แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อหลายปีก่อน มีนักศึกษาต่างประเทศกลุ่มหนึ่งราว 10 กว่าคนไปที่ภูหลง วัดป่ามหาวัน ส่วนใหญ่เป็นฝรั่ง อาจารย์เป็นผู้พาไป เพื่อไปศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในเมืองไทย ไปเรียนรู้เรื่องของธรรมเนียมประเพณี รวมทั้งเรื่องการภาวนา การเจริญสติ แล้วก็มีการสนทนาธรรมกับอาตมาไป 3 วัน 2 คืน ไปอยู่กุฏิที่ไม่มีไฟฟ้า นอกจากนี้ยังกินอาหารที่ไม่ถูกปาก ไม่คุ้นเคย ส้มตำปลาร้าข้าวเหนียว แกงแบบชาวบ้าน และที่สำคัญ ไม่มีน้ำแข็ง ร้านค้าในหมู่บ้านก็อยู่ไกลจากวัด
นักศึกษาเหล่านี้ก็ต้องกล้ำกลืนฝืนทน พอครบกำหนดการดูงาน ก็เดินทางกลับนั่งรถตู้เข้ากรุงเทพฯ ช่วงที่ใกล้ถึงจังหวัดสระบุรีก็เป็นช่วงบ่ายต้นๆ เห็นทางขวามือเป็นร้านซุปเปอร์สโตร์ พวกบิ๊กซีตั้งอยู่ บอกให้รถเลี้ยวเข้าไป เพราะว่าในนั้นมีศูนย์อาหาร ดีใจมากที่เจออาหารที่ถูกใจ ถูกปาก ก็สั่งพิซซ่า แฮมเบอร์เกอร์ ไอศกรีม ช็อคโกแลต กาแฟสด สลัดผักน้ำอัดลม กินกันอย่างเต็มที่เหมือนกับไม่ได้กินมานาน เท่านั้นไม่พอ ยังซื้ออาหารติดรถเอาขึ้นมากินบนรถด้วย
นักศึกษาที่หงอยๆ กลับมามีชีวิตชีวา มีความสุขมาก คุยกันขโมงโฉงเฉง คุยไปกินไปด้วยความสุข แล้วก็มีคนหนึ่งพูดขึ้นมาเสียงดัง มันไม่มีสุขใดยอดเยี่ยมเท่ากับได้กินอาหารอร่อยๆแล้ว อาจารย์ที่พามาเป็นฝรั่งเหมือนกันส่ายหัวเลย แค่นี้เองเหรอที่เป็นสุข ไม่มีอะไรที่สุขเท่ากับได้กินอาหารอร่อยๆ อาจารย์ที่ส่ายหัวว่าทำไมนักศึกษาคิดได้แค่นี้เท่านั้น
แต่จริงๆแล้วคนเราถ้ามันมีความสุขสุดยอดอยู่ที่การกิน มันก็ดีเหมือนกันเพราะว่า คนเรา ไม่ว่าจะกินเท่าไรมันก็มีวันที่อิ่มเพราะกระเพาะเรามีจำกัด เพราะกินอิ่มแล้วมันก็ไม่อยากกินต่อ เอาอาหารมาวางต่อหน้า อร่อยแค่ไหนก็ไม่อยากกินแล้วเพราะว่าอิ่ม รู้จักพอ ถ้าคนเรามีความสุขสูงสุดอยู่ที่การกิน โลกอาจจะสงบสุขก็ได้ เพราะว่าคนเรารู้จักพอกับการกิน พออิ่มแล้วก็ไม่อยากจะดิ้นรนไปยื้อแย่งอาหารจากใคร
แต่ปัญหาของคนเราคือ ความสุขสุดยอดของคนเราไม่ได้อยู่ที่อาหารที่อร่อย มันอยู่ที่เงิน ชื่อเสียง อำนาจ เกียรติยศ และของพวกนี้คนเราไม่ค่อยรู้จักพอ มีเงินเท่าไหร่ก็ยังอยากได้อีก มีชื่อเสียงอำนาจเท่าไรก็ไม่รู้จักพอ ยังอยากได้อีก ความอยากได้ไม่รู้จักพอ ก็จะทำให้เกิดความทุกข์กับตัวเจ้าของ เพราะว่ามันไม่สุขสักที และมิหนำซ้ำยังจะไปแก่งแย่งชิงดีกับผู้อื่น ก็เกิดความขัดแย้ง เกิดการทะเลาะวิวาท เกิดการปล้นจี้ เกิดการลักขโมย แล้วก็เกิดศึกสงคราม วุ่นวายไปหมด
