แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
หลวงพ่อลี หรือว่าท่านพ่อลี วัดอโศการาม ท่านเคยเล่าถึงเรื่องของผู้ชาย 2 คน เป็นเพื่อนสนิทกันรักกันมาก พอถึงวันพระ เพ่ือนคนหนึ่งก็ลุกขึ้นมาแต่เช้า เพื่อที่จะไปทำบุญที่วัด เมื่อได้ยินเสียงระฆังที่วัด ก็ออกจากบ้านไปเพื่อจะไปใส่บาตร ตั้งใจว่าจะรับศีล ฟังธรรมฟังเทศน์ด้วย
ส่วนเพื่อนอีกคนหนึ่ง คิดว่าวันนี้เราไม่มีอะไรจะกินเลย ถ้าไปวัดทำบุญก็คงไม่มีอะไรกิน ว่าแล้วก็หยิบแพไปจับปลา ตั้งใจว่าถ้าได้ปลาเท่าไหร่ ก็จะทำอาหารให้เพื่อนกินด้วย ก่อนไปทอดแหจับปลาก็หุงข้าวไว้ให้ตัวเอง แล้วก็เพื่อนด้วยแล้ว ก็ไปทอดแห
ชายคนที่เข้าวัดเพื่อไปทำบุญในวันพระ ระหว่างที่ใส่บาตร ก็นึกถึงเพื่อนที่ไปจับปลาว่า เพื่อนเราจะจับปลาได้ไหมหนอ พอนึกไปถึงเรื่องนี้เกิดความอยากกินปลาที่เพื่อนจะมาได้ แล้วก็นึกในใจว่าอยากให้เพื่อนจับปลาได้เยอะๆตัวใหญ่ๆปลาช่อน ปลาดุก จะได้ทำแกงปลากิน ระหว่างที่รับศีล ใจก็นึกถึงเรื่องปลาที่เพื่อนจะจับ แกงปลาที่เพื่อนจะทำให้กิน ระหว่างที่ฟังธรรมก็ยังนึกเรื่องเดิม พระเทศน์อะไรก็ไม่ได้ยินแล้ว ใจนึกถึงแต่ปลา
ส่วนชายอีกคนหนึ่งไปทอดแห ระหว่างที่ทอดแหก็นึกถึงเพื่อนคนที่ไปทำบุญที่วัดในวันพระว่า ตอนนี้เพื่อนคงกำลังใส่บาตรอยู่ นึกถึงแล้วก็อนุโมทนาด้วย ระหว่างที่ทอดแหไปก็นึกต่อไปว่า ตอนนี้เพื่อนเรารับศีลหรือยัง ผ่านไปสักพักก็นึกอีกว่า เพื่อนเราตอนนี้กำลังฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่ จิตใจคงจะเป็นบุญมากเลย นึกถึงเพื่อนที่ไปทำบุญที่วัด ชายคนนี้ก็รู้สึกปลื้มปิติที่เพื่อนได้ทำบุญ ได้ไปใส่บาตร ได้ไปฟังศีลฟังธรรม
ปรากฏว่าเช้าวันนั้น ด้วยอานิสงส์แห่งบุญที่ตัวเองนึกถึงเพื่อน แล้วก็ร่วมอนุโมทนาบุญที่เพื่อนทำบุญ ปรากฏว่าจับปลาไม่ได้ ก็ทำบาตรไม่สำเร็จ แต่แกก็ไม่เสียใจ เพราะว่าใจก็รู้สึกปลาบปลื้มปิติที่เพื่อนได้ไปทำบุญที่วัด หลวงพ่อลีก็ถามว่าระหว่างสองคนนี้ ใครได้บุญมากกว่ากัน คนที่ไปวัดใส่บาตรรับศีลฟังธรรมหรือว่าคนที่ทอดแหจับปลา
หลวงพ่อลีบอกว่าคนที่ทอดแหจับปลา ใจเป็นบุญมากกว่า เพราะว่านึกถึงเพื่อนที่กำลังทำบุญและร่วมอนุโมทนาบุญด้วย เกิดความปิติยินดี เรียกว่ามีจิตใจที่อนุโมทนา แม้ว่าตัวจะอยู่ที่หนองน้ำ ทอดแหจับปลาอยู่ ส่วนชายที่อยู่วัด ทั้งๆที่ใส่บาตร รับศีล ฟังเทศน์ แต่ว่าได้บุญน้อยเพราะใจไปนึกถึงปลา อยากให้เพื่อนจับปลาได้เยอะๆ แล้วก็ทำแกงปลาให้กิน พอนึกแล้วจิตใจก็เกิดกิเลสขึ้นมา ใจไม่เป็นบุญกุศล
ต่างจากเพื่อนที่ทอดแหจับปลาอยู่ ใจเป็นบุญเพราะนึกถึงเพื่อนที่กำลังใส่บาตร รับศีล ฟังธรรม ส่วนคนที่ตัวอยู่วัดแม้จะทำบุญ เห็นอยู่แต่ว่าใจไม่ได้เป็นบุญเท่าไร เรียกว่าได้บุญน้อย เพราะว่าบุญมันอยู่ที่ใจ ตัวอยู่ที่วัดแต่ว่าใจมีความเศร้าหมอง หรือมีกิเลส ไปนึกถึงสิ่งที่ไม่ใช่บุญ มันก็ได้บุญน้อย
