แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เวลาหนามทิ่มถูกเนื้อตัวเรา ความรู้สึกเจ็บจะเกิดขึ้นทันที เวลาเปลวไฟร้อนๆมาถูกตัวเราจะรู้สึกร้อนแสบขึ้นมาทันที ความทุกข์กายจะเกิดขึ้นทันทีเมื่อมีการกระทบมีการสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บ ความปวด ความร้อน ความแสบก็ตาม แต่ความทุกข์ใจนี่ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นมาทันทีที่มีการกระทบ
คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเวลามีเสียงต่อว่าด่าทอ สบประมาทจะเกิดความโกรธขึ้นมาทันที หรือเสียงดังขึ้นมากระทบจะเกิดความรำคาญขึ้นมาทันที ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าพิจารณาให้ละเอียด เมื่อมีการกระทบเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือแม้กระทั่งทางใจ ก่อนที่จะทุกข์ใจ มันจะต้องมีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นก่อน ถ้าไม่มีสิ่งนี้มันก็ทุกข์ใจไม่ได้หรือความทุกข์ใจไม่เกิดขึ้น
สิ่งที่ว่านี้คืออะไร ถ้าพูดรวมๆก็คือการปรุงแต่ง ลำพังเมื่อมีการกระทบเกิดขึ้น มันยังไม่ทำให้ทุกข์ใจหรอก ต้องมีการปรุงแต่งเกิดขึ้นก่อน จึงจะทุกข์ใจ มันต่างจากความทุกข์กาย ทุกข์กาย ถ้ากระทบปุ๊บ สัมผัสปั๊บ ทุกข์กายทันที ปวด ร้อน แสบ เจ็บ ส่วนความทุกข์ใจ จะต้องมีการปรุงแต่งเกิดขึ้นก่อน หลังจากการกระทบ จึงจะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเศร้า ความเสียใจ ความวิตกกังวล
การปรุงแต่งหมายความว่าอะไร ยกตัวอย่างง่ายๆ ความไม่ชอบ อะไรมากระทบ ถ้าหากว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบ ความทุกข์ใจจึงจะเกิดขึ้น เช่น รสชาติของอาหาร ถ้าไม่รู้สึกชอบขึ้นมา ก็จะเกิดความรู้สึกเป็นทุกข์ เกิดความไม่พอใจ ความไม่ชอบหรือความชอบ เป็นการปรุงแต่งอย่างหนึ่ง มันเกิดจากการปรุงแต่ง
อาหารอย่างเดียวกัน คนหนึ่งไม่ชอบ กินแล้วก็กลืนไม่ลง แต่อีกคนหนึ่งเกิดชอบขึ้นมา ก็เกิดความพอใจเกิดความสุข เกิดความอร่อย ความไม่ชอบมันเกิดขึ้นจากอะไร จะว่าไป มันเกิดความรู้สึกลบ อะไรก็ตามที่เรารู้สึกลบต่อสิ่งนั้น พอเจอเข้ามันย่อมไม่ชอบ ความรู้สึกลบก็เป็นการปรุงแต่งอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับความรู้สึกบวกต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ตาม ความรู้สึกลบเกิดขึ้นจากอะไร มันก็เกิดขึ้นจากการตีค่าหรือให้ค่า
