แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อสองวันก่อน ได้พูดถึงแง่คิดหลายคนซึ่งพิการ บางคนเสียขา บางคนเสียแขน บางคนอัมพาตครึ่งตัว บางคนพิการเพราะโปลิโอ แต่ว่าคนเหล่านี้ก็สามารถอยู่กับร่างกายที่ไม่สมประกอบด้วยใจที่ไม่ทุกข์ มีความรู้สึกไม่ต่างจากคนทั่วไป ไม่ได้เกิดความรู้สึกด้อยหรือย่ำแย่กับความสูญเสียซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในชีวิต ตอนท้ายได้พูดถึงบุคคลอีกท่านหนึ่งคือ อาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม
ถ้าพูดถึงในแง่ของความพิการ อาจารย์กำพลพิการหนักกว่ากรณีที่ยกตัวอย่างมา คือพิการตั้งแต่คอลงมา เรียกว่าอัมพาตทั้งตัวเลยก็ว่าได้ แต่ว่าท่านก็เป็นบุคคลที่น่าสนใจมาก เพราะว่าขณะที่ท่านพิการหนักกว่าคนอื่น แต่ว่าท่านสามารถที่จะยกใจให้อยู่เหนือความพิการได้ ในขณะที่คนพิการที่พูดมา เขาก็สามารถจะประคองใจให้มีชีวิตที่ไม่ต่างจากคนปกติซึ่งก็ยากอยู่แล้ว
แต่อาจารย์กำพลไปไกลกว่านั้นคือ สามารถที่จะยกจิตให้อยู่เหนือกว่าระดับของคนปกติ คนปกติยังมีสุขมีทุกข์ มีกลุ้มอกกลุ้มใจ สีหน้าหม่นหมอง แต่ว่าท่านมีจิตใจแจ่มใสเบิกบาน ซึ่งเป็นตัวอย่างของการปฏิบัติธรรมที่น่าสนใจมาก
บางครั้งมีคนพูดถึงอาจารย์กำพลอยู่ แต่ว่าอาจจะไม่ได้พูดให้ชัดเจน หลายคนในที่นี้อาจจะเคยได้ยินชื่อท่านหรืออาจจะเคยรู้ว่าท่านเคยมาพักที่กุฏิแถวๆซุ้มประตูสุญญตา แต่ยังไม่ค่อยรู้เรื่องราวเกี่ยวกับท่านมาก ถ้าได้รู้เรื่องเกี่ยวกับท่าน ก็จะได้แง่คิดได้ประโยชน์ในแง่ของชีวิตและการปฏิบัติธรรมด้วย
อาจารย์กำพล มีอาชีพเป็นครูสอนวิชาพละ น่าจะมีอนาคตรุ่งโรจน์ หากไม่บังเอิญประสบอุบัติเหตุสอนว่ายน้ำเกิดพลาดท่า ศีรษะไปกระแทกกับพื้นสระ ทำให้เส้นประสาทที่คอขาด แม้จะรอดตาย แต่ว่ากลายเป็นอัมพาตตั้งแต่คอลงมา ทีแรกท่านก็มีความหวังว่าจะเยียวยารักษาให้หายได้ แต่เอาเข้าจริงๆแล้วมันไม่มีทางที่จะรักษาให้หายได้
จากเดิมที่มีความหวังว่า จะดีขึ้นทีละนิดๆ สุดท้ายก็เหมือนกับว่า อยู่ไปวันๆอย่างคนพิการ รอวันตาย ใช้เวลานานในการที่จะปรับตัวอยู่กับความพิการได้ แต่ความทุกข์ก็ยังมีอยู่ ในแง่หนึ่งก็สะท้อนให้เห็นความไม่เที่ยงของชีวิต จากคนซึ่งมีอนาคต วันดีคืนดีอนาคตก็ดับวูบไปเลย ที่วางแผนว่าจะทำนั่นทำนี่ เช่น บวช หรือแต่งงาน มีครอบครัว ก็ต้องเป็นอันยกเลิกหมด
