แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เวลาที่อะไรต่ออะไรมันเป็นไปอย่างราบรื่น ปกติ เรามักไม่ค่อยจะรู้สึกอะไร แต่จะเป็นทุกข์ขึ้นมาทันที จะโกรธ หงุดหงิด วิตกกังวล หรือตระหนก เมื่อเวลาเกิดความผันผวนขึ้นมา เช่น ฝนตกอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย หรือว่านัดคนแล้วผิดเวลา ไม่มาตามนัด หรือว่ามีเสียงเห่า เสียงหมาหอนในขณะที่เรากำลังฟังธรรม เสียงโทรศัพท์ดังขณะที่เรากำลังนั่งสมาธิ หรือว่ากำลังประชุมกัน
เวลาเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ผู้คนก็มักจะคิดว่า ความทุกข์ใจมันเกิดจากการที่มีเสียงดังผิดที่ผิดเวลา หรือว่าคนผิดนัด ทำสิ่งที่ไม่สมควร แต่ถ้าพิจารณาดูดีๆ ความทุกข์ใจมันไม่ได้เกิดจากเหตุการณ์เหล่านั้น แต่มันเกิดจากการที่เราวางใจผิด ที่เสียงดังผิดที่ผิดเวลา หรือมีการกระทำที่ไม่สมควร อันนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ว่าไม่ถึงกับทำให้เราทุกข์ได้ ถ้าหากว่าเราไม่วางใจผิด
ท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านสรุปไว้กระชับดีว่า ทุกข์ที่จิต เกิดเพราะทำผิด เมื่อมีผัสสะ หรือเมื่อมีการกระทบ ถ้าทุกข์ที่กายมันก็มีเหตุปัจจัยต่างๆมากมาย อาจจะมีของแหลมมาทิ่มแทงก็เจ็บ ถูกเปลวไฟมากระทบถูกตัวก็ร้อน แต่ทุกข์ที่ใจ มันไม่ได้เกิดเพราะผัสสะ หรือการกระทบล้วนๆ แต่มันเกิดจากการที่เราวางใจผิด หรือทำผิดเมื่อมีผัสสะ
ทำผิด หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าเกิดความยินร้ายขึ้นมาเมื่อมีการกระทบ เสียงกระทบหู รูปกระทบตา กลิ่นกระทบจมูก หรือว่าสัมผัสมากระทบกับกาย ความไม่พอใจหรือความยินร้ายเกิดจากอะไร เกิดจากความอยาก เมื่อพบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ได้เป็นไปตามความอยาก อยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้
แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ได้รับรู้ไม่ว่าทางหู ทางตา ทางจมูก ทางกาย เป็นต้น มันไม่ได้เป็นไปอย่างที่อยาก ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดหวัง ก็ทุกข์ แม้จะมีความผิดพลาด แต่ถ้าไม่ได้อยากหรือไม่ได้คาดหวัง มันก็ไม่ทุกข์
นัดคนไว้ 16.00 น กว่าจะมาปรากฏตัวก็ 16.30 น ผิดเวลาไปตั้งครึ่งชั่วโมง แต่แม้กระนั้น ถ้าคาดหวังอยู่แล้วว่าเขาจะมาสายหรือว่าคาดหวังว่าเขาคงจะมาผิดเวลาเป็นชั่วโมง นี่มาผิดเวลาแค่ครึ่งชั่วโมง ก็กลับเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ หรือยินดีด้วยซ้ำ มาผิดนัดแต่ว่าไม่ทุกข์ ไม่หงุดหงิด ไม่โมโห เพราะว่าไม่ได้คาดหวัง