กลิ่นๆหนึ่ง ถ้าเราตีค่าหรือให้ค่าว่าเหม็น เราก็ย่อมจะรู้สึกลบ เกิดความไม่ชอบ พอมาสัมผัสที่จมูก ก็เกิดความไม่พอใจ อาจจะเกิดความรำคาญหรือเกิดความโกรธขึ้นมา กลิ่นเดียวกัน คนหนึ่งตีค่าว่าเหม็น อีกคนหนึ่งอาจจะบอกว่าหอมก็ได้ อย่างเช่นกลิ่นปลาร้า ฝรั่งหรือคนไทยบางกลุ่มตีค่าว่าเหม็น พอได้กลิ่นก็เบือนหน้าหนี แต่คนอีสานบอกว่าเป็นกลิ่นหอม พอได้กลิ่นก็เกิดความพอใจ รู้สึกเจริญอาหารขึ้นมา
ในทางตรงข้าม กลิ่นเนยแข็งที่หมักเอาไว้ ฝรั่งว่าตีค่าเป็นกลิ่นหอม แต่คนไทยบอกว่าเป็นกลิ่นเหม็น บางทีก็พะอืดพะอม กินไม่ลง ถ้าหากว่าเอามาผสมอยู่ในอาหาร พอเคี้ยวแล้วก็กลืนไม่ลง
เสียงก็เหมือนกัน เราตีค่าหรือให้ค่าว่ามันเป็นเสียงดัง พอเสียงกระทบหูเข้า ก็เกิดความรู้สึกลบ เกิดความไม่พอใจ เกิดความทุกข์ แต่คนบางคนไม่รู้สึกว่ามันดังเลย มันโอเค เขาไม่ได้รู้สึกลบกับเสียงนั้น เสียงต่อว่าด่าทอก็เหมือนกัน ถ้าเราไปตีค่าว่านี้เป็นเสียงสบประมาท ก็จะรู้สึกโกรธขึ้นมาทันที แต่ถ้ามองว่ามันเป็นเสียงเตือนให้มีสติ ความรู้สึกก็จะอีกแบบหนึ่ง
หรือถ้ามองไปว่าเป็นเสียงดังหรือว่าเป็นเสียงรบกวน พอตีค่าว่าเป็นเสียงรบกวนก็เกิดความโกรธหรือเกิดความหงุดหงิดขึ้นมาทันที แต่เสียงเดียวกัน บางคนว่าเป็นเสียงสวรรค์ อย่างเช่น ลูกบอกแม่ให้มองว่าเสียงของลูกที่หยอกล้อกันว่าเป็นเสียงความสุขของลูก แม่ซึ่งเคยมองว่าเป็นเสียงรบกวน พอหันมามองอย่างที่ลูกแนะนำ จากเดิมที่เคยโกรธ หงุดหงิดรำคาญก็เปลี่ยนไป มาเป็นความรู้สึกชอบ อันนี้เพราะให้ค่าต่างกัน
การกระทำบางอย่าง ถ้าเราให้ค่าว่ามันไม่ดี เห็น ก็เกิดความไม่พอใจ รู้สึกลบกับสิ่งที่ปรากฏอยู่ข้างหน้าแต่ถ้าเกิดว่า ไม่ได้ตีค่าอย่างนั้น เห็นแล้วก็เฉยๆ
เคยมีชาวเขมรคนหนึ่งมาเมืองไทยเมื่อหลายปีก่อน เขามาเยี่ยมชมวัด เขาตกใจเห็นคนไทยโดยเฉพาะหนุ่มสาวนั่งขัดสมาธิคุยกับพระ หรือบางทีนั่งขัดสมาธิอยู่ในวิหาร มันเป็นภาพที่รบกวนจิตใจเขามากเลย เพราะว่าเขามองว่าไม่สุภาพ ความสุภาพคืออะไร คือต้องนั่งพับเพียบ แต่ว่าคนไทยจำนวนมากไม่ได้ตีค่า หรือมองว่าการนั่งขัดสมาธิเป็นกริยาที่ไม่สุภาพเมื่ออยู่ต่อหน้าพระหรือสนทนากับพระ รู้สึกเฉยๆ
