แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เด็กผู้ชายคนหนึ่งอายุ 11 ขวบ ปวดหัวเรื้อรังมาหลายปีตั้งแต่อายุ 7 ขวบ เป็นเท่าไหร่ก็ไม่หาย แม่พาไปโรงพยาบาลแล้วโรงพยาบาลเล่าก็ไม่ดีขึ้น ตอนหลังอาการก็หนัก ปวดหัวจนอาเจียน แล้วก็ตาพร่ามัว มองอะไรก็เห็นเป็นภาพซ้อน แม่ก็พาไปโรงพยาบาล หมอก็เลยจับสแกนเลย คิดว่าคงเป็นเนื้องอกในสมอง ผลสมองปกติ หมอก็แปลกใจ เลยคิดว่าคงจะอาจจะเป็นปัญหาทางจิต จึงส่งต่อไปให้หมอจิตเวช
ระหว่างที่ส่งต่อ พยาบาลที่อยู่ในแผนกนั้นรู้เข้า ก็เป็นห่วงขึ้นมา เพราะว่าถ้าหมอจิตเวชให้ยา เด็กก็อาจจะซึมไปเลย ก็เลยเล่าเรื่องนี้ให้พยาบาลรุ่นพี่คนหนึ่งฟัง พยาบาลคนนี้ชื่อเกื้อจิต เคยมาที่วัดนี้หลายครั้ง พยาบาลเกื้อจิตฟังแล้ว เห็นท่าจะไม่ค่อยดี ก็เลยไปเยี่ยมเด็กคนนี้
พอดีเจอแม่ของเด็ก แม่เด็กสอบถามเธอว่าลูกจะหายไหม เธอก็เลยสอบถามแม่เกี่ยวกับเด็กคนนี้ว่า มีลูกกี่คน แม่ตอบว่ามี 4 คน คนโตนี่เรียนอยู่ปี 2 แล้ว หน้าตาดี เรียนเก่งด้วย คนที่สองอยู่ ม 5 ก็เรียนเก่งเหมือนกัน คนที่ 3 ก็คือเจ้าคนนี้ คนที่ 4 อายุ 8 ขวบอยู่ ป 2 พยาบาลก็ถามอีกว่ารักลูกเท่ากันไหม แม่เด็กบอกว่ารักเท่ากันทุกคนเลย
เธอถามต่อ แล้วก็ด่าเท่ากันทุกคนหรือเปล่า แม่เด็กบอกทันทีเลยว่าไม่หรอก ฉันด่าคนนี้มากเลย ไอ้ลูกคนนี้มันดื้อ ฉันเคยด่ามัน ไล่มันออกจากบ้านด้วยซ้ำ เธอเลยถามต่อว่าที่แม่บอกว่ารักลูก เคยบอกลูกหรือเปล่า แม่บอกว่าไม่เคย ฉันมีแต่ด่ามัน ตีมัน ก็มันโง่ ครูยังดุด่ามันเลยว่าโง่เหมือนควาย สู้พี่ๆไม่ได้
พยาบาลรู้สึกเอะใจ เลยมาถามประวัติของแม่ แม่เด็กพูดไปได้สักพัก ก็ร้องไห้ ยอมรับว่าพ่อแม่ของตัวนี้ไม่ได้รักตัวเองเท่าไหร่เลย ดูต่าว่าตัวเอง ไม่เหมือนที่ทำกับลูกคนอื่น พอพูดเท่านี้ก็นึกขึ้นมาได้ว่า เราก็ทำกับลูกเหมือนกับที่พ่อแม่ทำกับเรา ก็ได้คิด ยิ่งร้องห่มร้องไห้ใหญ่ พยาบาลก็เลยปลอบใจ บอกว่าลูกคงไม่เป็นอะไรหรอก เดี๋ยวจะให้กลับบ้านแล้วละวันสองวันนี้แหละ แต่ว่าฉันมียาวิเศษนะ พาลูกกลับบ้านแล้วก็ให้ยาวิเศษนี้กับลูกด้วย แม่เด็กถามว่าอะไรเหรอ
พยาบาลบอกว่าพอลูกกลับถึงบ้านนะให้แม่กอดลูก บอกว่ารักลูกนะ แล้วก็บอกตาบอกยายด้วย ให้ทำเหมือนกันเลย บอกรักลูกรักหลาน กอดหลาน แล้วฝากไปบอกครูด้วยว่าทีหลังอย่าด่าอย่าตีลูกคนนี้นะ ไปบอกเลยนะ บอกว่าหมอเกื้อจิตสั่ง ถ้าไม่กล้าไม่บอกนี่ เดี๋ยวฉันจะไปหาเอง แม่เด็กคงจะทำตาม เด็กก็ไม่ได้กลับมาที่โรงพยาบาลอีกเลย ผ่านไปหลายปี เด็กโตเป็นหนุ่มใหญ่ สุขภาพดี แล้วก็ไม่มีอาการเจ็บป่วยอีกเลย ปวดหัวเรื้อรังก็หายไปเป็นปลิดทิ้งเลย เพราะได้ยาวิเศษที่พยาบาลแนะนำ
