แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ทุกเช้าทุกเย็น เราก็สวดสรรเสริญคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเฉพาะคุณพระธรรมหรือธรรมคุณ มีข้อหนึ่งที่น่าพิจารณา โอปะนะยิโก เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว อันนี้มีความหมายว่าอย่างไร
ความหมายหนึ่งที่สำคัญก็คือว่า ธรรมะที่เราได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่าน ได้เห็น จากการประพฤติปฏิบัติของครูบาอาจารย์ รวมทั้งจากการแสดงธรรมของท่านจะมีความหมายก็ต่อเมื่อ เราน้อมนำธรรมะมาให้เกิดขึ้นกับเนื้อตัวเราหรือว่าให้เกิดขึ้นกับจิตใจของเรา ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นสิ่งที่ไม่มีความหมายต่อเราเท่าไร
ถึงแม้ว่าเราจะได้ยิน ได้ฟังมากมาย ถ้าไม่น้อมนำธรรมะที่รู้ที่ได้ยินได้ฟังเอามาปฏิบัติให้เกิดขึ้นกับตัวเอง ก็ไม่ได้ช่วยทำให้ชีวิตของเราเกิดความเจริญงอกงาม เพราะว่ามีสันติสุขหรือว่าช่วยแก้ทุกข์ของเราได้ มันอาจจะมีประโยชน์ในเรื่องของการทำมาหากิน หรือว่าเอาไปพูดเพื่อแสดงถึงความสามารถของตน แต่บางครั้งก็กลายเป็นโทษ เพราะว่าไปทำให้กิเลสเฟื่องฟู เกิดทิฏฐิมานะมากขึ้น
เพราะฉะนั้น ธรรมะไม่ว่าจะอยู่ในระดับใด ระดับพื้นๆเช่น ความกตัญญู ความอดทน ความเพียร จนไปถึงธรรมขั้นสูงโดยเฉพาะเป็นระดับสัจธรรม จะเป็นธรรมะอย่างแท้จริงต่อเมื่อนำมาปฏิบัติให้เกิดผลกับตัวเองทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในจิตใจของเรา หรือทำให้ใจของเราได้น้อมเข้าถึงธรรมที่ว่า
อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราได้ยินได้ฟังมาบ่อยที่ครูบาอาจารย์บอกว่าธรรมะไม่เกิดประโยชน์ถ้าเราไม่ทำ เอาไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นกับจิตกับใจ รวมทั้งกับการกระทำของตัวเอง
อีกความหมายหนึ่งของโอปะนะยิโกก็คือว่าเมื่อเราเห็นรับรู้สิ่งใดก็ตาม เราก็สามารถที่จะน้อมนำให้มาเป็นเครื่องสอนใจของเรา หรือว่าเป็นเครื่องเตือนใจเรา หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า รู้จักน้อมเอาสิ่งต่างๆมาเป็นธรรมที่ช่วยให้เรามีคุณภาพจิตที่ดีขึ้นหรือว่ามีคุณธรรมมากขึ้น
การบรรลุธรรมะของพระสงฆ์สาวก รวมทั้งคฤหัสถ์หลายท่านในสมัยพุทธกาลเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะว่าหลายท่านก็ไม่ได้บรรลุธรรมในขณะที่ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า หรือว่าจากการบำเพ็ญกรรมฐาน แต่เกิดจากการที่ได้พบได้เห็นบางสิ่งบางอย่างที่อยู่รอบตัว หรืออยู่นอกตัว แล้วก็น้อมเข้ามาใส่ตัว จนเกิดความเข้าใจในธรรมะ หรือว่าเกิดธรรมะเจริญงอกงามมากขึ้น