ภาพนั้นกระทบตา ถ้าไม่รู้สึกลบกับมัน มันก็ไม่ทุกข์ แต่พอรู้สึกลบ หรือตีค่าว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่สุภาพ มันก็เกิดความหงุดหงิดรำคาญขึ้นมาทันที ยิ่งถ้าหากว่า นอกจากไม่ใช่นั่งขัดสมาธิอย่างเดียว นั่งยืดขามาที่พระประธานอย่างคนรุ่นใหม่หรือว่าฝรั่งจำนวนมากที่ปฏิบัติเวลานั่งแล้วเมื่อย คนไทยจำนวนมากเห็นแล้วทนไม่ได้ แต่ว่าคนชาติอื่นหรือว่าคนวัฒนธรรมอื่นเห็นว่าเป็นธรรมดา ไม่ได้รู้สึกว่ามันเสียหายหรือไม่สุภาพอะไรเลย
เสียงแตรก็เหมือนกัน บางคนได้ยินเกิดความรู้สึกหงุดหงิดรำคาญขึ้นมา มันไม่ใช่เป็นความรู้สึกอัตโนมัติแต่เป็นเพราะมีการตีค่าว่าเสียงแตรเป็นเสียงที่ไม่สุภาพ บางทีมองว่าเป็นเสียงด่าด้วยซ้ำ แต่ชาวบ้านบางแห่งใช้เสียงแตรเวลาผ่านศาลปู่ตา อย่างทางขึ้นเขาจากแก้งคร้อ รถโดยสารจะขับรถผ่านศาลปู่ตาที่อยู่บนเชิงเขา จะกดแตรเพื่อแสดงความเคารพแสดงความคารวะเจ้าพ่อหรือปู่ตา ไม่ได้เป็นอาการที่ไม่สุภาพอย่างคนในเมืองเข้าใจ
เพราะฉะนั้น ชาวบ้านเวลาได้ยินเสียงแตรจะรู้สึกเฉยๆ บางทีทักด้วยซ้ำว่าทำไมไม่กดแตร จะเห็นได้ว่า ความรู้สึกสุขทุกข์ มันไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อมีการกระทบทันที แต่เป็นเพราะมีการปรุงแต่งเกิดขึ้นก่อน อันนี้รวมไปถึงสิ่งที่เราตีค่าว่ามากหรือน้อย ได้เงินมา 10 บาท แต่ถ้าตีค่าว่า 10 บาทนี่เยอะ มันก็เกิดความพอใจ ในทางตรงข้ามได้เงินแสน แต่ถ้าตีค่าว่ามันน้อย มันก็ทุกข์ ทั้งที่เมื่อเทียบกันแล้ว 10 น้อยกว่าแสน
แต่คนเรา เราไม่ได้มองตรงๆซื่อๆ มันมีการตีค่ามากหรือน้อย มันขึ้นอยู่กับอะไร มันเกิดจากการเปรียบเทียบ ได้โบนัสเป็น 1 แสนถือว่ามาก แต่พอรู้ว่าเพื่อนร่วมงานได้ 2 แสน มากก็กลายเป็นน้อยเลย แล้วก็เกิดความไม่พอใจขึ้นมาว่าทำไมฉันได้น้อยแบบนี้ ในขณะที่บางคนได้ 100 แต่ว่าไม่รู้สึกว่ามันน้อยเลยเพราะว่าคนอื่นได้ 50 เกิดความพอใจขึ้นมา
นอกจากการเปรียบเทียบแล้ว ความคาดหวังก็เหมือนกัน 10 น้อยกว่าแสน แต่ถ้าคาดหวังแค่ 5 พอได้ 10 ก็ถือว่ามาก ดีใจ ในขณะที่แสนได้มาก็จริง คาดหวังล้าน พอได้แสน ก็เกิดความไม่พอใจขึ้นมา เกิดความรู้สึกทุกข์ เกิดความรู้สึกขุ่นมัว การเปรียบเทียบหรือการคาดหวัง มันก็เป็นการปรุงแต่งอย่างหนึ่ง มันเป็นการปรุงขึ้นมาในใจ
