แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ช่วงหลายเดือนมานี้ มีคนเดือดร้อนมากมายแทบทุกหัวระแหง ทั้งคนเจ็บคนป่วย และก็คนยากจนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการต่างๆที่สกัดกั้นโควิด ขณะเดียวกันก็มีหลายคนที่มีน้ำใจดี ก็พยายามทุ่มเทเพื่อช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นคนป่วยก็ดี คนที่ยากจน กลุ่มคนเปราะบางด้วยเรื่องยาบ้าง เรื่องอาหารความเป็นอยู่บ้าง
แล้วหลายคนก็พบว่า คนที่ตัวเองช่วย หรือคนที่ได้รับการช่วยเหลือ ก็ยังมีจำนวนน้อยอยู่ พยายามเท่าไหร่ๆก็ยังช่วยไม่ได้มากพอ มีคนหนึ่งออกปากขึ้นมาว่าเรายังทำงานไม่ดีพอ คำพูดนี้มีน้ำเสียงของการตำหนิตัวเอง แล้วก็มีความรู้สึกท้อแท้ ห่อเหี่ยว
ที่จริงคำพูดประโยคนี้เราทำงานไม่ดีพอ ถ้าหากว่าเราคิดแล้ว หรือมีความคิดแบบนี้เกิดขึ้นแล้ว มันทำให้เกิดความกระตือรือร้นที่จะทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม มันก็ดีอยู่หรอก แต่ถ้าคิดแล้วทำให้จิตใจห่อเหี่ยว สิ้นเรื่ยวสิ้นแรง จนกระทั่งรู้สึกท้อแท้ ถ้าเป็นแบบนี้ก็ไม่ควรเสียเวลาให้กับความคิดแบบนี้มากนัก
มันก็มีสิทธิ์คิดขึ้นมาได้ แต่ว่าถ้าคิดแล้ว บั่นทอนพละกำลัง บั่นทอนกำลังใจ ทำให้ไม่ค่อยมีเรี่ยวมีแรงช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก ก็ไม่ควรจะให้ความคิดแบบนี้มาอ้อยอิ่งอยู่กับจิตใจของตัวเองนานเกินไป ก็ในเมื่อเราอยากจะช่วยคนทุกข์คนยาก แล้วจะปล่อยให้ความคิดมาบั่นทอนจนทำให้เราไม่มีเรี่ยวมีแรงที่จะช่วยคนเหล่านั้น ก็ถือว่ามันกลายเป็นสวนทางกัน
ที่จริง ถ้าหากมีความคิดแบบนี้ขึ้นมา แล้วมาใคร่ครวญว่า เราจะทำให้ดีขึ้นกว่านี้ได้อย่างไร มีตรงไหนที่เรายังทำไม่ดีพอ มีตรงไหนที่เราบกพร่อง มีตรงไหนที่เรายังไม่ได้ทำ แบบนี้ดีถ้าคิดขึ้นมาแล้วเกิดการใคร่ครวญ มันก็จะช่วยให้เราทำสิ่งที่มุ่งมาดปรารถนาได้ดีขึ้นคือการช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก
แต่ถ้าคิดขึ้นมาแล้ว บั่นทอนทำให้ห่อเหี่ยว ทำให้ท้อแท้ จนกระทั่งไม่มีแรงจะทำงานเพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน แบบนี้มันไม่ถูก อย่างนี้เรียกว่าคร่ำครวญ ใคร่ครวญกับคร่ำครวญมันต่างกัน ประโยคเดียวกันมันก็นำไปสู่การใคร่ครวญก็ได้ เพื่อทำให้ดีขึ้น หรือทำให้ดียิ่งขึ้นไปกว่านี้ แต่ถ้าคร่ำครวญ มันกลับจะทำให้เราทำงานได้แย่ลงเพราะว่าจิตใจห่อเหี่ยว ไม่มีกำลังใจ
