แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เวลาเราเดินจงกรม สร้างจังหวะหรือว่าตามลมหายใจ บางครั้งจะมีเสียงมากระทบหูเรา อาจจะเป็นเสียงลม เสียงนก เสียงหมาเห่า หรือเสียงฝน บางทีมันไม่ใช่แค่เสียง อาจจะมีคนเดินผ่านไปผ่านมา หรือว่ามีภาพต่างๆปรากฏสู่การรับรู้ของเรา นกบิน หมาเดินผ่าน รวมทั้งกลิ่นที่โชยมาจากครัว กลิ่นอาหารหรือว่ากลิ่นสีจากกุฏิข้างเคียงที่เขากำลังมีการก่อสร้าง
เสียงก็ดี รูปก็ดี กลิ่นก็ดี รวมทั้งผัสสะอื่นด้วย ก็สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่าได้เห็น สักแต่ว่าได้กลิ่น อันนี้เป็นคำแนะนำของครูบาอาจารย์ที่เราเคยได้ยินบ่อยๆ สักแต่ว่า สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่าได้เห็น สักแต่ว่าได้กลิ่น หมายความว่า เสียงก็ดี รูปก็ดี กลิ่นก็ดี ก็แค่รับรู้เฉยๆ
ไม่ไปจดจ่อใส่ใจ เช่น ได้ยินเสียงนก ไม่ใช่เผลอคิดไปว่านกอะไร นกแบบนี้ไม่เคยได้ยินเลยนะ อย่างนี้ไม่เรียกว่าสักแต่ว่าแล้ว มันเกิดอาการจดจ่อ หรือบางทีเสียงเพราะเสียงเพลงจากหมู่บ้าน เสียงนกร้อง ชอบติดใจ ไปจดจ่อกับเสียงนั้น อย่างนี้ก็ไม่ใช่สักแต่ว่าแล้ว
เวลาเราเดินจงกรม เวลาเราสร้างจังหวะ เราควรจะมีสติอยู่กับการเดิน มีสติอยู่กับการสร้างจังหวะ สิ่งอื่นๆเป็นเพียงแค่สิ่งที่มากระทบ และสิ่งที่เราควรทำกับสิ่งที่มากระทบก็คือวาง ไม่ปรุง ไม่แต่ง ไม่ปล่อยให้ใจเกิดความยินดียินร้าย หรือไปจดจ่อเกาะเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้น ไม่ใช่ว่าไม่รับรู้ เราเปิดตาเราก็พร้อมที่จะรับรู้สิ่งต่างๆที่มากระทบ
เสียงที่ได้ยินเราก็ไม่ปฏิเสธก็รับรู้ แต่ว่าไม่ได้ส่งจิตออกไปที่ต้นเสียงนั้น ด้วยความพอใจก็ดี ด้วยความไม่พอใจก็ดี ที่ผ่านมาเวลามีเสียงมากระทบ หรือว่าเห็นภาพอะไรก็ตาม เรามักจะอดรนทนไม่ได้ที่จะเข้าไปเกาะเกี่ยว เข้าไปจดจ่อแล้วก็ปรุงแต่งเกิดความยินดีกับความยินร้าย มีความพอใจมีความไม่พอใจ แล้วใจก็หลุดลอยไป
จนลืมไปว่ากำลังทำอะไรอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ หรือว่าสนทนาพูดคุยกับคนในบ้าน หรือล้างจาน ทำครัว แล้วมันก็ไม่ใช่แค่นั้น มันก็เกิดความทุกข์ตามมาโดยเฉพาะเมื่อมีความยินร้ายหรือเกิดความไม่พอใจ
เราควรที่จะเรียนรู้ในการที่จะฝึกใจให้เพียงแต่ สักแต่ว่ารับรู้ โดยเฉพาะที่มีโอกาสขณะปฏิบัตินี้แหล่ะ เดินจงกรม สร้างจังหวะ ดูลมหายใจ ไม่ว่ามีรูปมากระทบตา เสียงกระทบหู กลิ่นเข้าจมูก ก็สักแต่ว่า สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่าได้กลิ่น
