แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ช่่วงหลายเดือนมานี้ ความรู้สึกอย่างหนึ่งที่รบกวนจิตใจกับผู้คนเป็นอันมาก สิ่งนั้นคือความกลัว ไม่ว่าจะเป็นกลัวโรคโควิดว่า จะมาติดถึงตัว หรือว่าติดพ่อติดแม่ติดลูก กลัวเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่อาจจะถดถอยย่ำแย่ลง หรือกลัวแม้กระทั่งวัคซีน ใจก็อยากฉีดวัคซีน แต่ว่าพอนึกถึงว่าจะต้องไปฉีดวัคซีนพรุ่งนี้ก็กลัวเข็ม กลัวอาการข้างเคียง หรือว่าอะไรต่ออะไรสารพัด
ความกลัวหลายอย่างมันเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น หมายถึงกลัวในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เช่น กลัวติดโรคโควิด หรือแม้กระทั่งกลัวผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนทั้งที่ยังไม่ได้ฉีดเลย ความกลัวประเภทนี้มันเกิดขึ้นเมื่อมีความคิด คิดถึงโรคโควิด แล้วก็ปรุงแต่งไปในทางลบว่ามันจะติดมาถึงเรา ติดถึงคนในครอบครัว หรือคิดถึงผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน มันเป็นเรื่องอนาคตที่ยังไม่เกิด แต่พอคิดเมื่อไหร่ก็กลัวเมื่อนั้น
อันนี้ไม่ได้เรียกว่ากลัวโควิค มันกลัวความคิดเกี่ยวกับโควิด ไม่ใช่กลัววัคซีนแต่กลัวความคิดเกี่ยวกับวัคซีน ไม่ต่างอะไรกับคนที่อยู่คนเดียวในบ้าน กลางดึกหรือว่าอยู่คนเดียวในห้องในกุฏิในวัดหรือในสถานปฏิบัติ แล้วเกิดกลัวผีขึ้นมา ผียังไม่ปรากฏต่อหน้าต่อตาเลย แต่กลัวเสียแล้ว
กลัวเมื่อคิดถึงผี ถ้าไม่คิดก็ไม่กลัว แต่ทันทีที่รู้ทันความคิด ว่ามันปรุงแต่งไปไกล ปรุงแต่งเกี่ยวกับอนาคตหรือว่าปรุงแต่งเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่รอบกุฏิ พอรู้ทันความคิด ความคิดก็ดับ ความกลัวก็ดับ ลองสังเกตดู คิดเมื่อไรก็กลัวเมื่อนั้น แต่พอหยุดคิด ก็หายกลัว แต่ที่จริงไม่ต้องหยุดคิดหรือห้ามคิด เพียงแค่รู้ทันความคิด ความกลัวโน่นนี่หลายเรื่องหลายราวเกี่ยวกับอนาคตหรือสิ่งที่ปรุงแต่งเกี่ยวกับปัจจุบัน มันก็จะดับไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีความกลัวอีกอย่างหนึ่ง คือกลัวสิ่งที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า มันไม่ใช่อนาคต มันไม่ใช่สิ่งที่ปรุงแต่ง แต่เป็นสิ่งที่อยู่ข้างหน้า เมื่อความเจอความกลัวแบบนี้จะทำอย่างไร อย่างเช่น อยู่คนเดียวในป่าช้า หรือว่าอยู่ท่ามกลางความมืด
