แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อวานได้พูดถึงการอยู่กับปัจจุบัน ว่าเป็นธรรมะที่ควรใส่ใจ เป็นหลักการ หรือเป็นศิลปะการดำเนินชีวิตที่มีความสำคัญ และก็ได้อธิบายความหมายหรือแจกแจงว่า การอยู่กับปัจจุบันหมายความว่าอย่างไร นั่นก็คือการที่ไม่ปล่อยใจไหลไปในอดีต ลอยไปในอนาคต
อนาคตอาจจะหมายถึงเป้าหมาย ผลสำเร็จที่จะไปให้ถึง หรือปัญหาที่คาดว่า หรือว่าวิตกว่าจะเกิดขึ้น เป็นปัญหาที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่ก็พะวงวิตกไปล่วงหน้าแล้ว
ส่วนอดีตก็อาจจะหมายถึง เหตุการณ์ดีๆที่ประทับใจ หรือเหตุการณ์แย่ๆที่ฝังใจก็ได้ อาจจะหมายถึงวันวานอันหวานชื่น หรือว่าวันคืนอันขมขื่น เพราะว่าถ้าไปจมอยู่กับเหตุการณ์ที่เป็นสิ่งปรุงแต่ง เกี่ยวกับอนาคตก็ดี หรือความทรงจำเกี่ยวกับอดีตก็ดี มันก็ทำให้ลืม ละเลย หรือมองข้ามสิ่งที่เป็นปัจจุบัน ซึ่งอาจจะหมายถึงงานการที่ควรจะทำ
อยู่กับปัจจุบัน ก็คือว่า ใจอยู่กับที่นี่ ตรงนี้ เดี๋ยวนี้ รวมทั้งสิ่งที่กำลังทำในขณะนี้ด้วย ปัจจุบันไม่ใช่หมายถึงเวลาหรือเหตุการณ์อย่างเดียว แต่ยังหมายถึงการกระทำที่กำลังทำอยู่ในขณะนั้น ซึ่งครอบคลุมไปถึงการทบทวนเรื่องราวในอดีตเพื่อมาปรับปรุงแก้ไข หรือว่าการตระเตรียมวางแผนสำหรับอนาคต
มันจะเป็นอนาคตหรืออดีตก็ตาม แต่ถ้าหากว่าเป็นกิจที่กำลังทำในขณะนี้ จะเป็นการครุ่นคิดหรือการสนทนา อภิปราย แสวงหาหนทาง ถ้าหากว่าเป็นการทำในปัจจุบัน ก็ถือว่าเป็นการอยู่กับปัจจุบัน ก็หมายความว่า ขณะที่กำลังทำสิ่งนั้น ก็มีใจจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น ไม่วอกแวก ถ้าวอกแวกไหลไปสู่อดีตหรือว่าพะวงกับอนาคต อันนี้ก็เรียกว่าออกจากปัจจุบันไปแล้ว ไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน
และการอยู่กับปัจจุบัน ยังหมายถึงว่า การทำสิ่งที่ควรทำด้วย ไม่ละเลยสิ่งที่ควรทำ หากว่ากำลังสนุกสนานเพลิดเพลินจนละเลยหน้าที่ หรือว่าสิ่งที่ควรทำ อันนี้เรียกว่าไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน ไม่ใช่ว่ากำลังสนุกสนานเต็มที่ ใจก็พุ่งอยู่กับความสนุกสนานเต็มร้อย ทั้งๆที่ไม่ใช่เวลา ทั้งๆที่มีงานที่จะต้องทำหรือควรจะทำ
อันนี้ไม่เฉพาะแต่งานการอาชีพอย่างเดียว ยังรวมถึงสิ่งที่ควรทำในการดำเนินชีวิต เช่น การให้เวลากับคนที่เราดูแลอยู่ ไม่ทอดทิ้ง รวมทั้งการทำประโยชน์ตนด้วย ประโยชน์ตนในที่นี้หมายถึงการทำคุณงามความดี การฝึกฝนพัฒนาตน แม้กระทั่งการพักผ่อน เพราะว่าการพักผ่อนก็ช่วยทำให้มีกำลังวังชาในการที่จะทำสิ่งดีงาม ทำประโยชน์เกื้อกูลต่อไป
ไม่ใช่เอาแต่เที่ยว เอาแต่สนุกสนาน และบอกว่าฉันอยู่กับปัจจุบัน จะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ขอสนุกเต็มที่ อันนี้ก็ไม่ใช่ การอยู่กับปัจจุบันยังรวมไปถึงอีกอันหนึ่งก็คือ การทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ถ้ารู้จักอยู่กับปัจจุบัน มันก็จะนำไปสู่การทำปัจจุบันให้ดีที่สุด
