แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีคำสองคำที่พวกเราคุ้นเคยกันดีคำว่า โลกกับธรรม 2 คำนี้ ในความเข้าใจหรือความรู้สึกของเรา จะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่อยู่คนละฟาก คนละฝั่ง หรือบางทีคนละขั้วกันเลย อย่างเช่นคนที่อยู่บ้าน ทำมาหากิน เราก็เรียกว่าอยู่ฝ่ายโลก ส่วนคนที่อยู่วัด เราก็เรียกว่าอยู่ฝ่ายธรรม
ฆราวาสเวลาออกบวช เขาเรียกว่าสละโลก ภาษาชาวบ้านเรียกว่าสละโลกแล้วเข้าหาทางธรรม ก็คือเข้ามาบวชหรือการมาครองเพศบรรพชิต ถือว่าเป็นฝ่ายธรรม ก็ไม่ค่อยได้เกี่ยวข้องกัน ธรรมก็อยู่ส่วนธรรม โลกก็อยู่ส่วนโลก แต่อาจจะมาเกี่ยวข้องกันบ้าง ชาวบ้านก็มาใส่บาตร ทำบุญถวายพระ แต่ที่จริงแล้วมันไม่ได้แยกจากกันเด็ดขาดขนาดนั้น
โลกกับธรรม ชาวบ้านหรือชาวโลกก็ควรจะเอาธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิต โดยมีธรรมะเป็นเครื่องกำกับ ส่วนพระซึ่งเรียกว่าฝ่ายธรรม ที่จริงท่านก็เกี่ยวข้องกับโลกเยอะ ไม่ได้แยกขาดจากโลก หรือว่าสละโลกอย่างเช่น พระสมัยก่อน หลวงพ่อหลวงตาช่วยเหลือชาวบ้านเย่อะ ท่านไม่ได้แค่สอนธรรมะ เวลาชาวบ้านทะเลาะเบาะแว้งกัน ท่านก็ช่วยไกล่เกลี่ย ทำให้เกิดความสามัคคีในหมู่บ้าน อย่างนี้เรียกว่าเรื่องของโลก
หรือว่าชาวบ้านเขาเดือดร้อนอดอยากยากจน หลวงพ่อหลวงตาก็ช่วยสงเคราะห์ อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนก็ทำสหกรณ์ข้าวเพื่อยังชีพ หรือทำพุทธเกษตรเพื่อเชิญชวนให้ชาวบ้านหันมาเปลี่ยนการประกอบอาชีพจากปลูกมันมาทำเกษตรผสมผสานจะได้ลดหนี้สิน อันนี้ก็เรียกว่าเป็นเรื่องของโลก สมัยก่อนไม่ได้ทำงานทางธรรมอย่างเดียว ท่านทำงานทางโลกด้วย ช่วยโลกไปด้วย หรือแม้จะไม่ได้ช่วยชาวบ้านเวลาจะสร้างโบสถ์สร้างวิหาร ก็ต้องมีการวางแผนหรือว่าจัดการดำเนินกิจการเพื่อให้สำเร็จ อันนี้เป็นเรื่องของทางโลก
โลกกับธรรม ในแง่หนึ่งไม่ได้แยกจากกัน ผู้ที่อยู่ฝ่ายโลกก็มีธรรมะช่วยเป็นเครื่องกำกับในการดำเนินชีวิตแล้วก็แก้ทุกข์ ส่วนผู้ที่อยู่ฝ่ายธรรมก็เกี่ยวกับข้องโลกช่วยสงเคราะห์โลก อย่างไรก็ตาม ถ้าพูดในแง่ของคุณค่าหรืออุดมคติ โลกกับธรรมไปกันคนละทาง อย่างเช่นในทางโลก ถือว่าความก้าวหน้า อยู่ที่การมีการได้การครอบครอง ยิ่งมีมากเท่าไหร่ก็ถือว่ามีความก้าวหน้า
อย่างเช่น มีเงินทอง มีทรัพย์สิน ลูกคนไหนจะเรียกว่าก้าวหน้า เขาก็ทำงานหาเงินได้เยอะกว่า มีหน้ามีตามากกว่า มีตำแหน่งเกียรติยศสูงกว่า ก็เรียกว่าก้าวหน้ากว่าลูกคนอื่น อันนี้เป็นเครื่องวัดความสำเร็จ ความก้าวหน้าของคนที่อยู่วิถีโลก รวมทั้งการมีชื่อเสียงเด่นดัง