แต่ถ้าคาดหวังว่า เขาต้องมาตรงเวลา คืออยากให้เขามาตรงเวลา แค่ผิดเวลา 1 นาทีก็หงุดหงิดแล้ว เกิดความไม่พอใจขึ้นมา บางทียังไม่ถึง 16.00 น เลย ยังไม่เห็นเงาเลย ก็เริ่มกระสับกระส่ายแล้ว ความไม่พอใจ หรือความทุกข์เกิดจากอะไร เกิดจากความคาดหวัง เกิดจากความอยาก เมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นไปอย่างที่อยากก็ทุกข์
แต่ถ้าไม่ได้มีความอยาก ไม่ได้มีความคาดหวังในทางที่ยิ่งกว่านั้นก็คือ คิดว่าคงจะผิดนัดเป็นชั่วโมง แต่มาผิดนัดแค่ครึ่งชั่วโมง ก็ไม่ได้ทุกข์อะไร
ลูกเอาผลสอบมาให้แม่ดู สอบได้เกรด 1.5 แม่ไม่ได้คาดหวังลูกว่าจะต้องได้เกรดสูงๆ แม่ก็ไม่ได้ทุกข์ แม่ก็ไม่ได้เสียใจ หรือว่าคาดหวังว่าคงจะสอบได้ประมาณนี้แหละ ลูกจะสอบได้เกรดต่ำแม่ก็ไม่ทุกข์ ในทางตรงข้าม ลูกเอาผลสอบไปให้พ่อดู 3.5 พ่อเสียใจ หรือโกรธ ผิดหวัง เพราะคาดหวังลูกว่าจะต้องได้ 4 หรือว่าอยากให้ลูกได้ 4
เกรดระดับ 3.5 มันมากกว่า 1.5 เยอะเลย สำหรับผู้เป็นแม่มองว่า 1.5 เห็นแล้ว ก็ไม่ได้ทุกข์เพราะว่าไม่ได้คาดหวัง ไม่ได้อยาก แต่พ่อเห็น 3.5 หรือ 3.8 กลับทุกข์ เสียใจเพราะคาดหวังให้ลูกได้ 4 ความอยากหรือความคาดหวัง เป็นเหตุแห่งทุกข์ แล้วถ้าวางใจไม่ถูก มันก็จะไปยึดกับความอยากความคาดหวังนั้น เมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ตรงกับความอยากความคาดหวัง ก็เกิดความเสียใจ เกิดความโกรธ หงุดหงิด หรือขุ่นมัวขึ้นมา
ถ้าเราดูให้ละเอียด มันไม่ใช่แค่ความหวังหรือความอยากที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ในจิตใจ ที่จริงมีอะไรมากกว่านั้นที่มาเสริม ซึ่งก็เคยพูดไปแล้ว ความปรุงแต่งที่เกิดขึ้นในใจ เช่น การตีค่าหรือให้ค่า มากหรือน้อย ถ้าตีค่าว่าน้อย ตีค่าว่าเหม็น ตีค่าว่าไม่ดี มันก็ย่อมเกิดความทุกข์ เกิดความไม่พอใจ
นอกจากการตีค่าแล้ว เวลามีอะไรมากระทบ ทั้งๆที่เกิดความไม่พอใจขึ้นมา แต่ก็ไปยึดมันเอาไว้ เสียงดังไม่ชอบเสียงนั้นแต่ว่าใจก็ไปจดจ่อที่เสียงนั้นทั้งๆที่เป็นเสียงรบกวน เสียงอาจจะเบากว่าบรรยายนี้แต่เพราะความไม่ชอบ เพราะความรู้สึกลบ ก็ไปจดจ่อที่เสียงนั้น ก็เกิดความหงุดหงิดขึ้นมา ถามว่าหงุดหงิดเพราะอะไร ไม่ใช่หงุดหงิดเพราะเสียง แต่หงุดหงิดเพราะใจที่ไปจดจ่อ หรือว่าไปยึดติด ตรงนี้ต่างหากที่คนมองข้าม
มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับหลวงปู่บุดดาที่เคยเล่าแล้ว แต่บางคนอาจจะไม่เคยได้ยิน เมื่อสัก 50-60 ปีก่อน หลวงปู่บุดดาได้รับนิมนต์ให้ไปฉันที่บ้านโยมอยู่ที่กรุงเทพฯ ฉันเสร็จท่านก็จะกลับวัดที่สิงห์บุรี แต่เจ้าของบ้านเห็นว่าหลวงปู่ชราอายุ 70-80 แล้ว สมัยนั้นถนนไม่ค่อยดีเท่าไร ก็เลยอยากให้ท่านพักก่อน ให้เอนหลังก็หาห้องให้ท่านเอน มีลูกศิษย์ 2-3 คนมานั่งเป็นเพื่อน
ลูกศิษย์เวลาคุยกันก็กระซิบกระซาบ ไม่อยากรบกวนหลวงปู่ บังเอิญห้องที่ติดกัน เป็นร้านโชห่วย เจ้าของเป็นคนจีน คนจีนสมัยก่อนสวมเกี๊ยะไม้ ยังไม่มีรองเท้าพลาสติกหรือรองเท้ายาง เวลาเดินโดยเฉพาะเดินขึ้นบันได เสียงก็จะดัง ดังเข้ามาถึงห้องที่หลวงปู่จำวัดอยู่ ลูกศิษย์ก็ไม่พอใจ บ่นขึ้นมาว่าเดินเสียงดังจัง ไม่เกรงใจกันเลย
หลวงปู่ท่านหลับตาแต่ท่านไม่ได้นอนหลับ ท่านได้ยิน ท่านก็เลยเปรยๆขึ้นมาเบาๆว่า เขาเดินของเขาอยู่ดีๆ เราเอาหูไปรองเกี๊ยะเอง เสียงเกี๊ยะไม่ใช่ปัญหา หรือว่าไม่ได้เป็นเหตุแห่งทุกข์ คือ ในเมื่อไม่ชอบเสียงเกี๊ยะ แล้วเอาหูไปรองเอาหูไปจดจ่อกับเสียงเกี๊ยะทำไม อันนี้เรียกว่าวางใจผิด เป็นตัวอย่างของการทำผิดเมื่อเกิดผัสสะ
เพราะฉะนั้น พอเอาหูไปรองเกี๊ยะ ก็เกิดความไม่พอใจขึ้นมา เกิดความหงุดหงิดขึ้นมา ไปโทษเจ้าของเกี๊ยะ เจ้าของเกี๊ยะเขาเดินเสียงดังจริง แต่ว่าถ้าไม่เอาใจไปจดจ่อที่เสียงเกี๊ยะ หรือเอาหูไปรองเกี๊ยะ มันก็ไม่ทุกข์
แล้วมันก็ไม่ใช่แค่ไปจดจ่อหรือว่าไปยึดติดกับเสียง ไม่ว่าจะเป็นเสียงเกี๊ยะ หรือเสียงต่อว่าด่าทอเสียงติฉินนินทา มันยังมีอาการผลักไสเกิดขึ้นควบคู่ไปด้วย เราลองสังเกตดู เวลาเสียงโทรศัพท์ดังในห้องประชุม ในศาลา หรือว่ามีเสียงหมาเห่า เสียงคนคุยกัน ในขณะที่ยิ่งเราไม่ชอบ ใจก็ยิ่งไปจดจ่อต่อเสียงนั้น ขณะเดียวกันก็มีการผลักไสเสียงนั้น เสียงดังจริงโว้ย เมื่อไหร่จะหยุดสักที เป็นต้น
ตรงนี้แหละที่เรียกว่า ทำผิดเมื่อมีผัสสะ แทนที่จะ รู้แล้ววาง ก็กลับไปจดจ่อ แล้วก็ผลักไสไปพร้อมๆกัน
หากว่าเราเข้าใจเรื่องนี้แล้ว เวลามีอะไรมากระทบ เราก็จะไม่ปล่อยให้ใจเป็นไปตามความเคยชิน มันไม่ใช่เฉพาะ รูปรสกลิ่นเสียงที่มากระทบ แล้วใจเราไปยึด แต่มันยังไปยึดอีกอย่างหนึ่งก็คือ อารมณ์ที่เกิดขึ้นจากการกระทบนั้น ความหงุดหงิด ความไม่พอใจ ความโกรธ การยึดติดและผลักไส เมื่อเกิดผัสสะ
มันไม่ได้เป็นการยึดติดหรือการผลักไส เฉพาะรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสเท่านั้น แต่มันยังรวมไปถึงธรรมารมณ์ซึ่งเรียกว่าอารมณ์ภายใน ส่วนรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสเรียกว่าอารมณ์ภายนอก การทำผิดต่อผัสสะมันเกิดขึ้นทั้งการไปยึดติด แล้วก็ผลักไสอารมณ์ภายนอก รูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส รวมทั้งอารมณ์ภายในคือความหงุดหงิด ความโกรธ ความขุ่นมัว ความวิตกกังวล ตรงนี้แหละที่ทำให้จิตเป็นทุกข์มาก