ซึ่งเริ่มตั้งแต่การที่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ แม้ว่ามันจะเป็นปัญหาความเจ็บป่วย ความสูญเสีย มันเกิดขึ้นแล้ว เราก็ยอมรับ แล้วก็หาทางรับมือกับมันให้ดีที่สุด ถ้าเจ็บป่วยก็หาทางรักษาตัว ไม่ใช่เอาแต่ตื่นตระหนกตกใจ หรือว่าปฏิเสธผลักไส ไม่ยอมรับ บ่นโวยวายตีโพยพาย คร่ำครวญ อันนั้นไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ และละเลยสิ่งที่ควรทำในปัจจุบัน
เพราะว่าเวลาปัจจุบันไม่ใช่เป็นเวลามาคร่ำครวญ แต่เป็นเวลาของการใคร่ครวญว่า มีปัญหาเกิดขึ้นแล้วจะแก้ไขอย่างไร จะทำอย่างนั้นได้ต้องยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นก่อน ไม่ใช่ปฏิเสธ ผลักไสไม่ยอมรับ การทำปัจจุบันให้ดีที่สุดคือ การที่เห็นคุณค่าของสิ่งดีๆที่มีอยู่ รวมทั้งใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์เต็มที่
ไม่มัวเอาแต่บ่นว่า ฉันยังไม่มีอันโน้นฉันยังไม่มีอันนี้ หรือว่ามัวเศร้าโศกเสียใจกับเหตุการณ์ในอดีต หรือกับสิ่งที่สูญเสียไป สิ่งดีๆที่มีอยู่กลับมองข้าม ไม่ใช้ให้เกิดประโยชน์ เพราะว่ามัวแต่เสียใจกับสิ่งที่สูญหายไป หรือมัวแต่คิดถึงสิ่งที่ยังไม่มี หรือยังไม่ได้มา
รวมไปถึงการที่โหยหา หรือว่าปักใจอยู่กับความสุขข้างหน้า หรือพยายามไปให้ถึงความสุขที่อยู่ข้างหน้า จนลืมความสุขที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ครอบครัวที่อบอุ่น สุขภาพที่ยังเป็นปกติ ความสุขง่ายๆเช่น การพักผ่อน แม้แต่ความสุขจากการใช้ทรัพย์
บางคนเอาแต่ทำงานเพื่อเอาแต่จะบรรลุถึงความสำเร็จที่รออยู่ข้างหน้า แต่ว่าละเลยครอบครัว ไม่มีเวลาพักผ่อน มีเงินก็ไม่ได้ใช้เพื่อเลี้ยงตัวให้มีประโยชน์ ให้มีความสุขหรือเลี้ยงครอบครัวให้มีความสุข ไม่มีเวลาพักผ่อนหย่อนใจ อย่างนี้เรียกว่าละเลยสิ่งดีๆที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ซึ่งผลสุดท้ายก็อาจจะเรียกว่าไม่ได้อะไรเลยทั้งสองอย่าง สิ่งที่วาดหวังข้างหน้าก็ไปไม่ถึงเพราะเจ็บป่วยเสียก่อน ส่วนความสุขที่มีอยู่เนื่องจากละทิ้งไป มันก็เลยสูญเปล่า เหมือนกับหมาคาบเนื้อที่มันเห็นเงาของตัวเองเมื่อมองจากสะพานลงมาที่แม่น้ำ
เห็นเนื้อในเงาก้อนใหญ่กว่า ก็อยากได้เนื้อชิ้นนั้น มันก็เลยคลายเนื้อที่คาบอยู่ ปรากฏว่าเนื้อที่คาบอยู่ก็สูญลงไปในน้ำ ส่วนเนื้อที่เป็นเงาในแม่น้ำก็เลือนหายไป สูญเสียทั้ง 2 อย่าง อันนี้เรียกว่าไม่รู้จักทำปัจจุบันให้ดีที่สุด