แต่ในทางธรรม ความก้าวหน้านั้นอยู่ที่การสละ อยู่ที่การมีน้อยลงไปเรื่อยๆ ยิ่งมีน้อยลงเท่าไหร่ก็ถือว่ามีความก้าวหน้าในทางธรรม เพราะว่าได้มีการขัดเกลา ไม่ได้วัดความก้าวหน้าที่การมีมากๆ อย่างพระเราความก้าวหน้าของพระหรือนักปฏิบัติ ก็ดูที่ว่าเราพึ่งพาวัตถุสิ่งเสพมากขึ้นหรือน้อยลง หรือว่าเท่าเดิม ถ้าเราพึ่งน้อยลง อยู่ง่ายขึ้น สมถะมากขึ้น ก็ถือว่ามีความก้าวหน้าทางธรรม โดยที่ไม่ไปอวดใคร ถ้าอวดใครแสดงว่าอยากได้อยากเด่นอยากดัง
มันไม่ใช่เฉพาะว่าสิ่งเสพอย่างเดียว หมายถึงชื่อเสียง รวมถึงการยอมรับด้วย อย่างถ้าหากว่าคิดว่าความก้าวหน้าของความเป็นพระอยู่ที่การมีสมณศักดิ์สูงขึ้นเรื่อยๆ อันนี้เขาเรียกว่าเป็นการคิดแบบชาวโลก ก็มีพระหลายท่านก็มีสมณศักดิ์สูง แต่ท่านก็ไม่ได้ถือว่านั่นคือการวัดความก้าวหน้า ทางโลกมาถวายท่านท่านก็รับ แต่ไม่ได้ถือว่านี่คือเครื่องวัดความสำเร็จหรือว่าความก้าวหน้าของความเป็นพระ แต่ก็ยังถือว่าอยู่ที่วิธีการลดการละ ไม่ใช่เฉพาะวัตถุสิ่งเสพเท่านั้น แต่รวมไปถึงเรื่องของความรู้สึกจิตใจเช่น ลดละความยึดติดถือมั่น ความเห็นแก่ตัว เป็นต้น
อันนี้ก็รวมไปถึงเรื่องความสุขในทางโลก ถือว่าความสุขอยู่ที่การมีการได้การครอบครอง ต้องมีเยอะๆต้องมีมากๆถึงจะมีความสุข อยากมีความสุขมากก็ต้องหาให้มากไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน เงินทอง ชื่อเสียง หน้าตา แต่ในทางธรรมความสุขมันอยู่ที่ว่าการลดการละมากกว่า ไม่ได้หมายความว่าไม่มี มีได้ มีแต่ไม่ยึด ไม่ได้ยึดว่าเป็นของเราหรือว่าอยากจะครอบครองให้มากๆ
ที่ไม่ยึดเพราะอะไร เพราะว่าไม่ได้เห็นว่าความสุขอยู่ที่การเสพการมีการได้ ไม่ได้เอาความสุขไปผูกติดกับวัตถุ ไม่ได้เอาความสุขไปติดอยู่กับการเสพ ไม่ว่าจะตาหูลิ้นกาย หรือว่าได้รับการยกย่องชื่อเสียง เกียรติยศ แต่ความสุขอยู่ที่ใจ อยู่ที่ความสงบ แล้วทำไมใจถึงสงบได้เพราะการลดละความเห็นแก่ตัว ลดละความอยาก ลดละความยึดติดถือมั่น ถึงแม้ว่าภายนอกอาจจะมีวัตถุอยู่ แต่ข้างในไม่ได้ยึดอะไร
อยางพระสีวลีมีเย่อะ ท่านมีลาภเยอะ แต่ว่าท่านก็ถือว่า ท่านเป็นผู้ที่ละเพราะว่ามีเท่าไหร่ก็บริจาคให้หมด มีเพื่อให้ ขณะนี้ท่านอนาถบิณฑิกะเศรษฐีก็เช่นกัน มีเยอะๆก็มุ่งสละเพราะว่าไม่ได้เอาความสุขไปผูกติดอยู่กับวัตถุหรือการเสพการได้
