แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ทุกวันนี้ผู้คนมีความสุขสบายมากขึ้น อะไรต่ออะไรก็สะดวกยิ่งกว่าแต่ก่อนมาก แต่สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือว่า คนก็ยังมีความเครียดกันอยู่มาก อาจจะมากกว่าแต่ก่อนด้วยซ้ำหรือมากกว่าคนยุคก่อนๆ ทั้งๆที่สิ่งบันเทิงเริงรมย์ก็มาก
เดี๋ยวนี้จะดูหนังฟังเพลงก็สะดวกสบายมาก มีให้ฟังให้ดูตลอด 24 ชั่วโมง เหมือนกับว่าหนังหรือเพลงมันลอยอยู่ในอากาศทุกหนทุกแห่ง แทบจะไปดึงมาจากอากาศได้ ผ่านโทรศัพท์มือถือ มีความบันเทิงชนิดที่ว่าไม่อั้นเลยก็ได้ แต่ทำไมถึงคนจึงมีความเครียดมาก
หรือว่าเป็นเพราะมีความเครียดมาก ความบันเทิงจึงมาตอบสนองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน อันนี้ไม่นับสิ่งที่จะให้ความสุขทางอื่น เช่น อาหารการกิน เดี๋ยวนี้อยากจะกินอาหารชาติไหน อาหารภาคใด ก็หาได้ง่าย ไม่ต้องรอฤดูกาล หรือว่ารอเดินทางไปที่นั่นที่นี่ แต่คนก็ยังมีความเครียดอยู่มาก
จะว่ามันเป็นเพราะผลของความสุข สะดวก สบาย ก็ไม่น่าจะใช่ หมายความว่าความสุข สะดวก สบาย ไม่น่าจะเป็นเหตุทำให้คนมีความเครียดมากขึ้น แต่ว่าเป็นไปได้จากการแสวงหาความสุขสะดวกสบายแล้วทำให้คนเครียดมากขึ้น เพราะต้องมีเงินมีทองมาซื้อความสะดวกสบาย ยิ่งมีความสะดวกสบายมากก็ต้องมีรายจ่ายมาก ก็ทำให้มีเครียดมากขึ้น
เดี๋ยวนี้ความเครียดเป็นปัญหาใหญ่ของคนปัจจุบันเลยทีเดียว ยิ่ง covid ระบาดด้วยแล้ว คนยิ่งเครียดหนักเข้าไปใหญ่ มีงานวิจัยพบว่า 50 - 70 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ป่วยจนต้องเข้าไปโรงพยาบาลหรือไปหาหมอสาเหตุสำคัญคือความเครียด เช่นเดียวกัน ความเครียดก็เป็นสาเหตุของการตายที่สำคัญมากเลย คนตายเพราะความเครียดยิ่งกว่าตายเพราะเหล้าบุหรี่เสียอีก
แต่ที่จริงตายเพราะเหล้าหรือบุหรี่ ส่วนหนึ่งก็เพราะความเครียดด้วย แต่นี่เขาไม่นับ เขานับเฉพาะตายเพราะว่าเส้นเลือดในสมองแตก ความดัน หรือโรคสารพัด ที่จริงความเครียดก็มีประโยชน์ มันไม่ใช่แค่เป็นเหตุให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บหรือว่าความตาย
ความเครียดก็มีประโยชน์ มันทำให้คนพยายามดึงเอาความสามารถออกมา เด็กถ้าไม่มีการบ้าน เรียนสบายๆก็ไม่ฉลาด ต้องมีการบ้าน ต้องเครียดเพราะการเรียน ถึงจะมีปัญญา มีความฉลาด ความเครียดเพราะว่าต้องทำงานให้ทันเส้นตาย หรือเพราะแข่งขันกับคนอื่น ทำให้ผลงานออกมาดี อันนี้ก็เป็นประโยชน์บางด้านของความเครียด
มีคนพูดว่าถ้าเครียดพอดีๆก็ไม่เสียหาย มีประโยชน์ แต่ถ้าเครียดหนักไปถึงจะเป็นอันตราย อันนี้ก็เป็นความเชื่อที่รับรู้กันโดยทั่วไป แต่ว่าก็มีหลักฐานหลายอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า อันตรายของความเครียดไม่ได้อยู่ที่ว่าเครียดมากเครียดน้อย แต่อยู่ที่ว่ามุมมองของคนเราเกี่ยวกับความเครียดมากกว่า