หรือแม้กระทั่งเวลาที่มีอาการกระทบทางกาย เกิดความปวดความเมื่อย เห็นความปวดความเมื่อย ก็สักแต่ว่าเห็น หรือรับรู้ความปวดความเมื่อย ไม่ไปมีอาการผลักไสหรือจดจ่อ ที่จริงการสักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่าได้กลิ่น มันไม่ใช่ว่าพึงทำแต่เฉพาะเวลาที่เราปฏิบัติในรูปแบบเท่านั้น เวลาทำกิจอื่นในชีวิตประจำวัน เช่น กินข้าว หรือว่ากวาดบ้าน หรือแม้แต่เวลาฟังธรรม เราก็ควรใช้โอกาสนี้ในการฝึก
สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่าได้เห็น สักแต่ว่าได้กลิ่น อันนี้หมายถึงว่ารูป เสียง กลิ่น มาสู่การรับรู้ของเรา ในขณะที่ใจเรากำลังจดจ่ออยู่กับการทำสิ่งอื่น เช่น ขณะที่กำลังฟังธรรมมีเสียงฝนมากระทบหลังคา ก็สักแต่ว่าได้ยิน เสียงหมาเห่าก็สักแต่ว่าได้ยินเสียงหมาเห่า
เวลากินข้าวก็เหมือนกัน เราก็รับรู้รสของอาหาร แต่ว่ามันอาจจะมีเสียงคนคุยกันอยู่ข้างๆ แทนที่ใจเราจะไปเกาะเกี่ยวกับเสียงนั้นแล้วก็เกิดความยินดีกับเสียงนั้น เราก็แค่มาฝึกให้สักแต่ว่าได้ยิน โดยที่ใจยังอยู่กับการกิน อันนี้เรียกว่ากินอย่างมีสติ การฝึกสักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่าได้กลิ่น นี้สำคัญ มันอาจจะถึงขั้นที่ว่าเป็นกุญแจสู่ความหลุดพ้นเลยก็ได้ หลุดพ้นคือหลุดพ้นจากความทุกข์
มีเหตุการณ์หนึ่งในสมัยพุทธกาล มีนักบวชคนหนึ่งชื่อ พาหิยะ แกประพฤติตัวเคร่ง เปลือยกาย ตอนหลังก็เอาเปลือกไม้ใบไม้มาห่ม คนก็นึกว่าเป็นพระอรหันต์ ก็เอาเครื่องสักการะเอาอาหารมาให้ เคารพนบนอบจนกระทั่งตัวเองนึกว่าเป็นพระอรหันต์จริงๆ จนกระทั่งพระพรหมซึ่งชาติก่อนเคยเป็นเพื่อนสนิทกับพาหิยะ ก็มาบอกมาเตือนท่านว่าไม่ใช่พระอรหันต์ พระอรหันต์จริงๆอยู่กรุงสาวัตถี
พาหิยะเกิดได้สติขึ้นมา และก็เกิดความกระตือรือร้นที่จะได้ไปพบได้ฟังธรรมะจากพระอรหันต์ที่แท้จริง ก็รีบเดินตรงไปที่กรุงสาวัตถี เรียกว่ารุดไปทีเดียว ระยะทางเป็นร้อยโยชน์ ก็หลายร้อยกิโลเมตร เรียกว่าทั้งวันทั้งคืน ใจร้อนรนมาก เกิดได้คิดขึ้นมาว่าอยากพบพระอรหันต์ที่แท้จริง ไปถึงกรุงสาวัตถีเช้าตรู่เป็นเวลาที่พระพุทธเจ้ากำลังเสด็จบิณฑบาต ตามไปเจอพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ตรงรี่ไป ขอให้พระพุทธเจ้าแสดงธรรม
พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธ เพราะเห็นว่ายังไม่ใช่เวลา และก็คงมีญาณหยั่งรู้ว่า ท่านพาหิยะมีจิตใจร้อนรนมาก ไม่เหมาะกับการที่จะได้ฟังธรรม ก็เลยไม่ทรงแสดงธรรม แต่พาหิยะก็ทูลวิงวอนถึง 3 ครั้ง โดยอ้างว่าไม่รู้จะตายเมื่อไหร่ ในเมื่อมีโอกาสตอนนี้ ก็อยากจะฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าจึงแสดงธรรมต้นๆ ว่า เมื่อเห็นก็สักแต่ว่าเห็น เมื่อได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน เมื่อได้กลิ่นก็สักแต่ว่าได้กลิ่น เมื่อรู้แจ้งในอารมณ์ก็สักแต่ว่ารู้แจ้งในอารมณ์ เมื่อนั้นตัวเธอจะไม่มี ไม่มีทั้งโลกนี้และโลกหน้า และระหว่างโลกทั้งสอง นั่นแหละคือหนทางแห่งการดับทุกข์ หรือความสิ้นสุดแห่งทุกข์
ท่านพาหิยะฟังและพิจารณาไป ก็เกิดปัญญาทะลุโพลงอย่างแจ่มแจ้ง บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ตรงนั้นเลย เพราะว่าเข้าใจ ตอนหลังได้ชื่อว่าเป็นเอตทัคคะบรรลุธรรมอย่างรวดเร็ว แต่ว่าท่านก็ไม่มีโอกาสได้บวช เพราะว่าพอจะไปเตรียมตัวเครื่องบวช ปรากฏว่าวัวแม่ลูกอ่อนหวิดตาย ไม่ไกลจากตรงนั้น ก็เรียกว่าที่ท่านอยากจะรู้อยากจะฟังธรรมเร็วๆเพราะไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่
นับว่าท่านก็ตัดสินใจได้ถูกต้อง เพราะถ้าไม่ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าในตอนนั้น ก็อาจจะไม่มีชีวิตได้ฟังธรรมะจากพระพุทธเจ้าในโอกาสต่อไป
ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนท่านพาหิยะน่าสนใจ ที่ว่า เมื่อเห็นสักแต่ว่าเห็น เมื่อได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน เมื่อได้กลิ่นสักแต่ว่าได้กลิ่น เมื่อรู้แจ้งในอารมณ์ก็สักแต่ว่ารู้แจ้งในอารมณ์ อันนั้นเป็นหนทางแห่งการดับทุกข์ได้ เพราะว่าที่ท่านใช้คำว่าตัวเธอจักไม่มี หมายถึงว่าไม่มีตัวกูหรือว่าความยึดติดถือมั่นในตัวกูดับไป
เพราะว่า ถ้าเห็น สักแต่ว่าเห็น คือไม่ปรุงแต่ง ถึงที่สุดคือ ไม่ปรุงแต่งตัวกูขึ้นมา เป็นผู้เห็น เป็นผู้ได้ยิน เป็นผู้ได้กลิ่น มีแต่การเห็น มีแต่การได้ยิน มีแต่การได้กลิ่น แต่ไม่มีผู้เห็น ผู้ได้ยิน ผู็ได้กลิ่น อันนั้นคือที่สุดแห่งทุกข์
คำว่าสักแต่ว่า สักแต่ว่า ไม่ใช่คำหรือสำนวนที่ธรรมดาๆ แต่ว่ามีความหมายและคุณค่าที่ลึกซึ้งมาก แต่ว่าเราอาจจะทำได้ไม่ถึงระดับของท่านพาหิยะ ฟังแล้วก็ปรากฏว่า ปล่อยวางความยึดในตัวตนได้ แต่อย่างน้อยก็ช่วยทำให้เรามีสติ รู้ทันในอารมณ์ที่มากระทบ ไม่ว่าจะเป็นรูป รส กลิ่น เสียง แล้วก็ทำให้เรามีสติในขณะที่ทำอยู่ในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเดินจงกรม สร้างจังหวะ กินข้าว การฟังธรรมหรืออ่านหนังสือ
