แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อวานได้พูดถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าหมวดหนึ่งที่ชื่อว่า วิธีการปฏิบัติต่อทุกข์ ข้อหนึ่งก็คือ ไม่เอาทุกข์มาทับถมตน หรือว่าพูดง่ายๆก็คืออย่าหาทุกข์มาใส่ตัว รวมทั้งไม่เอาทุกข์มาซ้ำเติมตัวเองด้วย คนเราก็มักหาทุกข์มาใส่ตัวโดยไม่รู้ตัว เช่น การมองลบมองร้ายระแวงคนนั้นคนนี้ว่า เขาคิดไม่ดีกับเรา หรือเห็นแต่ข้อตำหนิของเขา
หรือมองอะไรก็เห็นแต่ปัญหาที่อยู่ข้างหน้า กลายเป็นคนขี้กังวล จะทำอะไรก็เห็นแต่ปัญหารออยู่ อันนี้ก็เป็นการมองลบซึ่งนำความทุกข์มาใส่ตัว ใส่ใจโดยไม่รู้ตัว แล้วก็ยังซ้ำเติมตัวเองด้วยโดยเฉพาะเวลาที่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นมา
คนที่เขารู้จักวางใจ เมื่อเสียทรัพย์ เขาจะเสียอย่างเดียว ไม่เสียอย่างอื่นด้วย คือไม่เสียใจ ไม่เสียสุขภาพหรือว่าไม่ปล่อยใจกลัดกลุ้มจนเสียงาน หรือทะเลาะเบาะแว้งกับเพื่อนจนเสียเพื่อน เวลาเจอรถติดก็เสียเวลาแต่ว่าไม่เสียอารมณ์ไม่เสียสติ เวลาป่วยก็ป่วยแต่กายไม่ป่วยใจ แต่คนที่ซ้ำเติมตัวเองพอป่วยกายแล้วก็ป่วยใจด้วย เสียทรัพย์แล้วก็เสียโน่นเสียนี่มากมาย รถติดก็ไม่ใช่แค่เสียเวลา เสียอารมณ์ด้วย
เวลาทำงานถ้าวางใจดี ไม่ซ้ำเติมตัวเอง ก็เหนื่อยแค่อย่างเดียว ไม่เหนื่อย 2 อย่างคือ เหนื่อยกายแต่ไม่เหนื่อยใจ เหนื่อยใจเพราะว่าใจบ่นโวยวาย ไม่พอใจเพื่อนร่วมงานไม่มาช่วยงานเรา หรือว่าเขาอู้งาน พอใจไปจดจ่ออยู่กับพฤติกรรมอย่างนั้นก็ทำให้เหนื่อยทั้งกายเหนื่อยทั้งใจ อันนี้เรียกว่าซ้ำเติมตัวเอง
รวมทั้งไม่เอาเรื่องของคนอื่นมาซ้ำเติมความทุกข์ให้กับตัวเอง เขาจะไม่ทำดีอย่างไร ทิ้งขยะไม่เป็นที่ ไม่ช่วยเหลือส่วนรวม มันก็เป็นเรื่องของเขา ไม่เก็บเอามาทับถมจนเกิดความทุกข์เกิดความหงุดหงิด ทำงานไปก็บ่นไปๆ ว่าทำไมเขาไม่มาช่วยเรา อย่างนี้เรียกว่าซ้ำเติมตัวเอง
หรือว่าแม้เวลาปฏิบัติธรรม ก็คอยไปจดจ้องว่าทำไมคนนี้เขาไม่ปฏิบัติ ทำไมคนนี้เขาไม่เดินจงกรม ทำไมคนนี้เขาไม่มานั่ง หรือบางทีพูดคุยกันด้วยซ้ำ ทั้งที่เสียงก็ไม่ได้รบกวนเรา แต่ว่าปล่อยให้การกระทำของเขามารบกวนจิตใจโดยใช่เหตุ อันนี้เรียกว่าซ้ำเติมตัวเอง แต่ถ้าวางใจเป็น มันก็ตัดเรื่องนี้ไปได้ คือไม่เอาเรื่องของคนอื่นมาเป็นความทุกข์ของตัว
อันนี้ก็โยงมาถึงอีกประเด็นหนึ่ง ก็คือว่า เวลาคนเราทำความดี ก็อย่าไปเอาพฤติกรรมของคนอื่นมาเป็นเครื่องหรือเป็นเหตุผลที่มาหน่วงเหนี่ยว ขัดขวาง ให้เราย่อท้อต่อการทำความดี หรือว่าละเลยเพิกเฉยหยุดทำความดี เช่น ทำความดีแล้วไม่มีคนเห็น เราก็ยังทำดีต่อไป เขาไม่เห็นก็ช่างเขา หรือแม้เขาจะมองในทางลบทางร้ายว่าเราทำเพื่ออยากเด่นอยากดัง ก็ไม่เอาพฤติกรรมของเขามาสร้างทุกข์ให้กับใจของเรา
