แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ความจริงสูงสุดในพระพุทธศาสนาก็คือ ความจริงที่ว่าไม่มีตัวตน เรียกว่าอนัตตา สิ่งที่เรียกตัวกูหรือตัวตน มันไม่มีอยู่จริง มันเกิดจากอวิชชาที่นำมาสู่การปรุงว่ามีตัวกู หรือว่ามีตัวตน เพราะฉะนั้นคำสอนของพระพุทธเจ้าก็จะชี้ความจริงไปที่ข้อนี้
เพราะว่าการที่รู้ความจริงข้อนี้ มันทำให้ละความยึดติดถือมั่น ไม่ว่าในกาย ในใจ หรือในสิ่งทั้งปวง มันทำให้เกิดอิสรภาพแก่จิตใจได้ ในพระไตรปิฎกก็มีคำสอนมากมายเกี่ยวกับเรื่องอนัตตา และความจริงอีก 2 ประการ อนิจจัง ทุกขังที่เรียกว่าไตรลักษณ์ และก็มีวิธีการต่างๆที่ทำให้บุคคลได้เข้าถึงความจริงที่ว่านี้ จนกระทั่งเลิก ถอนความยึดมั่นในตัวกู
แต่ว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าก็มีอีกด้านหนึ่ง ที่พูดถึงเรื่องตัวตน มีคำสอนมากมายที่เป็นภาษิตก็เยอะ พุทธภาษิต อย่างเช่น ที่เรารู้จักกันดี ตนนั้นเป็นที่พึ่งแห่งตน ที่จริงในพุทธภาษิตไม่ได้มีเท่านี้พระพุทธเจ้ายังตรัสต่อต่อไปอีกว่า เมื่อมีตนที่ฝึกไว้ดีแล้ว ย่อมมีที่พึ่งที่ได้ยากแสนยาก อันนี้ก็เป็นการย้ำให้ผู้คนทั้งหลายหมั่นฝึกตน
คนอาจจะสงสัยพระพุทธเจ้าสอนเรื่องอนัตตา ไม่มีตัวไม่มีตน แต่ทำไมพูดถึงตัวตน พูดถึงเรื่องตน ซ้ำยังสอนให้หมั่นฝึกตน บัณฑิตย่อมฝึกตน อันนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง รวมทั้งที่พระพุทธเจ้าสอนว่า คนพาลปัญญาทราม ย่อมทำกับตัวเองเหมือนเป็นศัตรู อันนี้ก็เป็นการตอกย้ำว่า ถ้าเราไม่ฝึกตนให้ดี ไม่เกิดปัญญาแล้ว เราก็สามารถจะทำร้ายตัวเองได้
คนที่ได้อ่านได้ฟังคำสอนเรื่องอนัตตาว่าเป็นสัจธรรมความจริงขั้นสูงสุด พอมาเจอคำสอนเรื่องตัวตนเรื่องการฝึกตน ในเรื่องการมีตนเป็นที่พึ่ง ก็อาจจะเกิดความสงสัยขึ้นมาได้ว่า ทำไมพระพุทธเจ้าสอนไม่เหมือนกัน ขัดแย้งกัน ที่หนึ่งบอกไม่มีตัวตน อีกที่หนึ่งบอกว่าต้องฝึกตน รวมทั้งแม้กระทั่งรักตนด้วย
บทสวดมนต์บทหนึ่ง ที่เราสวดกันมีข้อความว่า เพราะฉะนั้นบุคคลผู้รักตน หวังอยู่เฉพาะคุณเบื้องสูง เมื่อระลึกได้ถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ จงทำความเคารพพระธรรม ในเมื่อไม่มีตัวตนจะสอนให้รักตนอย่างไร อันที่จริงก็ต้องเข้าใจว่า แม้ว่าความจริงสูงสุดคือไม่มีตัวตน ตัวกูไม่มีอยู่จริง มันเป็นมายาที่จิตได้สมมุติและปรุงแต่งขึ้นมา และคนก็ไปยึดมั่นถือมั่นในมายาภาพนั้น ซึ่งก็เป็นเรื่องของอวิชชาหรือความหลงผิด