สมัยที่พระพุทธเจ้ายังเป็นพระโพธิสัตว์ ยังไม่ตรัสรู้ พระองค์ก็ไปบำเพ็ญเพียรในป่าทึบ พอมีเสียงใบไม้หัก หรือว่าเสียงสัตว์ป่า พระองค์กลัวกลัวจนขนลุกชูชันเลย พระองค์ทำอย่างไร แทนที่จะหนี พระองค์ก็เผชิญหน้ากับมัน
พระองค์ตรัสว่ากลัวในอิริยาบถใด ก็ให้อยู่ในอิริยาบถนั้น เมื่อยืน เกิดความกลัวขึ้นมา ก็ยืน ไม่หลบไม่หนี หากนั่งแล้วเกิดความกลัว ก็นั่ง จนกว่าความกลัวจะหาย อันนี้เป็นวิธีการชนะความกลัวของพระพุทธเจ้า สมัยที่พระองค์บำเพ็ญเพียรอยู่ ทำไมความกลัวหาย ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าคุ้นเคยกับมัน หรือคุ้นเคยกับสถานที่ คุ้นเคยกับอิริยาบถ
คนเราเวลากลัวที่ใดก็ตาม ถ้าเราอยู่ตรงที่นั้นบ่อยๆ ความกลัวก็จางคลายไปเอง เหมือนมาอยู่วัดคนเดียวอยู่ในห้องโดยเฉพาะในเวลากลางค่ำกลางคืน ทีแรกก็กลัว แต่ว่าพออยู่ไปนานๆมันก็หายกลัวไปเอง
สมัยก่อน อาตมาพักอยู่ตรงบนเขา สมัยนั้นหอไตรอยู่บนนั้น บางวันทำวัตร แล้วสนทนาธรรมกันต่อจนค่ำกลับหอไตรเดินขึ้นเขา จากศาลาไก่ กลัวมากเลย ทั้งที่เวลาเพียงแค่ทุ่มเดียว แต่ตอนหลังพอเดินขึ้นไปบ่อยๆในช่วงเวลาดังกล่าว มันก็ค่อยๆหายกลัว เพราะอะไร เพราะมันคุ้น ความคุ้นมันบอกให้เรารู้ว่า มันไม่มีอะไร
แต่ก่อนกลัวเพราะมีการปรุงแต่งว่าเดี๋ยวจะมีโน่นมีนี่ มีผีสางสัตว์ร้ายในยามค่ำคืน แต่พอขึ้นลงบ่อยๆ ความคุ้นเคย ความรู้จักก็ทำให้หายกลัว อันนี้เรียกว่าเรากลัวอะไร ก็ให้ไปเจอสิ่งนั้น กลัวที่ไหนก็ให้ไปอยู่กับสิ่งนั้น อยู่บ่อยๆ มันก็จะหายกลัว เพราะความคุ้นเคย คุ้นเคยสถานที่ คุ้นเคยเส้นทาง คุ้นเคยอิริยาบถ แล้วก็จะรู้ว่ามันไม่มีอะไรที่น่ากลัว
อีกวิธีหนึ่งคือ การมาดูมาสังเกตความกลัว จะกดข่ม ผลักไสความกลัว มันไม่หาย หรือจะใช้เหตุผลหว่านล้อม บ่อยครั้งก็ไม่ช่วย หมอวิธาน ฐานะวุฒิ เป็นหมอผ่าตัดเล็ก เล่าว่าเวลาผ่าตัดเล็ก คนไข้กลัวมากเลยถามว่ากลัวอะไร กลัวเจ็บ หมอบอกว่าไม่ต้องกลัวเจ็บ หมอฉีดยาชาให้ ปรากฏว่ากลัวเข็มฉีดยาชา บางคนฉีดยาชาแล้วก็ยังกลัวอีก กลัวมีด กลัวเจ็บ
หมอก็พยายามอธิบายว่าไม่มีอะไรที่น่ากลัว เพราะว่าถ้าฉีดยาชาแล้วก็ไม่เจ็บไม่ปวด หว่านล้อมให้เหตุผลอย่างไรคนไข้ก็ยังกลัว ตอนหลังเปลี่ยนวิธี แทนที่จะบอกว่าอย่ากลัวๆ หรือว่าไม่มีอะไรที่น่ากลัว ก็ให้คนไข้ลองสังเกตดูความกลัวของตัว ก่อนจะผ่า กลัวใช่ไหม