ถามว่าทำไมจึงรู้สึกห่อเหี่ยวกับการทำงาน จนบางทีอาจจะรู้สึกถึงความท้อแท้ สาเหตุสำคัญก็คงเป็นเพราะว่ามีความตั้งใจมากไป หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งว่ามีความอยาก อยากจะช่วยเหลือชาวบ้านมากไปความอยากจะช่วยเหลือชาวบ้านผู้ตกทุกข์ได้ยาก มันก็ดี ทำให้เราพยายามทุ่มเทพละกำลังทุ่มเทความเสียสละ
แต่ถ้าไปยึดติดถือมั่นกับความอยากนั้น มันก็อดไม่ได้ จากความอยากช่วยเหลือ มันก็ไปจดจ่ออยู่ที่ผลงาน อยากให้งานสำเร็จ อยากให้งานเราช่วยเหลือชาวบ้านได้มากๆ จากความอยากช่วย มันกลายเป็นความอยากจะเห็นผลงานที่สำเร็จ กว้างขวาง ตรงนี้แหละที่เป็นปัญหา
เพราะพอพบว่า ยังช่วยเหลือคนไม่ได้มากพอ มันก็เกิดความรู้สึกผิดหวังขึ้นมา ผิดหวังถ้าตั้งสติได้ มาพิจารณาใคร่ครวญว่าเราจะทำให้ดีขึ้นกว่านี้ได้อย่างไร คิดแบบนี้ดี แต่ถ้าผิดหวัง เกิดความรู้สึกท้อแท้ตามมา สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือไม่มีเรี่ยวไม่มีแรงที่จะทำงาน บางทีถึงกับท้อแท้ หรือเลิกกลางคันไปเลย กลายเป็นว่าความอยากจะช่วยชาวบ้านลงเอยด้วยการไม่ทำอะไรเลย เพราะว่าหมดอาลัยตายอยากหรือท้อแท้
อันนี้เป็นสิ่งที่มักเกิดขึ้นอยู่เสมอกับคนที่เวลาทำอะไรแล้ว แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ว่าไปยึดติดถือมั่นกับความอยากที่จะช่วยเหลือ หรืออยากจะทำงานให้เกิดความสำเร็จ พอมันเลื่อนจากความอยากทำ กลายเป็นอยากจะเห็นความสำเร็จ ตรงนี้แหละคือ สิ่งที่จะทำให้เกิดอาการเหวี่ยงไปในทางตรงกันข้ามได้ คือพอไม่เห็นความสำเร็จ หรือว่าไม่สำเร็จอย่างที่ตัวเองคาดหวัง มันก็เกิดความผิดหวัง
ผิดหวังแล้วก็เกิดความห่อเหี่ยว สิ้นเรี่ยวสิ้นแรง สุดท้ายก็ท้อแท้แล้วก็เลิกไปเลย หรือถ้าไม่เลิก ก็ทำอย่างซังกะตาย ก็กลายเป็นว่ากลับช่วยเหลือชาวบ้านได้น้อยลง ทั้งๆที่บอกว่าจะทำให้ได้มากกว่านี้ แต่ว่ายิ่งทำกลับยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ ทั้งความรู้สึกและคุณภาพของงาน
การทำอะไรก็ตามด้วยความยึดติดถือมั่นในสิ่งนั้น โดยเฉพาะไปยึดติดหรือคาดหวังกับความสำเร็จ ทีแรกมันอาจจะทำให้เรามีกำลังใจ ฮึกเหิม แต่สุดท้ายก็อาจจะทำให้เกิดผลตรงข้ามคือ เกิดความห่อเหี่ยว แล้วก็เลยไม่ได้ทำอย่างที่ตั้งใจไว้