แต่ในเมื่อความจริงมีอยู่ว่า คนทั้งโลกยังมีความสำคัญมั่นหมายว่ามีตัวตนอยู่ ยังมีความรู้สึกว่ามีตัวกูอยู่ จะให้เขาเลิก ให้เขาถอน ให้เขาปฏิเสธตัวกู ย่อมเป็นไปได้ยาก ในเมื่อยังมีความสำคัญมั่นหมายว่ามีตัวกูอยู่ สิ่งที่ควรทำก็คือว่า ใช้ความสำคัญมั่นหมายนั้น แม้จะผิดแต่ก็ใช้กันไปในทางที่ส่งเสริมการทำความดี ส่งเสริมการบำเพ็ญคุณธรรม ในเมื่อยังละทิ้งตัวตนไม่ได้
ถ้าพูดแบบภาษาชาวบ้านก็คือตราบใดที่ยังมีตัวตนอยู่ ก็ส่งเสริมพัฒนาตัวตนให้เป็นตัวตนที่ดี อย่างที่พูดเมื่อเช้าไว้ ให้มีตัวกูที่ใฝ่ดี มีคุณธรรม อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราควรจะทำ อย่าให้ตัวกูเป็นตัวกูที่เกเรหรือว่าพร่อง หรือว่าเจ็บป่วยเพราะขาดความรัก ไม่เป็นที่ยอมรับ
พุทธศาสนา เป็นศาสนาที่แม้จะมีอุดมคติสูงสุดซึ่งดูเหมือนไกล แต่ว่าพระพุทธเจ้าสอนให้คนเรารู้จักอยู่กับความเป็นจริง อยู่กับความเป็นจริงก็คือยอมรับความเป็นจริง ในเมื่อคนยังมีความยึดติดถือมั่นว่ายังมีตัวกูอยู่ ก็ใช้ตัวกูนั่นแหละในทางที่ส่งเสริมคุณธรรมความดี อย่างเช่นคนเรายังมีตัวตนอยู่ เขาก็ควรจะรักตน แล้วจะทำอย่างไรให้รักตนในทางที่ถูกต้อง ก็ทำความเคารพพระธรรม หรือว่าเอาธรรมะมาปฏิบัติ อย่างน้อยก็ไม่ทำร้ายตัวเอง
ถ้ารักตนก็อย่าทำร้ายตัวเอง ไม่ทำร้ายตัวเองอย่างไร ก็ต้องมีปัญญา ไม่ใช่เป็นคนพาลปัญญาทราม อย่างนี้ก็ทำร้ายตัวเอง เหมือนกับว่าตัวเองเป็นศัตรู อันนี้เป็นหลักการของพระพุทธศาสนาเลย ก็คือว่าอยู่กับความเป็นจริง รับความเป็นจริง แล้วก็ใช้ความจริงนั้นให้เกิดประโยชน์ แม้ความเป็นจริงน่าจะเป็นความหลงผิดหรืออวิชชา แต่ถ้าใช้ให้เป็นใช้ให้ถูกมันก็เป็นประโยชน์ ใช้ยึดตัวกูนั่นแหละไปในทางส่งเสริม ให้คนขยันหมั่นเพียร ทำความดีมีคุณธรรม ถือว่า มันช่วยทำให้ตัวกูประสบความเจริญประสบความสุข
คนเราเมื่อมีความยึดมั่นสำคัญมั่นหมายตัวกู มันก็ปรารถนาอยากให้ตัวกูนี้ดี มีความสุข ก็ใช้ตัวกูนั่นแหละทำความดี มีศีลมีธรรม จะได้ประสบความสุขความเจริญ และเมื่อปรารถนาความสุขยิ่งๆขึ้นไป ไม่อยากให้มีความทุกข์ ก็ชวนมาปฏิบัติธรรม มาเจริญสมาธิวิปัสสนา มาบำเพ็ญสมถกรรมฐาน มาทำวิปัสสนากรรมฐาน เจริญสติปัฏฐาน