ที่จริง ไม่เพียงแต่ว่า สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้กลิ่น สักแต่ว่าได้ยินเท่านั้น สักแต่ว่าทำก็สำคัญ สักแต่ว่าทำ ไม่ได้หมายความว่าทำส่งๆไป หรือทำพอเป็นพิธี แต่สักแต่ว่าทำมีความหมายลึกซึ้ง ก็คือว่า เมื่อเวลาทำอะไร ใจก็อยู่กับการทำสิ่งนั้น โดยที่ไม่พะวงกับสิ่งอื่นรวมทั้งเป้าหมายของการกระทำนั้น คนเราเวลาทำอะไรก็ตาม อดไม่ได้ที่จะไปจดจ่ออยู่กับเป้าหมายหรือผลสำเร็จของการกระทำนั้นๆ
เวลาทำงาน ใจก็นึกถึงกับผลสำเร็จที่จะเกิดขึ้น หรืออย่างน้อยๆก็คิดอยู่ในใจว่า เมื่อไหร่จะเสร็จๆ อย่างนี้ไม่เรียกว่าสักแต่ว่าทำ ไม่ใช่แต่เฉพาะเวลาทำงานอย่างเดียว ทำกิจอย่างอื่นที่เป็นธรรมดาสามัญเช่น กินข้าว เมื่อเรากินข้าวก็สักแต่ว่ากิน ใจก็ไม่ไปเพลินกับรสชาติของอาหาร รวมทั้งไม่ไปจดจ่ออยู่กับเป้าหมายของการกินด้วย ถึงแม้ว่าเราจะกินเพื่อสุขภาพ เราควรกินเพื่อให้ร่างกายอยู่ได้
อันนั้นเป็นเหตุผลให้เรากินอาหาร แล้วก็เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ แต่เวลากินอาหาร เราก็สักแต่ว่ากินหมายความว่า เราก็มีสติอยู่กับการกิน ไม่พะวงว่าเมื่อไหร่จะเสร็จหรือไม่จดจ่อว่า จะช่วยทำให้สุขภาพเราดีแค่ไหน อันนี้อาจจะสวนทางกับวิถีปฏิบัติของคนส่วนใหญ่หรือคนในยุคปัจจุบัน เวลาทำอะไรเขาก็จะคำนึงถึงเป้าหมาย แล้วก็จดจ่ออยู่กับเป้าหมาย จนกระทั่งมักจะลืมว่ากำลังทำอะไรอยู่ หรือว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งที่ทำ
ที่จริง เวลากิน เราสักแต่ว่ากิน ถ้าเราทำถูก ประโยชน์ที่ควรจะได้ก็จะเกิดขึ้นตามมาอยู่แล้วเช่น สุขภาพหรือว่าเวลาเรากวาดบ้าน เราสักแต่ว่ากวาด ถ้าเราทำถูก ประโยชน์ที่มุ่งหมายก็ตามมาอยู่แล้วคือความสะอาดของบ้าน หรือของสถานที่ เราไม่ต้องไปจดจ่ออยู่กับเป้าหมายตรงนั้นเลยก็ได้ เพราะว่าถ้าทำแล้ว ก็ย่อมเกิดความสะอาดตามมา ถ้ากินอาหารมันก็ต้องเกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ
เพราะว่าเมื่อเราประกอบเหตุ ผลก็ย่อมเกิดขึ้นตามมา สักแต่ว่าทำ คือการที่ใจที่จดจ่ออยู่กับการทำเหตุให้ดี ไม่ต้องพะวงถึงผล เพราะว่าถ้าทำเหตุให้ดี ผลที่ดีก็ย่อมปรากฏตามความมุ่งหมายหรือตามวัตถุประสงค์
และที่จริงแล้ว ไม่ใช่แค่เกิดผลที่เป็นอรรถประโยชน์อย่างเดียว ผลที่เป็นอรรถประโยชน์ในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่าประโยชน์ชั้นต้น ประโยชน์ชั้นต้นก็คือ สุขภาพ หรือว่าความสะอาดเรียบร้อย รวมไปถึงการประสบความสำเร็จในการงาน ที่เราเรียกว่าอายุ วรรณะ สุขะ พละ อันนี้เรียกรวมๆ ว่า ประโยชน์ชั้นต้น หรือว่า ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์