อย่างพระนางเถริกาไปทำครัว ตั้งหม้อแกงเอาไว้ แต่ว่าวันนั้นไฟแรง ไฟก็เผาน้ำในหม้อจนแห้ง แผดเผาหม้อจนกระทั่งเสียงดังเปี๊ยะๆ พระนางเถริกาได้ยินก็พิจารณาเห็นว่าหม้อกำลังเกือบจะแตกแล้ว แต่แทนที่จะเกิดความรู้สึกเสียดายหรือตื่นตกใจ แต่นางกลับมองว่าหม้อนี้แสดงให้เห็นถึงความไม่คงทนเพราะพร้อมที่จะแตกร้าวแล้ว
ท่านก็น้อมเข้ามาใส่ตัวว่า เราก็จะเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน คือไม่เที่ยง ก็คือทุกข์ แล้วท่านก็เห็นความเป็นอนัตตา จิตก็สว่างโพลง หลุดพ้น จนเป็นอนาคามีจากการที่ได้เห็นหม้อกำลังจะแตกเพราะถูกไฟแผดเผา เป็นภาพธรรมดา แต่ว่าเมื่อท่านไม่ได้มองเปล่าๆ น้อมเข้ามาเป็นธรรมะเห็นสัจธรรมคือ ไตรลักษณ์
พระปฏาจาราเถรี ท่านบวชแล้วมาปฏิบัติอย่างจริงจัง ทำความเพียรอย่างต่อเนื่อง คืนหนึ่งตกค่ำท่านจะขึ้นกุฏิ เอาน้ำในโอ่งมาล้างเท้า ขันแรกน้ำก็ไหลไปนิดหน่อย ขันที่ 2 น้ำก็ไหลไปไกล ขันที่ 3 น้ำก็ไหลไปไกลยิ่งกว่าเดิม มันก็เป็นภาพธรรมดา แต่ท่านมองแล้วน้อมเข้ามาให้เห็นเป็นธรรมะ
ท่านก็มองว่า นี่ก็เหมือนกับชีวิตของคนเรา บางคนอายุสั้นตั้งแต่เด็ก บางคนก็ตายตอนวัยกลางคน แต่บางคนก็ตายในวัยชรา ใจก็น้อมไปถึงความเป็นอนิจจังของชีวิตผู้คนทั้งหลาย แล้วพอสักพักจะขึ้นกุฏิ ก็จุดประทีป พอไปถึงที่นอน ท่านก็หมุนไส้ของประทีปจนกระทั่งไฟดับ ในชั่วขณะนั้น ท่านก็น้อมเข้ามาว่า เมื่อไม่มีเชื้อ ไฟก็ดับ ฉันใดก็ฉันนั้นเมื่อหมดกิเลส จิตก็หลุดพ้นหมดสิ้นซึ่งการเกิดการดับอีกต่อไป
ท่านก็โยงเข้ามาตนเอง ในชั่วขณะนั้นจิตก็หลุดพ้นเลย เป็นพระอรหันต์ คือไม่ใช่เพียงแค่มองเห็นว่าไฟมันดับ แต่ว่าน้อมเข้ามาเตือนใจให้เห็นถึงความเป็นจริงที่ว่า เมื่อหมดกิเลส ความทุกข์ก็ดับสนิท หมดสิ้นซึ่งการเกิดการตายต่อไป
มีลูกศิษย์ของท่านสารีบุตรท่านหนึ่ง ท่านทำความเพียรแต่ว่าไม่บรรลุธรรมสักที พระสารีบุตรก็เลยพาพระรูปนี้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็รับพระรูปนี้มา แล้วก็พาไปที่ริมฝั่งน้ำ มีดอกบัวขึ้นมากมาย แล้วก็มีดอกบัวดอกหนึ่งมีคนเด็ดทิ้งไว้ที่ริมฝั่ง พระพุทธเจ้าก็เอาดอกบัวนั้นมาปักที่กองทราย แล้วก็ให้พระพิจารณาดูความสวยงามของดอกบัวไปนานๆก็คงเป็นชั่วโมงหรือหลายชั่วโมง
ดอกบัวที่เคยสวย มันก็ค่อยๆเหี่ยว ท่านเห็นความเหี่ยวของดอกบัวที่เคยสวยงามแล้วมันก็ใกล้จะร่วงโรย ท่านไม่ได้เพียงแค่เห็นความเป็นอนิจจังของดอกบัว แต่ว่าน้อมเข้ามาสู่ตัวเองก็เห็นความเป็นอนิจจังของสังขารของท่าน เห็นไปถึงเรื่องความเป็นทุกขังของอนัตตา ปรากฏว่าจิตก็หลุดพ้นเลย เพราะว่าเห็นแจ้งเห็นความจริงในพระไตรลักษณ์