ทีแรกก็หวังให้ฉันมีความสุข ไกลจากความทุกข์ แต่พอปฏิบัติไปๆ มันก็จะเห็นความจริงว่า ตัวกูไม่มีจริง มันเป็นแค่สิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมาด้วยความหลง ถึงตอนนี้ก็จะเพิกถอนความยึดมั่นสำคัญหมายในตัวกูได้ แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องเริ่มต้นจากความต้องการของตัวกูหรือตัวฉันมีความสุข ไม่ถูกความทุกข์บีบคั้น
อันนี้เรียกว่าใช้ความยึดมั่นสำคัญหมายว่ามีตัวกู ไปในทางส่งเสริม ไม่ใช่แค่ความดี แต่ยังเป็นตัวขับเคลื่อนให้คนเข้าถึงสัจธรรมความจริงขั้นสูงสุดที่เรียกว่าอนัตตาหรืออนัตตภาวะ อนัตตลักษณะ อันนี้เป็นลักษณะหนึ่งของพระพุทธศาสนาก็คือว่า ตราบใดที่คนเรายังมีความหลงผิดอยู่ในเรื่องตัวกู ก็ใช้ความหลงผิดนั้นแหละเป็นตัวผลักดันให้เกิดสิ่งดีงามขึ้นมา
อันนี้ไม่ใช่เฉพาะการหลงผิดหรืออวิชชาว่ามีตัวกู แม้กระทั่งกิเลสก็เหมือนกัน ตราบใดที่คนเรายังมีกิเลสอยู่ ยังละทิ้ง ยังเลิกกิเลสไม่ได้ ก็ควรจะใช้กิเลสนั้นไปในทางที่เป็นประโยชน์ ในด้านหนึ่งก็ต้องขัดเกลาลดละกิเลสไป แต่ถ้ายังมีหลงเหลืออยู่ 75% หรือ 50% หรือ 80% ก็แล้วแต่ ก็ใช้กิเลสนั้นส่งเสริมไปในทางที่ส่งเสริมคุณธรรมหรือว่า พาเข้าถึงสัจธรรม จนละทิ้งกิเลสได้
มีตัวอย่างมากมายในสมัยพุทธกาล ลูกชายของอนาถบิณฑิกเศรษฐีไม่ค่อยสนใจธรรมะ พ่อเป็นโสดาบัน แต่ลูกชายไม่เอาเรื่องไม่เอาราว ก็ธรรมดาของลูกคนรวย อนาถบิณฑิกเศรษฐีสอนอย่างไร ก็ไม่เกิดผล อันนี้ก็เป็นธรรมดาพ่อสอนลูกยิ่งสอนยาก ก็เลยออกอุบายให้ไปฟังธรรมะจากพระพุทธเจ้า แต่จะทำอย่างไร ลูกจะไปฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าได้ ก็ต้องให้รางวัล ลูกอยากได้เงินก็เลยไปฟังธรรม แต่ว่าไปแต่ตัว ใจก็ไม่ได้น้อมฟังธรรมเท่าไหร่ กลับมาก็แบมือ เอาเงินจากพ่อเป็นรางวัล ว่าได้ไปฟังธรรมแล้ว
แต่พอพ่อถามว่าได้ยินมาว่าอย่างไร ก็ตอบไม่ได้เพราะว่าไปแต่ตัวไม่ได้สนใจฟังธรรมอย่างจริงจังอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็เลยให้รางวัลเพิ่มหากบอกได้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร ด้วยความโลภหรือด้วยตัณหาลูกชายก็เลยไม่เพียงแต่พาตัวไปฟังธรรมที่เชตวันแล้ว ยังสนใจฟังธรรมด้วย เพื่อที่จะได้กลับมาเล่าให้พ่อแล้วก็จะได้เงินเพิ่ม อันนี้ทำด้วยความโลภหรือตัณหา
แต่พอฟังธรรมด้วยความตั้งใจ ปรากฏว่าดวงตาเห็นธรรม เกิดปัญญาขึ้นมาเลยจากการที่ตั้งใจฟัง แต่ที่ตั้งใจฟังไม่ได้เกิดศรัทธาอะไร แต่เพราะอยากได้เงินจากพ่อ แต่พอได้ฟังธรรมแล้วเกิดปัญญา กิเลส ตัณหาก็เบาบางลง เป็นโสดาบันกลับมา พ่อจะให้เงิน ก็ไม่เอาแล้ว เพราะว่าได้สิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าอริยทรัพย์