คำว่าปรุงแต่ง มันมีความหมายกว้าง ถ้ากล่าวรวมๆมันเป็นเงื่อนไขสำคัญทีเดียว ที่ทำให้คนเราจะสุขหรือทุกข์ มันไม่ใช่เป็นเพราะว่ามีการกระทบเกิดขึ้นแล้วจะทุกข์ทันที มันต้องผ่านการปรุงแต่งก่อน ปรุงแต่งอย่างที่ว่า ความไม่ชอบ ความรู้สึกลบ ตีค่าว่า เหม็น หรือว่าเสียงดัง หรือว่าไม่สุภาพ ไม่ดี หรือว่าน้อย แล้วก็ยังมีการปรุงแต่งอีกแบบหนึ่งคือ การผลักไส
พอรู้สึกลบกับมัน รู้สึกลบกับเสียง รู้สึกลบกับกลิ่น รู้สึกกับสิ่งที่เห็น มันก็เกิดการผลักไสขึ้นมา การผลักไสก็ยิ่งทำให้เป็นทุกข์เข้าไปใหญ่ ถ้าไม่ผลักไสก็ไม่ทุกข์มาก แต่เพราะผลักไส มันก็เลยเพิ่มความทุกข์ให้
การปรุงแต่งที่สำคัญอีกตัวหนึ่ง คือ การปรุงตัวกูขึ้นมา ปรุงตัวกูเป็นผู้เสวยอารมณ์ เป็นผู้เสพกลิ่นเหม็นหรือว่าเสพอาหารที่ไม่อร่อย หรือตัวกู ตกเป็นเป้าของคำต่อว่าสบประมาท หรือว่าตัวกูได้น้อย อยากได้มากแต่ได้น้อย ก็เกิดความรู้สึกทุกข์ใจขึ้นมา เกิดความไม่พอใจขึ้นมา อันนี้เป็นการปรุงแต่งที่สำคัญมาก คือปรุงตัวกูขึ้นมา
ซึ่งก็ทำให้ พออารมณ์ใดเกิดขึ้นจากการกระทบแล้ว หรือว่าเกิดขึ้นจากการปรุงแต่งเมื่อมีการกระทบ มันยิ่งซ้ำเติมเข้าไปใหญ่ เช่น มีความโกรธแล้ว ก็เข้าไปเป็นผู้โกรธ มีความขุ่นมัวแทนที่จะแค่ความขุ่นมัวเกิดขึ้น มันก็เข้าไปยึดเป็นกูขุ่นมัวขึ้นมา รวมถึงอารมณ์อื่นด้วย เศร้า เสียใจ น้อยใจ วิตกกังวล มันไม่ใช่แค่เกิดขึ้นมาเฉยๆ แต่มันมีตัวกูเข้าไปออกรับ ไปเป็นเจ้าของ ก็กลายเป็นผู้เศร้า ผู้วิตก ผู้เครียด ก็ยิ่งทำให้ทุกข์ใจเข้าไปใหญ่
เพราะฉะนั้น เวลาเราเกิดความทุกข์ขึ้นมา โดยเฉพาะความทุกข์ใจ อย่าเพิ่งไปโทษสิ่งภายนอกอย่างเดียว เพราะว่าแค่สิ่งภายนอกมากระทบกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันยังไม่เกิดทุกข์ใจขึ้นมาหรอก แต่เป็นเพราะมันเกิดการปรุงแต่งขึ้นมาหลังจากนั้น แล้วการปรุงแต่งนั้น ถามว่าอะไรปรุงแต่ง มันก็จิตนั่นแหล่ะที่ปรุงแต่ง หรือถ้าพูดอย่างหยาบๆว่า เรานั่นแหละปรุงแต่ง มันก็เลยเกิดความทุกข์ขึ้นมา
แล้วจะทำอย่างไรในเมื่อเรารู้ถึงเหตุปัจจัยของความทุกข์ว่า มันไม่ได้เกิดจากการกระทบอย่างเดียว แต่มันเกิดจากการปรุงแต่ง ซึ่งก็พูดแบบรวมๆ เพราะถ้าหากซอยละเอียด มันจะมีอะไรมากกว่านั้น อย่างที่เราได้เรียนรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทมา พอเกิดผัสสะขึ้นมา แล้วเกิดเวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ ต้องผ่านกระบวนการนี้ก่อน จนกว่าจะเกิดโสกะปริเทวะทุกข์โทมนัส
