แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีอาจารย์กรรมฐานท่านหนึ่ง สำนักท่านมีชื่อมาก วันหนึ่งมีชายหนุ่มคนหนึ่งมาหาอาจารย์ท่านนี้ แล้วก็บอกว่าอยากจะมาอยู่สำนักของท่าน อาจารย์ก็ถามว่า วัตถุประสงค์คืออะไร ชายหนุ่มตอบว่าผมต้องการแสวงหาสัจธรรมครับ อาจารย์ก็เลยให้ไปหาบน้ำ ผ่าฟืน แล้วก็ทำความสะอาดครัวซึ่งเป็นเรือนหลังใหญ่ทีเดียว เนื่องจากเป็นสำนักปฏิบัติธรรมที่คนมาปฏิบัติมาก
ชายหนุ่มก็มีสีหน้าผิดหวังมาก สักพักก็กราบ แล้วก็เดินจากไป ไม่กลับมาอีกเลย ต่อมาก็มีชายหนุ่มอีกคนหนึ่งมาหาอาจารย์ท่านนี้ แล้วก็พูดคล้ายๆกับชายหนุ่มคนแรกคือ อยากจะมาปฏิบัติอยู่กับสำนักของท่าน อาจารย์ก็ถามวัตถุประสงค์การปฏิบัติของเขาเพื่ออะไร เขาบอกว่าเพื่อการพ้นทุกข์ ผมปรารถนาความดับทุกข์ อยากจะปฏิบัติให้ถึงเข้าพระนิพพาน ผมยอมปฏิบัติตามคำสั่งสอนของอาจารย์ทุกประการ
อาจารย์ก็เลยให้ไปหาบน้ำ ผ่าฟืน แล้วก็ทำความสะอาดครัว ชายคนนั้นก็ทำตามคำสั่งของอาจารย์ แต่หลังจากที่ทำไปได้ 2-3 วัน เขาก็หายไปไม่กลับมาอีกเลย
ชายหนุ่มสองคนนี้ ผิดหวัง ที่รู้สึกว่าอาจารย์ให้ไปหาหาบน้ำ ผ่าฟืน ทำความสะอาดครัว ทำไมอาจารย์ถึงทำเช่นนั้น อาจจะเป็นเพราะว่าอาจารย์ต้องการที่จะทดสอบหรือลองใจเขาว่า มีความตั้งใจจริงหรือเปล่าเอาแน่ไหม หรือว่าต้องการฝึกความอดทน เพราะว่าการที่จะค้นพบสัจธรรม หรือการดับทุกข์ ต้องอาศัยความเพียรมาก ต้องมีความเพียรเป็นเบื้องต้นก่อน ก็เลยให้ทำงานหนัก
หรืออาจจะเป็นเพราะว่า อาจารย์อยากจะลดความกระตือรือร้นของชายหนุ่มทั้งสองคน เพราะว่าทั้งสอง คนแสดงอาการเหมือนกับคนไฟแรง มีความกระตือรือร้นมาก ความกระตือรือร้นก็เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม จิตใจที่กระตือรือร้นหรือรุ่มร้อนมาก อาจจะทำให้ไม่สามารถที่จะเข้าถึงสัจธรรม
คล้ายๆกับที่พระพุทธเจ้าเจอการร้องขอของท่านพะหิยะที่เคยเล่าให้ฟัง พาหิยะเดินทางมาเป็นร้อยๆกิโลไม่ได้พักเลย หลับก็ไม่ได้หลับ จนกระทั่งมาพบพระพุทธเจ้าขณะที่บิณฑบาตที่สาวัตถี ขอร้องให้พระองค์แสดงธรรม พระองค์ก็ปฏิเสธว่ายังไม่ใช่เวลา ปฏิเสธถึง 3 ครั้ง
