แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การปฏิบัติธรรม ถ้าพูดอย่างหยาบๆมี 2 แบบ หรือว่า 2 ขั้น แบบแรกหรือขั้นแรกเรียกว่า เป็นการฝึกตน ฝึกตนให้มีธรรมะ ให้เข้าถึงธรรมะ เข้าใจธรรมะ หรือว่าเป็นการเพิ่มคุณภาพจิต เช่น การเดินจงกรม การนั่งสร้างจังหวะ การนั่งตามลมหายใจ หรือว่าการปฏิบัติซึ่งส่วนใหญ่มีรูปแบบ
การปฏิบัติธรรมแบบที่ 2 หมายถึง การเอาธรรมะที่ได้ฝึกมาที่ได้ร่ำเรียนมาใช้ เพื่อแก้ปัญหาแก้ทุกข์ในชีวิตประจำวัน คนส่วนใหญ่หรือจำนวนมาก เข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมหมายถึงเฉพาะแค่อันแรก แต่ว่าเรื่องเอาธรรมะไปใช้กับชีวิตประจำวันเพื่อแก้ทุกข์หรือแก้ปัญหา ไม่ค่อยมองว่าเป็นการปฏิบัติธรรม
หรือยิ่งกว่านั้นไม่ได้เอาธรรมะที่เรียนมาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ไปใช้แก้ทุกข์ ก็เลยกลายเป็นการปฏิบัติธรรมที่ไม่ครบถ้วน ไม่สมบูรณ์ แล้วก็ทำให้เกิดประโยชน์น้อย เหมือนกับเรียนหนังสือ เรียนในห้องเรียนก็ตาม หรือว่าเรียนกับครูบาอาจารย์ก็ตาม ได้ความรู้มาแล้ว แต่ไม่ได้เอาความรู้นั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่ได้เอาความรู้มาใช้ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
เหมือนกับนักกีฬาที่ซ้อมวิ่ง หรือว่าซ้อมชกมวยก็แล้วแต่ แต่ว่าไม่ได้ลงสนาม ไม่ได้ลงลู่วิ่ง จะว่าไปก็มีประโยชน์ แต่ว่าไม่มากเท่าที่ควร การฝึกตนให้เข้าใจธรรมะแล้ว ก็ควรจะเอาธรรมะนะแต่ใช้กับชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ว่าตอนฝึกตน เข้าคอร์ส มาปฏิบัติธรรมที่วัด ก็ทำจริงจัง แต่ว่าพอกลับไปบ้าน ปัญหาก็เหมือนเดิม ยังมีเรื่องกระทบกระทั่งกับคนในบ้าน
หรือมีความรู้สึกหงุดหงิด เกิดโมโห เกิดโทสะเมื่อเจอการกระทำหรือคำพูดของคนรอบข้างคนรอบตัว หรือที่ทำงาน ปัญหา ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก็ยังคงอยู่หรือว่ามีความทุกข์กับการทำงาน อย่าว่าแต่ไปทำงาน หรือกลับไปบ้านเลย แค่ออกจากวัด เข้าไปในเมือง เจอจราจรที่ติดขัด ความจอแจ ความพลุพล่าน เสียงดัง ฝุ่น ก็รู้สึกหงุดหงิด รำคาญขึ้นมา อย่างนี้เรียกว่าไม่ได้เอาธรรมะที่ใช้ที่เรียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์
เพราะหากว่าเอาธรรมะที่ได้ฝึกฝนมาใช้ มันก็จะช่วยลดความทุกข์ไปได้ อย่างน้อยก็ไม่มีความหงุดหงิดรำคาญเมื่อเกิดการกระทบไม่ว่าจากคนรอบข้างที่บ้านหรือเพื่อนร่วมงาน หรือว่าจะสิ่งแวดล้อม อันนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักปฏิบัติธรรมจำนวนไม่น้อย
