แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เรื่องที่พูดในสองวันก่อน ถ้าจะสรุปอย่างหนึ่งก็คือว่า เจออะไรไม่สำคัญเท่ากับว่าเจออย่างไร เจอแดดร้อน เสียงดัง ใจไม่ทุกข์ก็ได้ ถ้าหากว่าไม่ปรุงแต่งไปในทางลบ หรือว่ารู้จักน้อมจิต นึกถึงสิ่งที่ดี สิ่งที่ชวนให้เป็นสุข
ฟังเพลงไม่จำเป็นต้องเกิดกิเลสเสมอไปก็ได้ ฟังแล้วอาจจะบรรลุธรรมถ้าหากว่ารู้จักพิจารณาหรือว่าใช้ปัญญาใคร่ครวญถึงสิ่งที่ได้ยิน เจอคำต่อว่าด่าทอคำตำหนิติเตียน ใจไม่จำเป็นต้องหงุดหงิดขุ่นเคืองก็ได้ ถ้าหากว่ามีสติ รู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น เรียกว่าอินทรียสังวรต่อสิ่งที่มากระทบ
หรือว่ารู้จักพิจารณาด้วยโยมิโสมนสิการ คือพิจารณาด้วยปัญญา มันก็ได้ประโยชน์ได้สิ่งดีๆไม่ว่าที่เกี่ยวกับตัวเองหรือว่าได้เห็นสัจธรรม สัจธรรมที่ว่านี้ได้แก่โลกธรรม 8 ซึ่งมันเป็นสิ่งธรรมดาประจำโลก มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ ได้รับคำสรรเสริญก็ต้องเจอคำนินทา
สุขและทุกข์ก็เหมือนกันเป็นของคู่กัน เจอสิ่งที่แย่ๆหรือว่าเจอสิ่งที่เรียกว่าอนิฏฐารมณ์รูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสที่ไม่น่าพอใจ แต่ถ้ารับรู้ด้วยสติด้วยปัญญา นอกจากไม่เกิดทุกข์แล้วอาจจะเกิดประโยชน์
ในทางตรงข้าม เกิดว่าเจอสิ่งดีๆที่น่าพอใจ เช่น คำสรรเสริญน่าพอใจ ถ้าขาดสติ ใจปรุงแต่งเตลิดเปิดเปิงไป ก็อาจเป็นโทษด้วยซ้ำกลายเป็นของไม่ดีไป หรือว่าเป็นสิ่งที่ฉุดให้จิตใจตกต่ำ หรือว่าเกิดทุกข์ภัยตามมา
เจอความเจ็บป่วย ป่วยแต่กายใจไม่ป่วยก็ได้ถ้ามีสติ เห็นความปวดแต่ไม่เป็นผู้ปวด หรือว่าใช้ความเจ็บป่วยนั้นเป็นอุปกรณ์สอนธรรม ให้เห็นสัจธรรม เห็นถึงความไม่เที่ยงของสังขาร ได้เห็นว่าสังขารเป็นตัวทุกข์ เป็นสิ่งที่เจือไปด้วยทุกข์ หรือยิ่งกว่านั้นเป็นตัวทุกข์ล้วนๆเลย
เพราะฉะนั้น เจออะไรจึงไม่สำคัญเท่ากับว่าเจออย่างไร เจอทุกข์แต่ว่าเผชิญกับมันด้วยสติด้วยปัญญา ใจไม่ทุกข์ก็ได้ แถมจะได้อาศัยทุกข์นั้นทำให้เห็นธรรม เรียกว่าเจอทุกข์แล้วก็มาพบธรรมก็ได้ แม้ว่าทุกข์ที่เจอเป็นทุกข์ที่ใหญ่หลวง แต่ว่าใจก็อาจจะสงบหรือว่าได้พบสัจธรรมก็ได้
ในสมัยพุทธกาลมีผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ พระนางสามาวดีเธอเป็นมเหสีพระเจ้าอุเทน พระเจ้าอุเทนมีมเหสีอยู่หลายคน พระนางสามาวดีเป็นอัครมเหสีก็ว่าได้ เป็นที่อิจฉาของนางมาคันทิยาถึงขั้นลอบทำร้าย แต่ไม่สำเร็จ ตอนหลังก็กะจะเอาให้ตายเลย ลวงพระนางสามาวดีเข้าไปในเรือนผ้าหรือคลังผ้า ที่เก็บผ้า พร้อมกับบริวารห้าร้อย ในพระไตรปิฎก ห้าร้อยหมายถึงมากคือหลายคน