หมายความว่า ถ้าหากมองความเครียดเป็นลบ มันก็เกิดโทษ แต่ถ้ามองความเครียดว่าเป็นของดีมีประโยชน์ มันก็ไม่ทำให้เกิดปัญหาเท่าไร อย่างเมื่อ 10 ปีก่อน มีงานศึกษาวิจัยโดยมหาวิทยาลัย stanford เขาเอาพนักงานธนาคาร 400 คนซึ่งตอนนั้นในอเมริกาประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มหนึ่ง 1 ให้ดูวิดีโอเกี่ยวกับโทษของความเครียด กลุ่มที่ 2 ให้ดูวีดีโอว่าความเครียดเพิ่มสมรรถภาพในการทำงาน ส่วนกลุ่มที่ 3 ไม่ต้องดูวิดีโออะไร ผ่านไป 1 อาทิตย์ปรากฏว่ากลุ่มที่ 2 ที่ดูวิดีโอเกี่ยวกับประโยชน์ของความเครียด ปรากฏว่าทำงานได้ดีขึ้น จดจ่อใส่ใจมีส่วนร่วมกับงานได้มากขึ้น แถมมีปัญหาสุขภาพน้อย ในขณะที่สองกลุ่มที่เหลือ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
มีการค้นพบว่า คนที่มีความเครียด แต่ถ้าหากว่ามีความรู้สึกลบต่อความเครียด มีโอกาสที่จะตายเร็วก่อนวัยอันควรมาก ในขณะที่คนที่มีความเครียด แต่เขาไม่ได้เห็นว่าความเครียดเป็นสิ่งเลวร้าย กลับปรากฏว่าตายก่อนวัยอันควรน้อยกว่าคนที่มีความเครียดต่ำด้วยซ้ำ
คนที่มีความเครียดต่ำแต่รู้สึกลบ รู้สึกไม่ดีต่อความเครียด กลับตายเร็วกว่าคนที่มีความเครียดสูงแต่ว่าเขาไม่ได้รู้สึกลบต่อความเครียด กลับรู้สึกว่าความเครียดเป็นธรรมดา อันนี้ก็เลยทำให้เกิดข้อสรุปว่า ที่จริงความเครียดไม่ใช่ปัญหา ปัญหาอยู่ที่มุมมองของเราเกี่ยวกับความเครียดมากกว่า ถ้ารู้สึกบวกหรือเห็นว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา มันก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพน้อยกว่าคนที่รู้สึกลบหรือเห็นว่ามันเป็นโทษต่อสุขภาพ
อย่างที่เคยพูดไว้ว่า เจออะไรไม่สำคัญเท่ากับว่าเจออย่างไร เอามาใช้กับความเครียดได้ ถึงแม้แต่เจอความเครียดก็ไม่สำคัญเท่ากับว่ารับมือกับมันอย่างไร มองมันอย่างไร เจอความเครียดแต่ว่าไม่รู้สึกลบกับมันเห็นว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา หรือว่าบางทีเห็นว่ามันดีมีประโยชน์ด้วยซ้ำ
เมื่อเราเจอความเครียด ถ้าเรารู้สึกลบกับมัน หรือว่าเกิดอาการผลักไสต่อต้านมัน อันนี้มันสร้างปัญหาให้กับเรามากกว่าตัวความเครียดด้วยซ้ำ มุมมองหรือว่าท่าทีปฏิกิริยาของเราต่อความเครียด ตัวนี้สร้างปัญหาให้กับเรา สร้างความทุกข์ให้กับเรายิ่งกว่าตัวความเครียดด้วยซ้ำ มีความเครียดแล้วก็เห็นว่าเป็นธรรมดา ยอมรับได้ ไม่ผลักไส ไม่โวยวายตีโพยตีพาย กลับจากดีกว่า
แต่ธรรมดาของคนส่วนใหญ่ พอเจอความเครียด ยิ่งมาในระยะหลัง ถ้ารู้สึกว่าความเครียดไม่ดี พอมีความเครียดก็เกิดความวิตกขึ้นมา ความเครียดไม่เท่าไหร่แต่ความวิตกกังวลที่มีต่อความเครียดนั่นแหละที่เป็นปัญหา ผลักไส ไม่ยอมรับ รู้สึกลบกับมัน แต่ถ้าปรับใจเป็นกลางๆยอมรับมันได้ ถือว่าเป็นธรรมดา อันนี้มันช่วยลดความทุกข์ไปได้เยอะเลย คือมีความเครียด แต่ไม่ซ้อนเครียด