ท่านเหล่านี้ท่านได้บรรลุธรรมเพราะว่ารู้จักมองสิ่งภายนอกที่ปรากฏแก่สายตา ไม่ได้มองเปล่าๆ แต่น้อมเข้ามาสู่ตัวหรือเข้ามาใส่ตัว มันก็กลายเป็นธรรมได้ทั้งนั้น ความเสื่อมความร่วงโรยของดอกบัวก็มาสอนให้เรามาสอนให้ท่านเห็นสัจธรรมของสังขารของตัวเอง เช่นเดียวกับหม้อที่กำลังจะแตกร้าว
นอกจากการน้อมเข้ามาสู่ตัว จนกระทั่งเห็นสัจธรรมแล้ว หลายท่านก็รู้จักน้อมเข้ามาใส่ตัว จนกระทั่งเกิดความมุ่งมั่นในการทำความเพียร หรือว่าตระหนักถึงสิ่งที่ควรประพฤติปฏิบัติ หรือจะเรียกว่าเป็นจริยธรรมก็ได้
อย่างมีสามเณรลูกศิษย์ของพระสารีบุตร เดินบิณฑบาตยามเช้า กว่าจะถึงหมู่บ้านก็เห็นชาวนาไขน้ำเข้านา พอเดินเข้าไปในหมู่บ้านก็เห็นช่างธนูกำลังดัดลูกศร สักพักก็เห็นช่างไม้กำลังถากไม้ ก็เป็นภาพธรรมดา แต่ว่าสามเณรมองแล้วเกิดคำถามขึ้นมาว่า คนเรานี้ถ้าไม่มีถ้าดัดแปลงสิ่งภายนอกเช่นน้ำ ลูกศรหรือว่าไม้ อันนั้นเป็นหน้าที่ของเขาแล้วเราล่ะ เราควรจะทำอะไร ก็ได้คำตอบว่า เราก็ควรฝึกฝนตน
แล้วท่านก็คิดต่อไปว่า สิ่งเหล่านี้ น้ำก็ดี ลูกศรก็ดี ไม้ก็ดี ไม่มีจิตใจยังสามารถนำมาดัดแปลงให้เกิดประโยชน์ แล้วคนเราที่มีจิตมีใจ เหตุไฉนจะไม่สามารถดัดแปลง หรือว่าให้เป็นไปอย่างที่ปรารถนาได้ ก็เลยเกิดความตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำความเพียรฝึกตน ก็เลยขอลาพระสารีบุตรไปทำความเพียรที่วิหาร แล้วก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในเช้าวันนั้น
อันนี้คือภาพธรรมดาๆ แต่ว่าเมื่อรู้จักมองน้อมเข้ามาใส่ตัว คนอื่นเขาจะดัดแปลงสิ่งภายนอกได้ เราล่ะควรจะทำอย่างไร อันนี้ก็เลยเป็นที่มาของภาษิตในธรรมบทว่า ชาวนาไถน้ำเข้านา ช่างธนูดัดลูกศร ช่างไม้ถากไม้ ส่วนบัณฑิตย่อมฝึกตน
มีภิกษุณีบางท่าน ท้อแท้กับการปฏิบัติ คลายความเพียร แต่ก็บังเอิญไปเห็นควายตกหล่ม ก็พยายามที่จะขึ้นจับหล่มให้ได้ มันพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าเป็นชั่วโมงชั่วโมงมันก็ไม่ยอมท้อถอยไม่เลิกความเพียร ท่านเห็นท่านก็น้อมเข้ามาใส่ตัวเลยว่า ขนาดเดรัจฉานอย่างควายยังมีความเพียรขนาดนี้ แล้วเราล่ะทำไมจะย่อท้อ ท้อถอย ท่านก็เกิดความเพียรขึ้นมา สุดท้ายก็บรรลุธรรม
อันนี้ท่านก็ได้อาศัยควายเป็นอาจารย์ก็ได้ ท่านก็ได้พูดอย่างนั้น เหมือนกับสามเณรที่ชาวนา ช่างธนู ช่างไม้ที่มาสอนมาเตือนให้เห็นว่า ตัวเราเองควรจะมีหน้าที่อะไร หรือควรจะทำอะไร อันนี้เป็นตัวอย่างของการน้อมเข้ามาใส่ตัว คือ น้องจนเห็นธรรมหรือเป็นธรรมะขึ้น ธรรมะไม่ใช่แปลว่าต้องมาจากพระไตรปิฎก หรือว่าคำสอนที่เป็นภาษาบาลี หรือมาจากคัมภีร์