ลวงเข้าไป แล้วก็ปิดคลังผ้า เผา ขณะที่ไฟกำลังลุกท่วมตัวนางสามาวดีพร้อมกับบริวาร นางสามาวดีก็รู้ว่าใครทำ แต่ก็ไม่ได้มีความโกรธ ไม่ได้มีความเกลียด ความพยาบาท กลับแผ่เมตตาด้วยซ้ำ ขณะที่ไฟลุกท่วมตัวเกิดทุกขเวทนา แต่ใจของนางไม่ทุกข์เลย เพราะเอาเวทนามาเป็นอารมณ์ เป็นสำนวนในพระไตรปิฎกหมายความว่าพิจารณา ดูเวทนา ดูความเจ็บปวด โดยที่ไม่เข้าไปเป็นผู้ปวด
จิตสงบจนกระทั่งถูกไฟคลอกตาย ไม่เพียงจิตสงบแต่จิตยังได้บรรลุธรรมขั้นสูงด้วย จากเป็นพระโสดาบันก็มาเป็นพระอนาคามีเลย เป็นเรื่องราวในพระไตรปิฎกที่ชี้ให้เห็นว่า แม้เจอทุกข์แต่ว่าใจไม่ทุกข์ก็ได้ หรือยิ่งกว่านั้น ใจเข้าสู่สภาวะธรรมขั้นสูง อย่างนี้เรียกว่าเจอทุกข์ นอกจากใจไม่ทุกข์แล้ว ยังพบธรรมด้วย
เจอทุกข์แล้วหากว่าเรารับมือกับความทุกข์ได้อย่างฉลาดอย่างมีปัญญา มองทุกข์ก็จะเห็นธรรม เห็นสัจธรรม เห็นไตรลักษณ์ ซึ่งจะช่วยทำให้จิตเป็นอิสระ เพราะฉะนั้น ที่พูดว่า เจออะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับเจออย่างไร เป็นสิ่งสำคัญมากทีเดียว
คนเรา วันๆหนึ่ง เจออะไรต่ออะไรมากมาย ทั้งดินฟ้าอากาศ ทั้งแดดทั้งฝน ทั้งผู้คน ผู้คนมีทั้งการกระทำกับคำพูดต่างๆมากมายหลากหลาย รวมทั้งข้อมูลข่าวสารมากมาย ตลอดจนเหตุการณ์บ้านเมืองเหตุการณ์โลก
ทั้งหมดนี้ก็มีทั้งสิ่งที่น่าพอใจและสิ่งที่ไม่น่าพอใจ เราไม่สามารถที่จะเลือกได้ว่า จะเจอแต่สิ่งที่น่าพอใจ หรือสิ่งที่ทำให้สบายใจ เราไม่สามารถที่จะกำหนดหรือบังคับบัญชาให้เจอสิ่งดีๆสู่การรับรู้ของเรา มันไม่เหมือนกับการชงกาแฟหรือการทำครัว เรากำหนดได้ว่า เราจะชงกาแฟให้ถูกใจเรา หรือว่าปรุงอาหารที่อร่อยถูกปาก
สิ่งต่างๆที่เราเจอในชีวิตประจำวัน เราเลือกไม่ได้ แล้วก็ส่วนใหญ่เรากำหนดบังคับบัญชาแทบไม่ได้เลย เช่น การกระทำ คำพูดของคนนั้นคนนี้ที่พูดถูกใจเราหรือทำถูกใจเรา หรือพูดไม่ถูกใจเราทำไม่ถูกใจเรา ถ้าการกระทำของคนเหล่านั้นมากำหนดมีอิทธิพลต่อจิตใจของเรา เราก็คงจะแย่เหมือนกัน เพราะว่าสิ่งที่ไม่อยากเจอแต่เราต้องเจอ อันนี้เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้
ถ้าคนเราเอาสุขหรือทุกข์ไปผูกติดอยู่กับสิ่งแวดล้อมภายนอกหรือสิ่งที่เราอยากเจอะเจอ ในชีวิตเราก็คงไม่เป็นอิสระ ก็ต้องผันผวนปรวนแปรไปตามสิ่งภายนอกหรือสิ่งที่มากระทบกับเราหรือที่เราเจอะเจอ แต่ในความเป็นจริง มันมีสิ่งหนึ่งที่เราทำได้หรือเราเลือกได้ก็คือ เลือกว่าจะรับมือกับมันอย่างไร
อะไร เป็นสิ่งที่เราเลือกไม่ได้เพราะขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยภายนอกมากมาย แต่ อย่างไร มันอยู่ที่เรา ว่าเราจะรับมือกับมันอย่างไร ด้วยสติ ด้วยปัญญา หรือด้วยความหลง หรือว่าปรุงแต่งไปในทางลบ การที่สุขหรือทุกข์อยู่ที่ว่าเราจะรับมือกับสิ่งต่างๆอย่างไร มันคือความจริงที่เปิดโอกาสให้เรามีเสรีภาพมีอิสระ เพราะว่าเราจะทำอย่างไร เราจะรับมืออย่างไร เราจะเจอสิ่งต่างๆอย่างไร เห็นอย่างไร มันอยู่ที่เรา
