แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อวานก็ได้พูดไปแล้วว่า ความทุกข์ใจเกิดขึ้นเมื่อมีการกระทบแล้วมีการปรุงแต่งเกิดขึ้น ซึ่งถ้าจะไม่อยากให้เกิดความทุกข์ใจขึ้น ก็ให้จัดการกับการปรุงแต่งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการหยุดการปรุงแต่ง สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่าเห็น หรือฉลาดในการปรุงแต่งในทางบวก เพื่อลดความทุกข์หรือเพื่อให้เกิดความสุขตามมา
ที่จริงมีคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ใช้ในการรับมือกับสิ่งกระทบหรือผัสสะ ซึ่งเป็นวิธีการที่ครอบคลุม วิธีการนี้เรียกรวมๆว่า ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา แต่ความหมายในที่นี้มันกว้างกว่าที่เราเคยได้ยินได้เรียนรู้มา ศีลในที่นี้หมายถึงการควบคุมกาย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ส่วนสมาธิ หมายถึงการรักษาใจ ปัญญาคือการรู้จักพิจารณาเมื่อมีการกระทบเกิดขึ้น
ลองดูทั้ง 3 วิธีการ หรือ 3 ขั้นตอนนี้ เอามาใช้รับมือกับสิ่งที่มากระทบได้ทุกชนิดเลย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ หรือสิ่งที่น่าพอใจ ซึ่งหากเกิดการกระทบแล้ว นำไปสู่ความทุกข์ หรือว่าเกิดกิเลสขึ้น ศีลซึ่งเป็นขั้นตอนแรกในการรับมือกับผัสสะ ในที่นี้อย่างที่บอกหมายถึง การควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย
ซึ่งมีการสรุปเป็นภาพที่เราคุ้นเคยกันดี เป็นภาพลิง ปิดตา ปิดหู ปิดปาก อันนี้หมายความว่า ไม่ไปรับรู้อารมณ์ที่มันจะกระตุ้นให้เกิดกิเลส ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ หรือโมหะ ความหมายหนึ่งก็คือการหลีกเลี่ยงไม่ไปรับรู้สิ่งที่มันจะทำให้เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา
อย่างเช่น คราวหนึ่งที่พระอานนท์ถามพระพุทธเจ้าว่า ควรจะปฏิบัติต่อมาตุคามผู้หญิงอย่างไร พระพุทธเจ้าตอบว่า ถ้าไม่มองด้วยเป็นดี หรือถ้าจำเป็นต้องมองก็อย่าพูดด้วย อันนี้เรียกว่า ควบคุมตาก็ดี ควบคุมปากก็ดี หรือที่มีศีลข้อหนึ่งก็คือ ให้เว้นจากการดูหนังฟังเพลง การขับสีตีเป่า อันนี้ก็เป็นเรื่องของการละเว้น หลีกเลี่ยง ไม่ไปรับรู้สิ่งที่มันจะกระตุ้นให้เกิดตัณหา แล้วก็เกิดความทุกข์ตามมา
อันนี้เราก็นำมาประยุกต์ใช้ในเวลาที่มีคำต่อว่าด่าทอ ตำหนิติเตียน พอฟังแล้วจะเกิดความทุกข์ เกิดความโกรธขึ้นมา ก็เลี่ยง โดยการไม่ไปฟัง หรือว่าปิดหูเสีย ถ้าหากอยู่ในเหตุการณ์ ก็เดินออกมาจากสถานที่นั้น อันนี้ก็จัดว่าเป็นวิธีการในขั้นศีล คือ ไม่ไปรับรู้ ไม่ไปมอง ไม่ไปได้ยิน เป็นวิธีการที่เราคุ้นเคยกันดี