ก็คือ ความรักจากแม่จากตาจากยายจากคนรอบข้าง ก็เป็นอันว่าเด็กคนนี้ที่ปวดหัวเรื้อรังมา 4-5 ปี ตั้งแต่อายุ 7 ขวบมันไม่ใช่เพราะความผิดปกติในสมอง แต่เป็นเพราะความคพร่องในจิตใจ คือขาดความรัก นอกจากขาดความรักแล้ว ก็ยังเจอคำด่า การตี เด็กก็เลยป่วย ป่วยใจแล้วมาป่วยกาย เพราะขาดความรัก ก็ทำให้เกิดความผิดเพี้ยนขึ้นมาในร่างกาย
เด็กคนนี้ถ้าหากว่ายังขาดความรักหรือพร่องความรักต่อไปพอโตเป็นวัยรุ่น นอกจากปวดหัวแล้วก็อาจจะมีพฤติกรรมที่สร้างปัญหาให้กับคนรอบข้างหรือสังคมเลยด้วยซ้ำ เพราะมีจำนวนไม่น้อย พอโตเป็นวัยรุ่น ก็กลายเป็นอันธพาลเกเร มั่วสุมเสพยา หรือว่าเข้าแก๊ง ตีกันบ้าง หรือไม่ก็เข้าไปก่อกวนคนอื่นบ้าง อันนี้ถ้าสาวดีๆก็พบว่าเป็นเพราะขาดความรักหรือขาดการยอมรับ ตั้งแต่พ่อแม่จนกระทั่งไปถึงคนรอบข้าง
อย่างที่เคยพูด คนเหล่านี้ ตอนเรียนก็เรียนไม่ค่อยดี ก็ถูกครูว่า แล้วตัวเองก็รู้สึกว่าไม่มีความสามารถ เป็นคนทำอะไรก็ล้มเหลว อย่างที่เคยเล่า เรียนคณิตศาสตร์ไม่รู้เรื่อง จริงๆทุกวิชาเลย ก็เลยหันไปมั่วสุมดมกาวกัน แต่ว่าพอเขาได้เรียนในสิ่งที่เขาชอบ สิ่งที่เขาทำถนัด เช่น ช่างซ่อมรถยนต์ หรือว่าทำเกษตร จากนิสัยที่เป็นปัญหา เกเร โดดเรียนก็เปลี่ยนไปเลย เพราะรู้สึกว่าตัวเองสามารถทำสิ่งดีๆให้สำเร็จได้ และก็ได้รับการยอมรับ
พอได้รับการยอมรับจากครู การยอมรับจากพ่อแม่ พฤติกรรมก็เปลี่ยนไปเลย จากเด็กอันธพาลเกเรกลายเป็นเด็กเรียบร้อย ช่วยเหลือส่วนรวม แม้ว่าไม่ค่อยมีมารยาทบ้าง แต่ว่าเลิกทำตัวสร้างปัญหา เพราะได้รับการยอมรับ และตัวเองก็รู้สึกว่าตนมีคุณค่า รู้สึกภูมิใจในตัวเอง อันนี้ก็เป็นเรื่องเดียวกันกับเด็ก 11 ขวบที่ป่วยเรื้อรังเพราะขาดความรัก พอได้รับความรัก อาการก็ดีขึ้น
คนเราไม่ใช่แค่ต้องการอาหารอย่างเดียว อาหารมีเพื่อบำรุงร่างกายแต่ว่ายังต้องการความรัก ต้องการการยอมรับ หรือว่ารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ภูมิใจในตัวเอง ถ้าดูให้ดีความปรารถนาการยอมรับ อยากได้ความรัก หรือว่ารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ภูมิใจในตัวเอง อันนี้ก็เป็นเรื่องของตัวกู หรืออัตตา มันก็ปรารถนาสิ่งนี้แหละ ถ้าได้รับการเติมเต็มเข้า มันก็มีความปกติสุข ไม่ก่อปัญหาให้กับร่างกาย ไม่ก่อปัญหาให้กับคนรอบข้าง เพราะว่ากลายเป็นคนเกเร หรืออันธพาล มันไม่พร่องในความรัก ได้รับการยอมรับ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ดีเหมือนกัน