เมื่อเราใส่ใจอยู่กับสิ่งที่เราทำอย่างมีสติ หรือว่า สักแต่ว่าทำ มันไม่ได้เกิดผล หรือประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมเช่น ความสะอาด หรือสุขภาพเท่านั้น ยังเกิดผลอย่างอื่นตามมา คือ ผลทางจิตใจ พระพุทธเจ้าเรียกผลทางจิตใจนี้ว่า ประโยชน์ขั้นสูง หรือ ประโยชน์ขั้นสูงขึ้นไป เรียกว่าสัมปรายิกัตถประโยชน์
เช่น ถ้าเราทำสักแต่ว่าทำ กินสักแต่ว่ากิน นอกจากจะได้ประโยชน์คือสุขภาพ ทำให้ไม่หิว บรรเทาความหิวแล้ว มันยังเกิดผลทางใจประโยชน์ขั้นสูงขึ้นไปก็คือ สติหรือสมาธิ เวลาเราทำความสะอาดบ้าน ก็สักแต่ว่าทำ มันไม่ใช่แค่ได้ทำความสะอาดของบ้าน เรายังได้ความสงบ ได้สติ ได้สมาธิด้วย อันนี้เรียกว่าประโยชน์ชั้นสูงขึ้นไป
แล้วยังได้ประโยชน์อีกอันหนึ่งที่สำคัญมาก เรียกว่า ประโยชน์ขั้นสูงสุด ปรมัตถะ สูงสุดคือนิพพาน เมื่อเราทำสักแต่ว่าทำ อย่างที่ว่านอกจากได้ความสะอาด หรือได้สุขภาพแล้ว ยังได้สติ และทำให้เขยิบเข้าใกล้ปรมัตถะหรือประโยชน์สูงสุด เพราะว่า เป็นการกระทำที่ทำด้วยใจปล่อยวาง ปล่อยวางในผล ปล่อยวางในสิ่งมุ่งหมาย ไม่ใช่ว่าละเลย แต่ว่าไม่ได้สนใจผล มุ่งที่การประกอบเหตุ
เมื่อเราทำด้วยใจที่ปล่อยวาง มันก็จะเป็นการฝึกใจให้ได้เข้าใกล้ปรมัตถ์ หรือว่าประโยชน์สูงสุด ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการที่รู้จักปล่อยวาง ปล่อยวางในจุดมุ่งหมาย ปล่อยวางแม้กระทั่งงานของเราๆ ในขณะที่ทำสักแต่ว่าทำ
ที่จริง นอกจากปล่อยวางจุดมุ่งหมาย หรือว่าไม่จดจ่ออยู่กับจุดมุ่งหมายแล้ว ถ้าวางใจดีๆ ไม่มีแม้กระทั่งผู้กระทำ มีแต่การกระทำแต่ไม่มีผู้กระทำ ถ้าเราสักแต่ว่าทำ มันก็มีการกระทำแต่ไม่มีผู้กระทำ อันนี้แหละคือสิ่งที่จะทำให้เข้าใกล้ปรมัตถะ หรือประโยชน์สูงสุด
เพราะฉะนั้น ทำเพียงสักแต่ว่าทำ มันได้ประโยชน์ 3 เลย คือ ประโยชน์ชั้นต้น ประโยชน์ชั้นสูงขึ้นไป แล้วก็ประโยชน์ขั้นสูงสุด ทั้งๆที่ใจไม่ได้อยู่ที่ผล ใจอยู่ที่เหตุ ถ้าใจอยู่กับเหตุ ประกอบเหตุให้ดีอย่างมีสติหรือทำด้วยสติ มันได้ประโยชน์ 3
เพราะฉะนั้น เราจะเรียกว่า การทำอย่างนั้น สักแต่ว่าทำ คือ ทำเพื่อทำก็ได้ กินเพื่อกิน หรือว่าทำเพื่อทำ กวาดบ้านเพื่อกวาดบ้าน ล้างจานเพื่อล้างจาน อันนี้ก็เป็นความหมายหนึ่งของคำว่าสักแต่ว่าทำ ส่วนใหญ่เรากิน เราไม่ได้กินเพื่อกิน กินเพื่อสุขภาพ กินเพื่อความเอร็ดอร่อย อันนั้นยังไม่ถูกทีเดียว หรือว่าอันนั้นยังไม่ดีเท่าไหร่ ดีที่สุดก็คือ กินเพื่อกิน ก็คือ สักแต่ว่าทำ