พระพุทธเจ้าแจกแจงละเอียดมาก แต่ถ้าพูดรวมๆตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ อันนี้คือการปรุงแต่งล้วนๆเลย พอมีชาติ แล้วก็ชรา มรณะ เป็นธรรมดา แล้วจึงเกิดทุกข์ โสกะปริเทวะ แต่ว่ามันละเอียดไปอันนี้ถ้าพูดรวมๆก็คือว่า พอเกิดการกระทบ หรือเกิดผัสสะขึ้นมาแล้ว มันก็เกิดการปรุงแต่ง แล้วถ้าปรุงแต่งในทางลบ ก็เกิดทุกข์ตามมา แล้วเราจะทำอย่างไร
ถ้าไม่อยากให้ทุกข์เมื่อมีการกระทบ ก็ต้องอย่าให้มีการปรุงแต่ง อย่างที่พูดไว้เมื่อวันก่อน สักแต่ว่า สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่าได้กลิ่น คืออันนี้แหละ คือเมื่อมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น หรือเกิดผัสสะ เกิดการกระทบขึ้นมา มันไม่มีการปรุงแต่ง แต่ว่าปุถุชนนั้น การที่ไม่มีการปรุงแต่งเลยก็เป็นไปได้ยาก แต่อย่างน้อยถ้าหากว่ารู้ทันมัน ว่ามีการปรุงแต่งเกิดขึ้นในใจ ถามว่าอะไรทำให้รู้ทัน ก็คือสติ
สติทำให้รู้ทันการปรุงแต่ง และถ้ามีสติ ความรู้สึกตัวในชั่วขณะนั้น การปรุงแต่งตัวกู มันก็จะไม่เกิดขึ้นเพราะการปรุงแต่งตัวกูเกิดขึ้นในยามที่เผลอในยามที่หลง ถ้ามีสติมีความรู้สึกตัวในชั่วขณะนั้น มันก็ไม่มีตัวกูขึ้นมา รู้สึกตัวเมื่อไหร่ ตัวกูก็หายไป แต่ถ้าไม่รู้สึกตัว เผลอเมื่อไหร่ ตัวกูก็เกิดขึ้นจากการปรุงแต่งเพราะความหลง
เพราะฉะนั้น ถ้าเราใช้สติอย่างทันท่วงที มันก็ช่วยระงับการปรุงแต่งที่นำไปสู่ทุกข์ได้ หรือไม่เช่นนั้นถึงแม้มีการปรุงแต่งก็รู้ทันมัน รู้ว่าตอนนี้เรามีความคาดหวัง ยึดติดในความคาดหวัง รู้ว่ามันมีการเปรียบเทียบกัน เปรียบเทียบอย่างนี้ทำให้ทุกข์ ก็วางมันลง หรือว่ามีความโกรธเกิดขึ้น ก็รู้ทันมัน ไม่เข้าไปเป็นมันเพราะว่าเห็น มันก็ช่วยลดการปรุงแต่ง ซึ่งพอลดการปรุงแต่ง หรือว่าทำให้การปรุงแต่งไม่เกิดขึ้น
เหมือนกับชักสะพาน ความทุกข์ก็ไม่สามารถที่จะเข้ามาถึงใจได้ แต่ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถลดการปรุงแต่งได้ แต่อย่างน้อย ทำให้การปรุงแต่งเกิดขึ้นในทางบวก ที่มันเกิดทุกข์ เป็นเพราะว่ามันมีการปรุงแต่งในทางลบ ถ้าไม่อยากให้ทุกข์ก็ปรุงแต่งในทางบวก อย่างเช่น เสียงตำหนิ แทนที่จะมองเป็นลบ ก็มองเป็นบวก ว่าเป็นเสียงที่มาแนะนำตักเตือนให้เรารู้ว่าควรจะแก้ไขอะไร ควรจะปรับปรุงอะไร