อันนี้ก็อาจจะเป็นพระองค์เห็นว่าพะหิยะมีความรุ่มร้อนมาก อยากจะบรรลุธรรมไวๆ ก็เลยชะลอเพื่อให้ใจสงบ พอใจสงบก็พร้อมที่จะฟังธรรม แล้วพอพระองค์แสดงธรรมสั้นๆ ท่านพาหิยะก็บรรลุธรรมทันที ได้ชื่อว่าเป็นเอตทัคคะด้านบรรลุธรรมเร็ว แต่ยังไม่ทันบวชก็เสียชีวิตเพราะโดนวัวแม่ลูกอ่อนขวิดตายในตลาด
ที่อาจารย์สำนักกรรมฐานแห่งนี้ ก็เช่นกัน อาจจะมีเหตุผลทำนองนี้ก็ได้ว่า อยากจะให้ใจเย็นลงสักหน่อยด้วยการให้ไปหาบน้ำ ผ่าฟืน เพื่อให้ใจได้พร้อมสำหรับการบรรลุธรรม ต่อมาไม่นานก็มีชายหนุ่มอีกคนหนึ่งมาหาอาจารย์ ชายหนุ่มคนนี้ผ่ายผอมมากบอกว่า อยากจะมาขอทำงานที่วัด เพื่อจะได้มีข้าวกิน มีที่คุ้มหัว เพราะยากจนมาก ขอทำงานแลกอาหารและที่พัก
อาจารย์ก็เลยให้ไปหาบน้ำ ผ่าฟืน ทำความสะอาดครัว ชายคนนี้ก็ยินดี จะให้ทำอะไรก็ยินดี พร้อมที่จะแลกเหงื่อเพื่อมีข้าวกิน แล้วก็ทำด้วยความขยันขันแข็ง ตอนหลังอาจารย์ก็แนะนำต่อไปว่า เวลาทำงานไม่ว่าจะหาบน้ำ ผ่าฟืน ปัดกวาดเช็ดถูทำความสะอาด ให้ตั้งใจทำ ให้ใจอยู่กับสิ่งที่ทำ อย่าวอกแวก วอกแวกเมื่อไหร่ก็ให้กลับมา ให้อยู่กับงานที่กำลังทำเฉพาะหน้า
ชายหนุ่มคนนั้นก็น้อมรับ แล้วก็ปฏิบัติตาม ทำงานหนัก ไม่ปริปากบ่น แล้วก็สำนึกถึงบุญคุณของสำนักขณะเดียวกัน ทำตามที่อาจารย์แนะนำไม่ว่าทำอะไรก็ทำอย่างมีสติ ทำด้วยความรู้สึกตัว ใจรับรู้อยู่กับการเคลื่อนไหว เวลาเผลอคิดไปก็มีสติรู้ทัน กลับมา ทำได้ไม่นานปรากฏว่าจิตก็สงบเป็นสมาธิ ไม่นานก็เกิดวิปัสสนาญาณ เห็นความจริงของกายและใจ เห็นความจริงของรูปและนาม
เรียกว่ายิ่งทำก็ยิ่งเห็นธรรมสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าใจธรรมะ แล้วก็บรรลุธรรมขั้นต้นเลยทีเดียว อันนี้เป็นคำตอบก็ได้ที่ทำไมที่อาจารย์ให้ชายทั้งสามคนไปหาบน้ำ ผ่าฟืน ไม่ใช่เพียงเพราะว่าต้องการทดสอบหรือว่าลองใจ ไม่ใช่เพียงเพราะต้องการฝึกความอดทน หรือว่าดับความรุ่มร้อน แต่เพราะอาจารย์เห็นว่าการหาบน้ำ ผ่าฟืน การปัดกวาดเช็ดถู ก็สามารถทำให้คนเห็นสัจธรรมได้หรือว่าเข้าถึงวิถีการหลุดพ้นได้
ชายหนุ่มคนที่ 3 ไม่ได้ต้องการแสวงหาสัจธรรมอะไรเลย ไม่ได้ต้องการหลุดพ้นจากความทุกข์ แค่ต้องการมีข้าวกิน มีที่ซุกหัวนอน แต่ว่าเมื่อได้ทำตามที่อาจารย์แนะนำ ไม่ใช่ทำแค่หาบน้ำ ผ่าฟืน แต่ว่าวางใจอย่างที่อาจารย์แนะนำคือ มีสติ ทำความรู้สึกตัวในสิ่งที่ทำ
