แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านติชนัทฮันห์ ท่านเคยเล่านิทานเรื่องหนึ่งอาจจะอิงเรื่องจริงก็ได้ มีครอบครัวหนึ่ง พ่อ แม่ แล้วก็ลูกน้อยคนหนึ่ง ไปทำไร่ทำนาที่ชายป่า ต่อมาแม่เสียชีวิต เหลือแต่พ่อกับลูกชายอายุราว 4-5 ขวบ เขารักลูกมาก ดูแลลูกอย่างดี วันหนึ่งพ่อเข้าไปหาของในป่าอยู่พักใหญ่ พอกลับมาบ้านก็ตกใจ ไฟไหม้บ้านลุกท่วม เหลือแต่เถ้าถ่าน รีบตามหาลูก หาเท่าไรก็ไม่เจอ
มาเจอโครงกระดูกใต้เถ้าถ่าน เสียใจมากที่ลูกรักต้องตายในกองเพลิง เก็บกระดูกของลูกแล้ว ตอนหลังโยกย้ายไปหลายที่หลายแห่งทีเดียว ในที่สุดปักหลักที่เมืองหนึ่ง ผ่านไปหลายปีกลางดึก ก็มีคนมาเคาะประตูเรียก เขาก็ลุกขึ้นมาถามว่าใคร ก็มีเสียงตอบจากหน้าประตูว่า พ่อ พ่อ ผมงัย แดง
ชายคนนั้นก็ไม่เชื่อบอกว่า ลูกของฉันตายไปนาน ผู้ชายที่อยู่อีกฟากประตูก็ตะโกนบอกว่า นี่ ผมจริงๆนะ แดง แดงลูกพ่องัย พ่อเปิดประตูรับผมด้วย เขาก็ไม่ยอมเปิด พูดว่าแกไม่ใช่ลูกฉัน ลูกฉันตายไปนาน ฉันยังเก็บกระดูกไว้เลย ชายที่อยู่หน้าบ้านก็บอกว่า จริงๆ ฉันเป็นแดงลูกพ่อ พ่อเปิดประตู แต่เขาก็ไม่ยอมเปิด สุดท้ายแดงก็หมดหวัง เดินจากไป
ความเป็นจริงก็คือว่า คนที่มาเคาะประตูคือ ลูกของชายคนนั้นจริงๆ เขายังไม่ได้ตายในกองเพลิง จริงๆแล้วมีโจรกลุ่มหนึ่งเข้ามา ปล้นเอาทรัพย์สินข้าวของในบ้าน แล้วก็เอาเด็ก ลูกของเจ้าของบ้านไป เพราะว่าหัวหน้าโจรอยากจะได้ลูกชาย เห็นเด็กคนนี้ คิดถึงลูกชายของตัวเองที่ตายไป ก็เอาเด็กน้อยคนนั้นไปด้วย แล้วทำทีเหมือนกับว่าเด็กตายในกองเพลิง ไม่รู้ไปเอากระดูกที่ไหนมาวาง
ส่วนแดงก็ได้รับการเลี้ยงดูจนโต แดงจำความจริงได้ เมื่อหัวหน้าโจรตายไปแล้ว ก็เลยหนี ไม่อยากใช้ชีวิตแบบนั้น ไม่อยากเป็นโจร แล้วก็พยายามตามหาพ่อ จนกระทั่งไปเจอ มีคนบอก แต่ปรากฏว่าพ่อกลับไม่ต้อนรับ ปิดประตูใส่ ไม่ยอมเปิด ชายคนนั้นรักลูกมาก แต่เขาไม่ยอมรับความจริงว่า นั่นคือลูกเพราะว่าเขามีความคิดหรือปักใจเชื่อแล้วว่า ลูกตัวเองตายไปแล้ว ก็เลยไม่ยอมเปิดประตูรับลูก
ก็นับว่าพลาดโอกาสที่จะได้พบลูก แล้วก็ได้มาเจอลูกอีกครั้งหนึ่ง อันนี้เป็นเหมือนนิทาน แต่ว่าความจริงก็มีเรื่องคล้ายๆทำนองนี้ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยเมื่อหลายปีก่อน ภรรยาไปทำงานที่ภาคใต้ ติดต่อกับสามีเป็นครั้งคราว ตอนหลังเงียบหายไป ไม่ได้ติดต่อเลย สามีก็พยายามติดต่อ เขียนจดหมายไป ก็หายไป สมัยนั้นยังไม่มีโทรศัพท์มือถือ เขียนกี่ฉบับๆก็เงียบหาย