ในทางตรงข้าม มีหลายคนทีเดียวที่เขาอาจจะไม่ได้มาฝึกฝนตนด้วยการปฏิบัติในรูปแบบ จนดูเหมือนว่าเขาไม่ได้ปฏิบัติธรรม แต่ว่าเขาเอาธรรมะไปใช้เวลาที่เกิดความทุกข์เกิดปัญหาขึ้นมา เช่น พลัดพรากสูญเสียจากของรัก หรือว่างานการมีอุปสรรค เกิดความล้มเหลว หรือว่าเกิดความเจ็บป่วยขึ้นมา ก็สามารถที่จะรับมือ หรือทำใจกับเหตุการณ์เหล่านั้นได้โดยที่ไม่ทุกข์มาก
อันนี้ก็เป็นเพราะเขารู้จักเอาธรรมะมาใช้ในการแก้ทุกข์ ในการจัดการกับปัญหา ซึ่งบางคนก็อาจจะดูเหมือนว่าไม่ปฏิบัติธรรมในความหมายแรก แต่ว่าจากการที่เขาเผชิญกับความทุกข์แต่ไม่ทุกข์มาก ก็คงพูดได้ยากว่าเขาไม่ได้เอาธรรมะมาใช้
มีคนเจ็บคนป่วยหลายคน เป็นมะเร็ง แต่ว่าเขาก็ไม่ได้โวยวาย ไม่ได้ตีโพยตีพาย เขาสามารถรักษาใจให้สงบ อยู่กับมะเร็งได้ด้วยใจที่ไม่ทุกข์ มีคนหนึ่งเรียกว่าป่วยหนักอย่างที่เรียกว่าโรคใดๆเปรียบเทียบได้ยาก คือ เขาเป็นฝรั่ง ประสบอุบัติเหตุรถยนต์ ทำให้เกิดการกระแทกที่สมองอย่างรุนแรง ทำให้ระบบประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อแทบทุกส่วนในร่างกาย เสียไปเลย
ก็กลายเป็นคนที่ไม่สามารถที่จะขยับเขยื้อนส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายได้เลย ไม่ว่าจะเป็นแขนขา แม้แต่จะพูด ก็พูดไม่ได้ ทำได้อย่างเดียวคือ กระพริบตา อันนี้เป็นอาการที่เขาเรียกว่า locked-in syndrome คือตัวกลายเป็นหินไปเสียแล้ว บังคับบัญชาอะไรไม่ได้เลย พูดก็ไม่ได้ กินก็ไม่ได้ แต่ไม่รู้ว่าหายใจด้วยตัวเองได้หรือเปล่า
แต่ว่าทั้งที่ร่างกายควบคุมอะไรไม่ได้ แต่สมองส่วนใหญ่เขายังเหมือนเดิม โดยเฉพาะส่วนที่เป็นความรู้สึกนึกคิดยังเหมือนกับคนปกติ คนที่ป่วยด้วยโรคแบบนี้ทรมานมาก เพราะว่ามีความรู้สึกอะไรก็พูดไม่ได้ ไม่สามารถที่จะสื่อสารกับคนภายนอกได้ แล้วก็ไม่มียารักษาด้วย แต่ว่าผู้ชายคนนี้สามารถที่จะรักษาใจให้ไม่ทุกข์ทรมานมาก
ถามว่ารู้ได้อย่างไร ก็เพราะว่าเขาเขียนหนังสือในช่วงที่เขาป่วยอยู่ด้วย locked-in syndrome ประมาณ 4-5 เดือน เขาเขียนได้อย่างไร เขาพูดไม่ได้ จับปากกาไม่ได้ เขาใช้วิธีกระพริบตา ขยับเปลือกตา ก็ให้คนลำดับอักษรมาทีละตัว A B C ถ้าถึงตัวอักษรไหน เขาก็จะขยับเปลือกตาแสดงว่าใช่ กว่าจะได้คำหนึ่งใช้เวลานาน
ปรากฏว่าเขาใช้เวลา 2 เดือนเขียนหนังสือออกมา 1 เล่ม กว่าจะเขียนได้ต้องขยับเปลือกตาอยู่ 2 แสนครั้ง ส่วนคนที่อ่านลำดับอักษร เอ่ยตัวอักษรขึ้นมา รวม 2 ล้านครั้ง หนังสือของเขา แทบไม่น่าเชื่อว่าออกมาจากจิตใจของคนที่มีความทุกข์แบบนี้ เป็นความพิการที่ยิ่งกว่าอาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม ที่พูดถึงไปเมื่อสามวันก่อน
