แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ทุกเช้าเวลาบิณฑบาตในหมู่บ้าน พอเข้าไปใกล้ถึงบ้านหลังหนึ่ง จะมีหมาตัวสีขาวๆ พอเห็นพระ มันก็จะเห่าเลยเสียงดังเลยตั้งแต่อยู่หน้าบ้านและห่างไกลจากบ้านด้วยซ้ำ จนกระทั่งเดินมาถึงหน้าบ้านแล้ว จะหยุดเห่าก็ต่อเมื่อเจ้าของบ้านเริ่มใส่บาตร หมาตัวนี้ชื่อกะทิ ดูจากอาการเห่าของกะทิเหมือนกับว่า มันจะเห่าไล่คนแปลกหน้าเพราะเสียงดังมาก
แต่ถ้าหากว่า พระที่เดินบาตร ไปคิดว่ากะทิเห่าไล่คนแปลกหน้า ก็คงจะหงุดหงิดรำคาญ เพราะว่ามันเห่าอย่างนี้ทุกวัน เป็นปี หลายปีแล้ว ถ้าเป็นหมาตัวอื่นจะคุ้นเคยกับพระแล้ว ก็จะไม่ส่งเสียงดัง และจะวิ่งเข้ามาหาคลอเคลีย แต่ไม่ใช่กะทิ มันเห่าเหมือนกับไล่แขก
แต่ถ้าหากลองนึกเสียว่า กะทิกำลังเห่ารับแขก ความรู้สึกหงุดหงิดรำคาญก็จะหายไปเลย กลับจะรู้สึกเอ็นดู และที่จริงกะทิก็คงจะเห่ารับแขก เพราะว่ามันเห่ามาจนถึงหน้าบ้าน แล้วมันก็ยอมให้พระเดินมาเฉียดใกล้ๆ แต่มันก็หยุดเห่า พระจะลูบหัวลูบตัว ก็ไม่มีอาการขัดขืน แถมยังยินดีด้วยซ้ำ
แสดงว่ามันคุ้นเคยกับพระ เพียงแต่แสดงอากัปกริยาต่างจากหมาตัวอื่น การเห่าของกะทิ ถ้าเรามองว่ามันเห่าเพื่อไล่คนแปลกหน้า เราจะรู้สึกไม่สบายใจขึ้นมา หงุดหงิดรำคาญ แต่ความรู้สึกจะเปลี่ยนไปเลยถ้ามองว่ามันเห่าเพื่อรับแขก และที่จริงก็อย่างที่ว่า กะทิเห่ารับแขกจริงๆ
คนที่ไม่คุ้นหรือพระที่บวชใหม่เจอการเห่าของกะทิแล้วมองว่ามันเห่าไล่คนแปลกหน้า ก็จะรู้สึกไม่ชอบมัน แล้วมันก็เป็นอย่างนี้ทุกวัน ไม่รู้จักหยุดเห่าสักที แต่พอเปลี่ยนมุมมอง ความรู้สึกหงุดหงิดรำคาญจะหายไปเลย อย่างมากก็จะรู้สึกเฉยๆ หรือไม่ก็เอ็นดูมัน มันกำลังเรียกเจ้าของบ้านให้มาใส่บาตร
ความรู้สึกของคนเราขึ้นอยู่กับว่า เรามองอย่างไร ถ้าเราเอาประสบการณ์เดิมๆที่เคยเจอหมาเห่ามามองกะทิ จะไม่ชอบ รู้สึกหงุดหงิด แต่ถ้าใคร่ครวญสักหน่อยว่า มันเป็นมิตร เพียงแต่ว่ามันแสดงอาการไม่เหมือนหมาตัวอื่น
คนเรามองอย่างไรก็รู้สึกอย่างนั้น ความรู้สึกของคนเรา ไม่ใช่แค่ว่าขึ้นอยู่กับสิ่งที่ปรากฏต่อหน้าเรา หรือสิ่งที่เรารับรู้ แต่ขึ้นอยู่กับว่า เรามองอย่างไร ตีความมันอย่างไร ถ้าเรามองไปในทางลบ เราทุกข์ใจ หงุดหงิด แต่ถ้าเรามองไปในทางบวก เราก็สบายใจ หรือว่าไม่หงุดหงิด
มีผู้หญิงคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งเธอขับรถ พาลูกชาย 2 คนข้ามจังหวัด คนหนึ่งอายุ 13 อีกคนหนึ่ง 9 ขวบ นั่งอยู่หลังรถ เวลาเจอกัน แม้เป็นพี่เป็นน้อง อยู่ในรถก็อดหยอกล้อกันไม่ได้ มีช่วงหนึ่งหยอกล้อเสียงดัง แม่ก็เลยหันไปพูดว่าหยุดส่งเสียงดังได้แล้วรบกวนแม่ เด็กก็เงียบ เชื่อฟังแม่ สักพักคนตัวเล็กยื่นหน้ามาหอมแก้มแม่ แล้วก็พูดว่า แม่ครับ ลองมองว่าเป็นเสียงสวรรค์ เสียงความสุขของลูกสิครับ