เพราะว่าพอมันได้รับความรัก และได้รับการยอมรับ รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าแล้ว มันก็ทำให้เกิดแรงจูงใจในการที่จะทำความดี หรือเกิดแรงผลักดันที่จะทำความดียิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นการที่ตัวกูไม่มีความรู้สึกพร่อง มันมีความรู้สึกปกติสุข มันก็เป็นเรื่องดีเหมือนกัน ฉะนั้นถ้าเราจะพูดว่าตัวกูมันไม่ดีๆอย่างเดียวนี่ ก็พูดไม่ได้ ตัวกูที่ใฝ่ดีก็มี ตัวกูที่ใฝ่ดีเกิดจากอะไร ก็เกิดจากการที่ได้รับความรัก ได้รับการยอมรับ และรู้สึกภูมิใจในตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ไม่รู้สึกด้อย หรือดูถูกว่าตัวเองว่าเป็นพวกไร้ประโยชน์หรือเป็นขยะสังคม
พอมีความรู้สึกแบบนี้ มันก็มีความสุข ในตัวกูนี้ อย่างน้อยมันก็ไม่ก่อปัญหาให้กับผู้คน แบบที่เรียกว่าเป็นพฤติกรรมต่อต้านสังคม คนเราในขณะที่เป็นปุถุชน ยังละทิ้งตัวกูหรือว่าลดละความยึดมั่นในตัวกูไม่ได้ อย่างน้อยก็ควรจะมีตัวกูที่ใฝ่ดี ตัวกูที่ใฝ่ดีพื้นฐานก็คือ การได้รับการยอมรับ และก็เป็นที่รักของผู้คน แล้วก็รู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง แต่ถ้าหากตัวกูมันขาดสิ่งนี้ มันก็จะเป็นตัวกูที่เกเรก็ได้ เป็นตัวร้ายเลยทีเดียว อย่างที่เราเห็นทั่วไปในสังคมเวลานี้
ฉะนั้นตราบใดที่คนเรายังละตัวกูไม่ได้ อย่างน้อยๆก็ควรจะมีตัวกูที่ใฝ่ดี หรือว่าพัฒนาจากตัวกูที่เกเร เห็นแก่ตัว ขึ้นมาเป็นตัวกูที่ใฝ่ดี มีคุณธรรม พัฒนาจากตัวกูที่พร่อง พร่องความรัก พร่องการยอมรับ มาเป็นตัวกูที่เต็มเปี่ยม หรือว่ามีอยู่มากมายในเรื่องของความรัก เรื่องของการเป็นที่ยอมรับ หรือว่าเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง เห็นตัวเองมีคุณค่า เพราะฉะนั้นพอมีตัวกูที่ใฝ่ดีแล้ว ตรงนี้ก็จะเป็นจุดเริ่มต้น ถือเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะพัฒนาตนขึ้นมา
เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเราสามารถที่จะดูแลตัวกูของเรา หรือตัวกูที่ยึดมั่นถือมั่น ให้มันมีความภูมิใจในตัวเอง รู้จักหาสิ่งดีๆมาเติมเต็ม ไม่ให้พร่อง มันก็จะเกิดแรงจูงใจในการที่จะทำความดีได้ และในขณะเดียวกัน เราก็ต้องรู้จักใช้ตัวกูในทางที่เป็นประโยชน์ด้วย ในทางที่ดีงามด้วย ตัวกูมันอยากจะเป็นที่ยอมรับ อยากจะให้คนยกย่อง อยากจะให้คนสรรเสริญ ก็ใช้ความอยากนั่นแหละเป็นแรงจูงใจ เป็นแรงผลักดันในการทำความดี