หนังสือของเขาชื่อว่า ชุดประดาน้ำและผีเสื้อ ชุดประดาน้ำหมายถึงร่างกายของเขา ชุดประดาน้ำเป็นชุดที่หนักมาก ขยับเขยื้อนลำบาก เปรียบเหมือนกับร่างกายของเขา ส่วนผีเสื้อเปรียบเหมือนกับจิตใจของเขา หมายถึงว่า ร่างกายที่ดูเหมือนคุก แต่จิตใจของเขาเป็นอิสระ
เนื้อหาในหนังสือของเขาไม่ได้แสดงอาการถึงความคับแค้น โศกเศร้า หรือก่นด่าชะตากรรม หรือว่ามีความเศร้าโศกอะไรเลย มันมีแต่ความรู้สึกที่เบิกบาน แจ่มใส มีอารมณ์ขัน คนที่จะเขียนหนังสือแบบนี้ได้หรือทำใจแบบนี้ได้ ต้องมีธรรมะอยู่ระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็ทำให้เขาสามารถยอมรับความเจ็บป่วยที่ว่าได้ แล้วก็สามารถที่จะอยู่กับมันได้ด้วยใจที่ไม่ทุกข์
จะพูดว่าเขาไม่ปฏิบัติธรรมในความหมายแรกนั้นก็อาจจะยาก เพียงแต่ว่าเขาไม่ได้เดินจงกรม สร้างจังหวะ ตามลมหายใจ แต่ว่าเขาก็หมั่นฝึกตนในชีวิตประจำวัน แล้วพอถึงเวลาที่เจอทุกข์อย่างแสนสาหัส เขาก็สามารถที่จะเอาธรรมะ เอาคติธรรมต่างๆมาใช้ จนกระทั่งใจไม่ได้ทุกข์ทรมานเท่าไร แล้วเขาก็รู้ว่าเขาต้องตาย แต่เขาก็ไม่ได้มีอาการโอดครวญคร่ำครวญอะไรเลย
เพราะฉะนั้น คนบางคนที่ดูเหมือนว่าไม่ปฏิบัติธรรมในความหมายแรก แต่ว่าในความหมายที่ 2 เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาไม่ได้ทำ แต่คนที่จะปฏิบัติธรรมในความหมายที่ 2 ได้ มันก็ต้องมีการปฏิบัติในความหมายแรกก่อน เพียงแต่ว่า อาจจะไม่ได้ทำในรูปแบบเท่าไร
ย้อนกลับมาที่ว่า คนที่ปฏิบัติธรรมในความหมายแรก ไม่ว่าจะทำที่วัด หรือเข้าคอร์สต่างๆมากมาย หรือว่าทำที่บ้านเป็นประจำในห้องพระ คำถามคือ ทำไมหลายคน การปฏิบัติธรรมในความหมายที่ 2 เขาไม่ค่อยได้ทำเท่าไร หรือว่าละเลย ไม่ได้เอาธรรมะมาใช้ในการแก้ทุกข์แก้ปัญหาชีวิต หรือว่านำมาใช้ในชีวิตประจำวัน จนกระทั่งเกิดความทุกข์อยู่เรื่อยๆ บางทีทุกข์มากกว่าเดิมเสียอีก
อาจจะเป็นเพราะว่าเขาลืมตัว พอกลับไปบ้านหรือไปที่ทำงาน หรือออกไปจากวัด ความเคยชินเดิมๆก็กลับมา ตอนอยู่วัดมีสิ่งแวดล้อมที่คอยกระตุ้นเตือนให้หันมาดูจิตดูใจของตัว อย่างที่สุคะโตนี้มีป้ายหลายป้ายว่า ฉันมาทำอะไร มันก็เตือนให้เราระลึกว่า เรามาที่นี่ เพื่อมาฝึกจิต มันก็เกิดการสำรวมกายสำรวมใจ ยิ่งเห็นคนอื่นเขาปฏิบัติด้วย มันก็ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เราหันมาใส่ใจการดูกายดูใจหรือว่าการฝึกจิตมากขึ้น
