แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ช่วงนี้ฝนตกบ่อย บางครั้งก็ตกแรง บังเอิญได้ดูคลิปวีดีโอสั้นๆอยู่คลิปหนึ่งความยาวไม่ถึง 1 นาที เหมาะกับฤดูกาลช่วงนี้มาก ในคลิปมีฝนกำลังตกหนัก เทลงมาเลย แล้วก็มีชายคนหนึ่งวิ่งผ่านสายฝน วิ่งอย่างเร็วเลย เสื้อกางเกงของเขาเปียกโชก ในมือถือเขาถืออะไรบางอย่าง ซุกไว้ใต้เสื้อเพราะว่ากลัวเปียกฝน
พอเขาวิ่งมาถึงใต้ชายคา เขาก็ดีใจเพราะหลบฝนได้แล้ว เขาก็เอามือที่ซุกไว้ในเสื้อ ดึงออกมา ทีแรกนึกว่าเป็นโทรศัพท์มือถือ ที่ไหนได้มันเป็นร่ม ร่มกันฝน คนดูก็ผิดคาด แล้วก็อาจจะอดยิ้มอดขำไม่ได้ ส่วนหนึ่งอาจจะขำผู้ชายคนนี้ว่า โง่หรือเปล่า ยอมเปียกฝน เพราะกลัวร่มเปียก
คลิปนี้ถ้าดูดีๆเขาไม่ได้มุ่งให้ความขำหรือเสียงหัวเราะกับเราเท่านั้น มันให้แง่คิดบางอย่างด้วย เพราะว่าชายคนนี้ แกยอมเปียกเพื่อรักษาร่มไม่ให้เปียก ทั้งที่ร่มมันมีไว้เปียกฝนแทนเรา เพื่อที่เราจะได้ไม่เปียก
จะว่าไปแล้ว คนจำนวนไม่น้อยก็ปฏิบัติกับบางสิ่งบางอย่างไม่ต่างจากชายคนนี้ที่เก็บร่ม สิ่งนั้นคือเงินหรือทรัพย์สิน
ชายคนนี้ยอมเปียกเพื่อรักษาร่มไม่ให้เปียก ทั้งๆที่ร่มมีไว้เพื่อกันฝนให้กับเรา เงินทองทรัพย์สินก็เหมือนกัน มันมีไว้เพื่อช่วยเลี้ยงเราให้มีความสุขหรือว่าช่วยบำบัดความทุกข์ให้กับเรา ให้หายหิว หายเจ็บหายป่วย มีชีวิตที่ไม่ลำบากลำบน อันนี้คือวัตถุประสงค์ของเงินหรือทรัพย์สิน
แต่คนจำนวนไม่น้อยก็ยอมลำบาก ยอมทุกข์ยากเพื่อเงิน ไม่ใช่เพื่อหาเงินอย่างเดียว แต่เพื่อรักษาเงินด้วย ยอมเจ็บยอมป่วยแทนที่จะเอาเงินไปซื้อยา หรือว่าไปหาหมอ แต่ก็ไม่ทำ เพราะว่าเสียดายเงิน ยอมเจ็บยอมป่วยเพราะไม่อยากให้เงินมันก็ร่อยหรอ หรืออาจจะยอมอยู่อย่างลำบาก อดๆอยากๆ เพราะว่าไม่อยากใช้เงินไปซื้ออาหาร หรือทำตัวให้พ้นจากความยากลำบาก เสียดายเงิน
กลัวเงินมันจะร่อยหรอ กลัวเงินหมดไปทั้งที่มีเงินอยู่เยอะ อันนี้เรียกว่าปฏิบัติต่อเงินไม่ต่างจากชายคนนี้ที่ปฏิบัติต่อร่ม ก็คือ แทนที่จะใช้เงินเลี้ยงตัวเองให้มีความสุขหรือว่าช่วยบำบัดทุกข์เวทนา กลับยอมทุกข์ เพื่อรักษาเงินเอาไว้ ถ้าร่อยหรอก็เป็นทุกข์
ในสมัยพุทธกาลมีเศรษฐีคนหนึ่งร่ำรวยมากในกรุงสาวัตถี แกก็อยู่ตัวคนเดียว แต่แทนที่จะเอาเงินมาใช้เพื่อเลี้ยงตัวเองให้มีความสุข แกกลับกินแบบอดๆอยากๆ กินข้าวปลายหัก ใส่เสื้อผ้าแบบปุปะ เรียกว่าอยู่แบบตระหนี่ ยอมทุกข์เพื่อเงิน ทั้งๆที่เงินมีไว้บำบัดทุกข์
สุดท้ายตายไป นอกจากทรัพย์สินเงินทองเอาไปไม่ได้แล้ว ก็ต้องตกเป็นของหลวง เพราะว่าสมัยนั้นมีกฎหมายว่า ถ้าใครตายแล้ว ทรัพย์สินเงินทองไม่ได้แบ่งให้ลูกหรือทายาท ที่เหลือก็ตกเป็นของทายาท ที่เหลือก็ตกเป็นของแผ่นดินหรือว่าพระราชา