อันนี้รวมไปถึงทุกขเวทนาด้วย ความปวด ความเมื่อย เวลาปวดขา ปวดแขน เมื่อยหลัง อันนี้เรียกว่าทุกข์กาย เราไม่ชอบ แต่สังเกตไหม ยิ่งไม่ชอบ จิตยิ่งไปจดจ่อกับตรงนั้น อันนี้เรียกว่ายึด ยึดติดในความทุกข์กาย ใจก็เลยเป็นทุกข์ไปด้วย อันนี้ยังไม่ต้องพูดถึงว่ามันมีการปรุงตัวกูขึ้นมา เป็นผู้ทุกข์ ปรุงตัวกูเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน แต่ว่ามันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกครั้งที่เกิดผัสสะ แล้วก็ขาดสติ
ความโกรธเกิดขึ้นมันก็มีผู้โกรธตามมา ความหงุดหงิดเกิดขึ้นก็มีผู้หงุดหงิดตามมา มีความปวดเกิดขึ้นก็มีผู้ปวดตามมา เพราะฉะนั้น ถ้าเราพิจารณาดูดีๆความทุกข์ที่ใจ มันก็ล้วนเกิดจากการที่ใจปฏิบัติไม่ถูกเมื่อเกิดผัสสะขึ้นมา จะทำอย่างไรไม่ให้ใจเป็นทุกข์ ก็คือ เมื่อมีการกระทบขึ้นมาหรือเกิดผัสสะ เสียงกระทบหู รูปกระทบตา ก็สักแต่ว่ารู้ ไม่ปรุงแต่ง รู้แล้วก็วาง อันนี้ก็เคยพูดไปแล้ว สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน
การรับรู้เกิดขึ้น แต่รู้แล้วก็วาง เพราะว่าอะไร เพราะว่ามีสติ ถ้าหากว่าผัสสะเกิดขึ้นแล้วมีสติเข้าไปกำกับหรือมีสติเมื่อเกิดผัสสะ การที่ปรุงแต่งต่างๆนานาก็จะเกิดขึ้นได้ยาก สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยินก็จะเกิดขึ้นเป็นอัตโนมัติ ได้ยินเสียง มีสติแล้วก็วาง อย่างเช่น เวลาเราเดินจงกรม เวลาสร้างจังหวะ มีเสียงต่างๆเข้ามากระทบหู เราจะพบว่า มันก็วางได้ง่าย
หรืออย่างตอนนี้กำลังฟังคำบรรยาย มีเสียงจั๊กจั่นเรไร เสียงแมลงกระทบหู ก็สักแต่ว่าได้ยิน ถ้าเรามีสติ มันได้ยินแล้วก็วาง ไม่ปรุงเกิดความยินดียินร้ายขึ้นมา ไม่เกิดการผลักไสขึ้นมา แต่บางครั้งมันก็อดปรุงแต่งไม่ได้ เกิดอารมณ์ตามมา เกิดความยินร้ายขึ้นมา เกิดความไม่พอใจ เกิดความหงุดหงิดขึ้นมา
เราก็ยังมีอีกอย่างหนึ่งที่เราทำได้คือ รู้ทัน รู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น เห็นความไม่พอใจที่เกิดขึ้น เห็นความหงุดหงิดที่เกิดขึ้น ยิ่งถ้ารู้แบบซื่อๆ รู้แล้วมันก็จะวาง ปล่อยให้อารมณ์นั้นดับไป เราอาจจะไม่สามารถที่จะรู้ซื่อๆต่อเสียงรูปรสกลิ่นเสียงหรือสัมผัสที่มากระทบ แต่ว่าเราก็ยังสามารถที่จะมาเห็นหรือว่ารู้ซื่อๆเมื่อมีอารมณ์เกิดขึ้นจากการกระทบนั้น ทั้งสองอย่างทำได้ด้วยการมีสติ มีสติเมื่อเกิดผัสสะ