ในที่สุดก็ได้เข้าถึงสัจธรรมของกายและใจ เรียกว่ารู้แจ้งเห็นจริงในเรื่องรูปและนาม แล้วก็เห็นเลยไปยิ่งกว่านั้น จนกระทั่งเห็นความไตรลักษณ์ของสังขาร ชายหนุ่มคนที่ 3 นี้ไม่รู้หรอกว่า สิ่งที่ตัวเองทำ มันคือการปฏิบัติธรรม ส่วนสองคนแรกก็เหมือนกัน ไม่ได้คิดว่าการหาบน้ำ ผ่าฟืน คือการปฏิบัติธรรม ไปคิดว่าการปฏิบัติธรรมต้องไปนั่งหลับตาภาวนา หรือบริกรรม หรือว่าเดินจงกรม
เพราะฉะนั้น พอมาด้วยความคาดหวังอย่างนั้น อาจารย์ให้ไปหาบน้ำ ผ่าฟืน ก็เลยผิดหวัง หารู้ไม่ว่า จริงๆแล้ว สิ่งที่อาจารย์แนะนำคือการปฏิบัติธรรมด้วยเหมือนกัน คนที่ 3 ก็ไม่รู้เช่นกัน ไม่รู้ว่าเป็นการปฏิบัติธรรม แต่พอปฏิบัติอย่างเต็มใจ ด้วยความขยันหมั่นเพียร แล้วก็วางใจถูก ก็เห็นธรรม แล้วก็เข้าถึงธรรม ทั้งๆที่ไม่ได้มาเพื่อแสวงหาสัจธรรมหรือว่าเพื่อการพ้นทุกข์เลย
อันนี้ก็ชี้ให้เห็นว่า เรื่องการปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ว่าจะต้องผูกติดอยู่กับรูปแบบ และต้องทำตามรูปแบบนั้นจึงเรียกว่าภาวนาหรือกรรมฐานหรือปฏิบัติธรรม อย่างที่พูดไปเมื่อวานว่า ทำอะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าทำอย่างไร บางคนไปให้ความสำคัญกับว่าทำอะไร ปฏิบัติธรรมก็หมายถึงว่าต้องมานั่งภาวนาหลับตา แต่ที่จริงแล้ว มันไม่ได้จำกัดแต่รูปแบบเท่านั้น
การที่ไปหาบน้ำ ผ่าฟืน แม้ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย เป็นเรื่องของใช้แรงงานแต่ว่าก็สามารถที่จะเป็นการปฏิบัติธรรมได้หากว่าทำถูกหรือวางใจถูก ชายหนุ่มสองคนแรกไปเน้นที่ว่าทำอะไร ถ้าให้ไปหาบน้ำ ผ่าฟืน ฉันไม่ทำ
แต่ที่ชายหนุ่มคนที่ 3 ทำชี้ให้เห็นว่า ทำอะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าทำอย่างไร หาบน้ำ ผ่าฟืนไม่ใช่เป็นงานกรรมกร มันสามารถเป็นปฏิบัติธรรมที่จะเข้าถึงธรรมะขั้นสูงได้ ถ้าหากว่าทำถูกวิธีหรือวางใจถูก เพราะฉะนั้น ที่อาจารย์ท่านบอกว่า ให้ไปหาบน้ำ ผ่าฟืนตั้งแต่แรก ที่จริงท่านชี้แนะแนวทางการปฏิบัติธรรมแล้ว
แต่ว่าชายหนุ่มสองคนนั้นไม่เข้าใจ ไปเห็นว่าเป็นงานที่ต่ำต้อย ไม่มีคุณค่ากับความตั้งใจของเขา คนอย่างฉันมันต้องทำอะไรที่มันดีกว่านั้น อุตส่าห์ดั้นด้นมาไกล มาหาบน้ำ ผ่าฟืน ไปดูถูกงานเพราะไปให้ความสำคัญกับคำว่าทำอะไร ในขณะที่อาจารย์เห็นว่าทำอะไรไม่สำคัญเท่ากับว่าทำอย่างไร จะหาหาบน้ำก็ได้ จะผ่าฟืนก็ได้ จะทำครัวก็ได้ แต่ทำอย่างมีสติ หรือว่ารู้จักพินิจพิจารณา