ยังมีอีกคำหนึ่ง ซึ่งก็เป็นหลักการ หรือว่าเป็นธรรมะที่ควรใส่ใจด้วยเช่นกัน ก็คือ การเป็นอยู่ในปัจจุบัน อยู่กับปัจจุบันแล้ว ก็นำไปสู่การรู้จักทำปัจจุบันให้ดีที่สุด และที่ละเอียดยิ่งกว่านั้นคือ การเป็นอยู่ในปัจจุบัน หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าการที่มีใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่กำลังทำ สิ่งที่กำลังรับรู้ หรือเกี่ยวข้องในขณะนั้นอย่างต่อเนื่อง
เช่น อาจจะกำลังฟังคำบรรยาย หรือว่าอาจกำลังดูสารคดี ใจก็ตามเรื่องราว เนื้อหาจากคำบรรยาย จากสารคดี หรือว่าจากสิ่งที่กำลังทำอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่คลาดเลย จะทำอย่างนี้ได้ก็ต้องมีสติที่ทำให้สามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งที่กำลังฟัง สิ่งที่กำลังรับรู้ได้อย่างต่อเนื่อง ทุกขณะๆ ไม่วอกแวก เผลอไผลไปนึกถึงเรื่องอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวในอดีต หรือเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
จะทำอย่างนั้นได้ มันก็ต้องอาศัยสติช่วยทำให้ตามทันในสิ่งที่รับรู้ ในสิ่งที่เกี่ยวข้อง ในสิ่งที่กำลังทำอยู่อย่างต่อเนื่อง ต้องใช้สติ ก็เหมือนกับฟังคำบรรยาย การบรรยายก็ไปเรื่อยๆ การเป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็คือมีสติรับรู้อยู่กับเนื้อหาการบรรยาย ประเภทที่เรียกว่าไม่หลง ไม่หลุด ไม่ลอย จะทำอย่างนั้นได้ต้องมีสติรู้ทันความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้น
เพราะในขณะที่หูกำลังฟังคำบรรยาย หรือตากำลังดูสารคดี หรือว่าอ่านหนังสือก็แล้วแต่ หรือขับรถดูทาง ถ้าหากว่าใจเผลอแวบไปโน่นแวบไปนี่ ตอนนั้นเรียกว่าไม่ได้อยู่กับปัจจุบันแล้ว อาจจะกำลังอยู่ในโลกแห่งอดีตหรือว่าหลุดไปอยู่กับโลกแห่งอนาคต ต้องมีสติในการรับรู้ รู้ทันความคิดและอารมณ์
เพราะไม่เช่นนั้น ก็ไม่สามารถที่จะตามทันสิ่งที่กำลังได้ยินด้วยหู หรือว่าสิ่งที่รับรู้ทางตา หรือว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ด้วยกาย จะเป็นการขับรถ การวิ่ง การล้างจาน หั่นผัก ถ้าเป็นอยู่ในปัจจุบัน มันจะมีความหมายละเอียดของการที่มีสติรู้ทันความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งช่วยทำให้ใจตามทันในสิ่งที่รับรู้ สิ่งที่เกี่ยวข้องในสิ่งที่กระทำอยู่ได้
ขณะที่มีสติรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นกับใจ ไม่ว่าจะเป็นความคิดและอารมณ์ มันเป็นการรับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า เราอาจจะเคยได้ยินหรือได้ฟังจนจำได้ เวลาสวดมนต์พิเศษจะมีบทหนึ่งที่มีพุทธภาษิตว่า เมื่อใดบุคคลเห็นธรรมในที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าอย่างแจ่มแจ้ง ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน เขาควรพอกพูนอาการเช่นนั้นไว้ การเป็นอยู่ในปัจจุบันคืออันนี้แหละ
เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าไม่ได้หมายถึง เฉพาะรูปรสกลิ่นเสียงที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า แต่ยังรวมถึงความคิดและอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น อันนี้ก็เป็นธรรมเหมือนกัน หรือเป็นสภาวะ บุคคลเห็นธรรมในที่เฉพาะหน้าอย่างแจ่มแจ้ง ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน เขาควรพอกพูนอาการเช่นนั้นไว้ การเป็นอยู่ในปัจจุบัน คือ การที่เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับกายและใจในแต่ละขณะๆ
เห็นแล้วก็วางๆ เพื่อที่จะได้ทำสิ่งที่กำลังทำอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง เรียกว่าไม่คลาดสายตา ฉะนั้นการเป็นอยู่ในปัจจุบัน จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน แต่ก็มีความสำคัญ และเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับการภาวนา
การที่จะเป็นอยู่ในปัจจุบันจนกระทั่งมีสติตามทันสิ่งต่างๆได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หลุดลอยไป มันจะต้องมีคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่ง คือ การที่เห็น รู้ทันความยินดียินร้ายที่เกิดขึ้น ความชอบความชังที่เกิดขึ้นในขณะที่รับรู้ ฟังคำบรรยาย หรือว่าอ่านหนังสือ ดูสารคดี บางทีไปไม่ได้ตลอด ตามไม่ต่อเนื่อง เพราะว่าไปสะดุดอยู่กับบางตอนบางช่วง
เพราะว่าพอมันยินดี ก็ถูกใจ หรือพอยินร้าย ก็ไม่ถูกใจ เพราะมีความชอบเพราะมีความชัง มันทำให้สะดุดเกิดความติดขัดขึ้นมา ถ้าชอบก็ติดใจ ภาษาไทยเรียกว่าติดใจ ติดใจแปลว่าชอบ ถ้าไม่ชอบก็ขัดใจ มันเกิดการติดขัดขึ้นมา ไม่ว่าชอบหรือชังก็ตาม มันก็ทำให้ไม่สามารถที่จะตามทันสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้หรือสิ่งที่กำลังทำอยู่ในขณะนั้นๆได้
ต่อเมื่อหลุดจากความชอบความชัง ความยินดียินร้าย หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า รู้เท่าทันความยินดียินร้าย ความชอบความชัง แล้วก็ไปต่อได้ ฟังคำบรรยายอาจจะสะดุดบางตอน แต่พอรู้ทันว่าเราสะดุดเพราะว่าติคใจก็ดี หรือขัดใจก็ดี ก็หลุดจากความติดใจความขัดใจนั้น อันนี้ก็ทำให้เกิดการตามทันกับสิ่งที่เป็นปัจจุบัน แต่ถ้าไปสะดุด ไปติดใจ หรือขัดใจ ก็เรียกว่าไม่ได้อยู่กับปัจจุบันแล้ว มันไปอยู่กับอดีต
เพราะฉะนั้นการที่เราจะหลุดจากความยินดียินร้าย ความชอบความชัง ความติดใจหรือขัดใจได้ มันก็หมายความว่า ต้องรู้จักทำจิตให้เป็นกลางๆ การวางใจเป็นกลางตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยทำให้เราเป็นอยู่ในปัจจุบันได้
วางใจเป็นกลางต่ออะไร วางใจเป็นกลางต่อสิ่งที่มากระทบ ไม่ว่าจะเป็นรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส หรือว่าสิ่งต้องกาย แต่จะวางใจต่อสิ่งเหล่านี้ได้ ไม่ว่ารูปรสกลิ่นเสียงหรือว่าสัมผัสที่ต้องกาย มันก็หมายความว่า ต้องรู้จักเป็นกลางต่ออารมณ์ภายในที่เกิดขึ้น ความยินดีความยินร้าย
