แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เราคงคุ้นเคย รู้จักกับคำว่าไตรสิกขาดี ไตรสิกขาเป็นหลักการปฏิบัติเพื่อการศึกษา ศึกษาครบถ้วนทั้ง 3 ประการ คือ ความประพฤติคือศีล ใจได้แก่สมาธิและปัญญา เรียกสั้นๆว่าศีล สมาธิ ปัญญา แต่ที่จริงแล้ว คำเต็มๆของไตรสิกขาคือ อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา
การศึกษาและปฏิบัติเพื่อพัฒนาศีลให้ยิ่ง พัฒนาจิตให้ยิ่ง และพัฒนาปัญญาให้ยิ่ง คือให้เจริญงอกงาม เป็นไปเพื่อการพัฒนาตน ถ้าพูดถึงคำว่าพัฒนา ไม่ว่าจะพัฒนาศีล พัฒนาจิต พัฒนาปัญญา มันมีอีกคำหนึ่งที่สอดคล้อง หรือตรงกัน คือภาวนา
เวลาได้ยินคำว่าภาวนาแล้ว นึกถึงการบำเพ็ญทางจิต เช่น การนั่งสมาธิ การทำกรรมฐาน หรือว่าการทำวิปัสสนา แต่ที่จริงแล้วอันนั้นเป็นความหมายที่แคบ เพราะว่าภาวนาซึ่งแปลว่าการพัฒนา มันมีมากกว่านั้น ถ้าพูดให้ครบมี 4 ก็คือ กายภาวนา ศีลภาวนา จิตตภาวนา แล้วก็ปัญญาภาวนา ความหมายรวมๆก็เหมือนกับไตรสิกขานั่นแหละ แต่ว่าท่านซอยแยกออกมาจาก 3 เป็น 4
ที่เราอาจจะไม่คุ้นคือ กายภาวนา ส่วนศีลภาวนา จิตตภาวนา ปัญญาภาวนา เราอาจเคยได้ยิน แต่ที่มักเข้าใจผิดคือกายภาวนา หรือการพัฒนากาย ไม่ได้หมายความถึงการดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรง ไม่เจ็บไม่ป่วย มีสุขภาพดี ไม่หิวโหย อันนั้นไม่ใช่ ที่จริงมันเป็นแค่ผลพลอยได้ หรือผลตามมาจากการบำเพ็ญกายภาวนา
ในความหมายที่ถูกต้อง กายภาวนา ความหมายจริงๆก็คือ การพัฒนาการรับรู้ทางกาย การรับรู้ทางกายก็อาศัยตา หู จมูก ลิ้น และกาย ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของกายทั้งนั้น ตา หู จมูก ลิ้น กาย เราใช้ทั้ง 5 ประการนี้ในการรับรู้โลกภายนอก ถ้าเราใช้ไม่ถูกใช้ไม่เป็น มันจะเกิดปัญหา แต่ถ้าเราใช้ถูกใช้เป็น หรือทำให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ มันก็จะเกิดการพัฒนา ความเจริญงอกงาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความประพฤติคือศีล ในเรื่องของจิต ในเรื่องของปัญญา
การรับรู้ทางกาย ด้วยตาก็ดี ด้วยหูก็ดี ถ้าเราทำถูก หรือว่าเกิดกายภาวนา มันก็จะเกิดกุศลธรรมขึ้นมาในใจ แต่ถ้าใช้ผิด เพราะว่าไม่ได้มีการทำกายภาวนาอย่างถูกต้อง ก็เกิดบาป เกิดอกุศล เกิดตัณหา เกิดโลภะ เกิดโทสะแล้วก็โมหะขึ้นมา ซึ่งเป็นบาปและอกุศล
จะทำอย่างไรให้การภาวนาเกิดขึ้นได้ การรับรู้ทางกายเกิดขึ้นได้ดี สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ อินทรียสังวร หรือว่า การสำรวมอินทรีย์ ซึ่งความหมายก็คือว่า การรักษาใจไม่ให้บาป อกุศลเกิดขึ้น เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ลิ้นรับรส เป็นต้น อินทรียสังวรจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะมีสติ เพราะฉะนั้นกายภาวนาก็คือ การใช้ตาดู หูฟัง ลิ้นรับรส หรือกายรับสัมผัสอย่างมีสติ