อย่างในสมัยพุทธกาล มีอุบาสิกาอย่างน้อย 2 ท่านบรรลุธรรมเป็นอนาคามี เป็นพระอรหันต์ในโรงครัวก็มีเพราะฉะนั้น เวลาภาวนาหรือการปฏิบัติธรรม ไม่ได้อยู่ที่ว่าทำอะไร แต่อยู่ที่ว่าทำอย่างไรมากกว่า อันนี้เป็นสิ่งที่นักภาวนาจำนวนมากไม่เข้าใจ
สมัยที่หลวงพ่อชายังเป็นพระหนุ่ม ท่านมีความตั้งใจในการปฏิบัติธรรมเพื่อการพ้นทุกข์มาก เรียกว่าเป็นคนหนุ่มไฟแรง แล้วก็ไปภาวนากับหลวงปู่กินรีที่นครพนม หลวงปู่กินรีเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่น แต่ท่านเป็นมหานิกาย หลวงพ่อชาสมัยเป็นพระหนุ่ม ตอนนั้นจริงจังมาก เดินจงกรมทั้งวัน ถ้าไม่เดินจงกรมก็นั่งสมาธิ
แล้วท่านก็แปลกใจ ขณะที่ท่านเดินจงกรม ปฏิบัติธรรมทั้งวัน แต่หลวงปู่กินรีทำโน่นทำนี่ตลอด ไม่เห็นนั่งภาวนาเดินจงกรมเลย แต่ตอนหลังได้ฟังธรรมจากหลวงปู่กินรี ก็พบว่าท่านเข้าถึงธรรมลึกซึ้งมาก ก็เริ่มมีความเคารพ ยอมรับนับถือ แต่ท่านก็ยังไม่ละทิ้งความเพียร
มีช่วงหนึ่งภาวนาเดินจงกรมจนกระทั่งจีวรขาดวิ่น ไม่อยากปะชุน แต่ว่าตอนหลังขาดเยอะ ต้องปะชุนต้องเย็บ แต่ก็ทำด้วยความเร่งรีบ เพราะว่าอยากจะรีบไปภาวนา หลวงปู่กินรีเห็นอาการเร่งรีบของหลวงพ่อชา ก็เลยถามว่าท่านชาจะรีบร้อนไปทำไมหลวงพ่อชาก็ตอบว่า อยากจะรีบไปภาวนาครับ ความหมายของท่านก็คือว่าจะรีบไปเดินจงกรมไปนั่งสมาธิ
หลวงปู่กินรีก็เลยบอกว่า ท่านชาท่านรู้ไหม นั่งเย็บผ้าเย็บจีวรก็ภาวนาได้ ท่านดูจิตของท่านสิว่า เป็นอย่างไร แล้วแก้ไขมัน จะรีบร้อนไปทำไมเล่า ทำอย่างนี้เสียหายหมด ความอยากท่วมหัว ท่านยังไม่รู้เรื่องตัวเองอีกหรือ หลวงพ่อชาฟังแล้วก็ได้คิดเลย เราลืมไปเลย ไปคิดว่า การภาวนาการปฏิบัติธรรมต้องเป็นเดินจงกรม ต้องนั่งหลับตาภาวนา
แต่ที่จริง เย็บผ้า เย็บจีวรก็เป็นการภาวนาได้ ด้วยการมีสติอยู่กับการเย็บ และถ้าใจเผลอคิดนึกไป ก็รู้ หรือว่ามีความอยากจะให้เสร็จไวๆก็เห็นมัน แล้วก็ปรับแก้ให้เป็นปกติ ที่หลวงปู่กินรีท้วงว่าความอยากมันเกิดขึ้นท่วมหัวท่าน ท่านยังไม่รู้เรื่องตัวของท่านอีกหรือ โดนใจท่านมาก ไม่เห็นความอยากที่กำลังรุมเร้าอยากอะไร อยากจะไปภาวนา อยากจะไปเดินจงกลม ทั้งที่ภาวนาขณะที่เย็บจีวรได้