เพราะว่าคนเราเอาความสุขไปผูกติดกับเงินทองชื่อเสียงอำนาจ ซึ่งมันต่างจากคนเราเอาความสุขไปติดอยู่กับการกิน เพราะว่าคนเรามีขีดจำกัดในการกิน กินอิ่มแล้วก็ไม่อยากจะไปสู้รบตบมือเพื่อแย่งชิงอาหารจากใคร ที่ไปแย่งชิง มันไม่ได้แย่งชิงอาหารเท่าไรหรอก ที่มันแย่งชิง มันแย่งชิงเงินทอง ชื่อเสียง อำนาจ
เพราะฉะนั้น ถ้าคนเราคิดแบบนักศึกษากลุ่มนี้ ว่าความสุขสุดยอดอยู่ที่การกิน ไม่มีสุขสุดยอดอยู่ที่อาหารอร่อย มันก็คงจะดีเหมือนกัน แต่ปัญหาคือว่า ความสุขจากการกิน มันก็ไม่เที่ยง ชอบอะไรได้กินก็มีความสุขทีแรก แต่ถ้ากินทุกวันๆ ทุกมื้อๆ มันก็เบื่อ ไม่ว่าจะเป็นหูฉลาม ไก่ย่าง ลาบ พิซซ่า แฮมเบอร์เกอร์ ช็อกโกแลต ตอนที่กินครั้งแรก ก็อร่อย มีความสุขโดยเฉพาะในยามที่หิว
แต่พอกินไปๆ พออิ่มแล้ว มันก็ไม่สุขแล้ว ถ้ากินต่อไปอีก มันก็เริ่มเอียน หรือบางทีก็จุกขึ้นมา แล้วถ้ากินไม่เฉพาะมื้อเดียว กินทุกมื้อๆ ความสุขก็ลดลง จากอร่อยก็เป็นเฉยๆ กินต่อไปอีก จากเฉยๆก็เริ่มจะรู้สึกเบื่อ แล้วถ้ากินต่อไปอีก มันก็จะเริ่มรู้สึกเอียน และถ้าถูกบังคับให้กินต่อไปอีก อันนี้บังคับแล้ว ไม่ใช่สมัครใจ มันก็จะอาเจียน แค่เห็นก็อ้วกแล้ว ทั้งๆที่เป็นอาหารอร่อย รสชาติยังไม่เปลี่ยนแปลง รสชาติยังเหมือนตอนที่กินครั้งแรก พอกินไปเรื่อยๆ มันก็เบื่อจนถึงอาเจียน
ความสุขจากการกิน มันก็ไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น เราจะเอาความสุขไปผูกติดกับการกิน มันก็ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราจะเอาความสุขไปผูกติดกับการกิน มันก็ทำไม่ได้ จะเอาความสุขไปผูกติดกับเงินทองชื่อเสียง เกียรติยศ มันก็ไม่ใช่ทางออกเพราะว่ามันไม่รู้จักพอสักที และถ้าได้เท่าเดิม เงินทองที่มีอยู่ไม่ได้หายไปไหน
แต่ถ้ามันยังเท่าเดิมไปเรื่อยๆมันก็จะเบื่อ ก็จะไม่มีความสุขแล้ว เพราะอะไร เพราะอยากได้เพิ่ม มีเงินร้อยล้านพันล้าน แต่ว่ามันมีเท่าเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลยเป็นเดือนเป็นปีมันก็เริ่มเบื่อ แล้วเริ่มไม่มีความสุข ถ้าได้เพิ่มมานิดหน่อยสักแสนหนึ่งก็ยังดี หรือว่าถ้าได้มากกว่านั้น ก็เยี่ยมเข้าไปใหญ่ เพราะฉะนั้น คนเราได้เท่าไหร่ก็ไม่รู้จักพอ เพราะว่าที่ได้มา ถ้าไม่มีเพิ่ม ความสุขก็จะลดลง