รวมทั้งไม่เอาพฤติกรรมของเขามาเป็นเครื่องหน่วงเหนี่ยวบั่นทอนการทำความดีของเรา เขาไม่เห็นความดีของเรา เราก็ทำต่อไป รวมทั้งว่าทำดีกับใคร เขาไม่ทำดีตอบด้วย ช่วยเหลือเขา เขาไม่สำนึกบุญคุณของเรา หรือว่าไม่เห็นคุณความดีของเราที่ช่วยเหลือเขา ก็เป็นเรื่องของเขา เราก็ยังทำดีกับเขาอยู่ต่อไป อันนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องยาก แต่ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะอะไร เพราะว่าความดีเมื่อทำแล้วมันก็ดี และที่จริงก็เป็นหน้าที่ถ้าเราเรียกตัวเองว่าเป็นชาวพุทธ เราก็ถือว่าการทำความดีเอื้อเฟื้อผู้อื่นมันเป็นหน้าที่ มันเป็นคุณธรรม
เวลาเราขอโทษใคร เพราะเราสำนึกว่าเราทำผิด แต่อีกฝ่ายไม่ยอมให้อภัย เราก็ไม่ทุกข์ เพราะว่าเราได้ทำดีที่สุดแล้ว ส่วนเขาจะไม่ทำหน้าที่ของเขา มันก็เป็นเรื่องของเขา เพราะถ้าเขาไม่ให้อภัยก็เป็นทุกข์เอง แต่เราสำนึกในความผิดพลาดของเรา เราให้อภัยไปแล้ว ก็ไม่มีเรื่องที่ต้องเสียใจ อันนี้ยังโยงไปถึงว่าเราพูดดีกับใคร แล้วเขาไม่พูดดีกับเราตอบ ก็เป็นเรื่องของเขา
ไม่เอาคำพูดของเขามาเป็นเหตุผลให้เราหยุดยั้ง หรือว่ากับมาพูดไม่ดีกับเขา เราก็ยังพูดดีกับเขาต่อไป เพราะเป็นสิ่งที่ควรทำ เราพูดดีกับเขาแล้วเขาไม่พูดดีกับเรา ในเมื่อเขาไม่ทำในสิ่งที่ควรทำ ก็เป็นเรื่องของเขา เขาก็เดือดร้อนของเขาเอง แต่เราก็ยังพูดดีต่อไป มีปิยวาจาต่อไป
อันนี้รวมไปถึงการทำดีต่อพ่อแม่ ไม่ใช่ทำดีเฉพาะกับคนรอบข้างหรือว่าคนรอบตัวเรา กับพ่อแม่ก็เหมือนกันแม้ว่าพ่อแม่ทำตัวไม่น่ารัก อาจจะชอบเล่นการพนัน กินเหล้าเมามายบางทีก็ชอบด่าทอลูก หรือว่าไม่เป็นธรรมกับลูก อันนั้นก็ไม่ควรเอามาเป็นเหตุผลในการที่เราจะไม่ทำความดีกับพ่อแม่ หรือว่ามีความกตัญญูต่อพ่อแม่ เพราะว่าความกตัญญูเป็นคุณธรรม เป็นความดี เมื่อเป็นความดีแล้ว เราก็ควรทำ
พึงตระหนักว่าเวลาเราทำความดี ไม่ใช่ทำเฉพาะกับคนที่ดีกับเรา หรือว่าคนที่ทำตัวน่าเคารพเท่านั้น ถ้าเป็นผู้ใฝ่ธรรมหรือชาวพุทธ เราทำความดีเพราะเป็นสิ่งที่ดี เมื่อเป็นสิ่งที่ดีแล้วก็ควรพึงทำกับทุกคน ไม่เฉพาะเจาะจงว่า ต้องเป็นคนดี หรือว่าคนที่ทำดีกับเรา ทำไม่ดีกับเรา เราก็ควรทำ
อย่างที่ได้เล่าเมื่อวานนี้ในพุทธพจน์ที่ว่า แม้ผู้ใดประหารเรา หรือทำร้ายเราด้วยฝ่ามือ ด้วยก้อนหิน ด้วยท่อนไม้ ด้วยศัสตรา เราก็จะไม่กล่าววาจาชั่วหยาบ จะไม่มีจิตแปรผัน เพราะอะไรเพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ดี มาเป็นสิ่งที่ดีแล้วก็ทำกับทุกคน