ก็ให้สังเกตดูกายก่อนว่า ร่างกายเป็นอย่างไรตอนที่กลัว หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่สั้น มือไม้เกร็ง ลองสังเกตดู อันนี้เรียกว่าดูกาย เสร็จแล้วก็ขยับมาดูใจ ดูความกลัว ถ้าเปรียบความกลัวเหมือนกับพายุ ให้ดูเหมือนอยู่ท่ามกลางพายุเลย พอนำจิตของผู้ป่วย หรือแนะนำผู้ป่วยแบบนี้ ปรากฏว่าความกลัวทุเลาลง
ก่อนจะให้มาดูความกลัว ก็ให้คนไข้ให้คะแนนความกลัวของตัวก่อน บางคนให้คะแนน กลัวในระดับ 6 ระดับ 7 แต่พอให้มาดูความกลัว ดูกายและดูใจ ความกลัวลดลง เหลือ 2 หรือ 3 เท่านั้น แล้วการผ่าตัดก็เป็นไปได้อย่างราบรื่น อันนี้เรียกว่าดูความกลัว หรือรู้ทันความกลัว เห็นความกลัว
อะไรที่ทำให้รู้ทันหรือเห็นความกลัวได้ ก็คือสติ เมื่อเอาสติไปรับรู้ ดูความกลัว ความกลัวก็เลือนหายไป เวลาเจอความกลัว เราก็มีวิธีการรับมือกับความกลัว 2-3 วิธีใหญ่ๆก็คือว่า กลัวอะไร ก็ให้ไปรู้จักหรือสัมผัสกับสิ่งนั้นบ่อยๆ หรือว่าให้มาดูความกลัว เมื่อดูความกลัว เห็นความกลัว รวมทั้งรู้ว่ากลัวอะไร กลัวเพราะอะไร รวมทั้งเข้าใจสิ่งที่ตัวเองกลัว มันก็ช่วยทำให้ความกลัวบรรเทาได้
การเข้าใจสิ่งที่กลัวก็มีประโยชน์สำคัญ มีนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งชื่อมารี คูรี เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งมาก เธอบอกว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรที่น่ากลัว มีแต่สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ หมายความว่าถ้าเข้าใจแล้วก็หายกลัว อันนี้ก็ตรงกับคำสอนทางพุทธศาสนาว่า เรากลัวเพราะอวิชชา กลัวเพราะไม่รู้หรือไม่รู้จัก
คนกลัวความมืดเพราะไม่รู้จักความมืด กลัวตุ๊กแกเพราะไม่รู้จักตุ๊กแก แต่พอรู้จักความมืด รู้จักตุ๊กแก ความกลัวก็หาย ความเข้าใจในสิ่งที่กลัว มันสามารถที่จะช่วยปลดเปลื้องความกลัวออกไปจากใจได้
มีผู้ชายคนหนึ่ง แกหันมาสนใจการทำสมาธิ แล้วแกก็ทำได้ดี จนกระทั่งจิตสงบ แกก็มีความสุขกับการนั่งสมาธิ แต่มีวันหนึ่งพอจิตสงบรวมเป็นหนึ่ง พอจิตนิ่ง เกิดนิมิต นิมิตที่ปรากฏอยู่ในใจเป็นภาพมือ พอเห็นมือ เขาตกใจเลย เพราะมันคล้ายมือของพ่อ พอตกใจก็กลัวขึ้นมาทันทีเลย เพราะมือนี้เป็นมือที่เคยตบเขาตอนที่เป็นเด็ก เวลาพ่อกลับบ้าน เมาเหล้ามา ตีเมียตบลูก ตัวเขาโดนพ่อตบอยู่เป็นประจำ จนกลัวพ่อแล้วก็กลัวมือด้วย
พอเขาเจอมือนี้ในนิมิต ปรากฏว่าขนลุกเลย นั่งสมาธิต่อไม่ไหว เพราะว่ากลัวมาก เมื่อกลับมานั่งในวันต่อมาก็ยังเจอเหตุการณ์อย่างนี้อีก เป็นอย่างนี้แทบทุกครั้ง ความกลัวมือที่เคยตบตัวเอง มันทำให้แกไม่กล้านั่งสมาธิอีกเลย เพราะว่าความเจ็บปวดในสมัยเด็ก มันฟื้นกลับมา มันทรมานจิตใจมาก แล้วมันก็ไม่ใช่แค่ความกลัว ยังมีความโกรธด้วย