เหมือนกับคนที่รักป่า ทุ่มเทกับการปลูกป่า สนับสนุนให้มีการอนุรักษ์ป่ามากๆ บางทีก็ลงมือไปปลูกป่าด้วยตัวเอง จะเรียกว่าไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก แต่วันดีคืนดี ป่าถูกไฟเผา ไฟผลาญป่าไปอาจจะไม่ใช่ครั้งเดียวแต่หลายครั้ง ปีแล้วปีเล่า ความรักป่า อยากเห็นป่าเจริญ เขียวขจี แต่พอเจอสภาพเช่นนี้ ยิ่งรักมากเท่าไร ยิ่งคาดหวัง ผูกพันยึดติดถือมั่นกับป๋ามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งผิดหวังมากเท่านั้น สุดท้ายก็ท้อ ไม่มีเรี่ยวไม่มีแรง
ที่จริง ถ้ารักป่าจริง ไม่มีสิทธิ์ท้อ หรือว่าจะท้อได้บ้าง แต่ว่าก็ต้องกลับมา ลุกขึ้นมา ถ้ารักษาป่าแล้วท้อ มันก็ไม่ถูกหรือมันก็ไม่สมควร เพราะว่าพอท้อแล้ว ก็ทำให้นิ่งดูดายกับการปลูกป่า รักษาป่า ซึ่งมันก็เป็นสิ่งตรงข้ามกับความรักป่า ถ้ารักป่าก็ต้องเกิดความกระตือรือร้นที่จะลุกขึ้นมาทำทุกอย่างเพื่อรักษาป่า ทั้งปลูกป่าและป้องกันไฟป่า
แต่ก็เป็นธรรมดาของคนเรา ที่ยึดมั่นถือมั่นมากๆกับอะไรก็ตาม มันก็จะมีโอกาสที่จะสวิงกลับไป หรือเหวี่ยงตีกลับเป็นตรงกันข้าม จากที่เคยกระตือรือร้นเป็นความท้อแท้ สิ้นเรี่ยวสิ้นแรง แล้วก็นิ่งดูดาย มันเป็นอย่างนี้อยู่เสมอกับความยึดติดถือมั่นไม่ว่าอะไรก็ตาม
ที่วัดป่าแห่งหนึ่ง ชาวบ้านชอบมาหาเห็ดเก็บเห็ดในป่า คล้ายๆกับที่นี่ แต่ว่าวัดนั้นมีป่าใหญ่กว่า แล้วก็ชาวบ้านหลายคนแม้ว่าเห็ดยังโตไม่เต็มที่ก็เก็บ แม่ชีคนหนึ่งเห็นแล้วรู้สึกว่าทนไม่ค่อยได้ เพราะทำแบบนี้มันเห็นแก่ตัว ถ้าปล่อยไว้สักหน่อย เห็ดก็จะโต ถึงแม้ตัวเองไม่ได้เก็บ คนอื่นก็มาเก็บ แต่นี่ไปเก็บก่อนเขา ทั้งๆที่ยังโตไม่เต็มที่ มันก็กลายเป็นความสูญเปล่า
เพราะว่าพอเก็บเห็ดที่ยังโตไม่ได้ที่ก็ต้องทิ้งไป ถ้าไม่ทำอะไร ไม่เก็บ ก็เปิดโอกาสให้คนอื่นมาเก็บแทน แม่ชีก็พยายามพูดกับชาวบ้าน ขอร้องก็แล้ว บางทีถึงกับขู่สารพัด บางครั้งพูด ชาวบ้านก็รับปาก แต่พอเผลอก็ไปเก็บเห็ดที่ยังไม่โตเต็มที่ ก็โมโหมาก พยายามทุกวิถีทางที่จะให้ชาวบ้านทำตามที่ว่านั้นแต่ก็ไม่สำเร็จ
วันหนึ่ง แม่ชีก็ไปเก็บเห็ดเพื่อทำอาหารถวายพระ ก็ไปเจอเห็ดกลุ่มหนึ่งเพิ่งโต ทีแรกก็เดินผ่าน แต่สักพักก็นึกมาได้ว่า ถ้าชาวบ้านมาเห็นก็คงเก็บเห็ดนี้ไป ซึ่งเป็นสิ่งที่แม่ชีทนไม่ได้ ทำอย่างไรที่จะไม่ให้ชาวบ้านมาเก็บเห็ดกลุ่มนี้ที่โตไม่เต็มที่
