุติกันขึ้นมา มองเช่นนี้ ที่คิดว่าเรามีตัวเราที่เที่ยง มันก็จะค่อยๆ บรรเทาเบาบางลง แล้วมันก็จะทำให้ความยึดติดถือมั่น ในตัวกูของกูลดน้อยลงไปด้วย เพราะเห็นสัจธรรมจากกายและใจ มันก็ทำให้เกิดความโปร่งความเบา มีความเปลี่ยนแปลงใดๆเกิดขึ้นก็ไม่ได้ทุกข์ร้อน ไม่ได้เจ็บปวด เพราะไม่ได้มีความยึดมั่นถือมั่นในกายและใจตั้งแต่แรก
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 22 กันยายน 2564