แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในสมัยพุทธกาล มีเศรษฐีนีคนหนึ่งชื่อนางกาติยานี เธอเป็นคนที่สนใจใฝ่ธรรม แต่ก็ไม่มีโอกาสได้พบกับพระสงฆ์ วันหนึ่งเพื่อนสนิทคือนางกาลีมาชวนให้นางไปฟังธรรม ผู้ที่แสดงธรรมก็คือพระโสณะ ซึ่งเป็นบุตรของนางกาลี พระโสณะท่านก็เป็นพระอรหันต์ เมื่อท่านกลับมาเยี่ยมโยมแม่ โยมแม่ก็เลยถือโอกาสนิมนต์แสดงธรรม กำหนดแสดงธรรมตอนกลางคืนเพราะว่าผู้คนจะว่างช่วงนั้น จัดที่มณฑลพิธี กลางเมือง
นางกาติยานีบอกให้บ่าว คนใช้ไปที่บ้าน ไปเอาประทีปมาเพื่อจุดให้เกิดความสว่างในมณฑลพิธี บ่าวกลับไปที่บ้าน แล้วก็รีบกลับมารายงานให้นางกาติยานีทราบว่า โจรกลุ่มหนึ่งกำลังขุดอุโมงค์ลอดกำแพงบ้านของนาง เพื่อไปขนเอาทรัพย์สมบัติ นางกาติยานีได้ยิน แทนที่จะตื่นตกใจ ก็บอกบ่าวว่า โจรปกติจะขนอะไร ก็จะขนเอาแต่สิ่งที่มีค่า คงจะไม่ได้ขนเอาไปหมดหรอก นางพูดเสร็จ ก็ไม่ได้สนใจ ฟังธรรมต่อ
สักพักบ่าวร้อนใจ กลับไปที่บ้านของนางกาติยานี แล้วก็กลับมารายงานนางว่า ตอนนี้โจรกำลังขนทรัพย์สมบัตินางแทบจะหมดบ้านแล้ว ให้รีบกลับไปปกปักรักษาทรัพย์สมบัติเอาไว้ นางกาติยานีก็ไม่สนใจ โจรจะเอาทรัพย์สมบัติก็เอาไปเถิด ตอนนี้อย่ามารบกวน ฉันกำลังฟังธรรมอยู่ โอกาสที่จะได้ฟังธรรมนั้นมันหายาก บอกให้บ่าวเงียบๆ อย่าส่งเสียงรบกวน
ทั้งสองคนนี้ไม่รู้เลยว่า หัวหน้าโจร อยู่ใกล้ๆแถวนั้น หัวหน้าโจรตั้งใจมีแผนการว่า ถ้าเจ้าทรัพย์คือนางกาติยานีกลับไปบ้านเพื่อไปปกปักรักษาทรัพย์สมบัติ หัวหน้าโจรก็จะตามไปฆ่าเจ้าทรัพย์กลางทางเลย แต่พอได้ฟังคำสนทนาของนางกับบ่าว ก็พาประหลาดใจว่า มีคนแบบนี้ด้วยหรือ ทรัพย์สมบัติไม่สนใจ เพราะว่าสนใจธรรมะมากกว่า
แล้วยิ่งฟังการสนทนา ก็เกิดความเลื่อมใสนางกาติยานีว่า นางเป็นคนที่ดี หัวหน้าโจรฟังแล้วรู้สึกผิดขึ้นมาว่า ตนเองกำลังทำบาปกรรมกับผู้ที่ใฝ่ธรรมะ ก็เลยไปบอกลูกน้องว่าหยุดขนทรัพย์สมบัติได้แล้ว ให้เอาทรัพย์สมบัติกลับไปคืนที่เดิม
เท่านั้นยังไม่พอ ไปแสดงตัวต่อนางกาติยานีด้วยว่า ตนเองเป็นโจรที่กำลังขนทรัพย์สมบัติของนาง แต่ตอนนี้เปลี่ยนใจแล้ว เพราะว่า หนึ่ง เลื่อมใสศรัทธานางกาติยานี และ สอง สนใจว่า ธรรมะมีค่าอย่างไร ประเสริฐอย่างไร นางกาติยานีจึงสนใจธรรมยิ่งกว่าทรัพย์สมบัติ ทรัพย์สมบัติจะหมดไป ไม่เป็นไร ขอให้ได้ฟังธรรมดีกว่า