สุดท้ายก็มีความคิดหนึ่งเกิดขึ้น แม่ชีก็ไปเก็บเห็ดนั้นเสียเลย ดึงออกมาเลย แล้วก็วางไว้ข้างๆต้นไม้ คล้ายๆว่าในเมื่อห้ามไม่ได้ ก็อย่าหวังว่ามาเก็บเห็ดที่ยังไม่โตเต็มที่ ก็กลายเป็นว่าห้ามชาวบ้าน แต่ตัวเองทำเสียเอง
อันนี้เพราะอะไร เพราะว่าความยึดมั่นถือมั่นว่า จะไม่ให้ชาวบ้านทำเด็ดขาด แต่สุดท้ายตัวเองก็ทำเอง เพราะว่าเพื่อกีดกันไม่ให้ชาวบ้านกลุ่มนี้มาทำในสิ่งที่ตัวเองไม่เห็นด้วย หรือทำในสิ่งที่ตัวเองว่าไม่ถูกต้อง แต่สุดท้าย ตัวเองกลับทำเอง อันนี้เป็นธรรมชาติของความยึดติดถือมั่น พอยึดมากๆเข้า แล้วมันไม่เป็นไปอย่างที่ยึด มันก็จะเหวี่ยง สวิงไปอีกทางหนึ่ง
เพราะฉะนั้น เวลาทำงาน แม้จะทำสิ่งที่ดี เราก็ต้องอย่าไปยึดติดถือมั่นกับสิ่งที่ทำมากนัก โดยเฉพาะการที่ไม่ไปยึดติดกับผลของงาน หรือความสำเร็จ เพราะถ้าไปยึดติดถือมั่นกับผลงานหรือตัวงานนั้นเอง มันก็อาจจะเกิดความทุกข์ได้ง่าย หรือเกิดการกระทำ พฤติกรรมที่เกิดผลเสียหายตามมา
อย่างที่ท่านอาจารย์พุทธทาสสอนไว้ว่า จงทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง ยกผลงานให้ความว่างทุกอย่างสิ้น ความหมายก็คือว่า เวลาทำงานก็อย่าไปยึดติดกับผลงาน มันจะได้เท่าไหร่ก็อย่าไปวิตกกังวลกับมัน ขอให้ทำเต็มที่ก็แล้วกัน เมื่อประกอบเหตุให้ดี ผลก็ย่อมเกิดขึ้นตามมา ถ้าไปจดจ่ออยู่ที่ผล มันก็อาจจะก่อผลเสียให้กับผู้กระทำอย่างที่ยกตัวอย่างข้างต้น
ที่จริงนอกจากไม่ยึดติดในผลงานแล้ว ก็ไม่ควรจะยึดติดในตัวงานนั้นด้วย จริงอยู่การยึดติดในงาน อย่างเช่นยึดติดว่างานนี้คือ กู ของกู มันก็มีประโยชน์คือ มันทำให้คนรับผิดชอบ คนที่ไม่รับผิดชอบกับงานทั้งหลายแหล่เพราะเขาไม่ได้คิดว่างานนี้ไม่ใช่ของกู ของฉัน หรือว่าไม่ได้ยึดติดว่า งานนี้คือกู
แต่ว่าการยึดติดแบบนี้ ก็มีผลเสีย เพราะว่า เวลาใครมาแตะงานของกู ก็เหมือนกับว่ามากระทบตัวกู ใครจะวิจารณ์ ใครจะแนะนำที่มีผลต่องาน ก็ไม่ชอบ เพราะถือว่างานของกู หรือไม่เช่นนั้น งานก็คือกู การยึดติดแบบนี้ในแง่หนึ่งทำให้เกิดความขยันหมั่นเพียร แต่อีกแง่หนึ่งมันก็เป็นข้อเสียตามมา ถ้าเกิดว่างานไม่เป็นไปดั่งใจหวัง ไม่ว่าตัวงานหรือผลงานก็ตาม
หลวงพ่อคำเขียนก่อนที่ท่านจะมาสอนกรรมฐานที่นี่เป็นจริงเป็นจัง ท่านก็ทำงานช่วยเหลือชาวบ้านเย่อะ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจเรื่องทำมาหากิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสหกรณ์ข้าวที่ท่ามะไฟหรือที่นี่ ตรงนี้เป็นพุทธเกษตร หลวงพ่อท่านชักชวนชาวบ้านมาปลูกพืชเกษตรผสมผสาน ปลูกผักปลูกผลไม้เพื่อทดแทนการปลูกมัน ซึ่งมีแต่ทำให้ยากจนเพราะเป็นหนี้
