แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้จนถึงมะรืนนี้ อาศรมวิริยะธรรมจัดงานปฏิบัติบูชา เพื่อระลึกถึงหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ ซึ่งจะมรณภาพครบ 33 ปี ในวันที่ 13 กันยายน ถ้าหากหลวงพ่อเทียนยังมีชีวิต จนถึงวันนี้ท่านก็จะมีอายุครบ 110 ปี
อาตมานับว่าเป็นผู้ที่มีโชคคนหนึ่ง ที่ได้ปฏิบัติธรรมได้เรียนธรรมจากหลวงพ่อเทียน เรียกว่าท่านเป็นอาจารย์กรรมฐานคนแรกก็ว่าได้ เพราะว่าก่อนหน้านั้นก็ไม่ได้ปฏิบัติกรรมฐานจริงจังเท่าไร แล้วก็ไม่ได้มีครูบาอาจารย์เป็นหลักท่านใด ก็ได้หลวงพ่อเทียนเป็นอาจารย์กรรมฐานคนแรก ซึ่งจะว่าไปแล้วเป็นความบังเอิญ
เนื่องจากตอนที่อาจารย์บวชแล้วก็ตั้งใจว่า จะเรียนกรรมฐานจากหลวงพ่อคำเขียน ตั้งใจว่าขึ้นมาที่วัดป่าสุคะโต แต่ว่าช่วงนั้นเป็นช่วงหน้าร้อนเดือนมีนาคม หลวงพ่อคำเขียนมีกิจนิมนต์แสดงธรรมในหลายที่ ไม่ค่อยได้อยู่วัด ถ้าอาตมาขึ้นมาที่วัดป่าสุคะโตก็จะไม่มีใครดูแล สอน ท่านก็เลยแนะนำให้มาอยู่ที่วัดสนามใน ส่วนครูบาอาจารย์นั้นท่านฝากอาตมาไว้กับหลวงพ่อเทียนช่วยสอนกรรมฐานให้
จึงได้หลวงพ่อเทียนเป็นอาจารย์กรรมฐานท่านแรก จำได้วันที่หลวงพ่อเทียนมาให้กรรมฐาน ท่านพูดไม่มาก ประโยคหนึ่งที่จำได้ถึงทุกวันนี้คือ คำแนะนำของท่านว่า ทำเล่นๆ แต่ทำจริงๆ ประโยคนี้ตอนนั้นก็ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ แล้วก็ไม่ค่อยสนใจด้วย จะให้ความสำคัญก็ข้อความหลัง คือ ทำจริงๆ
แล้วถามท่านว่า จะต้องปฏิบัติวันหนึ่งกี่ชั่วโมง ตั้งแต่กี่โมงถึงกี่โมง ตอนนั้นก็คิดแบบฆราวาสว่า ปฏิบัติธรรมก็เหมือนกับการทำงานในหน่วยงานหรือออฟฟิศหรือในหน่วยงานราชการก็คือ 9:00 น ถึง 16:00 น หรือ 17:00 น คิดว่าการปฏิบัติธรรมก็ประมาณนี้แหละ แต่เปล่าเลย หลวงพ่อเทียนบอกว่าให้ทำทั้งวันตั้งแต่ตื่นเลยจนถึงเข้านอน
ก็รู้สึกหนักใจ เพราะว่าเป็นคนที่พื้นเพนิสัย เป็นคนที่ไม่ค่อยอยู่นิ่งเท่าไหร่ แล้วก็ถนัดการคิด ถ้าจะให้ภาวนาทำใจสงบ สงบชั่วโมง 2 ชั่วโมงก็เป็นเรื่องยากแล้ว คือรู้สึกกระสับกระส่าย อยู่เฉยไม่ได้ ท่านให้ทำตั้งแต่ตื่นนอนเลย แต่ก็ลองทำดู ก็พบว่าทำได้ คล้ายว่า จิตใจค่อยๆปรับเข้ากับบรรยากาศ แต่แน่นอนว่าต้องการมีการฝืน ฝืนใจที่จะทำให้ตัวเองอยู่กับที่
แล้วก็ภาวนา ไม่ว่าจะเป็นการเดินจงกรมหรือสร้างจังหวะ ตอนนั้นก็ตั้งใจเลยว่า ต้องทำเต็มที่เลย เพราะมีความเข้าใจเป็นพื้นฐานว่า การปฏิบัติธรรมต้องเอาจริงเอาจัง ต้องเคี่ยวเข็ญตนเอง ต่อสู้กับกิเลส ต่อสู้กับความง่วงเหงาหาวนอน และต่อสู้กับความฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้น มีการเคี่ยวเข็ญตัวเองมากโดยเฉพาะที่หลวงพ่อเทียนพูดว่าให้ทำจริงๆ
