แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โรคโควิดสร้างความทุกข์กายทุกข์ใจให้กับเราให้กับผู้คนเป็นอันมาก แม้ว่าไม่ได้ป่วยด้วยโรคโควิด ก็อาจจะทุกข์ใจเพราะความกลัว เพราะความวิตก ตื่นตระหนก เพราะความเครียด แล้วถ้ายิ่งติด covid ด้วยแล้วก็เรียกว่าทุกข์ทั้งกายทุกข์ทั้งใจ แต่ทุกข์ใจไม่ได้มีเพียงแค่ความกลัว ความวิตก ความเครียด อาจจะมีความรู้สึกผิดผสมโรงด้วย
เพราะว่าบางคน ตัวเองไม่ได้ป่วยคนเดียว คนที่บ้านก็ป่วยด้วย แล้วก็หลายคนเกิดความรู้สึกผิดขึ้นมาว่า เราไปแพร่เชื้อให้คนที่บ้านหรือเปล่า โดยเฉพาะพ่อแม่ซึ่งอายุมาก เราก็เลยเกิดความรู้สึกผิด ซึ่งกัดกินใจมาก เป็นคำถามว่าจะทำอย่างไรกับความรู้สึกผิดแบบนี้
ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจก่อนว่าโควิดเป็นโรคที่เรารู้จักมันน้อย อย่างเช่นคนๆหนึ่งติดเชื้อโควิคขึ้นมา บอกได้ยากว่าติดมาจากใคร เพราะบางคนอยู่คนเดียวในบ้านก็ยังป่วยด้วยโรคโควิดได้เลย ไม่รู้ว่าเชื้อมาจากไหน มาจากพัสดุที่มีคนส่งมา หรือว่ามาทางอากาศจากเพื่อนบ้านข้างเคียง
เพราะฉะนั้นเวลามีคนในบ้านติดกันหมดทั้งบ้าน ลูกก็ติด พ่อแม่ก็ติด บางทีก็พูดได้ยากว่า เป็นเพราะว่าได้เชื้อมาจากคนในบ้าน พ่อแม่ป่วยก็ไม่ได้หมายความเพราะว่าติดมาจากลูกก็ได้ อาจจะเป็นไปได้ว่าติดเชื้อมาพร้อมๆกันจากที่ไหนก็ไม่รู้ ได้เชื้อพร้อมกัน แต่ว่าโรคอาจจะมาแสดงอาการไม่พร้อมกัน ลูกอาจจะแสดงอาการป่วยก่อน แล้วพ่อแม่ป่วยตามมา อย่างนี้ยังบอกไม่ได้ว่าพ่อแม่ติดมากับลูก เพราะว่าอาจจะมาจากแหล่งเดียวกันที่อยู่นอกบ้านก็ได้ เพียงแต่ว่าเจ็บป่วยไม่พร้อมกันเท่านั้น ลูกป่วยก่อน แล้วพ่อแม่ก็ป่วยตามมา อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงด้วย ไม่เช่นนั้นจะไปลงโทษตัวเอง ว่าเราเป็นคนแพร่เชื้อให้พ่อแม่หรือเปล่า บางกรณีอาจไม่เป็นอย่างนั้น
อีกประการต่อมา อาตมาอยากจะให้มองว่า ใครที่รู้สึกผิดที่พ่อแม่ป่วย และคิดว่าติดมาจากเรา ลองคิดแบบนี้ว่า สมมุติว่าเรามีลูก ลูกติดโควิดขึ้นมา แล้วเชื้อของลูกแพร่มาถึงเรา เราป่วย เราจะโกรธลูกไหม คนที่เป็นพ่อเป็นแม่คงจะไม่โกรธลูก เพราะว่าพ่อแม่มีความรักเหลือประมาณ