สุดท้ายหัวหน้าโจรกับลูกน้อง ขอบวช ส่วนนางกัลยาณีเมื่อฟังธรรมจบ ก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ส่วนหัวหน้าโจรและลูกน้องบวชแล้ว ก็กลับตัวกลับใจ ทำความเพียรจนกระทั่งได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ โจรที่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์มีเยอะ ถึงแม้ว่าจะเคยทำความชั่วมา แต่เมื่อกลับตัวกลับใจก็สามารถบรรลุธรรมขั้นสูงได้
ส่วนนางกาติยานี้น่าสนใจ หากว่านางหวงทรัพย์แล้ว กลับไปที่บ้านเพื่อที่จะได้ปกปักรักษาทรัพย์สมบัติของนางเอาไว้ นอกจากนางจะไม่ได้ฟังธรรมแล้ว ยังมีโอกาสที่จะเสียชีวิตด้วยก็ได้ เพราะหัวหน้าโจรเตรียมเอาไว้แล้วว่า ถ้านางกลับไปที่บ้าน เขาจะฆ่านางกลางทาง แต่นางเป็นผู้ที่มีปัญญาเห็นว่า ธรรมะมีค่ามากกว่าทรัพย์สินเงินทอง
และนางก็ตัดสินใจถูกที่ฟังธรรมต่อ เพราะว่านอกจากจะไม่เสียชีวิต เพราะถูกหัวหน้าโจรฆ่าแล้ว ก็ยังได้เข้าถึงธรรมะจนบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน เรียกว่าได้ 2 ต่อเลย คือรักษาชีวิตเอาไว้ได้ และที่สำคัญกว่านั้นคือ มีดวงตาเห็นธรรม อันนี้เป็นเรื่องของอุบาสิกาคนหนึ่งที่ภายหลังพระพุทธเจ้าสรรเสริญว่าเป็นเอตทัคคะด้านศรัทธาเลื่อมใสไม่หวั่นไหว เป็นผู้ที่เมื่อถึงจุดที่ต้องตัดสินใจว่าจะเลือกเงินหรือเลือกธรรม นางเลือกธรรม คนแบบนี้มีน้อย
เพราะว่าคนส่วนใหญ่ถ้าต้องเลือกระหว่างเงินกับธรรมะ ส่วนใหญ่ก็จะเลือกเงิน ธรรมะเอาไว้ที่หลัง อย่างหลายคนแม้จะรู้ว่าธรรมะเป็นของดี แต่ว่าเวลามีปฏิบัติธรรมก็ไม่สนใจ ฉันไม่มีเวลาๆ ฉันต้องทำงานหาเงิน ทั้งๆที่หลายคนก็ไม่ใช่ยากจน หรือว่าต้องดิ้นรน เพื่อความอยู่รอดทรัพย์ ก็มีอยู่เยอะแล้ว แต่ก็ยังหาทรัพย์เพิ่มขึ้น แล้วก็อ้างว่าไม่มีเวลาสำหรับธรรมะ แต่มีเวลาสำหรับหาเงินหาทอง
คนจำนวนไม่น้อยก็อาจจะไม่ได้ถึงขั้นว่าทิ้งธรรมะเพื่อหาเงินหาทอง แต่ว่าเวลาที่เกิดสูญเสียทรัพย์สมบัติขึ้นมา ก็อาจจะเกิดความคับแค้นถึงกับประกาศว่า ฉันอุตส่าห์ทำบุญ ประพฤติธรรมมา แต่ก็ยังต้องสูญเสียทรัพย์ ต่อไปนี้ฉันไม่ทำบุญแล้ว ต่อไปฉันไม่ปฏิบัติธรรมแล้ว ธรรมะฉันไม่สนใจแล้ว อันนี้เป็นอาการของคนที่เห็นทรัพย์สมบัติสำคัญกว่ามาก พร้อมที่จะละทิ้งธรรมะได้ เมื่อถึงคราวที่ต้องสูญเสียทรัพย์ก็เจ็บแค้นว่า ธรรมะไม่รักษา บุญไม่ปกป้อง