ความเครียดซ้อนเครียด อันนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่า เครียดอย่างเดียวไม่เท่าไร แต่พอเครียดซ้อนเครียด มันแย่เลย เครียดซ้อนเครียด หมายความว่ารู้สึกลบต่อความเครียด รู้สึกกลัว รู้สึกกังวลต่อความเครียดว่า จะทำให้ฉันเป็นโรคหัวใจไหม จะทำให้มีความดันสูงไหม ความวิตกกังวลแบบนี้เรียกว่า เครียดซ้อนเครียด ตัวนี้มันน่ากลัวกว่า
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ ผู้คนก็หันมาสนใจวิธีการบรรเทาความเครียด ด้วยการทำสมาธิภาวนากันมากขึ้น คนตระหนักว่าเครียดเพราะความคิด คิดถึงเรื่องงานเรื่องการ คิดถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับครอบครัว กับการเรียน กับการงาน กับรายได้ หรือว่ากับความสัมพันธ์ บางอย่างมันก็ยังไม่เกิดขึ้นแต่วิตกกังวลไปล่วงหน้าแล้ว อันนี้เรียกว่าเครียดในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง หรือยังไม่เกิดขึ้น เพราะใจไปอยู่กับอนาคต
แต่ความวิตกกังวลบางอย่างที่ทำให้เครียดกับปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ เช่น กำลังปลุกปล้ำกับงานการที่มันยาก คิดไม่ออก ก็เครียด แต่ถ้าหากว่าไม่คิดถึงมัน มันก็ไม่เครียด หลายคนก็เลยหันมาสนใจการทำสมาธิเพื่อให้จิตสงบ จิตไม่ไปคิดเรื่องงานเรื่องการ ไม่ไปคิดถึงปัญหาที่รออยู่ข้างหน้า หรือว่าไม่คิดถึงปัญหาในครอบครัว ปัญหาในความสัมพันธ์ พอไม่คิด ใจก็สงบ
และทำอย่างไรให้ใจไม่คิด ก็เอาใจไปอยู่กับลมหายใจ หรือว่ากำชับด้วยการบริกรรม อยู่กับลมหายใจไม่พอ ก็มีการนับ1,2 เป็นลำดับจนถึง 10 หรือไม่ก็ภาวนาพุทโธ บริกรรมพุทโธ ให้ใจมาอยู่กับคำบริกรรม หรือใช้คำบริกรรมเพื่อทำให้อยู่กับลมหายใจได้อย่างต่อเนื่อง พอใจแนบอยู่กับลมหายใจ มันก็เกิดความสงบเพราะว่าไม่มีความคิดเกิดขึ้น
หรือมิเช่นนั้นก็ไม่ต้องไปรับรู้กับเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นได้ยินทางหูเห็นทางตาหรือทางโทรศัพท์มือถือ พอใจอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ที่เป็นกลางๆเช่น ลมหายใจ หรือว่าท้องที่พองยุบ หรือว่ากายที่เคลื่อนไหวไปมา มันก็ไม่มีความคิดเกิดขึ้น พอไม่มีความคิดเกิดขึ้น ใจก็สงบ พอไม่รับรู้เรื่องอะไรที่เคยทำให้เกิดความรู้สึกรำคาญใจ มันก็นิ่งได้
อันนี้เป็นวิธีที่หลายคนใช้เพื่อบรรเทาความเครียด มันเป็นช่วงของการพักใจ หรือเว้นวรรคให้กับชีวิต ไม่ต้องไปคิดเรื่องงานเรื่องการ ไม่ต้องไปรับรู้ปัญหาต่างๆในครอบครัวหรือว่าโลกภายนอก พอใจสงบใจนิ่งมันก็เกิดความสบาย เกิดความผ่อนคลาย เกิดความสุข