แล้วพอทำไปๆก็มีความตั้งใจมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งจะไม่ยอมให้จิตมันฟุ้งเลย จะพยายามตะปบความคิดทุกความคิดที่โผล่ขึ้นมาโดยที่ยังไม่ได้ตั้งใจ ที่หลวงพ่อคำเขียนเรียกว่าลักคิด พยายามจะเอาชนะความคิดฟุ้งซ่านให้ได้ เหมือนกับที่เคยเอาชนะความขี้เกียจ หรือว่าเคยชนะความง่วงตอนสมัยที่เป็นฆราวาส แต่ปรากฏว่ายิ่งทำก็ยิ่งเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงกับเสียศูนย์เลยก็ว่าได้
เพราะว่าตอนหลัง มันปวดเท้า ปวดแขน ปวดขา หัวก็ปวด จนกระทั่งยกมือสร้างจังหวะ ก็ยกไม่ได้ ยกขึ้นมาก็ปรี๊ดขึ้นมาในหัว ตอนนั้นไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร ตอนหลังจึงเข้าใจว่าเป็นเพราะเราทำผิด แล้วก็เริ่มเข้าใจว่าที่หลวงพ่อเทียนให้ทำเล่นๆคืออะไร ทำเล่นๆตอนนั้นไม่เข้าใจ แล้วก็ไม่สนใจ ก็เลยกลายเป็นว่าวางใจผิด
ทำเล่นๆที่หลวงพ่อเทียนพูด นั้นหมายความว่า อย่าไปคาดหวังผลของการปฏิบัติ อย่าไปคาดหวังว่ามันจะต้องสงบ ไม่มีความคิด หรือมีความคิดน้อย ทำเล่นๆก็หมายความว่า มันจะรู้บ้าง ฟุ้งบ้างก็ได้ อย่างที่หลวงพ่อเทียนตอนหลังก็พูดว่า รู้ก็ได้ ไม่รู้ก็ได้
แต่ตอนนั้นตั้งใจว่าจะรู้ให้ได้ คือรู้ทันความคิด แล้วมันจะไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อความคิดที่มันฟุ้งซ่านเลย มันมีความคิดหลายอย่างที่มันชอบผุดขึ้นมา ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็จะไม่ยอมให้มันโผล่ขึ้นมาซ้ำ 2 หรือว่าซ้ำ 3 แต่ถ้าหากว่าเข้าใจที่หลวงพ่อเทียนว่าทำเล่นๆ การปฏิบัติหรือการเจริญสติอย่างที่ท่านสอนก็กลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นมาเลย รู้ก็ได้ไม่รู้ก็ได้
และทำเล่นๆยังมีความหมายว่า อย่าไปบังคับจิต อย่าไปควบคุมจิตคืออย่าไปควบคุมไม่ให้มันคิด รวมทั้งอย่าไปพยายามดักจ้องความคิด เวลาตั้งใจทำแล้วเอาชนะความคิด ถ้าความคิดไม่ออกมา จะคอยดักจ้องว่าเมื่อไหร่มันจะออกมา ถ้ามันออกมาเมื่อไหร่ก็จะไปตะปบมัน ไปห้ามมัน ตอนนั้นไม่เข้าใจว่าทำเล่นๆคือว่า ไม่ต้องห้ามความคิดด้วยเลยซ้ำ แล้วก็ไม่ต้องไปดักจ้องว่ามันจะโผล่มาเมื่อไหร่
แล้วพอเข้าใจผิด มันก็จะพยายามทุกวิธี บังคับจิตไม่ให้คิด หรือว่าเจอความคิดก็ไปห้ามมัน ไปตะปบมัน ไปกดข่มมัน รวมทั้งพยายามที่จะเอาจิตไปเพ่ง เพ่งที่เท้า ที่มือ เพื่อที่จะได้ไม่เผลอคิด ซึ่งการทำอย่างนั้นมันทำให้เครียดหนัก แล้วบางครั้งก็ทำให้ความคิดเรียกว่าไหลหลั่งพรั่งพรูเลย