แต่ตอนหลัง เริ่มหันมาสนใจธรรมะ เพราะว่านอนติดเตียง ใจอยู่กับความทุกข์ ไม่มีอะไรที่จะมาบรรเทาความทุกข์ได้ พ่อแม่ก็เอาหนังสือธรรมะมาให้อ่าน อ่านแล้วก็สบายใจ อาจจะเป็นเพราะว่าตอนที่อ่านก็ลืมความทุกข์ไปชั่วคราว ใจไม่ได้นึกไปถึงชีวิตที่ไม่มีอนาคต หรือว่าไม่ได้นึกถึงวันตายที่รออยู่ข้างหน้าอย่างคนพิการ
แต่ก็อ่านหนังสือจบ ก็กลับมารู้สึกทุกข์ใหม่ ก็เห็นเลยว่าหนังสือธรรมะมีประโยชน์ แต่ว่ามันก็มีแค่ชั่วคราวเท่านั้น มันไม่ได้หายทุกข์จริง จะทำอย่างไรถึงจะหายทุกข์ ก็ได้รับคำบอกเล่าว่าต้องปฏิบัติธรรม คุณพ่อของท่านสนใจการปฏิบัติธรรมของหลวงพ่อเทียน แต่ว่าตอนนั้นหลวงพ่อเทียนก็มรณภาพไปแล้ว
อาจารย์กำพลก็ได้ทราบว่า มีลูกศิษย์ของหลวงพ่อเทียนอีกท่านหนึ่งคือ หลวงพ่อคำเขียน ก็เลยเขียนจดหมายไปปรึกษาหลวงพ่อ หลวงพ่อก็เขียนจดหมายตอบกลับมาแนะนำเรื่องการปฏิบัติ ปฏิบัติด้วยการเดินจงกรมไม่ได้ ปฏิบัติด้วยการสร้างจังหวะไม่ได้ ก็พลิกมือไปพลิกมือมาก็แล้วกัน ตอนนั้นอาจารย์กำพลก็ยังพอที่จะขยับมือกำมือได้
หลวงพ่อคำเขียนแนะนำว่าเวลาพลิกมือก็ให้รู้เนื้อรู้ตัว ใจลอยไปไหนก็กลับมา แล้วท่านก็แนะต่อไปว่า เวลาพลิก ที่พลิกคือรูป เวลาใจคิดนึกไปก็คือนาม ให้พิจารณาแบบนี้ พลิกมือไปก็รู้ว่ารูปมันพลิก มีความนึกคิดก็รู้ว่าเป็นนามที่คิด อาจารย์กำพลเนื่องจากนอนติดเตียงตลอดเวลาไม่มีอะไรทำ ก็เลยมีเวลากับการปฏิบัติด้วยการพลิกมือไปพลิกมือมามาก แล้วก็ต่อเนื่อง
พอพลิกไป ก็เริ่มเห็นความคิด รู้ทันความคิด ใจลอยไปถึงอนาคตที่ไม่มีแสงสว่าง เกิดความวิตกกังวล ก็รู้ รู้แล้วก็วาง กลับมารู้สึกตัว กลับมารู้สึกว่ามือพลิก ตอนหลังท่านก็พิจารณา เมื่อทำไปทำมาก็เห็นเลยว่า ที่พลิกคือรูป ที่คิดนั้นเป็นนาม พอปฏิบัติไปถึงจุดหนึ่ง ท่านเกิดปัญญาเลย เห็นเลยว่า ที่พิการ มันไม่ใช่เราพิการ มันเป็นแค่กายพิการ