ในเรื่องวิธีปฏิบัติต่อทุกข์ มันยังมีวิธีปฏิบัติต่อสุขด้วย ข้อหนึ่งก็คือว่า ไม่ละเลยความสุขที่ชอบธรรม ความสุขที่ชอบธรรมก็คือ ความสุขที่หามาด้วยน้ำพักน้ำแรง หรือว่าความสุขที่เกิดจากการทำความดี หรือความสุขที่ไม่ได้เกิดจากการไปเบียดเบียนใคร พุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธความสุข ถ้าเป็นความสุขที่ชอบธรรมเราก็ควรจะใช้มัน หรือว่าใช้สิ่งนั้นเพื่อทำให้ตัวเองเกิดความสบายขึ้นมา
คนไปเข้าใจผิดว่าพระพุทธศาสนาปฏิเสธความสุข เพราะว่าพูดแต่เรื่องทุกข์ ที่จริงไม่ใช่ ถ้าเป็นความสุขที่ชอบธรรมก็ไม่ควรละเลย ไม่ควรปฏิเสธ มีธรรมหมวดหนึ่งชื่อ อายุวัฒนธรรม คือ ธรรมที่ทำให้อายุยืนข้อแรก พระพุทธเจ้าตรัสว่า ให้รู้จักทำความสบายแก่ตน ความสบายในที่นี้คือ ความสบายที่เกื้อกูลแก่ชีวิต เช่น การพักผ่อนก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความสบาย ก็ควรพักผ่อนเมื่อถึงเวลา เมื่อถึงโอกาส
สุขที่ชอบธรรมก็รวมถึงเงินที่หามาด้วยน้ำพักน้ำแรง เมื่อหาเงินมาด้วยน้ำพักน้ำแรง ก็ควรใช้เงินนั้นเลี้ยงตัวเองให้มีความสุข แล้วก็เลี้ยงผู้อื่นเช่น ครอบครัว หรือว่าบริษัทบริวารให้มีความสุขด้วย คำว่าไม่ละเลยสุขที่ชอบธรรมก็มีความหมายรวมไปถึงว่า ไม่มองข้ามความสุขที่ชอบธรรม รวมทั้งไม่มองข้ามสิ่งที่ให้ความสุขกับเรา นอกจากเงินทองแล้ว ข้าวของเครื่องใช้ก็เหมือนกัน เราหามาได้ เราก็ใช้มันให้เกิดประโยชน์ ให้เกิดความสุข
มีรถยนต์เราก็ใช้รถยนต์เพื่อการเดินทางเพื่อจะได้ไม่ต้องเหนื่อยลำบากลำบนในการเดินทาง อันนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องเสียหาย เป็นสิ่งที่ควรทำด้วย มีเงินแล้วไม่เลี้ยงตัวเองให้มีความสุขพระพุทธเจ้าตำหนิว่าเป็นการกระทำที่โง่เขลา เพราะว่ากลายเป็นทาสของเงิน กลัวเงินร่อยหรอก็เลยไม่ใช้ คือเลี้ยงตัวเองให้มีความสุข สิ่งของต่างๆที่เรามี เราก็รู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์
แต่คราวนี้ สิ่งที่ให้ความสุขกับเราไม่ใช่เพียงแค่สิ่งของ มันยังมีอย่างอื่นด้วย เช่น สุขภาพ ความสุขที่เกิดจากการมีสุขภาพดีก็เป็นความสุขที่ชอบธรรม หรือว่าความสุขที่เกิดจากความสัมพันธ์ที่อบอุ่นในครอบครัว อันนี้ก็เป็นความสุขที่ชอบธรรม เราไม่ควรที่ละเลย เราไม่ควรจะมองข้าม แต่ว่าคนจำนวนไม่น้อยบางทีก็มองข้าม ไปสนใจความสุขอย่างอื่นที่อยู่ข้างหน้า