แต่แล้วมีวันหนึ่งเขาตัดสินใจว่า เขาจะเผชิญกับมันแล้ว เขาจะไม่หนีนิมิตนี้ เพราะว่าถ้าหนีมันด้วยการหยุดหรือเลิกนั่งสมาธิ เขาก็จะไม่มีโอกาสพบความสงบในจิตใจได้เลย แล้ววันหนึ่งเขาตั้งใจเลยว่าจะเผชิญหน้ากับนิมิตนี้ พอจิตเป็นสมาธิ นิมิตก็ปรากฏขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เป็นมือพ่อ แต่คราวนี้เขาไม่ถอย ไม่หนีแล้ว เขาก็ดู กลัวก็กลัว
แต่ว่าพอดูไปสักพัก มันก็ไม่ใช่มือที่จะมาตบ แต่เป็นมือที่กำลังขอ เขาก็เกิดความสงสัยว่าพ่อขออะไร และเมื่อเขาทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก เขาก็พบว่า สิ่งที่พ่อขอจากมือที่ปรากฏเป็นนิมิต มันคือขอความรัก พ่อเป็นพนักงานผู้น้อยในบริษัท แล้วก็ถูกข่มเหงเหยียดหยาม แกอาจจะเป็นคนนิสัยที่ไม่ดีคือเมาเหล้า ก็เลยไม่เป็นที่รักเป็นที่พอใจที่เคารพของคนในบริษัท ก็ทำให้เครียด
กลับมาก็ระบายความเครียดใส่เมียใส่ลูก ตบเมียตบลูก แต่ใจหนึ่งก็ปรารถนาความรัก เพราะอยู่ที่ทำงานไม่มีใครรัก มาบ้านก็หวังว่าจะได้เป็นที่รักของเมียของลูก แต่ปรากฏว่า ไม่ได้ความรัก เพราะว่าทนเครียดไม่ไหว ระบายความเครียดใส่เมียใส่ลูกอยู่เป็นประจำ แต่ในส่วนลึกต้องการความรัก
พอผู้ชายคนนี้พิจารณามาถึงตรงนี้ แกเข้าใจพ่อเลย แล้วก็พบว่าพ่อไม่ได้เป็นคนที่น่าเกลียดน่ากลัว แต่น่าสงสาร พอเข้าใจตรงนี้ หายเกลียดหายกลัวเลย มันมีแต่ความรักมีแต่ความเมตตา ความกลัวที่เคยฝังลึก 30-40 ปี มันหายไปเลย รวมทั้งความเกลียด ความโกรธด้วย
ความเข้าใจในสิ่งที่กลัว มันช่วยทำให้ความกลัวเลือนหายไปได้ แล้วก็ไม่ใช่แค่ความกลัว ความโกรธความเกลียดด้วย นอกจากการรู้ทันความโกรธ ความเกลียด ความกลัวแล้ว การเข้าใจในสิ่งที่เกลียดในคนที่กลัว มันก็ช่วยทำให้อารมณ์พวกนี้หายไปได้
มีผู้หญิงคนหนึ่ง แกมีความทุกข์มาก แกมาปรึกษาอาจารย์นวลศิริ เปาโลหิตย์ ผู้หญิงคนนี้มีความทุกข์เพราะว่ามีเรื่องราวฝังใจกับแม่ที่เสียชีวิตไปแล้ว ฝังใจในเรื่องอะไร ฝังใจว่าแม่ไม่รักตัว แม่รักน้องสาวมากกว่าตัวเอง แม้เหตุการณ์ผ่านไปหลายปีแล้ว แต่เวลาคิดถึงเรื่องนี้ทีไรก็เกิดอารมณ์ทั้งโกรธและผิดหวัง พอเกิดอารมณ์ขึ้นมา ความทุกข์มันท้วมท้นเลย ก็เลยต้องมาหาที่ปรึกษาที่จะช่วยบรรเทาความทุกข์