เพราะว่าทำความดีแล้ว ก็ได้รับการยกย่อง ก็เอามาเป็นแรงจูงใจในการกระตุ้นให้เกิดความเพียรในการศึกษาหาความรู้ ในการขยันหมั่นเพียรในการประกอบอาชีพ เพราะว่าทำอย่างนั้นแล้ว ก็จะได้รับความสำเร็จ ก็จะเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง หรือว่าใช้ความอยากเป็นที่ยอมรับ เป็นที่นับหน้าถือตาในการยับยั้งไม่ให้ทำความชั่ว หรือผิดศีล เพราะทำชั่ว ผิดศีลแล้ว ก็จะเป็นที่รังเกียจเหยียดหยาม หรือว่าเกิดความเดือดร้อนขึ้นมา
ตัวกูที่มันอยากได้รับความสุขสบาย ความอยากนี้มันก็สามารถจะเป็นแรงผลักดัน หรือแรงจูงใจในการทำความดี และละเว้นทำความชั่วได้ ที่คนส่วนใหญ่ทำความดีรักษาศีลก็เพราะเขากลัวทุกข์ภัยที่เกิดจากการผิดศีล อะไรที่กลัว ก็คือตัวกูที่กลัว มันไม่อยากจะเดือดเนื้อร้อนใจ มันไม่อยากจะเป็นที่รังเกียจของผู้คน มันก็เลยไม่กล้าทำชั่ว
ขณะเดียวกัน ตัวกูที่มันอยากได้รับการยอมรับ คำชื่นชมสรรเสริญ ตัวนี้มันก็ทำให้มันไม่กล้าทำชั่ว แต่ว่าทำสิ่งตรงข้ามคือทำดี ขยันหมั่นเพียร จะว่าไปตัวกู มันก็มีประโยชน์ อยู่ที่ว่าเราจะใช้เป็นหรือเปล่า แต่ก่อนอื่นก็ต้องเริ่มต้นจากการทำตัวกูมีความปกติสุข ได้รับความรัก และได้รับการเป็นที่ยอมรับ ไม่พร่อง ไม่เช่นนั้นมันจะรวน รวนทั้งทางกายและทางใจ รวมทั้งพฤติกรรมด้วย
พอตัวกู ก้าวข้ามจากความพร่องมาเป็นความเติมเต็ม จากตัวกูที่เกเรมาเป็นตัวกูที่ใฝ่ดี มีคุณธรรมแล้ว เราก็ต้องพยายามควบคุมตัวกูให้มันอยู่เป็นที่เป็นทาง เพราะบางทีถ้าปล่อยให้มันตามสบาย มันก็อาจจะสร้างปัญหาได้ เพราะว่ามันก็มีความอยากเด่นอยากดังอยากร่ำอยากรวยเหมือนคนอื่น เราก็ต้องควบคุมความอยากนี้เอาไว้ ไม่ให้ก่อปัญหาแก่ผู้อื่น หรือแก่ตัวเอง
ควบคุมระงับความอยาก ไม่ว่าจะเป็นโลภะ หรือว่าโทสะ ซึ่งมันก็เป็นนิสัยประจำตัวของตัวกู ให้มันอยุ่ในขอบเขต อันนี้คือการมีศีล หรือว่าการควบคุมยับยั้งไม่ให้ทำชั่ว ไม่ให้ความอยากออกมาจนเกินขอบเขต และในขณะเดียวกัน หมั่นรู้ทันตัวกูด้วย เวลาตัวกูเกิดกำเริบในทางเห็นแก่ตัวขึ้นมา หรือว่าในทางที่โกรธเกลียดขึ้นมา ก็ต้องรู้จักรู้ทันมัน
หรือแม้กระทั่งเวลาที่มันทำอะไร ไม่ประสบความสำเร็จ เกิดความเศร้าโศกเสียใจ เจออุปสรรค เจอความพลัดพราก มันก็เศร้าโศก มันก็ปั่นป่วน ก็ต้องควบคุม ไม่ให้มันเกิดอาการที่เป็นโทษทั้งแก่ตัวกับผู้อื่น รวมทั้งไม่เปิดช่องให้มันมาบงการจิตใจ เวลามันถูกกระทบ มันอยากจะด่า ก็ต้องระงับยับยั้ง ไม่ให้มันทำอย่างนั้น หรือว่าอยากเด่นอยากดัง เหนือคนอื่น จนกระทั่งข้ามหัวคนอื่น หรือว่าข่มคนอื่น อันนี้ก็ต้องคุมมันเอาไว้ เพราะบางทีมันก็ทำอะไรเกินเลย