ท่านทำที่นี่เป็นแบบอย่าง ปลูกพืชไม้ผล ปลูกผัก แล้วก็ชวนชาวบ้านมาปลูก แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไร เคยมีคนถามหลวงพ่อว่ามองงานของหลวงพ่อว่าอย่างไรบ้าง สำเร็จหรือล้มเหลว หลวงพ่อตอบว่า งานของหลวงพ่อล้มเหลว แต่ตัวหลวงพ่อไม่ล้มเหลว งานล้มเหลวแต่ตัวไม่ล้มเหลว
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่า ท่านไม่ได้เอาตัวไปผูกติดกับงาน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ท่านไม่ยึดว่างานนี้เป็นตัวกูของกู ท่านทำงานแบบว่าไม่มีตัวกูเลยก็ว่าได้ การทำงานแบบไม่มีตัวกู ถึงงานจะล้มเหลว มีอุปสรรคอย่างไร ใจก็ไม่กระเทือน
คนที่เอาตัวกูไปผูกติดกับงาน พองานล้มเหลวก็รู้สึกว่าตัวกูล้มเหลวด้วย อันนี้ก็ทำให้เกิดความทุกข์ แล้วสุดท้ายก็ไม่มีเรี่ยวไม่มีแรงที่จะทำงานนั้นๆ ทั้งๆที่อยากจะช่วยฟื้นฟูป่า แต่สุดท้ายก็ท้อแท้ เลิกกลางคัน เพราะว่าความยึดมั่นถือมั่น อย่างที่ว่ามา
ถ้าเราทำงานโดยที่ไม่ยึดว่าเป็นกูของกู มันจะเป็นสิ่งที่ดีมาก ซึ่งก็อยู่ในวิสัยที่เราทำได้ คนเราไม่จำเป็นว่าต้องทำงานเพราะว่าเป็นของกู หรือเพราะคิดว่างานเป็นตัวกู แต่ทำงานเพราะว่ามีเมตตากรุณา ทำงานเพราะเห็นว่างานมีประโยชน์มีคุณค่า
ก็เหมือนกับป่า ถึงแม้ไม่ใช่ป่าของเรา หรือป่าของกู ก็ดูแลเอาใจใส่มันอย่างจริงจังได้ เพราะเห็นว่ามันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม หรือเพราะเป็นการตอบแทนคุณป่าที่ให้ที่พักพิง ให้ความสงบร่มเย็นแก่เรา มันมีหลายเหตุผลที่เราจะรักษาป่า โดยที่ไม่ได้ยึดว่าป่าเป็นของกู หรือว่าเป็นตัวกู
ก็เช่นเดียวกับงานอื่นๆก็เหมือนกัน และนอกจากการไม่ยึดติดในผลงาน หรือไม่ยึดติดในตัวงาน ถึงเวลาเลิกงาน ถึงเวลาที่จะพักจากงาน ก็สามารถที่จะวางได้
สมัยที่ท่านอาจารย์พุทธทาสอยู่ อาจารย์สร้างอาคารแต่ละหลัง ใช้เวลาหลายปี เป็นสิบกว่าปีมี อย่างเช่น โรงมหรสพใช้เวลาถึง 15 ปี ท่านสร้างอาคารธรรมนาวา เป็นอาคารรูปเรือ เป็นที่เก็บน้ำฝน เป็นที่ประชุม ถ้าเกิดฝนตก ลานหินโค้งใช้ไม่ได้ ก็มาใช้อาคารที่เป็นโรงเรือ การก่อสร้างอาคารก็ใช้เวลานาน ใช้กำลังจากพระและเณร