แต่ว่ามันยังมีวิธีการที่ดีกว่านั้น วิธีการนั้นเรียกว่าสมาธิ สมาธิในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการนั่งหลับตา ตามลมหายใจ หรือหมายถึงการที่มีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ แต่หมายถึงการรักษาใจ และสิ่งที่รักษาใจได้ดีมาก ก็คือวิธีการที่เรียกว่าอินทรียสังวร อินทรีย์สังวรหมายถึงการรักษาใจไม่ให้บาป และอกุศลเกิดขึ้น เมื่อมีการรับรู้อารมณ์ทั้ง 6 หรือ การรับรู้อารมณ์ด้วยอายตนะทั้ง 6
อายตนะทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ได้หมายถึงการสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่หมายถึงการรักษาใจเมื่อเกิดการกระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งที่จริงก็คือสติ ในขณะที่พระพุทธเจ้าตรัสตอบพระอานนท์ว่า ไม่มองผู้หญิงเป็นดี หรือว่าถ้ามองก็อย่าพูดด้วย แต่ถ้าจำเป็นต้องพูด ก็พูดอย่างมีสติ อันนี้คือความหมายของอินทรียสังวร เมื่อจำเป็นต้องพูดก็พูดอย่างมีสติ หรือว่ารับรู้ผัสสะอย่างมีสติ
ถ้าจะฟังเสียงเพลง เกิดมีเสียงเพลงกระทบหู ก็รักษาใจไม่ให้ยินดีไปกับเสียงเพลงนั้น ในทำนองเดียวกันเวลามีคนต่อว่าด่าทอ แม้ว่าเสียงมันจะกระทบหู แต่ก็ใช้สติรักษาใจ ไม่ใช่เพียงแค่รักษาใจไม่ให้โกรธหรือว่าเห็นความโกรธแต่ไม่เป็นผู้โกรธ แต่รวมถึงการรู้จักปล่อยรู้จักวางด้วย รู้จักปล่อยรู้จักวาง หรือไม่รับเข้ามา อันนี้ดีกว่า เพราะว่าพอไม่รับเข้ามา มันก็ไม่เกิดความโกรธตั้งแต่แรก
อย่างที่เคยเล่าว่า มีพราหมณ์มาด่าว่าพระพุทธเจ้า แล้วพระพุทธเจ้าก็เลยอุปมาเหมือนกับว่า ถ้ามีแขกมาบ้านท่าน ท่านเอาของมาต้อนรับ ถ้าอาคันตุกะไม่รับ ของนั้นจะเป็นของใคร พราหมณ์ก็ตอบว่า ของนั้นก็ต้องเป็นของข้าพเจ้าสิ พระพุทธเจ้าก็เลยตรัสว่า ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อท่านบริภาษด่าว่าเรา เราไม่รับคำบริภาษนั้น คำบริภาษนั้นก็จะเป็นของใคร
ที่ไม่รับคำต่อว่านั้นเพราะว่าอะไร เพราะว่ามีสติ พอมีสติ ก็ไม่เก็บเอามาครุ่นคิด ไม่เก็บเอามาทิ่มแทงตัวเอง ไม่รับตั้งแต่แรกเลย ก็เหมือนกับหลบ แต่ได้ยินอยู่ แต่ใจไม่ทุกข์ เพราะว่ารู้จักปล่อยรู้จักวาง
อันนี้ก็ตรงกับที่พระพุทธเจ้าเคยสอนพระนันทิยะ มีคราวหนึ่งพระองคุลิมาลซึ่งบวชใหม่ ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า พระองค์บอกว่าให้รู้จักหากัลยาณมิตร พระองคุริมาลได้ฟังก็ทำตามทันทีหากัลยานมิตร ก็ไปรู้จักกับพระนันทิยะ ซึ่งเป็นภันเต พระองคุลิมาลถามพระนันทิยะว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไรท่าน
พระนันทิยะตอบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนว่า ให้วางอดีต ให้ปล่อยวางข้างหน้า ข้างหลัง และข้างกลาง ไม่ยึดติดในอารมณ์อันเป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน อารมณ์ใดที่เกิดขึ้น ไม่ว่าพอใจหรือไม่พอใจก็ตาม ก็ให้ปล่อยให้วาง เมื่อมีคนด่าว่าบนบก ก็ให้วางคำด่าว่านั้นบนบกอย่าเอาลงน้ำ ถ้ามีคนด่าว่าในน้ำก็วางกองคำด่าว่าในน้ำ ไม่ต้องเอาขึ้นบนบก เมื่อมีคนด่าว่าในเมืองก็วางกองคำด่าว่่านั้นลงที่เมือง ไม่ต้องเก็บเอามาที่เชตวัน
เป็นคำอธิบายที่เข้าใจง่าย แต่ว่าเวลาทำอาจจะยาก แต่ประเด็นก็คือว่า ไม่เก็บเอามารกรุงรัง หรือไม่เอาเก็บมาเป็นภาระของใจ ก็คือ ปล่อยวาง ที่ปล่อยวางได้เพราะมีสติ เพราะถ้าขาดสติเมื่อไหร่ ก็เก็บเอามาครุ่นคิด เก็บเอามากรีดแทงจิตใจตัวเอง อันนี้เรียกว่าเป็นวิธีการในระดับสมาธิ ไม่ใช่นั่งหลับตาทำสมาธิแต่ว่าหมายถึงการรู้จักรักษาใจด้วยสติ
และประการต่อมาคือ ปัญญา ปัญญาในที่นี้หมายถึงการรู้จักพินิจพิจารณา หรือคิดแบบแยบคาย หรือมีคำหนึ่งเรียกว่า โยนิโสมนสิการ อย่างมีเหตุการณ์ตอนหนึ่ง
พระนาคสมาล ท่านเป็นพระเถระเข้าไปในเมือง ปรากฏว่าไปเห็นขบวนแห่มีหญิงฟ้อนรำหลายคนแต่งตัวงดงามด้วยเครื่องประดับประดาที่วิจิตร ลูบไล้ด้วยเครื่องหอม ท่านมองเห็น แทนที่จะปล่อยใจ ท่านมีสติ ไม่หลงเพลินไปกับภาพที่เห็น ท่านยังพิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการว่านี่คือบ่วงแห่งมาร อันนี้คือร่างที่จะเน่าเปื่อยในเวลาไม่นาน
พอท่านพิจารณาแบบนี้เข้า ก็เห็นแจ้งในไตรลักษณ์เลย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จิตของท่านก็หลุดพ้นเป็นพระอรหันต์ ทั้งที่พระพุทธเจ้าบอกว่าอย่ามองผู้หญิง แต่ว่าท่านนาคสมาล เมื่อท่านมองผู้หญิงแล้ว ไม่เพียงแต่มีสติ แต่ว่าใช้ปัญญาพิจารณา จิตของท่านก็หลุดพ้นเป็นพระอรหันต์ตรงถนนนั้นเอง
อีกท่านหนึ่ง พระลกุณฏกภัททิยะขณะกำลังเดินอยู่บนถนน ก็มีรถม้าแล่นผ่านมา นางคณิกาอยู่บนรถม้าแต่งตัวสวยงาม เห็นพระลกุณฏกภัททิยะ ท่านหลังค่อมนิดหน่อย ตัวเตี้ยๆ นางก็ยิ้ม พระลกุณฏกภัททิยะเห็นรอยยิ้มของนาง
แทนที่จะเกิดราคาหรือเกิดความรู้สึกที่เป็นกิเลส ท่านมีสติ แล้วก็พิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการ ว่านี้คือบ่วงแห่งมาร ซึ่งในที่สุดก็จะเสื่อม ในที่สุดก็จะเน่า ในที่สุดก็จะไม่งาม พอพิจารณาอย่างนี้ ท่านก็เข้าใจ เห็นแจ้งในไตรลักษณ์ จิตก็หลุดพ้นเลย อันนี้เรียกว่าใช้ปัญญาในการรับมือกับผัสสะหรือว่าสิ่งที่มากระทบ
พระอีกรูปหนึ่ง พระติสสะ ท่านกำลังเดินผ่านบ้านเศรษฐีนี ได้ยินนางทาสีกำลังร้องเพลง เป็นเพลงที่เกี่ยวกับความรัก แต่เป็นความรักที่รันทด เพราะว่าต้องเจอความพลัดพราก ต้องเจอกับความไม่เที่ยงความแปรเปลี่ยนของใจ พอท่านได้ฟัง แทนที่จะติดใจหลงไปกับเสียงเพลง ท่านมีสติ แล้วพอพิจารณาไปเนื้อเพลง ก็เห็นแจ้งในความเป็นอนิจจังของสังขาร ท่านก็บรรลุธรรมตรงนั้น เพราะว่าเห็นแจ่มแจ้งในไตรลักษณ์