ถ้าเราปรุงแต่งไปในทางบวก อย่างน้อยๆสิ่งที่มากระทบก็ไม่ทำให้เราเป็นทุกข์ หรือกลับจะทำให้เป็นสุขด้วยซ้ำ อันนี้เป็นความจริง เป็นเรื่องที่เราควรจะใส่ใจ หมายความว่าเรามีสิทธิ์ที่จะเลือกได้ว่าจะสุขหรือทุกข์ แม้เราเลือกไม่ได้ว่าจะต้องเจออะไรบ้าง แต่นั่นก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า เราเลือกอะไร สุขหรือทุกข์ หรือว่าจะไม่ทุกข์เมื่อมีอะไรต่างๆมากระทบ
อันนี้เป็นความจริงที่สำคัญมาก แล้วก็เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทำให้เรามีอิสระที่จะอยู่เหนืออิทธิพลของสิ่งภายนอก เพราะว่าแม้สิ่งภายนอกเราก็ควบคุมไม่ได้ แต่ว่า มันจะทำให้เราทุกข์หรือไม่ อยู่ที่ใจของเรา มันอยู่ที่ว่าเราจะมีสติมีปัญญาในการรับมือกับมันหรือไม่ หรือว่าเราจะรู้จักปรุงแต่งในทางบวกหรือว่าไม่ปรุงแต่งไปในทางลบชนิดที่ก่อทุกข์ให้กับเรา เพราะฉะนั้นจะว่าไป สุขหรือทุกข์มันอยู่ที่เรา
มีเด็กคนหนึ่ง เป็นเด็กไต้หวันอายุ 10 ขวบ เป็นมะเร็งที่ขา ทีแรกต้องฉายแสง ฉายแสงก็ไม่หาย ต้องผ่าขา ผ่าครั้งเดียวก็ไม่หายต้องผ่า 3 ครั้ง แต่อาการก็แย่ลงเรื่อยๆ เด็กคนนี้เขียนบันทึกง่ายๆว่า
พ่อแม่ประคองฉันเข้าห้องผ่าตัดครั้งแรก เด็กชายกังวลเป็นเพื่อนฉัน เด็กหญิงสงบก็เป็นเพื่อนฉัน ฉันเลือกเด็กหญิงสงบเข้าห้องผ่าตัด
ต่อมาเขาเขียนอีกว่า พ่อแม่อุ้มฉันเข้าห้องผ่าตัดเป็นครั้งที่ 2 (ตอนแรกประคอง ตอนนี้อุ้มแล้ว) คุณน้าหวาดหวั่นเป็นเพื่อนบ้านฉัน คุณอามั่นคงเป็นเพื่อนบ้านฉัน ฉันเลือกคุณอามั่นคงเป็นเพื่อนเข้าห้องผ่าตัด
ต่อมาเธอ เขียนอีกว่า พ่อแม่ให้ฉันขี่หลังเข้าห้องผ่าตัดเป็นครั้งที่ 3 คุณความตายเป็นเพื่อนบ้านฉัน คุณอยู่รอดเป็นเพื่อนบ้านฉัน ฉันเลือกคุณอยู่รอดเข้าห้องผ่าตัด
เด็กคนนี้เขาฉลาด เขามีปัญญา เขารู้ว่าเขาจะเลือกอะไร เข้าห้องผ่าตัด ระหว่างความกังวลกับความสงบ และแน่นอนเขาเลือกความสงบ หรือระหว่างความหวาดหวั่นกับความมั่นคง เขาก็เลือกได้เหมือนกัน เขาก็เลือกความมั่นคง
อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า เราเจออะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าเราเจออย่างไร และที่จริงไม่ใช่แค่นั้น มันก็โยงไปถึงเรื่องอื่นด้วย มีอะไร มีเท่าไหร่ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่ามีอย่างไร มีความเข้าใจว่า เมื่อปล่อยวางเป็นอิสระจากทุกสิ่งก็คือไม่มีอะไรเลยหรือควรไม่มีอะไรเลย เพราะฉะนั้น มีนักบวชหรือบางลัทธิแสดงตัวว่าเขาปล่อยวางด้วยการที่ไม่มีทรัพย์สิน แม้กระทั่งเสื้อผ้าอาภรณ์อะไรเลย