ท่านบอกว่า ตอนนั้นจิตลาออกจากความทุกข์เลย จิตลาออกจากความพิการเลย แต่ก่อนหลงคิดตั้งนานว่าเราพิการๆ แต่ที่จริงไม่ใช่เรา แต่ที่พิการคือแค่กาย ใจไม่ได้พิการด้วย ในชั่วขณะนั้นเอง จิตลาออกจากความทุกข์ ลาออกจากความพิการเลย อันนี้ท่านเห็นเลย เข้าใจเรื่องรูปเรื่องนาม เพราะว่าพอเข้าใจเรื่องรูปเรื่องนาม มันก็ถอนจิตออกจากความยึดในตัวกูได้ หรือความสำคัญมั่นหมายในตัวกูได้
คือตอนไม่ปฏิบัติ ก็คิดแต่ว่ามีฉัน ฉันพลิกมือ ฉันคิด ไอ้ที่พลิกคือฉันพลิก ไอ้ที่คิดคือฉันคิด มันมีแต่ตัวฉันเป็นผู้พลิก เป็นผู้คิด แต่พอพิจารณาว่า จริงๆแล้ว ที่พลิกเป็นรูป แต่ที่คิดเป็นนาม การพิจารณาแบบนี้มันทำให้ถอนจิตออกจากความสำคัญมั่นหมายในตัวกู จึงเห็นชัดเลยว่า มันไม่ใช่กูที่พิการ แต่ที่พิการคือกาย ใจไม่ได้พิการด้วย
คนธรรมดา ถ้าไม่ปฏิบัติก็จะคิดว่า กูพิการๆ พอคิดแบบนี้เข้า กายไม่ทุกข์อย่างเดียว ใจก็ทุกข์ด้วย แต่พอเห็นชัดว่า มันไม่ใช่กูที่พิการ มันเป็นแค่กายพิการ จิตก็หลุดออกจากความพิการเลย ที่จริงก็เป็นความจริงขั้นพื้นฐาน เป็นความจริงที่เห็นได้อยู่ว่า คนที่พิการ เขาพิการแต่กาย แต่ว่าถ้าไม่ปฏิบัติ มันก็อดไม่ได้ที่จะเกิดความสำคัญมั่นหมายว่า กายนั้นคือกู เมื่อกายพิการ ก็กูพิการนั่นแหล่ะ
แต่พอปฏิบัติ เจริญสติ มันถอนจิตออกจากความยึดมั่นในตัวกู มันเห็นว่า ทั้งเนื้อทั้งตัว มันไม่มีกู มันมีแต่กายกับใจ เพราะฉะนั้น จะเห็นชัดมีแต่กายพิการ ไม่ใช่กูพิการ เมื่อไม่ได้รู้สึกว่ากูพิการ จิตก็ไม่ทุกข์แล้ว มันก็ออกจากความพิการเลย
ท่านก็เลยเกิดความรู้สึกแจ่มใส คลายจากความทุกข์ไปเยอะเลย จากเดิมมีชีวิตที่รอความตาย เพราะว่าแต่ละวันๆ จมอยู่กับความทุกข์ แต่ตอนนี้มันทุกข์ก็จริง แต่ว่าเป็นกายที่ทุกข์ แต่ใจไม่ได้ทุกข์ด้วย หรือพูดอย่างหลวงพ่อคำเขียนว่า เห็นความทุกข์ แต่ใจไม่ได้เป็นผู้ทุกข์
ตอนหลังอาจารย์กำพลปฏิบัติ ท่านมีความก้าวหน้าในทางธรรมมากขึ้น ตอนหลังหลวงพ่อคำเขียนชวนมาอยู่ที่นี่ ที่วัดป่าสุคะโต มาตั้งแต่ปี 2542 กุฏิแรกคือ กุฏิหมายเลข 16 ตอนหลังย้ายมาอยู่ที่แถวประตูซุ้มสุญญตา
ท่านก็มาอยู่อย่างคนวัด แต่ตอนหลังกลายเป็นที่พึ่งพาในทางจิตใจของทั้งพระและโยม พระที่มีปัญหาด้านการปฏิบัติ ก็มาพูดคุยกับอาจารย์กำพล โยมที่มีปัญหาเกี่ยวกับชีวิต มาปฏิบัติธรรมที่นี่ พอรู้ว่ามีอาจารย์กำพลอยู่ ก็ไปปรึกษากับท่าน ก็กลายเป็นว่าท่านเป็นผู้ให้คำแนะนำทั้งการแก้ปัญหาชีวิตและปัญหาการปฏิบัติ