อันนี้เรียกว่า เมื่อมีผัสสะแล้ว หรือว่าเมื่อมีการกระทบ แม้จะเป็นเสียงเพลงที่น่าพอใจ แต่ว่าใจไม่เคลิ้มคล้อยตามด้วยเพราะมีสติ แถมยังใช้ประโยชน์จากเสียงเพลงนั้น จนกระทั่งเห็นสัจธรรม อันนี้เรียกว่าใช้ปัญญา รับมือกับผัสสะหรือสิ่งที่กระทบด้วยปัญญา
ในทำนองเดียวกัน เสียงที่ไม่น่าพอใจเช่น เสียงต่อว่าด่าทอ เราจะมีทางเลือกด้วยการปล่อยวาง ไม่เอาเสียงหรือคำต่อว่านั้นมารบกวนจิตใจ สิ่งหนึ่งที่ยังทำได้ คือ พิจารณา พิจารณาก็เห็นประโยชน์ของคำเหล่านั้นว่า เป็นเครื่องเตือนใจ หรือเป็นเครื่องขัดเกลาจิตใจ อย่างที่แม่ชีสาถูกครูบาอาจารย์ต่อว่า แต่ท่านกลับมองว่า มันเป็นเสียงธรรมที่ช่วยขัดเกลากิเลส จะเห็นอย่างนี้ได้ ต้องมีปัญญา รู้จักหาประโยชน์จากคำต่อว่าที่เกิดขึ้น
หลวงพ่อคำเขียนก็พูดเหมือนกัน แม้ถูกด่าว่า ก็เห็นสัจธรรมได้ หมายความว่า ในคำด่าว่า มันก็สะท้อนสัจธรรม ในคำด่าว่า มันมีสิ่งที่หยาบกระด้าง ร้อนแรงด้วยอารมณ์ แต่ก็แฝงด้วยสัจธรรมเหมือนกัน เปรียบเหมือนกับทุเรียน แม้จะมีหนามแหลม ถูกก็เจ็บ แต่ว่าข้างในก็มีเนื้อที่หอมหวาน ผู้ที่มีปัญญาก็จะรู้จักปอกเอาเปลือกที่แหลมคมออก ถ้ารู้จักปอก ก็จะได้เนื้อที่หอมหวาน
พระพุทธเจ้าตรัสกับพระนันทิยะ แล้วพระนันทิยะก็เอามาเล่าให้พระองคุลิมาลฟังว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนว่า ผู้ที่รู้จักหาประโยชน์อิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าสรรเสริญผู้นั้นว่าเป็นบัณฑิต บัณฑิตหรือผู้ที่มีปัญญา หรือเราจะเรียกรวมๆว่าคนดีก็ได้ รู้จักหาประโยชน์จากอิฏฐารมณ์ อิฏฐารมณ์ก็คืออารมณ์ที่น่าพอใจ อนิฏฐารมณ์คืออามรณ์ที่ไม่น่าพอใจ
พระนาคสมาล ท่านหาประโยชน์จากอิฏฐารมณ์ คือภาพผู้หญิงที่สวยงาม จนกระทั่งบรรลุธรรม พระลกุณฏกภัททิยะ ก็เหมือนกัน ท่านก็รู้จักหาประโยชน์จากอิฏฐารมณ์ แทนที่จะเกิดกิเลสหรือความหลง กลับเกิดปัญญา เกิดการหลุดพ้นขึ้นมา
อนิฏฐารมณ์ก็เหมือนกัน รูป รส กลิ่น เสียงที่ไม่น่าพอใจ คำต่อว่าด่าทอ หรือเหตุการณ์เช่น ความสูญเสียเสื่อมยศ เสื่อมลาภ นอกจากจะไม่ทุกข์เพราะเหตุการณ์เหล่านั้นแล้ว ยังรู้จักหาประโยชน์
อย่างที่บางคนพอสูญเสียทรัพย์สินในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 54 แทนที่จะเศร้าโศกเสียใจ หรือดกรธแค้น ก็กลับมองว่า เขามาสอนเราว่า มันไม่มีอะไรที่เป็นของเราอย่างแท้จริง ทุกอย่างที่เรามี มันเป็นของชั่วคราว วันดีคืนดีถ้าไม่ถูกไฟไหม้ หรือน้ำท่วมพลัดพาไป ก็อาจจะมีคนแย่งชิงไป หรือไม่ก็เสื่อมไปเองตามวันเวลา อย่างนี้เรียกว่าหาประโยชน์จากอนิฏฐารมณ์ จากความสูญเสีย จากความเสื่อม