อย่างคนถูกลอตเตอรี่ได้มา 10 ล้าน 20 ล้าน วันแรกก็มีความสุข แต่ถึงแม้จะเก็บเงิน ไม่ใช้เลย ผ่านไป 6 เดือน ความสุขก็จะลดลง เงินยังมีอยู่เท่าเดิมแต่ความสุขลดลง เพราะว่าอะไร เพราะว่าไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีอะไรเพิ่มเติมเข้ามา มันเลยต้องดิ้นรน ไม่รู้จักหยุดหย่อนสักที เพราะฉะนั้นเราจะเอาความสุขไปผูกติดกับอะไรดี อะไรคือความสุขที่แท้
ความสุขที่พูดมาทั้งหมดนี้ เป็นความสุขที่เกิดจากสิ่งเร้า เร้าจิต กระตุ้นกาย อาหารอร่อยก็กระตุ้นลิ้น เพลงที่เพราะให้ความสุขแก่เราเพราะมันไปกระตุ้นหู กลิ่นหอมเราดมแล้วมีความสุขเพราะมันไปกระตุ้นจมูกแต่ความสุขแบบนี้กระตุ้นไปกระตุ้นไปมันก็เบื่อ เกิดอาการด้าน
มันมีความสุขที่ดีกว่า คือความสุขที่เกิดจากความสงบ ไม่ต้องมีสิ่งเร้ากระตุ้นก็มีความสุขได้ สุขแบบนี้เข้าถึงยาก มันไม่เร็วเหมือนกับความสุขที่เกิดจากการกิน การเสพ การมี การได้ แต่พอได้สัมผัสความสุขแบบนี้แล้ว มันจะอยู่ยั่งยืนกว่า แล้วมันทำให้เกิดความรู้สึกพอได้มากกว่า สุขจากความสงบไม่ใช่สงบจากธรรมชาติ สงบที่ดีคือสงบที่ใจ
นอกจากไม่มีสิ่งเร้าจากภายนอกแล้ว ภายในก็ไม่มีอารมณ์ที่ทำให้ขุ่นมัว ไม่มีความคิดที่มาทำให้ใจกระเพื่อม พอจิตสงบเกิดความสุขขึ้นมาทันที พระพุทธเจ้าตรัส สุขอื่น ยิ่งกว่าความสงบไม่มี เพราะฉะนั้น ถ้าหากคนเราเข้าถึงความสงบแบบนี้ เข้าถึงความสุขแบบนี้มันพอ แล้วมันไม่ต้องไปดิ้นรนแข่งขันกับใคร ไม่ต้องไปกระเสือกกระสนให้เหนื่อย
ความสุขแบบนี้มันต้องฝึก ฝึกที่ใจ ให้ใจรู้จักสงบรำงับ จากความคิดฟุ้งซ่าน จากอารมณ์ต่างๆ ไม่ใช่บังคับไม่ให้ไม่มี มันจะมี แต่ว่าไม่ได้ติดถือมั่นรู้จักปล่อยรู้จักวางรู้จักเท่าทันมันมันก็จะสงบขึ้นมาได้ แล้วความสุขก็จะเกิดขึ้นเอง เป็นความสุขที่มาจากใจไม่ได้จากภายนอก เพราะฉะนั้น ถ้าเรารู้จักความสุขประเภทนี้ มันก็จะมีความรู้จักพอ แล้วก็มีพลังที่จะทำอะไรต่ออะไรมากมาย ที่เป็นคุณประโยชน์ไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น แล้วก็ไม่สร้างทุกข์ให้กับตนเอง
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 3 กันยายน 2564