หรือบางทีไม่ได้เสียทรัพย์แต่อาจจะเจ็บป่วย ก็โกรธแค้นที่บุญไม่รักษา ธรรมะไม่คุ้มครอง อันนี้ก็ต้องระวัง ถึงแม้ว่าเราคิดว่า เราสนใจธรรมะแล้ว แต่พอถึงเวลาที่ต้องเลือกระหว่างธรรมะกับทรัพย์สมบัติ หลายคนก็เลือกสมบัติมากกว่าธรรมะไว้ที่หลัง หรือไม่ก็ละทิ้งไปเลย
พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่า ทรัพย์สมบัติกับธรรมะ เป็นเรื่องขัดแย้งกัน ที่จริงมันเกื้อกูลกันได้ คนที่มีธรรมะ เช่น เป็นคนที่ขยันหมั่นเพียร รู้จักประหยัดอดออม และก็มีความสันโดษ เป็นอยู่เรียบง่าย เขาก็มีโอกาสที่จะเจริญด้วยโภคทรัพย์ได้ การรักษาศีลก็เหมือนกัน เมื่อรักษาแล้ว มันก็สมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ได้ อย่างที่พระสวด สีเลนะสุคะติงยันติ สีเลนะโภคะสัมปะทา ศีลทำให้เกิดสุข ศีลทำให้เกิดความเจริญในโภคทรัพย์
มันไม่ได้ขัดแย้งกัน มีธรรมะ ก็อาจจะมีทรัพย์สินเงินทองเพิ่มพูนขึ้น แต่แม้จะเพิ่มพูนขึ้น ก็ไม่ได้ยึดติดในทรัพย์ เพราะว่ามีธรรมะเป็นเครื่องรักษาใจ ทำให้เข้าใจความจริง สัจธรรมของชีวิต ถึงเวลาสูญเสียทรัพย์ก็ไม่โกรธแค้น ไม่เศร้าโศก เพราะรู้ว่าเป็นธรรมดา ขณะเดียวกันเมื่อมีเงินทองแล้ว ก็ใช้เงินทองนั้นเพื่อการเพิ่มพูนเสริมสร้างธรรมะ เช่น มีเงินแล้วไม่ต้องทำมาหาเงินมาก เอาเวลาไปปฏิบัติธรรม เพราะว่าไม่ต้องดิ้นรน
ไม่เหมือนบางคน เขาต้องดิ้นรนทำงานหาเงิน ไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม แต่คนที่มีเงินแล้ว ก็ใช้เงินนั้นเพื่อส่งเสริมให้ตัวเองได้มีโอกาสปฏิบัติธรรม หรือว่าบำเพ็ญธรรม เช่น บำเพ็ญทานบารมี บริจาคทรัพย์เป็นทาน ส่งเสริมธรรมะด้วยทรัพย์ที่ตัวเองมี อันนี้เรียกว่า ทรัพย์ส่งเสริมธรรม ซึ่งธรรมะในที่นี้ก็คืออริยทรัพย์นั่นเอง
และอริยทรัพย์ก็ส่งเสริม ทำให้เจริญในโภคทรัพย์ได้เหมือนกัน เจริญในที่นี้ไม่ได้แปลว่าร่ำรวยอย่างเดียว อาจจะมีน้อยกว่าคนอื่น แต่รู้สึกพอใจเพราะสันโดษ คนที่มีความสันโดษก็ถือว่ามีความร่ำรวยเหมือนกัน เพราะว่ามีความรู้จัก ถ้าไม่รู้จักพอก็จะรู้สึกว่าจนอยู่เสมอ แต่ถ้าพอเมื่อไร ก็จะรู้สึกว่าตัวเองร่ำรวย
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 31 สิงหาคม 2564