แต่ว่าคนแบบนี้ไม่ใช่มีแต่ในสมัยพุทธกาล มีมาตลอด อย่างนี้เรียกว่าปฏิบัติต่อเงินผิดวัตถุประสงค์ ไม่ต่างจากปฏิบัติต่อร่มอย่างไม่ถูกต้อง ร่มมีไว้เพื่อเปียกฝนแทนเรา หรือเพื่อรักษาเราไม่ให้เปียกฝน และมีร่มก็ไม่ต้องกลัวร่มเปียก เงินก็มีไว้เพื่อช่วยให้เราอยู่อย่างไม่ลำบาก หรือว่าเลี้ยงตัวเองให้มีความสุข
ที่จริงไม่ใช่แค่เลี้ยงตัวเองอย่างเดียว คนในครอบครัว พ่อแม่ ลูกหลาน พี่น้อง ก็เอาเงินนั้นไปเพื่อช่วยให้เขามีความสุข สุขในที่นี้ไม่ได้หมายความฟุ้งเฟ้อ แต่ว่าไม่หิวโหย ไม่ลำบากขัดสน หรือว่าเอาไปช่วยทำประโยชน์แก่สาธารณะ
ตัวอย่างในสมัยพุทธกาล ก็เอาไปบำรุงสมณะชีพราหมณ์ บำรุงในที่นี้ไม่ใช่บำเรอ แต่ว่าช่วยให้ท่านมีปัจจัย 4 ในการดำเนินชีวิตเพื่อการประพฤติพรหมจรรย์ หรือเพื่อบำรุงพระศาสนา อย่าง อนาถบิณฑิกะมีเงินเยอะแต่ไม่มีความหวงแหน ตัวท่านก็อยู่แบบเรียบง่าย ไม่ได้ฟุ้งเฟ้อ แต่ว่าเอาเงินนั้นมาช่วยสงเคราะห์คนยากคนจน แล้วก็เพื่อส่งเสริมพระศาสนา
อันนี้เรียกว่า ปฏิบัติต่อเงินอย่างถูกต้องคือ รู้จักใช้ แต่ถ้าปฏิบัติอย่างไม่ถูกต้องกลายเป็นว่า แทนที่จะใช้เงิน กลับให้เงินมาใช้เรา บางคนไม่ใช่แค่ยอมเจ็บยอมป่วยเพื่อรักษาเงิน แต่บางทียอมตายเพื่อรักษาเงิน อย่างเช่น ถูกปล้นที่กลางซอยเปลี่ยว โจรบอกว่าให้เอาเงินมา หรือเอาสร้อยคอมา เอานาฬิกามา
บางคนหวงแหนทรัพย์ ไม่อยากให้หลุดไปก็ต่อสู้ขัดขืนเพื่อรักษาเงินเอาไว้ รักษาทรัพย์สินเอาไว้ ปรากฏว่าถูกทำร้าย บางทีถูกแทงตาย ถูกยิงตาย อย่างนี้เรียกว่ายอมตายเพื่อเงิน ยอมสละชีวิตเพื่อเงิน ทั้งๆที่ไม่จำเป็น
ตรงกันข้าม เอาเงินมาใช้มารักษาชีวิต ไม่ว่าจะเจ็บป่วย หรือเพราะประสบอุบัติเหตุก็แล้วแต่ ถ้าเราใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ก็เลยกลายเป็นทาสของเงิน มีคนแบบนี้มากทีเดียว ที่ยอมตายเพื่อเงิน หรือยอมลำบากเพื่อเงิน ไม่ได้หาเงินเยอะๆ แต่รักษามันเอาไว้ หรือมิเช่นนั้นเวลามันสูญหายไป กินไม่ได้นอนไม่หลับทุกข์ระทม อันนี้เรียกว่ายอมเจ็บยอมป่วยเพราะเงิน
แทนที่จะเอาเงินมาใช้เพื่อบำบัดทุกข์ กลับยอมเป็นทุกข์เพื่อมัน คนก็ไม่เฉลียวใจตรงนี้ เพราะความที่ไปหลงติดในเงิน ไปยึดว่าเงินเป็นของเราๆ เป็นของกูๆ สุดท้ายเราเป็นของมัน เราเป็นของเงิน แทนที่จะ เงินเป็นของเรา
เราเป็นของเงินหมายความว่าเรายอมทุกข์ยอมลำบากยอมตายเพื่อเงิน ที่จริงไม่ใช่เงินอย่างเดียว อย่างอื่นก็เหมือนกัน บางทีก็เป็นโทรศัพท์มือถือก็ได้ ยอมตายเพื่อมัน แทนที่จะใช้มันเพื่อบำบัดทุกข์ เพื่อขจัดปัดเป่าความยากลำบาก
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้า วันที่ 10 กันยายน 2564