อันนี้เรียกว่าใช้ตัณหาในการผลักให้ลูกชายได้มาพบธรรมะ จนกระทั่งละหรือเลิกตัณหาลงไปได้ ต่างจากรายอื่นๆที่ไปฟังเพราะศรัทธา แต่ลูกชายไปเพราะความโลภแท้ๆ มันก็มีประโยชน์ที่ทำให้คนๆหนึ่งได้เกิดมีดวงตาเห็นธรรม อันนี้เรียกว่าใช้ตัณหาละตัณหา
อีกกรณีหนึ่งมีชื่อเสียงมากเรียกว่าพระนันทะ ก่อนบวช พระนันทะเป็นเจ้าชาย เป็นพระญาติกับพระพุทธเจ้า ตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์ ก็ได้ไปร่วมงานวิวาหมงคล นันทะกับนางชนบทกัลยาณี ตามธรรมเนียมก็มีการทำบุญเลี้ยงพระ พอพระพุทธเจ้าฉัน ภารกิจเสร็จ ก็จะกลับสำนักนิโครธาราม ก็ให้นันทะถือบาตร
นันทะก็ถือบาตรตามพระพุทธเจ้าไป นึกว่าพอพระพุทธเจ้าออกจากวังไปแล้ว พระองค์จะรับบาตร พระองค์ก็ไม่รับบาตร ก็ยังเสด็จต่อไปยังวิหารจนถึงอารามนิโครธาราม นันทะก็ตามไปนึกว่าพอถึงประตูอารามนิโครธาราม นึกว่าออกจากวังพระองค์จะรับบาตร ก็ไม่ จนกระทั่งพระองค์เสด็จไปถึงกุฏิ จึงรับบาตรจากนันทะแล้วถามหรือชวนว่ามาบวชไหม
นันทะเป็นคนที่เกรงใจ ก็เลยไม่กล้าปฏิเสธก็เลยบวชวันนั้นเลย บวชแล้วก็มีใจระลึกนึกถึงนางชนบทกัลยาณีเพราะเพิ่งแต่งงานกัน ไม่อยากจะปฏิบัติ ไม่อยากอยู่ต่อเลย แต่ก็จำใจอยู่ด้วยความรุ่มร้อน พระพุทธเจ้าก็เลยชวนให้ไปชมสถานที่ที่สวยงาม แล้วก็บันดาลนิมิตให้เห็นเทพธิดาในสวรรค์ชั้นต่างๆเทพธิดาสวยงามหยดย้อยมาก
พระพุทธเจ้าก็ถามว่าระหว่างเทพธิดากับนางชนบทกัลยาณี ใครสวยกว่ากัน พระนันทะก็เลยบอกว่านางชนบทกัลยาณีสวยสู้เทพธิดาเหล่านี้ไม่ได้ เพราะพระนันทะเกิดจิตปฏิพัทธ์ในเทพธิดาเหล่านั้น พระพุทธเจ้าก็เลยบอกว่า ถ้าอยากได้เทพธิดาเหล่านั้นก็ต้องตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ พระนันทะด้วยความอยากได้เทพธิดา ก็เลยตั้งใจบำเพ็ญเพียร อันนี้ทำด้วยความโลภ ทำด้วยตัณหาแท้ๆ
แต่พอทำไปสักพัก ก็ปรากฏว่าเพื่อนพระหยอกล้อว่า พระนันทะรับจ้างบวช หรือว่าพระนันทะประพฤติพรหมจรรย์เพราะอยากได้เทพธิดา พระนันทะเกิดความอายขึ้นมา รู้สึกเสียหน้า พอเกิดเสียหน้าขึ้นมา ก็ตามมาด้วยมานะ ต้องการพิสูจน์ว่าฉันไม่ได้ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อต้องการเทพธิดา จากความเสียหน้าก็ทำให้อยากจะพิสูจน์ตัวเอง อันนี้เรียกว่าทำด้วยแรงมานะ มานะในที่นี้ไม่ได้แปลว่าพยายาม แต่หมายถึงว่าความรู้สึกที่ต้องการแสดงตัวว่า ฉันไม่ได้เป็นอย่างที่เขาว่า เพราะความรู้สึกเสียหน้า