ผ่านไปหลายปี ก็ลงความเห็นว่าภรรยาคงจะตายไปแล้ว เพราะว่าภาคใต้ตอนนั้น มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้น ทั้งน้ำท่วม พายุ รวมทั้งเรื่องการก่อการร้าย ผ่านไปหลายปี เช้ามืดวันหนึ่งมีเสียงเรียกผู้เป็นสามีคนนั้น เป็นผู้หญิงมายืนอยู่หน้าบ้านเหมือนกับภรรยาของตัว ก็ตกใจมากนึกว่าผี นึกว่าเมียที่ตายไปแล้วมาหลอกหลอน เขาพนมมือแล้วขอร้องเมียว่า อย่ามาหลอกมาหลอนเลย
เมียบอกว่าฉันไม่ใช่ผี ฉันเป็นเมียของพี่จริงๆ เขาก็ไม่ยอมเปิดประตู เพราะคิดว่าเป็นผี จนกระทั่งต้องชี้แจงอยู่นาน เขาจึงยอมรับว่าเป็นภรรยาของตัวกลับมาบ้าน จึงเปิดประตูต้อนรับ เรื่องนี้จบแบบ Happy Ending ไม่เหมือนเรื่องแรกที่จบแบบเศร้า แต่มันก็สะท้อนความจริงคล้ายๆกัน หรือให้แง่คิดที่คล้ายกันว่า คนเราเมื่อมีความเห็นความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ทั้งๆที่เจอความจริงที่อยู่ต่อหน้าแล้ว แต่กลับไม่ยอมรับ
พ่อซึ่งปักใจเชื่อว่าลูกตายไป แล้วแทนที่จะดีใจว่าลูกกลับมาหาพ่อ กลับปฏิเสธไม่ยอมรับ เพราะเชื่อแน่ว่าลูกตายแล้ว ก็เลยไม่ยอมรับความจริง คล้ายกับกรณีที่ 2 ที่สามีไม่ยอมเปิดประตู เพราะคิดที่อยู่ข้างหน้าคือผีภรรยาที่มาหลอกหลอน แต่ในที่สุดก็ยังยอมรับแล้วก็เปิดประตูต้อนรับภรรยา
ความคิดของคนเราบ่อยครั้งก็มีประโยชน์ มันช่วยทำให้เราเข้าถึงความจริง แต่ความจริงหลายอย่าง มันก็พบได้เพราะว่ามนุษย์เราใช้ความคิด นอกจากใช้การสังเกตแล้ว ใช้ความคิดพิจารณา อาจจะมีการทดลอง จนกระทั่งค้นพบความจริง
ความคิดมันก็สามารถที่จะเป็นกุญแจไขให้เราไปพบความจริงได้ แต่บางครั้งความคิด มันก็กลายเป็นตัวสกัดกั้นหรือปิดกั้นความจริง ทำให้ไม่สามารถที่จะยอมรับความจริงที่อยู่ข้างหน้าได้ โดยเฉพาะความคิดมันขัดกับความคิดความเชื่อที่อยู่ในหัวของตัว
มีผู้หญิงคนหนึ่งสมมุติชื่ออ้วนเล่าให้ฟังว่า เช้าวันหนึ่ง อ้วนกับเพื่อนเดินไปขึ้นสะพานลอยแถววงเวียนใหญ่ซึ่งเป็นจุดที่มีตลาดใหญ่ พอเดินสักพักอ้วนก็เห็นอะไรอยู่ข้างหน้า อ้วนก็บอกเพื่อนว่าข้างหน้านั้นมันมีแบงค์ 2 ใบอยู่ มันเป็นแบ้งค์พัน แต่ไม่ใช่แบงค์จริงหรอก มันเป็นแบงค์ปลอม ถ้าเป็นแบงค์จริงป่านนี้คนอื่นเขาเก็บไปแล้ว ไม่ตกค้างให้เราเห็นอย่างนี้ แต่เพื่อนยังไม่คล้อยตามแก ก็เดินไปหยิบ
ปรากฏว่าเป็นแบงค์จริง อ้วนแทนที่จะได้โชคลาภแต่พลาดโอกาสไปเสียแล้ว เพราะไปคิดว่าเป็นแบงค์ปลอม แต่เพื่อนก็ดีแบ่งให้อ้วน 1 ใบ ตัวเองเก็บไป 1 ใบ ที่จริงอ้วนมีสิทธิ์จะได้ทั้ง 2 ใบเลย แบงค์จริงอยู่ข้างหน้า เห็นชัดๆอยู่แล้ว แต่อ้วนไม่คิดว่าจะเป็นแบงค์จริง เขาไม่สามารถที่จะมองเห็นความจริงที่อยู่ข้างหน้าได้ เพราะเชื่อในความคิดมันว่าเป็นแบงค์ปลอม