แต่พอกลับไปที่บ้าน กลับไปสู่โลกภายนอก ความเคยชินเดิมๆ มันก็ชวนทำให้ขยันส่งจิตออกนอก ไม่ค่อยกลับมารู้ทันจิตใจเท่าไร เพราะฉะนั้น พอเจออะไรมากระทบ มันก็กระเทือน หรือว่าเกิดความรู้สึกเป็นทุกข์ขึ้นมา เกิดการตอบโต้กลับไปโดยไม่รู้ตัว ทำไปตามความเคยชิน
หรืออาจจะเป็นเพราะว่าตอนที่มาปฏิบัติในวัดหรือว่าเข้าคอร์สติดความสงบ ซึ่งก็เป็นเรื่องดีที่ปฏิบัติแล้วเกิดความสงบ แต่พอสงบแล้ว ไม่รู้ทัน ไปติดความสงบ ครั้นกลับไปที่บ้าน กลับไปสู่โลกภายนอก กลับไปสู่ที่ทำงาน เจอสิ่งกระทบ เจอเสียงจอแจ เจอสิ่งวุ่นวาย ก็ทำให้ความสงบที่ชอบที่โปรดปราน มันแตกกระเจิง พอแตกกระเจิงแล้วก็เกิดความหงุดหงิด เกิดความฉุนเฉียว เกิดความไม่พอใจ
อย่าว่าแต่เวลาความสงบหายไปเมื่อกลับไปสู่โลกภายนอกเลย แม้กระทั่งอยู่วัด เมื่อวานสงบ แต่วันนี้ไม่สงบเสียแล้ว หลายคนก็เป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะอะไร เพราะติดสงบ เสียดายความสงบที่เคยมีเคยได้เคยสัมผัส พอไปเจอโลกภายนอกเข้า เจอการกระทำคำพูดที่ไม่ถูกใจ ก็คือเกิดการกระทบโดยเฉพาะเมื่อความสงบที่หวงแหนมันสั่นคลอน หรือหายไป ก็ยิ่งเกิดความไม่พอใจ เกิดความรำคาญขึ้นมา
อีกเหตุผลประการหนึ่งก็คือว่า เวลาอยู่วัดหรือปฏิบัติธรรมในความหมายแรก ไม่ค่อยมีสิ่งรบกวน สิ่งกระทบเท่าไร ไม่ว่าจะเป็นงานการ ข้อมูลข่าวสาร หรือว่าผู้คน เพื่อนบ้าน
การที่ไม่มีสิ่งกระทบ ข้อดีคือสงบได้ง่าย ข้อเสียก็คือว่าขาดโอกาสที่จะได้ฝีกได้ซ้อมเมื่อเจอสิ่งกระทบ สิ่งที่มากระทบไม่ว่าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายหรือแม้แต่ทางใจ จะเป็นรูปรสกลิ่นเสียงธรรมารมณ์ก็ตาม เมื่อเข้าสู่การรับรู้ของเรา หรือเกิดการกระทบกับเรา มันก็เป็นโอกาสที่จะได้ฝึกได้ซ้อมว่าจะรับมือกับมันอย่างไร
เวลาใจกระเพื่อม มันก็ทำให้ ฝึกมารู้ทันใจที่กระเพื่อม รู้ทันอารมณ์ที่มากระทบทั้งภายนอกและอารมณ์ภายในที่เกิดขึ้นจากการกระทบนั้น พูดง่ายๆคือมีแบบฝึกหัด มีการบ้าน แต่พอมีการบ้านน้อย ก็อาจจะชะล่าใจ พอออกไปข้างนอกเจอสิ่งกระทบมากมายซึ่งที่จริงก็เหมือนเดิม ก่อนมาวัดก่อนมาปฏิบัติมีเท่าไรกลับไปก็เจอเท่านั้นเจอเท่าเดิม ยิ่งติดสงบด้วยแล้ว ยิ่งไม่สามารถที่จะรับมือสิ่งกระทบได้ดี
อันนี้ก็ทำให้หลายคน ถึงแม้ว่าจะปฏิบัติในความหมายแรกได้ดี ตั้งใจทำ แต่พอกลับไปสู่ชีวิตประจำวัน ก็เรียกว่าเพลี่ยงพล้ำ หรือบางทีเสียศูนย์ไปเลย หรืออย่างน้อยๆก็ยังทุกข์เหมือนเดิม หรืออาจจะทุกข์มากกว่าเดิมก็ได้
เพราะฉะนั้น อันนี้ก็เป็นข้อเตือนใจผู้ที่ใฝ่การปฏิบัติธรรม อย่างน้อยต้องระลึกว่า เมื่อเรากลับไปบ้าน กลับไปสู่ชีวิตประจำวัน อะไรที่มากระทบ ให้ถือว่าเป็นโอกาสในการปฏิบัติ โอกาสที่เราจะได้เอาธรรมะที่เราได้ฝึกมาใช้ โดยเฉพาะเป็นการฝึกสติ มันจะได้นำมาใช้ได้อย่างเต็มที่ เพราะการฝึกสติคือ ฝึกให้มีความรู้เท่าทันในความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้น