เพราะฉะนั้นทำอะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับทำอย่างไร และเย็บจีวรก็ภาวนาได้ถ้าทำอย่างมีสติอย่างมีความรู้สึกตัว แต่คนส่วนใหญ่ไปติดที่รูปแบบ หรือประเภทของการกระทำ ว่าจะต้องเป็นการเดินจงกรม หลับตานั่งสมาธิ หรือสร้างจังหวะ ทั้งๆที่อาบน้ำ ถูฟัน กินข้าว หรือแม้กระทั่งการพูดคุยก็เป็นการปฏิบัติธรรมได้
สมัยที่อาตมาไปปฏิบัติกับหลวงพ่อเทียนใหม่ๆที่วัดสนามใน ปฏิบัติเอาจริงเอาจังมาก เดินจงกรมเป็นหลัก วันหนึ่งเห็นโยมพ่อโยมแม่มาแต่ไกล เดินเข้าวัดมา รู้สึกหงุดหงิดขึ้นมาทันที เพราะว่ามีความคิดขึ้นมาว่าท่านมาทำให้การภาวนาของเราสะดุด แต่ก็จำเป็นต้องหยุดเดินจงกรมแล้วก็ต้องไปต้อนรับสนทนากับท่าน ในใจก็มีความขุ่นมัวว่าโยมพ่อโยมแม่มาขัดขวางการปฏิบัติของเรา
ตอนนั้นไม่เฉลียวใจเลยว่าการสนทนากับโยมพ่อโยมแม่ก็เป็นการภาวนาได้ คือ มีสติอยู่กับการพูดคุย พูดคุยอย่างไรให้มีสติ อันนี้ก็เป็นการปฏิบัติเหมือนกัน เรามักจะลืมไปว่าการพูดคุยสนทนาก็เป็นการปฏิบัติอย่างมีสติได้ เช่นว่า ขณะที่โยมพ่อโยมแม่กำลังสนทนา เราก็ฟังด้วยความตั้งใจ ไม่วอกแวกใจไปที่ทางจงกรมว่าอยากจะกลับไปเดินที่นั่น
ระหว่างที่พูดสนทนาไม่ใช่กับพ่อกับแม่ กับใครก็ได้ มันมีเรื่องที่กระตุ้นให้เกิดความไม่พอใจหรือความลิงโลด ก็รู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น หรือในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งกำลังสนทนา ใจเราลอยไปที่นั่นที่นี่ เราก็มีสติกลับมาอยู่กับการสนทนา และเมื่อถึงเวลาที่เราจะพูดจะคุยก็พูดอย่างมีสติ ไม่ใช่พูดน้ำไหลไฟดับด้วยความมัน หรือว่าด้วยความไม่รู้ตัว อันนี้อาจจะไม่ได้คุยโยมพ่อโยมแม่ อาจจะคุยกับเพื่อนก็ได้ ฟังอย่างมีสติ คุยอย่างมีสติได้ อันนี้ก็เป็นการปฏิบัติได้ แต่ตอนนั้นเราไม่รู้
ขณะที่ใจขุ่นมัว หงุดหงิด ยังไม่เห็นอารมณ์นั้น อันนี้เรียกว่าสอบตกแล้ว การภาวนาไม่จำเป็นต้องใช้การเคลื่อนไหวอย่างเดียว แม้แต่นั่งนิ่งๆ สนทนาหรือว่าฟังธรรม ฟังคำบรรยายก็เป็นการเจริญสติหรือว่าปฏิบัติธรรมได้ ระหว่างที่ฟังคำบรรยาย เราก็ติดตามเนื้อหาของคำบรรยายไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ใจลอยหูได้ยินแต่ว่าใจไม่รู้ไปไหน อันนั้นเรียกว่าฟังอย่างไม่มีสติ