แต่ว่าพอเปิดตาเมื่อไรหรือว่าพอเลิกทำสมาธิเมื่อไร จิตก็หันไปคิดไปปรุงเหมือนเดิม ไปคิดนึกเรื่องงานเรื่องการ คิดถึงปัญหาที่รออยู่ข้างหน้า เกิดความวิตกกังวลขึ้นมา ก็กลายเป็นเครียดใหม่ หรือก็มีความหงุดหงิดขึ้นมา อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับหลายคนที่ทำสมาธิเพื่อผ่อนคลาย ความเครียดก็หายไปชั่วคราวในขณะที่ทำสมาธิ ความเครียดหายไปในขณะที่จิตมันนิ่ง
แต่พอจิตไปรับรู้เรื่องราวต่างๆ หรือพอจิตมันขยับ มันก็ออกไปคิดนั่นคิดนี่ ไหลไปตามความคิด แล้วก็เครียดใหม่หงุดหงิดใหม่ บางทีหนักกว่าเดิมเพราะว่าติดสงบ พอทำสมาธิแล้วมันสงบ มันเป็นความสุข แล้วพอเคลิ้มคล้อยความสุขนั้น ในเวลาต่อมาพบว่าความสงบที่มันเหมือนน้ำชโลมใจ มันหายไปเสียแล้วเพราะไปรับรู้เรื่องอะไรต่างๆมากมายในที่ทำงาน ในบ้าน หรือว่าเพราะว่ามีความคิดเกิดขึ้น
ที่จริงแม้จะมีการรับรู้เรื่องอะไรต่างๆหลังจากออกจากสมาธิ มันก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเครียดหรือหงุดหงิดเสมอไป หรือแม้กระทั่งเมื่อถอนจิตออกจากลมหายใจแล้วมันมีความคิดเกิดขึ้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเครียด หงุดหงิดเสมอไป หากว่าเรามีความสามารถในการรู้ทันความคิด
เวลามีความคิดเกิดขึ้น แทนที่จิตจะไหลลอยไปตามความคิด หรือหลงเข้าไปตามความคิด มีสติรู้ทัน ใจก็ไม่ไหลเข้าไปในความคิด เรียกว่าปล่อยหรือวางความคิดลงด้วยซ้ำ มันก็สงบได้ มันก็คลายเครียดหรือหายจากความเครียดได้
แต่ว่าหลายคนหรือคนส่วนใหญ่ เวลาพูดถึงการคลายเครียดก็นึกถึงแต่ว่า การให้จิตมันแนบแน่นอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งที่เป็นกลางๆ เช่น ลมหายใจ เพื่อว่ามันจะไม่ไปคิดอะไร พอไม่คิดก็ไม่เครียด พอคิดก็ไม่หงุดหงิด แต่พอคิดเมื่อไหร่ หรือพอจิตออกมาจากลมหายใจ กลับไปทำงานทำการ รับรู้เรื่องต่างๆมากมาย ก็มาเครียดใหม่ หงุดหงิดใหม่
มันไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้นก็ได้ ถ้าหากว่าเราฝึกให้จิตมีความสามารถในการรู้ทันความคิดได้ไว ความสามารถในการรู้ทันความคิด มันเป็นงานของสติ ทีนี้นอกจากว่า แทนที่เราจะเน้นเรื่องการฝึกจิตให้หยุดคิด เพื่อมันจะได้นิ่ง เพื่อมันจะได้สงบ แทนที่เราจะหลับตา น้อมจิตอยู่กับลมหายใจเพื่อที่มันไม่ต้องไปรับรู้อะไรข้างนอก สิ่งที่ควรทำควบคู่กันไปด้วยเลยก็คือ การที่เราฝึก ให้จิตมีความสามารถในการรู้ได้ไว
รู้อะไร รู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น ฝึกจิตให้นิ่งได้ไว ถือว่าเป็นเรื่องดี เราก็ควรจะมีความสามารถในการทำสิ่งนี้ด้วย มันช่วยทำให้ผ่อนคลายจากความเครียด แต่ว่าเท่านั้นไม่พอ ฝึกจิตให้นิ่งแล้วเราต้องฝึกจิตให้มีความรู้ได้ไวด้วย นิ่งได้เร็วแต่ในขณะเดียวกันก็รู้ได้ไว