และยังมีอีกอย่างหนึ่งที่เราทำได้ ซึ่งอาจจะเป็นขั้นตอนที่ยากขึ้นไปอีกหน่อยคือ มีปัญญารับรู้เมื่อเกิดการกระทบขึ้นมา ปัญญาในที่นี้หมายถึงความเข้าใจว่า สิ่งทั้งปวงเป็นธรรมดา ฝนตกฟ้าร้องแปรปรวนมันก็เป็นธรรมดา มันเป็นเช่นนั้นเอง หรือว่ามีเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยดีเกิดขึ้น เกิดความสูญเสียขึ้นมา ปัญญาที่เข้าใจความจริงว่า มันไม่มีอะไรที่เป็นของเรา มันก็ช่วยทำให้ใจไม่ทุกข์ได้
อย่างของเกิดเสีย หรือว่าทรัพย์เกิดหายขึ้นมา พอรู้เข้า ความที่มีปัญญาเข้าใจความจริงว่า มันไม่มีอะไรที่เป็นของเรา สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นของชั่วคราว อันนี้ก็ทำให้ใจไม่เป็นทุกข์
อย่างมีช่างไฟคนหนึ่ง เกิดอุบัติเหตุ ไฟฟ้าแรงสูงมาถูกที่ต้นขา ต้องตัดขาทั้งสองข้าง กลายเป็นคนพิการตลอดชีวิต อายุยังไม่มาก ต่อมาไม่นาน ภรรยาก็ทิ้งเขาไป ก็มีคนถามเขาว่า คุณรู้สึกอย่างไรที่ภรรยาทิ้งคุณไป แกตอบดีตอบว่า ขนาดขาสองข้างยังไม่อยู่กับผมเลย แล้วจะให้เมียอยู่กับผมได้อย่างไร ผมไม่ทุกข์เลย
คือ การเสียขาทั้งสองข้างทำให้เขารู้ว่า มันไม่มีอะไรที่เป็นของเรา ขนาดขาทั้งสองข้างอยู่กับเรามาตั้งแต่เกิด วันดีคืนดีก็จากเราไป ขนาดขายังไม่ใช่ของเราเลย แล้วเมียจะเป็นของเราได้อย่างไร ไม่ได้อยู่วิสัยที่เราจะควบคุมได้ เมื่อเขาจากไปก็ไม่เสียใจ เพราะเขาเข้าใจเห็นความจริงว่า ไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลย
อันนี้ก็เรียกว่าเป็นปัญญา ที่สามารถรับรู้สิ่งต่างๆโดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เรียกว่าโลกธรรมฝ่ายลบ ความเสื่อมลาภเสื่อมยศหรือความสูญเสียก็ไม่ทุกข์ สติและปัญญาเป็นธรรมสำคัญมาก ในการที่จะช่วยให้เราวางใจถูกเมื่อมีผัสสะ เมื่อมีการกระทบ ทั้งสติและปัญหาช่วยทำให้สิ่งที่กระทบนั้นไม่ทำให้ใจกระเทือน ไม่ทำให้ใจเป็นทุกข์ อาจจะทุกข์กาย แต่ว่าใจไม่ทุกข์ อาจจะเสียทรัพย์ แต่ว่าใจไม่ทุกข์
เพราะฉะนั้น เวลาเรามีความทุกข์ใจ อย่ามัวแต่ไปโทษสิ่งภายนอก ถึงแม้เขาอาจจะมีส่วน แต่ว่าตัวการหลักๆคือ การที่วางใจผิด อย่างที่ท่านอาจารย์พุทธทาสใช้คำว่า ทำผิดเมื่อเกิดผัสสะ เรียนรู้จากผัสสะ แล้วเราก็จะเข้าใจว่า เห็นชัดว่ารากเหง้าของความทุกข์มันอยู่ที่ไหนโดยเฉพาะความทุกข์ใจ
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโตแสดงธรรมเย็นวันที่ 9 กันยายน 2564