ทีแรกความคิดมันสงบเพราะว่ามันหลบใน มันเห็นเราดักจ้องมาก มันก็หลบ แต่พอเราเผลอเมื่อไหร่มันก็โผล่มาเลย แล้วโผล่มามากๆ ตอนที่เราง่วงหรือใกล้จะหลับ บางทีนอนหลับไม่ได้มันพรั่งพรูออกมา กว่าจะรู้ว่าทำผิด ก็เรียกว่าหลงทางไปนาน
ตอนหลังรู้เลยว่า ทำเล่นๆ มันก็คือทำเล่นๆจริงๆ ไม่มีการบังคับจิต มันเป็นการให้อิสระกับจิตในการที่จะคิดก็ได้ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นเรื่องแปลก ในด้านหนึ่งหลวงพ่อเทียนก็บอกว่า ความคิด มันทำให้เราเป็นทุกข์ คนเราเป็นทุกข์เพราะความคิด แม้ว่ากายจะสะดวกสบายแต่ว่าใจก็เป็นทุกข์ คิดถึงเรื่องราวในอดีต หรือไม่ก็ไปคิดถึงปัญหาที่ยังไม่เกิดขึ้นในอนาคต
คนเราทุกข์เพราะความคิด อันนี้ท่านย้ำมากเลย แต่ในอีกด้านหนึ่ง ท่านก็บอกว่า อย่าห้ามคิด ให้มันคิดเลย ยิ่งกว่านั้น ยังพูดถึงว่า มันยิ่งคิด ยิ่งรู้ กลายเป็นว่ายิ่งคิดก็ยิ่งดี เพราะว่ายิ่งทำให้รู้ทันได้มากขึ้น คำว่ารู้คือรู้ทัน รู้ทันความคิด
อันนี้ดูเผินๆ มันขัดแย้งกันเอง ในด้านหนึ่งบอกว่าความคิดเป็นโทษมันทำให้เราทุกข์ แต่ในอีกด้านหนึ่งบอกว่าอย่าไปห้ามคิด หรือห้ามความคิด มิหนำซ้ำยังบอกว่าให้มันคิดไปเลย เพราะว่ายิ่งคิดก็ยิ่งรู้ ท่านยกตัวอย่างว่า เดิมคิด 100 เรื่อง แต่ว่ารู้แค่ 10 เรื่อง แต่ถ้าทำไปเรื่อยๆ คิด 100 เรื่อง มันก็จะรู้เพิ่มขึ้น 20 เรื่อง คือ รู้ทันความคิด 20 เรื่อง แล้วพอทำไปเรื่อยๆก็จะรู้ทันความคิดมากขึ้น 30 เรื่อง 40 เรื่อง จนกระทั่ง 90 เรื่อง
หรือว่าในที่สุด คิดร้อยเรื่องก็รู้ร้อยเรื่องเลย เพราะอะไร เพราะว่า ยิ่งคิดก็ยิ่งรู้ ซึ่งตรงนี้มันก็อาจจะสวนทางกับความเข้าใจของนักปฏิบัติมือใหม่ โดยเฉพาะคนที่ปฏิบัติจากวิธีการอื่นหรือสายอื่นมาก่อน เพราะว่าส่วนใหญ่เราเข้าใจว่าการปฏิบัติต้องอาศัยการกดข่ม เราถูกสอนให้รู้จักข่มอารมณ์ ข่มความโกรธ หรือว่าอดกลั้นต่อความอยาก เราถูกสอนให้บังคับจิต ควบคุมอารมณ์ กดข่มอารมณ์
แต่พอมาปฏิบัติ เจริญสติแบบหลวงพ่อเทียน ท่านบอกไม่ต้องทำอย่างนั้นเลย พูดง่ายๆคือว่าท่านบอกให้อิสระกับจิต แม้ว่าเวลาเดินจงกรม สร้างจังหวะ ให้ใจอยู่กับเนื้อกับตัว มันจะได้รู้สึกว่า เวลามือเคลื่อนไหวเวลาตัวขยับ แต่ไม่ต้องไปบังคับให้มันอยู่กับเนื้อกับตัวไปตลอด ไม่ต้องเพ่ง ให้อิสระกับมันว่า มันจะอยู่หรือจะไปก็ได้ มันจะอยู่กับกาย หรือมันจะออกไป ไหลไปตามความคิดก็ได้ ให้อิสระกับมัน