บางทีสามัญธรรมดาในชีวิตประจำวัน ถ้าน้อมเข้ามาใส่ตัวให้ถูกก็เป็นธรรมะได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นหรือสิ่งที่ปรากฏแก่สายตาเป็นอะไร ถ้าเรารู้จักน้อมเข้ามาใส่ตัวก็เป็นธรรมะ คนเมาที่ไม่รู้เนื้อรู้ตัว ถ้าเราน้อมเข้ามาใส่ตัวดีๆ ก็เป็นธรรมะ เห็นโทษของความหลง โทษของสุรา
หรือยิ่งกว่านั้นโทษของความไม่รู้เนื้อรู้ตัว เมาเหล้า ทำให้ทำสิ่งที่น่าเสื่อมเสียฉันใด เมากิเลสเมาอารมณ์ก็เป็นโทษไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันหรืออาจจะหนักกว่านั้นก็ได้ ถ้ามองไม่ถูกก็อาจจะตำหนิคนเมา ก็มีบางคนที่ไปตำหนิไปดูถูกคนเมาว่าเขาโง่สุดท้ายตัวเองก็กลายเป็นคนขี้เมา แล้วก็ตายเพราะเหล้า
อันนี้เพราะประมาท เพราะคิดว่ามันมีแต่คนโง่ที่ติดเหล้า คนอย่างฉันไม่มีทางหรอก พอประมาทแบบนี้เข้า ในที่สุดก็ติดเหล้า แล้วก็ตายเพราะเหล้า อันนี้เป็นเพราะว่าไม่รู้จักน้อมมาแสดงตัว มาเป็นเครื่องเตือนใจ ว่าเราอาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ ถ้าเราเผลอถ้าเราไม่ระมัดระวัง
เห็นคนโกรธ ทะเลาะกัน ด่าทอกัน แทนที่เราจะนึกสมเพชเวทนาคนเหล่านั้น หรือว่านึกตำหนิเขา เราก็น้อมเข้ามาใส่ตัวว่า ความโกรธมีโทษขนาดนี้เชียว มันทำให้คนลืมตัวได้ เพราะฉะนั้น เราต้องระวัง อย่าให้ความโกรธเข้ามาครอบงำใจ ถ้าเรามองอย่างนี้ คนที่กำลังโกรธและด่าทอก็เป็นครูให้กับเราได้ อันนี้เป็นตัวอย่างของการน้อมเข้ามาใส่ตัวจนเห็นเป็นธรรมะ
ใบไม้ร่วง ต้นไม้ล้ม ถ้าเรามองให้เป็นมันก็เห็นธรรมะ เป็นสิ่งที่มาสอนใจเรา ให้ตระหนักถึงถึงความไม่เที่ยง การน้อมเข้ามาใส่ตัว ก็คือการที่รับรู้สิ่งภายนอก แต่แทนที่จะรับรู้แบบส่งจิตออกนอก ส่งจิตออกนอกก็มีแต่ทำให้หลง แต่พอเรารู้จักน้อมมาใส่ตัว การรับรู้ภายนอกกลับจะเป็นประโยชน์
พุทธศาสนาแม้ท่านว่าสอนว่าอย่าส่งจิตออกนอก ก็ไม่ได้แปลว่าไม่ไปรับรู้สิ่งภายนอก ถ้าเรารับรู้สิ่งภายนอกให้เป็น น้อมเข้ามาใส่ตัวจนเกิดธรรมะ มันก็มีประโยชน์ทั้งนั้น นอกจากน้อมเข้ามาใส่ตัว สิ่งภายนอกก็มาช่วยอบรมคุณธรรมหรือคุณภาพจิตด้านใน
ในขณะเดียวกัน เมื่อเราน้อมเข้ามาใส่ตัวแล้ว เราก็ไม่ลืมที่จะหันมามองตนอยู่เสมอ ถ้าเรามองตนเป็นมองตนถูก คือ ดูกายดูใจ ดูความนึกคิดที่มันเกิดขึ้น ยอมรับสิ่งที่มันเกิดขึ้นด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่ผลักไส มันก็มีผลส่งผลทำให้พฤติกรรมภายนอกของเราเปลี่ยนไปได้ ในขณะที่สิ่งภายนอกสามารถจะเปลี่ยนด้านในของเรา
ในอีกด้านหนึ่งถ้าเรามองด้านในเป็น มันก็จะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของเราที่เกี่ยวข้องกับคนภายนอกหรือเกี่ยวข้องกับสิ่งภายนอกได้ อย่างเช่น ถ้าเราหมั่นดูใจเสมอ ก็จะเห็นว่ามันมีกิเลส มันมีความคิดอกุศลมากมายขึ้นในใจของเรา มันทำให้เรารู้จักอ่อนน้อมถ่อมตนมากขึ้น