ลูกแพร่เชื้อมาให้พ่อแม่ พ่อแม่ก็ไม่โกรธ และถ้าหากว่าเกิดลูกเศร้าโศกเสียใจ รู้สึกกินไม่ได้นอนไม่หลับที่ทำให้เราป่วยเพราะ covid เราจะรู้สึกอย่างไร เห็นลูกกลุ้มอกกลุ้มใจแบบนั้น ทั้งๆที่ตัวเองก็ป่วยอย่างนั้นแล้วก็ยังมาเสียอกเสียใจรู้สึกผิดที่ทำให้เราป่วยด้วย เราจะรู้สึกสบายใจไหม ที่เห็นลูกเป็นทุกข์แบบนั้น เราคงยิ่งไม่สบายใจหนักขึ้นที่เห็นลูกรู้สึกอย่างนั้น ฉันใดก็ฉันนั้น ให้ลองนึกถึงความรู้สึกหรือจิตใจของพ่อแม่ พ่อแม่ก็ยอมให้อภัยเรา แม้ว่าเราจะเอาเชื้อมาให้พ่อแม่ แต่ท่านย่อมมีเมตตากรุณาอันกว้างใหญ่ไม่ถือโทษโกรธเคืองเราซึ่งเป็นลูก และถ้าพ่อแม่เห็นเราเศร้าโศกเสียใจ กลุ้มอกกลุ้มใจเพราะรู้สึกผิดที่ไปแพร่เชื้อให้พ่อแม่ พ่อแม่ก็ต้องรู้สึกวิตกกังวล ตัวเองก็ป่วยอยู่แล้ว ยิ่งมาเห็นลูกเป็นทุกข์แบบนี้ ก็ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่
ฉะนั้น ทางหนึ่งที่เราจะช่วยพ่อแม่ได้ คือช่วยลดความห่วงใยของท่านด้วยการที่เราไม่ไปตีอกชกหัว จมอยู่กับความรู้สึกผิด จนทำให้ท่านเป็นห่วงเป็นใย แล้วก็ทำให้อาการทางกายหนักขึ้น สิ่งหนึ่งที่ลูกจะช่วยพ่อแม่ได้ก็คือว่า ไม่ปล่อยใจให้จมอยู่กับความรู้สึกผิด จนกระทั่งทำให้ท่านเป็นห่วงเป็นใยหรือเป็นทุกข์หนักขึ้น
แล้วคำถามต่อไปว่าจะทำอย่างไรไม่ให้จมไปกับความรู้สึกผิด การที่ไปพยายามกดข่มความรู้สึกอันนั้นเอาไว้ มันไม่ช่วยหรอก ยิ่งกดข่มเท่าไร มันก็ยิ่งรบกวนรังควานเรา สิ่งที่ดีกว่าคือ ยอมรับ หรือเผชิญกับมัน แค่รับรู้เฉยๆว่า มันมีความรู้สึกผิดเกิดขึ้น โดยที่ไม่ไปทำอะไรกับมัน ยอมรับว่าเราอาจจะผิดพลาดไป พลั้งเผลอไป มันก็เจ็บปวดแต่ว่าเราถ้าเรายอมรับได้ มันก็เจ็บปวดน้อยลง
และดีกว่านั้นคือว่า เราขอขมาท่าน ขอโทษพ่อแม่ที่เราไปแพร่เชื้อให้ท่าน การขอโทษขอขมามันช่วยได้เยอะ อย่าไปรั้งรอ ในขณะที่ท่านยังรับรู้อะไรได้ ก็เอ่ยปากขอโทษท่าน ถ้าเราทำอย่างนั้นมันก็ช่วยลดทอนความรู้สึกผิด แล้วก็ทำให้เรารู้ว่าควรจะทำอะไรต่อไป
คนที่จมอยู่กับความรู้สึกผิด เขาจะมองข้ามสิ่งที่เขาควรทำ เช่น ดูแลตัวเองให้ดี ถ้าหากว่ายังเจ็บป่วยอยู่ หรือว่าถ้าหายแล้ว ก็จะได้ดูแลพ่อแม่ที่เจ็บป่วยอยู่ ดูแลทั้งทางกายดูแลทั้งใจ ช่วยให้กำลังใจท่าน ถ้าจมอยู่กับความรู้สึกผิด มันจะลืมทำสิ่งเหล่านี้ ละเลยสิ่งที่ควรทำ
นอกจากนั้น ยังทำให้เราไม่ไปละเลยคนที่ยังอยู่ พ่อแม่ป่วยก็จริงแต่ว่ายังมีลูกที่ รอการดูแลเอาใจใส่จากเรา ถ้าเราจมอยู่กับความรู้สึกผิดเราก็จะมองข้ามคนเหล่านี้ไป เพราะจมอยู่กับความทุกข์ของตัวเอง