เท่านั้นยังไม่พอ นอกจากการควบคุมตัวกู ที่เกเร เห็นแก่ตัว ไม่ให้กำเริบ แล้วก็ส่งเสริมตัวกูที่ใฝ่ดี สิ่งที่จะทำต่อไปก็คือ การพยายามที่จะลดละตัวกู ทำตัวกูให้มันเล็กลง หรือว่าปล่อยวางมันมากขึ้น เพราะว่าแม้จะมีตัวกูที่ใฝ่ดี แต่ก็ยังมีความทุกข์อยู่ แล้วมันก็ยังอาจจะเผลอ ผลักดันให้เราทำสิ่งที่ไม่ดี เช่น อิจฉาคนที่เขาดีกว่าเรา อิจฉาคนที่เก่งกว่าเรา หรือคอยขัดแข้งขัดขาไม่ให้ใครมาเกินหน้าเกินตาเรา แม้กระทั่งเรื่องทำความดี อันนี้มันก็เกิดขึ้นได้
หรือทำดีแล้วคนไม่ชม คนไม่เห็นความดีของเรา อันนี้ก็ทุกข์ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ การที่จะลดละตัวกู หรือทำให้ตัวกูมันเล็กลง ทำยังไง ก็คือฝึก ฝึกลดฝึกละในชีวิตประจำวัน ทรัพย์สินเงินทอง เราก็รู้จักให้ทาน การให้ทานก็เป็นการฝึกลดละในความยึดในของกู ของกู ของกู เวลาทำความดีก็ไม่ปรารถนาคำชื่นชมสรรเสริญ ทำดีเพราะมันเป็นความดี ไม่ใช่เพราะทำดี อยากให้คนยอมรับ อยากให้คนยกย่อง
หรือว่าทำดีแล้ว ทำบุญทำกุศล อยากจะได้โชคได้ลาภ ความอยากได้โชคได้ลาภ อันนี้ก็เป็นนิสัยของตัวกูเหมือนกัน แม้เป็นตัวกูที่ใฝ่ดีก็อยากจะร่ำอยากจะรวย ทำดีทำบุญให้อยากจะได้ผลตอบแทนแบบนั้น แต่ถ้าเราฝึกลดฝึกละ ว่าเราทำโดยไม่หวังอะไร เราทำเพียงเพราะอยากจะช่วยผู้อื่น เราทำเพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ดี ไม่ได้ปรารถนาคำยกย่อง ไม่ได้ปรารถนาคำสรรเสริญ ไม่ได้ปรารถนาการกดไลค์ทำแต้ม อันนี้ก็เป็นการฝึกช่วยลดละตัวกู
รวมทั้งพยายามฝืนความต้องการของมันในทางที่ส่งเสริมกิเลส เช่น ทำดีประสบความสำเร็จ มันก็มีความอยากจะอวด อยากจะอวดคน ถ่ายรูปขึ้นโพสต์เฟซบุ้คว่าฉันไปทำบุญที่นี่หรือว่าฉันได้รับคำชื่นชมสรรเสริญจากที่โน่น ฉันได้รางวัลโน้นรางวัลนี้ มันมีความอยากแบบนี้ เราก็ไม่ทำตามความอยากของมัน ก็จะทำให้มันค่อยๆฝ่อลงๆในตัวกูนี้ แล้วก็อย่างน้อยก็ไม่เหิมเกริมจนกระทั่งมาครองจิตครองใจของเรา
นอกจากไม่อวดไม่โชว์แล้วบางทีต้องทำสิ่งตรงข้ามเลย คือตัวกูนี่มันอยากจะให้คนชม อยากจะให้ใครๆรู้ว่ากูแน่กูเก่ง เราก็ทำในสิ่งที่ตรงข้ามเลยก็คือ ทำให้คนเห็นว่ากูไม่แน่กูไม่เก่งเว้ย ซึ่งตัวกูมันก็คงทนไม่ได้แต่ว่าการทำอย่างนั้นเป็นการกำราบ แล้วก็เป็นการลดละวิธีหนึ่ง ทำให้คนเห็นว่าฉันไม่เก่งฉันไม่แน่ ไม่ใช่นอกจากไม่อวดแล้ว ยังจะทำถึงสิ่งตรงข้ามด้วย