จากคนที่เรียกว่าติดลบในเรื่องของร่างกายและจิตใจ ติดลบในทางกายก็คือ กายพิการ ติดลบในทางจิตใจคือจมอยู่ในความทุกข์ ปรากฏว่าใจท่านเป็นบวกแล้ว อยู่เหนือคนปกติ ที่ให้คำแนะนำและให้กำลังใจกับคนที่มาปรึกษาท่าน หลายคนเพียงแค่เห็นหน้าท่าน ก็รู้สึกสบายใจ เพราะอาจารย์กำพลมีหน้าตาที่แจ่มใสเบิกบาน และก็มีอารมณ์ขัน พูดจาชัดถ้อยชัดคำ ให้แง่คิด
มีคนมาปรึกษากับท่านเยอะ แต่ท่านก็ไม่มีความทุกข์สักเท่าไหร่ ทั้งที่ปัญหาของแต่ละคนที่เอามาให้ท่าน แค่ฟังอย่างเดียว มันก็น่าจะเหนื่อยแล้ว ไม่ต้องพูดถึงการแก้ไขและแนะนำ แต่ท่านก็ฟังเรื่อยๆไม่มีเหนื่อยเพราะว่าท่านเปรียบว่า เราก็เปรียบเหมือนกับกระโถนก้นรั่ว คือใส่เท่าไหร่ก็ไม่เต็ม เช่น ขยะใส่เท่าไรก็ไม่เต็ม
คือท่านฟังแล้วก็วาง ๆ ไม่เก็บเอามาเป็นปัญหาของตัว แต่ก็ตั้งใจฟัง แล้วก็ให้คำแนะนำ ประสบการณ์ทางธรรมของท่าน เรียกว่าให้ข้อคิดกับคนมาก ท่านเคยเปรียบว่า กายกับใจของคนส่วนใหญ่ มันก็เหมือนกับยาหม่องกับตลับยาหม่อง คนเข้าใจว่ามันติดกัน แต่ที่จริงมันแยกออกจากกันได้ ตลับยาหม่องแยกออกมาเป็นฝา
การเจริญสติ มันช่วยทำให้แยกรูปแยกนามออกมา แต่ก่อนคนไม่เข้าใจ คิดว่า นามกับรูป หรือกายกับใจอยู่ด้วยกัน ติดกัน แต่ที่จริงมันแยกออกจากกันได้ หรือว่ามันไม่ได้ติดกันขนาดนั้น การปฏิบัติธรรมการเจริญสติทำให้เห็นรูปกับนาม แยกกัน มันไม่ได้ซ้อนติดกัน แล้วพอรู้ว่ารูปกับนานมันแยกกัน เวลารูปมันทุกข์ นามก็ใช่ว่าจะทุกข์ตามด้วย เรียกว่าทุกข์แต่กาย แต่ใจไม่ทุกข์ด้วย
สติ มันทำให้เห็น และทำให้ไม่เป็นกายทุกข์ แต่ใจไม่ทุกข์ด้วย ซึ่งอันที่จริง พระพุทธเจ้าเคยตรัสสอนอุบาสกท่านหนึ่งคือนกุลบิดา ซึ่งป่วยหนัก พระพุทธเจ้าสอนนกุลบิดาว่า แม้กายถูกโรครุมเร้า แต่อย่าให้ใจถูกโรครุมเร้าด้วย หมายความว่า แม้กายกระสับกระส่าย แต่ว้าอย่าให้ใจกระสับกระส่าย มันแยกกัน
แต่คนธรรมดาหรือคนทั่วไป ไม่เห็นตรงนี้ ไปคิดว่ากายกับใจ มันติดกัน พอกายทุกข์ ใจก็ทุกข์ด้วย แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ กายทุกข์ ใจไม่ทุกข์ก็ได้ อันนี้ก็เป็นบทเรียนหรือแง่คิด ที่ทำให้หลายคนเห็นความสำคัญของการปฏิบัติ ของการเจริญสติ เพราะมันช่วยทำให้ออกจากทุกข์ได้ ไม่ใช่ทุกข์กายอย่างเดียว ทุกข์ใจด้วย