ในทางพระพุทธศาสนามองว่า มีอะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับว่ามีอย่างไร มีเสื้อผ้าอาภรณ์ เช่น มีจีวร หรือว่ามีข้าวของเครื่องใช้ เช่น บริขารก็ได้ อยู่ที่ว่ามีอย่างไร คือ เป็นไปเพื่อการอนุเคราะห์ การประพฤติพรหมจรรย์ หรือเป็นไปเพื่อช่วยบำบัดความร้อนความหนาวเพื่อทำให้สามารถบำเพ็ญประโยชน์ตนประโยชน์ท่านได้ มีก็จริงแต่ว่าไม่ยึดติด ไม่ใช่ว่าต้องไม่มีอะไรเลย
ก็เหมือนกัน มีเท่าไหร่ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่ามีอย่างไร มีมากก็ได้ มีเยอะก็ได้ ข้อสำคัญก็คือว่า มีแล้วไม่ได้ตกเป็นทาสของมัน แต่มีอย่างเป็นนายเหนือทรัพย์หรือว่าสมบัติที่มี
อย่าง อนาถบิณฑิกะ มีเยอะมีมากมาย แต่ว่าไม่ตกเป็นทาสของทรัพย์สมบัติเหล่านั้น มีแล้วก็เอื้อเฟื้อแบ่งปัน ทั้งสงเคราะห์คนยากไร้ และก็อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์ พระสีวลีก็มีเยอะ แต่ว่าท่านมีแล้วก็แบ่งปัน เพราะว่าท่านไม่ได้ยึดติด
ในทางตรงข้าม แม้มีน้อย แต่ว่าอาจจะเกิดโทษก็ได้ เพราะว่ายึดติดในสิ่งที่มี หวงแหน แล้วก็ตกเป็นทาสของมัน พอเกิดสูญหายขึ้นมาก็คร่ำครวญเสียอกเสียใจ แต่คนเรามักจะไปมองแต่ว่ามีเท่าไรมากกว่าที่จะสนใจว่ามีอย่างไร เช่นเดียวกับเจออะไรก็เหมือนกัน คนส่วนใหญ่สนใจว่าขอให้เจอแต่สิ่งดีๆ ขอให้เจอแต่โชคเจริญลาภ ขอให้เจอแต่ความสุขความเจริญ
แต่เขามักจะมองข้ามทำอย่างไร เราจะเจอสิ่งต่างๆด้วยใจที่ไม่ทุกข์ ซึ่งก็หมายถึงว่า ต้องมีสติมีปัญญา จะเจอทุกข์จะเจอความเจ็บป่วยก็ได้ แต่ขอให้มีสติ มีปัญญา มีธรรมะในการรับมือกับสิ่งเหล่านี้ เพราะว่าถ้ามีคุณธรรมหรือธรรมะเหล่านี้ ทุกข์ก็จะกลายเป็นธรรมได้เหมือนกัน หรือว่าเจอทุกข์แล้ว สามารถที่จะพบธรรมก็ได้ คนฉลาดเมื่อมองทุกข์เขาก็จะเห็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นทุกข์ที่เป็นความเจ็บความป่วย หรือความสูญเสีย
หลวงพ่อทองดี ท่านพูดไว้ดีท่านมองว่า คนดี ใครปาขี้หมาให้ ก็กลายเป็นดอกไม้ คนดีในที่นี้หมายถึงบัณฑิต ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่มีศีล 5 อย่างเดียว แต่หมายถึงคนที่ฝึกจิตเจริญปัญญาด้วย เจอขี้หมามันก็กลายเป็นดอกไม้ได้ ขี้หมาในที่นี้อาจจะหมายถึงคำต่อว่าด่าทอ หรือว่าอุปสรรค ความพลัดพราก แต่ว่าเจอแล้วเปลี่ยนขี้หมากลายเป็นดอกไม้ได้
เพราะว่าเจออะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าเจออย่างไร มีอะไร มีเท่าไร ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่ามีอย่างไร เช่นเดียวกันทำอะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าจะทำอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการทำครัว ทำสิ่งละอันพันละน้อยที่บ้าน แต่ถ้าทำอย่างมีสติ ทำด้วยความรู้สึกตัว ก็เป็นการปฏิบัติธรรมได้ แต่บ่อยครั้งไปสนใจการปฏิบัติธรรม ไปสนใจว่าทำอะไร เดินจงกรมหรือเปล่า สร้างจังหวะหรือเปล่า ตามลมหายใจหรือเปล่า