เพราะถ้ามีสติแล้ว ก็จะไม่เกิดบาป ไม่เกิดอกุศล ไม่เกิดกิเลสขึ้นมาในจิตใจ เพราะถ้าเกิดกิเลส เกิดอกุศลขึ้นมาแล้ว มันก็ทำให้คนเราตกเป็นทาสสิ่งภายนอกได้ง่าย โดยเฉพาะสิ่งเสพ การรับรู้ทางกายรวมถึงการเสพด้วย ที่จริงก็เป็นเรื่องเดียวกัน เสพทางตา เสพทางหู เสพทางจมูก ถ้าไม่มีสติ มันก็ตกเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้น คือ ติดใจในอาหารที่เอร็ดอร่อย ติดใจในเสียงเพลงที่ไพเราะ ติดใจในทรัพย์สมบัติที่ปรนเปรอความสะดวกสบายให้กับเรา แล้วพอตกเป็นทาสของสิ่งเสพหรือว่าวัตถุเหล่านี้แล้ว ปัญหาก็ตามมามากมาย
แต่ถ้าเกิดว่า มีกายภาวนา คือ ใช้ตาดู หูฟัง ลิ้นรับรสอย่างมีสติ กิเลสก็เกิดขึ้นไม่ได้ หรือเกิดขึ้นได้ยาก เช่น เวลาเรากินอาหาร เราไม่ได้กินตามใจปาก เมื่อเรากินอย่างมีสติ เราก็จะคำนึงถึงประโยชน์ที่พึงได้จากการกินอาหารนั้น แล้วเราก็จะรู้จักการเสพ การบริโภคอย่างพอประมาณ อันนี้รวมถึงการเสพการบริโภคการใช้สิ่งอื่นด้วย สมัยนี้นอกจากปัจจัย 4 แล้ว ยังมีโทรศัพท์มือถือ มีคอมพิวเตอร์ มีรถยนต์
ถ้าเราใช้กายในการเสพสิ่งเหล่านี้อย่างมีสติ เราก็จะใช้เพื่อประโยชน์ที่เรียกว่าคุณค่าแท้ของมัน กินอาหารก็เพื่อสุขภาพ ใส่เสื้อผ้าก็เพื่อบรรเทาความร้อนความหนาว อย่างที่เราสวดที่ปฏิสังขาโยเวลาก่อนฉัน ก็เพื่อให้เราได้เสพอย่างมีสติ กินอาหารอย่างมีสติ ใช้เสื้อผ้าอย่างมีสติ โดยมุ่งคุณค่าแท้ ก็คือ เพื่อให้เกิดสุขภาพดี เพื่อให้เกิดประโยชน์บรรเทาความเจ็บความป่วย หรือทุกขเวทนา
ไม่ใช่เพื่อความโก้เก๋ เพื่อการอวดสร้างภาพลักษณ์ ถ้าเราทำอย่างนี้ มันก็จะเกิดสุขภาพที่ดี ไม่อ้วนเพราะว่าตามใจปากหรือว่าติดใจในรสชาติความเอร็ดอร่อย ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช้สอยไม่ใช้เงินไปในทางที่ปรนเปรอตนด้วยวัตถุ เพราะติดใจในความสะดวกสบาย ความเอร็ดอร่อยของสิ่งที่เสพ เมื่อไม่ใช้เงินไปในทางนั้น มันก็ไม่เกิดปัญหาเศรษฐกิจ ไม่เป็นหนี้เป็นสิน ไม่ยากจนยากไร้ ไม่มีความฝืดเคือง ความเป็นอยู่ก็ดี
อันนี้เป็นผลของกายภาวนา ซึ่งมันก็จะส่งผลไปสู่การพัฒนาหรือภาวนาด้านอื่นด้วย แต่ถ้าไม่มีกายภาวนารับรู้ด้วยตา รับรู้ด้วยหู รับรู้ด้วยลิ้น แล้วเกิดกิเลสเกิดตัณหาขึ้นมา ก็ทำให้เราตกเป็นทาสของสิ่งภายนอกรวมทั้งตกเป็นทาสของอารมณ์คือ ความโลภ ความหลง หรือว่ากิเลสเหล่านั้นด้วย มันก็เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาด้านอื่น