พูดง่ายๆก็คือว่า ให้อิสระกับมัน ที่มันจะฟุ้ง ให้อิสระที่มันจะคิด แต่ข้อสำคัญก็คือว่า มันคิดก็อย่าไปคิดกับมัน อย่าไปช่วยมันคิด อันนี้มันเป็นวิธีที่นักปฏิบัติบางทีก็คาดไม่ถึง มันง่ายอย่างนี้เชียวหรือ ไม่ต้องไปควบคุมความคิด แต่ให้อิสระกับมัน มันจะคิดก็ได้ ไม่คิดก็ได้ แต่ถ้ามันคิดก็ดีเหมือนกัน เพราะว่าอย่างที่ท่านบอกว่า ยิ่งคิดมันก็ยิ่งรู้มากขึ้น เพราะว่าความคิดเป็นเหมือนการบ้าน ให้สติได้ทำงาน
เด็กก็ต้องทำการบ้าน ถึงจะฉลาด นักมวยก็ต้องมีคู่ซ้อมถึงจะเก่ง คู่ซ้อมที่จะทำให้สติเข้มแข็ง ปราดเปรียวคืออะไร ก็คือความคิดฟุ้งซ่าน รวมถึงอารมณ์ที่เกิดขึ้นตามมา
นอกจากให้อิสระกับจิตที่มันจะคิด และอิสระกับใจที่มันจะฟุ้ง หรือว่ากลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว วิธีการของท่านก็ยังเน้นเรื่องการเปิดโอกาสให้สติได้ทำงานด้วย คือเมื่อจิตมันฟุ้ง ก็ให้สติได้ทำงาน เราไม่ต้องไปแย่งงานสติทำ นักปฏิบัติหลายคนจะพยายามไปแย่งงานของสติทำ คือพอมันฟุ้งมากๆทนไม่ไหว ต้องไปห้ามความคิด ต้องไปกดข่มความคิด
แต่การปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียน นอกจากให้อิสระกับใจในการที่จะคิด หลง หรือว่ารู้แล้ว มันยังเป็นการเปิดโอกาสให้สติทำงาน ตรงนี้เป็นเรื่องยากสำหรับหลายคน เพราะรู้สึกว่าสติทำงานช้า หลายคนจะรู้สึกว่ามันฟุ้งเยอะเหลือเกิน มันคิดมากเหลือเกิน ทำไมรู้ทันช้าแบบนี้ มันคิดไป 10 เรื่องถึงรู้ แล้วก็ไปรู้เรื่องตอนท้ายๆ
หลายคนจะรู้สึกรำคาญและรู้สึกหงุดหงิดว่า มันรู้ทันช้าเหลือเกิน ทนไม่ได้ ก็เลยพยายามไปกดข่มความคิด ไปบังคับจิตไม่ให้คิด แต่นั่นเป็นวิธีการที่ไม่ทำให้สติได้เติบโต ถ้าต้องการให้สติต้องให้โอกาสให้สติได้ทำงาน ไม่ต้องไปแย่งงานสติทำ ก็คือทำไป เดินจงกรมไป สร้างจังหวะไป ใจมันคิดไป ประเดี๋ยวสติก็รู้ทันขึ้นมา ใหม่ๆมันก็รู้ทันช้า แต่อย่าใจร้อน
นักปฏิบัติจำนวนมากใจร้อน ความคิดมันเยอะเหลือเกิน หรือว่ามันรู้ทันช้าเหลือเกิน ก็ไปพยายามแทรกแซง แต่ถ้าเราเปิดโอกาสให้สติได้ทำงานเต็มที่ สติจะทำงานได้ไวขึ้น รู้ทันความคิดได้เร็วขึ้น ไม่ใช่รู้ทันอย่างเดียว รู้ทางความคิดด้วย
เปรียบไปเหมือนกับการทดลอง เอาหนูปล่อยเข้าไปห้องเล็กๆ อีกมุมหนึ่งของห้อง เอาเนยซ่อนเอาไว้หรือซุกเอาไว้ หรือแค่วางเอาไว้ แต่เส้นทางที่จะไปสู่เนยนั้น เป็นเส้นทางที่คดเคี้ยว เหมือนเขาวงกต ทางคดเคี้ยวก็มี ทางตันก็มี ทางอ้อมก็มี
หนูทีแรกกว่าจะหาเนยหรือหาอาหารเจอ มันใช้เวลานาน แต่พอปล่อยให้มันหาอาหารบ่อยขึ้นๆ ยิ่งให้มันทำงานหรือให้มันเข้าไปหาอาหารได้บ่อยมากเท่าไหร่ มันก็จะหาได้ไวขึ้นๆ มันจะรู้เส้นทาง แล้วมันก็จะรู้ทัน