และที่จริง ความสุขอยู่ที่การสละด้วย สละสิ่งของ ยิ่งสละยิ่งให้เท่าไรก็ยิ่งมีความสุข ไม่ใช่แค่สละหรือละความเห็นแก่ ที่จริงมันก็เกี่ยวข้องกัน ยิ่งลดละความเห็นแก่ตัวมากเท่าไหร่ การที่จะสละสิ่งของ มันก็เกิดขึ้นได้ง่าย พอทำเข้าก็เกิดความสุขขึ้นมาเป็นความสุขที่เราเป็นปิติปราโมทย์ นอกเหนือจากความสุขที่เกิดจากความสงบ ลดละกิเลส
ฆราวาสหลายคนแม้จะอยู่ฝ่ายโลก แต่ว่าในแง่ของชีวิตหรือทัศนคติ อาจจะอยู่ฝ่ายธรรมก็ได้ อย่างมีเศรษฐีชาวอเมริกันคนหนึ่งชื่อชัคฟินนี่ แกรวยมาก แต่ว่าแกก็บริจาค เรียกว่าเอาจริงเอาจังมาก 30 กว่าปีที่ผ่านมา บริจาคเงินไปแล้ว 2 แสนล้านบาทหรือมากกว่านั้น เรียกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ของเงินที่หามาได้ สละหมดเลย ตัวเองก็ใช้น้อย อยู่อย่างสมถะ นาฬิกาก็ใช้ราคาถูกๆ Casio 15 เหรียญมันก็แค่ 500 บาทไม่มีรถส่วนตัว ไปไหนก็ใช้บริการขนส่งสาธารณะ รถไฟใต้ดิน ความสุขของเขาอยู่ที่อะไร อยู่ที่ได้ทำงานที่รัก อยู่ที่การสละ แล้วก็อยู่ที่มีการมีชีวิตที่เรียบง่าย
ตัวอยู่ฝ่ายโลก แต่ว่าวิถีชีวิตหรือทัศนคติอยู่ฝ่ายธรรม ซึ่งอาจจะตรงข้ามกับพระบางรูป แม้ว่าตัวอยู่ฝ่ายธรรม แต่วิธีคิดจะอยู่ฝ่ายโลกก็ได้ คือมุ่งปรารถนาที่จะมี ได้เยอะๆ อาจจะไม่ใช่เงินทองแต่เป็นสมณศักดิ์ ความสุขของฝ่ายโลกอยู่การมีการได้เยอะๆ แต่ความสุขในฝ่ายธรรม มันเกิดจากการสละ การให้ ทั้งในสิ่งที่เป็นวัตถุ รูปธรรมที่เรียกว่าทาน และการละในสิ่งที่เป็นนามธรรมคือความเห็นแก่ตัว หรือว่าความยึดติดถือมั่นซึ่งเป็นเรื่องที่สลัดได้ยาก แต่เพราะสละ เพราะละ เพราะคลายความยึดติดถือมั่น จึงถือว่าเป็นความก้าวหน้าทางธรรม ถึงแม้ดูภายนอกมีมากมาย แต่ว่าใจไม่ยึด มุ่งแต่จะให้
เมื่อทางโลก วิถีโลกไปอยู่ที่การมีการได้การครอบครอง เพราะคิดว่านั่นคือวิถีแห่งความสุข เพราะฉะนั้นก็จะไปเน้นเรื่องการจัดการภายนอก เพื่อที่จะได้มีสิ่งเสพหรือว่ามีทรัพย์สินมาปรนเปรอตนมาหล่อเลี้ยงความสุข วิถีโลกเป็นอย่างนั้นมุ่งเน้นที่จัดการภายนอก แต่ว่าวิถีธรรมเน้นที่การเปลี่ยนแปลงตัวเอง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงภายในหรือจิตใจ สมมุติว่าที่แห่งหนึ่งเป็นป่า หรือว่าเป็นที่รก มีงูชุม ถ้าทางโลกก็ถือว่าจะต้องจัดการด้วยทำให้เตียนจะได้ไม่มีงูมาอาศัย แต่ถ้าทางธรรมจะใช้วิธีอื่นก็คือการเดินอย่างระมัดระวัง เช่น เดินในป่า เราไม่จำเป็นต้องถางป่าให้เตียน แม้ว่าจะมีงูมาเพ่นพ่าน ก็แค่ระมัดระวังให้ดี