เพราะว่าพอตกเป็นทาสของสิ่งเสพ มันก็จะรักษาศีลมันก็ยาก มันอยากจะไปลักขโมย อยากจะไปเอาเปรียบคนอื่น เพื่อว่ามีสิ่งเสพเยอะๆมีเงินมากๆ หรือไม่ก็ทำให้จิตใจรุ่มร้อนด้วยความโลภเกิดความเครียด เกิดความเดือดเนื้อร้อนใจขึ้นมา เพราะว่าผิดศีล รวมทั้งเกิดความหลง เกิดมิจฉาทิฏฐิขึ้นมา เพราะฉะนั้นในเรื่องของการภาวนาข้อแรก สำคัญมากเลย ถ้าเรารู้จักพัฒนาหรือภาวนากายอย่างถูกต้อง อย่างที่ว่ามานี้ มันก็จะไปส่งเสริมศีลภาวนา จิตตภาวนา และปัญญาภาวนา
ศีลภาวนาคือ การพัฒนาพฤติกรรมเป็นไปเพื่อการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น อยู่ร่วมโลก อยู่ร่วมสังคมอย่างสันติสุข ไม่มีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ คนมักเข้าใจว่าเวลาพูดถึงศีล ก็นึกถึงศีล 5 ซึ่งศีล 5 นั้นมันแค่มาตรการหรือมาตรฐานขั้นต่ำ ศีลภาวนาต้องไปมากกว่าศีล 5 คือ คือ นอกจากไม่เบียดเบียนผู้อื่นแล้ว ก็ควรจะไปถึงการทำความดีด้วย ทำความดีเอื้อเฟื้อเจือจาน ก็มีหลักอยู่เหมือนกัน
ที่เด่นชัดก็คือสังคหวัตถุ 4 ทานคือ การให้ แบ่งปัน เอื้อเฟื้อด้วยวัตถุ ปิยวาจา การพูดด้วยเมตตา พูดด้วยความเอื้อเฟื้อ ใจรัก อัตถจริยาคือ การบำเพ็ญประโยชน์ สมานัตตตา คือการร่วมงานร่วมการ ร่วมสุขร่วมทุกข์
ศีลภาวนา มันไม่ใช่แค่ไม่ไปเบียดเบียนผู้อื่น และช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน เวลาคนเราถูกเบียดเบียนแล้วถ้าเราตอบโต้ด้วยถ้อยคำที่รุนแรง หรือว่าเขาแรงมาเราก็แรงไป อันนี้เรียกว่าศีลภาวนายังไม่ครบถ้วน เราไม่เบียดเบียนใครก็จริง แต่เมื่อคนอื่นเบียดเบียนเรา เราจะถือสิทธิ์อ้างว่า เขาทำฉัน ฉันก็ทำเขาด้วยเหมือนกัน อย่างนี้ไม่ใช่
แม้เขาจะเบียดเบียน เขาจะพูดร้ายกับเรา ศีลภาวนาก็หมายความว่า เราก็ยังคงปฏิบัติดีกับเขา หรืออย่างน้อยก็ไม่ด่ากลับไป ไม่ตอบโต้ด้วยวิธีที่รุนแรงกลับไป แม้ว่าเขาจะทำไม่ถูก ทำไม่ดีอย่างไรก็ตาม อันนี้ก็เป็นสิ่งที่คนมักจะมองข้าม ฉันจะทำดีกับคนที่เดือดร้อน ฉันจะทำดีกับคนที่มีบุญคุณกับฉัน แต่ถ้าใครทำไม่ดีกับฉัน ฉันก็จะทำไม่ดีโต้กลับไป อันนั้นไม่ถูก
ศีลภาวนา ก็รวมถึงว่า แม้เขาจะทำร้าย ทำไม่ดีกับฉัน หรือทำไม่ดีกับคนอื่น ฉันก็ยังทำดีด้วย อย่างที่พระพุทธเจ้าสอนว่า เอาชนะความชั่วด้วยความดี เอาชนะความตระหนี่ด้วยการให้ พระพุทธเจ้าถึงกับตรัสว่า แม้ใครจะมาทำร้ายเราด้วยฝ่ามือ ด้วยก้อนหิน ด้วยท่อนไม้ หรือด้วยศัสตรา ก็ไม่พึงมีจิตแปรผัน หรือวิปริต หรือกล่าววาจาชั่วหยาบ แต่ควรมีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล มีจิตเมตตา ศีลภาวนาก็คือการบำเพ็ญตนให้ได้ถึงขณะนั้น มันมากไปกว่าการรักษาศีล 5