ความคิดว่าเป็นแบงค์ปลอม ทำให้เขาไม่สามารถที่จะยอมรับได้ว่าข้างหน้านั้นเป็นแบงค์จริง โชคที่อยู่ข้างหน้าก็เลยหลุดลอยไป แต่ไม่ถึงกับหลุดลอยไปทีเดียว เพื่อนในที่สุดก็แบ่งให้ อันนี้ก็น่าคิดว่า ทำไมอ้วนถึงคิดว่าเป็นแบงค์ปลอม เหตุผลก็คือว่า ถ้าเป็นแบงค์จริง คนอื่นก็ต้องหยิบไปแล้ว เพราะไปยึดติดในเหตุผลนี้แหล่ะทำให้เขาไม่สามารถที่จะเปิดใจยอมรับความจริง เหตุผลบางครั้งก็ดูดี แต่ว่าก็หลอกเราได้
เพราะเหตุนี้ในกาลามสูตร มีตอนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า อย่าปลงใจเพราะตรรกะ อย่าปลงเชื่อเพราะอนุมาน หรืออย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตามแนวเหตุผล อ้วนใช้ตรรกะที่ว่า มันเป็นแบงค์จริงไม่ได้หรอกถ้าเป็นแบงค์จริงคนอื่นก็หยิบไปแล้ว ตรรกะดูดี มีน้ำหนัก แล้วเขาก็ใช้เหตุผลอย่างที่ว่า แต่ว่าเหตุผลบางครั้ง มันก็เป็นตัวปิดบังไม่ให้เราเห็นความจริง
แม้ว่าเหตุผลจะดีอย่างไร แต่ว่ามันอาจจะไม่ได้พาเราให้เห็นความจริงก็ได้ อย่างเรื่องนี้เห็นชัดเลย เราเชื่อเหตุผลทีเดียวไม่ได้แม้เหตุผลจะดูดี มันก็จริง ถ้าคนเห็น เขาก็ต้องเก็บไปแล้ว แต่ที่มันยังตกอยู่บนพื้นแสดงว่าคนเขาไม่หยิบเพราะว่ามันเป็นแบงค์ปลอม อันนี้ก็เป็นเหตุผลแต่เขาอาจจะลืมไปว่า ที่แบงค์ยังตกอยู่เพราะว่าไม่มีคนเห็น หรือว่ามันยังไม่มีคนเดินผ่านไปแถวนั้น
เหตุผลก็มีขีดจำกัด เพราะถ้าเราเชื่อเหตุผล มันก็อาจจะทำให้เราคลาดเคลื่อนจากความจริงได้ กาลามสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้นสำคัญมาก ในยุคที่ผู้คนยึดติดกับเหตุผล แล้วก็ให้ความสำคัญกับเหตุผล บางทีมันก็ทำให้ถูกเหตุผลหลอกได้
การคิดตามตรรกะ หรือการคิดด้วยการอนุมาน ตรรกะและอนุมานบางครั้งก็ช่วยทำให้เราเห็นความจริง แก้ปัญหา แต่ถ้าเราไม่ระวังไปยึดติด ก็ทำให้เราปฏิเสธความจริง หรือว่าไม่สามารถที่จะเห็นความจริงได้ เพราะว่าทั้งตรรก การอนุมาน หรือว่าคิดตามแนวเหตุผล ก็เป็นเรื่องของความคิด และความคิดก็มีข้อจำกัด ที่ทำให้เราไม่เห็นความจริง อย่างเรื่องที่ยกมา บางครั้งความคิดก็ปิดบังความจริง
ที่จริง ที่ท่านติชนัทฮันห์เล่าเรื่องนี้ ท่านไม่ได้มุ่งที่จะเตือนให้เราตระหนักถึงการยึดมั่นในความคิด จนกระทั่งไม่เห็นความจริงที่ปรากฏชัดเจน ความจริงที่ว่าท่านไม่ได้หมายถึงเฉพาะความจริงแบบโลกๆ เห็นลูกที่กลับมาหาพ่อ หรือภรรยากลับมาหาสามี หรือแบงค์ที่ตกบนสะพาน อันนั้นเป็นความจริงที่เห็นได้ชัดและอาจจะรวมถึงความจริงถึงเหตุการณ์
บางครั้งความคิดที่ฝังหัวเราทำให้เห็นคนบางคนหรือเหตุการณ์บางเหตุการณ์คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง แล้วก็ต้องหมั่นเตือนตัวเองว่าอย่าไปหลงติดกับความคิด ต้องรู้จักทักท้วงความคิดของตัวเองบ้าง เพราะว่าบางครั้ง มันเป็นตัวปิดกั้นความจริง ไม่ใช่เป็นสะพานที่จะพาไปสู่ความจริง