เราจะเห็นได้ว่าวิถีโลกเน้นเรื่องการจัดการภายนอก แต่วิถีทางธรรมจะเน้นการจัดการหรือเปลี่ยนแปลงตัวเอง
วัดราชาธิวาสสมัยก่อนชื่อวัดสมอราย สมัยรัชกาลที่ 2 มีคราวหนึ่งพระองค์ตั้งใจจะทอดกฐินที่วัดแห่งนี้เพราะว่าพระองค์เคยบวชที่วัดนี้ พอได้ครองราชย์ก็อยากจะทอดกฐิน ก็ให้พนักงานมาตรวจดูสถานที่ ตอนนั้วัดมีต้นไม้ร่มครื้น เจ้าอาวาสไม่ตัดเลย ท่านปล่อยให้โตเป็นไปตามธรรมชาติ และก็ปัดกวาดวัดทำให้วัดสะอาดสะอ้านโดยเฉพาะทางเดินและลานวัด
เจ้าพนักงานมาดูก็เห็นว่า ทางไปโบสถ์มีกิ่งไม้ยื่นออกมาเยอะแยะ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้นไม้ให้ร่มเงา แต่ว่ามันไปกีดขวางพระกลด เวลาเสด็จจะมีพระกลด กิ่งไม้พวกนี้ก็มาขวาง เจ้าพนักงานก็เลยให้ตัดกิ่งไม้ที่กีดขวางพระกลด เจ้าอาวาสไม่ยอม ท่านเป็นพระที่เคร่งและท่านก็บอกว่าจะเสด็จมาก็ตาม ไม่เสด็จมาก็ตามเถิด แต่ห้ามตัด ไม่ตัดแล้วไม่มาไม่เป็นไรแต่อย่าตัดก็แล้วกัน
ความทราบถึงในหลวงรัชกาลที่ 2 ก็เลยบอกเจ้าพนักงานว่าไม่ต้องตัด ถ้ากลดพาไปลำบาก ก็ค่อยๆเดินเดินหลบเดินหลีกกิ่งไม้ก็สิ้นเรื่อง ทางโลกถือว่าต้องตัดเพื่อจะได้เดินสะดวก แต่ถ้าทางธรรมก็แค่เดินหลบเดินหลีกเท่านั้นเอง ก็จบแล้ว อันนี้เป็นความแตกต่างระหว่างวิถีโลกวิถีธรรม
ซึ่งเราก็เห็นได้ ทุกวันนี้เราพูดถึงปัญหาโลกร้อน โลกร้อนเกิดจากอะไร มันเกิดจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเกิดจากการเผาผลาญพลังงานที่เป็นน้ำมัน มันก็มีความพยายามที่จะลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยการผลิตเครื่องจักรเครื่องยนต์ที่กินน้ำมันน้อย กินน้ำมันน้อยก็จะมีแก๊สพิษหรือคาร์บอนไดออกไซด์น้อย แต่ปรากฏว่าพอผลิตรถยนต์แบบนี้ขึ้นมา คนก็เลยขับรถหรือใช้รถมากขึ้น ก็กลายเป็นว่าการใช้น้ำมันก็ไม่ได้ลดลง และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็ไม่ได้ลดลงเพราะว่าอะไร เพราะว่าไม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรม
พฤติกรรมก็คือว่า ใช้รถให้น้อยลง ถ้าไม่จำเป็นก็เดินเอา หรือใช้จักรยาน แต่ว่าไม่ได้คิดจะเปลี่ยนพฤติกรรม แต่ไปเปลี่ยนภายนอกคือสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา เอาเข้าจริงก็แก้ไม่ได้ ตอนนี้คิดการใหญ่ว่าทำอย่างไรถึงจะสูบคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศแล้วเอาไปอัดไว้ในมหาสมุทรหรือไม่ก็ใส่จรวดออกไปทิ้งนอกโลก เพื่อที่จะได้ลดจำนวนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นี้คือวิธีคิดของคนส่วนใหญ่ในฝ่ายโลก