จิตตภาวนาซึ่งเราเรียกง่ายๆว่า สมาธิ ที่จริงสมาธิในความหมายในไตรสิกขา มันกว้าง ไม่ใช่แค่จิตตั้งมั่นคำหลายคำในพระพุทธศาสนา คำๆหนึ่งมีความหมายหลากหลาย กว้างขวาง หรือแคบต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริบท เช่น สังขารในปฏิจจสมุปบาทหรือขันธ์ 5 หมายถึงการปรุงแต่ง แต่ถ้าสังขารในปัจฉิมโอวาทมันก็รวมถึงร่างกายและจิตใจ วะยะธัมมา สังขารา สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
แต่ถ้าสังขารในบทพิจารณาสังขาร มันคลุมหมดทุกอย่าง สังขารคือร่างกาย จิตใจ แลรูปธรรมนามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น สมาธิก็เหมือนกัน เวลาพูดสมาธิ มันก็มีหลายความหมาย ความหมายแคบก็คือจิตที่ตั้งมั่นแต่ความหมายกว้างก็คือ คุณภาพจิตที่เป็นกุศล จิตตภาวนาหรือสมาธิ มันก็หมายถึงการพัฒนาจิตให้มีคุณภาพ คือ เข้มแข็ง มั่นคง ดีงาม แจ่มใสและก็เป็นสุข ซึ่งมันก็รวมไปถึงขันติ เมตตา กรุณา ฉันทะ สติ สมาธิ
ซึ่งถ้าหากว่าเราเข้าใจจิตตภาวนา เราก็จะพบว่า ไม่ว่าการฝึกจิตให้มีขันติ ฝึกจิตให้มีเมตตา ฝึกจิตให้มีสติรวมทั้งมีฉันทะ มันก็เป็นสิ่งสำคัญ คำว่าฉันทะ เป็นคุณภาพจิตอันหนึ่งที่คนมักมองข้าม เพราะว่าความหมายหนึ่งของมันคือความอยาก เวลาพูดถึงความอยาก เราก็ไปนึกถึงตัณหา
แต่ที่จริงแล้ว ความอยากของฉันทะมันต่างจากตัณหา คืออยากทำ หรืออยากให้สิ่งต่างๆได้บรรลุถึงสิ่งดีงามหรือความดีงามของมัน ส่วนตัณหามันเป็นความอยากเพื่อสนองอัตตา ตัวตน ตัณหาเป็นความอยากได้ อยากมี อยากเอา อยากเป็น แต่ฉันทะนั้นเป็นอยากทำ
เวลาเราสวดอริยมรรคมีองค์ 8 พอถึงบทที่ชื่อว่าสัมมาวายามะ จะเริ่มต้นด้วยคำว่าฉันทะ ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้น ความพอใจให้เกิดขึ้นตรงนี้คือฉันทะ คือความอยาก อยากทำ ทำอะไร คือ อยากละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้น รวมทั้งป้องกันไม่ให้อกุศลธรรมมันปรากฏ อยากทำคือสร้างกุศลธรรมที่ไม่มีให้เกิดขึ้น รวมทั้งอยากทำก็คือ รักษา ประคอง และส่งเสริมให้กุศลธรรมที่มีอยู่แล้วให้เจริญงอกงาม
ถ้าคนเรามีฉันทะ มันก็จะมีความอยากทำสิ่งดีงาม อยากพัฒนาตน ความอยากมันก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เสียหาย ถ้าหากว่าเป็นการอยากทำ หรืออยากให้สิ่งต่างๆบรรลุถึงความเต็มความสมบูรณ์ อยากให้ธรรมชาติมีความอุดมสมบูรณ์ อยากให้โลกนี้มีสันติสุข แม้กระทั่งอยากให้ร่างกายมีสุขภาพดี ก็ยังเป็นฉันทะ
แต่ถ้าอยากให้ตัวฉันแข็งแรง อันนี้อาจจะเป็นตัณหาก็ได้ เพราะเป็นการสนองตัวตน มันใกล้กันนิดเดียวอยากให้ร่างกายมีสุขภาพดี ไม่เจ็บไม่ป่วย กับอยากให้ตัวฉันแข็งแรง มันใกล้กันมาก อันหนึ่งเป็นฉันทะ อีกหนึ่งอันหนึ่งเป็นตัณหา