แต่ไม่ใช่เพียงความจริงแบบโลกๆ ความจริงในทางธรรมะหรือสัจธรรมก็เหมือนกัน อย่างเช่น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็เป็นสัจธรรมที่ปรากฏอยู่รอบตัวเรา แต่ว่าคนเราไม่สามารถที่จะเข้าใจสัจธรรมอันนี้ได้ เพราะว่าความคิดที่อยู่ในหัวเราปิดกั้น ไม่ให้เราเปิดใจยอมรับ
สัจธรรมบ่อยครั้งเราไปไม่ต้องไปดิ้นรนแสวงหาที่ไหนหรอก สัจธรรมมาหาเราอยู่แล้ว มาปรากฏอยู่เบื้องหน้าแล้ว แต่ใจเราไม่ยอมรับเองเพราะว่าเรามีความคิดหรือว่ามีทิฏฐิที่ฝังหัวอยู่ ลูกที่มาหาพ่อ จริงๆก็เป็นอุปมาอุปไมยก็คือเหมือนความจริง หรือสัจธรรม ขั้นสูงเลย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งเป็นความจริงที่ทำให้คนเป็นอิสระจากความทุกข์ได้ แต่ว่าคนส่วนใหญ่ไม่สามารถที่จะเห็นความจริง หรือสัจธรรมที่ว่าได้
เพราะว่าความคิดปิดบังจิตใจเอาไว้ เช่น ความคิดว่า ทรัพย์สินเงินทอง คือที่มาแห่งความสุข มันเป็นตัวสุขเลย ความคิดแบบนี้ทำให้ไม่สามารถที่จะเห็นว่า เงินทอง ชื่อเสียง มันเป็นตัวทุกข์ แล้วที่จริงรวมถึงร่างกายของเราด้วยเป็นตัวทุกข์ แต่ว่าเป็นเพราะความคิดที่ยึดติดว่า นี่คือสุข ๆ มันทำให้เราเข้าใจได้ยากว่า ทรัพย์สินเงินทองก็ดี หรือโลกธรรมฝ่ายบวกก็ดี รวมทั้งร่างกายของเราเป็นตัวทุกข์
ที่จริงแม้จะยังไม่เห็นว่าเป็นตัวทุกข์ แต่เพียงแค่เห็นว่ามันเป็นสิ่งที่เจือไปด้วยทุกข์ คนก็ยังเข้าใจยาก เงินทองเป็นสิ่งที่เจือไปด้วยทุกข์ ชื่อเสียงเกียรติยศเป็นสิ่งที่เจอไปด้วยทุกข์ คนก็ยังไม่ยอมรับเพราะว่าปักใจเชื่อว่านี่คือความสุข ร่างกายก็เหมือนกัน แต่ว่าสัจธรรมอย่างนี้บางครั้งก็เห็นได้ยาก แต่ว่ามีสิ่งหนึ่งที่ช่วยทำให้เราเห็นได้ คือการที่เราหมั่นตามดู หรือว่าหมั่นสังเกตกายและใจ
การที่ความจริงของกายและใจ มันไม่ต้องใช้ความคิดเลย มันไม่ต่างจากความจริงเกี่ยวกับโลกภายนอก ความจริงเกี่ยวกับโลกภายนอกบางครั้งก็ต้องใช้ความคิดเพราะว่าเราไม่สามารถเห็นด้วยตาได้ ส่วนหนึ่งก็ต้องอาศัยการฟังการอ่าน เราฟังเราอ่านเกี่ยวกับประเทศนั้นประเทศนี้ ก็ช่วยทำให้เราเห็นความจริง แล้วถ้าเราใช้ความคิดพิจารณามันก็ช่วยได้
แต่เดี๋ยวนี้ แค่อ่านมากฟังมาก ไม่พอแล้ว เพราะว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเป็นความเท็จก็เยอะ ยกตัวอย่างง่ายๆเรื่องวัคซีนตอนนี้ ข้อมูลที่ได้รับไม่รู้กี่เปอร์เซ็นต์ที่เป็นความจริง และกี่เปอร์เซ็นต์ที่เป็นความเท็จ เราจะใช้ความคิดพิจารณาไตร่ตรองได้ระดับหนึ่ง ในกรณีแบบนี้เราต้องใช้กาลามสูตรแล้ว
อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะเข้าได้กับความคิดที่พินิจไว้แล้ว อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน อย่าปลงเชื่อถือสืบๆกันมาหรือเล่าลือ หรืออย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะผู้พูดเป็นครูของเรา อันนี้มันก็เป็นตัวช่วยทักท้วงไม่ให้เรายึดติดกับความคิดใดความคิดหนึ่ง ช่วยทำให้เราเปิดใจกว้างที่จะเห็นความจริง