อย่างที่พูดไปเมื่อเช้า คนเรามักจะเห็นคุณค่าของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง 2 ช่วงด้วยกัน ก็คือ ตอนที่ยังไม่ได้มันมา กับตอนที่เสียมันไปตอนที่ยังไม่ได้มา ตอนที่ยังไม่ได้มา เช่น เสื้อผ้า เห็นมันวางโชว์ขายอยู่ในร้านรองเท้านักกีฬาเหมือนกัน อยากได้เหลือเกิน ครั้นพอได้มาแล้ว ทีแรกก็ดีใจ แต่สักพักกลับไม่สนใจ ไม่เห็นคุณค่าของมัน อยากได้เสื้อตัวใหม่ อยากได้รองเท้าคู่ใหม่ ต่อเมื่อมันเกิดสูญไปหรือหายไป ถึงค่อยมาหามัน แต่ตอนที่มันอยู่กับเรา ไม่ค่อยเห็นคุณค่า รวมทั้งไม่รู้จักใช้มันให้เกิดประโยชน์
รวมถึงสุขภาพด้วย ตอนที่เรามีสุขภาพดี คนไม่ค่อยเห็นคุณค่าเท่าไร มาเห็นคุณค่าก็ตอนที่เจ็บป่วยหรือว่าเกิดพิการ ลมหายใจตอนที่มันหายใจปกติเราไม่ค่อยเห็นคุณค่าเท่าไหร่ ไปสนใจอย่างอื่น เห็นคุณค่ามากกว่า เช่น เงินทอง ชื่อเสียง แต่พอเจ็บป่วยขึ้นมา หายใจติดขัดถึงตอนนั้นจึงรู้ว่า แค่การหายใจได้ปกติก็เป็นความสุขแล้ว คนเราจะเห็นคุณค่าสิ่งดีๆที่เรามีหรือความสุขที่ชอบธรรมก็ต่อเมื่อสูญมันไปแล้ว ถึงตอนนั้นก็สายไปแล้ว
ที่จริงไม่ใช่เฉพาะสุขภาพ อวัยวะ ลมหายใจเท่านั้น ที่เราไม่ค่อยมองเห็นคุณค่าของมันในขณะที่มันอยู่กับเรา กับคนรอบข้างก็เหมือนกัน ตอนที่ยังไม่ได้มา ก็เห็นความสำคัญเหลือเกิน จิตใจจดจ่ออยู่กับคนก็ดี สิ่งของก็ดีที่ยังไม่ได้มา แต่พอได้มาแล้วก็ไม่เห็นคุณค่า
มีผู้ชายคนหนึ่งเล่าว่า สมัยที่เป็นวัยรุ่น ไปชอบผู้หญิงคนหนึ่ง หลงรักเธอมาก แค่ได้เห็นหน้าเธอก็มีความสุขแล้ว วันไหนไม่ได้เห็นหน้า ขอให้เห็นหลังคาบ้านก็ยังดี จิตใจก็ใฝ่ฝันที่อยากจะอยู่ใกล้เธอ มีวันหนึ่งเธอให้รูปถ่ายใบหน้าเธอ เขาดีใจมากเลย เก็บไว้ที่หัวนอน ทุกครั้งที่ดูภาพถ่าย ก็อยากจะให้ภาพถ่ายกลายเป็นคนจริงๆ จะสุขเพียงใดถ้าภาพถ่ายกลายเป็นคนจริงๆ ตอนหลังก็ได้แต่งงานกันแล้วก็ได้อยู่ด้วยกัน
พออยู่ไปได้สัก 5-6 ปี เขาเล่าว่า มันมีบางช่วง อยากให้ภรรยากลับไปเป็นรูปถ่าย ตอนที่ยังไม่ได้กันจะให้ภาพถ่ายเป็นตัวจริง แต่พอได้กันแล้ว อยากให้ตัวจริงกลายเป็นภาพถ่าย แต่อาตมาเชื่อได้เลยว่า ถ้าเกิดว่า ภรรยาล้มหายตายจากไป เขาจะเสียใจมากเลย มานึกเสียดายช่วงเวลาที่อยู่ด้วยกัน แล้วไม่ได้ดูเเลกันไม่ได้เอาใจใส่กัน อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับหลายสิ่งหลายอย่าง แล้วก็หลายคู่ ไม่ใช่เฉพาะคนอย่างเดียวสิ่งของด้วย
รวมทั้งสิ่งที่มีอยู่กับตัว เช่น สุขภาพ ตอนที่มันอยู่กับเรา เราไม่ค่อยเห็นค่า แต่พอมันจะพอจากไปแล้วถึงค่อยเห็นค่า แล้วก็มานึกเสียดายว่าไม่ได้ชื่นชม หรือว่าไม่ได้ตักตวงความสุข หรือว่าเห็นความสุขของสิ่งที่มีตอนที่มันอยู่กับเรา แต่ทำไมเราจะต้องรอให้มันสูญไปเสียก่อน หรือสิ่งเหล่านั้นจากไปเสียก่อนถึงจะกลับมาเห็นคุณค่า