มีบางคน ร่างกายมีอวัยวะองค์ประกอบครบ 32 พอมาเจออาจารย์กำพล ก็พูดเลยว่าถ้าพิการแบบอาจารย์กำพล แล้วมีความสุขแบบอาจารย์กำพล ก็อยากจะเป็นอย่างนั้น คือ ถ้าให้เลือก พร้อมที่จะแลกชีวิต สังขารที่ปกติ เป็นสังขารหรือร่างกายที่พิการแต่ว่าจิตใจมีความสุข ก็ถือว่าคุ้ม
อาจารย์กำพลพูดเสมอว่า ท่านเป็นอุปกรณ์สอนธรรม ใครๆเรียกท่านว่าเป็นอาจารย์ แต่ท่านอยากจะเรียกตัวเองว่าเป็นอุปกรณ์สอนธรรมมากกว่า สอนได้หลายอย่าง สอนตั้งแต่ให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของสังขารของชีวิต จากคนที่มีอนาคตรุ่งโรจน์ แต่วันดีคืนดี อนาคตก็ดับวูบเพราะพิการ ชี้ให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของชีวิต
ในขณะเดียวกัน เมื่อพิการแล้ว ก็สามารถที่จะรักษาใจไม่ให้ทุกข์ได้ กายทุกข์ไป แต่ใจไม่ทุกข์ หรือว่าทุกข์แต่กาย ใจผ่องใสเบิกบาน อันนี้ทำได้ เพราะอานุภาพแห่งธรรม อานุภาพแห่งสติ และปัญญา
มองในแง่หนึ่ง ชีวิตของอาจารย์กำพล สะท้อนให้เห็นถึงว่า ความทุกข์ก็มีประโยชน์ เพราะว่าถ้าอาจารย์ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความพิการก็ไม่สนใจธรรมะ แล้วก็ไม่ปฏิบัติธรรม จนกระทั่งมาเห็นอานิสงส์ของธรรมะ เพราะฉะนั้นทุกข์ก็มีประโยชน์ สามารถที่จะผลักดันให้คนเรามาหาธรรมะได้
คนส่วนใหญ่จะไม่สนใจธรรมะหรอก ถ้าหากว่าไม่เจอทุกข์ หรือว่าจะสนใจ ก็สนใจแต่แค่อ่านหนังสือ แต่ที่จะลงมือปฏิบัตินั้นยาก จนกว่าจะเจอความทุกข์ ความทุกข์ก็ผลักไสให้อาจารย์กำพลมาปฏิบัติธรรมจนกระทั่งได้เห็นหรือเข้าใจธรรมะ
และจะว่าไปแล้ว ความทุกข์เป็นวัตถุดิบที่ทำให้ท่านเข้าใจธรรมะด้วย มันไม่ใช่แค่เป็นตัวผลักไสให้ท่านมาสนใจและปฏิบัติธรรม แต่ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับท่าน ก็เป็นวัตถุดิบที่ทำทำให้ท่านเข้าใจธรรมะมากขึ้น อาจารย์กำพลเคยพูดว่า ขอบคุณความทุกข์ เพราะความทุกข์มาทำให้เรารู้จักความทุกข์และเห็นทางออกจากความทุกข์
เวลาเจอทุกข์ คนส่วนใหญ่อยากจะผลักไสท่าเดียว เพราะว่าเห็นว่าความทุกข์เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ แต่ว่าทุกข์ก็มีประโยชน์ มันก็สามารถที่จะทำให้เรารู้จักทุกข์ได้ การรู้ทุกข์หรือรู้จักทุกข์ เป็นสิ่งที่ชาวพุทธพึงตระหนัก