หรือขณะที่ฟังธรรม ฟังคำบรรยาย ไปสะดุดที่บางคำ หรือสะดุดบางประโยค แล้วก็ติดอยู่แต่ตรงนั้น อาจจะทำให้นึกถึงเหตุการณ์บางอย่างที่ถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้าง ทำให้ไปสะดุดอยู่กับเรื่องราวบางเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ผู้พูดยาวไปไกลแล้ว แต่ว่าใจยังสะดุดอยู่ตรงที่ 5 นาทีที่ผ่านมา อันนี้เรียกว่าไม่มีสติหรือบางทีก็ไปขบคิดใคร่ครวญกับเนื้อหาที่ได้ยินมาเมื่อ 3 นาทีที่แล้ว ก็ไปติดแต่ตรงนั้น ในขณะที่ผู้พูดไปไกลแล้ว
ถ้ามีสติ รู้ว่าเราสะดุดแล้ว ก็ตาม ส่งจิตตามคำบรรยายให้ทัน อันนี้เรียกว่ากลับมามีสติในการฟัง ลองสังเกตใจของเราโดยเฉพาะความคิดขณะที่ฟังคำบรรยาย มีสติไหม ใจลอยหรือเปล่า หรือว่าไปติดอยู่สะดุดอยู่กับถ้อยคำบางถ้อยคำ หรือว่าเนื้อหาบางตอนบางประโยค บางทีก็ไปปรุงแต่งต่อว่า อันนี้เขากำลังพูดถึงเราหรือเปล่า กำลังว่าเราหรือเปล่า ก็เลยเกิดความตีบตันขุ่นมัวขึ้นมา อันนี้เรียกว่าฟังอย่างไม่มีสติ
ถ้าฟังอย่างมีสติก็จะตามไปเรื่อยๆ แม้จะสะดุดในบางช่วง แต่ว่าก็รู้ทัน รู้ตัว แล้วก็วางสิ่งที่สะดุด แล้วก็ตามเนื้อหาที่บรรยายที่ได้ฟังอย่างต่อเนื่อง ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ มันก็เป็นการปฏิบัติธรรมได้ ไม่ใช่ว่ารู้สึกหงุดหงิดขึ้นมา ทำให้เสียเวลาในการปฏิบัติ ไม่ได้ปฏิบัติเท่าที่ควร ใจอยากจะลงไปเดินจงกรม อยากจะไปภาวนาต่อ ไม่มาเสียเวลาฟัง ไม่ว่าจะเป็นการฟังคำบรรยาย หรือว่าคำสนทนาจากคนที่มาเยี่ยม หรือมาหา หรือว่าจากคนในวัดด้วยกัน
ฉะนั้น แม้ว่าเราทำอะไรก็เป็นการภาวนา เป็นการปฏิบัติได้ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม หรือที่ใช้แรงอย่างกรรมกรเช่น หาบน้ำ ผ่าฟืน หรือกิจกรรมที่ไม่ได้ใช้การเคลื่อนไหวแค่นั่งนิ่งๆ สนทนาพูดคุย ถ้ารู้จักประยุกต์รู้จักใช้สติ รู้จักฉวยโอกาสจากการทำอะไรก็ตาม มันก็เป็นการปฏิบัติธรรมไปในตัว อันนี้รวมถึงการเย็บจีวรเย็บผ้าด้วย ก็เป็นการภาวนาได้
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 6 กันยายน 2564