ไปให้ความสำคัญกับว่าทำอะไรมากกว่าทำอย่างไร ในขณะที่คนหนึ่งสร้างจังหวะ เดินจงกรม อีกคนหนึ่งทำงานอยู่ในครัว หรือว่าเย็บเสื้อ หรือว่ากวาดบ้าน บางทีคนเหล่านี้ก็อาจจะกำลังปฏิบัติธรรมอยู่ก็ได้เพราะว่าเขาทำอย่างมีสติ เขาทำด้วยความรู้สึกตัว ทำอะไรมันดูง่ายดูจากภายนอกเราก็รู้ว่าทำอะไร แต่ทำอย่างไรนั้นดูยาก เพราะว่ามันเป็นเรื่องของข้างในด้วย
เช่น ทำด้วยความหลงหรือว่าทำอย่างมีสติ ทำด้วยความรู้สึกตัวหรือทำด้วยกิเลสตัณหา เพราะฉะนั้น แม้เราจะทำในสิ่งที่ดูเหมือนว่าเล็กน้อย แต่มันอาจจะเป็นการปฏิบัติธรรมที่มีค่าก็ได้ ถ้าหากว่าเราทำด้วยสติทำด้วยความรู้สึกตัว แม้กระทั่งเวลานอนมันก็จะเป็นการปฏิบัติธรรมก็ได้ เพราะในขณะที่นอนมีสติ มีความรู้สึกตัว ไม่ปล่อยให้กิเลส อกุศลครอบงำ
สุดท้าย เชื่ออะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับเชื่ออย่างไร จะเชื่อนับถือศาสนา พุทธศาสนา แต่ถ้านับถือหรือเชื่ออย่างงมงาย อาจจะแย่กว่าการที่ไม่มีความเชื่อเลย คนบางคนไม่มีศาสนา ไม่เชื่อศาสนา แต่ว่าเขาเป็นคนที่มีศีลธรรม มีความเมตตาเอื้อเฟื้อเกื้อกูลผู้อื่น มีหลายคนที่ไปช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากเดือดร้อน ไม่ว่าจะในโรงพยาบาล ในสลัม ในประเทศที่ยากจน หรือว่าผู้ประสบภัยสงครามในประเทศที่มีการสู้รบ
เขาอาจจะไม่มีศาสนา หรือไม่นับถือศาสนาเลย แต่เขาเสียสละมาก มีความเห็นแก่ตัวน้อย ทำเพื่อเพื่อนมนุษย์ โดยที่ไม่ได้นึกถึงประโยชน์ส่วนตน เช่น ชื่อเสียง หรือความสะดวกสบาย บางทีเราไปสนใจว่าเขานับถืออะไร เชื่ออะไร ถ้าไม่นับถือศาสนาหรือไม่นับถือพุทธศาสนา ก็มองเขาในทางลบ
โดยไม่ได้ดูว่า ถึงเขานับถือพุทธศาสนาหรือไม่เชื่อศาสนาใดเลย แต่ว่าเขาอยู่อย่างไร เขาปฏิบัติตัวอย่างไร เขาอาจจะมีคุณธรรมยิ่งกว่าคนที่นับถือศาสนาแต่ว่านับถือด้วยความงมงาย หรือนับถือด้วยความหลงก็ได้
เพราะฉะนั้น เวลาเราจะพิจารณาอะไร อย่าไปสนใจแค่ว่าอะไร จะต้องมองต่อไปถึงว่าอย่างไรด้วย และถ้าเราสามารถจะนำไปปฏิบัติ เช่นว่า ไม่ว่าจะเจออะไรก็ตาม เราเรียนรู้ว่าจะเจอหรือรับมือมันอย่างไร อย่างมีสติ อย่างมีปัญญา อย่างมีความรู้สึกตัว อันนี้ก็ทำให้เราสามารถที่จะประคองจิตประคองใจให้เป็นสุขได้แม้ว่าจะต้องเจอสิ่งกระทบที่มันเผ็ดร้อน หรือว่าไม่น่าพอใจก็ตาม แต่ไม่ว่าจะเจอสิ่งเหล่านี้ มันก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคที่จะทำให้ใจเราพบกับความสงบหรือมีสติได้
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 5 กันยายน 2564