อย่างที่เคยเล่าว่า อาจารย์ไปธุดงค์ในป่ากับลูกศิษย์คนหนึ่ง อาจารย์ท่านนี้มีชื่อเสียงมาก เป็นที่เคารพของลูกศิษย์ลูกหามากมาย ขณะที่ธุดงค์ในป่า เจอช้างป่า ก็วิ่งหนีกันเลย อาจารย์ก็วิ่งด้วย วิ่งหนีไปคนละทิศคนละทางเลย จนปลอดภัย แต่ถึงแม้ปลอดภัยแล้ว ลูกศิษย์ก็ยังติดใจที่อาจารย์วิ่งหนีช้างป่า เก็บความสงสัยนี้เอาไว้ หลายปีผ่านไป อาจารย์ป่วยหนัก ก็ไม่รู้จะอยู่รอดหรือว่าจะอยู่ได้นานเท่าไหร่ ลูกศิษย์ก็เลยถามสิ่งที่ค้างคาใจ
ถามว่าวันนั้น อาจารย์ตกใจเหรอเมื่อเห็นช้าง เปล่า ฉันไม่ได้ตกใจ แล้วทำไมอาจารย์วิ่งหนีช้างล่ะ อาจารย์ก็ตอบว่า ฉันวิ่งหนีช้างนี่ มันดีกว่าอยู่กับความลำพองใจ คืออาจารย์ไม่ตกใจไม่กลัว แต่อาจารย์ก็รู้ว่าถ้าเกิดว่าไม่หนีมัน มันจะเปิดช่องให้กิเลสหรืออัตตาขึ้นมาครองใจว่ากูเก่งกูแน่ ลูกศิษย์วิ่งหนีเตลิดเปิดเปิง แต่กูไม่หนีเลย อัตตานี้มันจะได้ช่อง และถ้าอัตตามันครองใจแบบนี้ มันจะสร้างปัญหา เพราะฉะนั้น อาจารย์ก็เลยทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามเลย คือวิ่งหนี นอกจากอัตตามันจะไม่เกิดความลำพองใจแล้วมันอาจจะเกิดความรู้สึกเสียหน้าด้วย หรือความรู้สึกว่าคนอื่นเขาจะมองเราอย่างไรนะที่เราวิ่งหนีช้าง ลูกศิษย์เขาจะมองเราอย่างไร อันนี้ก็คือความทุกข์ของอัตตา เพราะมันอยากเด่นอยากดัง แต่อาจารย์ก็รู้ว่านี่แหละคือสิ่งที่ดี เป็นวิธีการกำราบ เป็นวิธีการข่มมัน และก็เป็นวิธีการลดละอัตตาด้วย
อันนี้ก็เป็นสิ่งที่นักปฏิบัติ นักภาวนา ควรจะใส่ใจ และที่สำคัญก็คือการภาวนา การเจริญสติ การทำกรรมฐานวิปัสสนา โดยเฉพาะการศึกษาความจริงของกายและใจ จนกระทั่งรู้ว่ามันไม่มีตัวกู ไม่มีของกู ไม่ว่าที่กายหรือที่ใจก็ตาม อันนี้ก็เป็นเรื่องยากอีกเรื่องหนึ่ง
แต่สรุปก็คือว่า ตราบใดที่คนเรายังมีอัตตาอยู่ ยังมีตัวกูอยู่ ก็ดูแลมันไม่ให้มันพร่องความรัก ดูแลไม่ให้เป็นตัวกูที่บกพร่อง ป่วย แต่ในขณะเดียวกัน พอมันมีความผาสุก ปกติสุขแล้ว ก็ควบคุมไม่ให้มันก่อปัญหา และที่สำคัญ คือว่าพยายามลดละตัวกูให้ได้ จนกระทั่งถึงขั้นเรียกว่าละวางความยึดมั่นในตัวกู ไม่ปรุงตัวกูอีกต่อไป ก็เรียกว่าเป็นอันจบกิจที่เป็นเรื่องของการบำเพ็ญตน หรือประโยชน์ส่วนตน และประโยชน์ส่วนรวมก็จะเกิดขึ้นตามมา
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเช้าวันที่ 19 กันยายน 2564