เอาเข้าจริง ถ้าทำถูก มันให้ประโยชน์มาก เพราะว่านอกจากทำให้งานสำเร็จแล้ว จิตใจก็ยังพลอยเป็นสุขด้วยหรือว่าจิตใจก็พลอยได้รับการพัฒนา คนเราเวลาทำอะไร แม้จะทำด้วยจุดมุ่งหมายที่ดี แต่พอใจไปอยู่ที่จุดมุ่งหมาย มันก็จะรู้สึกเครียด รู้สึกทุกข์ รู้สึกกังวลว่าเมื่อไหร่จะเสร็จๆ ซึ่งบ่อยครั้งนอกจากทุกข์นอกจากเครียดแล้ว สิ่งที่ทำก็ยังไม่ดีด้วย หรือไม่ดีเท่าที่ควร
เมื่อประมาณ 60 ปีที่แล้ว ที่อเมริกามีอาจารย์เซนท่านหนึ่งชาวญี่ปุ่นชื่อ ชุนเรียวซูซูกิ ท่านมาสร้างสำนักแบบเซนแห่งแรกในอเมริกาที่ซานฟรานซิสโก ตอนที่ท่านมาก็อายุมากแล้วราวๆ 60 และตอนที่สร้างสำนักเรียกว่าต้องสร้างกันเอง ไม่มีจ้างใครสร้าง ลงมือทำเอง แต่ว่าท่านมีลูกศิษย์ที่เป็นฝรั่งอเมริกันหลายคน ส่วนใหญ่อยู่ในวัย 19-20 พวกนี้หันมาสนใจปรัชญาศาสนาตะวันออกโดยเฉพาะพุทธศาสนาแบบเซน
เขาก็มาช่วยกันสร้างด้วย ขนอิฐขนหิน แต่ขนได้ครึ่งวันก็เหนื่อยแล้ว ขณะที่อาจารย์ตัวเล็ก อายุก็มากแล้ว แล้วคนญี่ปุ่นสมัยก่อนตัวเล็ก ขนหินขนไม้ทั้งวันเลย ลูกศิษย์ก็แปลกใจถามว่า อาจารย์ทำได้อย่างไร พวกผมยังหนุ่ม ตัวใหญ่ ทำได้แค่ครึ่งวันเท่านั้นแหล่ะ อาจารย์ก็ตอบยิ้มๆว่าผมก็พักตลอดเวลาไงล่ะ อาจารย์พูดแบบเซน
พักตลอดเวลา หมายความว่าอย่างไร หมายความว่า ตัวทำงาน แต่ใจพัก ตัวแบกหิน แต่ใจไม่ได้แบกด้วย ไม่ได้แบกอะไรเลย แม้กระทั่งความคาดหวัง หรือว่าจุดมุ่งหมาย ส่วนลูกศิษย์ ตัวแบกหิน ใจก็แบกเอาความหนักความเหนื่อย และยิ่งทุกข์มากขึ้นเมื่อคิดถึงจุดมุ่งหมายหรือว่าเป้าหมายว่าเมื่อไหร่จะเสร็จสักที ใจที่มุ่งพะวงอยู่กับเป้าหมาย มันทำให้เครียดทำให้ทุกข์
ส่วนอาจารย์ชุนเรียว ท่านทำแบบ สักแต่ว่าทำก็ได้ ขนเพื่อขน ขนอิฐเพื่อขนอิฐ ขนหินเพื่อขนหิน ไม่สนใจว่าเมื่อไหร่จะเสร็จ ไม่สนใจว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นตามมา ใจอยู่กับการกระทำ อยู่กับการขน เพราะฉะนั้น มันก็เลยไม่ทุกข์ ที่แบกคือกาย แต่ใจไม่ได้แบกอะไรเลย ไม่ได้แบกความมุ่งหวัง ไม่ได้แบกความสำเร็จ ไม่ได้แบกเป้าหมายอะไรใดๆทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น ใจจึงพัก พอใจได้พัก ก็เลยทำได้ทั้งวัน อันนี้เรียกว่าทำสักแต่ว่าทำ ในขณะที่ลูกศิษย์ขนหินเพื่อให้เสร็จ แต่อาจารย์ขนหินเพื่อขนหิน ก็เลยทำได้ทั้งวัน ทำได้มากกว่า และใจก็ไม่ทุกข์ด้วย เพราะฉะนั้นคำว่า สักแต่ว่าทำ มันไม่ใช่ว่าทำเป็นพิธี หรือไร้จุดหมาย แต่ที่จริงสามารถที่จะให้อะไรกับผู้ทำได้มากมาย แม้ว่าใจจะไม่ได้คาดหวังอะไรเลย
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 31 สิงหาคม 2564