ให้เวลากับมัน ได้ทำบ่อยๆ มันก็จะหาเนยเจอได้ไวขึ้น ขนาดหนูหรือสัตว์เดรัจฉานยังหาเนยหาอาหารได้ไว แล้วนับประสาอะไรกับสติ ซึ่งสติฉลาดกว่าหนูเยอะเลย ให้โอกาสกับสติได้ทำงาน ในการฝึกรู้ทันความคิด ทำเรื่อยๆๆ สติก็จะรู้ทันความคิดได้ไว ที่ผ่านมาเราไม่ค่อยเปิดโอกาสให้สติได้ทำงาน เพราะว่าเราทำโน่นทำนี่ ใช้ความคิดอยู่ตลอดเวลา
ครั้นพอเรามาปฏิบัติแล้ว หลายคนก็ไม่ยอมเปิดโอกาสให้สติทำงานเต็มที่ ไปแย่งงานสติทำ สติก็เลยไม่โต แต่ถ้าเราเชื่อใจ วางใจสติ ให้สติได้ทำงาน ทำไปๆ สติก็จะรู้ทันความคิดได้ไวขึ้น แล้วก็รู้ได้มากขึ้น อย่างที่หลวงพ่อเทียนบอกว่า ทีแรกคิด 100 เรื่อง มันรู้สัก 10 เรื่อง แต่ตอนหลังคิด 100 เรื่องก็รู้ก็ 99 เรื่องหรือว่า 100 เรื่องเรียกว่าทันกันเลย
สติ นอกจากทำหน้าที่รู้ทันความคิดแล้ว มันยังมีหน้าที่อีกอย่างหนึ่ง คือ ช่วยให้เราระลึกรู้ในสิ่งที่เป็นปัจจุบัน ในสิ่งที่กำลังทำอยู่ การระลึกรู้ในปัจจุบัน มันเป็นการระลึกรู้แบบนึกขึ้นมาได้เอง การที่สติจะนึกขึ้นมาได้เอง มันเกิดจากประสบการณ์ มันเกิดจากการที่ได้ฝึกทำงานบ่อยๆ การระลึกนึกขึ้นมาได้ บางอย่างมันต้องอาศัยเจตนาหรือความตั้งใจ
เช่น เช้านี้เรากินข้าวกับอะไร เราเจอใครบ้าง แบบนี้มันต้องเจตนานึก ถึงจะจำได้ว่ากินข้าวกับอะไร หรือว่าไปเจอใครมาบ้าง แต่มันจะมีการระลึกบางอย่างที่ระลึกขึ้นมาเอง นึกขึ้นมาได้เอง เช่น กำลังทำงานอยู่ดีๆก็นึกขึ้นมาได้ว่ามีนัดกับเพื่อน นี่เลยเวลาไปแล้ว 15 นาที หรือนึกขึ้นมาได้ว่า 10 นาทีจะได้เวลาทำวัตร อันนี้ไม่ได้เกิดจากเจตนา แต่มันนึกขึ้นมาได้เอง นึกขึ้นมาได้ว่าตั้งน้ำอยู่เมื่อชั่วโมงที่แล้ว ป่านนี้น้ำแห้งแล้ว
การนึกขึ้นมาได้อย่างนี้ มันไม่ได้เกิดจากเจตนา แต่มันนึกขึ้นมาได้เอง สติที่เกิดขึ้นในระหว่างปฏิบัติ ระหว่างการเดินจงกรม ระหว่างการสร้างจังหวะ แล้วมีช่วงหนึ่งที่ใจมันลอย ลืมไปเลยว่ากำลังเดินจงกรม กำลังสร้างจังหวะ หรือสวดมนต์อยู่ เพราะใจไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ แต่จู่ๆมันนึกขึ้นมาได้ว่า กำลังทำอะไรอยู่ กำลังเดินจงกรมอยู่ กำลังสร้างจังหวะ กำลังสวดมนต์อยู่
หรือว่ากินข้าว กินข้าวใจลอย เสร็จแล้วก็นึกขึ้นมาได้ว่ากำลังกินข้าวอยู่ การระลึกขึ้นมาได้อย่างนี้คือสติ เป็นสติที่เรียกว่าสัมมาสติ มันไม่ได้เป็นการระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีต แต่เป็นการระลึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ในปัจจุบัน และที่สำคัญ มันนึกขึ้นมาได้เอง การที่นึกขึ้นมาได้เอง เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถที่จะไปบังคับควบคุมมันได้