หรือพูดอีกอย่างหนึ่ง คือ รู้จักรู้ทัน รู้ทันความคิดหรืออารมณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ตากระทบรูปเกิดความพอใจ ก็เห็นมัน เสียงกระทบหูเกิดความไม่พอใจ ก็เห็นมันหรือรู้ทันมัน มันจะมีความพอใจ มีความไม่พอใจ มีความขุ่นมัว ก็เห็นมัน รู้ทันมัน
และก็ต้องเป็นการรู้แบบรู้ซื่อๆ เพราะถ้ารู้ซื่อๆ มันก็จะวางความคิดและอารมณ์เหล่านั้นลงได้ เห็นความหงุดหงิดเกิดขึ้น รู้ทัน แล้วก็รู้ซื่อๆ ไม่ผลักไส ไม่กดข่ม มันก็จะหลุดจากความหงุดหงิด ขุ่นมัวได้ มีความยินดีเกิดขึ้น มีความพอใจเกิดขึ้น รู้ทัน มัน มันก็หลุดถ้าเป็นการรู้ซื่อๆ มันก็จะดับไปเอง
คำว่ารู้ซื่อๆ ความหมายคือ การที่วางใจเป็นกลางต่อความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ มันไม่ใช่แค่รู้ทันเฉยๆ แต่เป็นกลางคือ ไม่ผลักไส แล้วก็ไม่ไหลตาม พอไม่ผลักไสและไม่ไหลตาม ก็ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นกลางต่อสิ่งที่มากระทบได้ แล้วพอใจเป็นกลางต่อสิ่งที่มากระทบ มันก็ทำให้การเป็นอยู่ในปัจจุบันเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง
มันไม่ใช่แค่เป็นกลางต่อรูปรสกลิ่นเสียงที่มากระทบ หรือเป็นกลางต่อความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้น ยังรวมถึงเป็นกลางต่อเวทนาที่เกิดขึ้นด้วย โดยเฉพาะเวทนาทางกาย และเวทนาที่ใจซึ่งเราเป็นกลางได้ยากมันก็คือทุกขเวทนา ความเจ็บความปวด เพราะว่าพอมันเจ็บมันปวดขึ้นมา ใจก็จะไปยึดติด ในขณะเดียวกัน มันก็อยากจะผลักไสออกไป แต่ยิ่งผลักไสก็ยิ่งยึดติด ยิ่งทำให้ติดขัดทำให้เกิดความทุกข์
การที่จะเป็นกลางต่อสิ่งต่างๆก็เลยเกิดขึ้นได้ยาก และเมื่อไม่เป็นกลางต่อสิ่งต่างๆ การที่จะเป็นอยู่ในปัจจุบัน มันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น การเป็นกลาง ใจเป็นกลาง สำคัญมากสำหรับการที่เราจะเป็นอยู่ในปัจจุบันได้อย่างต่อเนื่อง
และการที่จะเป็นกลางต่อรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสต้องกาย มันต้องเริ่มจากการที่เรารู้ทันความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อมีการกระทบ และเป็นการรู้ทันที่รู้แบบรู้ซื่อๆก็คือ การที่ใจเป็นกลางต่อความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้น มีความโกรธ มีความขุ่นมัว มีความหงุดหงิด มีความพอใจ ก็ดูมันเฉยๆ เห็นมันเฉยๆจนกระทั่งมันดับไป
คำว่า การวางใจเป็นกลาง มันจะเกิดขึ้นได้จากการภาวนา เกิดจากการเจริญสติ จึงจะช่วยทำให้เราสามารถที่จะเป็นอยู่ในปัจจุบันได้
ใจเป็นกลาง ยังมีอีกคำหนึ่งที่มันคล้ายๆกัน ใจอยู่ตรงกลาง หมายความว่าอย่างไร ถ้าเล่าเรื่องราวของหลวงพ่อคำเขียน จะทำให้เห็นภาพเข้าใจชัดเจนขึ้น ตอนที่หลวงพ่อคำเขียนปฏิบัติใหม่ๆกับหลวงพ่อเทียน