วิธีหนึ่งที่จะช่วยทำให้เราเห็นคุณค่าในสิ่งที่เรามีอยู่ หรือความสุขที่ชอบธรรมก็คือ การระลึกว่า สักวันหนึ่งสิ่งนั้นจะต้องจากไป การระลึกถึงอนิจจัง ความไม่เที่ยง โดยเฉพาะที่เป็นความเสื่อม หรือทุกขัง มันช่วยเตือนสติคนให้เห็นคุณค่าของสิ่งที่เรามี เช่น นึกภาพว่า ถึงวันที่เราแก่ชรา เจ็บป่วยขึ้นมา ตาฝ้าฟาง หายใจลำบาก เดินเหินก็ไม่สะดวก พอถึงตอนนั้นมันจะลำบากเพียงใด
พอคิดได้แบบนี้มันก็ทำให้เรากลับมาได้สติ ระลึกว่า เราโชคดีนะที่เราตอนนี้ยังมีสุขภาพดี ตาเรายังดี ยังหายใจได้เป็นปกติ เรายังเดินเหินไปไหนมาไหนได้ ทันทีที่เราคิดว่าต้องสูญเสียมันไป แล้วจะเห็นคุณค่าในสิ่งที่เรามี เราจะไม่ละเลยหรือมองข้ามสิ่งที่เราที่เรียกว่าเป็นความสุขที่ชอบธรรม
เพราะฉะนั้น การที่เราระลึกถึงความเปลี่ยนแปลง หรืออนิจจัง ไม่ว่าจะเป็นความเสื่อม ความเสีย ความสูญ ความแก่ชรา และยิ่งกว่าคือความตาย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ร้ายแรงที่สุดของคนเรา จะเป็นตัวกระตุ้นเตือนสติให้เรากลับมาเห็นคุณค่าในสิ่งที่เรามี ไม่ใช่ว่ารอให้มันสูญเสียไปเสียก่อนถึงค่อยมาเห็นคุณค่าของมัน
ถ้าเราระลึกถึงมรณสติ แล้วเอามาโยงกับสิ่งที่เรามีไม่ว่าจะเป็น สุขภาพ อวัยวะ ร่างกาย สิ่งของรวมทั้งคนรักที่อยู่ใกล้ตัวเรา จะทำให้เราตระหนักว่า เราโชคดีนะที่เรายังมีสุขภาพดี มีอวัยวะปกติ มีคนรักอยู่รอบข้างอยู่ใกล้ตัวไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ลูกหลาน หรือคู่ครอง อันนี้เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เราไม่ละเลยความสุขที่ชอบธรรมที่มีอยู่ในเวลานี้
อย่างไรก็ตาม ท่านก็สอนว่า แม้จะเป็นความสุขที่ชอบธรรม ก็อย่าสยบ อย่าหลงใหลมัน อันนี้ก็เป็นข้อปฏิบัติหรือคำสอนที่พระพุทธเจ้าได้บอกเอาไว้ มันดีแล้วที่เราไม่ละเลยความสุขที่ชอบธรรม แต่ก็อย่าไปหลงใหลหรือสยบมัวเมาในความสุขนั้น แม้ว่าเป็นความสุขที่ชอบธรรม เพราะอะไร เพราะมันไม่เที่ยงเพราะมันไม่ยั่งยืน
ถ้าไปหลงใหลมัน สยบมัวเมาในความสุขนั้น แม้ว่าจะเป็นความสุขที่ชอบธรรมก็ตาม ถึงเวลาที่มันเสื่อมสลายหายไป ก็จะเกิดความทุกข์ เกิดความระทม เกิดความเศร้าโศกเสียใจ ฉะนั้นในขณะที่เราระลึกถึงความไม่เที่ยง หรืออนิจจัง เพื่อกระตุ้นให้เราเห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ เห็นคุณค่าของความสุขที่ชอบธรรมที่มีอยู่ ขณะเดียวกันก็ไม่ให้เราหลงระเริงความสุขเหล่านั้น