แต่ไม่ได้คิดถึงว่าทำอย่างไรถึงจะลดหรือปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ลดการบริโภค ใช้พลังงานให้น้อยลง รวมทั้งบริโภคสิ่งที่ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง เช่น เนื้อ เนื้อสัตว์ในการผลิตมันก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก เพราะนอกจากต้องถางป่าเพื่อที่จะปลูกธัญพืชเพื่อเลี้ยงสัตว์ เช่นวัวแล้ว สัตว์พวกนี้ก็ยังปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเรียกว่าร้ายแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เสียอีก
การแก้ปัญหาวิถีโลกคือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต อยู่ให้เรียบง่ายมากขึ้น ซึ่งถ้าทำอย่างนี้ได้ อาหารที่มีอยู่ ที่ผลิตมาแต่ละปี มันพอจะเลี้ยงชาวโลกได้โดยที่ไม่มีใครหิวโหยเลยสักคน อันนี้คือความแตกต่างระหว่างวิถีโลกกับวิถีธรรมในเรื่องของการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นระดบส่วนบุคคลจนถึงระดับโลก
คราวนี้พอวิถีโลกไปเน้นการจัดการ เปลี่ยนแปลงภายนอก ก็เลยมุ่งที่การแสวงหาความรู้สิ่งนอกตัวมากแสวงหาความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติเพื่อที่จะได้ควบคุมธรรมชาติ เพื่อจะได้ปรับเปลี่ยนธรรมชาติให้เป็นไปตามใจมนุษย์ การรู้ จึงเป็นเรื่องของการรู้ข้างนอก บางทีรู้ไกลถึงจักรวาลโน่นกาแล็กซีแห่งไกลโพ้นหลายพันล้านปีแสงเลยทีเดียว อันนี้เป็นการเป็นความรู้เพื่อสนองความอยากรู้ แต่ความรู้จำนวนหนึ่งเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นที่ประสบอยู่ในปัจจุบัน
แต่ว่าในทางธรรมเน้นในเรื่องการรู้ภายใน คือรู้ที่ใจของตัว เพราะว่าตรงนี้แหละ เหตุแห่งทุกข์มันอยู่ที่ใจอันนี้เป็นการมองเหตุแห่งทุกข์ไม่เหมือนกัน ทางโลกมองเหตุแห่งทุกข์อยู่ที่ข้างนอกเพราะฉะนั้นต้องไปจัดการกับสิ่งภายนอก แต่ในทางธรรม มองเหตุแห่งทุกข์อยู่ที่ข้างใน ต้องไปจัดการที่ใจของตัว
อย่างที่ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่า ความทุกข์เกิดที่จิต เพราะทำผิดเมื่อมีผัสสะ ก็ต้องแก้ที่การปฏิบัติตัวให้ถูกต้องเมื่อมีผัสสะ อันนี้เป็นเรื่องภายใน เป็นเรื่องของใจ ก็ต้องรู้ความเป็นไปของใจโดยเฉพาะรู้ทันความคิดและอารมณ์ การคิดปรุงแต่ง ในขณะที่ทางโลกเขามองว่า ปัญหาความทุกข์อยู่ที่ภายนอก อยู่ที่อาหารยังไม่พอ อยู่ที่ยังความสะดวกสบายไม่พอ อยู่ที่การจัดการควบคุมสิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาติยังไม่ดีพอ รู้ข้างนอกยังรวมไปถึงการให้ความสำคัญกับสิ่งนอกตัว ไปจดจ่ออยู่กับรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสซึ่งเป็นอารมณ์ภายนอก