มีวันหนึ่งท่าน ปฏิบัติอยู่ในกุฏิ ท่านชอบความสงบ ก็เลยปิดประตูหน้าต่าง หลวงพ่อเทียนมาหาเห็นประตูหน้าต่างปิด ก็เลยถามว่าอยู่ไหม? หลวงพ่อคำเขียนก็ตอบว่าอยู่ครับ ทำอะไร? กำลังสร้างจังหวะครับ อยู่ตรงนั้นเห็นข้างนอกเห็นข้างในไหม? ไม่เห็นครับ เห็นแต่ข้างในครับ ข้างนอกไม่เห็นครับ แล้วทำอย่างไรถึงจะเห็นทั้งข้างนอกข้างใน? หลวงพ่อคำเขียนก็เลยไปเปิดประตู
ตอนนี้เห็นข้างนอกเห็นข้างในหรือยัง? เห็นครับทั้งข้างนอกข้างใน เออ ทำอย่างนั้นแหล่ะ เห็นทั้งข้างนอกและข้างใน อย่าเห็นแต่ข้างนอกหรือเห็นแต่ข้างใน ให้มันอยู่ตรงกลางๆเอาไว้ แล้วท่านก็เดินจากไป
ทีแรกหลวงพ่อคำเขียนก็ไม่เข้าใจว่าหลวงพ่อเทียนหมายความว่าอย่างไร ตอนหลังจึงเข้าใจว่าหลวงพ่อเทียนต้องการสอนว่า เวลาข้างนอกมีอะไรมากระทบ อย่าส่งจิตออกไปข้างนอก แต่ในขณะเดียวกันก็อย่าเพ่งจิตเข้าข้างใน หรือว่าอย่าไปเพ่งที่มือที่เท้า หรือว่าอย่าไปบังคับจิตให้มันอยู่นิ่งๆ อะไรเกิดขึ้นข้างนอกก็รู้ แต่ก็ไม่ส่งจิตออกไปจนลืมเนื้อลืมตัว
ท่านก็ได้หลัก ให้ดูตรงกลางๆ หรือให้ใจอยู่ตรงกลางๆ เห็นทั้งข้างนอกแล้วก็ข้างใน เห็นข้างนอกแต่ว่าใจไม่ส่งไปข้างนอก ให้สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่ารับรู้ ในขณะเดียวกันเห็นข้างใน ใจก็ไม่ได้เพ่ง มันพร้อมที่จะออกไปรับรู้ข้างนอก แต่ก็รู้โดยที่ไม่หลุดลอยออกไปจนลืมเนื้อลืมตัว
การที่วางใจอยู่ตรงกลาง หรือว่าดูตรงกลางๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยทำให้การวางใจเป็นกลางเกิดขึ้นได้ และเมื่อเรารู้จักวางใจเป็นกลางต่อสิ่งต่างๆที่มากระทบ ทั้งจากภายนอกและที่เกิดขึ้นภายใน การที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มันก็เกิดขึ้นได้
สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าอย่างแจ่มแจ้ง ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน เขาควรพอกพูนอาการเช่นนั้นไว้ ก็จะเกิดขึ้นได้ เห็นธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าอย่างแจ่มแจ้งโดยไม่ผลักไสไม่ไหลตาม ไม่มีอาการยินดียินร้าย ในที่สุดก็จะเห็นสิ่งต่างๆตามที่เป็นจริง เห็นมันตามสภาวะที่เป็นจริง ก็ทำให้เกิดปัญญา
หลวงพ่อเทียนแสดงให้เห็นถึงลักษณะของมัน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งก็ช่วยทำให้การที่จะเป็นอิสระจากสิ่งที่มากระทบ รวมทั้งเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ไม่ว่าภายนอกหรือภายใน มันไม่มาทำให้ใจเป็นทุกข์ได้ ใจก็ยังเป็นปกติ มั่นคง ไม่หวั่นไหว ก็สามารถจะเป็นอยู่ในปัจจุบันได้อย่างต่อเนื่อง
และการเป็นอยู่ในปัจจุบัน มันก็ทำให้ได้เห็นธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้อย่างแจ่มแจ้ง ทำให้เห็นธรรมได้ลึกซึ้งมากขึ้น
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 13 กันยายน 2564