เมื่อพระพุทธเจ้าสอนอริยสัจ 4 อริยสัจข้อแรกคือทุกข์ สิ่งที่ควรทำต่ออริยสัจข้อแรก คือการรู้จักทุกข์หรือรู้ทุกข์ ถ้าไม่รู้ทุกข์ ทางออกจากทุกข์ หรือว่าการดับทุกข์ก็เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่ผ่านอริยสัจข้อแรก อริยสัจข้อที่ 2 ข้อที่ 3 ข้อที่ 4 ก็ไม่เกิดขึ้น จะผ่านข้อแรกได้ ต้องผ่านด้วยการที่เจอทุกข์แล้วก็รู้ทุกข์ พอรู้ทุกข์ก็จะเห็นเหตุแห่งทุกข์ เห็นเหตุแห่งทุกข์ ก็จะรู้ว่าความไม่ทุกข์คืออะไร ก็นำไปสู่การปฏิบัติ และเข้าถึงนิโรธได้
เพราะฉะนั้น คนเราจะเข้าถึงนิโรธได้ มันก็ต้องเจอทุกข์ แต่ถ้าเจอทุกข์ แล้วเกี่ยวข้องกับทุกข์ไม่เป็น มันก็ย่ำแย่ ก็คือพอเจอทุกข์แล้วเป็นทุกข์ก็แย่ แต่ถ้าเจอทุกข์แล้วรู้ทุกข์ มันก็เห็นทางความดับทุกข์ได้ หรือเห็นหนทางสู่ความดับทุกข์ได้ เราจะรู้ทุกข์ได้ ก็ต้องเจอทุกข์
อาจารย์กำพลก็เลยบอกว่าขอบคุณความทุกข์ ที่ทุกข์มันทำให้รู้จักทุกข์ และเห็นทางออกจากทุกข์ ที่จริงทุกข์ยังมีคุณค่ามากกว่านั้น เพราะว่าทุกข์ที่เกิดขึ้นกับตัวเราเอง เช่น ความพิการ ความเจ็บป่วย
จริงๆแล้วมันก็สะท้อนสัจธรรมความจริงว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ หรือว่าสังขารทั้งปวงเป็นตัวทุกข์ เป็นตัวทุกข์ในที่นี้หมายความว่า สังขารทั้งปวงนี้ มันทนอยู่ไม่ได้ มันทนอยู่ได้ยาก อันนี้คือสัจธรรมเป็นหนึ่งในไตรลักษณ์ที่จะต้องเข้าใจ ต้องเข้าถึง ความเจ็บป่วยที่จริงนั้นก็คือธรรมนั้นแหละ
หรือพูดอีกอย่างหนึ่ง ทุกข์คือธรรม ทุกข์ไม่ใช่แค่ผลักให้เราเข้าหาธรรม แต่ตัวทุกข์ก็เป็นธรรม เป็นธรรมในแง่ที่แสดงสัจธรรมให้เราเห็นว่า สังขารทั้งปวง ล้วนแต่ตกอยู่ภายใต้ความกดดัน มันอยู่ในสภาวะที่ทนได้ยาก ถ้าเห็นตรงนี้ มันก็จะเห็นต่อไปว่า สังขารไม่น่ายึดถือเลย สังขารทั้งหลาย ในเมื่อมันทนได้ยาก อยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ มันก็ไม่อาจจะยึดมั่นถือมั่นได้ แล้วมันก็ไม่น่าจะยึดมั่นถือมั่นด้วย
ถ้าเข้าใจทุกข์คือความเจ็บป่วยที่เกิดกับตัวเองอย่างแจ่มแจ้ง ก็เข้าถึงธรรม เข้าถึงไตรลักษณ์ เข้าถึงความจริงที่เรียกว่า ทุกขัง ซึ่งก็โยงไปกับอนิจจังและอนัตตา
เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจทุกข์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง มันก็เห็นธรรมได้ และอาจารย์กำพลก็เป็นตัวอย่าง พอเข้าใจทุกข์ที่เกิดกับตัวเอง แล้วก็เห็นธรรม พอเห็นธรรมแล้ว จิตก็เป็นอิสระ เพราะรู้ว่าสังขารก็ดี สิ่งทั้งปวงก็ดี มันยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ เพราะมันเป็นตัวทุกข์ทั้งนั้น เหมือนกับเป็นของร้อน ถ้าจับไว้ก็มีแต่ลวกเผามือ ต้องวางอย่างเดียว พอวางแล้ว จิตใจผ่องใส เป็นอิสระ
ตอนหลังอาจารย์กำพลก็ป่วย ด้วยโรคมะเร็งที่ตับ แต่ท่านก็ยังยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่แสดงความทุกข์ทรมาน ท่านบอกว่า เวลาเจอความเจ็บป่วยแบบนี้ให้ทำ 3 อย่างคือ 1 ยอมรับความจริง ยอมรับความจริงว่าเราเป็นโรคร้ายแล้ว อย่าไปปฏิเสธ อย่าไปโอดครวญมัน ยอมรับแล้ว อะไรที่รักษาได้ก็ทำ ขณะเดียวกันก็ยอมรับความเป็นไปด้วย อย่างมะเร็งในตับ มันก็รักษาไม่ได้ ก็ต้องยอมรับความเป็นไป
และเมื่อถึงจุดที่ร่างกายประทังไว้ไม่อยู่ ใกล้ถึงความตาย ก็ยอมรับความตาย ยอมรับความจริง ยอมรับความเป็นไปเป็นสิ่งที่อาจารย์กำพลแสดงให้เห็นในวาระสุดท้าย ที่ท่านเรียกตัวเองว่าเป็นอุปกรณ์สอนธรรม ก็เป็นจริงๆ ตอนที่พิการก็สอนธรรมะให้กับผู้คนทั้งหลาย ตอนจะตายก็เป็นอุปกรณ์สอนธรรมให้เห็น
ท่านทำให้เห็นว่า ทำอย่างไรจึงจะเผชิญกับความเจ็บป่วยระยะท้ายด้วยใจที่สงบ แล้วพอถึงเวลาที่ต้องตายจริงๆ ก็ตายอย่างไม่ได้ทุรนทุราย ตายด้วยใจสงบ สอนให้เห็นว่า ตายด้วยใจสงบเป็นไปได้ อันนี้เรียกว่าเป็นอุปกรณ์สอนธรรมที่มีคุณค่ามาก
ท่านเสียชีวิตไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ท่านเคยอยู่ที่นี่มาได้ 5 ปี ปี 42 - 47 ตอนหลังก็ย้ายไปกรุงเทพฯสอนธรรมผ่านการบรรยายทางวิทยุหรือบรรยายต่อผู้คนที่สนใจ เรียกว่าได้ทำหน้าที่สอนธรรมอย่างเต็มความสามารถ เอามาเล่าสู่กันฟังไว้ เพราะว่าท่านเป็นบุคคลที่น่าสนใจ เป็นศิษย์หลวงพ่อคำเขียนที่สอนให้กับผู้คนมากมายและก็เป็นศิษย์สุคะโตที่เราควรจะรู้จักเอาไว้
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 30 สิงหาคม 2564