แม่นิ่งเลย ได้คิดขึ้นมา สักพักเด็กก็เริ่มกลับมาหยอกล้อกันใหม่ ส่งเสียงดัง คราวนี้แม่ไม่หงุดหงิดไม่รำคาญแล้ว เพราะว่าทำตามที่ลูกบอก มองว่ามันเป็นเสียงความสุขของลูก ตีความใหม่ แต่ก่อนหงุดหงิดรำคาญเพราะมองว่าเสียงดัง พอเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ว่าเป็นเสียงความสุขของลูก คนเป็นแม่ทุกคนก็ย่อมมีความสุข ไม่รู้สึกรำคาญ เสียงก็ดังเหมือนเดิม แต่ความรู้สึกเปลี่ยนไป เพราะว่ามุมมองเปลี่ยนไป
อันนี้เป็นสิ่งที่คนเราไม่ค่อยมอง หรือไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไหร่ ไปคิดว่าความสุขหรือความทุกข์ ความหงุดหงิดหรือความดีใจของคนเรา มันขึ้นอยู่กับสิ่งที่มากระทบ แต่ที่จริงนั้นไม่ใช่ มันอยู่ที่ว่าเรามองอย่างไร
อย่างเช่น คนที่นั่งสมาธิ แล้วจู่ๆก็ได้ยินเสียงเลื่อยยนต์ไฟฟ้าดัง มาจากบ้านข้างเคียง ทีแรกก็หงุดหงิดใจกระเพื่อม นั่งสมาธิก็เริ่มจะไม่เป็นสุขแล้ว แต่พอหันไปพิจารณาที่เสียงเลื่อยยนต์ แล้วก็รู้สึกว่าเหมือนกับเสียงเพลงเพราะมีเสียงกระชากกระชั้น ขึ้นลงสูงต่ำลากยาวเหมือนเสียงเพลง
พอมองว่าเป็นเสียงเพลงใจก็สงบเลย ไม่หงุดหงิดไม่รำคาญ เสียงก็ดังเหมือนเดิม แต่ความรู้สึกเปลี่ยนไป เพราะว่ามองมุมใหม่ หรือตีความใหม่ มันไม่ใช่เสียงดังแล้ว มันคือเสียงเพลง นอกจากไม่หงุดหงิดไม่รำคาญยังรู้สึกเพลินกับเสียงด้วย บางช่วงเสียงหายไปก็ยังอยากจะให้มันกลับมาดังใหม่
อันนี้ถ้าเรารู้จักนำมาพิจารณา เวลาเรามีความรู้สึกหรืออารมณ์ใดเกิดขึ้น ลองไตร่ตรองสักหน่อยว่า มันอาจจะไม่ใช่เสียงมากระทบหูเราอย่างเดียว แต่เป็นเพราะว่าเราให้ความหมายกับมัน แตกต่างกันในทางลบหรือทางบวก สมัยเป็นนักเรียน เสียงระฆังมันให้ความรู้สึกไม่เหมือนกัน เสียงระฆังดัง ถ้าเรามองว่ามันคือสัญญาณให้เข้าห้องเรียน เราจะไม่ชอบเสียงระฆังเลย ได้ยินเสียงระฆังแล้วก็จะหงุดหงิดรำคาญ
แต่ว่าเสียงเดียวกันดัง เรารู้สึกดีใจ สบายใจเพราะอะไร เพราะบอกว่าเลิกเรียนแล้ว เสียงเดียวกันถ้าเรามองว่าเข้าห้องเรียน เราไม่ชอบ แต่พอมองว่าเลิกเรียน เราชอบ ทั้งที่เป็นเสียงเดียวกัน แต่ความรู้สึกไม่เหมือนกัน เพราะให้ค่าไม่เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น เวลาเราเจออะไรก็ตาม ที่เราไม่ชอบ เราลองมองในมุมบวกดูบ้าง เช่น อุปสรรคความยากลำบาก เรามองว่ามันเป็นเครื่องฝึกจิต เป็นการบ้านที่ทำให้เราเข้มแข็ง ทำให้เราฉลาด ทำให้เรามีประสบการณ์ ความรู้สึกไม่ชอบมันก็เปลี่ยนไปเป็นความรู้สึกยินดีหรือยอมรับได้
เสียงต่อว่าด่าทอ ถ้าเรามองว่าเขามาฝึกสติของเรา มาลดอัตตาของเรา มาขัดเกลากิเลสของเรา มันก็กลายเป็นเสียงที่ไม่ต่างจากเสียงครูบาอาจารย์ แทนที่จะหงุดหงิดโมโห ก็ทำให้เราตั้งสติ แล้วก็ยอมรับได้ ไม่เป็นทุกข์กับมัน
เพราะฉะนั้น เวลาเราสุขหรือทุกข์ก็ตาม เมื่อมีอะไรมากระทบ ก็ให้เราลองมองดูว่า เป็นเพราะว่าเรายังมองไม่ถูกหรือเปล่า พอเราเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ ความรู้สึกก็เปลี่ยนไปได้
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 2 กันยายน 2564