ในการขอขมา มันจะดีมาก ถ้าหากว่าเรามีโอกาสขอขมาท่านในขณะที่ท่านยังรับรู้ได้ ยังไม่โคม่า หรือถึงขั้นโคม่า ก็ยังทำได้ เพราะว่าจิตยังรับรู้ได้ แต่ถ้าเกิดว่าถึงขั้นสิ้นลมไปแล้ว จะทำอย่างไร มันก็ยังไม่สายถ้าหากว่าเรามีโอกาสขอขมาท่าน อาจจะเขียนจดหมายบอกความในใจถึงท่าน เริ่มตั้งแต่ขอบคุณท่านที่ได้เลี้ยงดูเรามา บอกรักท่าน หากว่ายังไม่มีโอกาสบอกรักเลย แม้กระทั่งในวาระสุดท้ายของท่าน
สุดท้ายก็ขอโทษขอโพย ที่เป็นเหตุให้ท่านต้องป่วย หรือมิเช่นนั้นก็เชิญท่านมา จินตนาการว่า ท่านมาหาเรา นั่งอยู่ตรงหน้าเรา แล้วก็พูดทุกอย่างที่เราอยากจะพูด โดยเฉพาะการขอบคุณ การบอกรัก และการขอขมา หลายคนทำอย่างนี้แล้ว เขารู้สึกดีขึ้น แม้ว่าตอนที่ทำ จะเศร้าโศกเสียใจมาก แต่พอร้องห่มร้องไห้เสร็จ เขารู้สึกว่าเหมือนยกภูเขาออกจากอก อันนี้เป็นวิธีที่จะช่วยคลายความรู้สึกผิดได้
แล้วทำให้เรากลับมาตั้งหน้าตั้งตาทำสิ่งที่ควรทำ ยังมีลูกที่ต้องดูแล เราก็ดูแลเอาใจใส่ หรือพ่อหรือแม่หรือคนที่ยังอยู่ เราก็จะได้ดูแลท่านอย่างเต็มที่กับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังปกติสุขอยู่ ไม่ใช่จมอยู่กับความทุกข์ของตัวเอง แล้วก็ลืมคนรอบข้าง ซึ่งก็ทำให้เกิดความสูญเสียหนักขึ้นในเวลาต่อมาก็ได้
อย่างเช่น ละเลยลูก ละเลยแม่ซึ่งยังไม่ป่วย เสร็จแล้ว ต่อมาลูกหรือแม่เกิดป่วยขึ้นมา จนกระทั่งไม่มีเวลาที่อยู่ใกล้ ก็ยิ่งเสียใจเข้าไปใหญ่ว่า ตอนที่เขาสบายดีอยู่ เราละเลยเขา เรามองข้ามเขา และที่มองข้ามเขา ละเลยเขา เพราะอะไร เพราะว่าไปจมอยู่กับความทุกข์ ความเศร้า ความโศก ความรู้สึกผิด กับคนที่ได้สูญเสียไปแล้ว อันนี้คือสิ่งหนึ่งที่เราทำได้
แต่ถ้าจะให้ดี ทำดีกับพ่อแม่ในขณะที่ท่านยังมีลมหายใจ มีสุขภาพดีอยู่ ถ้าทำดีที่สุดกับท่าน ให้เวลาและ ดูแลเอาใจใส่ท่านทั้งทางกายและทางใจ ถึงเวลาท่านป่วย หรือล้มหายตายจากไปแม้ในเวลาปุบปับ ไม่ทันได้ร่ำลา หรือไม่ได้ไปปุบปับแต่ไม่มีโอกาสที่จะได้อยู่ใกล้หรือว่าร่ำลาท่านเป็นครั้งสุดท้าย เพราะอยู่กันคนละที่ หรือไปเยี่ยมกันไม่ได้ เราก็จะไม่รู้สึกผิดมากหรือเศร้าโศกเสียใจมาก เพราะว่าตอนที่ท่านอยู่ เราได้ทำดีที่สุดกับท่านแล้ว
- พระไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 1 กันยายน 2564