แต่นั่นเป็นความจริงทางโลก หรือโลกรอบตัว ส่วนความจริงของกายและใจ ความคิดช่วยได้ในระดับหนึ่งสิ่งที่จะช่วยได้ก็คือการเห็นการดู ดูกายดูใจ หมั่นสังเกตกายและใจ มันเป็นสิ่งที่ไม่ต้องใช้ความคิดเลย ที่เรามาเจริญสติ ไม่ใช่เราเจริญสติให้พบความสงบเท่านั้น จุดมุ่งหมายไปไกลกว่านั้นคือ การที่ช่วยให้เห็นความจริงของกายและใจ
เห็นความจริงที่มาปรากฏกับกายและใจ ไม่ว่าความเป็นอนิจจัง เป็นความเป็นทุกขัง ความเป็นอนัตตา สิ่งที่เกิดกับใจก็เหมือนกัน ความคิดและอารมณ์ต่างๆที่ผลัดเวียนกันเข้ามา มันก็แสดงสัจธรรมให้เราเห็น ถ้าหากว่าเราหมั่นดูหรือเฝ้าดู มันไม่ต้องใช้ความคิดเลย แค่ดูแค่สังเกตมัน ก็จะเห็นความจริงของกายและใจ อาจจะเริ่มต้นจากความคิดและอารมณ์บางอย่างที่มันเกิดขึ้นหรืออยู่ในรอบตัวเรา
เช่น ความโลภ ความพลัดพราก ความอิจฉา หรือบางทีอาจจะมีความคิดที่เป็นลบกับคนใกล้ตัว กับบุพการี กับครูบาอาจารย์ บางคนไม่เคยรู้เลยว่า เรามีความคิดแบบนี้ด้วย แต่สติทำให้ยอมรับความจริงตรงนี้ได้ ทำให้เรายอมรับว่านี่คือส่วนหนึ่งของความจริงของเรา แต่ถ้ามองให้ลึกไป มันก็ไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นแค่สิ่งที่เกิดขึ้นกับใจของเรา ความคิดนั้นมันมี แต่ไม่ใช่เรา
แต่การที่เห็นความจริงแบบนี้ มันก็ทำให้เรารู้จักจิตใจของตัวเองมากขึ้น เห็นความจริงของใจของตัวเอง แล้วต่อไปก็จะเห็นลึกมากไปกว่านั้น เห็นความไม่เที่ยง เห็นความเป็นทุกข์ เห็นความทนได้ยากของอารมณ์ต่างๆ ความเศร้าโศกทำให้เรากินไม่ได้นอนไม่หลับ แต่วันดีคืนดีมันก็สลายหายไป ความดีใจที่ทำให้จิตใจฟูฟ่อง แล้วอยู่ๆมันก็หายไป ความสงบที่ทำให้เราเกิดความปลื้มปิติ แต่แล้ววันหนึ่งมันก็หายไปแบบไม่มีร่องรอย
ทั้งหมดนี้ มันก็ล้วนแต่แสดงสัจธรรมให้เราเห็น เรื่องความไม่เที่ยง สิ่งที่ทนทุกข์ได้ยาก มันเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเห็นความจริงของกายและใจ แล้วพอได้เห็นมากขึ้นๆ มันก็ทำให้เรามีท่าทีที่ถูกต้องกับสิ่งภายนอกไม่ใช่แค่กับกายกับใจเท่านั้น อันนี้เป็นสิ่งที่ช่วยทำให้เราเข้าถึงความจริงได้โดยที่ไม่ต้องใช้ความคิด
แต่ความคิดก็มีประโยชน์ เพียงแต่ว่าเมื่อถึงระดับของความจริงของกายและใจ การเห็นการดู สังเกตด้วยสติมันช่วยทำให้เราเข้าถึงความจริง หรือเห็นในสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง ตามสภาวะของมัน ได้ดีกว่าความคิด
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 3 กันยายน 2564