ตัวอยู่หนองน้ำ แต่ว่าใจอาจจะเป็นบุญก็ได้ เพราะนึกถึงเพื่อนที่กำลังทำบุญและชื่นชมอนุโมทนาด้วย บุญไม่ได้อยู่ที่ว่าตัวอยู่ไหน มันอยู่ที่ใจ ตัวอยู่วัดแต่ใจไม่ได้เป็นบุญก็ได้ เพราะใจไปอยู่ที่หนองน้ำ ส่วนอีกคนหนึ่งตัวอยู่หนองน้ำทอดแหอยู่ แต่ว่าใจอยู่ที่วัด นึกถึงเพื่อนที่กำลังทำบุญด้วย อย่างนี้ได้บุญ
บุญอยู่ที่ใจ เพราะว่า ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นหัวหน้า สำเร็จได้ด้วยใจ มันไม่ได้อยู่ที่กิริยา ไม่ได้อยู่ที่การกระทำ หรือว่าสถานที่ กิริยาอาจจะเป็นการใส่บาตร การรับศีล การฟังธรรม แต่ว่าใจมันไปอยู่ที่อื่น อย่างนี้ก็ได้บุญน้อยอย่างที่เมื่อวาน ทำอะไรไม่สำคัญเท่ากับว่าทำอย่างไร ใส่บาตรฟังธรรมแต่ว่าทำอย่างไม่มีสติ หรือว่าใจไม่ได้จดจ่ออยู่กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ แถมยังไปนึกถึงสิ่งที่มันทำให้เกิดความเศร้าหมองเกิดกิเลส
ขณะที่อีกคนหนึ่งกำลังจับปลาอยู่ แต่ว่าใจเป็นบุญ เพราะนึกถึงเพื่อนที่กำลังใส่บาตร รับศีล ฟังธรรม ทำอะไรไม่สำคัญเท่ากับว่าทำอย่างไร เพราะฉะนั้น เวลาเราทำบุญไม่ว่าจะเป็นการใส่บาตร ถวายสังฆทาน รับศีลฟังธรรม ก็ให้ใจอยู่กับปัจจุบัน แล้วก็รู้สึกยินดีในบุญที่ทำ
ที่จริง ถ้าใจอยู่กับบุญที่ทำ ใจก็เป็นบุญแล้ว ไม่ใช่ว่าขณะที่ใส่บาตร ถวายสังฆทาน ใจไปนึกถึงอย่างอื่นเช่น ไปนึกถึงลูกว่าตอนนี้ลูกเป็นอย่างไร มีใครทำอาหารให้กินหรือเปล่า จะมีเพื่อนไม่ดีมาหาหรือไม่ คิดแบบนี้ใจก็เศร้าหมองทั้งๆที่กำลังใส่บาตร ตัวใส่บาตร ตัวอยู่วัด แต่ใจไม่เป็นบุญแล้วเพราะจิตใจเกิดความเศร้าหมอง
หรือไม่ก็ระหว่างที่ทอดผ้าป่าทอดกฐิน ก็นึกถึงเพื่อนที่ไปทอดผ้าป่าทอดกฐินอีกวัดหนึ่ง แล้วก็นึกว่าเขาจะได้เงินมากกว่าเราไหม เกิดความรู้สึกไม่สบายใจว่าถ้าเขาได้เงินมากกว่าเรา มีความรู้สึกเสียหน้าเพราะว่าทำได้เงินน้อยกว่าเขา อย่างนี้ได้บุญน้อย เพราะว่าทำด้วยจิตใจใที่ไม่ผ่องใสในขณะที่ทำบุญ บุญจะเกิดขึ้น งอกงามได้ เพราะว่าขณะที่ทำ ขณะที่ถวายทาน จิตผ่องใส ถวายเสร็จใจเบิกบาน
จะทำอย่างนั้นได้เมื่อตัวอยู่วัด ใจก็ต้องอยู่วัด แล้วก็รับรู้ถึงบุญที่ได้ทำ จึงจะเกิดความรู้สึกผ่องใสเบิกบานแต่ถ้าหากว่าไม่ว่าจะทำบุญที่วัด หรือว่าถวายเงินมากแค่ไหน แต่จิตใจไม่ผ่องใสไม่เบิกบานเพราะว่าไปคิดห่วงนั่นห่วงนี่ หรือไปคิดแข่งขันว่าใครจะหาเงินได้มากกว่ากัน จิตใจก็เศร้าหมองแล้ว ก็ได้บุญน้อย
เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจด้วยว่า ไม่ใช่ว่าจะได้บุญต่อเมื่อมาวัด อยู่บ้านถ้าวางใจเป็น มันก็ได้บุญ ในทางตรงข้าม ถ้าอยู่วัดแต่วางใจไม่เป็น ไม่ถูก มันก็ได้บุญน้อย
เพราะฉะนั้น ในเวลานี้ถึงแม้ว่าหลายคนไม่มีโอกาสเดินทางมาทำบุญที่วัด เพราะว่าเดินทางลำบาก วัดก็ปิด แต่ว่า หากวางใจให้ดี น้อมใจเป็นกุศล อนุโมทนากับคนอื่นที่ได้มาทำบุญหรือมีโอกาสร่วมทำบุญ อันนี้ก็ได้เป็นบุญแล้ว เรียกว่าอนุโมทนามัย ก็เข้าใจให้ดี ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ใจก็เป็นบุญได้ ก็เรียกว่าได้ทำบุญ ทำบุญด้วยใจ ทำบุญที่ใจ
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 6 กันยายน 2564