เพราะว่าฉันทะนั้นอยากให้สิ่งต่างๆ มีหรือบรรลุถึงความดีงามเต็มตามสภาวะของมัน ส่วนตัณหาเป็นความอยากเพื่อสนองอัตตา เพื่อตัวตน ไม่ว่าอยากให้ฉันเป็นคนดี หรือว่าอยากเป็นคนเก่ง อยากเป็นคนดี อันนี้มันเป็นตันหาได้ง่ายๆ แต่ว่าอยากทำความดี อันนี้เป็นฉันทะ เราต้องรู้จักแยกแยะให้ดี เพราะว่าถ้าหากเราแยกแยะได้ถูก สร้างฉันทะให้เกิดขึ้น การบำเพ็ญจิตตภาวนาก็เกิดขึ้นได้ง่าย เพราะนำไปสู่สัมมาวายามะ
ภาวนาข้อสุดท้ายคือ ปัญญาภาวนา เราทราบดีอยู่แล้ว เพราะว่าจุดมุ่งหมายสูงสุดของการปฏิบัติธรรมก็คือ การรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรม เข้าใจกฎธรรมชาติ สามารถที่จะเห็นแจ่มแจ้งในสิ่งที่เรียกว่าไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ว่าปัญญาภาวนาในที่นี้ไม่ได้เกิดจากการคิดอย่างเดียว มันต้องเกิดจากการพิจารณา
พิจารณาก็คือ เห็นสิ่งต่างๆอย่างที่มันเป็น เห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง ซึ่งก็ไม่ใช่แค่การคิดเอา แต่มันเกิดจากการเห็นอย่างที่เราเห็นความคิดเห็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นด้วยสติ อันนี้ก็เป็นการเห็นอย่างหนึ่ง มันไม่ได้เกิดจากการคิด ถ้าเห็นและดู พิจารณาอยู่เรื่อยๆ มันก็จะเกิดปัญญาขึ้นมา
ถ้าเราใช้ปัญญาใช้สติในการพิจารณาสิ่งต่างๆ ซึ่งก็ไม่ควรจะจำกัดเฉพาะในเวลาที่เราเดินจงกรม เวลานั่งสมาธิ หรือปฏิบัติในรูปแบบ แต่ยังรวมถึงการมองสิ่งต่างๆ ปรากฏการณ์ต่างๆ ด้วยการพิจารณาให้เห็นไตรลักษณ์ พิจารณาบ่อยๆ พิจารณาบ่อยๆจากสิ่งที่รับรู้มา
ซึ่งอันนี้ก็โยงไปถึงกายภาวนาอย่างที่พูดไปแล้วว่า กายภาวนาคือการพัฒนาการรับรู้ไม่ว่าจะด้วยตาด้วยหู ถ้ามีสติในการดู ในการฟัง ในการอ่าน มันก็จะมีโอกาสที่จะเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง โดยเฉพาะถ้าเรามีหลักในการภาวนาว่า มองสิ่งต่างๆให้เห็นว่า มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นบ่อยๆเห็นบ่อยๆ จิตก็จะซึมซับ จนกระทั่งยอมรับว่า สิ่งทั้งปวงมันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
ปัญหาก็คือว่า เราได้ยินคำว่าไตรลักษณ์อยู่บ่อยจนคุ้นหูจนชินชา อันนี้คือปัญหาเลย ข้อดีก็คือว่าเราได้รับรู้ถึงเรื่องของสัจธรรมความจริง ถ้าเรานำไปพิจารณาปรากฏการณ์ต่างๆทั้งภายนอกภายใน มันก็จะทำให้เกิดปัญญา แล้วก็เห็นความจริงที่ว่าได้อย่างแจ่มแจ้งมากขึ้น แต่การที่จะได้ยินได้ฟังบ่อยๆบางทีมันทำให้เราคุ้นชิน แล้วก็เฉยชา