ตอนที่มาหาอาจารย์นวลศิริก็ยังมีความทุกข์อยู่ อาจารย์นวลศิริก็เลยบอกให้เธออยู่กับปัจจุบัน เพราะว่าใจของเธอหวนไปแต่นึกถึงแต่เรื่องในอดีตมากไป ให้กลับมาอยู่กับลมหายใจ หายใจเข้าหายใจออกก็รับรู้พอความคิดเกี่ยวกับอดีตมันจางคลายไป จิตเริ่มสงบเป็นสมาธิ ซึ่งคิดว่าอยู่ในภาวะที่เหมาะที่จะเผชิญในเหตุการณ์ในอดีตอีกครั้งหนึ่ง หรือเผชิญกับความเกลียดความโกรธอีกครั้งหนึ่ง
แล้วจึงแนะนำผู้หญิงคนนี้ว่า ให้ลองนึกถึงเรื่องราวที่เธอฝังใจเกี่ยวกับแม่มาสักเรื่องหนึ่ง ฝังใจที่ว่า แม่ไม่รักตัวเอง หรือรักน้องมากกว่าตัวเอง ให้ลองนึกมาสักเรื่องหนึ่ง เธอก็นึก ช่วงที่นึกก็เริ่มมีอาการกระเพื่อมขึ้นมาในใจ เป็นความทุกข์ เป็นความโกรธ
ผ่านไปสักพัก อาจารย์นวลศิริก็บอกให้ผู้หญิงคนนี้ ลองนึกว่าถ้าตัวเองเป็นแม่ในเหตุการณ์นั้น ตัวเองจะรู้สึกอย่างไร กลับไปนึกใหม่ ไปนึกถึงเหตุการณ์นั้นใหม่เป็นรอบที่ 2 แต่ตอนนี้ให้นึกว่าตัวเองเป็นแม่ แล้วรู้สึกอย่างไรเมื่อสวมบทเป็นแม่ในเหตุการณ์นั้น พอเธอทำได้สักพักเธอนิ่งเลย แล้วพอเธอลืมตาขึ้นมา เธอบอกว่าเข้าใจแม่แล้ว
ที่จริงแม่ก็รักลูกทั้งสองคนเท่ากัน แต่แม่เป็นห่วงน้องมากกว่าเพราะว่าน้องเกเ รแม่เลยกลัวว่าน้องจะเอาตัวไม่รอด ส่วนเธอเป็นพี่ แม่ไว้ใจว่าเอาตัวรอดได้ พอเธอคิดได้เช่นนี้ ความโกรธ ความเกลียดแม่หายไปเลย เพราะเข้าใจแม่แล้ว มันมีแต่ความรัก และก็ความสำนึกในบุญคุณแม่ เห็นใจแม่
ปรากฏว่า นับตั้งแต่นั้นมา ผู้หญิงคนนี้เวลานึกถึงแม่ ไม่มีความรู้สึกโกรธเกลียดแม่อีกต่อไป เหมือนกับยกภูเขาออกจากอก อันนี้มันชี้ให้เห็นเลยว่า ความกลัวก็ดี ความโกรธก็ดี ความเกลียดก็ดี ไม่ว่าจะมีกับใครมันคลี่คลายไปได้ทันทีเลย เมื่อเกิดความเข้าใจ เข้าใจผู้เป็นพ่อ หรือเข้าใจผู้เป็นแม่ เพราะฉะนั้นความเข้าใจเป็นสิ่งที่ช่วยได้มากทีเดียว
ตรงกับที่มารี คูรีพูด ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ต้องกลัว มีแต่สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้ว ไม่ใช่ความกลัวหายไปอย่างเดียว ความโกรธความเกลียดก็หายไปด้วย เพราะว่าอารมณ์เหล่านี้มันเกิดขึ้นเพราะอวิชชา พอเกิดความเข้าใจหรือเกิดปัญญาขึ้นมา มันก็หายโกรธหายกลัวหายเกลียด
อันนี้ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยบรรเทาจิตใจให้ก้าวข้ามความกลัว หรือความโกรธได้นอกเหนือจากการมีสติ รู้ทันในอารมณ์เหล่านั้น
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 10 กันยายน 2564