ก็เหมือนกับคนที่ถูกดูถูกแล้วว่า ไม่ได้เรื่อง ไม่เอาไหน ก็เกิดความฮึดขึ้นมาว่าฉันไม่ได้เป็นอย่างที่แกว่า ต้องการแสดงตน ต้องการพิสูจน์ตัว อันนี้เรียกว่ามานะ เป็นกิเลสชนิดหนึ่ง แต่ว่าเป็นกิเลสที่สามารถจะทำให้เกิดสิ่งดีได้ เพราะพระนันทะเกิดมานะขึ้นมาก็มีความตั้งใจบำเพ็ญความเพียร จนในที่สุดบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์เลย อันนี้เรียกว่ามาประพฤติพรหมจรรย์เพราะตัณหากับมานะ แต่พอบรรลุธรรมได้เป็นพระอรหันต์แล้วก็หมดสิ้นซึ่งตัณหาและมานะ
อันนี้เป็นอุบายของพระพุทธเจ้า ที่ใช้กิเลสของพระนันทะ ซึ่งภายหลังได้บวชเป็นพระนันทะ กิเลสก็ยังมีอยู่ แต่ว่าใช้กิเลสไปในทางที่กระตุ้นให้เกิดความเพียร นอกจากตัณหาและมานะแล้ว บางทีความโกรธ ความผิดหวัง ความน้อยเนื้อต่ำใจ ซึ่งมันก็เป็นอกุศล แล้วก็เกิดจากกิเลส มันก็สามารถจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการทำความเพียรได้
มีภิกษุณีท่านหนึ่งในสมัยพุทธกาล เกิดรู้ตัวว่าท้องขึ้นมา หลังจากที่บวชได้ไม่นาน เพราะว่าก่อนบวชมีสามี เมื่อคลอดลูกออกมา ลูกก็ต้องไปให้กับคนอื่นเลี้ยง พระเจ้าปเสนทิโกศลรับเลี้ยง ตั้งชื่อเด็กคนนั้นว่ากุมารกัสสปะ ตอนหลังก็ออกบวชเป็นเณร ฝ่ายภิกษุณี เมื่อลูกจากไปจากอ้อมอก ก็นึกถึงลูกตลอดเวลาคิดถึงลูกตลอดเป็น 10 ปี ตอนหลังรู้ว่าลูกออกบวช ก็อยากจะเจอลูกด้วยความรัก
วันหนึ่งขณะที่บิณฑบาตอยู่ เห็นกุมารกัสสปะอยู่ข้างหลัง ก็ดีใจ รีบออกไป เรียกว่าลูกๆ ด้วยความรุ่มร้อนก็สะดุดหกล้ม เณรกุมารกัสสปะก็เลยรู้ว่า ภิกษุณีท่านนี้เป็นมารดา เณรกุมารกัสสปะที่จริงท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านรู้ดีว่าในสถานการณ์อย่างนี้ ถ้าพูดจาไพเราะกับมารดา นางก็คงจะเกิดความสิเน่หารักใคร่ในตัวท่านมากขึ้น ทำให้เสื่อม ทำให้พลาดโอกาสในการที่จะบรรลุธรรม
ก็เลยคิดว่าอย่ากระนั้นเลยเราควรพูดแรงๆเพื่อให้นางหมดอาลัยในตัวท่าน ก็เลยพูดเสียงห้วนๆว่า ท่านทำอะไรอยู่ ทำไมไม่รู้จักตัดแม้กระทั่งความรัก ภิกษุณีได้ฟัง นึกว่าลูกจะคิดถึงแม่ กลับพูดจารุนแรงแบบนี้ ทั้งผิดหวังทั้งน้อยใจทั้งโกรธ เราอุตส่าห์ร้องไห้คิดถึงลูกมา 10 กว่าปีลูก กลับพูดแบบตัดเยื่อใยแบบนี้