แต่ถ้าไปฝึกอย่างอื่น ไปเน้นในเรื่องความสงบ เรื่องสมาธิ แล้วไม่ได้ฝึกสติให้มีความรู้ทันความคิดและอารมณ์อย่างรวดเร็ว พอถึงเวลาที่กลับไปสู่ชีวิตประจำวัน มันก็จะถูกอารมณ์ท่วมทับได้ง่าย หรือความคิดเล่นงานจนกระทั่งหงุดหงิดรำคาญ
เพราะฉะนั้น เวลาเราปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะมาฝึกจิต ให้ระลึกว่า สิ่งสำคัญคือ ฝึกให้มีสติ รู้ตัว ให้มีสติรู้ทันความคิดและอารมณ์ อย่างไรก็ตาม ก็ต้องเตือนใจด้วย หลายคนมาฝึกสติ รู้ทันความคิดและรู้ทันอารมณ์ แต่ก็จะรู้ทันเฉพาะความคิดเล็กๆหรือว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ได้สลักสำคัญเท่าไหร่ อันนั้นก็มีประโยชน์
แต่ต่อไปจะต้องรู้ทันกิเลสที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความคิดและอารมณ์ ถ้าเราฝึกสติ แล้วรู้ทันความคิดและอารมณ์ ปล่อยวางความคิดและอารมณ์ได้ เกิดความรู้สึกสบาย สงบ ไม่มีความคิดและอามรณ์มารบกวน อันนี้ก็ต้องระวัง มันจะกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เราชะล่าใจ
เพราะว่ามีการบ้านที่ต้องทำอีกด้วยนั่นก็คือ การที่จะไม่ใช่แค่รู้ทันความคิดและอารมณ์ แต่ต้องรู้ทันจนถึงกิเลสที่มันซ่อนอยู่ เช่น ความเห็นแก่ตัว หรือว่าความยึดติดในตัวกู ความยึดติดในตัวกู จะว่าไปเป็นอวิชามัน มันกลายเป็นกิเลส มันเป็นอวิชชาคือความไม่รู้ ไม่รู้ความจริง แล้วพอไม่รู้ความจริง ก็เกิดการยึดติด ยึดติดอะไรบ้าง
ยึดติดสิ่งต่างๆทั้งรูปธรรมนามธรรมว่าเป็นเราเป็นของเรา พอยึดติดเข้า เช่น ทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง หน้าตาหรืออัตตา พอยึดติดเข้า เมื่อสูญเสียมันไป ก็เกิดความโกรธ หรือเกิดความเศร้า โดยเฉพาะเมื่อมีอะไรมากระทบกับสิ่งที่เรายึดติดว่า เป็นเราเป็นของเรา ก็เกิดความโกรธ เกิดความขุ่นเคือง อะไรมากระทบสมบัติของเรา ชื่อเสียงหน้าตาของเรา ก็เกิดความโกรธ
รวมทั้งยึดติดว่ามันเที่ยง ยึดติดทรัพย์สมบัติที่มี ยึดติดร่างกายว่าเป็นของเที่ยง สมองบอกว่าไม่เที่ยง แต่ใจยังยึดว่าเป็นของเที่ยง พอมันเสื่อม มันสลาย มันหายไป ก็เสียใจ เกิดความวิตกกังวล เกิดความโกรธ หรือยึดติดว่ามันสุข อยากได้อีก ได้มากๆ ก็เกิดความโลภเกิดตัณหาขึ้นมา แล้วพอไม่ได้อย่างที่ต้องการก็เกิดความคับแค้นใจ เกิดความโกรธ อันนี้คือตัวการที่อยู่เบื้องหลังความทุกข์หรืออารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ
เพราะฉะนั้น เพียงแต่รู้ทันความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะครั้งเฉพาะคราว มันไม่พอ แม้มีประโยชน์มันทำให้เกิดความสบาย เกิดความสงบ แต่ว่ามันเป็นความสงบสบายที่แบบกินยาแอสไพริน สติแบบแอสไพริน คือมันกล่อมใจชั่วคราว แต่ว่าตัวรากเหง้า คือกิเลส คืออุปาทาน ความยึดติด เพราะอวิชชา มันก็ยังอยู่
ฉะนั้น ถ้าเราไม่สามารถที่จะมองลึกให้เห็นถึงตัวกิเลส อวิชชาเหล่านี้โดยเฉพาะความยึดติดที่ว่า มันก็จะยังมีความทุกข์คอยมารบกวนจิตใจเราอยู่เรื่อย มันอาจจะไม่รบกวนมากเท่าไหร่ตอนอยู่วัดหรือตอนเข้าคอร์ส แต่พอกลับไปบ้าน กลับไปใช้ชีวิตประจำวัน มันจะคอยมารบกวน เพราะมันมีสิ่งที่มากระทบสิ่งที่เรายึดติด ไม่ว่ายึดติดว่าเป็นเราเป็นของเรา ยึดติดว่าเที่ยง หรือว่ายึดติดว่าเป็นสุข
ตรงนี้ถ้าเราตั้งใจในการเจริญสติอย่างจริงจัง มันจะต้องมองให้ทะลุไปถึงรากเหง้าของความคิดและอารมณ์ที่มารบกวน นั่นคือ ความยึดติดถือมั่นที่ว่ามา ซึ่งถ้าเรามีสติรู้ทัน มองเห็นทะลุไปถึงนั้น เราก็จะรู้ต่อไปว่า จะทำอย่างไรกับมัน เราจะเห็นความสำคัญของการปล่อยการวาง และเราจะรู้ว่าการปล่อยการวาง มันเกิดขึ้นได้ มันทำได้ ไม่เช่นนั้นเราจะไม่ต่างจากคนทั่วไปหรือโจรผู้ร้าย
โจรเวลามันจะปล้น นักย่องเบา ต้องมีสติ สติในการที่จะอยู่กับปัจจุบัน ไม่ปล่อยใจฟุ้งซ่าน มีสมาธิในสิ่งที่กำลังทำ แต่เขาไม่มีสติที่เห็นกิเลสที่ซ่อนอยู่ ที่มันบงการให้มาเป็นขโมย มาเป็นโจร มาเป็นนักย่องเบา
หรือว่านักซิ่ง ถ้าเขาไม่มีสติ เขาก็ตายไปแล้ว เวลาขับรถ เขาต้องมีสติ แต่เป็นสติแบบผิวเผิน คือมีสติอยู่กับการขับรถ แต่ว่าไม่มีสติเห็นกิเลส หรือว่าความมุทะลุ หรือความหลงตัว ต้องการแสดงอัตตา แสดงตัวตนให้คนเห็นว่ากูเก่ง กูแน่
เพราะฉะนั้น ถ้าหากสติมันเป็นเพียงแค่เห็นความคิดและอารมณ์ และก็รู้จักปล่อยรู้จักวาง สงบสบาย แต่ไม่เห็นอุปาทาน หรือความยึดติดที่ลึกไปกว่านั้น มันก็หนีความทุกข์ไม่พ้น เจอความทุกข์อยู่เรื่อย กลับจากวัด กลับจากการเข้าคอร์สไปบ้าน ก็ไปเจอทุกข์เหมือนเดิม เพราะว่ามันมีสิ่งกระทบ สิ่งที่ยึดติดถือมั่นอยู่เรื่อยๆ
ก็ให้เราตระหนักว่า เวลาเจริญสติ หรือปฏิบัติธรรมในความหมายแรก แม้จะปฏิบัติถูกแล้ว ก็อย่าให้การเจริญสติของเราเป็นเพียงแค่เพื่อกล่อมใจเหมือนยาแอสไพลิน แต่ว่าเป็นสติที่ทำให้เรารื้อถอนความยึดติดถือมั่น ซึ่งมันจะทำให้ความทุกข์ที่คอยรบกวนจิตใจของเราลดน้อยถอยลงไป หรือขาดหายไปเลย
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 2 กันยายน 2564