นักปฏิบัติพยายามควบคุมบังคับเพื่อให้มีสติระลึกขึ้นมาได้ แต่ว่ายิ่งทำ มันก็ยิ่งหลง สติจะระลึกขี้นมาได้เองมันเกิดจากการที่ให้โอกาสสติได้ทำงานอยู่เรื่อยๆบ่อยๆ ระหว่างที่เดินจงกรม สร้างจังหวะ ก็ให้สติได้ทำงาน ในอีกด้านหนึ่งก็ให้อิสระกับจิตที่จะคิด ให้อิสระกับจิตที่มันจะฟุ้ง
แต่ในเวลาเดียวกัน ไว้วางใจสติว่าเมื่อใจมันฟุ้งใจมันลอย เดี๋ยวสติจะรู้ทันเอง ไม่ได้เกิดจากเจตนา รวมทั้งมันจะระลึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ในปัจจุบันได้เอง ไม่ได้เกิดจากเจตนา หรือเกิดจากการพยายามไปบังคับ อันนี้มันต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจสติ ว่าเขาจะทำงานได้เอง เราเพียงแต่ให้โอกาสกับเขาได้ทำงานอยู่เรื่อยๆ ไม่ต้องไปแย่งเขาทำ แล้วไม่ต้องไปบังคับจิต
ตรงนี้เป็นสิ่งที่นักปฏิบัติหลายคนทำใจได้ยาก เพราะว่าต้องการควบคุม ต้องการบงการ บงการควบคุมทั้งจิต และก็ควบคุมบงการทั้งสติ แต่ว่าถ้าทำเล่นๆ ทำแบบไม่ได้ตั้งใจ หรือว่าพยายามไปควบคุมบงการมากแต่ว่าเปิดโอกาสให้สติทำงานได้เต็มที่ สติจะเติบโตได้เร็ว อย่างที่หลวงพ่อเทียนแนะนำว่าให้ทำเล่นๆ อันนี้มันสำคัญมากเลย
ทำเล่นๆแต่ว่าทำจริงๆ ทำจริงๆก็คือว่า ทำทั้งวัน ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน แต่ไม่ใช่ทำในรูปแบบอย่างเดียว ถ้าทำในรูปแบบมันก็จะทำไม่ไหว ที่ท่านพูดหมายความว่า แม้จะอยู่ในอิริยาบถอื่น กินข้าวอาบน้ำถูฟันก็ให้เจริญสติ ให้ทำความรู้สึกตัว แล้วก็ไม่ต้องไปบังคับ ถ้าไปบังคับจิต มันไม่มีทางทำได้ทั้งวัน หรือว่าทำได้ทั้งวัน ไม่กี่วันก็หมดสภาพ แล้วเหนื่อยล้า เครียด เสียศูนย์
แต่ถ้าทำเล่นๆ มันทำได้ทั้งวัน ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน แล้วก็ทำได้ทุกวัน เป็นอาทิตย์เป็นเดือนก็ได้ถ้าทำเล่นๆ เพราะว่าไม่ต้องใช้พลังงานมาก เพียงแต่ว่าเปิดโอกาสให้สติได้ทำงานในจังหวะของเขาเอง อันนี้เป็นสิ่งที่นักปฏิบัติจะต้องเข้าใจ แล้วก็เรียนรู้ว่า ทำเล่นๆแต่ทำจริงๆ มันหมายความว่าอย่างไร
มันไม่ใช่ว่าทำได้ง่าย เพราะว่าเวลาลงมือทำแล้ว มันก็จะมีความคาดหวัง แล้วก็อดไม่ได้ที่จะไปควบคุมบังคับจิต รวมไปถึงการไปแย่งงานสติทำ แต่ถ้าเราเปิดโอกาสให้สติได้ทำงานเต็มที่ แล้วก็ให้อิสระกับจิต มันจะฟุ้ง สติก็จะมีโอกาสได้พัฒนาตน