รู้ได้ไวคือ รู้ทันความคิดได้ไว รู้แล้วก็วาง ๆ อันนี้เป็นความสมดุลที่เราไม่ควรมองข้าม เคยพูดไปแล้วว่าเราต้องพึ่งพาอาศัยความสมดุลหลายอย่าง หรือควรพัฒนาให้เกิดความสมดุลหลายอย่าง เช่น ความสมดุลระหว่างกายกับใจ สมดุลระหว่างเหตุผลกับอารมณ์ สมดุลระหว่างศรัทธากับปัญญา
สมดุลระหว่างนิ่งกับรู้ ก็สำคัญ นิ่งได้ไว แต่ก็รู้ได้เร็ว แต่ว่าหลายคนไปคิดแต่ว่าการนิ่งเท่านั้นจะช่วยทำให้หายเครียดได้ แต่ที่จริงการรู้ได้ไวก็สำคัญ ช่วยทำให้ไม่หลงเข้าไปในความคิดจนกระทั่งเกิดความเครียดเกิดความหงุดหงิดขึ้นมา หรือแม้กระทั่งพอมีความเครียดเกิดขึ้น ความหงุดหงิดเกิดขึ้น ก็ยังไม่สายที่จะรู้ทันมัน หรือเห็นมัน
การเห็นหรือการรู้ทันความหงุดหงิดหรือความเครียด ก็สำคัญ ความเครียดมันเกิดขึ้น อันนั้นยังไม่ใช่ปัญหา ถ้าเรารู้ทันหรือเห็นมัน อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนบอกว่า เห็น อย่าเข้าไปเป็น
มีคราวหนึ่งหลวงพ่อสอบอารมณ์กับนักปฏิบัติคนหนึ่งที่มาอยู่ที่นี่ได้ 3-4 วันแล้ว ท่านถามว่า เป็นอย่างไร เธอก็ตอบว่าไม่ไหวเลยหลวงพ่อ วันนี้แย่จัง มันเครียด มันคิดมากเหลือเกิน หลวงพ่อได้ยินก็ท้วงว่ายังตอบไม่ถูกนะ ตอบใหม่ เธอก็คิดสักพักแล้วก็บอกว่า วันนี้หนูเห็นมันเครียด หลวงพ่อก็เลยบอกว่าอย่างนี้แหละดี นักปฏิบัติต้องดูอย่างนี้แหละ ดูอย่าเข้าไปเป็น
ความเครียดมันไม่ทำร้ายเรา ถ้าเราเห็นมัน เช่นเดียวกับความคิดหรืออารมณ์ต่างๆ ไม่ใช่ว่ามันจะเป็นอันตรายหรือเป็นภัยกับเราเมื่อมันเกิดขึ้น หลายคนเห็นว่าความคิดโดยเฉพาะความฟุ้งซ่านมันรบกวนเราจึงพยายามทุกวิถีทางที่ไม่ให้คิดจนฟุ้งซ่าน จนบังคับจิตไม่ให้คิด แต่ที่จริงแล้วเพียงแค่เรารู้ทันมันหรือเห็นมัน มันก็ไม่มีพิษไม่มีภัยหรือหมดพิษสง
ความเครียดก็เหมือนกัน แทนที่เราจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้เครียด รวมทั้งการทำให้ใจหยุดคิดจะได้ไม่เครียดไม่หงุดหงิด อันนั้นก็ดีอยู่ แต่ว่าที่ควรทำควบคู่กันไปด้วยคือ การฝึกสติให้รู้ทันความคิดและเห็นความคิด เพราะพอได้รู้ทัน เห็นมัน ความเครียดก็จะทำอะไรเราไม่ได้ เห็นความเครียดแต่ไม่เป็นผู้เครียด อันนี้สำคัญมาก
นอกเหนือจากวิธีอื่นที่พูดมา เช่น การยอมรับว่ามันเป็นธรรมดา หรือว่าเห็นว่ามันมีประโยชน์ มองแง่บวก รวมทั้งการฝึกจิตให้นิ่งแล้วนั้น แต่ที่สำคัญไม่น้อยคือ การที่มีสติรู้ทัน หรือเห็นมันได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเห็นความเครียดหรือว่ารู้ทันความคิดที่เป็นตัวการให้เกิดความเครียด ต้องฝึกตรงนี้บ่อยๆ หากรู้สึกว่าความเครียดมารุมเร้าจิตใจเรา
อย่างที่พูดว่าเจออะไรไม่สำคัญเท่ากับเจออย่างไร เจอความเครียดไม่สำคัญเท่ากับว่าเจอมันอย่างไร เจอมันด้วยอาการที่ยอมรับ หรือว่าเจอมันด้วยสติ ด้วยการรู้ทัน ด้วยการเห็น ไม่เข้าไปเป็น อันนี้สำคัญกว่า
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 14 กันยายน 2564