และในขณะเดียวกันเมื่อเรามองไปยังคนภายนอก เราก็จะเข้าอกเข้าใจเขามากขึ้น ไม่ได้คิดว่าเราประเสริฐกว่าคนอื่น เพราะเราก็มีกิเลส มีความโลภ มีความโกรธ มีความอิจฉา คนที่ไม่มองตัวเอง ก็จะไม่เห็นกิเลสที่เกิดขึ้นในใจ ก็มีความสำคัญมั่นหมายว่า ฉันเป็นคนดี ฉันเป็นคนประเสริฐ
แต่ถ้าหากเรามองตัวเองอยู่เสมอ ก็จะเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ไม่ได้มองตัวเองว่าเป็นคนเลว แต่มองเห็นว่า มันมีกิเลส มันมีความคิดที่ชั่วร้าย หรืออารมณ์อกุศลผุดขึ้นมาอยู่ในใจเป็นครั้งคราวหรือบ่อยๆ มันก็ทำให้เราไม่หลงตัวลืมตน และในขณะเดียวกันเมื่อมองคนอื่น ก็จะเกิดความเข้าใจว่าเขามากขึ้นว่า เขาก็ไม่ได้แย่ไปกว่าเรา
ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยสอนว่า ให้เราจงทำกับเพื่อนมนุษย์ โดยคิดว่า เขาก็ตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสเหมือนเรา หรือว่า คำว่าตามใจตัวเองในบางเรื่องหรือบางครั้ง เขาก็มีโทสะ โมหะ ไม่น้อยไปกว่าเรา หรือว่าเขาก็มีความพลั้งเผลอในบางคราวเช่นเดียวกับเรา หรือว่าบางครั้งเขาก็ทำอะไรผลุนผลัน หรือว่าด้วยอารมณ์ชั่ววูบเหมือนเราในบางคราว
คือการที่เราจะมองเพื่อนมนุษย์แบบนี้ได้ มันก็เพราะเรารู้จักตัวเอง เราหมั่นมองตัวเอง เราก็จะเห็นว่าเราก็มีโลภะ โทสะ โมหะ เหมือนกัน เราก็มีความมักใหญ่ใฝ่สูง หรือว่าอยากดีอยากเด่นอยากดังเหมือนกัน เพราะฉะนั้นคนที่อยากเด่นอยากดัง ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ หรือน่าเกลียดอย่างไร หรือหน้าเหยียดหยาม
เพราะว่าเราก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน มันก็ทำให้เราเข้าใจผู้คนมากขึ้น และก็มีความเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น ไม่มีความรู้สึกรังเกียจเหยียดหยาม เพราะเห็นว่าเขาด้อยกว่าเรา เราดีกว่าเขา ถ้าเรารู้จักหมั่นมองตน ให้ถูกต้องและซื่อตรงต่อตัวเอง ก็จะพบว่า ผู้คนทั้งหลายก็ไม่ได้แย่ไปกว่าเรา และควรหมั่นน้อมให้เกิดความเมตตากรุณา เห็นอกเห็นใจมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยลดทิฐิมานะในตัวเรา ลดกิเลสด้วย หรือลดอัตตา
เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้จักมองให้เป็น เวลาเรามองภายนอก มันก็ไปเสริมคุณภาพจิตภายใน และถ้าเรารู้จักมองจิตมองใจของเราสม่ำเสมอ การที่เราเกี่ยวข้องกับผู้คนหรือการมองผู้คนรอบตัวมันก็จะเป็นไปในทางที่ดี ส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจ หรือว่าเกิดความเกื้อกูลในความเมตตากรุณากันมากขึ้น ซึ่งมันก็เป็นธรรมะติดอย่างหนึ่งที่เราไม่ควรลืม
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 7 กันยายน 2564