การระลึกถึงอนิจจังก็สำคัญ รวมทั้งการระลึกถึงมรณสติด้วย เพราะมันจะทำให้เราได้คิดว่าอย่าไปเพลินกับความสุขที่มีอยู่ ไม่ว่าสุขจากทรัพย์ สุขจากเงินทอง สุขจากการมีสุขภาพดี หรือว่าการมีคนรักอยู่รอบข้าง มีครอบครัวที่อบอุ่นอยู่รอบตัว มีความสุขดีแล้ว แต่อย่าไปหลงใหลหรือเพลิดเพลินกับมันเกินไป เพราะว่าถ้าหลงใหลเพลิดเพลิน พอถึงเวลาที่ความสุขนั้นแปรเปลี่ยนไป ก็จะทุกข์ระทม
มีเยอะเลยในครอบครัวที่มีความสุขคู่ครองที่มีความสุขอยู่กันมา 40-50 ปี แทบจะไม่ได้ทะเลาะเบาะแว้งกันเลย ใครๆก็อิจฉา แต่พอคนใดคนหนึ่งตายจากไป อีกฝ่ายหนึ่งที่เหลืออยู่ เรียกว่าเสียศูนย์ไปเลย อยู่แบบไม่มีชีวิตชีวา แล้วก็ไม่รู้ว่าอยู่ไปทำไมด้วยซ้ำ อันนี้ก็เพราะว่า ไปหลงใหล ไปยึดติดกับความสุขที่ชอบธรรม จนลืมไปว่ามันไม่เที่ยง
อนิจจัง หรือมรณสติดี มันช่วยเตือนให้เราเห็นคุณค่าของความสุขที่มีอยู่ และในขณะเดียวกันก็ช่วยเตือนให้เราไม่หลงใหลในความสุขนั้น เพราะว่ามันไม่เที่ยง มันทำให้เราไม่เหวี่ยงไปทางหนึ่งคือละเลยความสุขที่ชอบธรรม ในขณะเดียวกันก็ไม่เหวี่ยงไปอีกทางหนึ่งคือ หลงใหลสยบมัวเมาในความสุขนั้น
มันช่วยทำให้ใจเรานั้นอยู่กลางๆ ก็คือเห็นคุณค่าของความสุขที่มีอยู่ แล้วก็รู้จักใช้มันให้เกิดประโยชน์ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่สยบมัวเมา ไม่หลงใหลเพลิดเพลิน มันเป็นทางสายกลางที่ช่วยทำให้เราจะเกี่ยวข้องกับความสุขได้อย่างไม่เกิดทุกข์ตามมา จะเรียกว่าเป็นทางสายกลางก็ได้
ซึ่งอันนี้ก็สอดคล้องที่พระพุทธเจ้าตรัสในอีกข้อหนึ่งของอายุวัฒนธรรม อย่างที่บอกว่าอายุวัฒนะธรรมข้อแรกคือ ให้รู้จักทำความสบายให้กับตัว แต่ในขณะเดียวกันข้อที่ 2 บอกว่าให้รู้จักประมาณในความสบาย คืออย่าสบายมากไป หรืออย่าหลงใหลกับความสบายนั้น ให้รู้จักพอดี ความพอดีมันช่วยทำให้ ถึงเวลาที่ความสบายแปรเปลี่ยนไป สูญหายไป ก็ไม่ทุกข์ ก็ไม่ระทม อันนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าที่มีประโยชน์มาก
วิธีปฏิบัติต่อความสุข และทุกข์ กับทุกข์ ก็อย่าให้ทุกข์มาทับถมตน หรือว่าอย่าไปหาทุกข์มาใส่ตัวซ้ำเติมตัวเอง ในขณะเดียวกันอย่ามองข้ามละเลยความสุขที่ชอบธรรม ชื่นชมเห็นคุณค่าของความสุขนั้นขณะที่อยู่กับเราในปัจจุบัน ไม่ไประห้อยหาความสุขที่อยู่ข้างหน้า
และขณะเดียวกันไม่ไปเสียอกเสียใจกับความสุขที่สูญเสียไปแล้ว จะทำอย่างนั้นได้ ก็เพราะว่าเราไม่หลงใหลในความสุขนั้นด้วย ถึงเวลามันเสื่อมไป ก็ไม่ได้เสียใจอะไร เพราะรู้ว่ามันไม่เที่ยงตั้งแต่แรก เพราะทำใจเผื่อไว้แล้ว
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 17 กันยายน 2564