แล้วพอเราได้ปฏิบัติแบบนี้ ถูกวิธี เราจะพบกับสิ่งที่ไม่นึกไม่ฝัน อาตมาพอเริ่มกลับมาปฏิบัติอย่างที่หลวงพ่อเทียนแนะนำ ทำเล่นๆทำโดยไม่คาดหวัง ฟุ้งก็ได้ไม่ฟุ้งก็ได้ ปรากฏว่ามันเริ่มรู้ทันความคิด แต่ก่อนคิดไปทั้้งชีวิตเลย ตั้งแต่เล็กจนโต จนวัยรุ่น ไม่เคยเห็นความคิดเลย อยู่กับความคิดตลอด แต่ไม่เคยเห็นความคิด
แต่แล้ววันหนึ่งมันเริ่มเห็นความคิดขึ้นมา พบว่ามันอัศจรรย์ใจมาก แล้วก็เห็นอยู่เรื่อยๆๆ แล้วก็ไวขึ้นๆ แล้วสิ่งที่ไม่นึกฝันอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า มันได้เห็นเลยว่า ความคิดไม่ใช่เรา แต่ก่อนไปยึดมั่นถือมั่นว่า มันคือเรา ความคิดคือเรา ความคิดเป็นของเรา รวมทั้งอารมณ์ด้วย ความโกรธ ความหงุดหงิดเป็นเราเป็นของเรา แต่สติมันก็ทำให้เห็นเลยว่า ความคิดไม่ใช่เรา ความโกรธก็ไม่ใช่เรา ความดีใจก็ไม่ใช่เรา
มันทำให้เข้าใจในสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนในเรื่องอนัตตา แต่ก่อนไปคิดว่าความคิดคือเรา ความโกรธคือเรา เราเป็นผู้โกรธ เราเป็นผู้คิด แต่ที่จริงไม่ใช่ และสิ่งที่ไม่นึกไม่ฝันอีกประการหนึ่งก็คือว่า พอรู้ทันความคิด รู้เท่าทันอารมณ์แล้วใจมันสงบลงอย่างที่ไม่เคยนึกมาก่อน แล้วมันก็สงบทั้งๆที่ตาเปิด ทั้งๆที่ทำงาน ทั้งๆที่เกี่ยวข้องกับผู้คน ไม่ใช่ว่าเก็บตัวอยู่ในห้อง หรือปิดตานั่งตามลมหายใจ
มันเป็นความสงบที่เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงที่อึกทึก เสียงที่ดัง หรือท่ามกลางผู้คนที่จอแจ แต่ก่อนคิดว่ามันจะสงบได้ต้องเก็บตัวอยู่คนเดียว อยู่ในห้อง ปิดตา แต่ที่จริงแล้ว แม้เราอยู่กับผู้คนก็สงบได้ เพราะว่าความคิดมันดับลง ความคิดฟุ้งซ่าน เผลอคิดปุ๊บ สติรู้ทันปั๊บ วาง เป็นเพราะเราวางใจสติ เชื่อมั่นในสติ ให้สติได้ทำงาน เขาจึงทำงานได้เร็ว
ก็คงไม่ต่างจากเด็กที่ยังเดินไม่เป็น เราจะให้เด็กเดินเป็น เราก็ต้องให้เขาได้ลองเดิน เขาอาจจะล้มแต่เขาก็จะลุกขึ้นมา พอเดินไปสัก เขาก็ล้มอีก ถ้าเราเห็นเขาล้มบ่อยแล้วเราไปประคองเขาตลอดเวลา เขาก็จะเดินไม่เป็นเลย แต่ถ้าเรายอมให้เขาล้ม และเห็นเขาลุก เดินสักพักก็ล้ม แต่เราก็เฝ้าดู ให้โอกาสเขาเดินบ่อยๆ ตอนหลังเขาไม่เพียงแต่เดินได้เป็น ยังเดินได้เร็วและภายหลังก็วิ่งได้ด้วย
เป็นเพราะเราให้โอกาสกับเด็กในการที่เขาจะเรียนรู้ในการเดินและวิ่งได้ในที่สุด กับสติก็เหมือนกัน สติจะเจริญเติบโตได้ ก็เพราะเหตุนี้ และเคล็ดลับที่ทำให้สติทำงานได้เร็วก็คือว่า ทำเล่นๆแต่ทำจริงๆ
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 11 กันยายน 2564