คราวหนึ่งมีโยมคนหนึ่งมากราบท่านแล้วก็ถามท่านว่า พระอาจารย์ โรงเรือเสร็จหรือยัง ท่านบอกว่าเสร็จแล้ว ชายคนนั้นก็ดีใจ แต่ก็นึกขึ้นมาได้ว่าเมื่อ 2-3 เดือนก่อน มาสวนโมกข์ เรือก็ยังสร้างไปไม่มากเท่าไหร่ ทำไมเสร็จเร็วนัก พอเข้าไปดูสถานที่ ก็ยังเห็นว่ายังสร้างไม่เสร็จเลย อีกตั้งเย่อะ ก็เลยกลับมาถามท่านอาจารย์พุทธทาสว่า ไหนว่าโรงเรือเสร็จแล้ว ยังไปได้แค่ครึ่งเดียว
ท่านอาจารย์พุทธทาสก็ตอบว่าเสร็จแล้ว เสร็จจริงๆ วันนี้เสร็จ พรุ่งนี้ก็เสร็จ มะรืนก็เสร็จ เสร็จทุกวัน ท่านหมายความว่าอย่างไร หมายความว่า คนเราเวลาทำงาน ถ้างานยังไม่เสร็จ ก็เก็บเอามาค้างคา วิตกกังวลอยู่ในใจ แต่ท่านอาจารย์พุทธทาสเห็นว่า ที่จริงแล้วไม่ว่างานจะเสร็จหรือไม่ แต่ถึงเวลาพักงาน วางฆ้อนวางเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆลง
เท่านั้นไม่พอ ต้องวางงานออกจากใจด้วย ถ้าเก็บเอามาคิดเอามากังวลก็ไม่มีประโยชน์ มันทำให้ไม่มีใจอยู่กับสิ่งอื่นที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบันขณะได้ คนเรารู้จักวางงานแบบนี้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายของงาน ไม่ไปจดจ่อกับมันมาก แล้วก็ไม่ยึดว่างานเป็นกู เป็นของกู เวลาทำงานเสร็จหรือไม่เสร็จ พอถึงเวลาพักก็วางงานนั่นลง มันจะช่วยทำให้มีเรี่ยวมีแรงไปทำงานต่อได้เยอะ
หลายคนทำงานเพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน หรือช่วยคนเจ็บป่วย ถึงเวลาพักผ่อนก็นอนไม่หลับ เพราะยังคิดถึงงานที่ยังค้างคาอยู่ หรือบางทีรู้สึกผิดด้วยที่จะมานอนพัก ในขณะที่ยังมีคนที่เดือดร้อนอีกมากมาย แต่พอไม่นอนพักเต็มที่ ก็ไม่มีเรี่ยวไม่มีแรงที่จะไปทำงานให้มันดี เผลอๆทำงานผิดพลาดเพราะว่าเพลียหรือเพราะง่วง ในทางตรงข้ามถ้านอนพักเต็มที่ ไม่ได้พักกายอย่างเดียว พักใจด้วย
เพราะว่าพอวางงานนั้นลง ก็จะนอน พักผ่อนได้เต็มที่ ตื่นขึ้นมาก็มีเรี่ยวมีแรงที่จะทำงานต่อได้ เพราะฉะนั้น การวางหรือปล่อยวางอย่างที่ท่านอาจารย์พุทธทาสพูดว่า ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง มันไม่ใช่ดีต่องานเท่านั้น มันดีต่อจิตใจของเรา ซึ่งเป็นผู้กระทำด้วย และก็เป็นการฝึกลดละอัตตาไปในตัว ลดละความยึดติดถือมั่นไปในตัว มันเป็นทั้งงานภายในและก็ส่งเสริมเกื้อกูลงานภายนอกด้วย
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 8 กันยายน 2564