ภิกษุณีท่านนี้ก็เลยเรียกว่าหมดอาลัยในตัวลูกชาย ไม่คิดไม่อาลัยอีกต่อไป ในแง่หนึ่งก็เป็นความรู้สึกน้อยใจ ความรู้สึกผิดหวัง ความรู้สึกโกรธ แต่มันก็ดี พอหมดอาลัยหมดเยื่อใยในตัวเณรกุมารกัสสปะ ท่านจึงมุ่งบำเพ็ญความเพียรจนบรรลุเป็นพระอรหันต์เลย
อันนี้เรียกว่าบรรลุธรรมได้ก็เพราะถูกกระทบด้วยคำพูดที่รุนแรงจนกระทั่งเสียใจ กิเลสหรืออารมณ์อกุศลเหล่านี้ มันมีประโยชน์ ในทางพระพุทธศาสนา ท่านก็ไม่ปฏิเสธอารมณ์พวกนี้ รวมทั้งกิเลสด้วย อยู่ที่ว่าจะใช้มันอย่างไรให้เป็นประโยชน์ ที่ผ่านมาคนเราถูกมานะถูกตัณหาใช้มากกว่า แต่ถ้าเรารู้จักใช้มานะใช้ตัณหา มันก็เกิดประโยชน์ เช่น บางทีบำเพ็ญความเพียรแล้วเกิดเกียจคร้านขึ้นมา
พอเห็นเด็กเห็นผู้เฒ่าขยันทำความเพียรก็เกิดความรู้สึกเสียหน้าขึ้นมา มานะเกิดขึ้นทันทีเลยว่าเราเป็นพระยังหนุ่มยังแน่นทำไมจะเกียจคร้าน ทำไมจะอ่อนแอ ทำไมจะสู้คนเหล่านี้ไม่ได้ ก็เลยเกิดความกระตือรือร้น ทำความเพียรขึ้นมา ถ้ารู้จักใช้กิเลส ตัณหาให้เป็นประโยชน์ บางทีก็เกิดผลดี อยู่ที่ว่าจะใช้เป็นหรือเปล่า
มีเรื่องเล่าว่า หลวงพ่อพุธสมัยท่านเป็นเณร อาจารย์สอนให้ท่านภาวนา โดยบริกรรมพุทโธ แต่ท่านบอกว่า ท่านบริกรรมไม่ได้ บริกรรมสักพักก็ไปนึกถึงผู้หญิงที่ท่านเกิดหลงรัก จิตไม่มีสมาธิเลยไปนึกถึงแฟนคนนั้น แต่ตอนหลังท่านได้สติ บริกรรมพุทโธ ไม่ได้ผล อย่ากระนั้นเลยเอาชื่อของผู้หญิงคนนี้มาเป็นเครื่องบริกรรม ชื่อผู้หญิงว่าประยูร หายใจเข้า ประ หายใจออก ยูร ได้ผล จิตสงบเลยเป็นสมาธิ
แต่ตอนหลังท่านไม่ได้ทำแค่นั้น พิจารณา เวลาจิตเป็นสมาธิ มันก็เกิดนิมิต สาวประยูรขึ้นมา พิจารณาเลย ตรงไหนสวย ผมสวย พอพิจารณาผมสวย มันหายไปเลย ตาสวยหรือ พอพิจารณาตา ตาก็หาย พิจารณาไปทีละส่วนๆ ที่ว่าสวยที่ว่างาม มันก็หายหมดเลย แม้กระทั่งกระดูกก็หายไปด้วย ปรากฏว่านับตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีความหลงหรือคิดถึงสาวประยูรอีกเลย อันนี้เป็นอุบายของท่าน ท่านคิดขึ้นมาเอง ก็เรียกว่าใช้ตัณหามาเป็นเครื่องมือในการภาวนา จนกระทั่งละทิ้งตัณหาได้
เพราะฉะนั้น เมื่อเรารู้เช่นนี้แล้ว เวลามีอะไรเกิดขึ้นกับเรา ไม่ว่าบวกหรือลบ อารมณ์อกุศล โกรธก็ดี เกลียดก็ดี หงุดหงิดก็ดี เครียดก็ดี ถ้าเรารู้จักใช้ก็จะมีประโยชน์เหมือนกัน ที่จริงสติปัฏฐาน อารมณ์เหล่านี้มีประโยชน์ทั้งนั้น เพราะสามารถสอนให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 19 กันยายน 2564