ซึ่งต่างจากคนที่ไม่เคยได้ยิน คนที่ไม่เคยได้ยินพอเขาได้ยิน เขาก็เกิดปัญญาลุกโพลงอย่างปัญจวัคคีย์ไม่เคยได้ยินเลยคำว่าอนัตตา พอได้ยินอนัตตาจากพระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรก บรรลุธรรมไปเลย เกิดจิตที่เป็นอิสระ หลุดพ้น เพราะว่าเห็นแจ้งในสัจธรรม ตามความเป็นจริง
ก็เหมือนกับพระสารีบุตรสมัยที่เป็นปริพาชก เป็นคนฉลาด แต่ว่าทันทีที่ได้ยินได้ฟังธรรมของพระอัสสชิ พระอัสชิเป็นหนึ่งในปัญจวัคคีย์ พระสารีบุตรที่ตอนนั้นเป็นปริพาชก เห็นท่านอัสสชิเดินมาอย่างสุภาพอย่างสำรวมสงบ ก็ติดใจ ก็เลยถามว่าใครเป็นศาสดาของท่าน ศาสดาของท่านสอนว่าอะไร พระอัสสชิพูดไม่เก่งก็ตอบสั้นๆว่า ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตกล่าวถึงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น
สารีบุตรปริพาชกหรืออุปติสสะได้ยิน ดวงตาเห็นธรรมเลย เพราะว่าไม่เคยคำแบบนี้มาก่อน เพราะประโยคสั้นๆนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นอนิจจังของธรรมทั้งหลาย เพราะมันไม่มีตัวตนมันเป็นอนัตตา มันจึงเกิดและมีดับ พอได้ฟังประโยคเท่านี้แหละซึ่งไม่เคยได้ยินมาก่อน ดวงตาเห็นธรรมเลยเพราะว่า มันเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่เรียกว่าพลิกมุมมอง ความรู้สึก
ซึ่งต่างจากชาวพุทธสมัยนี้ ได้ยินได้ฟังบ่อยๆ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รวมทั้งอริยสัจ 4 ฟังจนกระทั่งเฉยชา เวลาเกิดอะไรขึ้น เวลารับรู้อะไร ก็ไม่ได้คิดที่จะใช้อริยสัจ 4 ในการมองหรือพิจารณาให้เห็นถึงความเป็นไตรลักษณ์ อันนี้เรียกว่า การเกิดในวัฒนธรรมแบบพุทธ ได้ยินได้ฟังบ่อยๆบางทีทำให้รู้สึกเฉยๆไม่รู้สึกแปลกหู หรือความสะดุดใจ
ต่างจากปัญจวัคคีย์ หรือว่าบัณฑิต หรือว่าผู้รู้สมัยพุทธกาล แสวงหาทางหลุดพ้น แสวงหาสัจธรรม แต่ก็ไม่เคยได้ยินคำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือข้อความในทำนองนั้น พอได้ยิน ปัญญาลุกโพลง เห็นแจ้งในสัจธรรม แต่ว่าถึงแม้เราจะได้ยินบ่อย แต่ว่าก็อย่าทำให้มันซ้ำซากจำเจ หมั่นพิจารณาสิ่งต่างๆให้เห็นถึงความเป็นไตรลักษณ์ ซึ่งอันนี้ก็อย่างที่บอก มันเป็นเรื่องของกายภาวนาทีเดียว คือการพัฒนาทางกายไม่ว่าจะเป็นตาดูหูฟัง พิจารณาให้ดีโดยมีสติ มันก็จะเกิดปัญญาขึ้นมาได้
อย่างที่เคยเล่าถึงพระติสสะที่ได้ฟังเพลงที่นางทาสีคนหนึ่ง ที่พร่ำพรรณนาถึงความรักที่ผันผวนแปรปรวนเพราะความเป็นอนิจจังท่านฟังแล้ว เรียกว่ามีสติอยู่กับการฟัง ปัญญาก็เกิด แล้วก็หลุดพ้นตรงนั้นเอง อันนี้เรียกว่าการภาวนาก็นำไปสู่ปัญญาภาวนาได้
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 15 กันยายน 2564