ขณะที่ละเลยสิ่งที่เป็นเรื่องของจิตใจอย่างที่เคยเล่า วัดหนึ่งมีการแสดงธรรมะ โดยอาจารย์ที่มีชื่อเสียง มีคนมาฟังธรรมเยอะเลย จนล้นออกมานอกศาลา มีคนกลุ่มหนึ่งหนึ่งขณะที่ฟังธรรมอยู่ ชายคนหนึ่งตาก็เหลือบไปเห็นธงเห็นธงมันไหว ก็เลยที่ให้เพื่อนเห็นว่าธงมันไหว เพื่อนบอกทนไหวที่ไหนลมมันไหวต่างหาก ก็เลยเถียงกันทีแรกเถียงกัน 2 คน แล้วก็มีคนมาถือหางอีก ช่วยกันถกเถียงกันมากขึ้น จาก 2 เป็น 4 จาก 4 เป็น 8 ไปเรื่อยๆเถียงกันใหญ่ ลมไหวหรือธงไหว
จู่ๆก็มีเสียงดังออกมาจากข้างหลังว่าจิตท่านนั่นแหละไหว ทั้งกลุ่มทั้งผงะเลย ลืมไป เถียงกันจนกระทั่งจะทะเลาะกันอยู่แล้ว ว่าลมไหวหรือธงไหว แต่ลืมดูใจของตัว อันนี้เป็นเกล็ดของท่านเว่ยหลาง คนที่ตะโกนว่าจิตของท่านต่างหากที่ไหว คือท่านเว่ยหลาง
อันนี้สะท้อนถึงความแตกต่างระหว่าง 2 แนวทาง คือทางโลกไปเน้นจดจ้องอยู่ที่ภายนอก ใส่ใจกับสิ่งภายนอก คือนอกตัว ส่วนทางธรรม ให้ความสำคัญกับการมาดูข้างใน จริงๆทางธรรมไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการใส่ใจภายนอก แต่สิ่งสำคัญคือการมารู้ข้างใน คือรู้ใจของตัว ไม่ใช่มัวแต่รู้นอกจนลืมใจ คนที่เถียงว่าทนไหวหรือลมไหว เขาสนใจธรรมะแต่ว่าเจออะไรก็ยังมีวิธีคิดแบบโลกๆเพราะฉะนั้นเตรียมไปสนใจแต่ข้างนอก เขาเรียกว่าส่งจิตออกนอก จนลืมดูใจ
พวกเรา แม้จะอยู่วัด หรือว่าแม่จะดูว่าอยู่ฝ่ายธรรม แต่ถ้าหากว่าส่งจิตออกนอกก็ถือว่ายังอยู่ห่างไกลจากวิถีธรรม หรือว่าจะคิดแก้ปัญหาแต่ที่ภายนอก จนลืมที่จะแก้ที่ตัวเอง หรือว่าปรับแก้ที่ใจของตัว เพราะฉะนั้นเราต้องทำความเข้าใจให้ชัด เข้าใจให้ดี ในเรื่องของวิถีโลกวิถีธรรม อยู่โลกแต่ว่าอาจจะคิดแบบธรรมะก็ได้ อย่างเช่นชัคฟินนี่ เขาคิดแบบธรรมะ โดยเฉพาะในเรื่องของทรัพย์
อยู่ฝ่ายธรรมแต่อาจจะคิดแบบโลกก็ได้ เราก็ต้องกลับมาดูมาสำรวจตัวเองดูว่าตอนนี้วิธีคิดของเราคิดแบบไหน เรามุ่งแก้ที่ภายนอกอย่างเดียวหรือว่าหันมาให้ความสำคัญแก้ที่ภายใน ความก้าวหน้าหรือความสุขของเราอยู่ที่การมีมากหรือว่าอยู่ที่การสละ หรือแม้จะมีแต่ก็ไม่ยึด
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 18 กันยายน 2564