หรืออย่างที่แม่ชีสาเวลาโดนครูบาอาจารย์ต่อว่าด่าทอ ก็มองว่าเป็นเสียงธรรมะ อันนี้คือการมองบวก คือปรุงแต่งในทางบวก หรือแทนที่จะมองว่าเสียงดังของลูกเป็นการรบกวนแม่ ก็มองเป็นเสียงสวรรค์ เสียงความสุขของลูก ก็คือการมองบวก หรือการให้ค่าในทางบวก มันก็ช่วยทำให้ไม่ทุกข์ได้ หรือว่าน้อมใจนึกถึงสิ่งที่ดี ไม่จดจ่อกับสิ่งที่ไม่ดี
อย่างที่เคยเล่าว่า บุรุษไปรษณีย์มาส่งพัสดุ กดกริ่งหน้าประตู ตอนนั้นตอนบ่าย เจ้าของบ้านอยู่ในบ้านเปิดแอร์ ไม่อยากออกมารับของเพราะต้องเจอแดด ขนาดอยู่ในห้องแอร์ยังรู้สึกว่าอ้าว ยังรู้สึกหงุดหงิดเลย ยิ่งออกไปข้างนอกเจอแดด มันก็ยิ่งชวนให้หงุดหงิดเข้าไปใหญ่ ส่วนบุรุษไปรษณีย์ก็รอให้มารับของ ไม่ได้รอเปล่า ร้องเพลงลูกทุ่งไปด้วย
จนกระทั่งเจ้าของบ้านออกมารับพัสดุ เสร็จก็ถามบุรุษไปรษณีย์ แดกดันเล็กๆว่า อากาศร้อนอย่างนี้ยังมีอารมณ์ร้องเพลงอีกหรอ บุรุษไปรษณีย์ก็บอกว่าโลกร้อน แต่ถ้าใจเย็น มันก็เย็นครับ ผมร้องเพลงแล้วใจเย็นครับ อันนี้เป็นการปรุงแต่งในทางบวก เป็นการน้อมใจให้นึกถึงสิ่งที่ชวนให้สบายใจ ถ้าใจไปรับรู้ความร้อนของแดด หรือไปรับรู้ความร้อนของกาย ก็อาจจะเป็นทุกข์ เพราะรู้สึกว่าแดดร้อน มันไม่ดี
แต่ก็ตัดปัญหา แทนที่จะปรุงแต่งในทางลบ ก็น้อมใจ ไปอยู่กับเสียงร้องเพลง มันก็กล่อมใจให้เป็นบวกขึ้นมาได้ อันนี้เรียกว่าสกัดการปรุงแต่งในทางลบ ด้วยการสร้างการปรุงแต่งในทางบวกขึ้นมา ซึ่งคนทั่วไปก็ทำได้ แต่ถ้าทำให้ดีกว่านั้นก็คือ รู้ทันการปรุงแต่งที่มันก่อทุกข์ หรือว่าไม่ทำให้มีการปรุงแต่งเกิดขึ้นเลย ยิ่งดีเข้าไปใหญ่
อันนี้คือความจริงที่เราศึกษาเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ของตัวเอง และเราก็จะพบว่า จริงๆแล้ว การกระทบ มันไม่ได้ทำให้ทุกข์ทันทีหรอก แต่เพราะการปรุงแต่งในใจ แล้วเราก็สามารถที่จะทำอะไรกับการปรุงแต่งนั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการรู้ทันมัน หรือว่าทำให้การปรุงแต่งมันยุติ หมดการปรุงแต่ง หรือว่าถ้ายังปรุงแต่งอยู่ก็ปรุงแต่งในทางบวก
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 4 กันยายน 2564