นอกจากไม่ทุกข์แล้ว ยังได้ปัญญาด้วย ทั้ง 3 ขั้นตอนเป็นวิธีการที่ครอบคลุม และใช้ได้กับสิ่งที่มากระทบทุกอย่างเลยไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ หรือเป็นสิ่งที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ ถ้าไม่ใช้ 3 วิธีนี้ มันก็ ถ้าไม่เกิดทุกข์ ก็เกิดอวิชชา หรือเกิดกิเลสขึ้น เช่น ถ้ามีสิ่งเย้ายวนก็เกิดกิเลส เกิดตัณหา ถ้าเป็นสิ่งยั่วยุก็ทำให้เกิดโทสะ
แต่ถ้าหากว่าใช้ศีล สมาธิ ปัญญาในความหมายนี้ ก็คือรู้จักควบคุม ตาหูจมูกลิ้นกาย เป็นเบื้องต้น และต่อมาก็คือรู้จักรักษาใจ ประการต่อมาคือรู้จักมองมัน หาประโยชน์จากมันด้วยปัญญา
อย่างเช่น ตอนนี้ เรารู้ว่า มีความเจ็บป่วยเกิดขึ้น เราก็ระมัดระวัง ควบคุมอาหาร ดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายบ่อยๆ อันนี้ก็เรียกว่าวิธีการระดับศีล คือการรักษาคือควบคุมกาย แต่ถ้าเจ็บป่วยขึ้นมาก็ใช้สมาธิหรือสติ ก็คือว่า มันป่วย หรือมันปวด มันก็ปวดแต่กาย แต่รักษาใจไม่ให้ป่วยตามไปด้วย
อย่างที่พระพุทธเจ้าสอนนกุลบิดาว่า แม้กายกระสับกระส่ายแต่ก็อย่าให้ใจกระสับกระส่ายด้วย แม้กายป่วยก็อย่าให้ใจป่วยด้วย อันนี้เรียกว่าใช้สติ ซึ่งก็เป็นธรรมะในระดับสมาธิ
หรือว่า ทำได้ดีกว่านั้นก็คือว่าพิจารณาความทุกข์หรือความเจ็บป่วยจนเห็นธรรม จนเห็นไตรลักษณ์ เห็นว่าสังขารไม่เที่ยงหนอ เป็นตัวทุกข์ล้วนๆ สังขารนี้ไม่ใช่ของเรา อันนี้เรียกว่าอาศัยความเจ็บป่วยมาเป็นเครื่องสอนธรรมะ คือเป็นอุปกรณ์สอนธรรม จนกระทั่งเข้าใจในพระไตรลักษณ์ อันนี้เรียกว่าใช้ปัญญา
เพราะฉะนั้น ถ้าเรารู้จักใช้ศีล สมาธิ ปัญญาในความหมายที่ว่านี้ นอกจากในความหมายที่เรารู้จักกัน มันยังช่วยทำให้เราอยู่กับโลกอยู่กับเหตุการณ์ต่างๆได้ด้วยใจที่ไม่ทุกข์ แถมยังช่วยพัฒนาคุณภาพจิตให้เจริญงอกงาม
ศีลในความหมายที่เป็นการรักษา หรือควบคุมกาย วาจา หรือควบคุมตาหูจมูกลิ้นกาย จะว่าไปก็เป็นระดับประถม เวลาเราสอนเด็ก เราก็สอนโดยใช้วิธีนี้แหละ ให้ควบคุม ตาหูจมูกลิ้น อย่าไปดูสิ่งที่ไม่ดี เหมือนกับลิงปิดหูปิดตาปิดจมูก แต่ว่าเท่านั้นไม่พอ สอนให้ยกระดับ เรียกว่าระดับมัธยม คือ มีสติรักษาใจ มีอินทรียสังวร
และดีกว่านั้นก็คือ ระดับอุดม คือใช้ปัญญา คือแม้เจออารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ หรืออารมณ์ที่ชวนให้เกิดกิเลส แต่ก็หาประโยชน์จากมัน จนกระทั่งไม่เพียงแต่ลดความทุกข์ แต่ว่ายังช่วยลดกิเลส ช่วยลดอัตตาตัวตนได้
ถ้าเรารู้จักใช้รู้จักประยุกต์ ศีลสมาธิปัญญา มันก็จะทำให้เราสามารถจะรับมือกับผัสสะ หรืออารมณ์ต่างๆที่มากระทบได้ ด้วยใจที่ไม่ทุกข์ แถมยังเกิดความเจริญงอกงามให้ยิ่งๆขึ้นไปด้วย อันนี้ก็เป็นอีกแง่หนึ่งของการรับมือกับสิ่งที่มากระทบ
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเช้าวันที่ 5 กันยายน 2564